จิรํ ติฏฺฐตุ พุทธสาสนํ ฯ

ขอพระพุทธศาสนาจงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน

ญาณวชิระ

ทำไม…ลูกผู้ชายต้องบวช

(ตอนที่ ๓๐)

บรรพ์ที่ ๕ (๒) การรับประเคน

โดย ญาณวชิระ

: พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง

 การรับประเคน

ปัจจุบันชาวไทยมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการประเคนอยู่มาก  แม้พระภิกษุเองก็ยังขาดความเข้าใจจุดมุ่งหมายของการประเคน จนทำให้เกิดความสับสนแก่พุทธบริษัท ในการที่จะปฏิบัติต่อพระสงฆ์ให้ถูกต้องเหมาะสม 

การประเคน  คือ  การให้   มาจากวินัยข้อว่า ภิกษุกลืนกินของที่เขาไม่ได้ให้ล่วงลำคอลงไปต้องอาบัติปาจิตตีย์  เว้นไว้แต่น้ำและไม้ชำระฟัน

ข้อสำคัญของการประเคน คือ การให้ เมื่อให้แล้วก็เป็นสิทธิ์ขาดของพระภิกษุ

จุดมุ่งหมายก็เพื่อไม่ให้พระภิกษุหยิบฉวยสิ่งของมาฉันตามชอบใจ  อันจะเป็นเหตุให้ชาวบ้านยกขึ้นมาเป็นข้อตำหนิหรือฟ้องร้องกล่าวหาว่าพระภิกษุลักขโมยหยิบฉวยสิ่งของโดยที่เขาไม่ได้ให้  และอีกอย่างหนึ่งก็เพื่อสุขภาพของพระภิกษุเองด้วย  ในกรณีที่อาจหยิบฉวยเอาของบูดเน่ามาฉัน  ถ้าเป็นของที่เขาให้ก็เป็นของที่ผ่านการตรวจแล้ว

ส่วนวิธีการประเคนนั้นเป็นระเบียบแบบแผนที่กำหนดขึ้นเพื่อให้ดูงดงามแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น

ความสับสนเกิดขึ้นเพราะชาวไทยพยายามแยก “การประเคน” ออกจาก “การให้” โดยอธิบายการประเคนให้ดูวิจิตรพิสดารออกไปต่างๆ  ทั้งๆ ที่

การประเคนก็คือการให้  การให้ก็คือการประเคนเป็นอย่างเดียวกัน  ตรงตามภาษาบาลีว่า ทินนัง  แปลว่า  ให้   จะให้โดยวิธีไหน ด้วยอาการอย่างไร  โดยสรุปก็คือ ให้ นั่นเอง

ในเมืองไทยมีธรรมเนียมการให้สิ่งของแด่พระภิกษุสงฆ์ เรียกว่า  “การประเคน”  ซึ่งถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้มีรูปแบบที่สวยงาม และแสดงถึงความเคารพนอบน้อมที่ชาวไทยมีต่อพระสงฆ์ แต่การให้ด้วยวิธีที่ไม่ถูกตามแบบธรรมเนียมไทยก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ต้องอาบัติ  การประเคนที่ไม่ถูกธรรมเนียมไทย ไม่ได้ทำให้พระต้องอาบัติ แต่ทำให้ผู้ประเคนไม่รู้จักกาลเทศะตามวัฒนธรรมของชนชาติ

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) และคณะสงหื ออกบิณฑบาตที่บ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี ปี ๒๕๕๙
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) และคณะสงหื ออกบิณฑบาตที่บ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี ปี ๒๕๕๙

