จากการบวชตั้งแต่เล็กๆ อาศัยอยู่กับหลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลธรรมวัฒน์(บุญจันทร์ จตฺตสลฺโล) ครูบาอาจารย์ของท่าน ซึ่งทำให้ท่านแตกฉานในบาลีในเวลาต่อมา สู่การเป็นเณรน้อยอุปัฏฐากพระอาจารย์มหามังกร ปญฺญาวโร ครูบาอาจารย์ของท่านรูปที่สองในป่าใหญ่ จังหวัดอุบลราชธานี มุ่งสู่สำนักวัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร อันเป็นจุดเริ่มต้นของมโนปณิธานอันแรงกล้าในวันนี้ของ ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ในครั้งนั้น ผู้อยู่เบื้องหลังในการขับเคลื่อนงานพระพุทธศาสนาเงียบๆ อย่างไม่วันเหน็ดเหนื่อย…อะไรคือพลังใจของท่าน

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

มโนปณิธาน กลับมาอีกครั้งเพื่อสานต่อเรื่องราวที่พักไว้เมื่อหลายเดือนก่อน ….

หลังการอบรมพระสงฆ์ทั่วประเทศราว ๗๐ รูป ในหัวข้อ “ปฏิวัติการเผยแผ่รูปแบบใหม่ ในศตวรรษที่ ๒๑” ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ระหว่างวันที่ ๒๖ – ๒๙ มกราคม ๒๕๖๑ ณ ศาลาหลวงพ่อโชคดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร กับทีมพระวิทยากรจาก “กลุ่มใต้ร่มพุทธธรรม” ในโครงการ “พัฒนาศักยภาพพระวิทยากร หลักสูตร ผู้นำทางด้านจิตวิญญาณเพื่อการเผยแผ่” จัดโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งทำให้พระสงฆ์จากทั่วประเทศได้รับแรงบันดาลใจในการ “เขียนธรรมให้ถึงโลก” อย่างมีนัยสำคัญในการเผยแผ่ธรรมะผ่านสื่อให้ตรงจุดในการแก้ทุกข์ให้กับผู้คนทุกวันนี้

ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระราชกิจจาภรณ์ เล่าว่า พระหลายรูปที่อาตมาทำงานด้วยก็มองว่า ทำไมอาตมาทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย มีพลังอยู่ตลอดเวลา

“เวลาที่พระท่านหมดไฟในการทำงาน หรืออ่อนล้าเพราะถูกกระทบจากวัฒนธรรมองค์กรบ้าง จากการทำงานบ้าง ท่านก็จะกลับมาหาอาตมา มาพูดมาคุย มาปรึกษา กลับมาเติมไฟ ใครที่ไฟจะหมด ท่านก็พากันมา  แล้วท่านก็บอกว่า ทำไมไฟในตัวอาจารย์ปะทุอยู่ในตัวตลอดเวลา เพราะอะไร อาตมาตอบว่า

” เพราะมีศรัทธาที่จะทำ มีอุดมการณ์ที่ชัดเจน และมีมโนปณิธานที่มั่นคงแน่วแน่”

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) และ พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป ในขณะนั้น
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) และ พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป ในขณะนั้น

ก็เพราะเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) อดีตประธานผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่าน คอยเติมพลังให้ท่านมาโดยตลอด เพื่อขับเคลื่อนพระธรรมจักรให้หมุนไปข้างหน้าในการวางรากฐานการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกนั่นเอง

           “เราจะไม่เหนื่อย เราจะไม่ท้อ ถ้ารู้ว่า เราได้ทำเพื่อใคร แม้วันนี้ หลวงพ่อสมเด็จไม่อยู่แล้ว แต่ ความรู้นึกคิด จิตวิญญาณอันเป็นรากฐานที่ท่านวางไว้ยังอยู่กับเรา และเราก็รู้ว่า เราได้ทำเพื่อท่าน”

กระทั่งก่อกำเนิดคัมภีร์พระวิทยากร หลักสูตรพระวิทยากรกระบวนธรรม,  หลักสูตรพระวิทยากรบรรยายธรรม, หลักสูตรพระนักเขียน และหลักสูตรอื่นๆ ของสถาบันพัฒนาพระวิทยากร ดังกล่าว

ทำให้ระลึกถึง “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” หนังสือในยุคแรกๆ ที่ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระราชกิจจาภรณ์เขียนขึ้นในนามปากกา “ญาณวชิระ” อันหมายถึง ผู้มีปัญญาประดุจเพชร ซึ่งมาจากฉายาของท่าน “ญาณวชิโร” โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ พระอุปัชฌาย์ของท่านเป็นผู้ตั้งให้ 

ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” โดย พระราชกิจจาภรณ์ เขียนขึ้นในนามปากกา “ญาณวชิระ” พิมพ์ครั้งที่ ๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗
ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง”
โดย พระราชกิจจาภรณ์ เขียนขึ้นในนามปากกา “ญาณวชิระ”
พิมพ์ครั้งที่ ๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗

“ทศชาติ” เล่มนี้มีความหนากว่า ๗๐๐ หน้า  เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับแต่ละชาติของพระโพธิสัตว์ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในชาติที่สิบเอ็ด ซึ่งเราคงได้อ่านกันมาบ้างจากหลายสำนวน แต่สำหรับฉบับสำนวนที่ท่านเจ้าคุณอาจารย์เขียน ประมวลมาจากพระไตรปิฎกและอรรถกา นำมาผูกเรื่องใหม่ เชื่อมโยงกับพุทธประวัติ ในแง่ประวัติศาสตร์ ร้อยเรียงเป็นเรื่องเล่าอย่างมีชีวิตชีวา ทำให้มองเห็นภาพเรื่องราวของพระมหาบุรุษที่มีชีวิตโลดแล่นราวกับแต่ละท่านมีชีวิตอยู่ในวันนี้เลยทีเดียว เป็นหนังสือที่มีพลัง ดังที่บนปกเขียนไว้ว่า

“ขุนเขาย่อมมีวันทะลาย สายน้ำย่อมมีวันเปลี่ยนแปลง แต่ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง”

ท่านเล่าให้ฟังถึงที่มาของทศชาติเล่มนี้ว่า ช่วงที่เป็นสามเณรมาเรียนหนังสือในกรุงเทพใหม่ๆ จนบวชพระพรรษาแรกๆ อยากได้พระไตรปิฎก จึงเก็บรวบรวมปัจจัยจากบิณฑบาต และจากผู้คนที่มาทำบุญกับท่านแล้วรวบรวมจนสามารถซื้อพระไตรปิฎกเป็นของตนเองชุดใหญ่

“พอได้พระไตรปิฎกชุดแรกที่เป็นสมบัติส่วนตัว ก็ไม่อยากเขียนอะไรลงไปแทรก เกรงว่า หนังสือจะเปื้อน กลัวจะเป็นบาป แต่ในที่สุด แทบทุกหน้าก็เต็มไปด้วยบันทึกแทรกไว้ ”

สำหรับจุดเริ่มต้นของทศชาติ …ท่านเจ้าคุณอาจารย์เล่าย้อนให้ฟังว่า ปกติชอบไปนั่งอยู่ในโบสถ์วัดสระเกศ ฯ เป็นวันๆ เพื่อดูภาพจิตกรรมฝาผนัง ความรู้สึกดำดิ่งลึกลงไปในเรื่องราวของภาพวาด แล้วค่ำวันหนึ่ง หลังสวดมนต์ทำวัตรค่ำเสร็จ หลวงพ่อสมเด็จฯ เรียกให้ตามมาคุยด้วยที่คณะ ๕ แล้วท่านก็ส่งหนังสือทศชาติให้เล่มหนึ่ง ที่มีผู้ถวายท่านมา จำไม่ได้ว่าเป็นสำนวนของใคร และบอกว่า ลองเขียนเรื่อง “ทศชาติ” ดู เขียนให้คนรุ่นใหม่อ่านได้

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)

นั่นจึงเป็นจุดกำเนิดของทศชาติเล่มนี้ จากการหยิบยื่นโอกาสอันวิเศษจากหลวงพ่อสมเด็จ ฯ ผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยความอบอุ่น และมีความเมตตาอย่างไม่มีประมาณต่อศิษย์ทุกรูป 

ดังที่ท่านเล่าให้ฟังต่อมาว่า เมื่อครั้งที่เพิ่งขึ้นมากรุงเทพใหม่ๆ จากการฝากฝังของครูบาอาจารย์ เพื่อมาเรียนหนังสือต่อ

“การพบกับหลวงพ่อสมเด็จฯ ครั้งแรก ทำให้เกิดความอบอุ่นอย่างประหลาด ภาพความกลัวพระผู้ใหญ่ที่สร้างมาในสมองมลายหายไปเป็นปลิดทิ้ง …กลายเป็นความศรัทธา และเคารพ ยำเกรง แววตาแห่งความอบอุ่น ความอาทร ความเมตตา  ที่เคยสัมผัสจากหลวงพ่อที่บ้าน ซึ่งเป็นแบบพระหลวงตา มาพบอีกครั้งที่แววตาหลวงพ่อสมเด็จ

“เวลาท่านสอนพระเณร ท่านจะมองลึกเข้าไปในดวงตา เพื่อหยั่งลงไปในความรู้สึกนึกคิด แล้วก็จะสั่งสอนด้วยโทนเสียงกลางๆ นิ่งๆ ราบเรียบ แฝงไว้ด้วยน้ำเสียงแห่งความอบอุ่น อ่อนโยน เมตตา เหมือนหลวงปู่สอนหลาน ด้วยเหตุนี้ พระเณรในสำนักจึงเรียกท่านว่า “หลวงปู่” จนติดปาก”

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)

จากคอลัมน์ มโนปณิธาน…พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ตอนที่ ๑๖ พลังใจจากหลวงปู่คณะ ๕ แห่งวัดสระเกศ

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

หน้าธรรมวิจัย  นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๐
หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๐

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here