เรียนรู้ปฏิปทาพระเถระแห่งยุคสมัย ผู้ได้บำเพ็ญหิตานุหิตประโยชน์เพื่อประเทศชาติ พระพุทธศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์จนลมหายใจสุดท้ายในร่มกาสาวพัสตร์

“ปูชา จ ปูชนียานํ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ.

ขอนอบน้อมแด่ครู พระอุปัฌชาย์ อาจารย์

ผู้ให้ชีวิตในพระศาสนาของพระพุทธองค์ ด้วยเศียรเกล้าฯ”

ร่องรอยความทรงจำแห่งอดีต บอกเล่าปฏิปทาในการครองตน ครองคน ครองงาน เพื่อจรรโลงความดีงาม ตามครรลอง “วิถีแห่งผู้นำ”

วิถีแห่งผู้นำ

: สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)

๙๕. ปฐมบทพระธรรมทูตอาสา

เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

สำหรับตอนนี้ ผู้เขียนเล่าย้อนไปถึงจุดกำเนิด “พระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวดชายแดนใต้ ” ซึ่งมีที่มาจากความทุกข์  ความเป็นอยู่อย่างลำบากของพระและชาวพุทธในชายแดนภาคใต้  อันเกิดจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  ส่งผลให้การดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่เกิดความไม่ปลอดภัย จึงมีเสียงเรียกร้องขอความช่วยเหลือมายังหลวงพ่อสมเด็จฯ ซึ่งในขณะนั้น ได้ตั้งสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ แล้ว โดยดำเนินการในปี พ.ศ. ๒๕๕๒  พอเข้าสู่ปี พ.ศ. ๒๕๕๓ หลวงพ่อสมเด็จฯ ได้ลงนามในคำสั่ง  ก่อตั้งพระธรรมทูตชายแดนใต้ขึ้นมา จึงเรียกว่า  “พระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนใต้”  เพื่อให้ไปดำเนินการฝึกอบรมพระ  และส่งพระลงไปฝึกอบรมรุ่นแรกในปีนั้น จึงเป็นปฐมบทการทำงานของคณะทำงานก่อตั้งพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัด ชายแดนใต้ขึ้นมา นกระทั่งดำเนินการมาถึงปี พ.ศ. ๒๕๕๘  สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ  ยังได้เสนอมหาเถรสมาคมให้สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ  มีการจัดตั้งศูนย์ขับเคลื่อนความมั่นคงพระพุทธศาสนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมาอีกด้วย  

๙๕. ปฐมบทพระธรรมทูตอาสา      

              ก่อนที่จะเกิดพระธรรมทูตอาสา  สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่สำคัญคือ  เกิดความรุนแรงในภาคใต้  จนสืบเนื่องมาถึงประมาณปีพ.ศ. ๒๕๕๙  ที่มีเด็กผู้หญิงถูกฆ่า  และพระที่วัดสระเกศฯ คือ ท่านพระมหาธนเดช ธมฺมปญฺโญ  ได้ไปช่วยงานที่ภาคใต้อยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๙  ซึ่งมีเหตุการณ์หลายอย่างในภาคใต้ที่นำมาสู่ความรุนแรงอย่างต่อเนื่องในพื้นที่  และต่อมาก็มีเหตุระเบิดที่วัดพรหมนิวาส  ตำบลบางนาค อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส  ซึ่งพระครูวิสิฐพรหมคุณ (สมชาย โชติวโร) เป็นเจ้าอาวาส   ในตอนนั้นวัดพรหมนิวาสได้รับความเสียหายมาก   ท่านสมชายเองก็ได้รับบาดเจ็บสาหัส หลังจากนั้นท่านก็มาพบกับหลวงพ่อสมเด็จฯ  ได้เล่าถึงความทุกข์  ความเป็นอยู่อย่างลำบากของพระและชาวพุทธในชายแดนภาคใต้  

คราวนั้นหลวงพ่อสมเด็จฯ ได้ให้พระพุทธรูป  และปัจจัยเพื่อไปช่วยบูรณะวัดที่ได้รับความเสียหายศาลาที่ยังไม่แล้วเสร็จ  ปรับปรุงบูรณะวัดขึ้นมาเป็นเบื้องต้น  เหตุการณ์ต่างๆ ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุด  ยังมีเหตุการณ์ความรุนแรงสืบเนื่องมาโดยตลอด

              จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๕๑ หลวงพ่อสมเด็จฯ ตั้งสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์  แต่ดำเนินการในปี พ.ศ. ๒๕๕๒  พอเข้าสู่ปี พ.ศ. ๒๕๕๓  เสียงเรียกร้องในการที่จะให้ช่วยเหลือในชายแดนใต้ก็ยังมีมาตามลำดับ  จนหลวงพ่อสมเด็จฯ ได้ลงนามในคำสั่ง  ก่อตั้งพระธรรมทูตชายแดนใต้ขึ้นมา  เรียกว่า  “พระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนใต้”  เพื่อให้ไปดำเนินการฝึกอบรมพระ  และส่งพระลงไปฝึกอบรมรุ่นแรกในปี พ.ศ.๒๕๕๓  จึงเป็นปฐมบทการทำงานของคณะทำงานก่อตั้งพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัด ชายแดนใต้  ตามประกาศคำสั่ง เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๓ ลงนามโดย  เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์  ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช  อันเกิดจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  ส่งผลให้การดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก  เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตของประชาชนในพื้นที่ 

