ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน
ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน

“ ศึกษาพระธรรม ด้วยการฟังเทศน์

และอ่านหนังสือธรรมะ ”

จดหมายถึงโยมพ่อใหญ่-โยมแม่ใหญ่ ฉบับที่ ๑

(ตอนที่ ๓)

จากธรรมนิพนธ์เรื่อง

“หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน”

โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

คำนำผู้เขียน

ความตั้งใจเดิมมาจากการที่ผู้เขียนเห็นว่า ปู่กับย่า มีอายุมากแล้ว ผู้มีอายุย่าง ๘๐ ปี ไม่ต่างอะไรจากไม้ใกล้ฝั่ง จึงคิดจะให้ปู่กับย่ามีธรรมะได้อ่านได้ฟัง จะได้เป็นที่พึ่งทางใจยามวัยชรา

โดยมีความมุ่งหวังว่า แม้โยมปู่กับโยมย่าจะไปทำบุญที่วัดไม่ได้ เหมือนเมื่อครั้งร่างกายยังแข็งแรง แต่ก็สามารถทำบุญอยู่กับบ้านได้ตลอดทั้งวัน

การเข้าวัดฟังธรรมดูเป็นการยากสำหรับวิถีชีวิตผู้คนในปัจจุบัน ด้วยภาระหน้าที่ทางสังคมที่สลับซับซ้อนมากขึ้น

หนังสือเล่มนี้ได้ทำหน้าที่บอกเล่า เรื่องการทำบุญและการปฏิบัติธรรมอย่างง่ายๆ ที่บุคคลทั่วไปสามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ตื่นนอนจวบจนหัวถึงหมอน ผ่านจดหมายธรรมะที่เขียนถึงปู่กับย่า ในระหว่างปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ – ๒๕๔๖

เหมาะสำหรับการดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบัน อยู่ที่บ้าน หรือที่ทำงานก็สามารถทำบุญได้ครบ ทั้งทาน ศีล ภาวนา

พระมหาเทอด ญาณวชิโร

มกราคม วันเริ่มต้นปีพุทธศักราช ๒๕๔๗

พระมหาเทอด ญาณวชิโร (ภาพในอดีต)
พระมหาเทอด ญาณวชิโร (ภาพในอดีต)

เจริญพรโยมพ่อใหญ่ โยมแม่ใหญ่ทั้งสอง

คราวที่แล้วอธิบายเรื่อง ทำบุญได้ตลอดวัน จากตื่นจนหัวถึงหมอน ว่าการทำบุญนั้น ไม่จำเป็นต้องไปขวนขวายแสวงบุญจากที่ไหน  เพราะบุญอยู่ในตัวเรา จึงควรขวนขวายแสวงบุญในตัวเรานี้แหละ  เราสามารถทำบุญได้ตลอดทั้งวัน ตั้งแต่ตื่นนอน   จวบจนเมื่อหัวถึงหมอน   โดยไม่จำเป็นต้องไปแสวงบุญจากที่ไหน

กายเป็นที่ตั้งแห่งบุญ   วาจาเป็นที่ตั้งแห่งบุญ   ใจเป็น ที่ตั้งแห่งบุญ  แสวงบุญจากกาย   วาจา   ใจ   ด้วยการทำดี พูดดี  คิดดี  ตลอดวัน  เราก็สามารถทำบุญได้ตลอดวัน

ฉบับนี้อธิบายเรื่อง…

ศึกษาพระธรรม ด้วยการฟังเทศน์ และอ่านหนังสือธรรมะ

หลังจากสำรวจศีลแล้วให้เปิดเทปธรรมะฟัง  เนื่องจาก ตอนเช้า เป็นเวลาเงียบสงบ และเราก็ได้นอนหลับมาเต็มที่ จิตยังผ่องใสจึงเหมาะแก่การฟังธรรม หรือจะเปิดหนังสือธรรมะอ่านสักหน้าสองหน้าก็ได้ แล้วแต่ความเหมาะสม

