เขียนจดหมายถึงพระพุทธเจ้า

เรื่องที่อยากเล่าให้พระพุทธเจ้าฟัง ตอนที่ ๕

เรื่อง ตามรอยพระพุทธเจ้า “ต้นแบบแห่งชีวิต”

โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

           เรื่องที่จะขอเล่าให้พระพุทธเจ้าฟังในฉบับนี้คือ แนวทางการค้นหาต้นแบบต้นธรรม เพื่อเป็นพลังใจและการใช้ชีวิตของเราเอง ตามแนวคิดที่พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙, ดร. ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ ได้วางแนวความคิดไว้ให้

ดังตอนนี้ที่จะเล่าให้ฟังต่อเนื่องเกี่ยวกับการมีกัลยาณมิตรผู้เป็นบุคคลสำคัญที่สามารถเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตเราได้  โดยเป็นผู้มีคุณธรรมในฐานะที่ไม่นิ่งเฉย ไม่ทอดธุระ และเสียสละประโยชน์สุขของตนเพื่อยังสังคมให้เกิดประโยชน์สุข ตามที่พระพุทธเจ้าทรงเมตตาสอนมาโดยตลอด เป็นเรื่องสำคัญมาก ดังประวัติของพระพุทธเจ้าในครั้งที่เป็นสุเมธดาบส ที่เล่าให้ฟังไปแล้วในหลายฉบับก่อน แม้ท่านจะสามารถสำเร็จประโยชน์ตนเองได้ แต่ก็ยังก้าวข้ามเพื่อสร้างประโยชน์สุขให้แก่บุคคลอื่นโดยทั่วกัน

คุณสมบัติของผู้จะเป็นต้นแบบได้นั้น ต้องประกอบไปด้วยธรรมะหรือหลักที่เป็นต้นธรรมในการที่ทำให้เราเกิดศรัทธา และสามารถดำเนินตามแบบอย่างบุคคลนั้นได้ โดยลักษณะของบุคคลที่เป็นต้นธรรมนั้น คือธรรมที่ทำให้คนนั้นเป็นต้นแบบให้กับเราได้ มี ๒ หมวดคือ

๒.๑ สัปปุริสธรรม ธรรมของสัตบุรุษ

คือ ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ, คุณสมบัติของคนดี, ธรรมของผู้ดี มี ๗ ประการคือ

           ๑. ธัมมัญญุตา ความรู้จักธรรม รู้หลัก หรือ รู้จักเหตุ คือ รู้หลักความจริง รู้หลักการ รู้หลักเกณฑ์ รู้กฎแห่งธรรมดา รู้กฎเกณฑ์แห่งเหตุผล และรู้หลักการที่จะทำให้เกิดผล เช่น ภิกษุรู้ว่าหลักธรรมข้อนั้นๆ คืออะไร มีอะไรบ้าง พระมหากษัตริย์ทรงทราบว่าหลักการปกครองตามราชประเพณีเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง รู้ว่าจะต้องกระทำเหตุอันนี้ๆ หรือกระทำตามหลักการข้อนี้ๆ จึงจะให้เกิดผลที่ต้องการอันนั้นๆ เป็นต้น

          ๒. อัตถัญญุตา ความรู้จักอรรถ รู้ความมุ่งหมาย หรือ รู้จักผล คือ รู้ความหมาย รู้ความมุ่งหมาย รู้ประโยชน์ที่ประสงค์ รู้จักผลที่จะเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการกระทำหรือความเป็นไปตามหลัก เช่น รู้ว่าหลักธรรมหรือภาษิตข้อนั้นๆ มีความหมายว่าอย่างไร หลักนั้นๆ มีความมุ่งหมายอย่างไร กำหนดไว้หรือพึงปฏิบัติเพื่อประสงค์ประโยชน์อะไร การที่ตนกระทำอยู่มีความมุ่งหมายอย่างไร เมื่อทำไปแล้วจะบังเกิดผลอะไรบ้างดังนี้เป็นต้น

