ก่อนจะถึงช่วงเวลาส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ในพิธีเจริญพระพุทธมนต์ข้ามปี เพื่อเสริมสิริมงคลตลอดปี ๒๕๖๓ ที่กำลังจะมาถึงในอีกสัปดาห์กว่าๆ ข้างหน้านี้ เพื่อให้เราท่านได้ซึมซับกับบทสวดเจริญพระพุทธมนต์แต่ละบท ซึ่งมีนัยสำคัญทั้งที่มาและพลังการสวดมนต์ที่จะทำให้เกิดอานุภาพดังกล่าว จึงขอเล่าประวัติความเป็นมาของพระพุทธมนต์แต่ละบทจาก

หนังสือ "ทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับคณะสงฆ์ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร"  เรียบเรียงโดย พระราชกิจจาภรณ์(เทอด ญาณวชิโร)  ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔ (ฉบับธรรมทาน)
หนังสือ “ทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับคณะสงฆ์ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร” เรียบเรียงโดย พระราชกิจจาภรณ์(เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔ (ฉบับธรรมทาน)

หนังสือ “ทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับคณะสงฆ์ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร” เรียบเรียงโดย พระราชกิจจาภรณ์(เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔ (ฉบับธรรมทาน)

และ หนังสือ “พุทธานุภาพ : อานุภาพของพระพุทธองค์ เรียนรู้พุทธธรรมจากพระพุทธมนต์เพื่อชีวิตที่ดีงาม” พิมพ์ครั้งที่ ๑๙ โดย พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ (เทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)

หนังสือ "พุทธานุภาพ : อานุภาพของพระพุทธองค์ เรียนรู้พุทธธรรมจากพระพุทธมนต์เพื่อชีวิตที่ดีงาม" พิมพ์ครั้งที่ ๑๘ โดย พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ (เทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) ฉบับธรรมทาน
หนังสือ “พุทธานุภาพ : อานุภาพของพระพุทธองค์ เรียนรู้พุทธธรรมจากพระพุทธมนต์เพื่อชีวิตที่ดีงาม” พิมพ์ครั้งที่ ๑๘ โดย พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ (เทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) ฉบับธรรมทาน

การสวดมนต์เริ่มต้นมาอย่างไร

โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

         การเจริญพระพุทธมนต์เริ่มต้นมาจากการศึกษาเล่าเรียนพระพุทธพจน์ เพื่อทรงจำและสืบต่อคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ พระสงฆ์สาวกสมัยพุทธกาลได้นำพระสูตรต่างๆ มาสวดสาธยายในรูปแบบการบริกรรมภาวนาให้เกิดเป็นสมาธิ พระสูตรนั้นๆ จึงเรียกว่า “พระพุทธมนต์”

เมื่อบริกรรมภาวนาพระพุทธพจน์จนจิตเป็นสมาธิ  ย่อมเกิดอานุภาพในด้านต่างๆ  เช่น ทำให้เกิดสิ่งดีงามขึ้น ทั้งในชีวิต หน้าที่การงาน สุขภาพ และครอบครัว ในขณะเดียวกัน ก็จะต้านทานสิ่งที่ไม่ดีออกไปจากชีวิต

ต่อมา จึงมีผู้นิยมนำพระพุทธพจน์มาใช้เป็นพระพุทธมนต์ เพื่อต้านทานสิ่งไม่ดีทั้งหลาย  พระพุทธมนต์จึงถูกเรียกว่า “พระปริตร”  แปลว่า  เครื่องต้านทาน  ป้องกัน  รักษา

พระพุทธมนต์ที่มีอานุภาพในการต้านทาน คุ้มครอง ป้องกัน  รักษา จึงถูกเรียกว่า พระปริตร  ไปด้วย

