เรียนรู้ปฏิปทาพระเถระแห่งยุคสมัยในกึ่งพุทธกาล ผู้นำพระพุทธศาสนาสู่โลกกว้าง ผู้สร้างพระสงฆ์รุ่นใหม่เพื่อเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ให้ดับทุกข์ทางใจตามรอยธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบตราบจนสิ้นทุกข์ในสังสารวัฏ

“ปูชา จ ปูชนียานํ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ.

ขอนอบน้อมแด่ครู พระอุปัฌชาย์ อาจารย์

ผู้ให้ชีวิตในพระศาสนาของพระพุทธองค์ ด้วยเศียรเกล้าฯ”

ร่องรอยความทรงจำแห่งอดีต บอกเล่าปฏิปทาในการครองตน ครองคน ครองงาน เพื่อจรรโลงความดีงาม ตามครรลอง “วิถีแห่งผู้นำ”

วิถีแห่งผู้นำ

: สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)

๙๔. ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช รูปแรก ของวัดสระเกศ

เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

สำหรับตอนนี้ ผู้เขียนเปิดบันทึกพระคัมภีร์โบราณนาม “ญาโณทยปกรณ์” หรือ “คัมภีร์ญาโณทัย” ซึ่งเป็นคัมภีร์เก่าแก่เป็นภาษาบาลี ที่รจนาโดย พระพุทธโฆสาจารย์ ชาวพุทธคยา เมื่อประมาณศตวรรษที่ ๑๐ เป็นหนังสือกล่าวถึงพุทธประวัติโดยย่อของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การสังคายนาพระธรรมวินัย จนถึงครั้งที่ทำในลังกาทวีป

และที่น่าสนใจคือ ทั้งชื่อผู้แต่งคัมภีร์ และชื่อคัมภีร์ ตรงกับ ชื่อสมเด็จพระสังฆราชเมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์สมเด็จ”พระพุทธโฆษาจารย์” กับทั้งฉายา “ญาโณทย”

ศิษยานุศิษย์จึงนำคัมภีร์ “ญาโณทยปกรณ์” มาพิมพ์ร่วมสมโภชงานสมโภชพระอารามหลวงครบ ๒๐๕ ปี และ สมโภชสุพรรณบัฏสมเด็จพระพุฒาจารย์ อุปเสณมหาเถร

และในตอนนี้ผู้เขียนได้เล่าเรื่องอันเนี่องเกี่ยวกับการก่อเกิดธรรมเนียมผู้ฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อให้เห็นวิถีการทำงานของพระเถระในการเผยแผ่พระพุทธศาสนามิให้ขาดตอนในแผ่นดินไทย ทั้งหมดนี้ก็เพื่อช่วยเหลือคนทุกข์ทางใจที่นับวันจะมากขึ้นทุกทีให้ลดลงตามกำลัง

๙๔. เล่าเรื่อง ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช รูปแรกของวัดสระเกศ

              ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช  ในการปกครองคณะสงฆ์ของไทยมีมานาน  ตั้งแต่ใช้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นต้นมา  ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชหลายองค์ เรียกได้ว่าเป็นผู้เสียสละต่อสังฆมณฑลอย่างยิ่ง เพราะเพียงทำหน้าที่ แม้มิได้รับการแต่งตั้งหรือสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชในเวลาต่อมาก็ตาม แต่ชะตาผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเหมือนตัวสำรอง  ไม่เคยเป็นตัวจริง  เว้นแต่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (อยู่ ญาโณทโย ) วัดสระเกศฯ  เพียงองค์เดียว  ที่ปฏิบัติทำหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชในตอนแรก  ต่อมาก็ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

นับแต่ พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นต้นมา  ประเทศไทยมีสมเด็จพระสังฆราชรวม ๕ พระองค์  คือ องค์ที่ ๑๕ สมเด็จพระสังฆราชอยู่ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ,  องค์ที่ ๑๖ สมเด็จพระสังฆราชจวน วัดมกุฏกษัตริยาราม ,  องค์ที่ ๑๗ สมเด็จพระสังฆราชปุ่น  วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม,  องค์ที่ ๑๘ สมเด็จพระสังฆราชวาสน์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม , และองค์ที่ ๑๙ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร

เมื่อแต่ละองค์สิ้นพระชนม์  กฎหมายสงฆ์ ๒๕๐๕  ให้ตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สังฆราชโดยเลือกผู้อาวุโสโดยพรรษา ถ้าองค์นั้นอาพาธให้เลือกสมเด็จที่อาวุโสรองลงไปตามลำดับ  จึงมีผู้ปฏิบัติหน้าที่หรือรักษาการสมเด็จสังฆราชหลายองค์  บางองค์รับหน้าที่รักษาการถึง ๒ ครั้ง  แต่ก็ไม่ได้เป็น  บางองค์เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สังฆราช  และมีแนวโน้มว่าจะได้เป็น  แต่ถูกฝ่ายไม่เห็นด้วยค้านอย่างหนัก  ทั้งกล่าวหาตรงๆ หรือเสียดสีทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง  องค์นั้นคือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) วัดปากน้ำ  ภาษีเจริญ (พระอารามหลวง)  ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช  ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย  ที่ฝ่ายอาณาจักรบัญญัติไว้โดยที่ท่านไม่ได้ไปเรียกร้องหรือเสนอตัว  แต่เมื่อท่านปฏิบัติหน้าที่และมีแนวโน้มว่าจะได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช  ก็มีขบวนการสร้างเรื่องให้ท่านมัวหมอง

  อันการปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชนั้นทำตาม พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ที่มาตรา ๑๐ บัญญัติว่าเมื่อไม่มีสมเด็จพระสังฆราช  ให้สมเด็จพระราชาคณะที่อาวุโสโดยพรรษาเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช  ถ้าสมเด็จอาวุโสนั้น  ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้  ให้สมเด็จที่อาวุโสรองลงมาปฏิบัติหน้าที่แทน  ให้ทำอย่างนี้ตามลำดับ
     เมื่อประกาศใช้ พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มีผลวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๖ นั้น  ประเทศไทยว่างสังฆราช  กระทรวงศึกษาธิการจึงประกาศให้สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (อยู่) วัดสระเกศฯ  เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช  พระองค์ท่านจึงเป็นองค์แรกที่ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชตาม พ.ร.บ.นั้น 

  ต่อมา ท่านก็ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช  จึงนับว่าเป็นองค์เดียวที่ปฏิบัติหน้าที่พระสังฆราชแล้ว ได้รับการสถาปนาในที่สุด  เพราะหลังจากนั้นมีการตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชหลายองค์  แต่ไม่ได้เป็นพระสังฆราช  แม้แต่องค์เดียว

พระประวัติ สมเด็จพระสังฆราช (ญาโณทยมหาเถระ)

สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๑๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

พระชาติกำเนิด

              สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถระ) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  ประสูติเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๑๗  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ที่เรือนแพหน้าวัดกัลยาณมิตร อำเภอบางกอกใหญ่ จังหวัดธนบุรี  บิดาชื่อ ตรุษ  มารดาชื่อ จันทน์

              พระนามเดิม อยู่  นามสกุล (แซ่) ฉั่ว  ต่อมาเปลี่ยนเป็น ช้างโสภา

เมื่อพระเยาว์ทรงรับการศึกษาเบื้องต้นในสำนักบิดาผู้เป็นบุรพาจารย์  และต่อมามีพระชนมายุพอสมควร ได้มาอยู่ในสำนักของพระอาจารย์ช้าง วัดสระเกศ  ได้รับการศึกษาวิชาหนังสือ วิชาเลข ลูกคิด และโหราศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวกับคติภูมิเป็นที่ไปของคน ได้ทรงเล่าเรียนสืบมาจนกระทั่งได้บรรพชาเป็นสามเณร  จึงได้ทรงเริ่มศึกษาภาษาบาลี  ทรงศึกษามูลกัจจายน์ (หลักสูตรการเรียนภาษาบาลีชั้นสูง) ในสำนักพระอาจารย์ช้าง  ต่อมาได้ทรงศึกษาในสำนักท่านเจ้าคุณพระธรรมกิติ (เม่น) บ้าง  ในสำนักเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (แดง) บ้าง และในสำนักพระธรรมปรีชา (ทิม) บ้าง

