พิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)
อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช, อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เนื่องในวันครบรอบ ๙๕ ปี ชาตกาล
วันพุธที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๖

เรียนรู้ปฏิปทาพระเถระผู้สร้างเส้นทางพระพุทธศาสนาสู่โลกกว้าง แม้ธาตุขันธ์จะดับสูญ แต่ดอกบัวดอกแล้วดอกเล่าที่หลวงพ่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ ส่งออกไปปลูกยังดินแดนที่ปราศจากพระพุทธศาสนา เริ่มเบ่งบานตามปณิธานอันยิ่งใหญ่แห่งหลวงพ่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ ที่อุทิศตนเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตราบลมหายใจสุดท้าย

“บัดนี้มีวัดไทยกว่า๕๐๐วัด ตั้งมั่นกระจายอยู่ทั่วทุกมุมของโลก

เป็นไปตามคำกล่าวของหลวงพ่อเจ้าประคุณสมเด็จฯที่ว่า

“ดอกบัวจะบานกลางหิมะ”

“ปูชา จ ปูชนียานํ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ.

ขอนอบน้อมแด่ครู พระอุปัฌชาย์ อาจารย์

ผู้ให้ชีวิตในพระศาสนาของพระพุทธองค์ ด้วยเศียรเกล้าฯ”

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)

๑๑๐.การบูรณาการในการทำงานเผยแผ่

๑๑๑. พระพุทธศาสนาในทศวรรษหน้า

๑๑๒. คมธรรมสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)    

เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

สำหรับสามบทนี้ ผู้เขียนเล่าถึงเหตุที่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ได้สร้างแนวทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไว้อย่างรอบด้าน เพื่อช่วยเหลือผู้คนทุกวัยให้ได้มีปัญญาในการแก้ไขปัญหาทุกข์ภายในใจตน ด้วยหลักแห่งการบูรณาการตามรอยธรรมที่พระพุทธเจ้าวางไว้

๑๑๐ .การบููรณาการในการทำงานเผยแผ่

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ให้ความสำคัญกับการศึกษา  พระเณรต้องเรียน เรียนอะไรก็ได้  ที่ไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย  เพราะพระเณรจะเป็นผู้รักษาพระ ศาสนา และเน้นให้ทำงานช่วยกันปลูกจิตสำนึกด้านคุณธรรม จริยธรรม และศีลธรรมให้กับเยาวชนและประชาชนในชาติ  ซึ่งหนทางนี้เท่านั้นจะช่วยให้เกิดความมั่นคงแก่พระศาสนา  จึงเป็นจุดเริ่มต้นการจัดตั้ง “สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม  จริยธรรม  และความมั่นคงแห่ง สถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์”

แม้ในยามที่ร่างกายโรยแรง เริ่มชราภาพลง แต่ข่าวคราวที่พระสงฆ์ สามเณรและชาวพุทธถูกฆ่าที่ภาคใต้ กลับเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น  พระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน ๒๖๐ รูป ในสตูล สงขลา ยะลา นราธิวาส และปัตตานี จึงถูกก่อตั้งขึ้นตามดำริของเจ้าประคุณสมเด็จฯ เพื่อปลุกจิตสำนึก ให้พระสงฆ์ร่วมกันทำงานในพื้นที่เสี่ยงภัย  นับตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๕๓ เป็นต้นมา

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ประทานโอวาทแก่พระธรรมทูตอาสาว่า

“หากไม่มีพระสงฆ์ในพื้นที่  ชาวพุทธก็หมดที่พึ่ง  ก็ชื่อว่า พระพุทธศาสนาได้หมดไปแล้ว  ขอให้ทุกองค์ทุกรูปหนักแน่น  มั่นคง  อยู่เป็นกำลังใจให้ชาวพุทธ ถึงแม้วัน หนึ่งวันใดข้างหน้า พระพุทธศาสนาจะหมดไปจาก ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ขอให้วันนั้น มีพระสงฆ์เดินออกจากพื้นที่เป็นคนสุดท้าย”

