ขอขอบคุณ ภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ขอขอบคุณ ภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม
และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

“สุเมธดาบส”

ต้นแบบของกัลยาณมิตรแห่งสัมมาทิฏฐิ

โดย พระใบฏีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

กว่าจะถอดบทเรียนออกมาเป็นชุดความรู้จากกิจกรรม “ต้นแบบต้นธรรม” เพื่อนำไปเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกอบรมหลักสูตรพระวิทยากรกระบวนธรรม สถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ ก็ได้ผ่านกระบวนการคิดและนำมาอบรมคณะพระวิทยากรกันก่อนหลายต่อหลายครั้งจนสรุปออกมาเป็นหลักสูตรที่สามารถปรับให้เข้ากับสถานการณ์ได้ทุกรูปแบบ โดยแก่นการเรียนรู้ยังคงอยู่ครบถ้วน ซึ่งแนวความคิดในเรื่องต้นแบบต้นธรรมนี้ โดย พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี และอาตมาเป็นผู้ถ่ายทอด นำไปฝึกอบรม และนำมาเล่าสู่กันฟัง

ดังเรื่องนี้ ซึ่งเป็นต้นแบบในสมัยพุทธกาลที่อาตมาคิดว่า น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครอีกหลายคนๆ

เพราะการดำเนินชีวิตต้องการบุคคลที่เป็นต้นแบบ ในทางพระพุทธศาสนาถือว่าบุคคลที่ช่วยแนะนำช่วยเหลือ สั่งสอนชักนำสัมมาทิฏฐิให้แก่ผู้อื่น เรียกว่า กัลยาณมิตร

ดังข้อความในพระไตรปิฎกว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์กำลังจะอุทัย ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็นบุพนิมิต ฉันใด กัลยาณมิตตตา (ความเป็นผู้มีมิตรดี) ก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิตเพื่อความเกิดขึ้นแห่งอริยมรรคมีองค์ ๘ ฉันนั้น

ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตร (มิตรดี) พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก” (มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙) อานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เป็นพรหมจรรย์กึ่งหนึ่ง”

 พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่ากล่าวอย่างนั้น อานนท์ อย่ากล่าวอย่างนั้นอานนท์ ที่จริง ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เป็นพรหมจรรย์ทั้งหมด” (มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,๒๕๓๙)

กัลยาณมิตรจึงถือเป็นบุคคลสำคัญและสามารถเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตเราได้  โดยเป็นผู้มีคุณธรรมในฐานะที่ไม่นิ่งเฉย ไม่ทอดธุระ และเสียสละประโยชน์สุขของตนเพื่อยังสังคมให้เกิดประโยชน์สุข

ดังประวัติของพระพุทธเจ้าในครั้งที่เป็นสุเมธดาบส แม้จะสามารถสำเร็จประโยชน์ตนเองได้ แต่ก็ยังก้าวข้ามเพื่อสร้างประโยชน์สุขให้แก่บุคคลอื่นโดยทั่วกัน

        สุเมธดาบสถือว่าเป็นผู้มีอุดมการณ์ในการดำเนินชีวิต กล่าวคือในยุคสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกร สุเมธดาบสบรรลุอภิญญาและใช้เวลาไปกับความสุขอันเกิดจากสมาบัติ ในเวลานั้นพระทีปังกรพุทธเจ้า มีพระขีณาสพสี่แสนห้อมล้อมแล้ว เสด็จจาริกไปตามลำดับเสด็จถึงนครชื่อรัมมกะ เสด็จประทับที่สุทัสนมหาวิหาร