เมื่อพระชนมายุได้ ๑๒ พรรษา ได้ทรงบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ในสำนักพระอาจารย์ช้าง วัดสระเกศ พระนคร ได้ทรงศึกษาสามเณรสิกขารวมทั้งพระธรรมและวินัยอันดีงามตลอดจนตำราโหราศาสตร์ทุกชนิด ปรากฏว่ามีพระปัญญาเฉียบแหลมมาก

   พ.ศ. ๒๔๓๓  ครั้งยังเป็นสามเณรได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมในสนามหลวง ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นครั้งแรก  ได้เป็นเปรียญ ๓ ประโยค 

              ต่อมาในพ.ศ. ๒๔๓๖ ยังเป็นสามเณรเช่นเดิม  ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมในสนามหลวงที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  ได้เปรียญอีก ๑ ประโยค รวมเป็นเปรียญ ๔ ประโยค

จนถึงปี ๒๔๓๗ ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ  โดยมีสมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน) วัดสุทัศน์ เป็นพระอุปัชฌาย์  พระธรรมทานาจารย์ (จุ่น) วัดสระเกศฯ  เป็นพระกรรมวาจาจารย์  พระธรรมกิตติ (เม่น พฺรหฺมสโร) วัดสระเกศฯ  เป็นพระอนุสาวนาจารย์

เป็นที่น่าสังเกตว่า สมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน)  มีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สน) วัดสระเกศฯ  เป็นอาจารย์ และ พระอุปัชฌาย์  ซึ่งเป็นที่อัศจรรย์ว่าทั้งสองวัดนี้มีความเกี่ยวเนื่องเหมือนวัดพี่น้องกันตั้งแต่ชั้นบูรพาจารย์

  ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๑ เข้าแปลพระปริยัติธรรมอีก ได้เป็นเปรียญ ๕ ประโยค 

และ พ.ศ.๒๔๔๓ ได้เป็นเปรียญ ๖ ประโยค

เมื่อสอบได้เปรียญ ๖ ประโยคแล้ว  ก็คิดว่าจะหยุดไม่เข้าแปลอีกต่อไป  ทรงทราบถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๕  ทรงมีรับสั่งให้เข้าแปลประโยค ๗ ต่อไป  จึงต้องรับสนองพระกระแสรับสั่งเข้าแปลต่อไป  และแปลได้อีก ๑ ประโยค  เป็นเปรียญ ๗ ประโยค  (เรื่องนี้ท่านเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร  เมื่อดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการเวลานั้น  นำพระกระแสรับสั่งมาบอก)

จากนั้น พ.ศ. ๒๔๔๔ ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมในสนามหลวง  แปลได้อีก ๑ ประโยค  ได้เป็นเปรียญ ๘ ประโยค

พ.ศ. ๒๔๔๕ ได้เข้าแปลประโยค ๙ ต่อไป และก็ได้เป็นเปรียญเอก ๙ ประโยค ในปีนั้น

อนึ่ง ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ) ได้เป็นเปรียญธรรม ๙ ประโยค  เป็นรูปแรกในรัชกาลที่  ๕  เมื่อพระชนมายุ ๒๘ พรรษา  และได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้นำรถมาส่งจนถึงที่เป็นพิเศษ  และนับตั้งแต่นั้นมา  ถ้าเปรียญรูปใดสอบไล่ได้ ๙ ประโยค  ก็ทรงพระกรุณาโปรดให้นำรถส่งเปรียญรูปนั้นจนถึงที่เป็นธรรมเนียมมาจนถึงบัดนี้

อีกประการหนึ่ง ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ นับตั้งแต่ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมมาตั้งแต่ประโยคต้นจนประโยคสุดท้าย ไม่เคยแปลตกเลย

ดำรงตำแหน่งสมณศักดิ์

เมื่อทรงได้เป็นเปรียญธรรม ๙ ประโยคแล้ว ก็ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการสนามหลวงสอบไล่พระปริยัติธรรมตลอดม

  วันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๑ ในรัชกาลที่ ๕  ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่พระปิฎกโกศล 

วันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๔ ในรัชกาลที่ ๖ ได้รับเลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชเวที ตรีปิฎกภูสิต ธรรมบัณฑิต ยติคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี

วันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๖ ในรัชกาลที่ ๖ ได้รับเลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเวที ตรีปิฎกคุณสุนทรธรรมภูสิต ยติคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี

วันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๐ ในรัชกาลที่ ๗ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมเจดีย์ กวีวงศนายก ตรีปิฏกบัณฑิตมหาคณฤศร บวรสังฆารามคามวาสี  และเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม 

วันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ ในรัชกาลที่ ๘ ได้รับสถาปนาสมณศักดิ์เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะที่ พระธรรมวโรดม บรมญาณอดุลย์ สุนทรนายก ตรีปิฎกคุณาลังการภูสิต สุทธิกิจสาทร มหาคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี  ตำแหน่งเจ้าคณะรอง

ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ ในรัชกาลที่ ๙ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าฯ สถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ญาณอดุลสุนทรนายก ตรีปิฎกวิทยาคุณ วิบุลคัมภีรญาณสุนทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี

พ.ศ.๒๕๐๕ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตติโสภณมหาเถร) วัดเบญจมบพิตร สิ้นพระชนม์ ท่านได้รับโปรดเกล้าฯ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช  และประธานกรรมการมหาเถรสมาคม  ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕

  ครั้นถึงวันที่ ๔ พ.ค.๒๕๐๖ โปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช  มีราชทินนามว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมวิธานธำรง สกลมหาสงฆปริณายก ตรีปิฎกโกศล วิมลคัมภีรญาณ ญาโณทยาภิธานสังฆวิสุต พุทธบริษัทคารวสถาน ธรรมปฏิภาณญาณสุนทร บวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราช ในพระราชพิธีฉัตรมงคล นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เมื่อได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช  ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจทุกอย่างเพื่อความสงบสุขของสังฆมณฑล โดยมิทรงคำนึงถึงความชราภาพ  เพราะรับสั่งเสมอว่า  สังฆราช ไม่ใช่ สังฆราชี (ความแตกแยกแห่งสงฆ์)

หน้าที่การงาน

              พ.ศ. ๒๔๔๕  เมื่อได้เป็นเปรียญธรรม ๕ ประโยคแล้ว  ก็ได้รับหน้าที่เป็นกรรมการสนามหลวง สอบไล่พระปริยัติธรรม ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามตลอดมา

  พ.ศ. ๒๔๕๖  สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  ทรงแต่งตั้งให้เป็นพระคณาจารย์โท ฝ่ายคันถธุระ  และโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าสำนักเรียนวัดสระเกศฯ

พ.ศ. ๒๔๕๘  ย้ายสนามหลวงการสอบบาลี  ไปที่วัดเบญจมบพิตร  เปลี่ยนการแปลด้วยปาก  เป็นการเขียน ก็ได้รับตำแหน่งเป็นกรรมการตรวจประโยคด้วย

พ.ศ. ๒๔๖๒  สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ทรงแต่งตั้งให้เป็นแม่กองธรรมสนามมณฑลนครราชสีมา

  พ.ศ. ๒๔๖๔  พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า  โปรดให้เป็นแม่กองธรรมสนามจังหวัดกาญจนบุรี

  พ.ศ. ๒๔๖๕ – ๒๔๖๖  รับหน้าที่เป็นแม่กองธรรมสนามมณฑลภูเก็ต รวม ๒ ปีติด ๆ กัน

วันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๗  สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงตั้งให้เป็นผู้รั้งตำแหน่ง เจ้าคณะแขวงเหนือ จังหวัดธนบุรี

              พ.ศ. ๒๔๖๗   เป็นแม่กองธรรมสนามมณฑลภูเก็ตอีกครั้งหนึ่ง

              พ.ศ. ๒๔๖๘  เป็นแม่กองธรรมสนามมณฑลนครราชสีมา

              วันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๙ ในรัชกาลที่ ๗  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  แต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะแขวงเหนือ  จังหวัดธนบุรี ได้รับหน้าที่นั้นตลอดมาจนถึงการเปลี่ยนแปลงพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ ๒๔๘๔

