ทศชาติ

ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง

การบำเพ็ญบารมีสิบชาติสุดท้ายก่อนการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า


ขุนเขา ย่อมมีวันทลาย

สายน้ำ ย่อมมีวันเปลี่ยนทาง

แต่ ปณิธานมหาบุรุษ ไม่เปลี่ยนแปลง

ชาติที่

พระเตมีย์

ถึงร้อยภพร้อยชาติ

ก็ปรารถนาพระโพธิญาณ

“แม้เลือดเนื้อจะเหือดแห้งไป

แม้ร่างกายจะแตกดับ เราจะไม่ทำลายปณิธาน”

พระเตมีย์เป็นชาดกที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่าถึงเรื่องราวในอดีตชาติของพระองค์ เมื่อครั้งเกิดเป็นพระเตมีย์กุมาร ทรงมีปณิธานที่จะบำเพ็ญ “เนกขัมมบารมี” ตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวที่จะสละราชบัลลังก์ออกบวช แม้จะได้รับความทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและการบีบคั้นทางด้านจิตใจอย่างไร ก็ไม่ทำให้ปณิธานของพระองค์แปรเปลี่ยนไป

เตมีย์ชาดก ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก มหานิบาต และอรรถกถา                 ขุททกนิกาย ชาดก มหานิบาต

ขณะตรัสเล่าเรื่องเตมีย์นั้น พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ขณะนั้น เป็นเวลาบ่ายแล้ว อาทิตย์ย้ายดวงคล้อยต่ำลง หมู่ภิกษุต่างออกจากสถานที่สำหรับทำสมาธิ มานั่งประชุมกันในอาคารสำหรับแสดงธรรม ได้สนทนาถึงการออกบวชของพระพุทธองค์ว่า เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ เนื่องจากพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์  พรั่งพร้อมด้วยสมบัติแห่งความเป็นพระราชา แต่พระองค์กลับเลือกที่จะออกบวช จึงเป็นสิ่งน่าอัศจรรย์

ขณะนั้น พระพุทธองค์เสด็จออกจากพระคันธกุฎี มายังอาคารสำหรับแสดงธรรม ตรัสถามภิกษุถึงเรื่องราวที่กำลังสนทนากัน เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบ จึงตรัสว่า พระองค์บำเพ็ญบารมีมาจนเต็มเปี่ยมแล้ว จึงสละราชสมบัติออกบวชเพื่อตรัสรู้ในชาตินี้ การสละราชบัลลังก์ออกบวชของผู้ที่มีบารมีเต็มเปี่ยมแล้วเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องน่าอัศจรรย์ แต่การออกบวชของพระองค์ในอดีตชาติ ขณะญาณยังไม่แก่กล้า กำลังบำเพ็ญบารมีอยู่ พระองค์ได้สละราชสมบัติออกบวช นั่นต่างหาก เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์

พระพุทธองค์ จึงตรัสเล่าเรื่องพระเตมีย์กุมาร ผู้ตั้งปณิธานที่จะออกบวชอย่างแน่วแน่

กำเนิดพระเตมีย์

ในอดีตชาติ ได้มีพระเจ้าแผ่นดินพระนามว่า กาสิกราช ครองราชสมบัติในกรุงพาราณสี แคว้นกาสี ด้วยทศพิธราชธรรมเสมอมา พระองค์มีพระสนมถึง ๑๖,๐๐๐ คน แม้เช่นนั้น ก็หาได้มีพระโอรสหรือพระธิดากับพระสนมเหล่านั้นไม่ ชาวพระนครเดือดร้อนใจ ด้วยเกรงว่าหากพระราชา ไม่มีพระโอรสหรือพระธิดาแล้ว จะไม่มีผู้สืบสันตติวงศ์ จึงรวมตัวกันชุมนุมที่ท้องสนามหลวง กราบทูลให้พระราชาปรารถนาพระโอรส พระราชาจึงรับสั่งกับพระสนมทุกคนให้ปรารถนาบุตร

พระสนมเหล่านั้น ได้ประกอบพิธีต่าง ๆ บนบานศาลกล่าวอ้อนวอนบวงสรวงเทวดาทั้งหลาย  มีพระจันทร์ เป็นต้น แม้เช่นนั้น ก็ไม่มีพระสนมองค์ใดทรงครรภ์

ฝ่ายเจ้าหญิงจันทา อัครมเหสีพระเจ้ากาสิกราช พระธิดาเจ้าเมืองมัททรัฐ มีพระจริยาวัตร งดงามเพียบพร้อมด้วยศีล เมื่อพระราชารับสั่งให้ตั้งความปรารถนาให้ได้พระโอรส แทนที่พระองค์จะบวงสรวงเทวดาบนบานอย่างคนอื่น พระองค์กลับสมาทานศีลอุโบสถในวันเพ็ญ ทรงเปลื้องเครื่องประดับต่าง ๆ ออก บรรทมบนที่นอนปูลาดบนพื้น ทรงรำลึกถึงศีลของพระองค์ แล้วตั้งสัตยาธิษฐานว่า “ถ้าข้าพเจ้า รักษาศีลไม่ขาด ขอบุตรของข้าพเจ้า จงเกิดขึ้น ด้วยสัจจวาจานี้”

ด้วยเดชานุภาพแห่งศีลที่พระนางจันทาเทวีสมาทานรักษา พลันบันดาลให้บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ อันเป็นทิพยอาสน์ของท้าวสักกเทวราชเกิดรุ่มร้อน เมื่อท้าวสักกะตรวจดูสาเหตุ  ก็ทราบว่า พระนางจันทาเทวีปรารถนาพระโอรส จึงตกลงใจจะให้พระโอรสที่เหมาะสมแก่พระนาง พิจารณาเห็นว่า พระโพธิสัตว์เป็นผู้ที่เหมาะสม

ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์ ได้เกิดเป็นกษัตริย์ครองราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสีเป็นเวลา ๒๐ ปี จึงสวรรคตไปบังเกิดในอุสสุทนรก รับกรรมอยู่เป็นเวลายาวนานถึง ๘๐,๐๐๐ ปี  พ้นจากนรกแล้ว จึงไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์จนสิ้นบุญ ครั้นสิ้นบุญ จะต้องเคลื่อนจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น มีความประสงค์จะไปเกิดบนเทวโลกชั้นสูงขึ้นโดยลำดับ  

ท้าวสักกะ จึงเสด็จไปเชิญพระโพธิสัตว์ ให้ไปเกิดเป็นมนุษย์ พร้อมกับให้เหตุผลว่า “ขณะนี้  พระนางจันทาเทวี อัครมเหสีของพระเจ้ากาสิกราช ปรารถนาพระโอรส ท่านจงอุบัติในพระครรภ์ของพระนาง เมื่อเกิดในโลกมนุษย์แล้ว จะมีโอกาสบำเพ็ญบารมีให้เต็มเปี่ยมได้ ความเจริญจะมีแก่ท่าน แก่มหาชน และแก่พระชนก พระชนนีของท่านด้วย”

พระโพธิสัตว์ รับคำท้าวสักกะ แล้วได้เสด็จลงมาปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางจันทาเทวี  พร้อมเทพบุตร ๕๐๐ องค์ ที่หมดบุญต้องจุติ ได้มาถือปฏิสนธิในครรภ์เหล่าภรรยาอำมาตย์ในพระนครนั้น

ในกาลนั้น พระครรภ์ของพระนางจันทาเทวี เป็นประหนึ่งว่า เต็มไปด้วยแก้ววิเชียร   พระนางทราบว่า ตั้งครรภ์แล้ว จึงกราบทูลให้พระราชาทรงทราบ

พระเจ้ากาสิกราช ทรงทราบว่า พระมเหสีทรงครรภ์ จึงได้ปฏิบัติอย่างดี เมื่อครรภ์ครบกำหนดแล้ว ก็ประสูติพระโอรสสมบูรณ์ด้วยลักษณะผู้มีบุญญาธิการ ส่วนภรรยาอำมาตย์ทั้งหมด  ก็คลอดเด็กทารก ๕๐๐ คน ในวันนั้นเช่นกัน

ขณะนั้น ราชากำลังเสด็จออกว่าราชการ ประทับอยู่ท่ามกลางเหล่าเสนาอำมาตย์ แวดล้อมไปด้วยข้าราชบริพาร เจ้าหน้าที่กราบทูลให้ทรงทราบว่า พระราชโอรสของพระองค์ประสูติแล้ว พระเจ้ากาสิกราชสดับคำถวายรายงานจากเจ้าหน้าที่ ความรักพระโอรสในฐานะความเป็นบิดาก็เกิดขึ้น   ทรงสัมผัสได้ถึงความรู้สึกของบิดาเป็นครั้งแรก พระองค์เกิดปีติซาบซ่านอยู่ภายในพระหทัย แม้เหล่าอำมาตย์ข้าราชบริพาร ต่างก็ยินดีปรีดาเป็นสุขโดยทั่วกัน

เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูตินั้น ได้เกิดฝนตกอย่างหนัก ทำให้เกิดความชุ่มฉ่ำไปทั่วทั้งแคว้นกาสี  เหมือนการประสูติของพระโพธิสัตว์จะทำให้พระราชาเบิกบานพระทัย และทำให้หัวใจแห่งหมู่อำมาตย์ ตลอดจนอาณาประชาราษฎร์ชุ่มเย็นโดยทั่วกัน

พระราชาตรัสถามเหล่าอำมาตย์เป็นเชิงสัพยอกว่า “ท่านทั้งหลายดีใจหรือที่เราได้ลูกชาย”

พวกอำมาตย์กราบทูลว่า “ไยพระองค์ตรัสถามเช่นนั้น เมื่อก่อนพวกข้าพระองค์ เหมือนคน  ไร้ที่พึ่ง บัดนี้ พวกข้าพระองค์มีที่พึ่งเพราะได้เจ้านายแล้ว”

พระเจ้ากาสิกราชได้ทรงสดับคำของเหล่าอำมาตย์ ก็เกิดปีติปลื้มพระทัย ตรัสเรียกมหาเสนาบดีมาสั่งว่า พระโอรสควรจะมีบริวาร ให้ไปตรวจดูว่า วันนี้ มีเด็กเกิดในเรือนอำมาตย์ท่านใดบ้าง มหาเสนาบดีได้ไปตรวจดู เห็นทารกในเรือนอำมาตย์ ๕๐๐ คน จึงกราบทูลให้ทรงทราบ  พระราชารับสั่งให้พระราชทานเครื่องประดับและนางนมแก่ทารกทั่วทุกคน  

คัดเลือกนางนม

ส่วนนางนมของพระโอรสนั้น พระเจ้ากาสิกราชให้คัดเลือกมาเฉพาะแต่ผู้มีลักษณะดี ๆ จำนวน ๖๔ นาง ต้องไม่สูงจนเกินไป เต้านมต้องไม่หย่อนยาน และน้ำนมต้องมีรสหวาน

ถ้านางนมสูงเกินไป เมื่อทารกนั่งดื่มนม จะทำให้คอทารกยาวผิดส่วน ถ้าสตรีเตี้ยเกินไป  จะทำให้กระดูกคอทารกหดสั้นเข้า ถ้าสตรีผอมเกินไป จะทำให้ขาของทารกเสียดสีกัน ถ้าสตรีอ้วนเกินไป จะทำให้เท้าทั้งสองของทารกเมื่อยขบ ถ้าสตรีผิวดำนัก จะทำให้น้ำนมเย็นเกินไป  สตรีมีผิวขาวนัก จะทำให้น้ำนมร้อนเกินไป สตรีมีถันหย่อนยาน จะทำให้ทารกดั้งหัก  สตรีเป็นโรคหืด จะมีน้ำนมเปรี้ยว สตรีเป็นโรคมองคร่อ ( โรคมองคร่อ คือ โรคหลอดลมโป่งพอง มีเสมหะแห้งติดอยู่ในช่องหลอดลม ทำให้มีอาการไอเรื้อรัง ห้ามไม่ให้ผู้ที่เป็นโรคนี้ บวชเป็นพระภิกษุ ) จะมีน้ำนมรสเฝื่อนเผ็ด

พระเจ้ากาสิกราชทรงดีพระทัย จึงให้พระนางจันทาเทวีขอพรได้ตามปรารถนา พระนางรับพรแล้ว ถวายฝากคืนไว้ก่อน

ในวันขนานนามพระโพธิสัตว์ พระเจ้ากาสิกราชบูชาเหล่าพราหมณ์ผู้รู้ลักษณะพยากรณ์  ด้วยสักการะอย่างมากมาย แล้วตรัสถามถึงสิ่งที่จะเป็นอันตรายต่อพระโอรส

พวกพราหมณ์เห็นลักษณะพระโพธิสัตว์ ได้กราบทูลว่า “พระโอรสของพระองค์สมบูรณ์ด้วยลักษณะแห่งบุคคลผู้มีบุญญาธิการ อย่าว่าแต่ทวีปเพียงหนึ่งเดียวเลย พระโอรส สามารถครองความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิได้ตลอดมหาทวีปทั้ง ๔ มีทวีปน้อย ๒,๐๐๐ เป็นบริวาร  จะไม่มีอันตรายใด ๆ เกิดขึ้นกับพระโอรส”

          พระเจ้ากาสิกราชสดับคำพยากรณ์ของพราหมณ์เหล่านั้น ทรงดีพระทัยเป็นอย่างมาก  ทรงขนานพระนามพระโอรสว่า “เตมีย์กุมาร” แปลว่า “พระกุมารผู้ทำให้โลกเกิดความชุ่มเย็นใจ” เพราะถือเอานิมิตวันที่พระกุมารประสูติ ฝนตกทั่วกาสิกรัฐ หัวใจพระราชา อำมาตย์ และ  ข้าราชบริพาร ตลอดจนอาณาประชาราษฎร์ ต่างชุ่มเย็นใจ เหมือนถูกรดด้วยน้ำฝนให้เกิดความชุ่มฉ่ำโดยทั่วกัน