      พวกชาวรัมมกนครได้กล่าวกันว่า “พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าทีปังกร เสด็จจาริกไปโดยลำดับ เสด็จถึงรัมมกนครแล้ว เสด็จประทับอยู่ที่สุทัสนมหาวิหาร” ต่างพากันถือเภสัชมีเนยใสและเนยข้นเป็นต้นนี้ และผ้าเครื่องนุ่งห่ม มือถือของหอมและดอกไม้ หลั่งไหลพากันไปที่นั้น เข้าไปเฝ้าพระศาสดาแล้วถวายบังคม บูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้นแล้วนั่งที่ควรข้างหนึ่ง ฟังพระธรรมเทศนาแล้วทูลนิมนต์เพื่อเสวยในวันรุ่งขึ้นพากัน ลุกจากที่นั่งแล้วหลีกไป 

      ในวันรุ่งขึ้นต่างพากันตระเตรียมมหาทานประดับ ประดานคร ตกแต่งหนทางที่จะเสด็จมาของพระทศพล ในที่มีน้ำเซาะก็เอาดินถมทำพื้นที่ดินให้ราบเสมอ โรยทรายอันมีสีดังแผ่นเงิน โปรยปรายข้าวตอก และดอกไม้ ปักธงชายและธงแผ่นผ้า พร้อมด้วยผ้าย้อมสีต่างๆ ตั้งต้นกล้วยและหม้อน้ำ เต็มด้วยดอกไม้เรียงรายเป็นแถว

      กาลนั้นสุเมธดาบสผ่านมาเห็นชาวบ้านพากันประดับบ้านเรือน จึงถามแล้วทราบเรื่อง โดยสุเมธดาบสคิดว่า แม้เพียงคำประกาศว่าพระพุทธเจ้า ก็หาได้ยากในโลก อย่าว่าไปถึงการอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าเลย แม้เราก็ควรจะร่วมกับมนุษย์เหล่านั้นตกแต่งทางเพื่อพระทศพลด้วย”

    ท่านจึงกล่าวกะพวกมนุษย์เหล่านั้นว่า “ถ้าพวกท่านตกแต่งทางนี้เพื่อพระพุทธเจ้า ขอจงให้โอกาสส่วนหนึ่งแก่เราบ้าง แม้เราก็จักตกแต่งทางเพื่อพระทศพลพร้อมกับพวกท่าน”  พวกชาวบ้านก็รับปากเพราะทุกคนต่างรู้ว่าสุเมธดาบสมีฤทธิ์ จึงมอบที่ว่างซึ่งมีน้ำเซาะให้แล้วกล่าวว่า “ท่านจงทำที่นี้เถิด” สุเมธดาบสถือเอาปีติในพระพุทธเจ้าจึงคิดว่า “เราสามารถจะตกแต่งที่ว่างนี้ด้วยฤทธิ์ได้ แต่เมื่อเราตกแต่งเช่นนี้ ใจก็จะไม่ยินดีนัก วันนี้เราควรจะกระทำการรับใช้ด้วยกาย” จึงขนดินมาเทลงในที่ว่างนั้น

      เมื่อที่ว่างแห่งนั้น ยังตกแต่งไม่เสร็จเลย พระทศพลทีปังกร มีพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา มีอานุภาพมาก สี่แสนรูปห้อมล้อม เสด็จเยื้องกรายบนพื้นมโนสิลา ด้วยพระพุทธลีลาอันหาที่สุดมิได้ ประดุจราชสีห์เสด็จดำเนินมาสู่ทางที่ตกแต่งประดับประดาแล้วนั้น

     สุเมธดาบสลืมตาทั้งสองขึ้นมองดูพระวรกายของพระทศพลผู้เสด็จดำเนินมาตามทางที่ตกแต่งแล้ว ซึ่งถึงความเลิศด้วยพระรูปโฉม ประดับด้วยพระมหาปุริสลักษณะ สวยงาม แวดวงด้วยแสงสว่างมีประมาณวาหนึ่ง เปล่งพระพุทธรัศมีหนาทึบ ประการออกนาดูประหนึ่งสายฟ้าหลายหลาก ในพื้นท้องฟ้ามีสีดุจแก้วมณี ฉายแสงแปลบปลาบอยู่ไปมาและเป็นคู่ๆ กัน จึงคิดว่า 

