ยามเช้า… เมื่อตื่นขึ้นมาคราวใด พร้อมกับความรู้สึกตัวที่ชัดเจน สดชื่น

่ รับรู้ถึงลมหายใจ ความคิดแรก และการขยับกายไปทำกิจวัตรประจำวัน

เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยการสวดมนต์ทำวัตรเช้า

เตรียมอาหารใส่บาตรพระสงฆ์ที่เดินมาบิณฑบาตด้วยเท้าเปล่า

นับเป็นของขวัญอันวิเศษในชีวิต

ที่ได้มีโอกาสสัมผัสถึงพระพุทธศาสนาที่มีชีวิตและลมหายใจอุ่นๆ มาจนถึงทุกวันนี้

เพราะการให้คือจุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่

ความรู้สึกตัวของกาย และรู้ทันความคิดในจิต คือจุดเริ่มต้นของก้าวไป

บนหนทางแห่งการพ้นทุกข์ในสังสารวัฏ…

รำลึกวันวาน มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์

(ตอนที่๖) สืบทอดพระพุทธศาสนา แบบ พระบ้านๆ  

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

      ตอนเด็กๆ บ้านอากงอยู่หน้าวัด จำได้ว่าชอบไปวัดเป็นประจำตั้งแต่เช้า ก็ไปเล่นหม้อข้าวหม้อแกงที่ข้างๆ โบสถ์ สายๆ พี่สาวก็ชวนไปกราบหลวงตา บางทีท่านก็ให้ขนมมากินเล่นบ้าง จำได้ไม่ลืม แต่บางคราวดื้อมากไปปีนต้นไม้เล่นจนถูกดุก็มี ยิ่งช่วงหน้าสงกรานต์ด้วยแล้วละก็สนุกมากเพราะจะต้องเตรียมน้ำลอยดอกมะลิ กุหลาบ และน้ำอบไปสรงน้ำพระกับเพื่อนๆ ไม่เคยขาด เปียกปอนกันทั้งวัด กับความสนุกสนานในการก่อพระเจดีย์ทราย

ยิ่งในวันสำคัญๆ ทางพระพุทธศาสนา ต้องขอพ่อกับแม่ไปเวียนเทียนที่วัด ให้น้ำตาเทียนหยดลงที่มือ แล้วก็เดินเท้าเปล่าไปรอบโบสถ์มีความสุขมากที่ได้เห็นแสงเทียนกระพริบๆ เต็มไปหมดรอบๆ ตัว แม้ว่ายังไม่รู้เรื่องว่า พระพุทธศาสนาสอนอะไร แต่เอาความสนุกมาก่อน จนบางทีไม่แน่ใจว่า ตัวเองล้อเล่นกับพระพุทธศาสนามากไปไหม   

เมื่อได้กราบเรียนถามประวัติท่านเจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์   ก็ยิ่งรู้สึกอิ่มใจที่พระพุทธศาสนาในมิติของสังคมไทยนั้นลึกซึ้งไปทุกอนูของจิตใจจนสามารถสร้างพระสุปฏิปันโน พระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบมาอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ ดังที่เราได้กราบไหว้ ศึกษาปฏิบัติธรรมจากครูบาอาจารย์ทุกสายที่สอนมุ่งตรงสู่พระนิพพานสถานเดียว ขณะเดียวกันก็มีวัฒนธรรมประเพณีที่ห่อแก่นพระธรรมไว้ไม่ให้สูญหายไปกับกาลเวลาและการเปลี่ยนแปลง

ดังที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด เล่าให้ฟังต่อมา

        “เมื่อมองย้อนกลับไป  แต่ก่อน วิถีวัด วิถีบ้าน วิถีชุมชนกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน วัดพึ่งบ้าน บ้านพึ่งวัด ผิดถูกถ้อยที ถ้อยอาศัย ประคับประคองเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  ถึงหน้าประเพณีฮีตบ้านคองวัด พระก็นำชาวบ้านจัดกิจกรรมตามประเพณีของท้องถิ่นนั้นๆ ถึงเวลาทำกิจกรรมทางศาสนา ก็ให้ความสำคัญเคร่งครัดรัดกุม ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น

