๑๒๒ ปี แห่งการเดินทางของพระบรมสารีริกธาตุจากกรุงกบิลพัสดุ์ สู่สยามประเทศ จากภาพยนต์การ์ตูนอิงประวัติศาสตร์ เรื่อง “ปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุ ณ บรมบรรพต (ภูเขาทอง) วัดสระเกศ ” ตอนที่ ๒ “พลังแห่งพุทธานุภาพ ” โดย สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

ความเดิมจากตอนที่แล้ว

เย็นวันหนึ่งขณะที่เณรแกละและเณรจุกกำลังกวาดลานวัด เณรแกละก็ครุ่นคิดและสงสัยว่า “บนภูเขาทองมีอะไร”

จึงชวนเณรจุกไปถามหลวงพี่ในวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร หลวงพี่จึงเริ่มต้นเล่าเรื่อง “ปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุ ณ บรมบรรพต (ภูเขาทอง) วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ” ให้ฟัง

ครั้งหนึ่งในประเทศอินเดีย …

ในสมัยพุทธกาล หลังการเสด็จปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในกรุงกุสินารา กษัตริย์และพราหมณ์ปกครองแว่นแคว้นต่างๆ เมื่อได้ทราบข่าว ต่างก็ส่งทูตมาเจรจาขอส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อจะได้นำไปสักการบูชา โดยการบรรจุไว้ในสถูป ณ แว่นแคว้นของตน แต่เมื่อได้รับการปฏิเสธ บรรดากษัตริย์เหล่านั้น ต่างก็พากันยกทัพมาตั้งค่ายล้อมกรุงกุสินารา พร้อมกับยื่นคำขาดแก่กษัตริย์มัลละแห่งเมืองกุสินารา ว่าจะให้ส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ หรือจะรบ

โทนพราหมณ์ ซึ่งเป็นที่เคารพของเหล่ากษัตริย์ เมื่อทราบว่าเกิดการวิวาท จนอาจเป็นเหตุให้เกิดสงคราม จึงออกมมาห้ามและในที่สุดก็ได้รับการยอมรับให้เป็นผู้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อแจกจ่ายให้กับแว่นแคว้นทั้ง ๘ ได้แก่

ซึ่งเมืองที่ ๘ คือ เมืองกบิลพัสดุ์ เมืองของพระบิดาของพระพุทธเจ้า

พุทธศักราช ๒๕๖๓ ผ่านไป ๑๒๒ ปี กับการเดินทางของ “พระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุอยู่บนภูเขาทอง วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ในปัจจุบัน

จากจดหมายเหตุรับพระบรมสารีริกธาตุ ร.ศ.๑๑๖

ในพ.ศ.๒๔๓๙ รศ.๑๑๕ มิสเตอร์ วิลเลียม แคลกซ์ตัน เปปเป ชาวอังกฤษ ซึ่งมีถิ่นพำนักอยู่ในประเทศอินเดีย ได้ขุดค้นซากปรักหักพังของสถูปโบราณซึ่งจมอยู่ภายใต้เนินดินที่ตำบลปิปราห์วะ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองบัสติ อันเป็นที่ตั้งกรุงกบิลพัสดุ์ สมัยพุทธกาล ซึ่งบริเวณสถานที่ดังกล่าวอยู่ในการดูแลของตน โดยในครั้งแรกได้ขุดหลุมกว้าง ๑๐ ฟุต และลึก ๘ ฟุต (กว้างราว ๖ ศอก ลึกราว ๕ ศอก จนกระทั่งทะลุถึงถ้ำ ซึ่งก่อด้วยอิฐ จึงเกิดความมั่นใจว่า เนินดินนี้จะต้องเป็นสถูปในพระพุทธศาสนาอย่างแน่นอน จึงหยุดการขุดสำรวจไว้ก่อน และได้ขอคำปรึกษาไปยังนักโบราณคดี

ในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๓๙ ร.ศ.๑๑๕ มิสเตอร์ วินเซนต์ สมิท ได้เข้ามาตรวจสอบสถูปดังกล่าวอีกครั้ง ได้แนะนำมิสเตอร์เปปเปว่า พระสถูปทางพระพุทธศาสนาแห่งนี้น่าจะเป็นพระสถูปโบราณที่มีความสำคัญยิ่ง และหากมีสิ่งใดบรรจุไว้ในพระสถูปนี้ คงจะอยู่ในช่องตรงกลางลึกต่ำลงไปเสมอพื้นดิน จากคำแนะนำดังกล่าว จึงเป็นแรงจูงใจให้มิสเตอร์เปปเป ทำการขุดสำรวจสถูปโบราณนั้นต่อไป

วันที่ ๒๐ เดือนมกราคม พ.ศ.๒๔๔๐ (ร.ศ.๑๑๖) เมื่อมิสเตอร์ เปปเป ขุดรื้อสำรวจพบพระสถูปโบราณจากตรงกลางยอดลึกลงไป ๑๐ ฟุต ได้พบท่อกลมก่อด้วยอิฐปากกว้างราว ๒ คืบ จึงขุดตามท่อกลมนั้นลงไปได้พบหีบศิลาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ทำจากหินทราย ๑ หีบ ภายในหีบศิลามีผอบศิลา ๓ ผอบ กับหม้อแก้ว ๑ หม้อ เต็มไปด้วยข้าวของ เงิน ทอง เพชร พลอย และเครื่องประดับต่างๆ มากมาย เช่น รูปเครื่องหมายพระรัตนตรัย ใบไม้ และนก นอกจากนั้น ยังมีแผ่นทองคำตีตราเป็นสัญลักษณ์ต่างๆ ด้วย

แต่สิ่งที่ทำให้มิสเตอร์เปปเปเกิดความตื่นเต้นมากที่สุด คือ ภายในหีบศิลาหินทรายมีผอบบรรจุอัฐิธาตุ ประมาณสักฟายมือหนึ่ง (ONE HANDFUL) และที่ผอบใบที่บรรจุอัฐิธาตุนั้น มีข้อความจารึก ด้วยอักษรพราหมมีโบราณ เป็นภาษาที่ใช้มาก่อนพุทธกาล

จากการตรวจสอบจารึกพบว่า เป็นอักษรโบราณมีอายุมากกว่า ๓๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช คือ เป็นภาษาที่จารึกมาแล้วประมาณ ๒,๑๙๘ ปี ก่อนการขุดพบ ซึ่งเก่ากว่าภาษาที่ใช้จารึกเสาอโศก ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ที่เคยขุดพบมาแล้ว นักภาษาศาสตร์เชื่อว่า น่าจะเป็นภาษาที่ใช้ในสมัยที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ หรือหลังจากนั้นก็ไม่น่าจะเกินพุทธศตวรรษที่ ๒-๔ ข้อความจารึกที่ผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุแปลได้ความว่า

“ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้านี้ เป็นของตระกูลศากยราช ผู้มีเกียรติงาม กับพระภาตา พร้อมทั้งพระภคินี พระโอรส และพระชายา สร้างขึ้นอุทิศถวายไว้”

จากจารึกและข้อสรุปของนักภาษาศาสตร์นั้น ทำให้มิสเตอร์เปปเปมั่นใจได้ว่า อัฐิธาตุที่บรรจุอยู่ภายในผอบนี้ เป็นพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็น ๑ ใน ๘ ส่วนที่เจ้าศากยะได้รับไปในคราวแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ หลังการถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน

มิสเตอร์เปปเปจึงมีหนังสือแจ้งไปยังเจ้าพนักงานภาษี เมืองบัสติ เจ้าพนักงานได้ส่งสำเนาหนังสือของมิสเตอร์เปปเปต่อไปยังดอกเตอร์วิลเลียม โฮย ข้าหลวงแขวงเมืองโครักขปุระ ดอกเตอร์โฮยได้ยื่นเรื่องต่อไปยังสมุหเลขานุการ รัฐบาลหัวเมืองอินเดียตะวันตกเฉียงเหนือและเมืองโอธ แจ้งว่า มิสเตอร์เปปเปได้ขุดสำรวจสถูปโบราณพบโบราณวัตถุและสิ่งของที่้ล้ำค่า มีความยินดีจะยกให้พิพิธภัณฑ์อินเดีย และมอบให้รัฐบาลเป็นผู้จัดการตามเห็นสมควร โดยตนขอเก็บสิ่งของบางอย่างเป็นที่ระลึก

ข่าวคราวที่มิสเตอร์เปปเปขุดค้นพบุพระบรมสารีริกธาตุได้รับการตีพิมพ์ทางหน้าหนังสือพิมพ์และได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง

ในการนี้ ดอกเตอร์โฮย ได้เขียนบทความเกี่ยวกับการขุดค้นพบพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมทั้งคำอ่าน และคำแปลอักษรโบราณซึ่งจารึกที่ผอบ ลงในหนังสือพิมพ์ชื่อว่า ไพโอเนีย ฉบับวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ร.ศ.๑๑๖ โดยระบุว่า เป็นการค้นพบครั้งประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งของโลก

ต่อมา นายมารควิส เคอร์ชัน ผู้ดำรงตำแหน่งอุปราชครองประเทศอินเดีย ซึ่งเคยเข้ามารับราชการอยู่ในกรุงเทพฯ และมีความคุ้นเคยกับรัชกาลที่ ๕ มาก่อน เห็นว่า พระบรมสารีริกธาตุนั้นเป็นสมบัติของชาวพุทธ และนายมารควิส เคอร์ชันเห็นว่า

พระมหากษัตริย์ที่ทรงนับถือพระพุทธศาสนาสมัยนั้น ก็มีแต่พระเจ้ากรุงสยามเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น

รัฐบาลอินเดียจึงมีความประสงค์ที่จะทูลเกล้าฯ ถวายพระบรมสารีริกธาตุแด่รัชกาลที่ ๕ พร้อมให้ฝ่ายไทยส่งผู้แทนเป็นคณะราชทูตไปรับ และขอให้รัชกาลที่ ๕ แบ่งพระบรมสารีริกธาตุแก่ประเทศต่างๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกัน

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ขณะทรงผนวชที่ศรีลังกาได้เป็นผู้ประสานงานในการรับพระบรมสารีริกธาตุ ระหว่างรัฐบาลอินเดียกับสยาม

โดยในพ.ศ.๒๔๔๑ (ร.ศ.๑๑๗) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช เป็นผู้ออกไปรับพระบรมสารีริกธาตุ ณ ประเทศอินเดีย

โดยออกเดินทางจากกรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ.๒๔๔๑ (ร.ศ.๑๑๗) ถึงเมืองสิงคโปร์วันที่ ๒๐ มกราคม พักอยู่ที่สิงคโปร์ ๓ วัน เพื่อคอยเรือเมล์ที่จะออกไปกัลกตา จากนั้น เดินทางต่อไปจนถึงอินเดียในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ร.ศ.๑๑๗

วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๔๑ (ร.ศ.๑๑๗) ทำพิธีมอบพระบรมสารีริกธาตุ พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) พร้อมด้วยหลวงพินิจอักษร อัญเชิญพระเจดีย์กาไหล่ทองคำ ซึ่งพระราชทานจากกรุงเทพ เข้าสู่มณฑลพิธี ดอกเตอร์โฮย ข้าหลวงแขวงเมืองโครักขปุระ ตัวแทนฝ่ายอินเดีย อ่านคำมอบพระบรมสารีริกธาตุท่ามกลางข้าราชการ ทั้งพวกผู้ดีชายหญิงซึ่งมาประชุมกันเป็นจำนวนมาก โดยมีทหารยืนเป็นกองเกียรติยศ ๒๔ คน ต่อจากนั้น พระยาสุขุมนัยวินิต ตัวแทนจากสยามกล่าวขอบคุณ