 นับเป็นแสงแห่งจิตวิญญาณความมั่นคงพระพุทธศาสนา  แสงสุดท้าย

ที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ถ่ายทอดจิตวิญญาณความรักในพระพุทธศาสนาผ่านพระธรรมทูตอาสา  อันเป็นอมตะวาจาที่ตรึงใจเหล่าพุทธบุตร  ผู้ทำหน้าที่พระ ธรรมทูตอาสา ไปตราบนานเท่านาน

ความสำเร็จของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศทั่วโลก จน พระพุทธศาสนาเบ่งบานกลางหิมะในโลกตะวันตกอย่างแข็งแกร่ง เกิดจากการวางรากฐานที่สำคัญของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ผู้ ริเริ่มการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วโลก ริเริ่มการสร้างวัดไทยในต่างประเทศ และริเริ่มให้มีการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปประจำ ณ วัดไทยในต่างประเทศ  เป็นเหตุให้พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติหน้าที่เป็นพระธรรมทูตได้ยึดเป็นแนวทางอันเดียวกัน เป็นที่มาแห่งความสำเร็จของงานพระศาสนาในต่างประเทศ นับได้ว่า เจ้าประคุณสมเด็จฯ  เป็นผู้เปิดวิสัยทัศน์ธรรมสู่วิสัยทัศน์โลก  ทำให้พระพุทธศาสนาแผ่ไพศาลไป  เป็นที่พักพิงทางด้านจิตใจแก่ชาวไทย  และประชาชนใน ต่างประเทศทั่วโลก

เรื่องราวทั้งหมดเหล่านี้จะถูกจดจำ  เล่าขานถ่ายทอดสืบต่อกัน  จนกลายเป็นตำนาน จากตำนานกลายเป็นประวัติศาสตร์  จากประวัติศาสตร์กลาย เป็นความทรงจำของโลก

ที่สุดแล้ว นามของพระมหาเถระท่านนี้ก็จะถูกจารึกบนหน้าประวัติศาสตร์แห่งความทรงจำของโลก ในนามผู้นำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานยังแผ่นดิน ตะวันตกอันไกลโพ้น ตลอดไป

๑๑๑.พระพุทธศาสนาในทศวรรษหน้า

              ในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้  แนวโน้มที่ผู้คนจะปฏิบัติธรรม  และร่วมกิจกรรมทางศาสนากันเป็นกลุ่ม  จะกลายมาเป็นการปฏิบัติธรรมและทำกิจทางศาสนาแบบปัจเจกบุคคลมากขึ้น  คือทำเป็นส่วนตัวภายในพื้นที่ของตัวเอง  หรือในบ้านของตัวเอง  โดยถือว่าการปฏิบัติธรรมและกิจกรรมศาสนาในฐานะเป็นเรื่องของสังคม  กลายมาเป็นศาสนาเป็นเรื่องของตัวบุคคลมากขึ้น  ซึ่งความเป็นองค์กรทางศาสนาจะค่อยๆ ลดลงจะกลายเป็นเรื่องของส่วนตัว  จากที่เคยปฏิบัติธรรมร่วมกันในศาสนสถาน  ก็จะมาปฏิบัติธรรมในบ้านของตัวเอง  ในที่อยู่ห้องตัวเอง  ไม่ไปทำวัตรสวดมนต์ที่วัด  ไม่ไปปฏิบัติธรรมที่วัด  ไม่ไปทำบุญที่วัด แต่จะสวดมนต์ที่บ้าน  ทำบุญที่บ้าน  และปฏิบัติธรรมที่บ้าน นี่เป็นธรรมวิจัยข้อหนึ่ง