พ.ศ. ๒๔๗๐ เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมตลอดมาถึง พ.ศ. ๒๔๘๔

              พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้รับเลือกเป็นรองประธานสังฆสภา  และต่อมาเมื่อประธานสังฆสภาว่างลง  ก็ได้รับเลือกให้เลื่อนเป็นประธานสังฆสภา

หน้าที่การปกครอง

              พ.ศ. ๒๔๖๐ เมื่อได้ดำรงตำแหน่งสมณศักดิ์เป็นพระเทพเมธี  ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ   เมื่อได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส  ก็ได้รับพระราชทานโปรดให้เป็นพระอุปัชฌาย์  ให้บรรพชาอุปสมบทกุลบุตรตลอดมา  พร้อมทั้งทำหน้าที่ให้การศึกษาอบรมภิกษุสามเณรและศิษย์ในวัดให้ได้รับการศึกษาเป็นไปด้วยดีตลอดมา

ด้านการศึกษา

ในฐานะที่ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าสำนักเรียนวัดสระเกศ  ได้จัดตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม  ทั้งแผนกธรรม แผนกบาลี  มีภิกษุสามเณรทั้งในวัดและต่างวัดได้มาอาศัยศึกษาเล่าเรียน  จนปรากฏว่ามีนักเรียนสอบไล่ได้นักธรรมและบาลี ปีละจำนวนมาก

สำหรับเปรียญ และนักธรรม  ในสำนักวัดสระเกศฯ ได้ออกไปเผยแพร่การศึกษาในต่างจังหวัด จนปรากฏว่าได้รับหน้าที่  และดำรงสมณศักดิ์ก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก

ด้านการปฏิสังขรณ์

เมื่อได้รับหน้าที่โปรดให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสแล้ว  ก็ได้เริ่มบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถทั่วทั้งหลัง  ได้ต่อหน้าชานพระวิหารให้กว้างใหญ่ขึ้น  ทำความสะดวกให้แก่สัปปุรุษ  อุบาสก และอุบาสิกา  ที่จะได้เข้าไปนมัสการพระอัฏฐารสในพระวิหารเป็นอย่างมาก ได้ทรงปฏิสังขรณ์เสนาสนะและถนนในวัดให้มีสภาพดีขึ้นกว่าเก่ามาก  ได้ทรงทำการบูรณปฏิสังขรณ์องค์บรมบรรพตจนสำเร็จเรียบร้อย ได้ทรงสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม และหอสมุดของวัดขึ้น และได้บูรณปฏิสังขรณ์พระระเบียงรอบพระอุโบสถและเปลี่ยนกระเบื้องเป็นกระเบื้องเคลือบทั้งหมด และได้เทคอนกรีตบริเรณรอบนอกพระอุโบสถทั้งหมด

สำหรับการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ นั้น ได้มีบันทึกไว้แต่เพียงว่า “ได้บรรจุไว้ที่เจดีย์ภูเขาทอง” แต่ไม่ไม่มีใครทราบว่าบรรจุตรงจุดไหน บ้างก็ว่าที่ยอดปลี ,ตรงกลางบ้าง,ฐานชั้นบนบ้าง,ตรงภูเขาทององค์เล็กๆ ข้างล่างก่อนขึ้นบนยอดบ้าง เดากันไปต่างๆ นานา ตามความเชื่อของแต่ละคน


แต่มาทราบในยุคที่สมเด็จพระสังฆราช ญาโณทยมหาเถระ ทรงบูรณปฏิสังขรณ์นี้เองว่า พระบรมสารีริกธาตุบรรจุ ณ จุดใด ถ้ามองจากด้านล่างช่วงกลางคืน จะเห็นไฟสีเขียว ที่เรียกว่าคอของระฆัง นั่นคือ จุดที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

ด้านการอบรมศีลธรรมประชาชน

              จัดให้มีการแสดงพระธรรมเทศนาทุกวันธรรมสวนะ  ปรากฏว่ามีอุบาสก อุบาสิกา  มาประชุมฟังธรรมและรักษาอุโบสถศีลในวันพระหนึ่งๆ ไม่น้อยกว่า ๑๐๐ คน  ทั้งในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา  เช่นวันวิสาขบูชา  และมาฆบูชา  ถือว่าเป็นกิจสำคัญยิ่งขาดเสียมิได้

