พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ป.ธ.๙, ดร.
พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ป.ธ.๙, ดร.

สติ-ปัญญา แก้ปัญหาจิตอันธพาล

ปุจฉา-วิสัชนากับพระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ป.ธ.๙, ดร. ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

คำถาม : ทำไมเวลาที่เราโมโห จึงกลายเป็นคนพาล และคนพาลก็ทำอะไรที่ขาดสติได้มากมาย และรุนแรง ทำอย่างไรจึงจะเท่าทันการขาดสติ ก่อนที่จะกลายเป็นคนพาล

พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ป.ธ.๙,ดร. ตอบ :

 ขอตอบโดยแบ่งประเด็นให้เห็นความชัดเจน คือ

๑.เรื่องความโมโหหรือโกรธ

อาการของการที่มนุษย์ที่แสดงออกนั้นในทางพระพุทธศาสนาชี้ว่ามาจาก “กิเลส” คือ “โทสะ” คือ “ความอาฆาตพยาบาท” โดยกิเลสนั้นถูกนำมาเชื่อมโยงกับลักษณะของการคิด พูด ทำ กล่าวคือ

เมื่อมนุษย์เกิดขึ้นมาในโลกนั้นล้วนมีพฤติกรรมที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งมีมาจากการสั่งสมกิเลสเหล่านี้ไว้

และยิ่งใช้ชีวิตในปัจจุบันแล้วสั่งสมกิเลสเหล่านี้ทีละเล็กละน้อยผ่านการคิด พูดและทำก็จะทำให้บุคคลนั้นมีลักษณะที่เรียกว่า “จริต” หรือ “จริยา” คือ ลักษณะพฤติกรรมการแสดงออกโดยคนที่สั่งสมโทสะมักโกรธบ่อยๆ จะอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า โทสจริต

บุคคลในโลกนี้จึงแสดงออกไปตามสิ่งที่ตนเองสั่งสม และเมื่อมากเข้าก็กลายเป็นบุคลิกและนิสัยหรือวาสนาที่แสดงออกอย่างนั้น และบุคลิกเหล่านี้กลายเป็นลักษณะที่เรียนว่า นิสัย หรืออุปนิสัยที่อยู่ลึกในจิตใจและแสดงออกผ่านพฤติกรรม ซึ่งการโกรธนั้นแม้แต่หลวงปู่ดุลย์ อตุโล อดีตพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง เมื่อมีคนถามท่านว่า “ท่านยังโกรธอยู่ไหม” ท่านตอบว่า “มีแต่ไม่เอา

การที่ท่านตอบแสดงให้เห็นว่า ความโกรธเป็นสิ่งที่มี แต่อยู่ที่เราจะแสดงออกมาแบบใด ในทางพระพุทธศาสนาจึงสอนให้ปรับการเรียนรู้ผ่านจริตของแต่ละคน อย่างถ้าเป็นคนมักโกรธก็ต้องฝึกแผ่เมตตาบ่อยๆ เพื่อให้ตนเองเกิดโกรธขึ้นมาจะได้มีเหมือนน้ำเย็นช่วยชโลมให้ใจเย็นลงได้

๒. เรื่องความเป็นคนพาล

หมายถึง “คนเขลา” หรือแปลว่า “เด็กอ่อน” ก็ได้ ซึ่งในความหมายนี้สามารถเข้าใจได้ว่า เป็นคนที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยอารมณ์ ไม่กลัวอันตราย เช่นเดียวกับเด็กที่ทำบางอย่างไม่มีการยับยั้งชั่งใจ ซึ่งแตกต่างจากบัณฑิต คือคนที่คิด พูด ทำด้วยปัญญา และผู้ที่มีปัญญาก็คือผู้ที่มีสติประคองตนตลอด ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า

 “กระแส (กิเลส เช่น ความโกรธ) เหล่าใดในโลก สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้นได้ เรากล่าวธรรมเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย ปัญญาปิดกั้นกระแสเหล่านั้นได้”

การใช้ชีวิตโดยไม่ปล่อยให้ตนเองใช้อารมณ์ในการดำเนินชีวิตเช่นเดียวกับเด็กจึงเป็นบัณฑิตในความหมายนี้

แต่ในการสื่อความหมายของคำว่า “คนพาล” นั้นว่าเป็นบุคคลน่ารังเกียจ หรือหากใครโกรธแล้วจะกลายเป็นคนพาลไปเสียหมด ทั้งที่จริงคนพาลนั้นทุกคนล้วนเป็นกันตลอดเวลา

ถ้าจะว่าไปแล้วมนุษย์เริ่มต้นจากความไม่รู้ก่อนจะรู้เสมอ คือเป็นคนพาลเสียก่อนจึงจะเป็นบัณฑิตได้

เช่นเดียวกับพระโพธิสัตว์เตมีย์เมื่อยังทรงพระเยาว์จำความได้ว่าในอดีตชาติตนเองเป็นกษัตริย์ และเคยฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นจำนวนมาก  พอจำความได้จึงปฏิเสธที่จะไม่เป็นกษัตริย์อีก ต้องการหลีกหนีไปบวช จึงไม่ยอมพูดจาปราศรัยกับผู้ใด แสร้งทำเป็นใบ้เสีย

การที่ทำเช่นนั้น เพราะพระองค์ทรงรู้ว่าเคยทำผิดมาก่อนจึงไม่ประสงค์จะทำอีกต่อไป ซึ่งแง่มุมนี้จึงสะท้อนว่า

การเป็นคนพาลนั้นเป็นได้ และเมื่อเป็นแล้ว รู้ตัว ก็เป็นบัณฑิตได้เช่นกัน

การที่จะเป็นบัณฑิตเลยโดยไม่ผ่านเรื่องอะไรที่เป็นข้อผิดพลาดจึงหาได้ยาก และยากที่จะหาได้ในที่ไหนๆ

แต่เมื่อเรารับรู้เสมอว่า ตอนนี้เราโกรธอยู่ ก็ต้องบรรเทาลงเสียด้วยวิธีการต่างๆ เช่น แผ่เมตตา เป็นต้น หรือหากอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมแบบใดแล้วทำให้เกิดสภาวะที่ควบคุมตัวเองได้ยากก็ปรับและเปลี่ยนเสียใหม่ บางครั้งอาจเปลี่ยนสถานที่หรือสิ่งแวดล้อม

บางครั้งก็อาจฝึกใจตัวเองให้มองสิ่งรอบข้างในมุมมองที่ดี คือเปลี่ยนความคิดตนเองเสียใหม่

การทำแบบนี้จึงเป็นการใช้สิ่งที่ไม่ดีนี้เป็นแนวทางในการฝึกฝนอบรมจิตใจ เพื่อให้เราเท่าทันตัวเอง แล้วชีวิตของเราจะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปเองสู่ความเป็นบัณฑิตที่ฉลาดและเข้าใจตัวเอง

พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ป.ธ.๙, ดร.
พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ป.ธ.๙, ดร.

“สติ-ปัญญา” แก้ปัญหาจิตอันธพาล : ปุจฉา-วิสัชนากับพระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ป.ธ.๙, ดร.

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here