มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น

กลางทะเลแห่งคลื่นลม

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) 

พิมพ์ร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในงานพระราชทานเพลิงศพ

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒจารย์

(เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)

อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ

ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ๙ มีนาคม ๒๕๕๗

(คำปรารภ)

เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ปัจจุบันเรียกชื่อตามกฎหมายว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬางกรณราชวิทยาลัย ในช่วง ๒๕๐๗ – ๒๕๒๑ รวมเวลา ๑๕ ปี ตั้งแต่ดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชวิสุทธิเมธี พระเทพคุณาภรณ์ พระธรรมคุณาภรณ์ และพระพรหมคุณาภรณ์ โดยลำดับ นับว่าเป็นเลขาธิการองค์จริงจังในกิจการอย่างยาวนานที่สุด ของมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้

ในสมัยนั้น เลขาธิการเป็นตำแหน่งของผู้เป็นหัวหน้าที่ทำงานจริง ในการดำเนินของมหาวิทยาลัยทั้งหลาย มิใช่เพียงตำแหน่งเกียรติยศ ดังมีคำอธิบายในหนังสือนี้แล้ว 

ในฐานะเป็นผู้นำ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบการดำเนินงานของมหาจุฬาฯ มิใช่ท่านจะต้องทำงานไปทุกอย่าง แต่กิจการทั้งปวงในระยะเวลานั้นทั้งหมด ดำเนินไปในความควบคุมดูแลและความเห็นชอบของท่าน โดยเฉพาะในยุคสมัยนั้น มีการทำงานที่เป็นระบบแห่งความร่วมแรงร่วมใจ โดยเป็นไปในสามัคคีสมานฉันท์ จึงพูดง่ายๆ รวมๆ ว่าเป็นกิจการของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในยุคที่เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) เป็นเลขาธิการ

ในหนังสือนี้ ได้เล่าเรื่องราวความเป็นไปในกิจการของมหาจุฬาฯ ในช่วงเวลา ๑๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๐๗ – ๒๕๑๗) เมื่อผู้เล่าสนองงานในฐานะผู้ช่วยของท่าน คือเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ การเขียนเล่าเรื่องราว และทำหนังสือนี้ขึ้น ขอถือเป็นการร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในวาระสำคัญยิ่ง แห่งงานพระราชทานเพลิงศพ อนึ่ง การเขียนสะกดคำบางอย่าง อาจต่างไปจากที่ใช้กันมาบ้าง ในเมื่อเห็นว่าควรเปลี่ยนแปลงเพื่อความเหมาะสม เช่น แทนที่จะเขียน “วรสารเถร” ก็เขียนเป็น “วรสารเถระ”

ขอกุศลในการนี้ จงเป็นไปเพื่อความเจริญงอกงามของพุทธบริษัท ในไตรสิกขา และในไตรพิธบุญกิริยา เพื่อความแผ่ไพศาลแห่งพระพุทธศาสนา และเพื่อความไพบูลย์แห่งประโยชน์สุขของปวงประชา อันเป็นจุดหมายในการบำเพ็ญศาสนกิจทั้งปวงของเจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ ยั่งยืนนานสืบไป 

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตโต)  , สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปณมหาเถระ) และ  สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ( ช่วง วรปุญฺโญ )
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตโต) , สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปณมหาเถระ)
และ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ( ช่วง วรปุญฺโญ )

มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น

กลางทะเลแห่งคลื่นลม (๖)

อยู่บ้านคนเมืองคน ถึงตัวไม่พ้น แต่อย่าให้ใจถูกพัน 


พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

ปัจจุบัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปณมหาเถระ)  ,  สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ( ช่วง วรปุญฺโญ )  และ  สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตโต) ภาพในอดีต
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปณมหาเถระ) , สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ( ช่วง วรปุญฺโญ )
และ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตโต) ภาพในอดีต