          ๓. อัตตัญญุตา ความรู้จักตน คือ รู้ว่าเรานั้น ว่าโดยฐานะ ภาวะ เพศ กำลังความรู้ ความสามารถ ความถนัด และคุณธรรม เป็นต้น บัดนี้ เท่าไร อย่างไร แล้วประพฤติให้เหมาะสม และรู้ที่จะแก้ไขปรับปรุงต่อไป

            ๔. มัตตัญญุตา ความรู้จักประมาณ คือ ความพอดี เช่น ภิกษุรู้จักประมาณในการรับและบริโภคปัจจัยสี่ คฤหัสถ์รู้จักประมาณในการใช้จ่ายโภคทรัพย์ พระมหากษัตริย์รู้จักประมาณในการลงทัณฑอาชญาและในการเก็บภาษี เป็นต้น

             ๕. กาลัญญุตา ความรู้จักกาล คือ รู้กาลเวลาอันเหมาะสม และระยะเวลาที่จะต้องใช้ในการประกอบกิจ กระทำหน้าที่การงาน เช่น ให้ตรงเวลา ให้เป็นเวลา ให้ทันเวลา ให้พอเวลา ให้เหมาะเวลา เป็นต้น

               ๖. ปริสัญญุตา ความรู้จักบริษัท คือ รู้จักชุมชน และรู้จักที่ประชุม รู้กิริยาที่จะประพฤติต่อชุมชนนั้นๆ ว่า ชุมชนนี้เมื่อเข้าไปหา จะต้องทำกิริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ ชุมชนนี้ควรสงเคราะห์อย่างนี้ เป็นต้น

     ๗. ปุคคลัญญุตา หรือ ปุคคลปโรปรัญญุตา (ความรู้จักบุคคล คือ ความแตกต่างแห่งบุคคลว่า โดยอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรม เป็นต้น ใครๆ ยิ่งหรือหย่อนอย่างไร และรู้ที่จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นๆ ด้วยดี ว่าควรจะคบหรือไม่ จะใช้จะตำหนิ ยกย่อง และแนะนำสั่งสอนอย่างไร เป็นต้น (พระพรหมคุณาภรณ์ (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), ๒๕๕๘ )

๒.๒ กัลยาณมิตรธรรม

คือ องค์คุณของกัลยาณมิตร  คุณสมบัติของมิตรดีหรือมิตรแท้ คือท่านที่คบหรือเข้าหาแล้วจะเป็นเหตุให้เกิดความดีงามและความเจริญ ในที่นี้มุ่งเอามิตรประเภทครูหรือพี่เลี้ยงเป็นสำคัญ มี ๗ ประการ คือ

       ๑. ปิโย น่ารัก ในฐานเป็นที่สบายใจและสนิทสนม ชวนให้อยากเข้าไปปรึกษา ไต่ถาม

       ๒. ครุ น่าเคารพ ในฐานประพฤติสมควรแก่ฐานะ ให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ เป็นที่พึ่งใจ และปลอดภัย

       ๓. ภาวนีโย น่าเจริญใจ หรือน่ายกย่อง ในฐานทรงคุณคือความรู้และภูมิปัญญาแท้จริง ทั้งเป็นผู้ฝึกอบรมและปรับปรุงตนอยู่เสมอ ควรเอาอย่าง ทำให้ระลึกและเอ่ยอ้างด้วยซาบซึ้งภูมิใจ

       ๔. วตฺตา จ รู้จักพูดให้ได้ผล รู้จักชี้แจงให้เข้าใจ รู้ว่าเมื่อไรควรพูดอะไรอย่างไร คอยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือน เป็นที่ปรึกษาที่ดี

       ๕. วจนกฺขโม อดทนต่อถ้อยคำ คือ พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษาซักถามคำเสนอแนะวิพากษ์วิจารณ์ อดทน ฟังได้ไม่เบื่อ ไม่ฉุนเฉียว

