จาก หนังสือ “ทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับคณะสงฆ์ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เรียบเรียงโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์โดย กองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร พิมพ์ครั้งที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔ (ฉบับธรรมทาน)

และ หนังสือ “พุทธานุภาพ : อานุภาพของพระพุทธองค์ เรียนรู้พุทธธรรมจากพระพุทธมนต์ เพื่อชีวิตที่ดีงาม โดย พระครูปลัดสุวัฒนธีคุณ (เทอด ญาณวชิโร, วงศ์ชะอุ่ม) พิมพ์ครั้งที่ ๑๘
โดย กองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศ ฉบับธรรมทาน

วันนี้วันพระ

วันจันทร์ที่ ๒๓ มีนาคมม พ.ศ.๒๕๖๓ แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๔

ศึกษาความเป็นมาของบทสวดมนต์ “กรณียเมตตสูตร”

จากหนังสือ “พุทธานุภาพ อานุภาพของพระพุทธองค์”

และอานิสงส์ในการเจริญพระพุทธมนต์ด้วยสติและปัญญา

โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

ปัจจุบัน ความเข้าใจเกี่ยวกับการสวดมนต์ หรือ การเจริญพระพุทธมนต์ค่อนข้างจะคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง แท้จริงแล้วการสวดมนต์ หรือ การเจริญพระพุทธมนต์นั้น คือการทำสมาธิอย่างหนึ่งเพื่อให้เกิดปัญญาในการแก้ไขปัญหาชีวิตได้อย่างรอบด้าน

การทำสมาธิโดยการเจริญพระพุทธมนต์ หรือ การสวดมนต์ ก็อาศัยคำบริกรรมจากคำสอนของพระพุทธเจ้าที่คัดมาจากพระไตรปิฏกทั้งสามฉบับ คือ พระสูตร พระวินัย และพระอภิธรรม ที่มีเนื้อหาน้อมใจให้กลับมาพิจารณากาย เวทนา จนเห็นการทำงานของจิต และเห็นธรรมในที่สุดว่า ไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้จริงๆ ทุกข์ขังเป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ และทุกอย่างไม่ใช่ตัวเราของเราที่จะยึดไว้ได้สักอย่างเดียว …

และทำไมต้องสวดเป็นภาษาบาลีแล้วก็ควรจะแปลเป็นไทยด้วย ?

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร ) ในขณะนั้น ปีพ.ศ.๒๕๖๐
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร ) ในขณะนั้น ปีพ.ศ.๒๕๖๐

ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น อธิบายไว้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

การเจริญสมาธิภาวนา  คือ  การที่จิตผูกหรือเพ่งอยู่กับคำใดคำหนึ่ง หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น  พุทโธ  พุทโธ, พองหนอ-ยุบหนอ, สัมมา-อะระหัง เป็นต้น ให้จิตเกาะเกี่ยวไหลไปตามกระแสของคำนั้นๆ  เพื่อเป็นสื่อให้จิตเข้าถึงความสงบ มีค่าเท่ากับจิตผูกเพ่งอยู่กับการสวดมนต์ที่จิตเกาะเกี่ยวไปกับทุกอักระของบทสวดมนต์

จิตที่ไหลไปเป็นกระแสตามทุกอักขระเช่นนี้ ไม่เปิดโอกาสให้นิวรณ์  ๑  คือ  สิ่งที่ขวางกั้นจิตไม่ให้ทำความดี  เช่น ความรักโลภ โกรธหลง  กามราคะ  อาฆาตพยาบาท  หงุดหงิด  ฟุ้งซ่าน  รำคาญ  เบื่อหน่ายแทรกเข้ามาครอบงำจิตได้  ทำให้จิตมีความผ่องใส  เป็นจิตมีพลังในการต้านทานกิเลสที่จะเข้ามามีอำนาจเหนือสติปัญญา  มีความฉับไวต่อการรับรู้อารมณ์ และคมต่อการแยกแยะความถูกผิด

