ธรรมนิพนธ์ เรื่อง "ความเป็นมาของพระอภิธรรม" เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์เป็นธรรมทาน โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ
ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์เป็นธรรมทาน โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ

หนังสือ “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เกิดขึ้นด้วยปรารภเหตุการณ์เฉพาะ เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

มุ่งบอกเล่าถึงความเป็นมาของพระอภิธรรม เพื่อประกอบการฟังสวดพระอภิธรรมเป็นสำคัญ มิใช่มุ่งการอธิบายข้อธรรมในคัมภีร์พระอภิธรรม เมื่อฟังสวดแล้ว จะได้รู้ถึงที่มาที่ไปของพระอภิธรรมที่พระบรมศาสดาทรงแสดง อันจะเป็นบุญเป็นกุศลเพิ่มขึ้นอีกโสดหนึ่งด้วย…

ด้วยห้วงเวลานั้น ทุกคนล้วนมีจิตละเอียด เป็นหนึ่งเดียว จดจ่ออยู่กับท่วงทำนองแห่งพระอภิธรรมที่พระพิธีธรรมสวดถวายในหลวง รัชกาลที่ ๙ พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ …

จากส่วนหนึ่งใน “คำปรารภ” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
“ความเป็นมาของพระอภิธรรม (๑๐) “ประมวลองค์ธรรมแห่งการตรัสรู้” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จากคอลัมน์ ธรรมโอสถ นิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๑๒๘๔ วันที่ ๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๐
“ความเป็นมาของพระอภิธรรม (๑๐) “ประมวลองค์ธรรมแห่งการตรัสรู้” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จากคอลัมน์ ธรรมโอสถ นิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๑๒๘๔ วันที่ ๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๐

จากความกตัญญุตาที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) มีต่อบูรพมหากษัตริย์ไทย

จากรากฐานแห่งพระอภิธรรมสู่รากฐานชีวิตชาวพุทธ

จากดวงตาที่เกือบจะมืดมิดสู่ธรรมนิพนธ์ “ความเป็นมาของพระอภิธรรม”

คติธรรมวันนี้วันพระ วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๓ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๐ หลังจากพิมม์และโพสต์ เข้าพรรษากับความเป็นมาของพระอภิธรรม : ธรรมนิพนธ์ของท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) แล้ว ศิษย์ก็รำลึกถึงช่วงเวลาที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด เมตตาเขียน “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” ให้เป็นธรรมทานกับนิตยสาร “เนชั่นสุดสัปดาห์” เมื่อสามปีก่อน

ในครั้งนั้นเกิดจากมโนปณิธาน และเจตนารมณ์อันยิ่งใหญ่ของท่าน ที่ตั้งใจเขียนน้อมถวายเป็นพระราชกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ หลังจากเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ ให้กับนิตยสาร “เนชั่นสุดสัปดาห์” ๒๔ ตอน เป็นธรรมทาน (ก่อนที่นิตยสารจะปิดตัวลงในเดือน มิถุนายน ๒๕๖๐) เพื่ออธิบายความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ซึ่งเป็นผลการปฏิบัติของพระพุทธเจ้าเสด็จไปบนสวรรค์เพื่อโปรดพระพุทธมารดาอย่างเป็นลำดับด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย

ในช่วงเวลานั้น ดวงตาของท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด เพิ่งหายจากการอาพาธจากการมองเกือบไม่เห็นในช่วงพรรษาของปีนั้น  เป็นเวลากว่าสามเดือนที่ท่านเมตตาเล่าให้ฟังว่า ต้องอยู่กับความมืดมาตลอด มีพระเพื่อนสหธรรมิก และพระลูกศิษย์คอยช่วยเหลือบิณฑบาตอาหารมาให้จนกระทั่งเปิดดวงตาออกมาหลังพรรษาผ่านพ้น ท่านจึงอุทิศเวลาเขียน “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” ขึ้นเพื่อถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ และรำลึกถึงพระคุณของพระพุทธมารดาของพระพุทธเจ้าด้วย 