พระสงฆ์และประชาชนผู้นับถือพระพุทธศาสนาขาดกำลังใจ  ไม่สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้  อย่างที่เคยปฏิบัติ  เพื่อให้ประชาชนมีที่ยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจ  และส่งเสริมความมั่นคงแห่งสถาบันพระพุทธศาสนา  ให้ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างมีสันติสุข  จึงก่อเกิด พระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนใต้  ขึ้นมาอย่างเป็นทางการ

              สืบเนื่องจากเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๑ ได้มีคำสั่งจัดตั้งโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์  เพื่อให้เป็นหน่วยงานของคณะสงฆ์ในการทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา  โดยมีคณะกรรมการดำเนินงาน  ประกาศคำสั่ง  เมื่อวันที่ ๑ เดือน ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ลงนามโดย  เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์  ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

              การให้มีคำสั่งจัดตั้งโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ  จึงเป็นการ “ออกคำสั่ง” เพื่อตั้งคณะกรรมการดำเนินงานการเผยแผ่พระพุทธศาสนา  ตามความในมาตรา ๑๕ ตรี (๓) และวรรคสอง  เพราะผู้ลงนามคือ  ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช  เป็นการปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช  มีอำนาจลงนามในพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชได้  พร้อมทั้งปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการมหาเถรสมาคม ตามมาตรา ๘ และมาตรา ๑๒

              ในเวลาต่อมามหาเถรสมาคมได้ออกมติเพื่อให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุก  มติมหาเถรสมาคม ที่ ๔๑๒/๒๕๕๖  ในคราวประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๒๐/๒๕๕๖  “เห็นชอบให้สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์  เป็นหน่วยงานของคณะสงฆ์ในการสนับสนุนในการดำเนินภารกิจด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุก”

              และเมื่อมหาเถรสมาคมได้มีมติให้สำนักงานส่งเสริมเป็นหน่วยงานเผยแผ่เชิงรุกของคณะสงฆ์แล้ว ต่อมาจึงได้มีมติมหาเถรสมาคม ที่ ๔๘๗/๒๕๕๘ ในการประชุมมหาเถรสมาคมครั้งที่ ๒๐/๒๕๕๘  เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานเข้ามาบริหารงานสำนักงานแห่งนี้  ให้เป็นคณะกรรมการดำเนินงานตามมติมหาเถรสมาคม  โดยมีพระสงฆ์จากวัดต่างๆ รวม ๒๑ รูป ซึ่งมีพระพรหมสิทธิ วัดสระเกศฯ  เป็นประธานดำเนินงาน  มีพระพรหมเสนาบดี (พิมพ์ ญาณวีโร) วัดปทุมคงคา กรุงเทพฯ  พระธรรมวิสุทธาจารย์ (คูณ ขนติโก) วัดหนองแวง จังหวัดขอนแก่น  เป็นรองประธาน  พระเมธีสุทธิกร (สังคม สังฆพัฒน์) วัดสระเกศฯ เป็นกรรมการ  และมีพระวิจิตรธรรมาภรณ์ (เทอด วงศ์ชะอุ่ม) เป็นกรรมการและเลขานุการ  พระศรีคุณาภรณ์ (บุญทวี คำมา) พระครูสิริวิหารการ (สมจิตร จันทร์ศรี) วัดสระเกศฯ  เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

 ในการดำเนินการในปีนั้น  มีการฝึกอบรมพระธรรมทูตขึ้นมา  แต่ว่าเป็นการร่วมมือระหว่างรัฐบาล สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และมหาเถรสมาคม ได้ร่วมกันดำเนินการ  โดยรัฐบาลได้ขอร้องมาที่ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้เป็นผู้ตั้งเรื่องเข้ามาที่มหาเถรสมาคม  หลังจากนั้นก็ได้ดำเนินการในปี พ.ศ.๒๕๕๒ – ๒๕๕๕  สืบเนื่องมา ๓ ปี  โดยในปี พ.ศ.๒๕๕๖ ก็ยังดำเนินการอยู่

 หลังจากที่ฝึกอบรมพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนใต้ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒- ๒๕๕๕ ก็มีพระธรรมทูตเกิดขึ้น ๒๖๐ กว่ารูป  หลังจากนั้นจึงได้รวมกลุ่มพระธรรมทูตทั้ง ๓ รุ่น  ประชุมกันในการจัดตั้งองค์กรขึ้นมา  มีการบริหารกันเองในชายแดนภาคใต้  โดยพระธรรมทูตได้มีการประชุมกัน  คัดเลือกประธานเครือข่ายพระธรรมทูตในแต่ละจังหวัด  และมีการคัดเลือกประธานพระธรรมทูตทั้ง ๕ จังหวัดขึ้นมา จึงเป็นองค์กรพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา  และ ได้มีการเขียนแผนยุทธศาสตร์ในการดำเนินการต่างๆ ตามมา 

ส่วนงบประมาณนั้น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้มีการจัดตั้งงบประมาณให้เป็นการเฉพาะ  จนกระทั่งดำเนินการมาถึงปี พ.ศ. ๒๕๕๘  สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ  ยังได้เสนอมหาเถรสมาคมให้สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ  มีการจัดตั้งศูนย์ขับเคลื่อนความมั่นคงพระพุทธศาสนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมา 

              เพราะฉะนั้น การดำเนินการฝึกอบรมพระธรรมทูตอาสาจึงได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๓ – ๒๕๕๗ เป็นต้นมา

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ๙๕. ปฐมบทพระธรรมทูตอาสา เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here