"ความเป็นมาของพระอภิธรรม" เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร ) จัดพิมพ์เป็นธรรมทาน โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ
“ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร ) จัดพิมพ์เป็นธรรมทาน โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

คำปรารภ

หนังสือ “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เกิดขึ้นด้วยปรารภเหตุการณ์เฉพาะ เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศล แด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อป้องกันความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับเนื้อหา ก่อนอ่านความเป็นมาของพระอภิธรรม

จึงขอทำความเข้าใจเป็นเบื้องต้นว่า ความเป็นมาของพระอภิธรรม มีเนื้อความตรงตามชื่อ มุ่งบอกเล่าถึงความเป็นมาของพระอภิธรรม เพื่อประกอบการฟังสวดพระอภิธรรม เป็นสำคัญ มิใช่มุ่งการอธิบายข้อธรรมในคัมภีร์พระอภิธรรม เมื่อฟังสวดแล้ว จะได้รู้ถึงที่มาที่ไปของพระอภิธรรมที่พระบรมศาสดาทรงแสดง อันจะเป็นบุญเป็นกุศลเพิ่มขึ้นอีกโสตหนึ่งด้วย

ผู้ที่มีความสนใจข้อธรรมในพระอภิธรรมที่ละเอียดลงไป ก็สามารถศึกษาเพิ่มได้จากคัมภีร์พระอภิธรรม ซึ่งมีอยู่แล้วทั่วไป

เนื่องจากพระอภิธรรมมีความละเอียดประณีตยิ่ง มีนัยหลากหลาย ไม่สิ้นสุด บางกรณีจึงมีความจำเป็นต้องยกตัวอย่างวัตถุสิ่งของ และภาษาในสมัย เทียบเคียงให้เห็นเป็นรูปธรรม เพื่อทำความเข้าใจเนื้อความแห่งพระอภิธรรม ที่มีความละเอียดยิ่งนั้น ให้แจ่มชัดยิ่งขึ้น กรณีดังกล่าว มิใช่การนำข้อความเข้าไปปลอมปนในพระอภิธรรม เพราะมิได้มุ่งอธิบายข้อธรรมในพระอภิธรรม ดังกล่าวแล้ว หากแต่เห็นว่า การยกตัวอย่างวัตถุสิ่งของก็ดี การใช้ภาษาในสมัยก็ดี เป็นวิธีที่พอจะสื่อสารกับคนเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีพื้นฐานความรู้ทางศาสนาที่แตกต่างกัน หลากหลายกลุ่ม หลากหลายสถานะ

ด้วยห้วงเวลานั้น ทุกคนล้วนมีจิต ละเอียด เป็นหนึ่งเดียว จดจ่ออยู่กับท่วงทำนองแห่งพระอภิธรรมที่พระพิธีธรรมสวดถวายในหลวง รัชกาลที่ ๙ พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ

กาลนั้น จึงนับได้ว่า เป็นมงคลกาล เหมาะแก่การฟังธรรมที่ละเอียด

ขออนุโมทนาขอบคุณพระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙,ดร., คุณมนสิกุล โอวาทเภสัชช์ และคุณวันทนี เจริญวานิช ที่รับเป็นภาระธุระในการจัดพิมพ์ จนหนังสือสำเร็จลงด้วยความเรียบร้อย ดีงาม เป็นไปเพื่อความดำรงมั่น แผ่ไพศาลแห่งพระศาสนาของพระบรมศาสดา

พระราชกิจจาภรณ์

วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

"ความเป็นมาของพระอภิธรรม" ตอนที่ ๒ "กตัญญุตา พุทธกิจโปรดพุทธมารดาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์" จากคอลัมน์ "ธรรมโอสถ " โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) นิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๑๒๗๖ วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๙
“ความเป็นมาของพระอภิธรรม” ตอนที่ ๒ “กตัญญุตา พุทธกิจโปรดพุทธมารดาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์” จากคอลัมน์ “ธรรมโอสถ ” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) นิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๑๒๗๖ วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๙

เข้าพรรษา

กับ “ความเป็นมาของพระอภิธรรม”

(ตอนที่ ๒)

พุทธกิจในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

: เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์

(เทอด ญาณวชิโร)

ธรรมนิพนธ์เรื่อง "ความเป็นมาของพระอภิธรรม" เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ธรรมนิพนธ์เรื่อง “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

พุทธกิจในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

พระพุทธองค์ได้เสด็จจากรัตนจงกรม ที่เนรมิตขึ้นเหนือยอดไม้คัณฑามพฤกษ์ ที่แสดงยมกปาฏิหาริย์นั้น ทรงก้าวพระบาทขวาเหยียบเหนือยอดเขายุคนธร ยกพระบาทซ้ายก้าวเหยียบยอดเขาสิเนรุ และพระบาทสามก้าวถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ขณะนั้น ท้าวสักกะได้ทราบว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมา มีพุทธประสงค์จะจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จึงได้ถวายที่ประทับเหนือพระแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ภายใต้ต้นไม้ปาริฉัตตกะ ทรงป่าวประกาศให้เหล่าเทวดามาฟังธรรม เหล่าทวยเทพทั้งหลาย ต่างร้องเรียกซึ่งกันและกัน เสียงสะท้อนกึกก้องแผ่ไปทั่วสวรรค์ชั้นฟ้า

ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

ต่อแต่นั้น เหล่าทวยเทพในหมื่นจักรวาล ต่างก็ถือผอบและภาชนะทองคำ บรรจุด้วยบุปผชาติของหอมอันเป็นทิพย์ ออกจากทิพยวิมานของตน มาเฝ้าพระพุทธเจ้า ทุกสถานที่เต็มไปด้วยเทพยดา ไม่มีที่ว่างเว้น เพื่อให้ตนเองได้มีโอกาสฟังธรรม

เทวดาบางพวกต่างก็เนรมิตกายให้เล็กเท่าอณูบ้าง ปรมาณูบ้าง แม้พื้นที่เท่าปลายขนทรายจามรี ก็อยู่ได้สิบองค์บ้าง ยี่สิบองค์บ้าง แสนองค์บ้าง

เมื่อเทวดามาประชุมกันอย่างนี้แล้ว พระพุทธเจ้าได้ทอดพระเนตรดูในธรรมสภา ก็มิได้ทรงเห็นพระมารดา จึงตรัสถามถึงพระนางสิริมหามายา พระอินทร์ก็ทราบว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาครั้งนี้ ด้วยประสงค์จะแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระมารดา จึงเสด็จไปยังภพดุสิตที่สถิตของสันดุสิตเทพบุตร ผู้เคยเป็นพระพุทธมารดา แจ้งให้ทราบว่า พระพุทธเจ้าเสร็จมาประทับ ณ บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ทรงรอคอยเพื่อแสดงพระธรรมเทศนา

พระพุทธมารดาได้เสด็จจากสวรรค์ชั้นดุสิตไปยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พร้อมด้วยเทพอัปสรบริวารเป็นอันมาก ประทับนั่งอยู่เบื้องขวามือของพระพุทธองค์ พลางดำริว่า ตนเองมีบุญยิ่งนัก ได้พระโอรสผู้ประเสริฐเช่นนี้

ขณะนั้น พระพุทธเจ้าทรงเหยียดพระหัตถ์เบื้องขวาตรัสเชิญพระพุทธมารดาให้เข้ามาใกล้ ให้เป็นประธานเทวดาทั้งหลายแล้ว ทรงเริ่มแสดงพระอภิธรรมว่า

กุสลา ธมฺมา, อกุสลา ธมฺมา, อฺพยากตา ธมฺมา, เป็นต้น

ทรงแสดงเช่นนี้ ตลอดพรรษา ๓ เดือน นับโดยเวลาในโลกมนุษย์ ติดต่อกันทั้งกลางวันกลางคืน ไม่หยุดเลยแม้ขณะจิตเดียว ได้ทรงขยายลำดับแห่งธรรม แตกธรรมแต่ละข้อ แยกย่อยออกไปไม่มีที่สิ้นสุด มีนัยนับไม่ถ้วน เรียกว่า “อนันตนัย”

ภาพประกอบโดย หมอนไม้
ภาพประกอบโดย หมอนไม้

ในระหว่างแสดงพระอภิธรรม พระพุทธองค์ทรงสำรวจดูเวลาในโลกมนุษย์ เมื่อถึง เวลาบิณฑบาต เวลาเสวย หรือเวลาพักผ่อนในเวลากลางวัน ทรงบันดาลพระพุทธนิมิตให้แสดงพระอภิธรรมแทนพระองค์ แล้วทรงห่มจีวร ถือบาตรเสด็จไปยังสระอโนดาต เทวดานำไม้ชำระฟันชื่อนาคลดามาถวาย

ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

ทรงเคี้ยวไม้ชำระฟัน และสรงสนานพระวรกายในสระอโนดาต เสด็จไปบิณฑบาตที่อุตตรกุรุทวีป ทรงนำบิณฑบาตกลับมาเสวยที่ริมสระ แล้วเสด็จไปพักผ่อนกลางวัน ในป่าไม้จันทน์

ขณะนั้น พระสารีบุตรเถระมาพบพระพุทธองค์ที่นี้ เพื่อรับฟังพระอภิธรรม ไปแสดงต่อในโลกมนุษย์

ภาพประกอบ โดย หมอนไม้
ภาพประกอบ โดย หมอนไม้

ครั้นแสดงพระอภิธรรมจบลงแล้ว พระพุทธมารดาได้ดวงตาเห็นธรรม ทรงบรรลุโสดาปัตติผล ส่วนเทวดาอีกจำนวนมาก นับได้หลายหมื่นโกฏิ ได้บรรลุมรรคผลตามสมควรแก่อุปนิสัยแห่งตน

ธรรมนิพนธ์เรื่อง "ความเป็นมาของพระอภิธรรม" เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์เป็นธรรมทาน โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ
ธรรมนิพนธ์เรื่อง “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์เป็นธรรมทาน โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ

โปรดติดตามตอนต่อไป “เข้าพรรษากับ ความเป็นมาของพระอภิธรรม” (ตอนที่ ๓ ) กำเนิดพระอภิธรรมปิฎก : เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here