ตามพระวินัย การที่ลูกศิษย์รับบาตรพระภิกษุ  ไม่มีกิจที่ต้องประเคนบาตรอีกครั้ง  เพราะอาหารบิณฑบาตเป็นของพระภิกษุ  ที่ชาวบ้านถวายพระภิกษุมาโดยชอบธรรม  บิณฑบาตนั้นไม่ใช่ของลูกศิษย์ จึงไม่มีกิจที่ต้องประเคนใหม่  แต่การที่อาจารย์ให้ประเคนใหม่อีกครั้ง เพื่อต้องการสอนลูกศิษย์ให้รู้จักใกล้ชิดพระสงฆ์ แสดงความนอบน้อมอุปัฏฐากครูบาอาจารย์ให้ถูกวิธี แม้พระภิกษุจะรับบิณฑบาตมาแล้ว แต่ให้ลูกศิษย์ประเคนบาตรอีกครั้ง ไม่เกี่ยวกับวินัยว่าด้วยการประเคน   

ผู้ที่ไม่เข้าใจก็ตีความเอาว่า ที่ต้องประเคนบาตรอีกครั้งเพราะลูกศิษย์ไปจับต้องบาตร ถือว่าบาตรขาดประเคน หากพระภิกษุฉันอาหารบิณฑบาตที่ขาดประเคนต้องอาบัติ แต่ที่จริง ท่านต้องการสอนลูกศิษย์ให้รู้จักวิธีการอุปัฏฐากพระภิกษุสงฆ์ 

ระเบียบแบบแผนการประเคนนั้นมีความแตกต่างกันไปตามความนิยมของท้องถิ่น ข้อสำคัญคือให้อยู่ในหัตถบาส คือ มือส่งถึงกันได้ บางท้องถิ่นอธิบายว่า

“ผู้ประเคนจะต้องนั่งคุกเข่า ห่างจากพระสงฆ์ชั่วระยะหัตถบาส ยกของขึ้นสูงจากพื้นชั่วแมวลอดได้ น้อมศีรษะลง ประเคนของพระสงฆ์”

ผู้ที่เคร่งครัดอธิบายเพิ่มเติมว่า ถ้าไม่ได้ยกสิ่งของขึ้นพ้นพื้นชั่วแมวลอดได้ ไม่เป็นอันประเคน  พระภิกษุฉันไม่ได้  ต้องยกประเคนใหม่   ภิกษุฉันแล้วต้องอาบัติ

อีกอย่างหนึ่ง ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในชาวไทยว่า สิ่งของที่พระภิกษุรับประเคนแล้ว สามเณรหรือชาวบ้านจับต้องไม่ได้  หากจับต้องเข้าแล้ว  ของนั้นจะต้องประเคนใหม่  พระภิกษุจึงจะฉันได้ หากไม่ประเคนใหม่พระภิกษุฉันล่วงลำคอลงไปจะต้องอาบัติ  เพราะฉันของที่เขาไม่ได้ให้  

บางครั้งจึงมักเห็นคนที่เคร่งครัด หรือแม้แต่พระภิกษุเองที่เห็นคนถวายอาหารพระภิกษุแล้วอยากช่วยจัด หรืออยากช่วยพระภิกษุยกเก็บให้เข้าที่เข้าทาง   ต้องส่งเสียงร้องเอะอะวุ่นวายห้ามปรามเป็นการใหญ่  เพื่อให้ประเคนใหม่

ขอขอบคุณ ภาพการบรรพชาอุปสมบท โครงการ พระนวกะโพธิ รุ่นที่ ๖ จัดโดย สำนักงานกำกับพระธรรมทูตไปต่างประเทศ วัดสระเกศ ในขณะนั้น ร่วมกับ พระธรรมทูตสายอินเดีย-เนปาล ระหว่างวันที่ ๑๘ -๒๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๐ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ขอขอบคุณ ภาพการบรรพชาอุปสมบท โครงการ พระนวกะโพธิ รุ่นที่ ๖ จัดโดย สำนักงานกำกับพระธรรมทูตไปต่างประเทศ วัดสระเกศ ในขณะนั้น ร่วมกับ พระธรรมทูตสายอินเดีย-เนปาล ระหว่างวันที่ ๑๘ -๒๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๐ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