อีกข้อหนึ่งคือ จะมีการรวมกลุ่มกับปฏิบัติธรรมมากขึ้น ในแนวทางครูบาอาจารย์ที่ตนศรัทธา ซึ่งสามารถสอนกรรมฐานทั้ง ๔๐ วิธี ตามจริตที่ตนถนัด ซึ่งยังคงอยู่ในหลักที่พระพุทธเจ้าสอน ด้วยผู้คนในอนาคตจะตั้งคำถามกับพระพุทธศาสนามากขึ้น ก่อนปฏิบัติ ด้วยหลักกาลามสููตร ซึ่งจะทำให้ผู้คนหันมาสนใจพระพุทธศาสนาที่สามารถตอบโจทย์ปัจเจกชนได้มากขึ้น  การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของชาวพุทธที่กระจัดกระจายกันอยู่  จะกลับมารวมกลุ่มกันอยู่เป็นชุมชนชาวพุทธก็จะมีเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน 

ดูเหมือนจะไม่น่าเป็นไปได้  แต่ก็เป็นไปแล้วในวันนี้  วันที่โรคระบาดจากไวรัส โควิด –๑๙ ได้นำผู้คนออกห่างกัน  แต่ขณะเดียวกัน  ก็กลับทำให้เป็นแรงดึงดูดกลุ่มคนที่คล้ายๆ กัน กลับบ้าน กลับมาเจอกับครอบครัว  กลับมาพบกับชุมชนดั้งเดิมตั้งแต่วัยเยาว์  ทำให้เกิดการเรียนรู้พระพุทธศาสนาที่ห่อหุ้มไว้ด้วยวัฒนธรรมพื้นบ้านที่ยังคงแข็งแกร่ง  ได้กลับมาต้อนรับผู้คนกลับบ้านอย่างอบอุ่น  มีเวลาที่จะพูดคุยถึงปัญหาชีวิต การทำงาน และหาทางออกร่วมกันด้วยการปฏิบัติธรรมเป็นกลุ่มๆ เฉพาะในครอบครัว  เยียวยาหัวใจของกันและกันอย่างลึกซึ้ง 

แต่ละครอบครัวที่ลูกหลานได้กลับมาพร้อมหน้าพร้อมตา  แม้บางท่านอาจจะบาดเจ็บจากพิษเศรษฐกิจ  บางท่านอาจเจ็บปวดจากการสูญเสียคนที่รักจากโควิด  แต่หากยังมีลมหายใจอยู่  ก็ต้องไปต่อ  พระพุทธเจ้ามอบพระวาจาสุดท้าย คือความไม่ประมาทไว้ให้  เราจะต้องพลิกวิกฤติเป็นโอกาสเสมอ  ในการครองชีวิตในโลกด้วยธรรม  เพื่อการกลับมาเรียนรู้ว่า  เรายังจะต้องพัฒนาอะไรอีกในตัวเราที่จะแก้ทุกข์ในใจเราให้ได้  อย่าให้คนที่จากไปต้องเสียใจหรือเป็นห่วงคนที่ยังมีชีวิตอยู่ 

พระพุทธศาสนาสอนให้มีสติ และปัญญาในการก้าวล่วงปัญหาทุกอย่าง  แม้กระทั่งความตายที่เราทุกคนต้องเผชิญ   แต่เมื่อยังมีลมหายใจอยู่  พระธรรมทูตอาสาในพื้นที่จะช่วยแนะนำให้เริ่มต้นชีวิตที่บ้านอย่างมีความหมายและคุณค่า  เราจะสามารถสร้างอาชีพจากสิ่งที่มีอยู่ในตัวเราได้อย่างไร   การปรับความคิด ทัศนคติต่อสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้สติ ได้ปัญญา  เป็นเรื่องสำคัญก่อนอย่างอื่นเลย   และใช้ความสามารถของเราบูรณาการกับสิ่งที่มีอยู่ให้สร้างสรรค์  แล้วมองหาการสร้างเป็นอาชีพที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว และชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม   เมื่อความมั่นคงภายในใจเกิดขึ้น  แม้อยู่ท่ามกลางซากปรักหักพังก็จริง  แต่เราก็สามารถสร้างทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นมาใหม่ได้  ด้วยตัวเราเองและครอบครัวของเรา  กับชุมชนของเรา  และอาจดีกว่าเดิมด้วยซ้ำ  การปฏิบัติที่จิตให้มีสติ ปัญญา ตามรอยธรรมในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มอบไว้ให้กับชาวโลก  จึงสามารถตอบโจทย์ชีวิตแก้ทุกข์ได้ทุกขณะเลยก็ว่าได้  นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและอนาคต   