         การศึกษาเล่าเรียนพระพุทธพจน์ในครั้งพุทธกาลนั้น  ใช้วิธีเรียนแบบบอกปากต่อปาก  แล้วจดจำสวดสาธยายต่อๆ  กันมา  เรียกว่า   “มุขปาฐะ”  วิธีเล่าเรียนพระพุทธพจน์ที่เรียกว่า มุขปาฐะนี้  พระสงฆ์สาวกใช้มาตั้งแต่สมัยพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่  โดยพระสงฆ์ในสมัยนั้นแบ่งหน้าที่กันท่องเป็นหมู่คณะตามความถนัด 

พระอุบาลีเถระทำหน้าที่ทรงจำพระวินัย  พระภิกษุผู้สนใจเกี่ยวกับพระวินัยก็เรียนพระวินัยจากพระอุบาลีเถระ 

พระอานนท์เถระทรงจำพระสูตร  พระภิกษุผู้สนใจเกี่ยวกับพระสูตรก็เรียนพระสูตรต่อจากพระอานนท์เถระ 

พระสารีบุตรเถระทรงจำพระอภิธรรม  พระภิกษุผู้สนใจเกี่ยวกับพระอภิธรรมก็เรียนพระอภิธรรมต่อจากพระสารีบุตรเถระ

แล้วก็ร่วมกันสวด สาธยายเป็นหมู่คณะๆ  ตามโอกาส แม้ที่พักอาศัยก็จะอยู่รวมกันเป็นคณะ เพื่อสะดวกต่อการร่วมกันสวดสาธยายพระพุทธพจน์ที่ตนถนัด 

การสืบต่อพระพุทธพจน์ที่เรียกว่ามุขปาฐะครั้งพุทธกาล เช่น  นามว่า โสณกุฏิกัณณะ เดินทางจากชนบทห่างไกลมาเฝ้าพระพุทธเจ้า  ทรงรับสั่งให้พระเถระพักอยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกับพระองค์  พอตกดึก จึงให้ท่านสวดพระสูตรให้สดับ  พระเถระสวดพระสูตรให้พระพุทธองค์ สดับถึง  ๑๖  สูตรก็พอดีสว่าง 

เมื่อพระพุทธองค์ประชวรก็ได้ให้พระมหาจุนทะสวดโพชฌงคสูตรให้สดับ  จนหายจากอาการประชวร 

          นอกจากนั้น  ในพระวินัยปิฎกยังระบุไว้ว่า  ในอาวาสที่มีพระภิกษุจำพรรษาอยู่มากรูป จะต้องให้มีพระภิกษุสวด พระปาติโมกข์ คือ การสวดทบทวนศีล ๒๒๗ ข้อของพระสงฆ์ได้หนึ่งรูปเป็นอย่างน้อย  หากไม่มีจะต้องขวนขวายส่งไปเรียนยังสำนักที่มีผู้สวดได้ หากไม่ทำเช่นนั้นก็จะปรับอาบัติแก่เจ้าอาวาสเพราะโทษที่ไม่ใส่ใจจะให้มี ผู้ทรงจำพระปาติโมกข์ 

          แสดงให้เห็นว่า สมัยพุทธกาลนั้น พระสงฆ์ได้มีการนำ   พระพุทธพจน์มาท่องบ่นสาธยายกันเป็นกิจวัตรอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)

กำเนิดการสวดมนต์ข้ามปี

ขอเล่าจากคอลัมน์ หมายเหตุพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ซึ่งท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เมตตาเขียนบทความให้ในเรื่อง “น้อมถวายพระราชกุศลฯ เจริญพระพุทธมนต์ข้ามปี ” ตอนหนึ่งว่า การสวดมนต์ข้ามปีนั้นเป็นประเพณีนิยมของชาวไทยมาแต่เดิม โดยก่อนสิ้นปี พระสงฆ์จะไปเจริญพระพุทธมนต์บทนพเคราะห์ ที่กรมประชาสัมพันธ์ จากนั้น ก็จะรอเวลาเที่ยงคืนเพื่อเจริญพระพุทธมนต์บทชัยมงคลคาถา ออกอากาศไปทั่วประเทศ ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย

           ต่อมา ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๗ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์  (เกี่ยว อุปเสโณ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ในครั้งนั้น  ได้นำคณะสงฆ์วัดสระเกศ ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ข้ามปีขึ้น  ณ พระอุโบสถ วัดสระเกศ โดยอนุวัติตามโบราณพระราชประเพณีแห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เคยประกอบพิธีในช่วงเทศกาลสงกรานต์ อันเป็นประเพณีปีใหม่ของไทยที่มีมาแต่เดิม 

           และ ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๙ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ได้เห็นความสำคัญของการสวดมนต์ข้ามปี จึงได้ร่วมกับคณะสงฆ์วัดสระเกศ จัดสวดมนต์ข้ามปีขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นแห่งแรก  ต่อมา คณะสงฆ์มีความเห็นร่วมกันว่า การสวดมนต์ข้ามปีเป็นที่นิยมของประชาชนอย่างแพร่หลาย อีกทั้งเป็นค่านิยมที่งดงาม ควรแก่การส่งเสริม ที่ประชุมมหาเถรสมาคม เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๓ ณ ตำหนักสมเด็จฯ วัดสระเกศ จึงได้มีมติให้วัดทุกวัดจัดสวดมนต์ข้ามปี โดยมีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นศูนย์กลางการอำนวยการ และให้วัดเจ้าคณะจังหวัดเป็นศูนย์กลางการสวดมนต์ของจังหวัดนั้น ๆ 

จนกระทั่งการสวดมนต์ข้ามปีได้กลายเป็นประเพณีวัฒนธรรมเคาท์ดาวน์ในแบบฉบับของชาวพุทธยุคใหม่ไปแล้ว

ขอขอบคุณ ภาพจากวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
ขอขอบคุณ ภาพจากวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

พระพุทธมนต์สำหรับผู้ที่เกิดวันอาทิตย์

โมรปริตร : อานุภาพแห่งความแคล้วคลาดปลอดภัย

วัฏฏกปริตร : อานุภาพแห่งการป้องกันไฟไหม้

โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

โมรปริตร : เพื่อความแคล้วคลาดปลอดภัย

พระสุตันตปิฎก โมรชาดก ทุกนิบาต และอรรถกถาชาดก

โมรปริตรเป็นพระปริตรที่กล่าวถึงคุณของพระพุทธเจ้าในอดีตทั้งหลาย แล้วน้อมเอาพระพุทธคุณให้เกิดเป็นพุทธานุภาพปกป้องคุ้มครองให้มีความสวัสดีแคล้วคลาดปลอดภัย การสวดโมรปริตร ก็เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแคล้วคลาดปลอดภัยจากภยันตรายทั้งหลาย แม้ศัตรูมุ่งร้ายก็ไม่อาจทำอันตรายได้

โมรปริตร

อุเทตะยัญจักขุมา เอกะราชา
หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส
ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะฐะวิปปะภาสัง
ตะยัชชะ คุตตา วิหะเรมุ ทิวะสัง
เย พ๎ราห๎มะณา เวทะคุ สัพพะธัมเม
เต เม นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ
นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา
นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา
อิมัง โส ปะริตตัง กัต๎วา โมโร จะระติ เอสะนา ฯ

อะเปตะยัญจักขุมา เอกะราชา
หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส
ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะฐะวิปปะภาสัง
ตะยัชชะ คุตตา วิหะเรมุ รัตติง
เย พ๎ราห๎มะณา เวทะคุ สัพพะธัมเม
เต เม นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ
นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา
นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา
อิมัง โส ปะริตตัง กัต๎วา โมโร วาสะมะกัปปะยีติ ฯ

คำแปล

(เมื่อพระอาทิตย์อุทัยยามรุ่งอรุณ นกยูงสวดพระปริตรว่า )