ไม่ต้องการ เป็นกษัตริย์ครองแผ่นดิน

เมื่อพระโพธิสัตว์มีพระชนม์ได้ ๑ เดือน นางนมได้นำเข้าเฝ้าพระบิดา พระราชาทอดพระเนตรเห็นพระโอรสแล้ว เกิดความรักเป็นอย่างยิ่ง ทรงสวมกอดจุมพิตพระโอรสที่พระเศียร อุ้มให้บรรทม   บนพระเพลา ประทับนั่งชื่นชมอยู่กับพระกุมาร แม้ขณะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ

ขณะนั้น เจ้าหน้าที่เรือนจำได้ควบคุมตัวนักโทษ ๔ คน เข้ามายังหน้าพระที่นั่ง เพื่อให้ทรงตัดสินลงพระราชอาญา พระราชาตัดสินลงโทษตามความผิด ดังนี้

นักโทษคนที่ ๑ ให้เอาหวายที่ยังมีหนามเฆี่ยน ๑,๐๐๐ ครั้ง แล้วราดด้วยน้ำเกลือ นักโทษคนที่ ๒ ให้ตีตรวน แล้วส่งตัวไปคุมขังในเรือนจำ นักโทษคนที่ ๓ ให้เอาหอกแทง ส่วนนักโทษคนที่ ๔ ให้เอาหลาวเสียบ

พระโพธิสัตว์ ได้ฟังคำตัดสินลงโทษของพระบิดา ก็สะดุ้งกลัว ทรงรำพึงว่า “พระชนกของเราอาศัยราชสมบัติ ทำกรรมหนักเหลือเกิน จะทำให้ไปเกิดในนรก”

คืนนั้น พี่เลี้ยงนางนมให้พระกุมารบรรทมเหนือพระแท่นที่ตกแต่งไว้อย่างดี ภายใต้มหาเศวตฉัตร พระกุมารบรรทมได้ครู่หนึ่ง ก็สะดุ้งตื่น พระองค์ไม่อาจข่มตาหลับต่อไปได้อีก จึงทอดพระเนตรมหาเศวตฉัตร ได้เห็นสิริราชสมบัติอันยิ่งใหญ่ตระการตา พลันนั้น พระกุมารเกิดความกลัวอย่างจับจิต ทรงสะดุ้งอยู่ตลอด จนมิอาจจะอดกลั้นได้ พระองค์ลืมตาในความมืดมิดของราตรีอันยาวนาน พยายามคิดทบทวนว่า พระองค์มาจากไหน จึงได้มาสู่พระราชมณเฑียรภายใต้มหาเศวตฉัตรแห่งนี้

เมื่อทรงใคร่ครวญดู ก็กลับระลึกชาติได้ว่า พระองค์จุติมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระองค์ทรงทบทวนต่อไปอีก ก็ทราบว่า พระองค์เคยหมกไหม้อยู่ในอุสสุทนรกเป็นเวลายาวนาน  ทรงทบทวนต่อไปอีกว่า ทำไม จึงได้ไปเกิดในนรก ก็ทราบว่า พระองค์เคยเป็นพระราชา  ปกครองแผ่นดินภายใต้มหาเศวตฉัตรนี้นั่นเอง

ทรงพิจารณาอยู่ ก็ทราบว่า พระองค์ได้ครองราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสีนี้ เป็นเวลา ๒๐ ปี หลังจากสวรรคตแล้ว ได้ไปเกิดในนรกหมกไหม้อยู่ยาวนานถึง ๘๐,๐๐๐ ปี บัดนี้ ได้กลับมาเกิดในปราสาทราชฐาน ซึ่งเปรียบประหนึ่งเรือนโจรภายใต้เศวตฉัตรนี้อีกครั้ง พระกุมารทบทวนเหตุการณ์ที่ผ่านมา ขณะเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวนักโทษ ๔ คนมา เห็นพระบิดากล่าวคำหยาบ  อันจะเป็นเหตุให้ตกนรกเช่นนั้น หากพระองค์เองได้ครองราชสมบัติ ก็จะกลับไปบังเกิดในนรก  รับกรรมอีกครั้งเป็นแน่ พระกุมารเกิดความกลัวอย่างมาก จนทำให้ผิวพรรณดุจทองคำซูบซีด เหี่ยวแห้ง เศร้าหมองลง เหมือนดอกบัวที่ถูกคนเอามือขยำจนเหี่ยวเฉา

พระองค์บรรทมรำพึงอยู่ในความมืดมิดของราตรีว่า ทำอย่างไร จึงจะพ้นจากพระราชมณเฑียร ซึ่งเปรียบประหนึ่งเรือนโจรนี้ไปให้ได้

เทพธิดาผู้สิงสถิตอยู่ที่มหาเศวตฉัตร เคยเป็นมารดาพระเตมีย์ในชาติหนึ่ง เห็นเช่นนั้น   ก็เห่กล่อมพร้อมทั้งปลอบโยนพระกุมารให้สบายพระทัยว่า “เตมีย์ ลูกแม่ ลูกอย่าเศร้าโศก  อย่าคิดมาก อย่าหวาดกลัวไปเลย ถ้าลูกปรารถนาจะพ้นจากราชสมบัตินี้ ลูกแม่ไม่ได้เป็นคน  ง่อยเปลี้ย ก็จงทำเป็นเหมือนคนง่อยเปลี้ย ลูกไม่ได้เป็นคนหูหนวก ก็จงทำเป็นเหมือนคนหูหนวก  ไม่ได้เป็นใบ้ ก็จงทำเป็นเหมือนคนใบ้เถิด จงตั้งใจอธิษฐาน ๓ อย่างนี้ อย่าแสดงให้เขาเห็นว่า  เป็นคนฉลาด จงให้คนทั้งปวงรู้กันว่า ลูกเป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา คนเหล่านั้นจะได้กล่าวโทษ  ดูหมิ่นลูกว่า เป็นกาลกิณี ความปรารถนาของลูกจะสำเร็จได้ด้วยวิธีนี้”

พระกุมารกลับบังเกิดความอบอุ่นพระทัยขึ้นมาได้ เพราะคำปลอบโยนของเทพธิดา จึงตอบว่า “แม่เทพธิดา ข้าพเจ้าจะทำตามคำของท่าน ท่านเห็นประโยชน์จึงได้เกื้อกูลข้าพเจ้าอย่างมากมายเช่นนี้”

          ครั้นแล้ว พระกุมารก็ได้ตั้งจิตอธิษฐานตามคำแนะนำของเทพธิดา แล้วเทพธิดา                          ก็ได้อันตรธานหายไป ในความมืดมิดของราตรีกาลนั้น  

ปณิธานพระเตมีย์

ฝ่ายพระเจ้ากาสิกราช เกรงพระโอรสจะเหงา ทรงดำริว่า พระโอรสควรได้เด็ก ๕๐๐ คน  มาเป็นเพื่อนเล่น จะได้เบิกบานใจ จึงรับสั่งให้นำเด็กทั้งหมดมาเลี้ยงในราชสำนักของพระเตมีย์ พวกเด็กคนอื่น ๆ ต่างร้องดื่มนมกระจองอแง แต่พระเตมีย์กลับนิ่งเฉยไม่ทรงกรรแสงร้องไห้ เพราะถูกสะกด ด้วยภาพนรกอันน่าหวาดกลัว ทรงครุ่นคิดว่า “จากวันนี้เป็นต้นไป แม้เลือดเนื้อ จะเหือดแห้งไป  แม้ร่างกายจะแตกดับ เราจะไม่ทำลายปณิธาน” แล้วไม่ทรงกรรแสงร้องไห้อีกเลย

เหล่านางนมเห็นผิดปกติ ได้กราบทูลให้พระนางจันทาเทวีทราบ พระนางจึงกราบทูล  แด่พระเจ้ากาสิกราช พระราชารับสั่งให้เรียกประชุมเหล่าพราหมณ์ ตรัสถามถึงความผิดปกติของพระโอรส พราหมณ์กราบทูลพระราชาให้นางนมถวายนมพระกุมารช้ากว่าปกติ เมื่อทำเช่นนี้  ก็จะทำให้พระกุมารทรงกรรแสงขอดื่มนมเอง

นางนมทั้งหลายก็ปฏิบัติตาม ได้ถวายน้ำนมแด่พระเตมีย์กุมารช้ากว่าปกติ บางครั้งถวายนมช้ากว่ามื้อหนึ่ง บางครั้งไม่ถวายตลอดทั้งวัน แม้พระเตมีย์จะหิวแสนหิว ก็ไม่ทรงกรรแสงร้องขอเสวยนม

พระมารดาเห็นพระโอรสอดนมนานขนาดนั้นก็สงสาร ทรงร้อนรนพระทัยว่า ลูกหิว  จึงให้เสวยน้ำนมจากพระถันของตนเอง ทารกคนอื่นเมื่อได้ดื่มนมช้ากว่าเวลาบ้าง ไม่ได้นอนตามเวลาบ้าง ต่างก็ร้องไห้ระงมไปทั่ว แต่พระเตมีย์กุมาร ไม่ทรงกรรแสง ไม่ทรงคร่ำครวญ ไม่คู้พระหัตถ์และพระบาท ไม่ส่งเสียงใด ๆ เพราะถูกภัยจากนรกคุกคามให้หวาดกลัว

นางนมทั้งหลายต่างวิเคราะห์กันว่า มือและเท้าของคนง่อยเปลี้ยก็ตาม ปลายคางของคนใบ้ก็ตาม ช่องหูของคนหูหนวกก็ตาม ไม่น่าจะเป็นอย่างนี้ จะต้องมีอะไรสักอย่างเป็นสาเหตุ ทำให้พระกุมารกลายเป็นเช่นนี้ จึงคิดกันว่า จะทดลองพระกุมารเรื่องน้ำนมก่อน แล้วไม่ถวายน้ำนมพระกุมารตลอดทั้งวัน แม้ร่างกายพระเตมีย์จะอ่อนระโหยโรยแรง ก็ไม่กรรแสงร้องขอนม  แม้นางนมจะทดลองไม่ให้ดื่มนมตลอดทั้งวัน โดยทำนองนี้ เป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม ก็ไม่เห็นพิรุธของพระกุมารแต่อย่างใด  

ถูกทดลอง

ส่วนพระเตมีย์ แม้จะหิวแสนหิว ก็อดกลั้น บอกตัวเองว่า “เตมีย์ ถ้าต้องการไปนรกก็กินขนม และของเคี้ยวนั้น” เพราะกลัวภัยในนรก ซึ่งปรากฏอยู่ในห้วงสำนึก จึงไม่ทอดพระเนตรดู  ขนมและของเคี้ยวเลย แม้พระเตมีย์ถูกทดลองด้วยขนมและของเคี้ยวอยู่เช่นนี้ เป็นเวลานานแรมปี  ก็ไม่แสดงพิรุธแต่อย่างใด

เมื่อพระเตมีย์อายุได้ ๒ ชันษา พวกอำมาตย์กราบทูลพระราชาว่า “เด็กอายุ ๒ ขวบชอบผลไม้ พวกข้าพระองค์จะทดลองพระกุมารด้วยผลไม้” จึงทดลองนำผลไม้มาวางไว้ใกล้ ๆ พระเตมีย์และเด็กบริวาร แล้วปล่อยให้ยื้อแย่งกันกินผลไม้ตามชอบใจ แล้วพากันยืนแอบดู  เด็กคนอื่น ๆ ต่างต่อสู้ทุบตีกันยื้อแย่งผลไม้มาเคี้ยวกิน

ส่วนพระเตมีย์บอกตัวเองว่า “เตมีย์ ถ้าอยากไปนรก ก็กินผลไม้นั้นเถิด” เพราะกลัวจะไปเกิดในนรก จึงไม่ชายตามองดูผลไม้นั้นเลย แม้พระกุมารถูกทดลองด้วยผลไม้อยู่เช่นนี้ เป็นเวลานานแรมปี ก็ไม่แสดงพิรุธแต่อย่างใด

เมื่อพระเตมีย์อายุได้ ๓ ชันษา พวกอำมาตย์กราบทูลพระราชาว่า “เด็กอายุ ๓ ขวบ  ชอบของเล่น พวกข้าพระองค์จะทดลองพระกุมารด้วยของเล่น” จึงทดลองนำรูปช้างปั้น รูปม้าปั้น   และรูปปั้นสัตว์ชนิดต่าง ๆ ไปวางไว้ใกล้ ๆ พระเตมีย์และเด็กบริวาร แล้วปล่อยให้ยื้อแย่งกันตามชอบใจ เด็กบริวารต่างต่อสู้ทุบตีกัน ยื้อแย่งของเล่นที่ตนชอบ ส่วนพระเตมีย์ทรงอดกลั้นความอยากเล่นของเล่นเอาไว้ ไม่เหลียวมองดูอะไร ๆ เลย แม้พระกุมารถูกทดลองอยู่เช่นนี้  เป็นเวลานานแรมปี พวกอำมาตย์ ก็จับพิรุธพระเตมีย์ไม่ได้

เมื่อพระเตมีย์อายุได้ ๔ ชันษา พวกอำมาตย์กราบทูลพระราชาว่า “เด็กอายุ ๔ ขวบ  ชอบอาหารที่มีรสแปลกต่าง ๆ พวกข้าพระองค์จะทดลองพระกุมารด้วยอาหาร” จึงทดลองนำอาหารชนิดต่าง ๆ มากมาย มาวางไว้ใกล้ ๆ พระเตมีย์และเด็กบริวาร แล้วปล่อยให้ยื้อแย่งกันกินตามชอบใจ เด็กบริวารคนอื่น ๆ ต่างทำอาหารเป็นคำ ๆ กินกันอย่างเอร็ดอร่อย  ส่วนพระเตมีย์ทรงอดกลั้น หาได้ชายตามองดูอาหารเหล่านั้นไม่ พระองค์บอกตัวเองว่า “เตมีย์  เจ้าเคยอดอาหารมาไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ จะอดอาหารตายอีกสักชาติก็คงไม่เป็นไร” พระมารดาเห็นเช่นนั้น เหมือนพระหทัยจะแตกสลายลงให้ได้ จึงให้พระโอรสเสวยโภชนาหารด้วยพระหัตถ์พระองค์เอง แม้พระกุมารถูกทดลองอยู่เช่นนี้ เป็นเวลานานแรมปี ก็ไม่แสดงพิรุธแต่อย่างใด

