การเว้นวรรคการเสพข้อมูลข่าวสารบ้าง เป็นการดี
และเมื่อต้องรับข่าวสารก็ควรจะพิจารณาให้ดี…
เทคนิคจากพระพุทธเจ้าในการมอง(กิเลสในตน) มองคน และมองสถานการณ์…
มองให้ดีก่อนตัดสินใจ
โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป
มีเด็กเล่านิทานให้ฟังว่า ยังมีจิ้งจอกตัวหนึ่งเผลอพลาดตกลงไปในบ่อ หาทางขึ้นไม่เจอ ตะกายป่ายปีนยังไงก็ไม่สามารถขึ้นมาได้ ขณะนั้นมันนอนแช่น้ำทอดถอนใจในชีวิตของตนเองอยู่ ก็มีแพะตัวหนึ่งโผล่หน้ามองลงมา
จิ้งจอกร้องทักทันที “ท่านเป็นไงบ้าง ร้อนไหม?”
แพะร้องตอบว่า “ร้อนมาก ดูท่านสบายนะนอนแช่น้ำคงจะเย็นดี”
จิ้งจอกร้องกลับไปว่า “เย็นสบายน้ำสะอาด ดื่มแล้วชื่นใจ ท่านอยากลองบ้างไหมละ? ลงมาแช่น้ำเย็นๆ ด้วยกันสิ”
แพะหลงเชื่อจึงกระโดดลงไป น้ำเย็นสบายจริง แต่ไม่ได้สะอาดมากนัก จิ้งจอกบอกว่า ท่านยกเท้าค้ำผนังบ่อไว้เราจะนวดหลังให้ พอแพะตะกายเท้าหน้าที่ผนังบ่อน้ำ จิ้งจอกก็ปีนขึ้นไปบนตัวแพะและเหยียบที่เขาแข็งแรงนั่นกระโดดขึ้นจากบ่อได้พอดี
แพะแช่อยู่ในน้ำอึ้งนิ่งมึนงงกับสิ่งที่เกิดขึ้น ขณะที่แว่วเสียงหัวเราะของจิ้งจอก ค่อยๆ ดังห่างออกไป จนเงียบงัน เหลือแค่มันตัวเดียวอยู่ในบ่อลำพัง แล้วมันก็เริ่มกระโดดและตะกายผนังบ่อน้ำ จนเหนื่อยล้าก่อนจะเอนตัวลงพักพิงผนังบ่อ มันเริ่มจะเข้าใจอะไรบ้างแล้ว แต่ดูเหมือนจะสายเกินไป
เด็กสรุปแง่คิดว่า “ดูให้ดีก่อนที่จะกระโดดลงไป”
เป็นเรื่องที่เขาได้จากหนังสือที่ได้อ่านตอนเป็นเด็ก เมื่อได้ฟังแล้วก็เพื่อต่อยอดการเรียนรู้ จึงชวนเพื่อนในกลุ่มให้แบ่งปันประสบการณ์ที่คล้าย ๆ กับนิทาน
หลายคนเล่าถึง ข่าวในสื่อออนไลน์ ที่มีการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับ ชวนเล่นพนัน ชวนให้ทำธุรกิจ ชวนให้ลงทุน ตลอดจนถึงชวนให้ซื้อของดีราคาถูก บางคนเคยมีประสบการณ์ตรงที่ซื้อมาแล้วใช้ไม่ได้ผลคุณภาพไม่ดีอย่างที่โฆษณา แม้ของจะราคาไม่แพงมาก แต่ก็เสียดายที่ได้ของไม่ดี ก่อนจะร่วมกันถอดบทเรียนสรุปเป็นแง่คิดว่า
“ควรศึกษาให้ดี หรือพิจารณาให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อใคร โดยเฉพาะในสื่อออนไลน์” จากนั้นได้นำเสนอหลักการทางพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับหลักของอุบาสกอุบาสิกา ในข้อที่ว่าด้วยการไม่หลงเชื่อไม่หลงมงคลตื่นข่าว
การไม่หลงถือมงคลตื่นข่าว
เป็นคุณสมบัติของชาวพุทธที่จะต้องรับข้อมูลข่าวสารอย่างพิจารณา ตลอดจนถึงให้ศึกษาทุกสิ่งที่เข้ามากระทบชีวิตอย่างมีสติและคิดอย่างรอบคอบมีเหตุผล
ข่าวลือ เป็นธรรมดาของสังคมมนุษย์มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ประเด็นก็ไม่ต่างกันมาก
ส่วนใหญ่ก็ชวนให้เชื่อ ด้วยการให้ข้อมูลเท็จ เกินจริง บิดเบือนความจริง และให้ข้อมูลไม่ครบ ส่วนเครื่องมือก็แตกต่างกันไปตามยุคสมัย เพียงแค่ปัจจุบันนี้มันง่ายและรวดเร็วว่าแต่ก่อนเยอะ แต่ว่ามันก็ดีตรงที่สามารถตรวจสอบความถูกต้องและที่มาของข่าวได้เร็ว ทำให้เราสามารถที่จะพิจารณาความน่าเชื่อถือของเนื้อหานั้นมากน้อยแค่ไหน แต่ก็อย่างว่าแหละ คนเรามักไม่สืบรู้ขนาดนั้น ไม่สงสัยด้วยซ้ำ ก็เชื่อเขาไปแล้ว