ธรรมนิพนธ์ “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” และการเผยแผทางเว็บไซต์ Manasikul.com อีกครั้งเป็นธรรมทานอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นที่มาแห่งความกตัญญุตาที่ท่านอาจารย์มีต่อบูรพมหากษัตริย์ไทยที่ทรงเป็นมิ่งขวัญศูนย์รวมดวงใจแห่งแผ่นดินไทย ที่ทรงมีพระเมตตาประดุจฝนอันเย็นที่รดลงกลางใจเหล่าพสกนิกรมาจนถึงทุกวันนี้

กราบนัสการท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ด้วยเศียรเกล้า

มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

“เข้าพรรษา กับ “ความเป็นมาของพระอภิธรรม”

(บทที่ ๑๐)

คัมภีร์ที่ ๒ วิภังค์

: คัมภีร์ที่จำแนกหัวข้อแห่งปรมัตถธรรม

(ตอนที่ ๓)

“ประมวลองค์ธรรมแห่งการตรัสรู้ ”

เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ขอขอบคุณ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง โดยศิลปิน พีร์ ขุนจิตกร ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ
ขอขอบคุณ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง โดยศิลปิน พีร์ ขุนจิตกร ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ

คราวที่แล้วอธิบายถึง ธัมมหทัย: หัวใจแห่งธรรม เนื้อหาหลักของคัมภีร์วิภังค์ ซึ่ง เนื้อหาหลักของคัมภีร์วิภังค์นั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงสภาวธรรมซึ่งดำรงอยู่ตามธรรมชาติ  สภาวธรรมซึ่งดำรงอยู่ในรูปปรากฏการณ์ และหลักปฏิบัติเพื่อเข้าถึงสภาวธรรมตามธรรมชาติ โดยเนื้อหาทั้ง ๑๘ วิภังค์ บางวิภังค์ก็อธิบายไว้ครบทั้ง ๓ นัย คือ สุตตันตภาชนีย์ อภิธรรมภาชนีย์ และปัญหาปุจฉกะ บางวิภังค์ก็อธิบายไว้เพียงนัยเดียว บางวิภังค์ก็อธิบายจากน้อยไปหามาก บางวิภังค์ก็อธิบายจากง่ายไปหายาก ถึง ข้อ ๗. สติปัฏฐานวิภังค์ อธิบายเรื่อง สติปัฏฐาน คือ ที่ตั้งของสติ ๔ ได้แก่ ๑. พิจารณากายในกาย ทั้งภายในภายนอก (กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน) ๒. พิจารณาเวทนาในเวทนา ทั้งภายในภายนอก (เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน) ๓. พิจารณาจิตในจิต ทั้งภายในภายนอก (จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน) ๔. พิจารณาสภาวธรรมทั้งหลาย ทั้งภายในภายนอก (ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน)

ครั้งนี้ ขออธิบายต่อในข้อที่ ๘. สัมมัปปธานวิภังค์ อธิบายเรื่อง สัมมัปปธาน คือ ความเพียร ๔ อย่าง ได้แก่ ๑. สังวรปธาน สร้างฉันทะ ปรารภความเพียร ประครองจิต มุ่งมั่นป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นไม่ให้เกิดขึ้น ๒.ปหานปธาน เพียรละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ๓. ภาวนาปธาน เพียรสร้างกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นให้เกิดขึ้น ๔. อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อมไป

๙. อิทธิปาทวิภังค์ อธิบายเรื่อง อิทธิบาท คือ ธรรมสำหรับปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จ ๔ ประการ ได้แก่ ๑. ฉันทะ มีความพอใจ รักในสิ่งที่ทำ ๒. วิริยะ มีความเพียรพยายาม บากบั่น สู้ไปไม่ท้อถอย ๓. จิตตะ เอาใจใส่ มีจิตจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำ ๔. วิมังสา พิจารณาไตร่ตรอง ตรวจสอบด้วยปัญญาอย่างถี่ถ้วน