การสวดมนต์ คือ การเจริญสมาธิภาวนา

การเจริญพระพุทธมนต์ เป็นรูปแบบของการเจริญสมาธิภาวนาอย่างหนึ่ง แต่แทนที่จะใช้วิธีนั่งบริกรรม ให้จิตเกาะเกี่ยวอยู่กับคำใดคำหนึ่ง  หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียว เช่น  พุทโธ  พุทโธ เป็นต้น เพื่อเป็นสื่อให้เข้าถึงความสงบ   ก็ใช้วิธีให้จิตเกาะเกี่ยวไปกับอักขระเป็นกระแสเช่นนี้ ไม่ปล่อยให้ความ รักโลภโกรธหลง  กามราคะ อาฆาตพยาบาทได้โอกาสแทรกเข้ามา ครอบงำจิต  ทำให้จิตมีความผ่องใสเป็นจิตมีพลังในการต้านทานกิเลสที่จะ เข้ามามีอำนาจเหนือสติปัญญา

จิตเช่นนี้เป็นจิตสงบ  คือ  สงบจากกาม ราคะ  อาฆาตพยาบาท  หงุดหงิดฟุ้งซ่าน  รำคาญ  เบื่อหน่ายจึงชื่อว่า  “จิตเป็นสมาธิ”

การทำวัตรสวดมนต์ที่วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ได้จัดขึ้นวันละ ๓ เวลา เช้า-เย็น และค่ำ เป็นดำริของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)  เพื่อให้ภิกษุ-สามเณรที่ไปเรียนหนังสือกลับมาได้ทำวัตรร่วมกับครูบาอาจารย์ และสหธรรมมิกทุกวันมาจนถึงทุกวันนี้
การทำวัตรสวดมนต์ที่วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ได้จัดขึ้นวันละ ๓ เวลา เช้า-เย็น และค่ำ เป็นดำริของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) เพื่อให้ภิกษุ-สามเณรที่ไปเรียนหนังสือกลับมาได้ทำวัตรร่วมกับครูบาอาจารย์ และสหธรรมมิกทุกวันมาจนถึงทุกวันนี้

การสวดมนต์คือการทรงจำพระพุทธพจน์

การสวดมนต์ คือ การท่องบ่นสาธยายพระพุทธพจน์ ซึ่งถูกบันทึกไว้เป็นภาษาบาลี เพื่อการทรงจำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้ยืนยาวสืบต่อไป

การสวดมนต์ในอีกด้านหนึ่งก็คือการเจริญสมาธิภาวนาที่ได้นำเอาพระพุทธพจน์มาเป็นบทบริกรรมภาวนา  ให้จิตเกาะเกี่ยวไปกับทุกขณะของอักขระที่กำลังสาธยาย ไม่ปล่อยให้ นิวรณ์แทรกเข้ามาทำให้จิตเศร้าหมองได้นั่นเอง

พระสงฆ์สาวกสมัยพุทธกาล  นอกจากจะมีหน้าที่ในการเจริญสมาธิภาวนาเพื่อนำตนออกจากทุกข์แล้ว  ยังมีภาระหน้าที่ในการทรงจำพระพุทธพจน์  เพื่อสืบต่อคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ควบคู่กันไปอีกด้วย   พระสาวกสมัยพุทธกาลจึงถือเป็นหน้าที่สำคัญยิ่งที่จะต้องท่องบ่น  สาธยายพระพุทธพจน์  เพื่อรักษาคำสอนของพระพุทธองค์เป็นหลัก  ในขณะเดียวกันก็ต้องเร่งความเพียรเพื่อนำตนออกจากทุกข์ในสังสารวัฏ  จึงหาวิธีที่จะ ทรงจำพระพุทธพจน์ให้เป็นกิจกรรมในการดำเนินชีวิตควบคู่ไปกับการ เจริญสมาธิภาวนา

การเจริญพระพุทธมนต์  ที่ต้องสวดเป็นภาษาบาลีเพราะเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาพระพุทธพจน์ ซึ่งกระทำควบคู่ไปกับการเจริญสมาธิภาวนา  เป็นกิจวัตรในการดำเนินชีวิตของพระสงฆ์สาวกในสมัยพุทธกาล  ที่ถ่ายทอด  สืบต่อมาสู่พระสงฆ์สาวกในยุคปัจจุบัน

ความเป็นมาและอานุภาพแห่งการเจริญพระพุทธมนต์

กรณียเมตตสูตร

พระพุทธมนต์สำหรับผู้เกิดวันอังคาร

เพื่อให้เทวดาเกิดความรักด้วยอานุภาพแห่งการแผ่เมตตา

พระสุตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ และ อารัทธวิปัสสกภิกขุ อรรถกถาขุททกนิกาย ธรรมบท