อยู่บ้านคนเมืองคน ถึงตัวไม่พ้น แต่อย่าให้ใจถูกพัน 

ตามที่เล่ามา จะเห็นว่าช่วง พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นจุดเปลี่ยนที่น่าแปลก เมื่อปี ๒๔๙๕ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังทำท่าเอาจริงเอาจังกับการป้องกันคอมมิวนิสต์ ถึงกับได้ตรา “พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. ๒๔๙๕” แต่พอใกล้ปี ๒๕๐๐ กลับจะผูกสัมพันธ์กับจีน ซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ใหญ่แห่งเอเชีย

เสร็จแล้ว จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งคนสมัยนั้นพูดกันทำนองว่าเป็นทหารเอกของจอมพล ป. คู่กับ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ กลับยึดอำนาจจอมพลป. เป็นเหตุให้จอมพลป. ต้องหนีไปอยู่ในประเทศญี่ปุ่น แล้วมีโอกาสไปบวชที่พุทธคยา ในอินเดีย และทำให้พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ จนสิ้นอายุที่นั่น

 แล้วนโยบายและเหตุการณ์ก็พลิกตรงข้าม จอมพลสฤษดิ์กลับจับคนที่จอมพล ป. ให้ช่วยผูกสัมพันธ์กับจีน เอาเข้าคุกไป (เช่น นายสังข์ พัธโนทัย ที่ปรึกษาของจอมพล ป.)

การเมืองที่ท่านผู้มีอำนาจเล่นกันมา เป็นเรื่องซับซ้อนซ่อนกล ผู้เล่าเองไม่มีความสนใจมากพอที่จะใส่ใจในเรื่องการเมือง โดยเฉพาะเวลานั้นเป็นสามเณรวัยรุ่น ยุ่งอยู่กับการเล่าเรียน แต่ในระดับหนึ่ง ทุกคนหนีไม่พ้นการเมือง เพราะสภาพบ้านเมืองเป็นไปตามการเมือง และก่อนรัฐประหารครั้งนั้น การเมืองครอบงำขับดับกิจการทั่วไปหมด จนเป็นตัวสร้างบรรยากาศของบ้านเมือง และประชาชนทุกคนก็อยู่ในบรรยากาศนั้น ทำอะไรๆ ได้ตามที่สภาพของบ้านเมืองอำนวย

เรื่องราวบางด้านของการเมืองเด่นออกมาเป็นถ้อยคำคล่องคอขึ้นปากของชาวบ้าน บางทีก็พูดกันเป็นสนุกไป ถึงแม้ว่าเราจะไม่สนใจ ก็ต้องได้ยินได้ฟังเป็นธรรมดา 

ก่อนการรัฐประหารยึดอำนาจจอมพล ป. นั้น คนทั่วไปมองเห็นว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ สองนายพลคู่ใจจอมพล ป. ที่ค้ำอำนาจของท่าน ได้กลายเป็นคู่แข่งอำนาจกันมากขึ้นๆ 

พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งต่อมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้แผ่ขยายกำลังพลของตำรวจให้ยิ่งใหญ่เกรียงไกรเหมือนเป็นกองทัพหนึ่ง มีตำรวจรถถัง ตำรวจพลร่ม ตำรวจม้าตำรวจน้ำ ฯลฯ ถึงกับมีคติว่า “ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใด ที่ตํารวจไทยทําไม่ได้…”  แม้แต่พระเณรอยู่ในวัด ก็รู้สึกถึงบรรยากาศนี้ และได้ยินผู้คนนำเอาคำคมเข้มนี้มาเอ่ยอ้าง บางทีก็พูดเป็นคำสนุกสนามล้อเล่นกันไป