              ในส่วนของพระสงฆ์หนึ่งในพระรัตนตรัยที่เป็นดั่งเนื้อนาบุญของโลก  ที่มาช่วยปัดเป่าความทุกข์ให้กับผู้คนและสังคม  เราก็ต้องช่วยกันดูแลรักษา  เพราะในอนาคต จากผู้คนที่เป็นห่วงพระพุทธศาสนาอาจมองว่า   

๑.พระจะลดบทบาทการศึกษาพระธรรมวินัย เพราะพระมุ่งที่วุฒิการศึกษา ป.เอก ป.โท  พระจะขาดการเรียนรู้หลักธรรมจากแกนธรรมที่แท้จริง  เพราะผู้สอนส่วนใหญ่ใช้ตัวเอกสารที่ตีความแบบตื้นๆ เสียมากกว่าเพราะไม่มีเวลา  มาปฏิบัติกิจกรรมทางโลกมากกว่าทางธรรม  เช่นงานศพ  งานประกวดตามประเพณีหวังรางวัล ซึ่งไม่น่าจะใช่ธรรมคำสอน
              พระใช้พื้นที่ สมบัติที่บรรพบุรุษชาวบ้านบริจาคไปทำธุรกิจ  โดยเฉพาะวัดในเมือง

              พระบางรูปศีลห้ายังไม่ครบ

              โยม (อุบาสก/อุบาสิกา)  ขาดความเคารพต่อสงฆ์

เห็นพระเป็นเพียงสะพานบุญเพื่อประโยชน์ ในทางส่งบุญให้กับผู้ตาย

              ระบบสื่อสารมวลชนเสนอเพียงข่าวเพื่อสนองความต้องการขายข่าว  ต้องการหารายได้ไม่ได้ปกป้องศาสนา  ทำไปเพื่อเงิน  ไม่ได้แยกแยะชั่ว  ดี  เช่น พระให้หวย  พระสร้างวัตถุมงคล

              พระและโยมจะแยกย้ายกันไปเป็นกลุ่มก้อนตามจริตของตนเพื่อค้นหาสัจธรรม  จะใช่หรือไม่ใช่ก็ขึ้นอยู่กับบุญและกรร

๒.ใน  ๑๐ ปีข้างหน้า นโยบายรัฐที่มีต่อพุทธศาสนาในพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดน มีอะไรบ้าง

                           ๒.๑.ตราบใดที่บุคลากรของรัฐไม่ใช้พุทธแท้เข้ามาบริหารงานในสำนักพุทธฯ นั้นหมายถึงการนำกฎหมายมาใช้แทนพระวินัย ซึ่งจะลดทอนความถูกต้องทางโลกและทางธรรมลงไปเหลือเพียงการใช้อำนาจกับพระสงฆ์ไปในทางมิชอบได้

                           ๒.๒.จะเป็นไปได้ไหมที่รัฐจะยอมให้สำนักพุทธฯ ปกครอง หมายรวมเอาพุทธบริษัทมาดูแลกันเองโดยไม่หวังประโยชน์  โดยยึดหลักธรรมคำสอนจากพระธรรวินัยมาเป็นหลักในการเกื้อกูลพระสงฆ์ให้สามารถดำเนินชีวิตไปสู่เส้นทางแห่งการหลุดพ้นจากความทุกข์ในสังสารวัฏส่วนตนได้  และสนับสนุนให้พระสงฆ์ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการเผยแผ่ธรรมะตามรอยพระพุทธเจ้าได้อย่างเต็มกำลัง 