กรณียเมตตสูตร ยังเป็นพระพุทธมนต์สำหรับผู้เกิดวันอังคาร อีกด้วย

ตำนานและอานุภาพการป้องกัน

กรณียเมตตสูตร เป็นพระสูตรที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำให้พระภิกษุเจริญเมตตาจิตไปในมวลสรรพสัตว์ ตลอดจนเทพเทวาภูติผีปีศาจทั้งหลาย ไม่มีประมาณ ไม่มีขอบเขต ไม่จำกัดว่า สัตว์นั้น หรือเขาผู้นั้น จะเกี่ยวข้องกับเราหรือไม่ก็ตาม

วัดเชตวันมหาวิหาร หรือ วัดพระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นวัดที่สร้างโดยท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี มหาเศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถี บนที่ตั้งของเชตวัน หรือสวนเจ้าเชต นอกเมืองสาวัตถี ซึ่งอนาถบิณฑิกเศรษฐีซื้อมาด้วยเงินมากถึง 18 โกฏิ (ตามการนับค่าเงินในสมัยนั้น) วัดแห่งนี้นับว่าเป็นวัดและที่มั่นสำคัญในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล และเป็นวัดที่พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษามากที่สุดถึง ๑๙  พรรษา และกรุงสาวัตถี เมืองโบราณในสมัยพุทธกาล มีความสำคัญในฐานะที่เป็นเมืองหลวงของแคว้นโกศล ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
วัดเชตวันมหาวิหาร หรือ วัดพระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นวัดที่สร้างโดยท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี มหาเศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถี บนที่ตั้งของเชตวัน หรือสวนเจ้าเชต นอกเมืองสาวัตถี ซึ่งอนาถบิณฑิกเศรษฐีซื้อมาด้วยเงินมากถึง 18 โกฏิ (ตามการนับค่าเงินในสมัยนั้น) วัดแห่งนี้นับว่าเป็นวัดและที่มั่นสำคัญในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล และเป็นวัดที่พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษามากที่สุดถึง ๑๙ พรรษา และกรุงสาวัตถี เมืองโบราณในสมัยพุทธกาล มีความสำคัญในฐานะที่เป็นเมืองหลวงของแคว้นโกศล ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

พระพุทธองค์ตรัสพระสูตรนี้ที่กรุงสาวัตถี เวลานั้นเป็นเวลาใกล้เข้าพรรษา พระภิกษุทั้งหลายต่างพากันไปเฝ้าพระพุทธองค์ เพื่อขอเรียนกรรมฐานก่อนจะแยกย้ายไปหาสถานที่จำพรรษาบำเพ็ญพระกรรมฐาน ภิกษุหมู่หนึ่งรวมกันเป็นพวกได้ ๕๐๐ รูป เรียนพระกรรมฐานจากพระพุทธองค์แล้ว ได้ทูลลาไปแสวงหาเสนาสนะที่ชอบใจ ไม่ลำบากในการเข้าไปบิณฑบาต ภิกษุเหล่านั้นเดินทางมุ่งหน้าสู่เหนือไปไกลจนถึงหมู่บ้านใกล้ชายแดนแห่งหนึ่ง อยู่ป่าเชิงเขา ซึ่งทอดเทือกมาจากเขาหิมวันต์ มีป่าไม้สูงใหญ่ร่มรื่น มีสายน้ำลำธารใสเย็นไหลผ่าน แม้หมู่บ้านที่จะอาศัยบิณฑบาตก็อยู่ไม่ไกลจากป่าแห่งนั้นมากนัก

หนังสือ "พุทธานุภาพ : อานุภาพของพระพุทธองค์ เรียนรู้พุทธธรรมจากพระพุทธมนต์ เพื่อชีวิตที่ดีงาม โดย พระครูปลัดสุวัฒนธีคุณ (เทอด ญาณวชิโร, วงศ์ชะอุ่ม) พิมพ์ครั้งที่ ๑๙ โดย กองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศ ฉบับธรรมทาน
หนังสือ “พุทธานุภาพ : อานุภาพของพระพุทธองค์ เรียนรู้พุทธธรรมจากพระพุทธมนต์ เพื่อชีวิตที่ดีงาม โดย พระครูปลัดสุวัฒนธีคุณ (เทอด ญาณวชิโร, วงศ์ชะอุ่ม) พิมพ์ครั้งที่ ๑๙ โดย กองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศ ฉบับธรรมทาน