        “ฮีตบ้าน หมายถึง ชาวบ้านมีจารีตประเพณีของชาวบ้าน ที่เขายึดถือปฏิบัติ เป็นความสบายใจแบบชาวบ้าน ถึงหน้านาจะลงนาต้องมีพิธีสูตรบ้าน เบิกบานผู้บุกเบิกผืนนาป่าไร่ สร้างบ้านแปลงเมืองจนเกิดเป็นชุมชน ส่วน คองพระ คือ ครรลองของพระที่พระท่านยึดถือปฏิบัติ อาจเรียกว่า วัตรปฏิบัติของพระก็ได้  ซึ่งทั้งพระทั้งชาวบ้าน ก็จะต้องรู้ เข้าใจ และปฏิบัติให้สอดคล้องกลมกลืนกัน ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ให้ขัดแย้งกัน การปฏิบัติตามครรลองของพระ ก็ไม่ควรขัดแย้งกับวิถีแห่งจารีตของชุมชน ในขณะเดียวกัน วิถีแห่งจารีตของบ้านก็ไม่ควรทำลายครรลองของพระจนสูญเสียวิถีของพระ

        ท่านบอกว่า พระโบราณท่านเข้าใจชาวบ้าน จึงปฏิบัติอนุวัติวิถีพระคล้อยตามวิถีของชุมชน

หลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลธรรมวัฒน์(บุญจันทร์ จตฺตสลฺโล)

“ หลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลธรรมวัฒน์(บุญจันทร์ จตฺตสลฺโล) บุ่งสระพัง จ.อุบลราชธานี  ท่านจึงเป็นพระบ้านๆ เป็นที่พึ่งของชุมชน เป็นหลวงพ่อ เป็นหลวงตา เป็นญาท่าน เป็นพ่อท่าน ซึ่งลึกซึ้งแนบแน่นกับชาวบ้าน มากกว่าอื่นใด

        “ ตกเย็นหลังทำวัตรเสร็จ  พระก็จะตีฆ้องออกคอง เพื่อส่งสัญญาณให้ชาวบ้านรู้ว่า พระเสร็จจากคองของพระแล้ว  ใครมีอะไรก็ให้เตรียมไว้ถวาย สามเณรก็จะเข้าหมู่บ้านแผ่(รับบริจาค)สิ่งของจากชาวบ้าน มีโยมเดินนำหน้า ตีฆ้อง ร้องป่าวไปว่า “แผ่กระบอง ตอง ปูน พรู ยา” หมายถึง ขอรับบริจาค กระบอง(ขี้ใต้ น้ำมันใส่ตะเกียง)สำหรับจุดให้แสงสว่าง ตอง(ใบตอง) สำหรับดูดบุหรี่

        “เมื่อก่อนพระใช้ใบตองกล้วยพันยาสูบดูดบุหรี่ ปูนสำหรับกินหมาก ยา คือ ใบยาสูบ หรือ น้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำอ้อย บางที นานๆ ทีโยมก็จัดปรมัตถ์ถวาย “

        เมื่อถามถึงหลวงพ่อวัดปากน้ำ ท่านเจ้าคุณอาจารย์อธิบายว่า หลวงพ่อท่านเป็นพระหลวงตา เป็นพระบ้านๆ ไม่โอ้ ไม่อวด มีความอ่อนน้อมถ่อมตนสูงมาก