๑๐. โพชฌังควิภังค์ อธิบายเรื่อง โพชฌงค์ คือ องค์คุณเพื่อการตรัสรู้ ๗ ประการ ได้แก่ ๑. สติสัมโพชฌงค์(สติ-ความระลึกได้) ๒. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์(ธัมมวิจัย -การพิจารณาค้นคว้า ใคร่ครวญธรรมทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก) ๓. วิริยสัมโพชฌงค์(วิริยะ ความเพียร) ๔. ปีติสัมโพชฌงค์(ปีติ ความอิ่มใจ) ๕. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์(ปัสสัทธิ ความสงบกายสงบใจ) ๖. สมาธิสัมโพชฌงค์(สมาธิ ความตั้งมั่น) ๗. อุเปกขาสัมโพชฌงค์ (อุเบกขา ความปล่อยวาง มีใจเป็นกลาง ให้เกิดความสมดุลในธรรม)

๑๑. มัคควิภังค์ อธิบายเรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ (๑) สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ (๒) สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ (๓) สัมมาวาจา การเจรจาชอบ (๔) สัมมากัมมันตะ การกระทำชอบ (๕) สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบ (๖) สัมมาวายามะ ความพยายามชอบ (๗) สัมมาสติ การระลึกชอบ (๘) สัมมาสมาธิ ความตั้งมั่นชอบ

๑๒. ฌานวิภังค์ อธิบายเรื่อง องค์ฌาน คือ สภาวะจิตขณะยกขึ้นสู่พระกรรมฐาน ประกอบด้วย วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา และฌานลำดับต่างๆ คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน จนถึงโลกุตรฌาน

“พระสงฆ์สาวกในพระศาสนาของพระศาสดา มีความเพียรเป็นเครื่องออกจากทุกข์ สำรวมระวังในปาติโมกข์ ตั้งใจสมาทานและประพฤติอยู่ในสิกขาบท ปลีกตัวอยู่ในเสนาสนะอันสงัด มีโคนต้นไม้ ป่าเขา ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า เป็นต้น ปลอดจากผู้คนสัญจรไปมา  เจริญพระกรรมฐานจนเกิดฌานขั้นต่างๆ ย่อมเห็นภัยในโทษของการผิดอาบัติแม้เล็กน้อย (เท่าปรมาณู) ว่า เป็นเรื่องใหญ่ เหมือนมองเห็นเขาสิเนรุ”

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ในคัมภีร์อรรถกถาสัมโมหวิโนทนี (คัมภีร์อธิบายความในวิภังค์) ได้อธิบายมาตราวัดสิ่งที่มีขนาดเล็กเท่าปรมาณูว่า เป็นส่วนประกอบของอากาศที่เล็กมาก ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเนื้อ จะมองเห็นได้ด้วยตาทิพย์(ทิพยจักษุ) ส่วนอณูนั้น เท่ากับฝุ่นละอองที่เห็นในลำแสง

มาตราปรมาณู

๓๖ ปรมาณู เท่ากับ ๑ อณู
๓๖ อณู เท่ากับ ๑ ตัชชารี (สิ่งที่เกิดจากอณู)๓๖ ตัชชารี เท่ากับ ๑ รถเรณู (ละอองฝุ่นที่ล้อรถ)
๓๖ รถเรณู เท่ากับ ๑ ลิกขา (ไข่เห่า)
๗ ลิกขา เท่ากับ ๑ โอกา(ตัวเหา)
๗ โอกา เท่ากับ ๑ ธัญญมาส(เมล็ดข้าวเปลือก)
๗ ธัญญมาส เท่ากับ ๑ อังคุละ (นิ้ว)
๑๒ อังคุละ เท่ากับ ๑ วิทัตถิ (คืบ)
๑๒ วิทัตถิ เท่ากับ ๑ รตนะ(ศอก)
๗ รตนะ เท่ากับ ๑ ยัฏฐิ(เสาหลัก)
๒๐ ยัฏฐิ เท่ากับ ๑ อุสภะ(โคจ่าฝูง)
๘๐ อุสภะ เท่ากับ ๑ คาวุต
๔  คาวุต เท่ากับ ๑ โยชน์
๑๐,๐๖๘ โยชน์ เท่ากับ ๑ ภูเขาสิเนรุ