เมื่อพระเตมีย์อายุได้ ๕ ชันษา พวกอำมาตย์กราบทูลพระราชาว่า “เด็กอายุ ๕ ขวบ กลัวไฟ พวกข้าพระองค์จะทดลองพระกุมารด้วยไฟ” จึงทดลองด้วยการปลูกเรือนใหญ่ไว้ที่สนามหลวง  เรือนนั้นมุงด้วยใบตาล มีประตูเข้าออกหลายทาง ให้นำพระกุมารและเด็กบริวารเข้าไปอยู่ในเรือนนั้น แล้วจุดไฟเผา เมื่อพวกเด็กเห็นไฟลุกไหม้ ต่างก็กลัวตายร้องไห้เสียงดังลั่นวิ่งหนีออกมา  ส่วนพระเตมีย์รำพึงว่า “เราถูกเผาด้วยไฟร้อนนี้ ก็ยังดีกว่าถูกเผาไหม้ด้วยไฟนรก” พระองค์มิได้หวั่นไหวต่อเปลวไฟที่กำลังปะทุไหม้นั้นเลย เมื่อเพลิงลุกลามเข้ามาใกล้ พวกอำมาตย์ก็อุ้มพระกุมารออกไป แม้จะทดลองอยู่เช่นนี้เป็นเวลานานแรมปี ก็จับพิรุธพระเตมีย์ไม่ได้

เมื่อพระเตมีย์อายุได้ ๖ ชันษา อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลพระราชาว่า “เด็กอายุ ๖ ขวบกลัวช้างตกมัน พวกข้าพระองค์จะทดลองพระกุมารด้วยช้างตกมัน” จึงทดลองนำพระกุมารไปนั่งที่ท้องสนามหลวง แวดล้อมด้วยเด็กบริวาร จากนั้น ให้ปล่อยช้างเชือกหนึ่ง ซึ่งถูกฝึกหัดอย่างดีแล้วออกมา ช้างนั้นส่งเสียงร้องกึกก้องโกญจนาท เอางวงตีแผ่นดินฝุ่นตลบแสดงอาการ   ดุร้ายร้องแปร๋น ๆ มา พวกเด็กเห็นช้างตกมันแผดเสียงร้องดุร้ายเช่นนั้น ต่างก็ตกใจกลัวตายร้องไห้  วิ่งหนีหัวซุกหัวซุนไปคนละทิศละทาง

พระเตมีย์คิดว่า “เราถูกงาช้างตกมันดุร้ายเชือกนี้แทงตาย ยังประเสริฐกว่าถูกเผาไหม้ในนรกอันร้ายกาจ” จึงสงบนิ่งมิได้สะทกสะท้าน ช้างที่ฝึกดีแล้วนั้น แล่นตรงเข้ามา เอางวงจับพระองค์กวัดแกว่งไปมา เหมือนแกว่งกำดอกไม้ ทำให้พระกุมารได้รับความลำบากยิ่งนัก พวกทหารจึงเข้าไปรับพระกุมารออกมาจากช้าง พระราชาตรัสถามพวกทหารว่า “ขณะที่พวกท่านรับพระกุมารมา   พระกุมารได้ขยับมือขยับเท้าบ้างหรือไม่” พวกทหารกราบทูลว่า มิได้แสดงอาการใด ๆ เลย แม้จะทดลองด้วยช้างตกมัน โดยทำนองนี้ เป็นเวลานานแรมปี ก็จับพิรุธไม่ได้

เมื่อพระเตมีย์อายุได้ ๗ ชันษา พวกอำมาตย์กราบทูลพระราชาว่า “โดยทั่วไป เด็กอายุ ๗ ขวบ มักจะกลัวงูพิษ พวกข้าพระองค์จะทดลองพระกุมารด้วยงูพิษ” จึงทดลองนำพระกุมารพร้อมทั้งเด็กบริวาร ไปนั่งที่ท้องสนามหลวง แล้วปล่อยฝูงงูพิษที่ถอนเขี้ยวเย็บปากแล้วเข้าไป   ตรงกลางกลุ่มเด็กซึ่งนั่งห้อมล้อมพระเตมีย์อยู่ เด็กบริวารเห็นงูพิษต่างก็พากันร้องลั่นวิ่งหนีไปด้วยความตกใจกลัว

พระเตมีย์พิจารณาภัยในนรกแล้วดำริว่า “เราพินาศไปในปากงูพิษร้ายนี้ ยังดีกว่าพินาศไปในนรกอันร้ายกาจ” แล้วประทับนั่งนิ่งเฉยอยู่ ฝูงงูพิษต่างเลื้อยตรงเข้ารัดรอบกายแผ่พังพานเหนือเศียรพระกุมาร แม้เช่นนั้น พระเตมีย์ก็มิได้หวั่นไหว แม้จะทดลองด้วยงูพิษร้ายเป็นเวลานานแรมปี เช่นนี้ ก็จับพิรุธพระเตมีย์ไม่ได้ จึงปรึกษากันว่า จะทำอย่างไรต่อไป

เมื่อพระเตมีย์อายุได้ ๘ ชันษา อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลพระราชาว่า “เด็กอายุ ๘ ขวบ  ชอบฟ้อนรำขับร้อง พวกข้าพระองค์จะทดลองพระกุมารด้วยการฟ้อนรำขับร้อง” จึงทดลองนำพระกุมารพร้อมทั้งเด็กบริวาร ไปนั่งที่ท้องสนามหลวง แล้วจัดให้มีการแสดงมหรสพฟ้อนรำอย่างตระการตา เด็กบริวารคนอื่น ๆ เห็นการแสดงมหรสพฟ้อนรำ ต่างก็แสดงอาการร่าเริงยินดี  พากันหัวเราะสนุกสนาน

พระเตมีย์พิจารณาว่า “ในนรก ไม่มีความรื่นเริง หรือความชุ่มเย็นใจ แม้ชั่วขณะหนึ่ง” จึงนิ่งเฉย มิได้ทอดพระเนตรดูอะไร ๆ เลย แม้จะทดลองเช่นนี้เป็นเวลานานแรมปี ก็จับพิรุธพระเตมีย์ ไม่ได้

เมื่อพระเตมีย์อายุได้ ๙ ชันษา พวกอำมาตย์กราบทูลพระราชาว่า “เด็กอายุ ๙ ขวบ  กลัวศัสตราวุธ พวกข้าพระองค์จะทดลองพระกุมารด้วยศัสตราวุธ” จึงทดลองนำพระกุมาร พร้อมทั้งเด็กบริวาร ไปนั่งที่ท้องสนามหลวง แล้วปล่อยให้วิ่งเล่นกันตามประสา ในขณะที่เด็กบริวาร กำลังเล่นสนุกสนานกันอยู่ พลันชายคนหนึ่ง ก็ปรากฏกายขึ้น ถือดาบคมวาววับดังแก้วผลึก กวัดแกว่งโลดเต้นยักเยื้องท่าทางเข้ามาตะโกนขู่ตวาดว่า “ใครเป็นโอรสพระเจ้ากาสี   คนกาลกิณี ข้าจักตัดหัวเจ้าเสีย ด้วยดาบเดี๋ยวนี้” แล้ววิ่งแหวกกลุ่มเด็กตรงเข้าไปหาพระกุมาร   เด็กบริวารเห็นดังนั้น ก็ตกใจกลัวต่างร้องลั่นวิ่งหนีไปคนละทิศละทาง

พระเตมีย์ทรงรำพึงว่า “ให้เราพินาศย่อยยับเพราะคมดาบ ยังจะประเสริฐกว่าพินาศในนรก” ชายผู้นั้นเอาดาบจ่อลงที่คอตะโกนขู่ว่า “ข้าจะตัดหัวเจ้าเดี๋ยวนี้” แม้เช่นนี้ ก็ไม่สามารถทำให้พระองค์สะดุ้งได้ พระเตมีย์ถูกทดลองเช่นนี้ เป็นเวลานานแรมปี ก็จับพิรุธไม่ได้

เมื่อพระเตมีย์อายุได้ ๑๐ ชันษา พวกอำมาตย์กราบทูลพระราชาว่า “เด็กอายุ ๑๐ ขวบ  กลัวเสียงดัง ควรจะใช้เสียงทดลองพระกุมารว่า หูหนวกหรือไม่” จึงทดลองด้วยการให้คนเป่าสังข์ นั่งอยู่ใต้ที่บรรทม ให้เอาม่านกั้นที่บรรทม เพื่อไม่ให้พระกุมารมองเห็น เจาะเป็นช่องไว้ทั้งสี่ข้างสำหรับสังเกต เมื่อนางนมนำพระกุมารไปบรรทมแล้ว พวกคนเป่าสังข์ ก็เป่าขึ้นอย่างดังพร้อมกัน  พวกอำมาตย์ที่แอบดู ก็ไม่เห็นพระองค์เผลอสติขยับพระหัตถ์ พระบาท หรืออวัยวะอื่นใด พระเตมีย์  ถูกทดลองเช่นนี้ เป็นเวลานานแรมปี ก็จับพิรุธไม่ได้

เมื่อพระเตมีย์อายุได้ ๑๑ ชันษา พวกอำมาตย์กราบทูลพระราชาว่า “เด็กอายุ ๑๑ ขวบ  กลัวเสียงกลอง ควรจะทดลองพระกุมารด้วยเสียงกลอง” เมื่อล่วงไปหนึ่งปี อำมาตย์ทั้งหลาย  ก็จับพิรุธไม่ได้

เมื่อพระเตมีย์อายุได้ ๑๒ ชันษา พวกอำมาตย์กราบทูลพระราชาว่า “เด็กอายุ ๑๒ ขวบ  ย่อมกลัวประทีป ควรจะทดลองพระกุมารด้วยประทีป” จึงทดลองให้พระกุมารบรรทมในที่มืด  ในเวลากลางคืน คิดว่า พระกุมารจะขยับพระหัตถ์หรือพระบาทบ้าง จึงจุดประทีปดวงหนึ่ง และ  ดับอีกดวงสลับกันไป ครั้นปล่อยให้พระโพธิสัตว์บรรทมไปได้ครู่หนึ่งในที่มืด ก็ยกแท่นบรรทมขึ้นไปใกล้หม้อประทีปน้ำมันที่กำลังลุกโชติช่วง จุดไฟให้สว่างพร้อมกันทีเดียว แล้วสังเกตดูอาการพระกุมาร แต่ก็ไม่เห็นการขยับพระหัตถ์หรือพระบาทแต่อย่างใด เมื่อล่วงไปหนึ่งปี พวกอำมาตย์ก็จับพิรุธไม่ได้

เมื่อพระเตมีย์อายุได้ ๑๓ ชันษา พวกอำมาตย์กราบทูลพระราชาว่า “เด็กอายุ ๑๓ ขวบ  เกลียดแมลงวัน ควรจะทดลองพระกุมารด้วยแมลงวัน” จึงเอาน้ำอ้อยทาทั่วร่างพระกุมารแล้วให้บรรทมในที่มีแมลงวันชุกชุม ฝูงแมลงวันได้กลิ่นน้ำอ้อย ก็ตอมกินน้ำอ้อยตามร่างกายพระกุมาร   พระกุมารรู้สึกเจ็บแสบเหมือนถูกเข็มแทง แต่ก็ทรงดำริว่า “เราตายในปากแมลงวัน ยังจะดีเสียกว่า ตายในนรกอเวจี” สู้อดกลั้นทุกขเวทนานิ่งเสียไม่หวั่นไหว ราวกับพระมหาเถระเข้านิโรธสมาบัติ   เมื่อล่วงไปหนึ่งปี อำมาตย์ทั้งหลาย ก็จับพิรุธไม่ได้

เมื่อพระเตมีย์อายุได้ ๑๔ ชันษา พวกอำมาตย์กราบทูลพระราชาว่า “เมื่อเด็กมีอายุ ๑๔ ปี  ก็นับได้ว่า เป็นหนุ่มแล้ว พวกคนหนุ่มมักรักสวยรักงาม เกลียดสิ่งสกปรก พวกข้าพระองค์จะทดลองพระกุมารด้วยสิ่งสกปรกโสโครก” ตั้งแต่นั้น จึงทดลองปล่อยพระกุมารไม่ให้สรงน้ำ  ไม่จัดที่ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ไม่นำเสด็จลุกออกจากที่บรรทม พระกุมารก็ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ  นอนเกลือกกลั้วสิ่งปฏิกูลที่เหม็นขื่นคาวและสกปรกอยู่ในที่บรรทมนั่นเอง หมู่แมลงวันก็บินตอม  กินของสกปรกกันหึ่งอยู่รอบกาย

พระชนกพระชนนีประทับนั่งข้าง ๆ สุดแสนที่จะเวทนา ตรัสว่า “เตมีย์ ลูกเอ๋ย ตอนนี้  ลูกก็โตเป็นหนุ่มแล้ว ใครเขาจะประคับประคองลูกได้ตลอดไป ลูกไม่ละอายหรอกหรือ ลูกนอนอยู่ทำไม ลุกขึ้นอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายเถอะลูก” แล้วตัดพ้อบริภาษโดยประการต่าง ๆ