อย่างไรก็ตาม สิ่งของที่พระภิกษุรับประเคนแล้วเป็นอันประเคน เพราะของสิ่งนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของพระภิกษุ แม้จะมีคฤหัสถ์ หรือสามเณรจับต้องไม่ถือว่าเสียการประเคน ไม่ต้องประเคนใหม่  พระภิกษุฉันก็ไม่ต้องอาบัติ สาเหตุสิ่งของที่พระภิกษุรับประเคนไว้แล้วขาดการประเคนมี  ดังนี้

· เพราะการกลับเพศของพระภิกษุผู้รับประเคน (เพศชายกลายเป็นเพศหญิง) 

·     เพราะการมรณภาพของพระภิกษุผู้รับประเคน

.      เพราะการลาสิกขาของพระภิกษุผู้รับประเคน

·      เพราะพระภิกษุต้องอาบัติปาราชิกหลังรับประเคน

·     เพราะให้แก่ผู้อื่นซึ่งไม่ใช่พระภิกษุ

·      เพราะสละโดยไม่มีความต้องการอีกต่อไป

·      เพราะถูกคนอื่นแย่งชิงไป

สิ่งที่รับประเคนแล้วขาดการประเคน คือต้องประเคนใหม่ข้างต้น ไม่มีข้อใดระบุว่า  หากมีคฤหัสถ์หรือสามเณรมาจับสิ่งของที่พระภิกษุรับประเคนไว้แล้ว ขาดประเคน พระภิกษุต้องรับประเคนใหม่   

ดังนั้น  เมื่อคฤหัสถ์หรือสามเณรจับอาหารที่รับประเคนแล้ว  เพื่อต้องการช่วยจัดหรือเพราะความพลั้งเผลอ พระภิกษุไม่ควรห้ามปรามเอะอะวุ่นวาย แสดงอาการรังเกียจ หรือให้ประเคนใหม่  ซึ่งนอกจากจะแสดงให้เห็นว่าพระภิกษุไม่มีความเข้าใจในพระวินัยอย่างถูกต้องแล้ว  ยังทำให้ดูวุ่นวายยุ่งยาก  

แต่จะห้ามปรามเพราะไม่ต้องการให้ฆราวาสมายุ่งวุ่นวายขณะพระภิกษุกำลังฉัน  ก็ควรอยู่ 

อีกประการหนึ่ง  ในขณะพระสงฆ์กำลังฉันภัตตาหาร  ชาวบ้านควรปล่อยให้ท่านฉันตามอัธยาศัย ไม่ควรไปจับนั่นยกนี่ให้ท่านเกิดความอึดอัดใจ 

การรับประเคนสิ่งของจากสตรี

 ธรรมเนียมพระภิกษุไทย เมื่อจะรับสิ่งของจากสตรีต้องใช้ผ้ารับประเคน  

การปฏิบัติเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าพระภิกษุจะต้องอาบัติ  แม้ภิกษุจะรับต่อจากมือสตรีก็ไม่ได้ทำให้ต้องอาบัติ เพราะในพระวินัยระบุว่า พระภิกษุมีความกำหนัดจับต้องกายสตรี และหรือสิ่งของที่เนื่องด้วยกายสตรีจึงต้องอาบัติ   พระภิกษุจึงสามารถรับสิ่งของต่อจากมือสตรีได้   หากพระภิกษุมีความกำหนัด  แม้จะรับของจากสตรีด้วยผ้าก็ไม่พ้นจากอาบัติอยู่นั่นเอง  เพราะมีความกำหนัดจับต้องสิ่งของที่เนื่องด้วยกายสตรี  ในพระวินัยได้อธิบายว่า  แม้ไม่จับต้องต่อจากมือสตรี  เพียงแค่สตรีโยนก้อนหินหรือท่อนไม้ไป พระภิกษุมีความกำหนัดโยนก้อนหินไปถูกก้อนหินที่สตรีโยนไป พระภิกษุยังไม่พ้นจากอาบัติ