ดูเหมือนประเด็นนี้จะพูดบ่อยมาก แต่ที่อยากจะให้เห็นก็คือ กระบวนการเรียนรู้ในการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านคุณธรรมจริยธรรมของเด็กและเยาวชน ซึ่งบางครั้งเราอาจจะไม่ใช่แค่ผู้ให้ข้อมูลแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ว่าพระวิทยากรอาจจะทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ และสร้างบรรยากาศให้เป็นไปเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
“Active learning” หรือ “การเรียนรู้แบบตื่นรู้”
เป็นกระบวนการที่มีผู้เรียนเป็นสำคัญ และเราสามารถที่จะกระตุ้นผ่านสิ่งที่เด็กสนใจหรือมีพื้นฐานเดิม เราก็ต่อยอดจากสิ่งที่เขามี ทำให้การเรียนรู้นั้นไม่น่าเบื่อ เด็กมีอิสระในการเสนอความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเองระหว่างเด็กด้วยกัน เพราะต้องยอมรับว่า เด็กในสมัยนี้การรับรู้จะแตกต่างจากยุคเรามาก เราแทบไม่รู้เลยว่าเขาได้เรียนรู้อะไรมาบ้าง การได้ฟังเขาแลกเปลี่ยนกัน ทำให้เราเองก็ได้เรียนรู้ไปด้วย ข้อมูลบางเรื่องถือว่า เชิงลึกจริงๆ และขณะนั้นนั่นเองจะเกิดช่องให้เราสามารถแทรกข้อมูลทางธรรมะให้เขาได้ช่วยกันขบคิด
เราจะไม่บอกว่า ของพระนี่นะดีนะ ถูกนะ แต่จะชวนคิดว่า ใช้ได้ไหม จะใช้ยังไง และคิดว่าใช้แล้วจะดีต่อตนเองอย่างไรบ้าง เมื่อเขาสรุปธรรมสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันได้แล้ว ก็ถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ ของการเรียนรู้
เมื่อครั้งได้เป็นวิทยากรให้กับสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯวัดสระเกศฯ ก็ได้นำเทคนิคนี้แบ่งปันให้กับพระสงฆ์ ที่มีความตั้งใจอยากจะทำงานด้านเผยแผ่และพัฒนาเด็กและเยาวชน ปรากฏว่าได้ผลดีมีพระสงฆ์ได้นำไปใช้ในส่วนงานของท่าน เปลี่ยนแปลงการสอนเป็นการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ ทำให้เกิดการแบ่งปันทั้งพระสงฆ์ และเยาวชน ผลตอบรับเป็นสิ่งที่น่าพอใจ สิ่งที่คิดต่อไปคือการต่อยอดให้มีความก้าวหน้าและนำไปสู่ครอบครัว ชุมชนและสังคมได้อย่างไร
เมื่อนึกย้อนไปถึงนิทานข้างต้น ก็ทำให้ได้แง่คิดเพิ่มเติมอีกว่า ครอบครัวที่ส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้สำหรับเด็ก จะเป็นฐานความรู้เบื้องต้นสำคัญสำหรับเด็ก
ดังนั้นแล้ว การที่จะเตรียมเด็กให้พร้อมต่อการก้าวไปสู่อนาคตที่มีอะไรมากมายรอเขาอยู่ ให้ต้องเผชิญผจญ เราทุกคนล้วนมีส่วนร่วม และจะต้องเรียนรู้และพัฒนาไปด้วยกัน เพราะช่วงหลังมานี้ไม่ใช่เด็กเลยที่หลงให้เขาหลอก แต่ผู้ใหญ่บางคนก็ยอมให้เขาหลอกเพราะหลงอยากได้ผลประโยชน์ พอรู้ตัวอีกทีก็ถอนตัวไม่ขึ้นเสียแล้ว