แม้พระโพธิสัตว์นอนจมอยู่ในกองอุจจาระปัสสาวะ ซึ่งปฏิกูลน่าขยะแขยงเหม็นขื่นคาวเช่นนั้น ก็ทรงวางใจเป็นกลาง ทรงพิจารณากลิ่นเหม็นของคูถนรกว่า สามารถฟุ้งตลบขึ้นในใจของผู้ที่ยืนอยู่ในที่ไกลแสนไกลกว่าคูถนี้มากมายนัก จึงทรงนิ่งเสีย เมื่อล่วงไปหนึ่งปี พวกอำมาตย์ ก็จับพิรุธไม่ได้

 เมื่อพระเตมีย์อายุได้ ๑๕ ชันษา พวกอำมาตย์กราบทูลพระราชาว่า “เมื่อเด็กมีอายุ ๑๕ ปี  กลัวความร้อน พวกข้าพระองค์จะทดลองพระกุมารด้วยถ่านเพลิง” พวกอำมาตย์คิดกันว่า  พอพระกุมารถูกความร้อนแผดเผา ได้รับความทุกข์ เมื่อทนไม่ได้ ก็จะขยับพระหัตถ์  หรือพระบาทเอง จึงนำถาดใส่ถ่านเพลิงจนเต็ม มาวางไว้ใต้พระแท่นบรรทมพระเตมีย์

เปลวไฟโหมลุกไหม้ร้อนแรงรอบกาย พระเตมีย์ให้โอวาทตัวเองว่า “เตมีย์ ไฟในนรกอเวจี   ร้อนแรงแผ่ไพศาลไปไกลกว่าไฟนี้มากมายหลายพันเท่า สามารถทำลายดวงตาผู้ที่ยืนมองดูอยู่   ห่างออกไปไกลถึงรัศมี ๑๐๐ โยชน์ได้ ความร้อนของไฟนี้ จะเทียบอะไรกับความร้อนในนรกนั้น”  สู้อดกลั้นความร้อนนั้น ไม่หวั่นไหว

พระชนกพระชนนีทอดพระเนตรเห็นพระกุมารได้รับความทุกข์ทรมานเช่นนั้น พระหทัยแทบแตกสลาย จึงแหวกฝูงชนเข้าไปนำพระกุมารออกมา แล้วตรัสวิงวอนว่า “เตมีย์ ลูกเอ๋ย  พ่อกับแม่ รู้ว่า ลูกไม่ใช่คนง่อยเปลี้ยเสียขา เพราะมือ เท้า ปาก และช่องหูของคนพิการไม่ได้เป็นอย่างนี้ พ่อกับแม่ปรารถนาลูก จึงได้ลูกสมปรารถนา ลูกอย่าทำให้พ่อกับแม่ทุกข์ใจเลย อย่าทำให้พ่อกับแม่ ถูกพระราชาทั่วชมพูทวีปดูหมิ่นดูแคลนว่า มีลูกง่อยเปลี้ยเสียขาเลย” แม้พระชนกพระชนนี จะวิงวอนถึงอย่างนี้ พระเตมีย์ก็ยังบรรทมนิ่ง เหมือนไม่ได้ยินพระดำรัสนั้น พระชนก พระชนนี ทั้งสอง ต่างก็ทรงกรรแสงร่ำไห้เสด็จจากไป

บางคราว พระชนกเสด็จไปวิงวอนพระองค์เดียว บางคราว พระชนนีเสด็จไปวิงวอนพระองค์เดียว บางคราว ก็เสด็จไปพร้อมกันทั้งสองพระองค์ เมื่อล่วงไปหนึ่งปี ก็จับพิรุธไม่ได้

ในกาลเมื่อพระเตมีย์อายุได้ ๑๖ ชันษา เหล่าอำมาตย์และพราหมณ์ ต่างเห็นพ้องกันว่า  แม้พระกุมาร จะเป็นง่อยเปลี้ย เป็นใบ้ หรือเป็นคนหูหนวกก็ตาม แต่บัดนี้ พระกุมารเจริญชันษาเป็นหนุ่มแน่น ย่อมมีอารมณ์กำหนัดยินดีในกาม ตามธรรมชาติของชายหนุ่ม เหมือนดอกไม้  เมื่อถึงคราวบาน ก็ต้องแย้มบาน พวกเราจะให้นางสนมฟ้อนรำ บำเรอ ยั่วยวน เพื่อทดลองพระกุมาร

พระเจ้ากาสิกราชรับสั่งให้เรียกสนมนักฟ้อนรุ่นดรุณี สัดส่วนเรือนร่าง ทรวดทรงงดงามสมส่วนมารับสั่งว่า “หญิงใด สามารถทำให้พระกุมารร่าเริง หรือผูกพันพระกุมารไว้ได้ เราจะอภิเษกหญิงนั้น ให้เป็นอัครมเหสีของพระกุมาร”

นางนมทั้งหลายสรงสนานพระกุมารด้วยน้ำหอม ตกแต่งราวกับเทพบุตร ให้บรรทม บนพระสิริไสยาสน์ที่ตกแต่งไว้อย่างดี อบห้องให้มีกลิ่นหอม ประดับตกแต่งด้วยช่อดอกไม้ และเครื่องอบต่าง ๆ แล้วออกไป จากนั้น หญิงดรุณีเหล่านั้น ได้พากันแวดล้อมพระเตมีย์ พยายาม ให้พระเตมีย์อภิรมย์ ด้วยการฟ้อนรำบ้าง ด้วยการขับร้องอันไพเราะบ้าง ด้วยการขับกล่อมบทกลอนทำนองเสนาะบ้าง

พระโพธิสัตว์ทรงสมบูรณ์ด้วยพระปัญญาอันเลิศ มิได้ชายตาดูหญิงเหล่านั้นเลย  ทรงอธิษฐานว่า “หญิงเหล่านี้ อย่าได้ถูกเนื้อต้องตัวเราเลย” แล้วทรงกลั้นลมหายใจเข้าออก  พระสรีระของพระองค์ ก็กลับแข็งกระด้างทันที หญิงเหล่านั้นตกใจกลัว คิดว่า พระกุมารไม่ใช่มนุษย์ พระกุมารเป็นยักษ์ ร่างกายจึงแข็งกระด้าง จึงพากันแตกตื่นหนีไป

          พระราชาตรัสถามหญิงสาวทั้งหลายว่า “ลูกเราหัวเราะกับพวกเธอบ้างหรือไม่” หญิงสาวทั้งหลายกราบทูลตามความเป็นจริง ทำให้พระราชาทรงท้อพระหทัยเป็นอย่างยิ่ง เมื่อล่วงไปหนึ่งปี   อำมาตย์ทั้งหลาย ก็จับพิรุธไม่ได้

ถูกนำไปฝังทั้งเป็น

พระราชาตรัสถามพราหมณ์ผู้ทำนายลักษณะว่า “เมื่อแรกที่ลูกเราเกิด พวกท่านบอกเราว่า พระกุมารสมบูรณ์ด้วยบุญลักษณะอันประเสริฐ อันตรายนานาประการไม่สามารถแผ้วพานลูกเราได้  บัดนี้ ลูกเราเป็นง่อยเปลี้ย เป็นใบ้ ทั้งหูหนวก ไม่จริงดังคำทำนาย พวกท่านจะว่าอย่างไร”

พวกพราหมณ์ เห็นการณ์ผิดไปจากนิมิตที่ตนทำนายไว้เช่นนั้น เกรงราชทัณฑ์จึงกราบทูลแก้ตัวว่า “พระอาญามิพ้นเกล้า พวกข้าพระองค์ทราบนิมิตทั้งหลายจนหมดสิ้นมาตั้งแต่แรกแล้ว  แต่เพราะพระกุมารนี้ เป็นพระโอรสที่ราชสกุลทำความปรารถนาจึงได้มา เมื่อพวกข้าพระองค์ กราบทูลว่า เป็นกาลกิณี ตั้งแต่แรกประสูติ พระองค์ก็จะเสียใจ เพราะเหตุนั้น พวกข้าพระองค์จึงไม่กราบทูลให้ทรงทราบตั้งแต่แรก”

พระราชาตรัสถามเหล่าพราหมณ์ว่า ควรจะทำอย่างไรต่อไป พวกพราหมณ์สบโอกาส จึงกราบทูลว่า “ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ถ้าพระกุมารยังอยู่ในพระราชมณเฑียรต่อไป จะประสบเคราะห์กรรมอย่างร้ายแรงถึง ๓ ประการด้วยกัน คือ พระองค์จะถึงแก่ชีวิต เศวตฉัตรจะถึงกาลล่มสลาย และพระอัครมเหสีจะถึงแก่ชีวิต ควรที่พระองค์จะชักช้าไม่ได้ ขอได้โปรดเตรียมรถอวมงคล เทียมด้วยม้าอวมงคล นำพระราชกุมารบรรทมบนรถอวมงคล ออกทางประตูทิศตะวันตก ขุดหลุมฝังเสียในป่าช้าผีดิบ”

พระเจ้ากาสิกราช สดับเช่นนั้น เหมือนพระหทัยจะแตกสลาย แม้จะสงสารลูก แต่ก็ทรงหวาดกลัวภยันตรายที่จะเกิดขึ้น จึงมีบัญชาให้นำพระโอรสไปฝังตามคำกราบทูลของพราหมณ์

พระมารดาทราบดังนั้น จึงรีบเสด็จเข้าเฝ้าพระราชาเพียงลำพังพระองค์เดียว กราบทูลทวงพรที่เคยฝากไว้คืน พระราชาให้เลือกขอพรได้ตามปรารถนา พระนางกราบทูลขอราชสมบัติให้พระโอรส พระราชาไม่ทรงยินยอม พระเทวีทูลถามถึงสาเหตุที่ไม่ทรงยินยอม พระราชาตรัสว่า  “ลูกของเรา เป็นกาลกิณี” พระนางกราบทูลว่า “ถ้าไม่พระราชทานตลอดชีวิต ก็ขอได้โปรดพระราชทานราชสมบัติ ๗ ปี” พระราชาไม่ทรงยินยอม พระเทวีได้ขอให้ครองราชสมบัติลดลงตามลำดับจาก ๖ ปี จนถึง ๑ ปี พระราชาก็ไม่ทรงยินยอม จึงทูลขอลดลงจาก ๗ เดือน จนถึง ๑ เดือน แม้เช่นนั้น พระราชาก็ไม่ทรงยินยอม พระเทวีจึงทูลขอเพียง ๗ วัน พระราชาจึงทรงยินยอม

เมื่อพระราชาทรงอนุญาต พระเทวีจึงประดับตกแต่งพระโอรส แล้วโปรดให้ประกอบพิธีราชาภิเษก ป่าวประกาศไปทั่วพระนครว่า “ราชสมบัตินี้ เป็นของพระเตมีย์ราชกุมาร” ให้ประดับทั่วทั้งพระนคร นำพระโอรสประทับบนคชาธาร ยกเศวตฉัตรขึ้นเหนือพระเศียร จัดริ้วขบวนแห่กระทำประทักษิณรอบพระนคร ครั้นเสร็จพิธีราชาภิเษกแล้ว ให้พระโอรสบรรทมบนพระยี่ภู่อันมีสิริ

พระราชมารดาตรัสวิงวอนตลอด ๕ วัน ๕ คืนว่า “เตมีย์ลูกแม่ แม่ไม่เป็นอันหลับอันนอน  ร้องไห้มาตลอด ๑๖ ปี เพราะลูก ตาทั้งสองข้างของแม่บวมช้ำ หัวใจแม่เจ็บปวด เพราะความทุกข์โศก  แม่รู้ว่า ลูกไม่ใช่คนง่อยเปลี้ย ลูกอย่าทำให้แม่ไร้ที่พึ่งเช่นนี้เลย นี่ก็จะหกวันแล้ว ที่ลูกได้ครองราชสมบัติ พระราชารับสั่งนายสารถีชื่อสุนันทะเอาไว้ว่า “สุนันทะ พรุ่งนี้ จงเอาม้าอวมงคล             เทียมด้วยรถอวมงคล แต่เช้าตรู่ นำลูกเราออกจากพระนครไปทางประตูทิศตะวันตก ประกาให้ผู้คนทั้งหลายรู้ว่า คนกาลกิณีจะไปป่าช้าผีดิบ จงขุดหลุมฝังลูกเราที่ป่าช้าผีดิบ” พรุ่งนี้เช้า  ลูกจะถูกนำไปฝังที่ป่าช้าผีดิบแล้วนะลูก แม่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างไร”

พระเตมีย์ ได้ยินเช่นนั้น กลับมีจิตใจแช่มชื่นว่า “เตมีย์ ความพยายามที่เจ้าทำมาตลอด ๑๖ ปี จะถึงที่สุดแห่งความหวังในวันพรุ่งนี้แล้ว” เมื่อพระโพธิสัตว์ดำริอยู่อย่างนี้ ก็เกิดปีติ  เอิบอิ่มขึ้นภายในใจอย่างประหลาด แต่พระมารดากลับระทมทุกข์เจ็บปวดเหมือนใจจะขาด  แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น พระโพธิสัตว์ ก็ทรงดำริว่า “ถ้าพูดอะไรออกไปตอนนี้ ความตั้งใจของเรา  จะไม่สัมฤทธิ์ผล” จึงไม่ยอมตรัสอะไรกับพระชนนีเลย

ราตรีนั้นผ่านไปอย่างเงียบเหงา จนรุ่งเช้า พระเทวีสรงสนานพระโอรส ประดับตกแต่งแล้วให้พระโอรสประทับนั่งบนพระเพลา สวมกอดพระโอรสไว้แนบอกร้องไห้ปิ่มจะขาดใจ  ทรงหวาดกลัวพระอาทิตย์ที่กำลังสาดแสงจับขอบฟ้าด้านทิศตะวันออก