๑๓. อัปปมัญญาวิภังค์ อธิบายเรื่อง อัปปมัญญา คือ การน้อมจิตแผ่เมตตาออกไปไม่มีประมาณ ไม่มีขอบเขต ไม่เจาะจงสัตว์ บุคคล เราเขา มีจิตประกอบด้วยความรักความเมตตา (เมตตา) มีความกรุณาสงสารผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก (กรุณา) มีความยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดี (มุทิตา) และวางใจเป็นกลางเสมอกันหมดในสัตว์บุคคลทั่วไป (อุเบกขา)

“การน้อมจิตแผ่เมตตาแบบ อัปปมัญญา ยึดตามหลักพรหมวิหารธรรม ๔ ประการ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา นั่นเอง ต่างที่วิธีน้อมจิตไป คือ การแผ่เมตตาแบบพรหมวิหารธรรม เป็นการน้อมจิตเจาะจงสัตว์ บุคคล เรา เขา ลงไปเป็นการเฉพาะ ส่วนอัปปมัญญา เป็นการน้อมจิตแผ่กว้างขวางออกไปยังสรรพสัตว์ ไม่เจาะจง ไม่มีประมาณ ไม่มีขอบเขต”

ธรรมนิพนธ์ เรื่อง "ความเป็นมาของพระอภิธรรม" เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์เป็นธรรมทาน โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ
ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์เป็นธรรมทาน โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ

๑๔. สิกขาปทวิภังค์ อธิบายเรื่อง สิกขาบท ๕ ได้แก่ ศีล ๕ ของคฤหัสถ์ และโทษที่เกิดจากการละเมิดสิกขาบท คือ ปาณาติบาต ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต, อทินนาทาน ฉ้อโกงลักขโมย ,กาเมสุมิจฉาจาร ประพฤติผิดในกาม, มุสาวาท พูดเท็จหลอกลวง, และ การดื่มสุราเมรัย

๑๕. ปฏิสัมภิทาวิภังค์ อธิบาย เรื่อง ปฏิสัมภิทา ได้แก่ ความรู้แตกฉาน ๔ ประการ คือ ๑. ความรู้แตกฉานในการอธิบายเนื้อความ (อัตถปฏิสัมภิทา) ๒. ความรู้แตกฉานในหลักธรรม(ธัมมปฏิสัมภิทา) ๓. ความรู้แตกฉานในภาษา (นิรุตติปฏิสัมภิทา) ๔. ความรู้แตกฉานในปฏิภาณ คือ ความคิดอันเป็นปฏิภาณไหวพริบที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าแบบทันการ (ปฏิภาณปฏิสัมภิทา)

คำว่า “นิรุตติ” ที่แปลว่า “ภาษา” ในที่นี้ หมายถึง เสียงที่แสดงสภาวธรรม ไม่ใช่ภาษาที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นใช้ในชนชาตินั้นๆ เสียงที่แสดงสภาวธรรมที่ปรากฏจากการบรรลุธรรมของพระอรหันต์ อาจไม่สามารถสื่อสารได้ด้วยภาษาที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น แต่ท่านสามารถเข้าใจในสภาวธรรมนั้นได้

มีเรื่องเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษา(นิรุตติ) ในอรรถกถาวิภังคปกรณ์ (คัมภีร์อธิบายความในวิภังค์) กล่าวว่า ภาษามคธเป็นภาษาพูดของพรหมและของพระอริยเจ้า เป็นภาษาไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ดิ้น ไม่แปรรูป และเป็นภาษาเดียวที่เข้าใจได้ในหมู่สัตว์ที่เกิดใน ๕ กำเนิด หรือเข้าใจได้ใน ๕ ภพ ได้แก่ (๑) ในนรก (๒) ในหมู่สัตว์เดรัจฉาน (๓)ในหมู่เปรต (๔) ในมนุษยโลก และ (๕) ในเทวโลก