หลังจาก พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) รับมอบพระบรมสารีริกธาตุจากรัฐบาลอังกฤษในประเทศอินเดียแล้ว ก็ออกเดินทางเรือ ในระหว่างการเดินทางนั้นเอง ก็เกิดพายุไต้ฝุ่นลูกใหญ่มาข้างหน้าอย่างรุนแรง จนกับตันเรือคิดว่าคงจะไม่รอดแน่ๆ แต่พระยาสุขุมนัยวินิตก็บอกว่า อย่าเพิ่งหมดหวัง

ในเวลาวิกฤตินั้นเอง พระยาสุขุมนัยวินิต กราบนมัสการพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมา ตั้งอธิษฐานจิตว่า

ขอให้องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คุ้มครองเหล่าลูกช้างในการเดินทางครั้งนี้ด้วยเทอญ

เพื่อที่ลูกช้างจะได้นำพระบรมสารีริกธาตุ ไปประทับที่กรุงสยาม ให้เป็นที่สักการะของชาวพุทธโดยทั่วกัน

หลังจากกล่าวคำอธิษฐานจบลงก็เกิดแสงสว่างโชติช่วงจากพระบรมสารีริกธาตุ จากนั้นพายุไต้ฝุ่นก็สงบลง

วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๔๑ (ร.ศ.๑๑๗) เวลาบ่าย ๕ โมง คณะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากสยามประเทศ ได้ออกเดินทางกลับถึงเมือตรัง ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นบุษบกแห่ผ่านเมือง ตรัง พัทลุง สงขลา แต่ละเมืองที่ผ่านมามีประชาชนเข้าร่วมขบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุ และสักการบูชา ด้วยดอกไม้ธูปเทียน แก้วแหวน เงินทองมากมาย แสดงให้เห็นถึงความเลื่อมใสศรัทธาของประชาชนในแต่ละเมืองได้เป็นอย่างดี จากนั้นได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุลงเรือหลวงต่อไปยังเมืองสมุทรปราการ

วันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๔๑ (ร.ศ.๑๑๗) คณะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุถึงเมืองสมุทรปราการ รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้นำพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานในพระวิหาร เกาะพระสมุทรเจดีย์ ทำการเฉลิมฉลองเป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน แล้วจัดขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ เดินทางมากรุงเทพมหานคร

พ.ศ.๒๔๔๒ (ร.ศ.๑๑๘ ) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่เจดีย์บรมบรรพต ภูเขาทอง วัดสระเกศ ในวันอาทิตย์ที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๔๒ (ร.ศ.๑๑๘) โดยกำหนดฤกษ์ตามวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พ.ศ.๒๔๔๒ (ร.ศ.๑๑๘) ทรงแบ่งพระบรมสารีริกธาตุแก่ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาต่างๆ เช่น พม่า ลาว ลังกา ญี่ปุ่น ไซบีเรีย เป็นต้น ตามความประสงค์ของรัฐบาลอินเดีย

ฝ่ายรัฐบาลญี่ปุ่นนั้น ได้คัดเลือกตัวแทนคณะสงฆ์ญี่ปุ่นจากพุทธนิกายต่างๆ ไปยังสยามประเทศ เพื่ออัญเชิญ พระบรมสารีริกธาตุมายังประเทศญี่ปุ่น โดยได้ประกอบพิธีพระราชทานที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๔๓ คณะสมณทูตญี่ปุ่นได้กราบบังคมทูลว่า มีความประสงค์จะสร้างเจดีย์และวัดขึ้นใหม่เป็นการเฉพาะ เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และเพื่อเป็นสัญลักษณ์การรวมนิกายต่างๆ ของคณะสงฆ์ญี่ปุ่น

พระองค์ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อสร้างพระเจดีย์และวัดใหม่ตามความประสงค์ของคณะสงฆ์ญี่ปุ่นนั้นด้วย ในการนี้ พระองค์ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระพุทธรูปโบราณไปด้วย

(โปรดติดตามตอนต่อไป )

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here