เรียนรู้ปฏิปทาพระเถระแห่งยุคสมัย ผู้นำพระพุทธศาสนาก้าวสู่โลกยุคใหม่ ด้วยวิสัยทัศน์ที่นำพระธรรมวินัยเป็นกรอบในการสร้างพระสงฆ์รุ่นใหม่ให้ทันโลกและมีธรรมในการประยุกต์ใช้เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และสังคม

“ปูชา จ ปูชนียานํ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ.

ขอนอบน้อมแด่ครู พระอุปัฌชาย์ อาจารย์

ผู้ให้ชีวิตในพระศาสนาของพระพุทธองค์ ด้วยเศียรเกล้าฯ”

ร่องรอยความทรงจำแห่งอดีต บอกเล่าปฏิปทาในการครองตน ครองคน ครองงาน เพื่อจรรโลงความดีงาม ตามครรลอง “วิถีแห่งผู้นำ”

วิถีแห่งผู้นำ

: สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)

๙๓.  ความมั่นคงของพระศาสนา  คือความมั่นคงของชาติ เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

สำหรับบทนี้ผู้เขียนอธิบายเรื่อง เหตุใดเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) จึงมีแนวความคิดให้พระเณรรุ่นใหม่ศึกษาบาลี ควบคู่ไปกับวิชาทางโลกด้วย ที่ไม่ขัดกับพระธรรมวินัย

๙๓ .ความมั่นคงของพระศาสนา  คือความมั่นคงของชาติ             

              เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า  บรรพชนไทยผูกการศึกษากับพระศาสนาไว้ด้วยกัน  โดยมุ่งความมั่นคงแห่งพระศาสนา  สถาบันพระพุทธศาสนาเป็นหลักในการจัดการศึกษาชาติ  ไม่ใช่แต่เพียงยุคนี้เท่านั้น แต่ช่วยจัดการศึกษาชาติมาตั้งแต่ชาติยังไม่มีระบบการศึกษา  ตั้งแต่ยุคสุโขทัย  อยุธยามาจนถึงยุคต้นรัตนโกสินทร์  อย่างสำนักวัดสระเกศมีสอนอะไรบ้างในยุคนี้

              ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระราชกิจจาภรณ์  ในขณะนั้น  เล่าให้ฟังต่อมาว่า  สำนักวัดสระเกศ  สอนวรรณคดี  สอนตำราพิชัยสงคราม  สอนคำนวณจันทรคติและสุริยคติ  สอนโหราศาสตร์  สอนตำรายาซึ่งเป็นยอดของตำราที่รักษาโรคต่างๆ มากมาย  อาทิ โรคมะเร็ง  มีการบันทึกตำแหน่งของมะเร็ง  ลักษณะอาการของมะเร็ง  และวิธีรักษา  ซึ่งสำนักมีภูมิปัญญาบรรพชนนี้เก็บรักษาไว้  แม้จะไม่ได้เผยแผ่ในยุคนี้แล้ว  เพราะเป็นคนละยุคคนละสมัย  และเป็นเรื่องภายในของสำนัก  แต่ตำราเหล่านี้ก็ยังมีเก็บรักษาไว้ในสำนัก

              “ถามว่า  วิชาเหล่านี้ผิดไหม  เป็นอวิชชาไหม  แล้วทุกวันนี้พระเณรเรียนคอมพิวเตอร์  เรียนภาษาอังกฤษ  ผิดไหม  ถ้าผิด  เป็นอวิชชา  บูรพาจารย์บรรพบุรุษท่านก็ผิดมาก่อนเรา  แต่ทำไมท่านจึงรักษาพระพุทธศาสนาให้มั่นคงวัฒนาสถาพรสืบมาจนถึงทุกวันนี้ได้  ทำไมท่านช่วยกันรักษาบ้าน  รักษาเมืองมาจนถึงทุกวันนี้ได้  เพราะว่าสิ่งเหล่านี้เป็นวัฒนธรรมของชนชาติ  ท่านใช้วัฒนธรรมของชนชาติห่อหุ้มแก่นธรรมไว้ 