ชาวบ้านเห็นหมู่ภิกษุเป็นจำนวนมากก็ดีใจเกิดเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง จัดภัตตาหารและนิมนต์ให้อยู่จำพรรษา พวกภิกษุเห็นว่าเสนาสนะสบาย หากอยู่จำพรรษาที่หมู่บ้านแห่งนี้ก็จะสะดวกไม่ลำบากในการบิณฑบาตและมีเวลาบำเพ็ญกรรมฐานได้เต็มที่ จึงตกลงจำพรรษาอยู่ที่นั่น ชาวบ้านต่างช่วยกันปลูกกุฎี ๕๐๐ หลัง ให้ภิกษุรูปละหลัง ภิกษุเหล่านั้น ต่างก็เริ่มทำความเพียรบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ตามโคนไม้โคนป่า ทั้งกลางวันและกลางคืน

ฝ่ายรุกเทวดาซึ่งสิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ราวป่าแห่งนั้น เคยอยู่สบายในวิมานบนต้นไม้ เมื่อเห็นภิกษุผู้ทรงศีลมานั่งอยู่ที่ใต้ต้นโคนไม้อันเป็นวิมานของตนเช่นนั้น ก็ไม่กล้าอยู่บนต้นไม้ซึ่งสูงกว่าพระภิกษุ จึงพาลูกลงจากวิมานมาอยู่ที่พื้นดิน ได้รับความลำบากเดือดร้อนเป็นอย่างมาก แต่ก็ทนด้วยความเข้าใจว่า ภิกษุเหล่านั้นพักอยู่สักสองสามวันแล้วก็คงจะไป ครั้นล่วงมาหลายวันก็ยังไม่ไป รุกขเทวดาจึงแน่ใจว่า ภิกษุเหล่านั้นต้องจำพรรษาอยู่ที่นั่นแน่ หากเป็นเช่นนั้น พวกตนจะต้องลำบากต่อไปอีกนาน จึงคิดอุบายที่จะให้ภิกาุเหล่านั้นไปจำพรรษาในที่อื่น

เมื่อคิดเช่นนี้ รุกขเทวดาจึงทำเป็นผีหลอกหลอนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุบำเพ็ญสมณธรรมในเวลากลางคืน เทวดาก็จะแสดงรูปยักษ์ที่น่าสะพรึงกลัวให้เห็นบ้าง ทำเสียงโหยหวนน่าหวาดเสียว น่าสยดสยองบ้าง ทำกลิ่นเหม็นสาบสางบ้าง พระภิกษุทั้งหลายได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่นั้น ในที่ที่ตนปฏิบัติธรรมก้พากันตกใจสะดุ้งกลัว จนผิวพรรณเศร้าหมองกลายเป็นโรคผอมเหลืองนอนไม่หลับ ไม่เป็นอันปฏิบัติธรรม บำเพ็ญกรรมฐาน ไม่สามารถข่มใจให้สงบลงได้

วันหนึ่งพระภิกษุเหล่านั้นออกจากที่ปฏิบัติธรรมของตนมาประชุมกัน พระมหาเถรในสงฆ์เห็นภิกษุเหล่านั้นต่างก็มีเนื้อตัวเศร้าหมองซูบซีดผอมเหลืองเช่นนั้นจึงถามถึงสาเหตุ พวกภิกษุต่างเล่าถึงสิ่วที่ตนประสบพบเห็นมาให้กันและกันฟัง จนไม่สามารถทำจิตใจให้เป็นสมาธิได้ จึงปรึกษากันว่า ควรสละพรรษาต้นกลับไปจำพรรษาหลังที่กรุงสาวัตถีกับพระพุทธองค์ตามเดิม

การจำพรรษาก็คือ การที่ภิกษุอธิษฐานจิตว่า จะไม่ไปค้างแรมที่อื่นตลอดไตรมาส ๓ เดือนในฤดูฝน เพื่อให้ภิกษุหยุดจาริก จะได้มีเวลาศึกษาและปฏิบัติธรรมได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ก็เพื่อที่จะได้ไม่เป็นการรบกวนชาวบ้าน ซึ่งต้องประกอบอาชีพทำนาปลูกข้าว

กราบขอบพระคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

ธรรมเนียมการเข้าพรรษาของพระภิกษุในพระพุทธศาสนานั้น มีพุทธานุญาตไว้เป็น ๒ คราว คือ