                           ๒.๓.พื้นที่  ๕ จังหวัดชายแดนใต้ หรือพื้นที่อื่นๆ ก็ตาม  หากพุทธบริษัทคอยหวาดระแวงคิดว่ามนุษย์ต่างศาสนาคือศัตรู  เมื่อต่างฝ่ายถูกแบ่งโดยกลุ่มที่ตั้งตัวว่ากลุ่มรักพระพุทธศาสนา  ก็พยายามใช้ข้อมูลที่มาจากอารมณ์ส่วนตัวไปหาข้อผิด  ปล่อยวางไม่ได้  ไม่เข้าใจสัจธรรม  ไม่เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ที่มีความหลากหลายทางความคิด  และความเชื่อ  ความศรัทธา   ที่สำคัญคือ เราต้องเคารพสิทธิพื้นฐานในความเป็นมนุษย์และในการนับถือศาสนา  ไม่บังคับให้ใครต้องเชื่อตามความคิดของตนเอง   เมื่อใช้อารมณ์เป็นที่ตั้งก็จะกลายเป็นเครื่องมือของผู้หวังประโยชน์ในโลกนี้ 

ในมุมมองนี้  ขอให้เชื่อเถอะว่า  ศาสนาจะไม่สลาย  ตราบใดที่ไม่มีกลุ่มไปแบ่งกลุ่ม  ไปปล่อยข่าวแสวงหาความจริงว่าที่เกิดเหตุเพราะใคร  ในความเป็นจริงนั้น  ไม่ว่าจะนับถือศาสนาไหนก็ตาม  หรือแม้แต่ผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาใดๆ เลย  มนุษย์ในแต่ละหมู่เหล่า ก็จะมีบรรพชนพร่ำสอนให้ทำความดี  และในพระพุทธศาสนาเราก็สอนว่า เกิดมาเพื่อสั่งสมกรรมดี 

ดังนั้น ๑๐ ปีข้างหน้าก็ไม่รู้ว่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร  หากวันนี้  นักบวชบางท่านยังทำตนตกอยู่ใต้อำนาจมากกว่าความถูกต้อง  ไม่ดูแลพระสงฆ์กันเอง  ก็อาจไม่ต้องกล่าวถึงอนาคตกันแล้ว…สาธุ

              ๓.กระบวนการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในพื้นที่ ๕จังหวัดชายแดน จะเป็นอย่างไร

                           ๓.๑.ปัจจุบันสื่ออินเทอร์เน็ตเจริญก้าวไกลมาก  อย่าว่าแต่ ๕ จังหวัดภาคใต้เลย  ทั่วโลกก็ไปถึงแทบทุกที่แล้ว  เพียงแต่พุทธบริษัทได้ร่วมมือกันมากน้อยเพียงไรที่จะนำเอาหลักธรรมคำสอนมาเผยแผ่ผ่านสื่อออนไลน์ที่ไปทั่วโลกด้วยความจริง  จะมีผู้ที่รู้จริงสักกี่กลุ่มล่ะที่กล้าหาญที่จะประกาศความจริง  แม้ว่าปัจจุบันจะเดินทางสะดวกกว่าสมัยพุทธองค์มากมาย  และไม่ต้องเหาะด้วยซ้ำ  เพียงนั่งอยู่หน้าสมาร์ทโฟน ก็สามารถแสดงธรรมถ่ายทอดความจริงไปได้ทั่วโลกได้  ว่าแต่ว่า  พระเราทำความจริงให้ปรากฏในใจตนหรือยัง…

                           ๓.๒.การถ่ายทอดผ่านสื่อแต่ละช่องในปัจจุบันส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่ไร้สาระทั้งนั้น

                           ๓.๓.รัฐควรให้ความสำคัญไม่ปล่อยผ่าน  ควรสอดแทรก  หยิบยกตัวอย่างที่ถูกต้อง  บางรายการในช่องYouTubeไม่ควรมีโฆษณากั้น  เช่น สวดมนต์ตามพระสวดบน YouTube อยู่ๆ ก็มีโฆษณาขึ้นมาแทรกเลย  อย่างนี้ ผลประโยชน์ของชาติและประชาชนจะตกไปอยู่ในมือต่างชาติกันหมด