         ๖. คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา แถลงเรื่องล้ำลึกได้ สามารถอธิบายเรื่องยุ่งยากซับซ้อน ให้เข้าใจ และให้เรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป

            ๗. โน จฏฺฐาเน นิโยชเย ไม่ชักนำในอฐาน คือ ไม่แนะนำในเรื่องเหลวไหล หรือชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย (มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙)

         คราวนี้ เรามาค้นหา “ต้นแบบต้นธรรม” ของเราเองบ้างว่าน่าจะเป็นใคร ที่มีคุณลักษณะดังกล่าวที่จะชี้แนะให้เราได้ และที่สำคัญ เราพร้อมที่จะเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงตัวเองตามรอยธรรมของต้นแบบต้นธรรมที่เราศรัทธาอย่างไรบ้าง ถ้าพูดภาษาสมัยใหม่ก็คือเราต้องมี “ไอดอล” หรือเป็นถ้าเปรียบเสมือนการสร้างพระพุทธรูปก็ต้องมีบล็อก บล็อกสวยงาม บล็อกเป็นเช่นใด พระพุทธรูปก็จะออกมาเช่นนั้น

เมื่อผู้เข้าอบรมเข้าร่วมกิจกรรม “ต้นแบบต้นธรรม” ก็จะมีความรู้สึก หรือได้มุมองแง่คิดจากการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ โดยการสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ดังนี้

ถ้ามีเข็มทิศเราก็จะไม่หลงป่า

           ๑) เมื่อได้เข้าร่วมกิจกรรม “ต้นแบบต้นธรรม” ทำให้เราได้มีแบบอย่างของชีวิต เพราะต้นแบบต้นธรรมของแต่ละคนในกลุ่มที่นำมาเล่าล้วนเป็นผู้ที่สามารถเป็นแบบอย่างให้ชีวิตของเราเดินตามได้ เพราะการทำงานหากเรามีแบบอย่างที่ดีให้เราเดินตาม

ก็เหมือนเราเดินป่าถ้ามีเข็มทิศเราก็จะไม่หลงป่า สามารถเดินไปสู่เป้าหมายของเรานั้นได้อย่างปลอดภัยและรวดเร็ว เฉกเช่นต้นแบบต้นธรรม ถ้าเรามีแบบอย่างก็จะทำให้เราได้นำมาเป็นบล็อกของชีวิต มาเป็นเข็มทิศให้เราได้เดินตามเพื่อทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้อย่างงดงาม

๒) จากการได้ร่วมกิจกรรม “ต้นแบบต้นธรรม” เมื่อฟังเรื่องเล่าต้นแบบต้นธรรม กล่าวคือ สมาชิกในกลุ่มแต่ละท่านได้มีต้นแบบต้นธรรม ได้เล่าถึงบุคคลอันเป็นต้นแบบต้นธรรมของตนเอง จากที่ทุกคนได้เล่ามาทำให้เห็นอย่างหนึ่งเหมือนกันคือ แต่ละท่านที่เป็นต้นแบบต้นธรรม เป็นบุคคลที่เสียสละ มีเมตตา และที่สำคัญการกระทำของท่านนอกจากจะทำงานเพื่อพระศาสนาในด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นผู้ที่เป็นผู้นำของสังคมที่พัฒนาหมู่บ้าน ชุมชน หรือสังคม โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมและสังคมเป็นที่ตั้งในการดำรงชีวิต