 วัฒนธรรมชนชาติเข้มแข็งเท่าไหร่

ก็ยิ่งทำให้แก่นธรรมเติบโตเข้มแข็งในใจของคนในชาติมากขึ้นตามมาเท่านั้น”

              เกี่ยวกับการศึกษาชาติ  แท้จริงแล้วก็เริ่มมาจากวัด  ท่านเจ้าคุณอาจารย์ชี้ให้ดูหนังสือ  “มูลบทบรรพกิจ”  ซึ่งอยู่ในตู้หนังสือของหลวงพ่อสมเด็จฯ ที่จัดแสดงไว้ที่กุฏิคณะ ๕ แล้วท่านอธิบายต่อมาว่า  ใครกันเป็นผู้เขียนตำราการศึกษาชาติฉบับแรก ก็ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ซึ่งเคยเป็นพระภิกษุในสำนักวัดสระเกศ  ท่านเขียนมูลบทบรรพกิจ  เป็นตำราภาษาไทยที่เรียนกันไปทั้งประเทศในยุคหนึ่ง

              “ในสำนักเล่ากันสอนกันมาว่า  กุฏิท่านพระมหาน้อย อาจารยางกูรอยู่คณะ ๑ ท่านเป็นพระคงแก่เรียน  แสวงหาความรู้หลายสำนัก  และเขียนบันทึกความรู้ต่างๆ ไว้ตั้งแต่ครั้งยังเป็นพระภิกษุ  ต่อมาได้ลาสิกขา  เมื่อในหลวงรัชกาลที่ ๕  ทรงปฏิรูปการศึกษา  ก็โปรดให้ท่านช่วยเขียนหลักสูตรการศึกษา  ซึ่งนับเป็นหลักสูตรการศึกษาชาติฉบับแรก

              “สิ่งที่หลงเหลือมา ก็บทสวดสรรเสริญพระคุณทั้ง ๕ คือ บทสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ บทสรรเสริญมาตาปิตุคุณ  และอาจาริยคุณ  ที่ขึ้นต้นด้วย  “องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดานฯ” เป็นทำนองสรภัญญะ  ที่เดี๋ยวนี้พัฒนามาเป็นบทเพลงแห่งการน้อมนมัสการองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ซึ่งพระยาศรีสุนทรโวหารเป็นผู้เรียบเรียง นั่นไง ”

              ท่านเจ้าคุณอาจารย์อธิบายต่อมาว่า  เมื่อในหลวงรัชกาลที่ ๕  ปฏิรูปการศึกษาครั้งแรกก็โปรดให้ใช้ศาลาการเปรียญของวัดเป็นโรงเรียนบอกหนังสือ  โดยวัดสระเกศฯ  ก็เป็นหนึ่งในโรงเรียนชั้นมัธยมแห่งแรกๆ ที่เปิดสอน  ทรงพระราชทานนาฬิกาปารีสและพระบรมฉายาลักษณ์มาไว้เป็นอนุสรณ์ตามโรงเรียนที่เปิดสอนในรุ่นแรกด้วย  ต่อมา ในหลวงรัชกาลที่หกก็ทรงถือตาม  เวลามีงานออกเมรุเจ้านายผู้ใหญ่ก็ทรงโปรดให้ทำเครื่องสังเค็ดไปให้โรงเรียนแทนถวายวัด

              “วันนี้การศึกษาทั้งหมดออกจากวัดไปอยู่กับบ้านเมืองแล้ว  แต่พระก็ยังจำเป็นต้องจัดการศึกษาของพระ  เพื่ออนุเคราะห์เพื่อเกื้อกูลแก่ผู้ที่ไม่มีโอกาสทางการศึกษา  เพื่อเกื้อกูลเพื่อความสุขแก่หมู่ชนเป็นอันมาก  ดังพระบาลีว่า “พหุชนสุขาย  โลกานุกมฺปายฯ”