สำหรับภิกษุสามเณรภายในวัดก็จัดให้มีการประชุม  อบรม  ให้การศึกษา  ให้โอวาทานุสาสนีและคำแนะนำเสมอมา โดยเฉพาะนวกภิกษุในวัดต้องได้รับโอวาทานุสาสนี  การอบรม  และการศึกษาเป็นประจำ

              หลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)  เล่าว่า 

              “สมเด็จพระสังฆราชนั้น  พระองค์ท่านสมถะอยู่อย่างเรียบง่ายไม่ถือยศถือศักดิ์  แต่ก็ทรงมีระเบียบมาก  จนมองไม่เห็นว่า  จุดไหนที่เรายกขึ้นมาตำหนิพระองค์ท่านได้ “พระองค์ท่านเป็นพระมหาเถระที่พูดน้อย  มีลักษณะยิ้มแย้มแจ่มใส  และถือว่าพระที่อยู่กับพระองค์ท่านเหมือนกับลูกหลาน  จึงทำให้มีความรู้สึกว่า  ไม่มีอะไรที่พอจะยกขึ้นมาว่า  อันนี้ไม่ดี  อันนั้นไม่ดี  เพราะสิ่งที่ท่านทำสะอาดทั้งหมด  เมตตา  กรุณา  ที่พระองค์ท่านแสดงออกมาจากการกระทำ  จากการพูด  ทำให้ไม่สามารถเห็นจุดบกพร่องแม้แต่นิดเดียว”

พระพรของสมเด็จพระสังฆราช ญาโณทยมหาเถระ

พระพรของสมเด็จพระสังฆราช ญาโณทยมหาเถระ

พระพุทธโฆสมหาเถระ ชาวพุทธคยา ได้อาศัยพระดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวดังต่อไปนี้ว่า พระพุทธเจ้าเป็นมารดา พระธรรมเป็นบิดา พระสงฆ์เป็นพี่

ด้วยอำนาจที่พระพุทธเจ้าทรงเป็นมารดา เพราะทรงคลอดพรหมจรรย์ ด้วยอำนาจที่พระธรรมเป็นบิดา เพราะความเป็นพรหมในทางศาสนา ด้วยอำนาจที่พระสงฆ์เป็นพี่ เพราะร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน ขอหญิงและชายที่มาในที่นี้ และมิได้มาในที่นี้จงมั่งคั่งและไม่มีโรค ปราศจากทุกข์ และไม่มีอุปัทวันตราย ขอภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย จงได้รับอานิสงส์แห่งการปฏิบัติชอบ อันมีสุขเป็นกำไร

ด้วยอานุภาพและด้วยเดชแห่งพระรัตนตรัย ด้วยอำนาจแห่งบุญที่ได้ทำแล้วแต่ก่อนก็ดี เดี๋ยวนี้ก็ดี ทุกเมื่อจงเป็นเหตุให้ชาติไทยรุ่งเรือง พระศาสนาปราศมลทิน

ขอพระเจ้าแผ่นดินทรงมีพระชนมายุยืนยาว พร้อมทั้งพระบรมราชินีนาถ พระโอรสพระธิดา พระประยูรญาติและข้าราชบริพาร พร้อมด้วยสมเด็จพระราชชนนี พระบรมวงศานุวงศ์ อย่าได้มีความคับแค้นพระทัย ภัยในลัทธิไหนๆ ก็ไม่มี ขอคณะรัฐบาล พร้อมทั้งอำมาตย์และข้าราชการ จงมีความสุข ขอการกินดีอยู่ดีจงมีอย่างสมบูรณ์แก่ประชาชนทั้งหลาย ขอความยินดีปรีดาปราโมทย์ ซึ่งประกอบด้วยประโยชน์และชอบธรรม จงมีทั่วกันเทอญ.