เช้าวันนั้น นายสารถีลุกขึ้นเทียมรถแต่เช้าตรู่ ด้วยบารมีพระโพธิสัตว์ เทวดาที่สถิตอยู่ในราชมณเฑียร ดลใจให้นายสารถีนั่งรถมงคลที่เทียมด้วยม้ามงคล ขับออกมาหยุดอยู่ที่ประตูพระราชนิเวศน์ แล้วเข้าสู่ห้องบรรทมพระเตมีย์ ถวายบังคมพระเทวีแล้ว กราบทูลว่า “ข้าแต่พระเทวี ขอพระองค์อย่าได้กริ้วข้าพระองค์เลย ข้าพระองค์รับพระราชบัญชามา จึงต้องทำตามรับสั่ง” ครั้นกราบทูลดังนี้แล้ว เอามือกันพระเทวีซึ่งนั่งร้องไห้สวมกอดพระโอรสอยู่ ให้ถอยห่างออกไป แล้วอุ้มพระกุมารลงจากปราสาท

พระนางจันทาเทวีทรงสยายพระเกศา ทุบอก ปริเทวนาการ ร้องไห้คร่ำครวญเจียนจะขาดใจ ท่ามกลางความเศร้าสลดของนางสนมในปราสาท

พระเตมีย์ทอดพระเนตรเห็นพระมารดาร้องไห้เหมือนพระทัยจะแตกสลาย ทรงดำริว่า  เมื่อไม่พูด พระชนนีจะต้องอกแตกตาย จึงประสงค์จะพูดด้วย แต่ทรงพิจารณาต่อไปว่า ถ้าพระองค์พูดกับพระชนนี ความพยายามที่อดทนทำมาตลอด ๑๖ ปี ก็จะสูญเปล่า เมื่อไม่พูด จะเป็นประโยชน์แก่ตนเอง แก่พระชนก พระชนนี และแก่มหาชนเป็นอันมาก” ดำริเช่นนี้แล้ว สู้อดกลั้นความโศกเอาไว้ ไม่ตรัสอะไรกับพระชนนีเลย

นายสุนันทสารถี อุ้มพระราชกุมารขึ้นรถแล้ว ตั้งใจจะขับรถตรงไปประตูทิศตะวันตก ซึ่งเป็นที่ตั้งป่าช้าผีดิบ แต่ถูกเทวดาดลใจ ให้ขับรถตรงไปทางประตูทิศตะวันออก

ครั้นล้อรถกระทบธรณีประตูนอกพระนคร พระโพธิสัตว์สดับเสียงนั้นแล้ว ทรงดำริว่า ความปรารถนาของพระองค์สัมฤทธิ์ผลแล้ว เกิดแช่มชื่นเบิกบานใจอย่างประหลาด รถแล่นออกจากพระนครผ่านชุมชน ท้องนา ป่าเขา ไปไกล ล่วงเข้าสู่ราวป่าใหญ่อันรกชัฎแห่งหนึ่ง นายสารถีกลับรู้สึกไปว่า เป็นป่าช้าผีดิบ พิจารณาดู เห็นว่า ที่นี่เหมาะ จึงหยุดรถเปลื้องเครื่องทรง แต่งองค์พระราชกุมารออก ห่อวางไว้ใกล้ราชรถ แล้วลงมือขุดหลุมไม่ห่างไกลจากราชรถนัก

พระเตมีย์ดำริว่า “เราไม่ได้ขยับเนื้อขยับตัวมา เป็นเวลานานถึง ๑๖ ปี เรายังมีกำลังอยู่หรือเปล่า” จึงทดลองลุกขึ้น เอาพระหัตถ์ขวาลูบพระหัตถ์ซ้าย พระหัตถ์ซ้ายลูบพระหัตถ์ขวา  แล้วนวดพระบาททั้งสองข้าง ทรงคิดจะลงจากราชรถ แผ่นดินก็กลับสูงขึ้นเสมอท้ายราชรถจนเกยพระบาท

พระเตมีย์เสด็จลงจากราชรถ เดินกลับไปกลับมาครู่หนึ่ง ก็ทรงสัมผัสได้ถึงพละกำลังที่เต็มเปี่ยม สามารถเดินได้ไกลถึง ๑๐๐ โยชน์ ภายในวันเดียว เมื่อทรงพิจารณาต่อไปว่า  หากนายสารถีทำร้าย จะมีกำลังพอที่จะสู้ได้หรือไม่ จึงทดลองจับท้ายรถ แล้วยกขึ้นกวัดแกว่งไปมา เหนือพระเศียร เหมือนยกรถเด็กเล่น ครั้นทรงพิจารณาเห็นว่า พระองค์มีกำลังพอจะสู้กับนายสารถีได้ จึงประสงค์จะได้เครื่องประดับพระองค์

ท้าวสักกเทวราชทราบว่า ความปรารถนาของพระเตมีย์ถึงที่สุดตามที่ต้องการแล้ว บัดนี้  มีความประสงค์จะได้เครื่องประดับ จึงให้วิสสุกรรมเทพบุตรนำเครื่องประดับทิพย์ไปประดับพระโพธิสัตว์ให้เหมือนกับท้าวสักกเทวราช

          พระเตมีย์เสด็จไปยืนใกล้หลุมที่นายสารถีกำลังขุดอยู่ ตรัสถามว่า “นายสารถี ท่าน ก้มหน้าก้มตาขุดหลุมนี้ทำไม ท่านจะใช้หลุมทำอะไร”

นายสารถีได้ยินเสียงคนทักอยู่ไม่ไกล แต่ก็มิได้เงยหน้าขึ้นดู ยังคงขุดหลุมต่อไป พลางตอบว่า  “พระโอรสของพระราชาเรา เป็นใบ้ หูหนวก ง่อยเปลี้ย เหมือนคนไม่มีจิตใจ พระราชารับสั่ง ให้เรานำมาฝังในป่าช้าผีดิบนี้”

พระเตมีย์ตรัสกับนายสารถีว่า “นายสารถี พระราชาสั่งให้ท่านฝังพระโอรสผู้เป็นใบ้ หูหนวก  ง่อยเปลี้ย แต่เราไม่ใช่คนหูหนวก ไม่ใช่คนใบ้ ง่อยเปลี้ย และไม่มีอวัยวะพิกลพิการแต่อย่างไร             ถ้าท่านฝังเราผู้ไม่ได้เป็นคนพิการเช่นนั้น ท่านก็ทำในสิ่งที่ไม่เป็นธรรม”

พระเตมีย์เห็นท่าทางนายสารถี แม้ฟังคำนั้นแล้ว ก็ยังไม่มองดูพระองค์ ยังคงก้มหน้าก้มตาขุดหลุมต่อไป ทรงประสงค์จะให้นายสารถีทราบว่า พระองค์ คือ พระเตมีย์ ไม่ได้หูหนวก ไม่ได้  เป็นใบ้ ไม่ได้ง่อยเปลี้ย จึงตรัสว่า “นายสารถี เพื่อนเอ๋ย หากคิดว่า เราง่อยเปลี้ย ก็จงดูขา  ทั้งสองข้างของเราเถิด เป็นเหมือนลำกล้วยทองคำ แม้แขนทั้งสองข้างของเรา ก็มีผิวพรรณ ดังใบกล้วยทองคำ ได้ยินคำอันไพเราะของเราไหม เมื่อท่านเห็นแล้ว ยังใจดำฝังเราได้ ท่านก็ทำในสิ่งที่ไม่เป็นธรรม

นายสารถีคิดว่า ใครกันนี่ พอมาถึง ก็ยกยอปอปั้นตนเองอยู่ได้ จึงหยุดขุดหลุม เงยหน้าขึ้นดูได้เห็นรูปร่างพระโพธิสัตว์ เกิดประหลาดใจ ไม่ทราบว่า ชายผู้นี้ เป็นมนุษย์หรือเทวดา จึงถามว่า  “ท่านเป็นใครกัน เป็นเทวดา คนธรรพ์ หรือพระอินทร์ ท่านเป็นลูกเต้าเหล่าใคร จึงมายืนยกยอปอปั้นตนเองอยู่เช่นนี้”

พระโพธิสัตว์ตรัสว่า “เราไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่คนธรรพ์ ไม่ใช่พระอินทร์ แต่อย่างไร เราเป็นโอรสพระเจ้ากาสิกราชที่ท่านกำลังขุดหลุมฝัง เป็นโอรสของพระราชาที่ท่านพึ่งพระบารมีเลี้ยงชีพ  อยู่ในเวลานี้ จงฟังเราเถิดนายสารถี ผู้ใดอาศัยนั่งหรือนอนใต้ร่มไม้ ไม่ควรหักรานกิ่งต้นไม้นั้น  เพราะเขาผู้นั้น จะได้ชื่อว่า เป็นคนเนรคุณมิตร เป็นคนหยาบช้า พระราชาเป็นเหมือนต้นไม้  เราผู้เป็นโอรส เป็นเหมือนกิ่งไม้ ส่วนท่านเล่า เป็นเหมือนคนอาศัยร่มไม้ ถ้าท่านฝังเราเสียในป่า   ท่านก็ทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม”

ถึงแม้พระโพธิสัตว์ จะตรัสอย่างนี้ นายสารถีก็ยังไม่เชื่อว่า พระองค์ คือ พระเตมีย์กุมาร  แต่เพราะถ้อยคำพระโพธิสัตว์อ่อนโยนไพเราะจับใจ จึงทำให้นายสารถียืนฟังอยู่

ประกาศคาถาว่าด้วยน้ำใจมิตร

พระโพธิสัตว์ ดำริว่า จะต้องทำให้นายสารถี เชื่อให้ได้ว่า พระองค์ คือ เตมีย์กุมาร พระโอรสของพระเจ้ากาสิกราช จึงประกาศคาถาว่าด้วยน้ำใจมิตรดังกึกก้องไปทั่วราวป่าแห่งนั้นว่า

“ผู้ใดไม่เนรคุณมิตร ชนเป็นอันมาก ก็ได้พึ่งพาอาศัยเขาเลี้ยงชีพ เขาจากเรือนไปที่ไหน ๆ  ย่อมอุดมสมบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหาร

ผู้ใดไม่เนรคุณมิตร เขาไปสู่ชนบท หมู่บ้าน หรือราชธานีใด ๆ จะได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติคุณ ได้รับการนับถือจากหมู่ชนเป็นอันมากในที่นั้น ๆ โจรทั้งหลายไม่อาจข่มเหงเขาผู้นั้นได้   แม้กษัตริย์ก็ไม่ทรงดูหมิ่น เขาผู้นั้นจะชนะข้าศึกศัตรูผู้มุ่งร้ายทั้งปวงได้

ผู้ใดไม่เนรคุณมิตร เมื่อเขาผู้นั้นกลับมาเรือนของตน ก็มิได้กลับมาด้วยความรู้สึกหงุดหงิดโกรธเคืองใคร ๆ จะเป็นผู้โดดเด่น เป็นที่ชื่นชมยินดี ได้รับคำยกย่องสรรเสริญอย่างมากมาย  ท่ามกลางหมู่ญาติ เขาผู้นั้นให้ความเคารพ นอบน้อม ยกย่อง สรรเสริญคนอื่น และคนอื่นก็จะให้ความเคารพ นอบน้อม ยกย่อง สรรเสริญเขาเช่นกัน

ผู้ใดไม่เนรคุณมิตร เขาผู้นั้นบูชาคนอื่นย่อมได้รับการบูชาตอบ ไหว้ผู้อื่นย่อมได้รับ                    การไหว้ตอบ และย่อมเข้าถึงความเป็นผู้เจริญด้วยเกียรติยศ ชื่อเสียง สิริ มีความเจริญรุ่งเรือง   ดุจกองเพลิง ย่อมรุ่งเรืองไพโรจน์ยิ่ง ดุจเทวดาผู้มีเดชานุภาพมาก โคทั้งหลายของบุคคลผู้นั้นจะตกลูกเพิ่มจำนวนมากขึ้น พืชธัญญาหารที่หว่านไว้ในนา ย่อมเจริญงอกงาม จะได้ประโยชน์จากพืชผลที่หว่านไว้ แม้ประสบอุบัติเหตุพลัดตกจากเหว จากภูเขา พลาดตกต้นไม้ หรืออันตรายแก่ชีวิตโดยประการใด ๆ ก็จะได้ที่พึ่งที่อาศัย

ผู้ใดไม่เนรคุณมิตร เหล่าศัตรูย่อมย่ำยีเขาผู้นั้นไม่ได้ ดุจต้นไทรที่หยั่งรากไปทั่ว ย่อมเจริญงอกงาม แผ่กิ่งก้านใบดกหนา พายุไม่อาจพัดโหมกระหน่ำให้หักโค่นล้มได้”

แม้พระโพธิสัตว์ จะตรัสถึงเพียงนี้ นายสุนันทสารถี ก็ยังจำพระองค์ไม่ได้ คิดสงสัยว่า คนผู้นี้ เป็นใครกันแน่ แล้วลุกขึ้น เดินไปที่รถ ไม่เห็นพระโอรสและห่อเครื่องประดับ จึงกลับมามองดูอีกครั้ง  ก็จำพระองค์ได้ จึงทรุดหมอบลงแทบพระบาทประนมมือทูลวิงวอนพระโพธิสัตว์ว่า “เชิญเสด็จเถิดพระเจ้าข้า ข้าพระองค์จะนำกลับคืนสู่พระนคร ขอพระองค์จงครองราชสมบัติ ขอพระองค์จงมu พระชนม์ยิ่งยืนนาน”

พระโพธิสัตว์ตรัสกับนายสุนันทสารถีว่า “พอทีเถอะ เราไม่ต้องการราชสมบัติหรอกนายสารถี แต่เราต้องการปฏิบัติธรรม”