เบื้องหลังลับลึกลงไปในสภาพอย่างนี้ ก็มีเรื่องราวของการใช้กำลังอำนาจและอิทธิพลมากมาย แล้วในที่สุด เรื่องก็มาลงท้ายที่ว่า จอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหาร จอมพล ป. หมดอำนาจ กองทัพตำรวจหายไป เป็นตอนหนึ่งของอนิจจังที่หันทิศเปลี่ยนทาง พร้อมกับมีเหตุการณ์อื่นๆ แปลกๆ ใหม่ๆ ที่ไม่ได้คาดหมายตามมาในทางของอนิจจังนั้น ความเป็นไปทั้งหลายเหมือนกันโดยเป็นอนิจจัง แต่เป็นอนิจจังอย่างต่างรูป ไม่เหมือนกัน

ความเป็นไปของมหาจุฬาฯ ซึ่งอยู่ในประเทศไทย ก็หนีไม่พ้นบรรยากาศขบองบ้านเมืองที่เป็นไปตามสภาพการเมืองเวลานั้นด้วย 

ดังว่าแล้ว ใน พ.ศ. ๒๕๐๑-๐๒ ผู้เล่านี้ยังเป็นสามเณร เรียนอยู่ในคณะพุทธศาสตร์ ปีที่ ๑ และ ๒ เวลานั้น พระเณรมหาจุฬาฯ ยังไม่มีอาคารเรียนของตนเอง และทางวัดมหาธาตุได้เอื้ออำนวยให้ใช้อาคารเรียนของมหาธาตุวิทยาลัย และในปี ๒๕๐๑-๐๒ อาคารเรียนหลังใหญ่ ๓ ชั้นสำหรับมหาจุฬาฯ ด้านตรงข้ามท่าพระจันทร์ อยู่ระหว่างก่อสร้าง ยังไม่เสร็จ (ชาวมหาจุฬาฯ ถือว่า ตึกสังฆเสนาสน์/สังฆิกเสนาสน์ราชวิทยาลัย ซึ่งอยู่ด้านตรงข้ามสนามหลวง เป็นอาคารที่ ร. ๕ ทรงแสดงพระราชประสงค์ไว้ชัดว่าทรงมุ่งให้เป็นของมหาจุฬาฯ แต่เวลานั้น ทางหอสมุดแห่งชาติยังใช้งานอยู่)

นิสิตนักเรียนมหาจุฬาฯ ในยุคแรกมีจำนวนไม่มากนัก และในช่วงเวลา ๑๐ ปี จำนวนก็ไม่แตกต่างกันมาก เหตุสำคัญอย่างหนึ่ง คือขาดแคลนเสนาสนะ 

ในที่นี้ จะให้เห็นสถานการณ์ในปี ๒๕๐๑-๐๒ แต่ดังบอกแล้วผู้เล่าเขียนเรื่องนี้เร่งด่วน ให้ทันที่จะเป็นส่วนแห่งการบำเพ็ญกุศลอุทิศ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ ในช่วงต้นปี ๒๕๕๗ ขณะนี้ ผู้เล่าเรื่องมีเวลาจำกัด และอยู่ระหว่างอาพาธ แถมได้ออกจากวัดญาณเวศกวันไปพักในดงดอยห่างออกไป มาไม่ถึงแหล่งข้อมูลและการสื่อสารก็แทบไม่มี โทรศัพท์ก็แทบไม่ได้ใช้ จึงขอบอกไว้ก่อนว่า ตัวเลขที่จะพูดนี้เป็นประมาณ ต่อไปข้างหน้า เมื่อถึงโอกาส ก็จะได้ตรวจสอบชำระตัวเลขให้แน่อีกที



ว่าโดยประมาณ ใน พ.ศ. ๒๕๐๐ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมีนิสิตนักเรียน ๑,๑๕๕ รูป จำแนกเป็นแผนกบาลีอุดมศึกษา (เวลานั้นมีคณะเดียว คือ คณะพุทธศาสตร์) ๔ ชั้น ๕๕ รูป แผนกบาลีเตรียมอุดมศึกษา ๒ ชั้น ๒๐๐ รูป แผนกบาลีอบรมศึกษา ๒ ชั้น ๓๒๕ รูป แผนกบาลีมัธยมศึกษา (ต่อมา คือ โรงเรียนบาลีมัธยมศึกษา แล้วในที่สุด เป็นโรงเรียนบาลีสาธิตศึกษา) ๕๗๕ รูป