การฟังเทศน์นั้น ไม่จำเป็นต้องไปที่วัด แม้โยมทั้งสองไป ฟังเทศน์ที่วัดไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร ฟังเทปธรรมะหรืออ่านหนังสือธรรมะที่ส่งไปให้ ถือว่าเป็นการฟังเทศน์เหมือนกัน ขอให้ตั้งใจให้เป็นบุญเป็นกุศล ด้วยการนึกในใจว่า “ขอให้เข้าใจในธรรมของพระพุทธเจ้าตามเทปธรรมะที่กำลังฟัง หรือหนังสือที่กำลัง อ่าน”   เป็นอันใช้ได้   ไปวัดฟังเทศน์ด้วยหู แต่ใจไม่ได้ฟังด้วย ก็เหมือนไม่ได้ไป

ที่พูดนี้ ไม่ได้หมายความว่า การไปฟังเทศน์ที่วัดไม่จำเป็น แต่หมายความว่า หากเราไม่มีโอกาสไปฟังเทศน์ที่วัด เพราะสังขารร่างกายไม่อำนวย ด้วยหน้าที่การงาน หรือจะด้วยข้อขัดข้องอื่นใดก็ตาม ก็ไม่ควรทำความเดือดเนื้อร้อนใจว่าไม่ได้ไปฟังเทศน์แล้วจะไม่ได้บุญ

ควรคิดว่า การสร้างปัญญาบารมี ทำได้หลายทาง ต้องเลือกตามโอกาสและความเหมาะสมในเวลานั้นๆ  ใช้สติปัญญาพินิจพิจารณาการทำบุญ ที่เหมาะสมแก่ตัวเราเอง จึงชื่อว่า ทำบุญโดยใช้ปัญญา อย่างนี้ ได้ทั้งบุญ ได้ทั้งปัญญา

แต่ถ้าวันไหนลูกหลานว่างจากการทำงาน เขามีโอกาส พาไปฟังเทศน์ที่วัด  ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มวิริยบารมีมากขึ้น เพราะผู้ที่ไปฟังเทศน์ที่วัดนั้น ได้ทั้งบุญส่วนที่เป็นปัญญาบารมี บุญที่เป็นวิริยบารมี และบุญส่วนที่เป็นเนกขัมมบารมี เพราะการพรากกายออกจากบ้าน จากลูกหลาน จากทรัพย์สมบัติ จากความ สะดวกสบายที่บ้านมาได้นั้น ทำได้ยาก

โยมแม่ใหญ่(จูม วงศ์ชะอุ่ม คุณย่า) และ โยมพ่อใหญ่ (โทน วงศ์ชะอุ่ม คุณปู่)
โยมแม่ใหญ่(จูม วงศ์ชะอุ่ม คุณย่า) และ โยมพ่อใหญ่ (โทน วงศ์ชะอุ่ม คุณปู่)

ตักบาตรตอนเช้า บุญที่ทำง่ายแต่อานิสงส์มาก

หลังจากฟังเทศน์พอสมควรแล้ว ถ้าตักบาตรได้ก็ออกไปตัก ให้ลูกหลานจัดหาให้ ตักที่หน้าบ้านนั่นแหละ ไม่ต้องไปไกล ตักบาตรคนเดียวก็ได้ แต่ให้นึกอนุโมทนาในใจ คนไปตักบาตรก็ให้นึกว่าให้คนที่ไม่ได้มามีส่วนบุญด้วยกัน หรือวันไหนไม่สะดวก บอกลูกหลานตักแทนก็ได้ เรานึกอนุโมทนา ยินดีในใจ เรียกว่า บุญเกิดจากการอนุโมทนา (อนุโมทนามัย)

ความหมายของ   คำว่า “อนุโมทนา” คือ ความรู้สึกยินดีในการทำความดีของคนอื่น เป็นบุญกุศลเหมือนกัน

อย่านึกว่าไม่เป็น อาตมาได้บอกโยมทั้งสองไปตั้งแต่ต้นแล้วว่า การทำบุญทำกุศลทุกอย่างอยู่ที่ใจเป็นสำคัญ แต่ก็ไม่ได้ หมายความว่า จะคอยอนุโมทนาบุญที่คนอื่นทำ โดยที่ตนเองไม่ทำอะไรเลย

คำอธิบายต่อไปนี้  คงจะทำให้เกิดความเข้าใจความสำคัญของใจได้บ้าง    โดยทั่วไปเรามักจะมีคำถามว่า  ภรรยาตักบาตร  สามีไม่ได้ตัก  สามีจะได้บุญหรือเปล่า?