๑๖. ญาณวิภังค์ อธิบายเรื่องความรู้ในระดับต่างๆ ทั้งที่เกิดจากจินตมยปัญญา ความรู้จากการครุ่นคิด พินิจพิจารณา สุตมยปัญญา ความรู้จากการได้ยินได้ฟัง ศึกษาเล่าเรียน ภาวนามยปัญญา ความรู้จากการทำสมาธิภาวนา เช่น ความรู้ที่เกิดจากอายตนะภายใน เป็นการรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ความรู้ที่เกิดจากปัญญารอบรู้แบบโลกิยปัญญา(ปัญญาของชาวโลก) และโลกุตตรปัญญา (ปัญญาเหนือโลก) ความรู้ที่เกิดจากสมาธิ ฌาน และมรรคผล เช่น อภิญญาทั้งหลายที่ทำให้แสดงฤทธิ์ได้ ทำให้เกิดตาทิพย์ ทำให้เกิดหูทิพย์ เป็นต้น และความรู้อันเกิดจากกำลังญาณของพระพุทธเจ้า เรียกว่า “ทศพลญาณ ๑๐ ประการ

๑๗. ขุททกวัตถุวิภังค์ อธิบายธรรมเรื่องเล็กน้อย เรื่องเบ็ดเตล็ด แบ่งเป็นหมวดต่างๆ เช่น เรื่องอำมาตย์ เรื่องบุตรเศรษฐี เรื่องมายา และเรื่องทิฐิ เป็นต้น

เก็บคำบางคำมาอธิบายเพิ่ม เช่น อธิบายเรื่องความมัวเมาในชาติเกิด ในโคตร ในความไม่มีโรค เป็นต้น

อธิบายเรื่องมานะ คือ คนบางคนในโลกนี้มีมานะถือตัวว่าเลิศกว่าเขา ถือตัวว่าเสมอเขา ถือตัวว่าด้อยกว่าเขา เป็นต้น

อธิบายเรื่องความโกรธ เมื่อความโกรธเกิดขึ้นครั้งแรก หากยังปล่อยให้เกาะอยู่ในจิต ก็จะกลายเป็นอุปนาหะ คือ ความผูกโกรธ เป็นต้น

อธิบายเรื่องตัณหาวิจริต ๑๘ แสดงความฟุ้งไปของตัณหาที่กระจายไปในขันธ์ ๕ ทั้งภายในและภายนอก  รวมเป็นตัณหา ๓๖ และเมื่อรวมทั้งตัณหาที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน จึงเป็นตัณหา ๑๐๘ (๓๖X๓=๑๐๘)

“ความเป็นมาของพระอภิธรรม (๑๑) “วิภังค์ที่ ๑๘ ธัมมหทยวิภังค์ แจกแจงสภาวะธรรม จากโลกียะสู่โลกุตตระ” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จากคอลัมน์ ธรรมโอสถ นิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๑๒๘๕ วันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๐
“ความเป็นมาของพระอภิธรรม (๑๑) “วิภังค์ที่ ๑๘ ธัมมหทยวิภังค์ แจกแจงสภาวะธรรม จากโลกียะสู่โลกุตตระ” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จากคอลัมน์ ธรรมโอสถ นิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๑๒๘๕ วันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๐

๑๘. ธัมมหทยวิภังค์ อธิบายธรรมเปรียบเสมือนดวงใจ คือ อธิบายเรื่องขันธ์ อายตนะ ธาตุ สัจจะ และอินทรีย์ เป็นต้นอธิบายเรื่องกรรมของสัตว์ที่ไปเกิดในแต่ละภพภูมิว่ามีความต่างกันอย่างไร อธิบายเรื่องกรรมที่ทำให้เกิดเป็นมนุษย์ กรรมที่ทำให้เกิดเป็นเทวดา และอธิบายเรื่องเทวดา ๓ ประเภท คือ

๑. สมมติเทวดา หมายถึง เทวดาโดยสมมติ ได้แก่ พระราชา พระมเหสีของพระราชา และพระราชกุมารของพระราชา

๒. อุปัตติเทวดา หมายถึง เทวดาโดยการเกิด ได้แก่ เทวดาชั้นต่างๆ ตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชขึ้นไป