นายสุนันทสารถี คิดว่า อย่างไรเสีย พระกุมารก็คงจะเสด็จกลับพระนครเพื่ออนุเคราะห์เรา  จึงกราบทูลว่า “เมื่อพระองค์เสด็จกลับจากป่าแห่งนี้ พระชนกและพระชนนีจะพระราชทานรางวัลมากมายแก่ข้าพระองค์ เหล่าพระสนม กุมาร พ่อค้า และพราหมณ์ทั้งหลาย จะยินดีให้รางวัล  ข้าพระองค์ เหล่ากองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ กองพลทหารราบทั้งหมด ก็จะยินดีให้รางวัล  ข้าพระองค์ แม้แต่ชาวชนบท ชาวหมู่บ้าน ผู้มีธัญญาหารมาก ก็จะชุมนุมกันให้เครื่องบรรณาการ  ข้าพระองค์ ขอพระองค์เชิญเสด็จกลับคืนสู่พระนครเถิด พระเจ้าข้า”

พระโพธิสัตว์สดับดังนั้น จึงตรัสตอบว่า “พระชนกและพระชนนีสละเราแล้ว กุมารทั้งปวง และชาวพระนคร ตลอดจนอาณาประชาราษฎร์ ต่างก็สละเราแล้วเช่นกัน เราไม่มีเหย้าเรือน  แม้พระชนกพระชนนีทั้งสองก็ทรงอนุญาต เราจะบวชอยู่ในป่าคนเดียว ไม่ปรารถนากามคุณ ทั้งหลาย”

เมื่อพระโพธิสัตว์ตรัสถึงคุณธรรมของตนเช่นนี้ พลันปีติก็เกิดขึ้นท่วมท้นจิตใจ จึงทรงเปล่งอุทานด้วยกำลังแห่งปีติว่า “ความหวังผลของเหล่าชนผู้ไม่รีบร้อน อดทนเพียรพยายามอยู่ร่ำไป ย่อมสำเร็จผลในวันหนึ่งอย่างแน่นอน นายสารถี เพื่อนเอ๋ย ท่านจงรู้ไว้เถิดว่า เราออกบวชประพฤติพรหมจรรย์เรียบร้อยแล้ว ภัยในนรกจะมีแต่ที่ไหน”

นายสารถียังไม่ลดละความพยายาม คิดว่า หากทำให้พระองค์สงสาร อย่างไรเสีย พระกุมาร ก็จะต้องเสด็จกลับพระนคร จึงกราบทูลว่า “พระองค์มีวาจาไพเราะอ่อนโยนเช่นนี้ เหตุใดจึงไม่ตรัสในพระราชสำนักของพระชนกพระชนนีเล่า”

พระโพธิสัตว์ตรัสว่า “เราเป็นคนง่อยเปลี้ย เพราะไม่มีเส้นเอ็นยึดโยงร่างกายก็หาไม่   เราเป็นคนหูหนวก เพราะไม่มีโสตประสาทก็หาไม่ เราเป็นใบ้ เพราะไม่มีลิ้นก็หาไม่ ท่านอย่าได้เข้าใจว่า เราเป็นใบ้ แต่เราระลึกชาติได้ว่า เคยเกิดเป็นกษัตริย์ครองราชสมบัติในมหาเศวตฉัตรนั้น  เป็นเวลา ๒๐ ปี กลับไปเกิดในนรกหมกไหม้นานถึง ๘๐,๐๐๐ ปี เรากลัวการครองราชสมบัติ  จึงอธิษฐานใจว่า ขอชนทั้งหลาย อย่าได้อภิเษกเราในราชสมบัติเลย เราจึงไม่พูดในราชสำนัก  พระชนกและพระชนนี ในเวลานั้น พระชนกอุ้มเราให้นั่งบนตัก แล้วพิพากษาพวกนักโทษว่า   “จงฆ่าโจรคนหนึ่ง จงจองจำโจรคนหนึ่ง จงเอาหอกแทงโจรคนหนึ่ง แล้วเอาน้ำกรดราดแผล  จงเสียบโจรคนหนึ่งบนหลาว” เราได้ฟังคำพิพากษาอันหยาบคายที่พระชนกตรัสสั่งเจ้าหน้าที่  อย่างนี้ จึงกลัวการครองราชสมบัติ เราไม่เป็นใบ้ ก็ทำเหมือนคนเป็นใบ้ ไม่ง่อยเปลี้ย ก็ทำเหมือน คนง่อยเปลี้ย แกล้งนอนเกลือกกลิ้งอยู่ในอุจจาระปัสสาวะของตน

นายสารถี เพื่อนเอ๋ย ชีวิตมนุษย์เรานี้ ลำบากยิ่งนัก เป็นของน้อย ทั้งเต็มไปด้วยทุกข์  ใครเล่าจะอาศัยชีวิตซึ่งน้อยนิดนี้ สร้างเวรกรรม เพราะไม่มีปัญญา เพราะไม่เข้าใจธรรม ”

พระโพธิสัตว์ตรัสอุทานซ้ำอีก เพื่อประกาศเจตนารมณ์อันแรงกล้าในการตัดสินใจที่จะไม่เสด็จกลับคืนพระนครว่า “ความหวังผลของเหล่าชนผู้ไม่รีบร้อน อดทนบำเพ็ญเพียรอยู่ร่ำไป  ย่อมสำเร็จผลในวันหนึ่งอย่างแน่นอน นายสารถี ท่านจงรู้ไว้เถิดว่า เราออกบวชประพฤติพรหมจรรย์เรียบร้อยแล้ว ภัยในนรกจะมีแต่ที่ไหนเล่า”

นายสุนันทสารถีได้ฟังดังนั้นจึงคิดว่า พระกุมารมีราชสมบัติมหาศาลเช่นนี้ ยังทิ้งเข้าป่า  ตั้งใจออกบวชอย่างไม่ไยดี เหมือนทิ้งซากศพเสียอย่างนี้ แล้วเราจะต้องการอะไรกับชีวิตอันไม่สมประกอบของเรา เราจะบวชกับพระองค์ จึงกราบทูลว่า “ข้าแต่พระลูกเจ้า แม้ข้าพระองค์ก็จะบวชกับพระองค์  ขอพระองค์ได้โปรดให้ข้าพระองค์บวชด้วยเถิด”

แม้นายสารถีจะทูลวิงวอนอยู่อย่างนั้น พระโพธิสัตว์ก็ทรงดำริว่า “หากเราอนุญาตให้นายสารถีบวชในเวลานี้ พระชนกและพระชนนีของเรา ก็จะไม่เสด็จมาหาเรา เมื่อเป็นเช่นนี้  ความเสื่อมจะมีแก่พระองค์ทั้งสอง ม้า รถ และเครื่องประดับทั้งหลาย ก็จะสูญหายไป เราจะถูกครหาว่า นายสารถีนั้นไม่กลับมา คงจะถูกพระราชกุมารซึ่งเป็นยักษ์จับกินเสียแล้ว” ทรงพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อมิให้เกิดข้อครหา และพิจารณาถึงความเจริญแก่พระชนกและพระชนนีทั้งสองพระองค์ จึงเปลื้องเครื่องประดับ มอบให้นายสารถี พร้อมกับสั่งว่า “เรามอบรถให้ท่านแล้ว  ท่านจงนำกลับไปคืนราชสำนัก ปลดเปลื้องตนจากหนี้ก่อน ผู้ไม่มีหนี้เท่านั้น จึงจะบวชได้”

นายสารถีได้ฟังดังนั้น เกิดความกังวลใจว่า เมื่อเรากลับไปพระนครแล้ว ถ้าพระกุมารเสด็จไปที่อื่น พระราชบิดาเสด็จมาไม่พบ จะลงทัณฑ์เรา เพราะฉะนั้น เราจะขอคำยืนยันให้แน่ใจก่อนว่า พระองค์จะไม่เสด็จไปที่ไหน จนกว่าเราจะกลับมา จึงกล่าวว่า “เมื่อข้าพระองค์ทำตามพระดำรัสแล้ว แม้พระองค์ ก็ควรจะทำตามที่ข้าพระองค์ทูลขอ ขอพระองค์จงประทับรออยู่ที่นี้ จนกว่าข้าพระองค์จะนำพระราชาเสด็จมา พระราชบิดาทอดพระเนตรเห็นพระองค์แล้ว จะทรงปีติ โสมนัสเอิบอิ่มใจอย่างยิ่งเป็นแน่”

พระโพธิสัตว์ตรัสว่า “นายสารถี เราจะทำตามคำร้องขอของท่าน แม้ตัวเราเอง ก็อยากเห็นพระชนก พระชนนี และพระประยูรญาติทั้งหลายของเรา เสด็จมาสถานที่แห่งนี้ จงกลับไปเถิดนายสารถี เพื่อนรัก จงกราบทูลพระชนกพระชนนีตามที่เราสั่ง”

ครั้นตรัสดังนี้แล้ว ก็น้อมพระองค์หันหน้าไปยังกรุงพาราณสี ถวายบังคมพระชนกพระชนนีจากที่ไกล ด้วยความเคารพรักอย่างเต็มเปี่ยม นายสารถีทำประทักษิณพระกุมาร กราบลงแทบพระยุคลบาท ลิงโลดใจเหลือประมาณ ขึ้นรถขับบ่ายหน้า ตรงไปยังกรุงพาราณสี

ในขณะนั้น พระนางจันทาเทวีเปิดหน้าต่างรอคอยการกลับมาของนายสารถี ด้วยต้องการจะทราบความเป็นไปของลูกว่า เป็นอย่างไร พอทอดพระเนตรเห็นรถว่างเปล่า นายสารถีกลับมาเพียงคนเดียว พระหทัยแทบแตกสลาย ทรงร้องไห้ฟูมฟายปริเทวนาการว่า “นายสารถีฝังลูกเราเสียแล้ว เพราะนายสารถีกลับมาคนเดียว ปัจจามิตรทั้งหลายจะเย้ยหยันยินดี ศัตรูทั้งหลายจะกระหยิ่มใจ เพราะสามารถฝังลูกเราได้แล้ว” ทรงกรรแสงโศกเศร้าตรัสถามนายสารถี  ด้วยพระอัสสุชลนองพระเนตรว่า “ลูกเราเป็นง่อย ใบ้ หรือตรัสอะไรกับเธอบ้าง เขาขยับมือขยับเท้าบ้างไหม เขาร้องขอชีวิตหรือเปล่าขณะถูกฝัง”

นายสุนันทสารถีเห็นพระเทวีร้องไห้แทบขาดใจ ก็สงสารอย่างจับใจ แต่ไม่กล้ากราบทูลเรื่องทั้งหมด เพราะคิดว่า ถ้ากราบทูลว่า พระโอรสไม่ได้เป็นใบ้ ไม่ได้ง่อยเปลี้ย ไม่ได้หูหนวก มีพระดำรัสไพเราะเสนาะกล่าวธรรมได้อย่างจับใจ พระราชาจะกริ้วว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไร จึงไม่พาพระกุมารกลับมา แล้วสั่งลงพระราชอาญา โดยที่ยังไม่ได้รับฟังรายละเอียด ควรขอพระราชทานอภัยโทษก่อน จึงกราบทูลว่า “ข้าแต่พระแม่เจ้า ขอพระแม่เจ้า โปรดประทานอภัยโทษแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ขอกราบทูลตามที่ได้ฟังได้เห็นในสำนักพระราชโอรส”

พระนางจันทาเทวีตรัสว่า “นายสารถี เธออย่ากลัวเลย จงบอกตามที่ท่านได้ฟัง ได้เห็นมาว่าลูกของเราเป็นอย่างไร”

นายสารถีกราบทูลว่า “พระโอรสไม่ได้เป็นใบ้ ไม่ได้ง่อยเปลี้ย พระองค์มีวาจาไพเราะ  ทรงกลัวที่จะได้ครองราชสมบัติ จึงคิดหาวิธีลวงอย่างมากมาย พระองค์ทรงระลึกชาติได้ว่า   เคยเป็นพระราชาครองราชสมบัติในชาติก่อนเป็นเวลา ๒๐ ปี แล้วต้องไปตกนรกหมกไหม้อยู่ถึง ๘๐,๐๐๐ ปี เพราะกลัวจะต้องครองราชสมบัติอีกครั้ง จึงทรงอธิษฐานว่า “ขอชนทั้งหลายอย่าได้อภิเษกเราในราชสมบัติเลย” พระองค์จึงไม่ตรัสในราชสำนักพระชนกและพระชนนี พระโอรสทรงมีอวัยวะครบทั้ง ๓๒ ประการ มีพระรูปงดงามสมส่วน มีพระวาจาไพเราะอ่อนโยน ฉลาดหลักแหลม ถ้าพระองค์มีพระราชประสงค์จะพบพระโอรส ก็ขอเชิญรีบเสด็จเถิดพระเจ้าข้า  ข้าพระองค์จะนำเสด็จไปยังสถานที่ที่พระโอรสประทับอยู่”

สู่ทางโพธิญาณ

เมื่อพระเตมีย์กุมารส่งนายสารถีกลับไปแล้ว มีความประสงค์จะผนวช ขณะนั้น พระอินทร์ รับสั่งวิสสุกรรมเทพบุตรให้ไปสร้างบรรณศาลา และจัดเตรียมเครื่องบริขารสำหรับบรรพชิตให้พระโพธิสัตว์ วิสสุกรรมเทพบุตรลงจากสวรรค์มาเนรมิตอาศรมขึ้นในราวป่าประมาณ ๓ โยชน์  เนรมิตที่อยู่ในเวลากลางคืนและกลางวัน สระน้ำสำหรับดื่มกินสรงสนาน ทำสถานที่นั้นให้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นไม้มีผลทุกฤดูกาล เนรมิตที่เดินจงกรม เกลี่ยด้วยทรายเนื้อละเอียดใกล้บรรณศาลา เนรมิตเครื่องบริขารสำหรับบรรพชิตทุกอย่าง แล้วเขียนหนังสือประกาศไว้ว่า “กุลบุตรผู้ใดผู้หนึ่งต้องการบวช จงใช้เครื่องบริขารสำหรับบรรพชิตเหล่านี้ บวชเถิด” แล้วกลับสู่ทิพยวิมานของตน