แต่มาถึงวันนี้กลับกลายเป็นว่า  ที่พระท่านทำการศึกษา  วิชาต่างๆ ที่ไม่ขัดกับพระธรรมวินัย  ซึ่งส่งเสริมให้ท่านเข้าใจโลก  เข้าใจชีวิตคนทางโลก  จะได้มีแนวทางในการช่วยเหลือผู้คนได้กว้างขวางขึ้น  กลับถูกกล่าวว่า  ท่านทำไม่ดีเสียแล้ว  บางคนก็มองว่า  ไม่เหมาะสมกับสมณสารูป  พระนักวิชาการที่ไม่เข้าใจบริบท  มีชุดความคิดไม่รอบด้าน  ก็มาเหยียบซ้ำลงไปอีก  คนที่ถูกกับกิเลสตน  ก็ถูกอกถูกใจ  ตามเฮโลวิพากษ์กันไปในทิศทางที่ทำให้ไม่เข้าใจการศึกษาของพระเณรในยุคนี้มากขึ้น  เป็นการขุดรากพระศาสนาออกจากวัฒนธรรมที่บรรพชนท่านสู้อุตส่าห์วางอุบายเอาไว้โดยไม่รู้ตัว

              “ความมั่นคงของพระศาสนา  คือความมั่นคงของชาติ  พระสงฆ์ในฐานะเป็นสัญลักษณ์สถาบันพระศาสนาคู่กับชาติบ้านเมือง  ซึ่งเกื้อกูลกันมาช้านาน  ถูกตั้งข้อระแวงสงสัย  ประเด็นนี้จำเป็นต้องทำให้เกิดความเข้าใจของคนในชาติ  แม้พระสงฆ์เองก็ต้องคิดใหม่เหมือนกัน  ต้องเปิดความคิด  หลุดออกมาจากกับดักแห่งอดีต  โลกเปลี่ยนสถานการณ์เปลี่ยน  พระสงฆ์ก็ต้องเปลี่ยนวิธีการจัดการศึกษา”

              วันนี้  แม้พระสงฆ์จะถูกสอนมาและเป็นที่เข้าใจกันว่า  การศึกษาบาลีมีความสำคัญต่อพระศาสนา เพราะเป็นช่องทางทำให้พระเณรเข้าใจหลักธรรมได้อย่างลึกซึ้ง  แต่ก็ต้องรู้ว่า  การศึกษาอย่างอื่นก็มีความสำคัญด้วยเช่นกัน  ในประเด็นนี้ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระราชกิจจาภรณ์มองกว้างไปถึงองค์รวมของพระพุทธศาสนา  และมองลึกเข้าไปในคณะสงฆ์ว่า  พระบางรูปบางท่าน  ยังมองว่า การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกสามัญ  หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า  การศึกษาทางโลกไม่ดี  ทำให้พระเณรไม่เรียบร้อย  ต้องเรียนทางธรรม  คือ  เรียนบาลีอย่างเดียว

              “ที่จริง  ทุกวันนี้  เราต้องยอมรับความจริงก่อน  เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาได้ตรงจุดว่า  การเรียนบาลีอย่างเดียวไม่สามารถไปรอดแล้ว  ต้องบูรณาการการศึกษาทุกระบบเข้าด้วยกัน  มองการศึกษาทุกระบบเป็นภาพรวมของคณะสงฆ์  ไม่ใช่มองแยกส่วน

              “ปัจจุบัน  คณะสงฆ์จัดการศึกษาอะไรบ้าง  ๑. นักธรรม รวมทั้งธรรมศึกษา  ๒.บาลี  รวมทั้งบาลีศึกษา  ๓.ปริยัติธรรมแผนกสามัญ  เรียนความรู้สามัญ  ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่หนึ่งถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่หก  ๔.มหาวิทยาลัยสงฆ์  เรียนระดับปริญญาตรี  ปริญญาโท  และปริญญาเอก   และ ๕. โรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา  เปิดโรงเรียนเพื่อสงเคราะห์ลูกหลานชาวบ้านที่ไม่มีโอกาสทางการศึกษา