“พระอาทิตย์อุทัยขึ้นมาเป็นดวงตาของโลก เป็นเจ้าแห่งแสงสว่าง กำลังสาดแสงสีทอง ส่องผืนปฐพี ข้พเจ้าขอนอบน้อมพระอาทิตย์ ซึ่งสาดแสงสีทองส่องผืนปฐพี ขอท่านจงคุ้มครองข้าพเจ้าทั้งหลาย ให้อยู่เป็นสุข ตลอดกลางวัน ในวันนี้

“ท่านเหล่าใดละบาปได้แล้ว รู้ธรรมทั้งปวงหมดทุกอย่าง ขอท่านผู้ไม่มีบาปเหล่านั้น จงรับความนอบน้อมของข้าพเจ้า ท่านผู้ไม่มีบาปทั้งหลาย โปรดรักษาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขอนอบน้อมพระโพธิญาณ ขอนอบน้อมท่านผู้หลุดพ้นแล้วทั้งหลาย ขอนอบน้อมแด่วิมุตติธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง “

นกยูงสวดพระปริตรนี้แล้ว จึงเที่ยวไปแสวงหาอาหาร

(เมื่อพระอาทิตย์ตกยามเย็น นกยูงได้สวดพระปริตรว่า )

“พระอาทิตย์อุทัยขึ้นมาเป็นดวงตาของโลก เป็นเจ้าแห่งแสงสว่าง สาดแสงสีทองส่องผืนปฐพีกำลังอัสดงแล้ว ข้พเจ้าขอนอบน้อม พระอาทิตย์ ซึ่งสาดแสงสีทองส่องผืนปฐพี ขอท่านจงคุ้มครองข้าพเจ้าทั้งหลาย ให้อยู่เป็นสุข ตลอดราตรีค่ำคืนวันนี้

ท่านเหล่าใดละบาปได้แล้ว รู้ธรรมทั้งปวงหมดทุกอย่าง ขอท่านผู้ไม่มีบาปเหล่านั้น จงรับความนอบน้อมของข้าพเจ้า ท่านผู้ไม่มีบาปทั้งหลาย โปรดรักษาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขอนอบน้อมพระโพธิญาณ ขอนอบน้อมท่านผู้หลุดพ้นแล้วทั้งหลาย ขอนอบน้อมแด่วิมุตติธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง ”

นกยูงสวดพระปริตรนี้แล้ว จึงพักผ่อนหลับนอน

วัฏฏกปริตร : เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดไฟไหม้

พระสุตันตปิฎก จริยาปิฎก , วัฏฏกชาดก อรรถกถาชาดก

อัตถิ โลเก สีละคุโณ สัจจัง โสเจยยะนุททะยา
เตนะ สัจเจนะ กาหามิ สัจจะกิริยะมะนุตตะรัง
อาวัชชิตวา ธัมมะพะลัง สะริตวา ปุพพะเก ชิเน
สัจจะพะละมะวัสสายะ สัจจะกิริยะมะกาสะหัง
สันติ ปักขา อะปัตตะนา สันติปาทา อะวัญจะนา
มาตา ปิตา จะ นิกขันตา ชาตะเวทะ ปะฏิกกะมะ
สะหะ สัจเจ กะเต มัยหัง มะหาปัชชะลิโต สิขี
วัชเชสิ โสฬะสะกะรีสานิ อุทะกัง ปัตวา ยะถา สิขี
สัจเจนะ เม สะโม นัตถิ เอสา เม สัจจะปาระมีติฯ

คำแปล

คุณคือศีล สัจจะ ชีวิตที่สะอาด และความเอื้ออาทรมีอยู่ในโลก ด้วยความสัตย์นั้น ข้าพเจ้าจักทำสัจกิริยาอย่างยอดเยี่ยม