พระโพธิสัตว์ทอดพระเนตรเห็นอาศรมนั้น ทรงอ่านข้อความประกาศ ก็ทรงทราบได้ทันทีว่า  พระอินทร์ประทานให้ จึงเสด็จเข้าบรรณศาลา เปลื้องเครื่องแต่งตัวออก ทรงนุ่งผ้าเปลือกไม้สีแดงผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่ง พาดหนังเสือเฉวียงพระอังสา ม้วยเกล้าพระเกสาให้เป็นชฎา ถือไม้เท้าเสด็จออกจากบรรณศาลา เพื่อจะให้สิริแห่งภาวะความเป็นนักบวชสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงเสด็จจงกรม    กลับไปกลับมาในที่จงกรม ทรงเปล่งอุทานว่า “เราได้การบรรพชาแล้ว จึงเป็นสุข การบรรพชา     เป็นสุขจริงหนอ” แล้วเสด็จเข้าบรรณศาลา ประทับนั่งบนที่ลาดด้วยใบไม้ เจริญสมาธิ จนได้บรรลุอภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘

ครั้นตกเย็น ตะวันอ่อนแสงลงทาบเหนือทิวไม้ฟากตะวันตก ฝูงนกต่างส่งเสียงร้องเรียกกันกลับรวงรังกึกก้องแนวไพร พระองค์จึงเสด็จออกจากบรรณศาลา เก็บใบหมากเม่าท้ายที่จงกรม  นึ่งด้วยน้ำร้อนไร้รสเค็มรสเปรี้ยว จืดสนิท เสวยดุจกินอมฤตรส เจริญพรหมวิหาร ๔ แล้ว  พักอิริยาบถ สำราญอยู่ในป่าแห่งนั้น

ฝ่ายพระเจ้ากาสิกราช ทรงทราบจากนายสารถีว่า พระโอรสไม่ได้เป็นคนพิการเช่นนั้น ทรงยินดีเป็นอย่างยิ่ง รับสั่งให้มหาเสนาจัดเตรียมการเสด็จอย่างเร่งด่วน ให้ตระเตรียมขบวนรถเทียมม้า ผูกเครื่องประดับช้างทรง ตระเตรียมสังข์และบัณเฑาะว์ กลองตีหน้าเดียว กลองตีสองหน้า  และรำมะนาอันไพเราะ พระองค์จะเสด็จไปประทานพระโอรส ขอให้ชาวนิคม นางสนม กุมาร พ่อค้า และพราหมณ์ทั้งหลาย รีบเตรียมยาน กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ กองพลทหารราบ ให้เว้นม้าอ้วนอืดอาดไม่ว่องไว และม้าผอมไร้เรี่ยวแรง ให้เลือกเฉพาะม้าที่สมบูรณ์ว่องไวปราดเปรียว

พระราชาเตรียมประชุมพลถึง ๓ วัน จึงเสด็จออกจากพระนครพร้อมด้วยจตุรงคเสนาในวันที่ ๔ ให้นำทรัพย์ที่พอจะเอาไปได้ไปด้วย เสด็จขึ้นประทับบนม้าสินธพ แล้วสั่งให้นางฝ่ายในตามเสด็จทุกคน ให้เตรียมเครื่องราชกกุธภัณฑ์สำหรับราชาภิเษกทั้ง ๕ คือ พัดวาลวีชนี พระอุณหิส  พระขรรค์ เศวตฉัตร และฉลองพระบาททองไปด้วย ตรัสสั่งให้นายสารถีนำทางเสด็จเคลื่อนขบวนล่วงหน้าไปถึงป่าที่พระเตมีย์ฤาษีประทับอยู่อย่างเร่งด่วน

พระเตมีย์ฤๅษี ทอดพระเนตรเห็นพระราชบิดากำลังเสด็จมา ทรงรุ่งเรืองด้วยพระเดชานุภาพ  พร้อมพรั่งด้วยหมู่อำมาตย์ขัตติยวงศ์ จึงถวายพระพรทูลถามถึงทุกข์สุข ด้วยคำอันไพเราะอ่อนโยนว่า “ขอถวายพระพร มหาบพิตรทรงปราศจากโรคาพาธหรือ ทรงเป็นสุขสำราญดีหรือ ราชกัญญา ของพระองค์ และโยมมารดาของอาตมา ไม่มีโรคาพาธหรือ”

พระราชาตรัสว่า “พ่อไม่มีโรคาพาธอันใด สุขภาพร่างกายก็แข็งแรงดี ราชกัญญาทั้งปวง ของพ่อ และโยมมารดาของลูก ก็ไม่มีโรคภัย”

พระโพธิสัตว์ทูลถามว่า “มหาบพิตร ยังโปรดน้ำจัณฑ์อยู่หรือ ทรงยินดีในสัจจะ ในธรรม  และในทานอยู่บ้างหรือ”

พระราชาตรัสตอบว่า “พ่อไม่ดื่มน้ำจัณฑ์ ไม่โปรดน้ำจัณฑ์แล้ว ทุกวันนี้ ใจพ่อยินดีในสัจจะ ในธรรม และการให้ทาน”

พระโพธิสัตว์ทูลถามถึงพาหนะมีม้าและโคเป็นต้น ตลอดจนความเป็นไปของเหตุการณ์บ้านเมืองว่า “บ้านเมืองในชายแดนของมหาบพิตร สงบดีอยู่หรือ รัฐสีมามั่นคงดีอยู่หรือ ฉางหลวงและคลังหลวง ยังบริบูรณ์ดีอยู่หรือ”

พระราชาตรัสตอบว่า “บ้านเมืองสงบสุขดี ไม่มีโจรผู้ร้าย แม้ฉางหลวง และคลังหลวงก็บริบูรณ์ดี” พระโพธิสัตว์ให้ทหารทอดพระราชอาสน์ แล้วทูลเชิญให้พระราชาประทับนั่ง พระองค์ไม่ประทับนั่ง จึงให้ทหารลาดเครื่องลาดใบไม้ถวาย แม้เช่นนั้น พระองค์ก็ไม่ประทับนั่งบนเครื่องปูลาดใบไม้นั้น เพราะความเคารพต่อพระโอรสซึ่งบวชเป็นบรรพชิต แต่ประทับนั่งลงที่พื้นดินนั่นเอง พระโพธิสัตว์ได้เสด็จเข้าไปในบรรณศาลานำใบหมากเม่านึ่งออกมาหน่อยหนึ่ง  เพื่อจะแสดงการเป็นอยู่อย่างบรรพชิต ให้พระราชาทรงทราบ จึงเชิญพระราชาให้เสวยว่า  “มหาบพิตร ใบหมากเม่าของอาตมภาพนี้ สุกแล้ว ไม่มีรสเค็ม ขอมหาบพิตรผู้เสด็จมาเป็นแขก ของอาตมภาพ เสวยเถิด”

พระราชาตรัสตอบว่า“พ่อบริโภคใบหมากเม่าไม่ได้ และโภชนะก็ไม่ใช่อย่างนี้นี่ลูก พ่อบริโภคข้าวสุกที่หุงจากข้าวสาลี ปรุงด้วยเนื้อสะอาด” แต่เพราะความเคารพพระโพธิสัตว์ พระราชาจึงหยิบใบหมากเม่ามาวางไว้ที่ฝ่าพระหัตถ์ แล้วตรัสถามว่า “ลูกฉันอาหารอย่างนี้  ดอกหรือ”

พระโพธิสัตว์ทูลว่า “ใช่แล้ว มหาบพิตร” พระราชาประทับนั่ง รับสั่งกับพระโอรส อย่างสุขใจ

ในขณะนั้น พระนางจันทาเทวี แวดล้อมไปด้วยหมู่นางสนม เสด็จมาถึง เห็นพระโอรสผู้เป็นที่รัก ทรงมีพระหทัยสั่นอยู่ภายในพระอุระ ถึงกับเป็นลมล้มลงตรงนั้นเอง เมื่อฟื้นคืนสติก็ตรงเข้าจับพระบาทพระโอรส ทรงกราบลงแล้วร้องไห้ พระเนตรทั้งสองนองไปด้วยน้ำตา

พระราชาตรัสกับพระมเหสีด้วยพระวาจาเปี่ยมสุขว่า “จันทา เธอดูอาหารลูกเราเถิด” ทรงหยิบใบหมากเม่าวางในพระหัตถ์พระมเหสี แล้วประทานแก่นางสนมอื่น ๆ นางสนมทั้งหลาย  ต่างก็กล่าวกันว่า พระองค์เสวยอย่างนี้เลยหรือ ทำไมจึงทรงทำสิ่งที่ทำได้ยากยิ่งเช่นนี้ได้ นางสนมทุกคนเอาใบหมากเม่านั้น มาวางทูนไว้บนศีรษะของตน ๆ กราบนมัสการนั่งอยู่

พระราชาตรัสถามพระโพธิสัตว์ว่า “นี่เป็นเรื่องอัศจรรย์สำหรับพ่อเหลือเกิน เพราะพ่อได้มาเห็นลูกอยู่ในป่าคนเดียว ฉันอาหารไม่มีรสเค็ม ไม่มีรสเปรี้ยว ไม่ปรุงรส แต่เหตุไร ผิวพรรณลูกยังผ่องใส”

          พระโพธิสัตว์ทูลตอบว่า “ขอถวายพระพรมหาบพิตร อาตมภาพนอนคนเดียวตามลำพังบนเครื่องลาดใบไม้ เพราะการนอนคนเดียว จึงทำให้ผิวพรรณของอาตมาผ่องใส ไม่ต้องมีราชองครักษ์ถืออาวุธรักษาการ อาตมาไม่เศร้าโศกถึงอารมณ์ที่ล่วงไปแล้ว ไม่ละห้อยหาอารมณ์ที่ยังไม่มาถึงมีชีวิตอยู่กับปัจจุบันขณะ เพราะเหตุนั้น ผิวพรรณอาตมภาพจึงผ่องใส คนพาลทั้งหลายย่อมเศร้าหมอง เพราะเหตุ ๒ ประการ คือ เพราะละห้อยหาอารมณ์ที่ยังไม่มาถึง  เพราะเศร้าโศกถึงอารมณ์ที่ล่วงไปแล้ว เหมือนต้นอ้อที่ยังเขียวสด แต่ถูกถอนทิ้งไว้กลางแดด  ย่อมเหี่ยวแห้งไป”

พระราชาทรงดำริว่า เราจะอภิเษกลูกเราอยู่กลางป่านี้ แล้วพากลับคืนพระนคร  จึงตรัสว่า “พ่อขอมอบกองพลช้าง กองพลรถ กองพลม้า กองพลทหารราบ และกองพลหุ้มเกราะ ตลอดถึงพระราชนิเวศน์อันน่ารื่นรมย์ให้ลูก มอบนางสนมกำนัลในที่ประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพให้ลูก จงเป็นพระราชาของแผ่นดิน ปกครองอาณาประชาราษฎร์ให้ร่มเย็นเป็นสุข  สตรี ๔ คนนี้ ชำนาญในการฟ้อนรำขับร้อง ฝึกหัดมาดีแล้ว จะทำให้ลูกรื่นรมย์ในการใช้ชีวิต  ลูกจะอยู่ในป่าไปทำไม พ่อจะนำราชธิดาของพระราชาพระองค์อื่นที่สวยงาม มีการศึกษาดี  ทั้งฉลาดเฉลียว มาอภิเษกกับลูก ลูกจงให้ราชธิดาเหล่านั้นมีโอรสมากมาย ลูกยังเยาว์เป็นหนุ่มแน่น ยังมีเส้นผมดำสนิท จงครองราชสมบัติเถิด เมื่อชราแล้ว จึงค่อยบวช”

พระโพธิสัตว์ตรัสตอบว่า “มหาบพิตร คนเราควรประพฤติพรหมจรรย์ตั้งแต่ยังหนุ่มแน่น  การบวชควรเป็นเรื่องของคนหนุ่ม ท่านผู้แสวงหาคุณธรรมทั้งหลาย ต่างสรรเสริญการบวชประพฤติพรหมจรรย์ตั้งแต่ยังหนุ่มแน่น อาตมภาพปรารถนาที่จะประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ปรารถนาที่จะครองราชสมบัติ       

อาตมภาพเห็นลูกชายลูกหญิงอันเป็นที่รักของท่านทั้งหลาย ที่กว่าจะได้มาก็แสนยาก พวกเขาร้องเรียกพ่อแม่ฉอเลาะน่ารักน่าเอ็นดู ยังไม่ทันไรก็ตายจากไปเสียแล้ว เหมือนหน่อไม้ไผ่ยังอ่อนก็ถูกถอน แท้จริงแล้ว นรชนไม่ว่าจะยังหนุ่มแน่นหรือยังสาวก็ล้วนตายได้ทั้งนั้น ใครเล่าจะวางใจในชีวิตได้ว่า เรายังเด็ก ยังหนุ่ม อีกนานกว่าจะตาย”

อายุของคนเรานี้น้อยนัก วันคืนเล่า ก็ล่วงไปไม่หยุด เหมือนอายุของฝูงปลาในสระที่มีน้ำแห้งขอด ความเป็นหนุ่มสาวจะต่างอะไรจากอายุของฝูงปลาในสระที่มีน้ำเหลือน้อย สัตว์โลกถูกครอบงำและถูกรุมล้อมอยู่ตลอดเวลา   เมื่อคืนวันไม่ล่วงไปเปล่า แต่กลืนกินอายุ วรรณะ และกำลังให้สิ้นตามไปด้วย มหาบพิตรจะอภิเษกอาตมภาพให้ครองราชสมบัติทำไม”