(๑) การเข้าพรรษาต้น เรียกว่า ปุริมิกาวัสสูปนายิกา เริ่มตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ เป็นต้นไป

(๒) การเข้าพรรษาหลัง เรียกว่า ปัจฉิมิกาวัสสูปนายิกา เริ่มตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ เป็นต้นไป

การเข้าพรรษาหลัง พระพุทธองค์ทรงอนุญาตไว้เป็นกรณีพิเศษสำหรับภิกษุที่มีเหตุขัดข้องเข้าพรรษาต้นไม่ทัน

พวกภิกษุเหล่านั้น จึงจำต้องละพรรษาต้นรีบกลับไปเฝ้าพระพุทธองค์ทูลให้ทรงทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในราวป่าแห่งนั้น พระพุทธองค์ตรัสว่า สถานที่ไหนก็ไม่มีเสนาสนะที่สบายเทาที่นั่น ทรงแนะนำให้พระภิกษุกลับไปที่นั่นอีก เมื่ออาศัยเสนาสนะนั้นแล้วก็สามารถปฏิบัติธรรมถึงความสิ้นกิเลสได้

พระพุทธองค์สอนให้ภิกษุเหล่านั้นเรียนพุทธมนต์อันเป็นทั้งอาวุธ เป็นเครื่องป้องกันและเป็นทั้งกรรมฐานสำหรับบริกรรม ให้แผ่เมตตาไปทั่ว ไม่เจาะจง ไม่มีขอบเขต ไม่มีประมาณ

พระพุทธองค์ทรงแนะนำว่า ภิกษุผู้อยู่ป่า ต้องรู้จักวิธีการรักษาตัว วิธีการดังกล่าวคือ

๑. ภิกษุต้องแผ่เมตตาวันละ ๒ ครั้ง

๒. เจริญพระปริตร ๒ ครั้งต่อวัน

๓. เจริญอสุภะ คือ พิจารณาร่างกายว่าเป็นของไม่สวยไม่งาม ๒ ครั้งต่อวัน

๔. เจริญมรณานุสติ คือ พิจารณาความตาย ๒ ครั้งต่อวัน

การปฏิบัติเช่นนี้ จึงจะชื่อว่า เป็นการจัดการป้องกันตนเอง

ภิกษุเหล่านั้น กลับไปยังราวป่านั้นอีกครั้ง ปฏิบัติตามที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำ ก่อนเข้าสู่ราวป่า ได้ร่วมกันสาธยายพระสูตรนั้น เทวดาทั้งหลายได้รับเมตตาจิตจากพระภิกษุเหล่านั้น เกิดความเยือกเย็น ยินดีปรีดา ทำความรู้สึกเหมือนภิกษุเหล่านั้นเป็นลูกในท้องของตนเอง ทำการต้อนรับด้วยความเอื้ออาทร ได้ทำการดูแลรักษาอย่างดี ภิกษุเหล่านั้น ไม่มีสิ่งใดรบกวนจึงเกิดความสงบ เจริญกรรมฐานได้บรรลุพระอรหัตภายในพรรษานั้นทุกรูป

 วัดเชตวันมหาวิหาร หรือ วัดพระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นวัดที่สร้างโดยท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี มหาเศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถี ซึ่งเป็นเมืองโบราณในสมัยพุทธกาล มีความสำคัญในฐานะที่เป็นเมืองหลวงของแคว้นโกศล ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
วัดเชตวันมหาวิหาร หรือ วัดพระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นวัดที่สร้างโดยท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี มหาเศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถี ซึ่งเป็นเมืองโบราณในสมัยพุทธกาล มีความสำคัญในฐานะที่เป็นเมืองหลวงของแคว้นโกศล ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

อานุภาพการป้องกัน

พุทธมนต์ที่พระพุทธองค์ทรงสอนภิกษุเหล่านั้นภาวนาเรียกว่า

กรณียเมตตสูตร

ปรากฏอยู่ในพระสุตันตปิฎก ขุทกนิกาย ขุทกปาฐะ

พระองค์ทรงแนะนำวิธีการใช้คาถานี้ว่า ก่อนจะเข้าสู่ราวป่าให้หยุดยืน ตั้งจิตแผ่เมตตาพร้อมกับสาธยายพระสูตรนี้ นอกจากเทวดาจะไม่แสดงสิ่งที่น่ากลัวหลอกหลอนแล้ว ยังจะมีใจอนุเคราะห์ภิกษุโดยไมตรีจิต