นักเรียนบาลีมัธยมนั้น มีจำนวนมากเท่ากับประมาณครึ่งหนึ่งของนิสิตนักเรียนทั้งหมด เมื่อมหาจุฬาฯ ประสบปัญหาขาดแคลนที่เรียน ก็ได้รับเมตตานุเคราะห์จากอาวาสวัดพระเชตุพน (ต่อมาคือ สมเด็จพระสังฆราช ปุณณสิริมหาเถระ) ให้ไปใช้สถานที่บริเวณโพธิ์ลังกา ในเขตพุทธาวาสของวัดโพธิ์

นิสิตนักเรียนนอกนั้นประมาณ ๕๘๐ รูป ซึ่งเรียนที่วัดมหาธาตุ แบ่งไปเรียนในตึกเท่าที่จำได้ ๒ หลัง (ดังว่าแล้ว ยังไม่มีโอกาสตรวจสอบความจำให้แน่เด็ดขาด ทั้งชื่ออาคาร และตัวสะกดคำเรียกชื่อ หวังจากท่านผู้รู้ผู้เก่า ถ้าพบข้อควรแก้ไข ช่วยบอกด้วย) 

อาคารสำคัญ คือ ตึกโรงเรียนธรรมหาธาตุวิทยาลัย นอกจากเป็นที่เรียนของแผนกบาลีอุดมศึกษา (ชั้นพุทธศาสตร์) แผนกบาลีเตรียมอุดมศึกษาแล้ว ก็ใช้ห้องหน้ามุขเป็สำนักงานบางอย่าง และใช้เป็นที่ประชุมสำคัญๆ ตามโอกาส

ส่วนนักเรียนแผนกบาลีอบรมศึกษาเรียนที่ตึก “เล็ก ไสยจิต” อยู่ข้างๆ คณะสลักเยื้องไปทางตะวันออก ติดกำแพงวัดด้านเหนือ แล้วต่อมา (หลังจากอาคารหลังใหญ่ ๓ ชั้น เสร็จแล้ว นักเรียนย้ายไปเรียนที่ใหม่นั้นแล้ว) ได้เปิดกำแพงวัดตรงนั้น ทำประตูเข้ามาตั้งเป็น “แผนกจัดหา” แล้วต่อมาคือ “มหาจุฬาบรรณาคาร” 

ตึกโรงเรียนธรรมมหาธาตุวิทยาลัยนั้น ตั้งอยู่ในสนามหญ้ารูปสี่เหลี่ยม คล้ายจะเป็นจัตุรัส อยู่ชิดหรือค่อนไปทางมุมตะวันตกเฉียงเหนือของสนามนั้น

 ถัดไป บนลานข้างสนามด้านตะวันตก มีตึกใหญ่ชั้นเดียวทอดยาวอยู่ภายในกำแพงวัด และหลังตึกแถวท่าพระจันทร์ ถ้าจำไม่ผิด ชื่อว่า ตึก “อุ่นประสูทน์วิทยา” เป็นที่เรียนของนักเรียนบาลีมหาธาตุวิทยาลัย

บนลานข้างสนามด้านตะวันออก ฝั่งตรงข้ามกับตึก “อุ่นประสูนท์วิทยา” มีตึกใหญ่ชั้นเดียวทอดยาวเคียงข้างสนาม ชื่อว่า ตึก “พรวิทยาประสูทน์” เรียกว่าได้เป็นส่วนงานหรือสถานที่บริการประชาชน เช่นจัดกิจกรรมเผยแผ่ธรรม