                           ๓.๔. ตัววิทยากร พิธีกร แต่ละช่อง แต่ละรายการควรรู้จริงไม่โอ้อวด

                           ๓.๕. ส่งเสริมให้พุทธบริษัท ๔ กลับมาทำหน้าที่  ทำสื่อด้านในใจตนเอง  ประเมินตนเอง ถือศีล  รักษาศีล  อาราธนาศีลทุกวัน  นักบวชก็ทบทวนศีลให้เป็นประจำ  อย่าส่งจิตไปส่งออกนอกมากนัก  อย่าไปห่วงคนอื่น  จนลืมหน้าที่  ใช้ธรรมะดูตัวตนภายในของเราก่อน  ก่อนที่จะออกมาสรุปสถานการณ์ภายนอก  มันจะเป็นอันตรายและสูญเปล่า

                           ๓.๖.ธรรมชาติปรับสมดุลได้เอง  เกิดแก่เจ็บตาย  โควิดคือส่วนหนึ่งของการปรับสมดุลโลกใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น  เช่นเดียวกับโรคห่าเมื่อร้อยปีก่อน ก็คือการปรับสมดุลโลกให้เข้าสู่ปัจจุบันอย่างที่เป็นอยู่

ถึงที่สุดแล้ว พระพุทธศาสนาสอนให้เราตั้งคำถาม และเรียนรู้จากตนเอง  จนค้นพบตนเองในที่สุด  ว่าแม้แต่ตัวเราก็หามีไม่  การไม่ดิ้นรนแสวงหาจนเกินเลย  ทำให้ทุกคนได้อยู่ต่อไป   ศาสนาจะอยู่รอด  ไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากำหนด  แต่การขับเคลื่อนไปด้วยกันตามรอยธรรมที่พระพุทธเจ้าวางไว้นั้นคือความสุขที่จะเกิดอีกต่อไปเรื่อยๆ คือ  ละโลภ  ละโกรธ ในตัวเรา  มีปัญญาไม่หลงผิด  เครื่องมือที่พระพุทธเจ้าให้มายังใช้ไม่หมดเลย  ก่อนที่จะส่งจิตออกไปเพ่งโทษใครต่อใคร  ให้กลับมาดูตนเอง  สอนตนเอง  และเรียนรู้จากหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าให้ไว้สอนใจตนเอง  จะเกิดการพัฒนาตนเองไปในที่สุดแห่งกองทุกข์ได้ในที่สุด   

๑๑๒. คมธรรมสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)              

              สมเด็จพระพุฒจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช  อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหารวิหาร  นับเป็นพระเถราจารย์ผู้มีบทบาทสำคัญต่อศาสนา  วันนี้แม้ท่านมรณภาพลงแล้ว  แต่ทุกคำสอนยังมีคุณค่าเสมอ

นิตยสาร Secret  (Secret Magazine ) เมื่อวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้คัดเลือกคมธรรมของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) มาฝากผู้อ่าน เพื่อจะได้น้อมนำไปปฏิบัติ ดังนี้

              ๑. เมื่อได้ยินอะไรในทางที่เสียแล้ว  ก็อย่าพึ่งตัดสินใจว่าเสีย  เพราะเพียงแต่เขาพูดกัน  ต้องใคร่ครวญพิจารณาให้ดีเสียก่อนในลักษณะฟังหูไว้หู  ถ้ายังไม่เห็นที่ประจักษ์ด้วยตนเอง  ก็อย่าเพิ่งไปต่อหรือไปเสริมให้เกิดความเสียหายขึ้น