เมื่อต้องเดินผ่านป่าเขาลำเนาไพร หรือไปอยู่ในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย ท่านให้สวดกรณียเมตตสูตร เพื่อเป็นเครื่องคุ้มครองป้องกันภยันตรายอันจะเกิดจากอมนุษย์ภูติผีปีศาจทั้งหลาย ให้เกิดความอ่อนโยน มีเมตตา มีความรู้สึกเหมือนเราเป็นลูกเป็นหลาน

ในบทขัดตำนาน (บทเริ่มต้น) ท่านได้ประพันธ์เป็นคาถาแสดงอานุภาพกรณียเมตตสูตรไว้ว่า

“เทวดาทั้งหลาย ไม่แสดงอาการน่าสะพรึงกลัว เพราะอานุภาพแห่งพระปริตรที่ผู้ไม่เกียจคร้านเจริญอยู่เนืองๆ ทั้งในเวลากลางวัน และในเวลากลางคืน เมื่อหลับก็เป็นสุข ไม่ฝันร้าย เราทั้งหลายจงสวดพระปริตรที่ประกอบไปด้วยคุณดังกล่าวมาข้างต้นนั้น เทอญฯ ”

กรณียเมตตสูตร

กะระณียะมัตถะกุสะเลนะ ยันตัง สันตัง ปะทัง อะภิสะเมจจะ

สักโก อุชู จะ สุหุชู จะ สุวะโจ จัสสะ มุทุ อะนะติมานี

สันตุสสะโก จะ สุภะโร จะ อัปปะกิจโจ จะ สัลละหุกะวุตติ

 สันตินท์ริโย จะ นิปะโก จะ อัปปะคัพโภ กุเลสุ อะนะนุคิทโธ

นะ จะ ขุททัง สะมาจะเร กิญจิ เยนะ วิญญู ปะเร อุปะวะเทยยุง

 สุขิโน วา เขมิโน โหนตุ สัพเพ สัตตา ภะวันตุ สุขิตัตตา

เย เกจิ ปาณะภูตัตถิ ตะสา วา ถาวะรา วา อะนะวะเสสา

ทีฆา วา เย มะหันตา วา มัชฌิมา รัสสะกา อะณุกะถูลา

ทิฏฐา วา เย จะ อะทิฏฐา เย จะ ทูเร วะสันติ อะวิทูเร

ภูตา วา สัมภะเวสี วา สัพเพ สัตตา ภะวันตุ สุขิตัตตา

นะ ปะโร ปะรัง นิกุพเพถะ นาติมัญเญถะ กัตถะจิ นัง กิญจิ

พ์ยาโรสะนา ปะฏีฆะสัญญา นาญญะมัญญัสสะ ทุกขะมิจเฉยยะ

มาตา ยะถา นิยัง ปุตตัง อายุสา เอกะปุตตะมะนุรักเข

เอวัมปิ สัพพะภูเตสุ มานะสัมภาวะเย อะปะริมาณัง

เมตตัญจะ สัพพะโลกัส์มิง มานะสัมภาวะเย อะปะริมาณัง

อุทธัง อะโธ จะ ติริยัญจะ อะสัมพาธัง อะเวรัง อะสะปัตตัง

ติฏฐัญจะรัง นิสินโน วา สะยาโน วา ยาวะตัสสะ วิคะตะมิทโธ

เอตัง สะติง อะธิฏเฐยยะ พรัหมะเมตัง วิหารัง อิธะมาหุ

ทิฏฐิญจะ อะนุปะคัมมะ สีละวา ทัสสะเนนะ สัมปันโน

กาเมสุ วิเนยยะ เคธัง นะ หิ ชาตุ คัพภะเสยยัง ปุนะเรตีติ

คำแปล

ภิกษุผู้บำเพ็ญสมณธรรมอยู่กลางป่า เป็นผู้ฉลาดในประโยชน์ ปรารถนาจะบรรลุเส้นทางแห่งความสงบระงับ พึงทำตนให้เป็นผู้มีความอาจหาญ และซื่อตรงด้วยดี เป็นผู้ว่านอนสอนง่าย อ่อนโยนไม่เย่อหยิ่ง

อีกทั้งเป็นผู้สันโดษ เลี้ยงง่าย และมีภาระหน้าที่น้อย มีความประพฤติไม่เป็นที่หนักอกหนักใจ มีอินทรีย์สงบ มีปัญญารักษาตน ไม่คึกคะนอง ไม่คลุกคลีในสกุลทั้งหลาย