ธรรมเนียมพระภิกษุในประเทศไทย  บูรพาจารย์ท่านป้องกันไว้ก่อน  จึงมีธรรมเนียมให้พระภิกษุรับประเคนสิ่งของจากสตรีด้วยผ้ากราบหรือผ้ารับประเคน  เพราะธรรมชาติของจิตนั้นเปลี่ยนแปลงเร็ว  

นอกจากนั้น ในเมืองไทยยังถือเป็นธรรมเนียมว่า

การใช้ผ้ารับประเคนสิ่งของจากสตรี  ถือว่าเป็นการให้เกียรติและแสดงความสุภาพตามสมณวิสัย  

 แม้พระสงฆ์ในประเทศอื่นๆ จะไม่ถือธรรมเนียมนี้ก็ตาม  เมื่อพระสงฆ์รับประเคนสิ่งของจากสตรี  จึงต้องใช้ผ้ารับประเคน  เพื่อให้เกียรติและแสดงความสุภาพตามสมณวิสัยพึงกระทำได้

การใช้ผ้ารับประเคนสิ่งของจากสตรี จึงไม่ใช่ท่าทีที่พระพุทธศาสนาสอนให้รังเกียจสตรี อันแสดงถึงความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศตามที่นักสิทธิมนุษยชนเข้าใจ   แต่เพื่อเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจของพระภิกษุเอง และเป็นการให้เกียรติแก่สตรีทุกคนดังกล่าวแล้ว

ทำไม…ลูกผู้ชายต้องบวช (ตอนที่ ๓๐) บรรพ์ที่ ๕ (๒) การรับประเคน โดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง

โปรดติดตามตอนต่อไป

ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “ลูกผู้ชายต้องบวช” โดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง
ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “ลูกผู้ชายต้องบวช” โดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง
ท่านอาจารย์พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ท่านอาจารย์พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ญาณวชิระ เป็นนามปากกาของ ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ท่านเขียนหนังสือธรรมะมากมาย แต่ละเล่มล้วนเต็มไปด้วยสารัตถะแห่งธรรมที่เข้าใจง่าย และนำมาปฏิบัติแก้ทุกข์ได้ในชีวิตประจำวัน อาทิ หนังสือทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับ คณะสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร , หลักแห่งการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน , พุทธานุภาพ อานุภาพของพระพุทธองค์ , มหาสมัยสูตร ,การ์ตูนแอนนิเมชั่น เรื่อง ปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุ ,ทฤษฎีเบื้องต้นแห่งปรัชญาไทย, ประทีปแห่งแม่น้ำมูล , ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ,ตำนานภูเขาทอง , ลูกผู้ชายต้องบวช , สมาธิเบื้องต้นสำหรับชาวบ้าน ,หนึ่งหน้าประวัติศาสตร์แห่งการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ,บามิยัน ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์อันรุ่งเรือง และมืดมนยาวนานแห่งพระพุทธศาสนา, สุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์ , พุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และ ความเป็นมาของพระอภิธรรม เป็นต้น

ธรรมนิพนธ์ เรื่อง "ลูกผู้ชายต้องบวช" โดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง
ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “ลูกผู้ชายต้องบวช” โดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง

ธรรมนิพนธ์เรื่อง “ลูกผู้ชายต้องบวช” โดย ญาณวชิระ จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ / ที่ปรึกษา : พระเทพรัตนมุนี , พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง) และพระมหาธีระศักดิ์ ธีรปญฺโญ /บรรณาธิการ โดย พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี และ มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ / ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส ภาพวาดประกอบโดย หมอนไม้ / แบบปก – รูปเล่ม โดย พระมหาเดชา ปญฺญาคโม และ พระมหาสมบัติ ภูริปญฺโญ / ภาพปกโดย ศิลปิน พีร์ ขุนจิตกร/ ผู้อุปถัมภ์การจัดพิมพ์ บริษัท โตโยต้าบัสส์ จำกัด / ขอรับหนังสือได้ฟรีที่ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ จนกว่าหนังสือจะหมด

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here