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ

เปิดพระคัมภีร์โบราณ “ญาโณทยปกรณ์”

พระโมคคัลลีบุตรส่งพระไปประกาศศาสนาในปัจจันตชนบท

กำเนิดพระพุทธโฆสะชาวพุทธคยา

อานิสงส์การเขียนหรือจานพระไตรปิฎก

“พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ว่า อักษรตัวหนึ่งและหรือวรรณยุกต์อันหนึ่งเท่ากับพระพุทธรูปองค์หนึ่ง เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงจารึกพระไตรปิฎกไว้ จำนวน ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์เป็นประมาณของพุทธพจน์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

“เมื่อเขียนอักษรแห่งคัมภีร์พระไตรปิฎก ก็เท่ากับการสร้างพระพุทธรูป มีผลเท่ากัน เพราะยังโลกทั้งหมดให้ปลื้มใจเท่ากัน อักษรเหล่านั้นมีเดชเหมือนพระอาทิตย์”

“คนเหล่าใดให้ใบลานก็ดี ให้กายพันธ์แก่ผู้จานหนังสือก็ดี หรือที่รองสำหรับเขียนก็ดี กระเบื้องรองหมึกก็ดี เขม่าไฟน้ำมันยางก็ดี คนเหล่านั้นย่อมเป็นผู้มีปัญญาสูง พวกที่เขียนเองก็ดี หรือให้ผู้อื่นเขียนก็ดี หรือผู้ที่อนุโมทนาในการทำการจารึกพระไตรปิฎกก็ดี คนเหล่านั้นแม้ทั้งหมดเป็นศิษย์ของพระเมตไตรยพุทธชินเจ้าในภายภาคหน้าล้วนมีปัญญา เราจะไม่มาร่วมการเขียนพระไตรปิฎกหรือ…”

“สิ่งใดที่ท่านปรารถนาแล้ว หรือบุญใดที่ท่านแผ่ไปแล้ว หรือคนเหล่าใดๆ ที่เขียนจารึกพระไตรปิฎกให้สมบูรณ์ หรือผู้อื่นซึ่งเป็นผู้ช่วยเหลือเลี้ยงดูคนเหล่านั้น หรือผู้ให้ทาน แก่ท่านที่ทำงานเหล่านั้น คนทำดีเหล่านั้นทั้งหมดย่อมจะได้ความสุขนั้นๆ ดังกล่าวตามส่วนในอนาคต”

อานิสงส์การฟังธรรม

“ดูก่อนวักกลิ

ผู้ใดเห็นพระสัทธรรมของเรา

ผู้นั้นก็เห็นเราด้วย

ผู้ใดไม่เห็นพระสัทธรรมของเรา

ผู้นั้น แม้เห็นเรา ก็ไม่พบเรา”

“คนทั้งหลายซึ่งแสดงพระธรรม

ไม่ใช่ตัวพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดง

แต่ว่าผู้แสดงๆ ด้วยความเคารพ

ผู้ฟังก็ฟังด้วยเงี่ยโสตสดับด้วยความเคารพ

ธรรมนี้ก็เท่ากับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงเอง”

การแสดงโดยความเคารพ การสนใจโดยเคารพ ซึ่งพระสัทธรรมนั้นตลอดกาลทั้งปวง ซึ่งเป็นเหตุให้ได้การบรรลุปฏิสัมภิทา การสำเร็จวิโมกข์และบรรลุซึ่งสาวกบารมีญาณ การที่สำเร็จเป็นภูมิพระพุทธเจ้า และพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหมดก็ย่อมได้ด้วยการสัทธรรมโดยเคารพ ฟังธรรมโดยเคารพ สนใจพระธรรมโดยเคารพดังกล่าว เพราะที่เราเกิดเป็นมนุษย์ก็เกิดด้วยยากอยู่แล้ว ยังยากที่จะได้พบพระพุทธศาสนาอีกเล่า ยังพระสัทธรรมที่จะเกิดมียั่งยืนเช่นต้องทำสังคายนาดังกล่าว หรือฟังธรรมได้ผลก็หาได้ยากขึ้นไปอีก และยังพบผู้แสดงธรรมที่สามารถก็ยิ่งเป็นการยากที่สุ

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ๙๔. ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช รูปแรก ของวัดสระเกศ เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here