ทั้งไม่ประพฤติตัวลามกเสียหายอะไรๆ อันจะเป็นเหตุให้ท่านผู้รู้ติเตียนได้ แล้วแผ่เมตตาจิตไปในหมู่สัตว์ทั้งหลายว่า ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงเป็นผู้มีความสุขกายสบายใจ มีความปลอดโปร่งเถิด

สัตว์มีชีวิตทั้งหลายทุกหมู่เหล่าบรรดามี ที่ยังดิ้นรนเพราะตัณหาก็ดี หรือเป็นผู้มั่นคง คือสิ้นตัณหาแล้วก็ดี ไม่ว่าจะเป็นสัตว์มีลำตัวยาวหรือสัตว์ใหญ่ก็ดี มีลำตัวปานกลางหรือตัวสั้นก็ดี ทั้งตัวเล็กและตัวโตก็ดี ตัวปานกลางหรือตัวเล็กก็ดี เป็นสัตว์มีกายละเอียด หรือมีกายหยาบก็ดี

ที่่สามารถมองเห็นได้ และมองเห็นไม่ได้ก็ดี ที่อยู่ไกลและใกล้ก็ดี ที่เกิดแล้ว หรือกำลังแสวงหาที่เกิดอยู่ก็ดี ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงเป็นผู้มีความสุขเถิด

คนเรา ไม่ควรข่มเหงน้ำใจโกหกหลอกลวงผู้อื่่น ไม่ควรดูหมิ่นเหยียดหยามกันและกัน เพราะเหตุแห่งความโกรธแค้นขุ่นเคืองและคิดมุ่งร้ายอยู่ในใจ

มารดาทนุถนอมบุตรน้อยคนเดียวของตนราวกับชีวิตฉันใด พึงให้เมตตาจิตแผ่กว้างออกไปไม่มีประมาณในสังต์ทั้งปวง ฉันนั้น

และพึงแผ่เมตตาจิตไปไม่จำกัดประมาณ ไร้พรมแดน ไม่ผูกเวร ไม่ก่อศัตรู แผ่กว้างออกไปในสัตว์โลกทั้งสิ้น ทั้งในอรูปภูมิเบื้องบน รูปภูมิท่ามกลาง และกามาวจรเบื้องต่ำ

ผู้เจริญเมตตาจิตเช่นนี้นั้น ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด จะยืน เดิน นั่ง หรือนอนอยู่ก็ตาม จะเป็นผู้ปราศจากความท้อแท้เหนื่อยหน่าย จะตั้งสติไว้ได้นานตราบเท่าที่ต้องการ พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสการอยู่ด้วยเมตตา เช่นนี้ว่า เป็นความประพฤติที่ประเสริฐ ในพระศาสนานี้

บุคคลผู้แผ่เมตตาจิตนั้น ละความเห็นผิดเสียได้ เป็นผู้มีศีล มีความเห็นชอบ กำจัดความยินดีในกามทั้งหลายเสียได้ ย่อมไม่กลับมาเกิดในครรภ์อีกครั้งแน่นอน ฯ

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ผู้เขียน และเรียบเรียงหนังสือ ทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับคณะสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑๖ ปีพ.ศ.๒๕๕๔ และ หนังสือ พุทธานุภาพ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑๙ จัดพิมพ์โดยกองทุนพุทธานุภาพ ปีพ.ศ. ๒๕๕๒
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ผู้เขียนและเรียบเรียงหนังสือ ทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับคณะสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑๖ ปีพ.ศ.๒๕๕๔ และ หนังสือ พุทธานุภาพ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑๙ จัดพิมพ์โดยกองทุนพุทธานุภาพ ปีพ.ศ. ๒๕๕๒

จาก หนังสือ “ทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับคณะสงฆ์ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เรียบเรียงโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์โดย กองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร พิมพ์ครั้งที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔ (ฉบับธรรมทาน)

และ หนังสือ “พุทธานุภาพ : อานุภาพของพระพุทธองค์ เรียนรู้พุทธธรรมจากพระพุทธมนต์ เพื่อชีวิตที่ดีงาม โดย พระครูปลัดสุวัฒนธีคุณ (เทอด ญาณวชิโร, วงศ์ชะอุ่ม) พิมพ์ครั้งที่ ๑๘
โดย กองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศ ฉบับธรรมทาน

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here