“วันนี้เราควรกระทำการบริจาคชีวิตแด่พระทศพล ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่าได้ทรงเหยียบเปือกตม แต่จงทรงย่ำหลังของเรา เสด็จพร้อมกับพระขีณาสพสี่แสนเหมือนทรงเหยียบสะพานแก้วมณีเถิด ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่เราตลอดกาลนาน”

จึงแก้ผมออก ลาดหนังเสือ ชฎาและผ้า เปลือกไม้วางลงบนเปือกตม ซึ่งมีสีดำ นอนบนหลังเปือกตมเหมือนสะพานแผ่นแก้วมณี สุเมธดาบสนั้นนอนบนหลังเปือกตมนั้นแล ลืมตาทั้งสองเห็นพระพุทธสิริของพระทศพลทีปังกรจึงคิดว่า

“ถ้าเราพึงต้องการ ก็พึงเผากิเลสทั้งปวงหมดแล้วเป็นพระสงฆ์นวกะเข้าไปสู่รัมมกะนครได้ แต่เราไม่มีกิจด้วยการเผากิเลสด้วยเพศที่ใครไม่รู้จักแล้วบรรลุนิพพาน ถ้ากระไรเราพึงเป็นดังพระทศพลทีปังกรบรรลุพระอภิสัมโพธิญาณอย่างสูงยิ่งแล้วขึ้นสู่ธรรมนาวา ให้มหาชนข้ามสงสารสาครได้แล้วปรินิพพานภายหลัง ข้อนี้สมควรแก่เรา”

ต่อจากนั้นกระทำความปรารถนาอย่างยิ่งใหญ่เพื่อความเป็นพระพุทธเจ้าแล้วนอนลง

        ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าทีปังกรเสด็จมาประทับยืนที่เบื้องศีรษะของสุเมธดาบส ทรงลืมพระเนตรทั้งสองอันสมบูรณ์ ทอดพระเนตรเห็นสุเมธดาบสนอนบนหลังเปือกตมทรงดำริว่า

“ดาบสนี้กระทำความปรารถนาอย่างยิ่งใหญ่เพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า ความปรารถนาของเขาจักสำเร็จหรือไม่หนอ”

ทรงส่งพระอนาคตังสญาณใคร่ครวญอยู่ ทรงทราบว่า

“ล่วงสี่อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัปนับแต่นี้ เขาจักได้เป็นพระพุทธเจ้านามว่าโคดม” ยังประทับยืนอยู่นั่นแหละทรงพยากรณ์แล้วด้วยตรัสกับเหล่าพระภิกษุว่า “ดาบสนี้กระทำความปรารถนายิ่งใหญ่ เพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า นอนแล้วความปรารถนาของเขาจักสำเร็จ ในที่สุดแห่งสี่อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัปนับแต่นี้ เขาจักได้เป็นพระพุทธเจ้านามว่าโคดม”  

         สุเมธดาบสได้บังเกิดโสมนัสว่า “ความปรารถนาของเราจักสำเร็จ” พอทำการตกลงใจจะเป็นพระพุทธเจ้า เหล่าบารมีธรรมก็ปรากฎตามมานับต่อแต่นั้นในการดำเนินไปตลอดอสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป

         การที่สุเมธดาบสได้ต้นแบบที่ดีจึงเป็นที่มาของการได้เป็นพระพุทธเจ้าที่เราได้ทราบมาในปัจจุบัน

“สุเมธดาบส”

ต้นแบบของกัลยาณมิตรแห่งสัมมาทิฏฐิ

โดย พระใบฏีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

จากคอลัมน์ หมายเหตุพระไตรสรณคมน์ (หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๒)

พระใบฏีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม ผู้เขียน
พระใบฏีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม ผู้เขียน

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here