              ๒. ถ้าอยากรวยจนเป็นทุกข์  ก็ไม่ต้องรวย  ถึงรวยก็ไม่มีประโยชน์ใดๆ เพราะถึงรวยแล้ว  ก็ยังเป็นทุกข์  ที่อยากรวย  ก็เพราะต้องการให้เป็นสุขไม่ใช่ต้องการให้เป็นทุกข์  ถ้ารวยแล้วชีวิตต้องเป็นสุขด้วย  แต่สุขอย่างผู้ครองเรือน

              ๓. บางคนข้างนอกนั้นแลดูเรียบงามจริงๆ เชียว  เป็นคนที่โก้ในสังคมว่าอย่างนั้นเถอะ  จะเป็นรถนั่งก็ดี  จะเป็นเครื่องใช้ไม้สอยก็ดี  แหม ภูมิฐานเหลือเกิน  แต่ว่าข้างในนั้นเป็นอาวุธทั้งหมด  พร้อมที่จะเชือดจะเฉือดบุคคลผู้อื่นได้  พร้อมที่จะเชือดจะเฉือนสังคม  เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ตนในทันทีทันใด  นี่แหละต้องระมัดระวังมากๆ เดี๋ยวมีมากเหลือเกิน

              ๔. ของดีกับของเสียอยู่ไม่ใช่ไกลที่ไหน  บางทีก็อยู่ปนๆ กัน  แต่ถ้าน้อมใจให้ดีแล้วก็จะมองเห็นว่าเป็นสิ่งดี  นี่เป็นสิ่งไม่ดี  สิ่งนี้ควรจะยึดไว้เป็นแบบ  คนนี้ควรจะคบไว้เป็นมิตร  คนนี้ไม่ควรคบเป็นมิตร  ไม่ควรคบ  แต่ว่าไม่จำเป็นที่จะต้องแสดงออกว่าไม่ควรคบ  หรือว่าใช้วาจาว่าเราไม่คบแล้ว  เพราะว่าจะเป็นภัยได้อีกเหมือนกัน  เพียงแต่ว่าเราเรียนให้รู้  ศึกษาให้รู้

              ๕. โดยมากเราขอกันว่า  ขอให้รวยเท่านั้นเท่านี้  ขอให้ได้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้  เป็นธรรมดาของคนธรรมดาสามัญต้องอยากรวย  อยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้  ตามแบบของผู้ที่ยังเป็นคฤหัสถ์  คือ ผู้ครองเรือน แต่ว่าเราก็ต้องประคองความอยากให้พอดีๆ อย่าให้อยากจนเกินพอดี  อยากรวยแต่อย่าอยากจนกระทั่งเป็นทุกข์

              ๖. พ่อแม่รักลูก  รักจริงๆ แต่ว่าบางทีก็เลยไป  จนกลายเป็นหลงลูกหลงลูกหลาน  จนเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์  เมตตาลูก  เมตตาหลานเป็นเหตุให้เกิดความสุข  แยกให้ได้  พิจารณาให้ดี  แล้วก็จะทำให้ไม่ลำบาก  เมตตาก็เป็นเหตุให้เกิดความสุขได้  แต่ว่าถ้ากลายเป็นโมหะ  คือ หลงก็เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์

              ๗. เมื่อมีทรัพย์สินเงินทองแล้วก็ต้องพยายามฝึกตนว่า  มีข้าวของเงินทองแล้ว  ชีวิตนี้อยู่ได้แล้ว  ไม่ตายแน่  ไม่ตายเพราะอด  เมื่อไม่ตายเพราะอด  จะทำอย่างไรต่อไป  สิ่งที่จะทำต่อไป  ก็ต้องทำในทางดี  ที่เป็นทางธรรมให้ชีวิตนี้เป็นชีวิตที่มีคุณค่า

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ๑๑๐. การบูรณาการในการทำงานเผยแผ่ ๑๑๑ . พระพุทธศาสนาในทศวรรษหน้า ๑๑๒.  คมธรรมสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)    เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ร่องรอยความทรงจำแห่งอดีต บอกเล่าปฏิปทาในการครองตน ครองคน ครองงาน เพื่อจรรโลงความดีงาม ตามครรลอง “วิถีแห่งผู้นำ”

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here