พระราชาตรัสถามว่า “จงบอกพ่อเถิดว่า สัตว์โลกถูกอะไรครอบงำและถูกอะไรรุมล้อมไว้  คืนวันทำให้อายุ วรรณะ และกำลัง สิ้นไปอย่างไร”

พระโพธิสัตว์ตรัสตอบพระราชบิดาว่า “สัตว์โลกถูกความตายครอบงำไว้ ถูกความแก่   รุมล้อมไว้ตลอดเวลา ตั้งแต่วันที่ทารกถือปฏิสนธิในครรภ์มารดา อายุก็น้อยลงเรื่อย ๆ เพราะคืนวันล่วงไป ๆ ไม่ได้ล่วงไปเปล่า แต่กลืนกินอายุ วรรณะ และกำลัง ให้สิ้นตามไปด้วย ขอมหาบพิตรจงทรงทราบอย่างนี้ว่า เมื่อด้ายที่ช่างหูกกำลังทอผ้า ช่างหูกทอไปได้เท่าใด ส่วนที่จะต้องทอก็เหลือน้อยลงทุกขณะ ข้อนี้เป็นฉันใด นับจากวันที่เกิด ชีวิตสัตว์ก็เหลือน้อยลงทุกวันเช่นกัน แม่น้ำที่เต็มฝั่ง ย่อมไม่ไหลขึ้นสู่ที่สูง เปรียบเหมือนอายุของมนุษย์ทั้งหลาย เมื่อล่วงไปแล้ว ย่อมไม่กลับไปสู่ความเป็นเด็กอีกครั้ง แม่น้ำที่เต็มฝั่ง ย่อมพัดพาเอาต้นไม้ที่เกิดอยู่ริมฝั่งให้หักโค่นไป ไม่ต่างจากหมู่สัตว์ถูกความแก่และความตายพัดพาไป”

พระราชาทรงสดับธรรมกถาของพระโพธิสัตว์แล้ว ไม่มีความรู้สึกผูกพันในการครองเรือนอีกต่อไป ทรงเบื่อหน่ายเหลือเกิน ประสงค์จะออกผนวช เพื่อจะทรงทดลองพระโพธิสัตว์ จึงตรัสย้ำอีกว่า “พ่อจะไม่กลับพระนครอีกแล้ว จะบรรพชาในที่นี้แหละ ถ้าลูกกลับพระนคร พ่อจะมอบเศวตฉัตรให้ลูก พ่อขอมอบกองทัพ พระราชนิเวศน์อันน่ารื่นรมย์ ตลอดจนนางสนมกำนัลในทั้งหมดให้ลูก จงเป็นพระราชาของแผ่นดิน ปกครองอาณาประชาราษฎร์ให้ร่มเย็นเป็นสุข สตรี ๔ คน ชำนาญในการฟ้อนรำขับร้อง ได้รับการฝึกหัดมาดีแล้ว จะทำให้ลูกรื่นรมย์ในการใช้ชีวิต ลูกจะอยู่ในป่าไปทำไม พ่อจะนำราชธิดาของพระราชาพระองค์อื่นที่สวยงาม มีการศึกษาดี ทั้งฉลาดเฉลียว มาอภิเษกกับลูก ลูกจงให้ราชธิดาเหล่านั้นมีโอรสมากมาย ลูกยังเยาว์เป็นหนุ่มแน่น ยังมีเส้นผมดำสนิท จงครองราชสมบัติก่อนเถิด ค่อยบวชภายหลัง”

พระโพธิสัตว์ตรัสตอบว่า “มหาบพิตร พระองค์จะให้อาตมภาพเสื่อมเพราะทรัพย์ทำไม  ทำไมคนเราจึงจะตายเพราะภรรยา ทำไมคนหนุ่มต้องมาแก่ชราไปอย่างไร้ประโยชน์ เมื่อโลกเต็มไปด้วยชราและมรณะ เราจะมัวเที่ยวเพลิดเพลินเล่นหัวกันอยู่ทำไม จะมีประโยชน์อะไรที่อาตมายังจะต้องแสวงหาทรัพย์ แสวงหาบุตรและภรรยา อาตมภาพพ้นแล้วจากเครื่องผูก  เมื่อคนเรารู้ว่า ตัวเองต้องตายแน่แล้ว ก็จะไม่มีความยินดีในการแสวงหาทรัพย์อีกต่อไป ผลไม้ที่สุกแล้ว ย่อมพร้อมจะร่วงหล่นได้ตลอดเวลา ส่วนภัยของสัตว์ที่เกิดแล้ว ก็ย่อมจะตายได้ทุกเมื่อ  ผู้คนเป็นอันมากเห็นกันอยู่ในเวลาเช้า พอตกเย็นไม่เห็นกันแล้ว ครั้นเห็นกันอยู่ในเวลาเย็น  พอรุ่งเช้าก็พลันห่างหาย จึงควรรีบเร่งทำความเพียรเสียตั้งแต่วันนี้ สมรภูมิที่มีการวางแผนทางยุทธศาสตร์อย่างดี ด้วยการวางกองพลช้าง กองพลรถ กองพลทหารราบไว้ สามารถเอาชนะสงครามอื่นใดได้ แต่ไม่สามารถเอาชนะสงครามคือมรณะได้ ไม่มีกองทัพใดอาจเอาชนะมรณะด้วยการต่อสู้ ด้วยเวทมนตร์ ด้วยยุทธวิธี หรือสินทรัพย์อื่นใด

ความตายมิได้เว้นแม้แต่กษัตริย์ พราหมณ์ พ่อค้า ลูกจ้าง คนจัณฑาล และคนเทขยะ  ย่อมย่ำยีบดขยี้ราบลงทั้งหมดทีเดียว ควรรีบทำความเพียรเสียตั้งแต่วันนี้ ใครเล่าจะรู้ได้ว่าจะตายวันพรุ่งนี้ การผัดผ่อนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ไม่มีเลย โจรทั้งหลายย่อมปรารถนาทรัพย์  ส่วนอาตมภาพพ้นจากบ่วงแล้ว ขอเชิญพระองค์เสด็จกลับไปเถิด อาตมภาพไม่ปรารถนาราชสมบัติ”

เมื่อพระราชา พระนางจันทาเทวี นางสนม เสนาอำมาตย์ ตลอดจนอาณาประชาราษฎร์ฟังเทศนาของพระโพธิสัตว์จบลงแล้ว ต่างเกิดความเลื่อมใส มีความประสงค์จะบวชทุกคน

พระราชาโปรดให้ตีกลองประกาศไปทั่วพระนครว่า ผู้ใดปรารถนาจะบวชในสำนักของลูกเรา ก็จงบวชเถิด และโปรดให้เปิดประตูคลังหลวงทั้งหมด โปรดให้จารึกข้อความบนแผ่นทองคำ แขวนไว้ที่เสาใหญ่กลางท้องพระโรงว่า “มีขุมทรัพย์ใหญ่ในที่นั้น ๆ ผู้ที่ต้องการก็จงเอาไป” ชาวพระนคร ต่างทิ้งบ้านเรือนตามพระราชาออกบวช

พระราชาทรงผนวชในสำนักของพระโพธิสัตว์ พร้อมด้วยประชาชนเป็นจำนวนมาก  อาศรมสถานประมาณ ๓ โยชน์ ที่พระอินทร์สร้างถวาย เนืองแน่นไปด้วยนักบวช พระโพธิสัตว์ให้เหล่าสตรีอยู่ในบรรณศาลาตรงกลาง เพราะเกรงจะเกิดอันตราย ส่วนบรรณศาลารอบนอกให้เป็นที่อยู่ของเหล่าบุรุษ

นักบวชชายหญิงทั้งหมด พากันเก็บผลไม้ซึ่งหล่นลงที่พื้นดินมาบริโภค ใครมีจิตหวนระลึกถึงกามราคะ พยาบาท หรืออวิหิงสา เมื่อพระโพธิสัตว์ทราบ ก็เสด็จประทับนั่งแสดงธรรมสั่งสอน นักบวชเหล่านั้น ได้ฟังโอวาท ปฏิบัติธรรม จนได้บรรลุอภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘

ข่าวคราวการผนวชของพระเจ้ากรุงพาราณสีแพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว จนทำให้กษัตริย์สามนต์ราช ในประเทศใกล้เคียงพระองค์หนึ่ง ต้องการจะชิงเอาราชสมบัติ จึงยกทัพมายังกรุงพาราณสี ครั้นเสด็จยาตราทัพเข้าสู่พระนคร เห็นพระนครวิจิตรงดงาม กลับเงียบสงบว่างไร้ จากผู้คนพลุกพล่าน จึงเสด็จขึ้นสู่ปราสาทราชฐาน ทอดพระเนตรเห็นประตูคลังหลวงถูกเปิดทิ้งไว้ รัตนะอันประเสริฐ ๗ ประการ ถูกทอดทิ้งอย่างไร้ค่า ทรงคาดการณ์ว่า น่าจะเกิดอาเพศอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นกับราชวงศ์เพราะราชสมบัตินี้ จึงรับสั่งให้เรียกพวกนักเลงสุรามาตรัสถาม

          พวกนักเลงสุรากราบทูลว่า “พระเตมีย์ พระโอรสของพระราชาแห่งพระนครนี้ ไม่ปรารถนาที่จะครองราชสมบัติ พระองค์มิได้เป็นใบ้ ก็แสร้งทำเป็นใบ้ มิได้หูหนวก ก็แสร้งทำเป็นหูหนวก  เสด็จออกจากพระนครนี้ เข้าป่าบวชเป็นฤาษี แม้พระราชาพร้อมด้วยอาณาประชาราษฎร์ ก็เสด็จออกจากพระนครไปบวชในสำนักของพระเตมีย์เช่นกัน”

พระเจ้าสามนต์ราชตรัสถามว่า “พระราชาของพวกเจ้า ออกไปทางประตูไหน” เมื่อนักเลงสุรากราบทูลว่า เสด็จออกทางประตูทิศตะวันออก จึงนำกองทัพออกติดตามทางประตูนั้น  ลัดเลาะไปตามฝั่งแม่น้ำ จนเข้าสู่ราวป่าอันรกชัฏ พระองค์เกิดความกริ่งเกรงภัยว่า จะเป็นแผนการอย่างใดอย่างหนึ่ง ของกษัตริย์แห่งนครนี้

พระโพธิสัตว์ทราบการเสด็จมาของพระเจ้าสามนต์ราช จึงเสด็จออกไปต้อนรับ ประทับนั่งในอากาศแสดงธรรมแก่พระราชาพระองค์นั้น พระเจ้าสามนต์ราชพร้อมด้วยจตุรงคเสนาสดับธรรมแล้ว เกิดความเลื่อมใสพากันบวชในสำนักของพระโพธิสัตว์นั้น

แม้พระราชาจากนครอื่น ๆ อีก ๗ พระองค์ ก็เสด็จมาด้วยหวังจะยึดกรุงพาราณสี ต่างละทิ้งราชสมบัติ บวชโดยทำนองเดียวกัน ผืนแผ่นดินที่ตั้งอาศรมของพระโพธิสัตว์ ได้กลายเป็นมหาสมาคม ภายในพระนครได้กลายเป็นป่าช้า ช้างทั้งหลายกลายเป็นช้างป่า ม้าทั้งหลายกลายเป็นม้าป่า แม้รถทั้งหลาย ก็ชำรุดทรุดโทรมไปในป่า เครื่องใช้สอยและเงินทองทั้งหลาย ก็ตกเรี่ยรายเกลื่อนกลาด ไม่ต่างอะไรจากกรวดทราย

นักบวชทั้งหมด ต่างเจริญสมณธรรม จนได้บรรลุสมาบัติ ๘ เมื่อสิ้นชีวิตแล้ว ได้ไปเกิดในพรหมโลก แม้ช้างและม้าทั้งหลายซึ่งเป็นสัตว์เดรัจฉาน มีจิตเลื่อมใสหมู่ฤาษีทั้งหลาย ได้เกิดในสวรรค์ชั้นกามาวจร ๖ ชั้นได้แก่ ชั้นจาตุมหาราชิกา ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต  ชั้นนิมมานรดี และชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ตามบุญกุศลของตน

กลับชาติมาเกิดสมัยพุทธกาล

ครั้นพระพุทธองค์ ตรัสเล่าเรื่องในอดีตชาติของพระองค์ให้ภิกษุทั้งหลายฟังแล้ว ได้ตรัสสรุปว่า  

“ภิกษุทั้งหลาย มิใช่ในชาตินี้เท่านั้น ที่เราละทิ้งราชสมบัติออกบวช แม้ในอดีตชาติ เราก็ได้ละทิ้งราชสมบัติออกบวชเช่นกัน เทพธิดาผู้สิงสถิตอยู่ที่เศวตฉัตรในอดีตชาตินั้น เป็นภิกษุณีชื่ออุบลวรรณาในชาตินี้ นายสุนันทสารถี เป็นพระสารีบุตร ท้าวสักกะ เป็นพระอนุรุทธะ  พระชนก และพระชนนี เป็นมหาราชสกุล บริษัทนอกนี้ เป็นพุทธบริษัท ส่วนบัณฑิตผู้ทำเป็นใบ้   ทำเป็นง่อยเปลี้ย คือ เรา ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่เอง”

“ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ : ชาติที่ ๑ พระเตมีย์

https://podcasts.apple.com/dk/podcast/%E0%B8%AB%E0%B8%99-%E0%B8%87%E0%B8%AA-%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%AA-%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95-%E0%B8%9B%E0%B8%93-%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%9A-%E0%B8%A3-%E0%B8%A9%E0%B9%84%E0%B8%A1-%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A5-%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%87-%E0%B8%89%E0%B8%9A-%E0%B8%9A-%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B8%A7%E0%B8%8A-%E0%B8%A3%E0%B8%B0-%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%97-1/id1480673036?i=1000581753187

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here