๓. วิสุทธิเทวดา หมายถึง เทวดาโดยความบริสุทธิ์ ได้แก่ พระอรหันต์ทั้งหลาย

อธิบายเรื่องอายุขัยของมนุษย์ ว่า มีประมาณ ๑๐๐ ปี ต่ำกว่านั้นก็มีบ้าง มากกว่านั้นก็มีบ้าง

อายุขัยของเทวดาชั้นจาตุมหาราช มี ๕๐๐ ปีทิพย์ เท่ากับ ๙ ล้านปีมนุษย์ คือ ๕๐ ปีของมนุษย์นับเป็นวันหนึ่งคืนหนึ่งของเทวดาสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช ๓๐ ราตรีโดยราตรีนั้น นับเป็น ๑ เดือน ๑๒ เดือนโดยเดือนนั้น นับเป็น ๑ ปี  และ ๕๐๐ ปีทิพย์โดยปีนั้น เป็นอายุขัยของของเทวดาชั้นจาตุมหาราช

อายุขัยของเทวดาชั้นดาวดึงส์ มี ๑๐๐๐ ปีทิพย์ คือ ๑๐๐ ปีของมนุษย์นับเป็นวันหนึ่งคืนหนึ่งของเทวดาสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ๓๐ ราตรีโดยราตรีนั้น นับเป็น ๑ เดือน ๑๒ เดือนโดยเดือนนั้น นับเป็น ๑ ปี และ ๑๐๐๐ ปีทิพย์โดยปีนั้น เป็นอายุขัยของเทวดาชั้นดาวดึงส์ เท่ากับ ๓ โกฏิ ๖ ล้านปีมนุษย์ ฯลฯ และอายุขัยของพรหมชั้นต่างๆ เป็นต้น

เนื้อหาทั้ง ๑๘ วิภังค์นี้ แต่ละวิภังค์จะมีความสั้นยาวต่างกัน โดยจัดแบ่งเนื้อหาออกเป็นบทๆ เป็นวาระๆ หรือแบ่งการสวดออกเป็นตอนๆ เรียกว่า “ภาณวาร” มีประมาณ ๓๕ ภาณวาร เมื่อเทียบกับคัมภีร์ธัมมสังคณี ซึ่งเป็นคัมภีร์แรกแห่งพระอภิธรรมนั้นมี ๑๓ ภาณวาร ขันธวิภังค์ อายตนวิภังค์ ธาตุวิภังค์ สัจจวิภังค์ ปัจจยาการวิภังค์ สติปัฏฐานวิภังค์ สัมมัปปธานวิภังค์ อิทธิปาทวิภังค์ โพชฌังควิภังค์ มัคควิภังค์ ฌานวิภังค์ อัปปมัญญาวิภังค์ อัปปมัญญาวิภังค์ และ ปฏิสัมภิทาวิภังค์ จำแนกไว้ครบทั้ง ๓ นัย คือ สุตตันตภาชนีย์ อภิธรรมภาชนีย์ และปัญหาปุจฉกะ

สำหรับเนื้อหาอินทริยวิภังค์ และสิกขาปทวิภังค์ ไม่ได้จำแนกโดยอภิธรรมภาชนีย์ และปัญหาปุจฉกะ

ส่วนวิภังค์ที่ ๑๖ ญาณวิภังค์  และวิภังค์ที่ ๑๗ ขุททกวัตถุวิภังค์ จำแนกตามแนวพระสูตร เอกกนิบาต อังคุตตรนิกาย เป็นการจำแนกจากน้อยไปหามาก

และ วิภังค์ที่ ๑๘ ธัมมหทยวิภังค์ เป็นการจำแนกจากน้อยไปหามาก จากง่ายไปหายาก จากโลกิยะ ไปสู่โลกุตระ โดยการนำเอานัยทั้ง ๓ มาผสมผสานกัน

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

เข้าพรรษากับ “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” (บทที่ ๑๐) คัมภีร์ที่ ๒ วิภังค์ : คัมภีร์ที่จำแนกหัวข้อแห่งปรมัตถธรรม (ตอนที่ ๓ ) “ประมวลองค์ธรรมแห่งการตรัสรู้ ” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here