“เพราะท่านต้องอยู่กับชาวบ้าน จึงมีวิถีหมุนไปตามฤดูกาลของชาวบ้าน ไม่ว่าประเพณีอะไรจะเกิดขึ้นกับชุมชนตามฤดูกาล จะลงนาเก็บเกี่ยว หว่านไถ่ ปักดำ ทุกข์ร้อนสิ่งใด ต้องมีท่านเข้าไปเกี่ยวข้อง ฝนตกถนนขาดที่ไหน เป็นต้องพาพระเณรไปซ่อม บ้านใครเกิดพายุพัดพังเสียหาย เป็นต้องพาพระเณรไปช่วยเหลือ หมู่บ้านไหนไม่มีวัด ไม่มีโบสถ์ ท่านเป็นต้องนำชาวบ้านสร้างจนได้วัด ได้โบสถ์ ได้ศาลา

        “แต่มีสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการดำเนินอยู่บนวิถีแห่งสมณะของหลวงพ่อ คือ พอถึงวันพระ หลังทำวัตรเย็นเสร็จตอนหกโมง ให้ศีลอุโบสถโยมเสร็จ จัดแจงดูแลภายในวัดเรียบร้อย ราวทุ่มเศษท่านจะออกจากวัดในหมู่บ้านไปปักกลดจำวัดในป่า ในแต่ละวันพระท่านจะให้พระบ้าง สามเณรบ้างสลับกันติดตามไปด้วยหนึ่งรูป”

        เมื่อครั้งที่ท่านเจ้าคุณเทอด บวชเป็นสามเณรพรรษาแรก  ท่านต้องแบกกลดเดินตามหลังหลวงพ่อไปตามถนนดินทรายตัดทุ่งลัดเลาะเข้าป่าไปด้วย 

“บางทีก็มีโยมในหมู่บ้านตามไปคนสองคน ถ้าวันพระข้างขึ้นก็ดีหน่อย ได้แสงสว่างจากดวงจันทร์ส่องลอดกิ่งไม้ลงมาพอให้เห็นทางเดิน แต่ถ้าเป็นข้างแรม มองไปทางไหนก็มืดไปหมด ต้องเดินบ้างวิ่งเยาะๆ บ้าง เพราะหลวงพ่อท่านเดินเร็ว ถึงวาระเณรรูปใด พอไปถึงป่าก็กางกลดจัดเตรียมที่ให้หลวงพ่อแล้วท่านก็จะเข้าภาวนาไปพอสมควรก็จำวัด ตื่นมาอีกทีราวตีสามเศษ ก็จะกลับไปทำวัตรเช้าและรับอรุณที่วัดในหมู่บ้าน

        “หลวงพ่อท่านถือเป็นกิจวัตรของท่านเช่นนี้มายาวนาน จนพระอาจารย์มหามังกร ปญฺญาวโร มาอยู่จำพรรษา จึงค่อยห่างหายจากป่าแห่งนี้ไป ที่จริงท่านอาจารย์มหามังกรเป็นพระเมืองอยู่กรุงเทพมาก่อน เก่งเรื่องเทศน์ เรื่องบรรยาย ต่อมา ได้ไปปฏิบัติธรรมอยู่กับหลวงปู่เทสก์ เทสฺรงฺสี วัดหินหมากเป้ง แล้วย้ายไปอยู่ที่วัดหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี  จากนั้น ท่านเกิดความเบื่อหน่ายจึงเข้าป่ามาจำวัดที่นี่ หลวงพ่อก็ถามสามเณรที่วัดว่า ใครจะไปอุปัฏฐากท่านบ้าง อาตมายกมือ เพราะไม่อยากถูกตามให้สึก จึงขออาสาไปอยู่ป่ากับพระอาจารย์มหามังกร

         “การตัดสินใจครั้งนั้น น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของชีวิตที่จริง หลวงพ่อให้ไปกันสองรูปเพื่อจะได้เพื่อนกัน รวมเป็นสามรูปกับสามเณรที่ติดตามอาจารย์มา แต่ทั้งสองรูปอยู่ไม่นานก็หนีกลับกันหมด ในที่สุดอาตมาก็เป็นสามเณรเพียงรูปเดียวที่อยู่อุปัฏฐากท่านอาจารย์มหามังกร ในเวลาต่อมา”

จากคอลัมน์ มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก

วันอังคารที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๐

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here