ข้าพเจ้าขอน้อมรำลึกถึงพลานุภาพแห่งพระสัทธรรม น้อมรำลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ทรงพิชิตมารในอดีต ได้ทำสัจกิริยา ยึดมั่นในกำลังแห่งสัจจะที่ข้าพเจ้ามีอยู่ จึงขอทำสัจกิริยาว่า

ปีกทั้งสองข้างของข้าพเจ้ามีอยู่ แต่ก็ยังไม่แข็งแรงพอที่จะบินได้ เท่้าทั้งสองข้างของข้าพเจ้ามีอยู่ แต่ก็ยังไม่แข็งแรงพอที่จะเดินได้ พ่อแม่ก็พากันบินหนีไฟออกไปเสียแล้ว พระเพลิงเอ๋ย ขอท่านจงดับเสียเถิด

พร้อมกับเมื่อข้าพเจ้ากระทำสัจกิริยา เปลวเพลิงที่ลุกโชนรุ่งโรจน์ใหญ่หลวงนัก ก็กลับเว้นที่ไว้ ๑๒ กรีส เหมือนเปลวไฟตกถึงน้ำแล้วมอดดับ ฉะนั้น

ไม่มีผู้ใดเสมอด้วยสัจจะของข้าพเจ้า นี้คือสัจบารมีของข้าพเจ้า

อานุภาพการป้องกัน

เรื่องราวในอดีตชาติของพระพุทธองค์ เมื่อครั้งถือกำเนิดเป็นลูกนกคุ่ม แล้วทำพระปริตรป้องกันตนเองจากไฟป่า ปรากฎอยู่ในพระสุตันตปิฎก และวัฏฏกชาดก อรรถกถาชาดก

วัฏฏกปริตรเป็นพระปริตรที่กล่าวอ้างคุณคือศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ และสัจจะของพระพุทธเจ้าในอดีตทั้งหลาย แล้วน้อมเอาพระคุณดังกล่าว ให้เกิดเป็นพุทธานุภาพปกป้องคุ้มครองอันตราย อันจะเกิดจากไฟทั้งหลาย ให้เกิดความสุขสวัสดีแก่ชีวิต การสวดคาถานี้ก็เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายอันจะเกิดจากไฟ (ป้องกันอัคคีภัย) เวลาทำบุญขึ้นบ้านใหม่ เปิดสถานที่ เปิดโรงงาน เปิดสำนักงาน พระท่านนิยมสวดวัฏฏกปริตรนี้

ในบทขัดตำนานท่านได้ประพันธ์เป็นคาถา แสดงอานุภาพวัฏฏกปริตรไว้ ดังนี้

“ด้วยเดชแห่งพระปริตรใด ไฟไหม้ป่าเว้นที่ไว้ให้พระมหาโพธิสัตว์ ผู้เกิดในกำเนิดนกคุ่ม ผู้กำลังบำเพ็ญบารมี เพื่อสร้างโพธิสมภาร ขอพวกเราจงสวดพระปริตร ซึ่งมีเดชมากมาย ดำรงอยู่ตลอดกัป ซึ่งพระโลกนาถเจ้าตรัสแก่พระสารีบุตรเถระนั้น เทอญฯ”

ความเป็นมาและอานุภาพแห่งการสวดมนต์ข้ามปี (๑) โมรปริตร และ วัฏฏกปริตร พระพุทธมนต์บทสวดสำหรับท่านที่เกิดวันอาทิตย์ โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ผู้เขียน และเรียบเรียงหนังสือ ทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับคณะสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑๖ ปีพ.ศ.๒๕๕๔ และ หนังสือ พุทธานุภาพ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑๙ จัดพิมพ์โดยกองทุนพุทธานุภาพ ปีพ.ศ. ๒๕๕๒
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ผู้เขียนและเรียบเรียงหนังสือ ทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับคณะสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑๖ ปีพ.ศ.๒๕๕๔ และ หนังสือ พุทธานุภาพ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑๙ จัดพิมพ์โดยกองทุนพุทธานุภาพ ปีพ.ศ. ๒๕๕๒

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here