ตอบว่า ทั้งได้และไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับใจ  ถ้าคนที่ไม่ได้ ไปตักบาตร  แต่มีใจยินดีว่า เราก็มีส่วนร่วมเพราะเราเป็นคนหา  เป็นคนจัดแจง ทุกสิ่งที่ภรรยาทำบุญเกิดจากน้ำพักน้ำแรงของ เราร่วมกัน  ความรู้สึกพลอยยินดีในการทำบุญของภรรยาเช่นนี้ เกิดเป็นบุญเป็นกุศลเช่นกัน คำถามนี้จึงตอบได้เป็น ๓ อย่าง คือ

๑. ภรรยาทำบุญตักบาตร  สามีไม่ได้ทำแต่นึกให้สามี  มีส่วนแห่งบุญร่วมกับตนด้วย ส่วนสามีก็นึกอนุโมทนาพลอยร่วมยินดีในการทำบุญของภรรยา ได้บุญทั้งสองคนเท่าๆ กัน เรียกว่า “บุญเกิดจากการอนุโมทนา” หรือ บุญเกิดจากการ ยินดี ในการทำบุญของผู้อื่น เหมือนคนสองคนจุดคบไฟต่อไฟจากกัน จะเกิดเป้นไฟสว่างขึ้นสองดวง

๒. ภรรยาทำบุญตักบาตร  สามีไม่ได้สนใจ กลับคิดว่า อยากทำก็ทำไป ไม่เกี่ยวกัน ตัวใครตัวมัน หรือไม่รู้ทำบุญไปทำไม พระสงฆ์องค์เจ้าไม่เห็นจะทำอะไร กินๆ นอนๆ ถ้าอย่างนี้ ภรรยาได้บุญคนเดียวแน่นอน แต่สามีไม่ได้ เพราะจิตใจไม่น้อมไปในบุญ ที่ภรรยาทำ นึกง่ายๆ เมื่อภรรยาจุดคบไฟส่งให้สามีต่อไฟ  แต่สามีไม่ยอมต่อไฟก็ไม่ติด แทนที่จะเกิดมีแสงสว่างสองดวง ก็มีดวงเดียวเหมือนเดิม

๓. ภรรยาตักบาตร แต่ไม่นึกเป็นบุญเป็นกุศล ใจไม่น้อมไปในบุญที่ตนเองกำลังทำ นึกด่า นึกอิจฉาริษยาคนโน้นคนนี้ นึกตำหนิพระสงฆ์ว่า ทำไมเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ องค์นี้จะเป็นพระแท้หรือเปล่า ภรรยาได้บุญเหมือนกัน แต่ได้น้อย เพราะใจปิดไม่เปิดรับบุญ เนื่องจากความอิจฉาริษยา ความโกรธ ความอาฆาต ปิดกั้นทางมาแห่งบุญที่จะเข้าสู่ใจ เหมือนคบไฟที่จุดไฟ แต่มีเชื้อไม่ดีมันก็ไม่สว่าง   ส่วนสามีนึกดีใจว่า  ภรรยาทำบุญ  มีจิตใจยินดีเลื่อมใสนึกอนุโมทนา สามีได้บุญมากกว่าภรรยาผู้ทำ ทั้งนี้เพราะจิตใจสามี เปิดรับบุญมากกว่าภรรยา จิตสามี เหมือนคบไฟที่มีเชื้อดี แม้จะต่อจากคบไฟที่มีแสงน้อย ก็สว่างโชติช่วงมากได้เช่นกัน

การทำบุญจึงขึ้นอยู่ที่จิตใจยินดีในการทำความดีเป็นสำคัญ เรียกว่า “บุญเกิดจากการอนุโมทนา” (อนุโมทนามัย) หรือบุญเกิดจากการพลอยยินดี ในการทำบุญของผู้อื่น

(โปรดติดตามตอนต่อไป …)

ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน
ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน

“ศึกษาพระธรรม ด้วยการฟังเทศน์ และอ่านหนังสือธรรมะ ” จดหมายถึงโยมพ่อใหญ่-โยมแม่ใหญ่ ฉบับที่ ๑ (ตอนที่ ๓ ) จากธรรมนิพนธ์เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here