ที่นี่ อาจารย์พร รัตนสุวรรณ ผู้สอนวิชาธรรมประยุกต์ ได้บรรยายธรรมอยู่ยาวนาน และร่วมโดยฝ่ายพระ ขยายการสอนไปยังโรงเรียนต่างๆเป็นจุดโยงต่อสู่การเกิดขึ้นของโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ในพ.ศ. ๒๕๐๑ และต่อมาได้ปรับปรุงเป็นอาคารแผนกวิจัย ซึ่งเป็นสำนักธรรมวิจัยต่อมา

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) และ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อยู่ ญาโณทโย) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก พระองค์ที่ ๑๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) และ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อยู่ ญาโณทโย) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก พระองค์ที่ ๑๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร


สนามหญ้าที่ตั้งตึกโรงเรียนธรรมมหาธาตุวิทยาลัย ในความรู้สึกเมื่อยังเป็นผู้เล่าเรียนอยู่ มองว่าเป็นที่กว้างใหญ่มากทีเดียว ได้เป็นที่จัดงานในวันอนุสรณ์มหาจุฬาฯ ผ่านกาลเวลามากหลายปี เป็นที่สมเด็จพระสังฆราช และพระมหาเถระที่เคารพนับถือของชาวมหาจุฬาฯ ได้เสด็จมา และมาเป็นขวัญ ประทานกำลังใจ และให้บรรยากาศ อยู่ในประวัติศาสตร์ของมหาจุฬาฯ

ส่วนตึกมหาจุฬาฯ หลังใหญ่ ๓ ชั้น ตรงข้ามท่าพระจันทร์ เป็นอาคารใหม่ อยูทางทิศใต้ เลยลานอโศกลงไป ทอดยาวจากกำแพงวัดไปทางพระอุโบสถ เหมือนเป็นขอบขนานลานอโศกนั้น สร้างเสร็จพร้อมเป็นที่ศึกษาเล่าเรียนได้ใน พ.ศ.๒๕๐๓

ในภาคแรกของปีการศึกษา ๒๕๐๓ ผู้เล่านั้นยังเรียนอยู่ที่ตึกโรงเรียนธรรมมหาธาตุวิทยาลัย คงจะได้ย้ายขึ้นไปตึกใหญ่ในภาคหลังของปี ๒๕๐๓ นั้น หรืออย่างช้าเมื่อขึ้นปีการศึกษา ๒๕๐๕ เพราะว่าใน พ.ศ. ๒๕๐๖ นั้น พุทธศาสตรบัณฑิตรุ่นของผู้เล่าเรื่องนี้ อันเป็นรุ่นที่ ๘ ซึ่งมีจำนวน ๑๒ รูป ทางทีเรียกันสบายๆ ว่า “รุ่นโหล” ได้ถูกจัดให้เรียนในห้องสุดท้ายปลายตึกทางทิศตะวันตก คือติดกำแพง ที่ตรงข้ามตลาดท่าพระจันทร์ และในปีนั้นเอง ตัวผู้เล่าเรื่องนี้ก็ได้อุปสมบท คือบวชเป็นภิกษุ

จำได้ว่า ในช่วง พ.ศ. ๒๕๐๑-๐๒ ระหว่างที่ตึกใหญ่ยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง บางวันมีช่วงว่างจากเรียน ได้ออกมากับพระร่วมชั้นเรียน ลงจากตึกไปเรียนธรรมมหาธาตุวิทยาลัย เดินตัดสนามมายืนที่ลานอโศก หน้าหอสมุดกลาง คือหน้าศาลาการเปรียญอันเคยเป็นที่สังคายนาครั้งที่ ๑ ของสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ ๑ แล้วมองขึ้นไปบนตึกนั้น ที่สร้างถึงชั้นที่สาม ชวนกันดูด้วยความสนใจ