๓) เมื่อได้ฟังแต่ละท่านในกลุ่มได้เล่าถึงต้นแบบต้นธรรมรวมทั้งตัวเราด้วยที่ได้เล่าต้นแบบต้นธรรมแลกเปลี่ยนกับเพื่อนในกลุ่ม ทำให้เราได้เห็นและเรียนรู้วิธีคิดบุคคลที่เป็นต้นแบบต้นธรรมแต่ละท่าน เพราะบุคคลที่เป็นต้นแบบต้นธรรมแต่ละท่านนั้น จะมีวิธีคิดในการทำงาน วิธีคิดในการเข้าถึงชุมชน โดยเฉพาะวิธีคิดในการแก้ปัญหา ฯ เพราะวิธีคิดของผู้ที่เป็นบุคคลต้นแบบต้นธรรมผ่านการลองผิดลองถูก ทดลองใช้จนได้ผล ดังนั้นวิธีคิดของบุคคลเหล่านี้ก็เหมือนอาหารสำเร็จรูป ที่เราสามารถนำมาใช้ได้เลย เพียงแต่นำมาปรับหรือบูรณาการให้เข้ากับสังคมเหตุการณ์เท่านั้น

๔) การจัดกิจกรรม “ต้นแบบต้นธรรม” และได้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ถือว่าเป็นประสบการณ์ของชีวิตมากที่สุด เพราะได้ในกลุ่มมีสมาชิก ๙ ท่าน ได้ฟังบุคคลอันเป็นต้นแบบต้นธรรม 9 ท่าน เมื่อฟังเรื่องราวของชีวิตแต่ละท่าน ก็อดทำให้เราต้องย้อนกลับมาดูชีวิตตนเองไม่ได้ เราว่าตนเองทำงานมากแล้ว ขยันแล้ว และสิ่งที่เราทำมันยิ่งใหญ่แล้ว แต่เมื่อไปเทียบกับต้นแบบต้นธรรมแต่ละท่านมันเทียบกับท่านไม่ได้เลย เราจึงต้องบอกตนเองว่าต่อจากนี้ไปเราต้องเพียรและทำงานให้มากกว่าเดิม โดยเฉพาะการทำงานเผยแผ่พระศาสนา เราต้องตั้งหลักให้มั่น และมีเป้าหมายที่ชัดเจน และจงใช้ลมหายใจที่เหลือของชีวิตในเพศสมณะทำเพื่องานเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป

๕) เมื่อได้ฟังเรื่องเล่าผู้ที่เป็นต้นแบบต้นธรรมของแต่ละท่านแล้ว ทำให้มีกำลังใจ มีแรงผลักดัน แรงขับเคลื่อนที่จะทำงานเผยแผ่พระศาสนาอย่างมาก เพราะเวลาเราทำงาน หรือจัดทำโครงการต่าง ๆ หรือการทำหน้าที่เป็นพระนักเผยแผ่ เราต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับบุคคลหลากหลาย สิ่งที่ตามมาก็คือปัญหา แน่นอนการทำงานก็ย่อมมีปัญหาแต่บางครั้งเมื่อพบเจอปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน ก็ทำให้เราเหนื่อยล้า หรือบางครั้งก็อยากจะไม่ทำงานพวกนี้อะไรอีกแล้ว อยู่อย่างสงบ ๆ แต่ในใจก็บอกกับตนเองตลอดว่าเราหยุดไม่ได้ ถ้าเราหยุดพระพุทธศาสนาก็จบ ดังนั้นการที่ได้มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ทำให้ได้รับกำลังใจอย่างเต็มเปี่ยม มีแรงใจ แรงกาย และเกิดอุดมการณ์ ทำให้ใจเราหนักแน่น มั่นคง แน่วแน่ต่องานพระศาสนา และทำงานเผยแผ่พระศาสนาต่อไป

และนี่คืออีกเรื่องหนึ่งที่ตั้งใจเขียนจดหมายเล่าให้พระพุทธเจ้าฟัง

จากคอลัมน์ เขียนจดหมายถึงพระพุทธเจ้า เรื่องที่อยากเล่าให้พระพุทธเจ้าฟัง ตอนที่ ๕ เรื่อง ตามรอยพระพุทธเจ้า “ต้นแบบแห่งชีวิต” โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม (หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๒)

  พระใบฎีกาคทาวุธ  คเวสกธมฺโม  ผู้เขียน
พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม ผู้เขียน

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here