              “บางคนอาจบอกว่า  เป็นหน้าที่ของชาวบ้าน  ก็ต้องตอบว่า อันที่จริงพระท่านก็ทำกันมาตั้งแต่เริ่มตั้งประเทศไทยแล้ว”

              ทุกคนเกิดมาล้วนมี “ปัญญา” กันทั้งนั้น  แต่ว่าจะประคับประคองปัญญาของตนให้เป็นไปในทางที่ถูกต้องดีงาม  เพื่อชีวิตดีงามได้อย่างไร

              จึงควรที่จะเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า “จะทำ  จะพูด  หรือจะคิด  ต้องใช้ปัญญา  ต้องมีเหตุผล”

“ทายาททั้งในทางโลกและในทางธรรม  มีความสำคัญดังที่ทราบกันแล้ว  ในทางโลก  ทายาทที่ดีจึงเป็นศรีแก่วงศ์สกุล”

ในทางพระศาสนา  ทายาทที่ดีเป็นศรีแก่พระศาสนา  วัดวาอาราม  และสังฆมณฑล

              พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนพระภิกษุทั้งหลายว่า

 “จงเป็นธรรมทายาท คือ ผู้สืบต่อในทางธรรม”

หมายถึง  มีธรรมเป็นที่พึ่งเป็นหลัก  ทั้งในทางกายและทางใจ  ธรรมเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่ง  เป็นหลักของชีวิต  ในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ  ธรรมจึงเป็นอลังการของทายาท  เครื่องปรุงแต่งให้ทายาทมีความงดงามเป็นทายาทที่ดี 

เช่นเดียวกัน  แม่ทายาทในทางโลก  ถ้ามีธรรมประจำกายใจ  ลูกก็จะเป็นทายาทที่ดีของวงศ์สกุล

              จริยาที่งดงามตามพระธรรมวินัย  แสดงถึงความงดงามแห่งพระพุทธศาสนา  ความงดงามดังกล่าว ปรากฏให้เห็นได้เป็นรูปธรรม  ด้วยการแสดงออกทางกายและวาจา  สมณะที่งดงามในพระพุทธศาสนาเพราะจริยาที่งดงาม  เป็นแบบอย่างให้ชาวโลกได้เห็นว่า  จริยาที่งดงามเป็นความงามแห่งทางโลก 

โลกที่ปราศจากจริยาที่งดงาม  ย่อมมากไปด้วยการทำลายล้าง  และแก่งแย่งชิงกัน  โดยธรรมชาติไม่มีผู้ใดต้องการการทำลายล้างและแก่งแย่งกัน  แต่ก็มีผู้ที่ต้องการทำลายล้างและแก่งแย่งผู้อื่น

              การทำลายล้างและแก่งแย่งกัน  ย่อมแก้ไขด้วยจริยาที่งดงามทางหนึ่ง  สมณะผู้สงบด้วยจริยาที่งดงามในพระพุทธศาสนา  จึงเป็นกลุ่มบุคคลที่จะนำความสงบสุขมาสู่ประเทศชาติ  บ้านเมือง  และโลก

              พระพุทธองค์ตรัสว่า  “การให้ธรรมเป็นทาน  ชนะการให้ทุกอย่าง”

การให้ธรรม คือ การบอกทางที่จะ เดินไปสู่ความดี  คุณพ่อคุณแม่สอนลูกให้ลูกเป็นลูกที่ดี  คือ  การบอกทางแห่งความดี  คือ การให้ธรรมเป็นทานนั่นเอง”

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ๙๓.  ความมั่นคงของพระศาสนา  คือความมั่นคงของชาติ เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here