ท่านผู้ใหญ่บอกว่า อาคารหลังใหญนี้สำเร็จได้ด้วยทุนที่มาจากแรงศรัทธาในวิปัสสนา และก็มีเสียงบางท่านพูดบอกความว่า พล.ต.เอก เผ่า ได้ช่วยอุดหนุนให้มีทุนสำหรับสร้างตึกนี้ ถ้าเป็นจริงอย่างที่เสียงนั้นว่า ก็เป็นคุณความดีอย่างหนึ่งที่ท่านนายพลได้ทำไว้ แม้ว่าต่อมาท่านจะร่วงหล่นแล้วล่วงลับไป 


ที่จริง การที่ท่านผู้อยู่ในคณะรัฐบาลหรือดำรงตำแหน่งหน้าที่ราชอันเกี่ยวข้องจะเอื้ออำนวยในเรื่องนี้เป็นประโยชน์ส่วนรวม ก็เป็นการทำความดีสมตามตำแหน่งหน้าที่ของท่าน แต่ในสังคมไทยยุคนั้น (อาจจะหลายๆยุค) เวลาพูดเรื่องอย่างนี้ มักจะมีกระแสเสียงที่แสดงความรู้สึกหรือมีความหมายแฝงอยู่ด้วยว่า ประโยชน์นั้นสำร็จด้วยการมีอำนาจหรืออิทธิพลช่วยบันดาลให้ มองลึกลงไป ก็บ่งบอกกระแสสังคมที่คนจำนวนมากหรือส่วนมาก มีความนิยมหวั่นเกรงอำนาจ หรือชื่นชมอิทธิพล แฝงอยู่ในใจ

เมื่อคนนี้หมู่นี้ชื่นชมยินดีการได้อยู่ใกล้ข้างที่มีอิทธิพลอำนาจ ก็มีคนอื่นหมู่อื่นที่ไม่พอใจจับจ้องมองแง่ของอำนาจหรือิทธิพลที่เป็นความไม่ถูกต้อง พร้อมกันนั้นก็เป็นการย้ำความเคยชินให้คนที่เข้าไปวงงานรัฐกิจราชการอยากทำการดีงามที่จะ หรือเพื่อจะ เสริมอำนาจหรือขยายอิทธิพลของตน ในสภาพอย่างนี้ คนที่มุ่งธรรม จะอยู่ตามธรรม ก็อยู่ได้ยาก ส่วนตัวสังคมเอง เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็พัฒนาก้าวไปดีได้ยาก

ในสภาพบ้านเมืองที่เป็นไปตามการเมืองอย่างนี้ เราจะวางตัววางใจอย่างไร ในขั้นพื้นฐาน ไม่ควรให้ยาก เมื่อบุคคลทำอะไรที่เป็นความดีเป็นคุณประโยชน์ เจตนาของเขาที่เป็นไปตามเหตุผลส่วนรวมอันดี ก็เป็นความดีในแง่นั้น แต่เจตนาส่วนตัวของเขาในการทำความดีนั้น จะมีแฝงมาอย่างไร ใครจะวิเคราะห์วิจารณ์ก็ย่อมได้ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องซับซ้อนยืดยาว อันนั้นก็ให้ว่ากันไป ไม่ต้องรีบเอามาหักลบกลบกัน

อย่างไรก็ตาม การจะมาหมกมุ่นวุ่นวายอยู่กับการขุดคุ้ยเรื่องดีร้ายความดีความชั่วของนักการเมืองจนเกินไป ก็ไม่เป็นประโยชน์อะไรมาก ควรเข้าไปให้ถึงจุดของการแก้ปัญหาที่แท้จริงฯ 

(โปรดติดตามตอนต่อไป) “ถ้าการเมืองเป็นเรื่องของเล่ห์กล ประชาธิปไตยก็เป็นได้แค่คำฉ้อฉล”

กราบขอบพระคุณที่มา : สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ วัดสระเกศ https://www.obhik.com/และหนังสือ “มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม “: พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พิมพ์ร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ๙ มีนาคม ๒๕๕๗

ดาวน์โหลด หนังสือ “มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ” ได้ที่เว็บไซต์วัดญาณเวศกวัน https://www.watnyanaves.net/th/book_detail/604

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here