ในช่วงเวลาแห่งความเศร้าเสียใจของคนไทยจากการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙ หรือเมื่อสามปีก่อน ตลอดเดือนนี้และวันต่อๆ ไป ก็ยังคงเป็นเวลาเดียวกับที่เราชาวไทยทุกท่านจะได้น้อมระลึกถึงพระคุณของพระองค์ท่านที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย

ผู้เขียนจึงขอนำบทสัมภาษณ์ของพระเดชพระคุณพระพรหมบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ให้สัมภาษณ์รายการทีวีรายการหนึ่งทำให้เรากระจ่างแจ้งขึ้นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงมีคุณูปการต่อชาติ และพุทธศาสนาอย่างไร โดยขอสรุปบางตอนมาเล่าไว้ที่นี้

พระราชาผู้เป็นที่รัก

โดย พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙, ดร.

ขอขอบคุณ ภาพจากสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ขอขอบคุณ ภาพจากสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม
และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

ถาม : สถาบันทั้งสามมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันอย่างไร?

ตอบ : สถาบันทั้ง ๓ คือชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เหมือนไม้ที่ค้ำยันกันอย่างเหมาะสม ชาติคือประชาชน ถ้าประชาชนอยู่ในศีลในธรรม ชาติก็จะร่มเย็น โดยประชาชนจะมีศาสนาคอยกล่อมเกลา มีพระราชาและรัฐบาลคอยปกครองดูแลคือดูแลทั้งชาติและศาสนาให้มีความเข้มแข็ง

ฉะนั้น สถาบันทั้งสาม จึงต้องอาศัยกันและกัน คือ พระราชาดูแลพระศาสนา พระศาสนาแต่อดีตมาก็ขัดเกลาประชาชน

ขณะเดียวกันในพระพุทธศาสนาก็มีคำสอนที่ดีในการปกครองเป็นเช่นใด พระมหากษัตริย์ในอุดมคติเป็นเช่นไร ก็วางเป็นต้นแบบเอาไว้ และในประเทศไทยตั้งแต่ตั้งแผ่นดินชาติไทยมา เรามีพระพุทธศาสนากำหนดรูปแบบของพระมหากษัตริย์ เช่น ในสุโขทัยมีธรรมราชา พระมหาธรรมราชาลิไท ก็ด้วยเหตุผลที่ว่าพระราชาจะต้องมีธรรมะ

โดยคำสอนในพระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงจักกวัตติวัตรอันเป็นข้อปฏิบัติของพระจักรพรรดิ กล่าวถึงทศพิธราชธรรมว่าพระมหากษัตริย์ในอุดมคติควรเป็นอย่างไร และถอดแบบมาจากพระเจ้าอโศกมหาราช มหากษัตริย์ในอินเดีย ได้ปกครองและได้วางแบบอย่างเอาไว้  

ขอขอบคุณ ภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ขอขอบคุณ ภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม
และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

พระธรรมราชาในที่นี้จึงมี ๒ ความหมายคือ

๑.ผู้ปกครองเองมีการปฏิบัติธรรม เช่น มีศีล เป็นต้น

และ ๒.เป็นผู้ถือธรรมเป็นใหญ่ เรียกว่า มีธรรมาธิปไตย ไม่ได้เอาความรู้สึกส่วนตนเป็นใหญ่ เอากฎหมายและประโยชน์เป็นที่ตั้ง เมื่อปกครองแบบนี้จะนำความสงบสุขมาให้

ฉะนั้น เมื่อสถาบันทั้ง ๓ ประสานกันอย่างสอดคล้องก็จะเกิดการสืบทอดของชาติไทยมา เกิดความสุข ความเจริญ

ถาม : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีคุณูปการต่อพระพุทธศาสนาอย่างไรบ้าง?

ตอบ : เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ได้ขึ้นครองราชย์เมื่อ ๗๐ ปีมาแล้ว ประเทศชาติของเรายังไม่เจริญเท่านี้ เพราะเพิ่งเสร็จจากศึกสงครามโลกครั้งที่ ๒ สภาพเศรษฐกิจยังอยู่ด้อยพัฒนา พอสมัยพระองค์จากประเทศที่กำลังพัฒนาที่มีรายได้ระดับต่ำ จนกระทั่งมีรายได้ระดับสูง

และในปี พ.ศ.๒๕๒๔  ธนาคารโลกเลื่อนอันดับประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง อีกชั้นเดียวเราจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เหมือนประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ในส่วนของชาติ ในส่วนสถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย มองในสายตาของชาวโลก กลายเป็นสถาบันที่เข้มแข็งที่สุด

ในส่วนสถาบันพระพุทธศาสนาก็เกิดความมั่นคง ถึงขนาดผู้นำชาวพุทธทั่วโลกยอมรับให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลก เช่น สภาสากลวิสาขบูชาโลก (สหประชาชาติได้ให้การเห็นชอบกับการตั้งสภาสากลวันวิสาขบูชาโลกขึ้นมาในฐานะเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ.๒๕๕๖) เป็นต้น ก็อยู่ในประเทศไทย และวัดไทยยังกระจายไปทั่วทุกทวีปทั่วโลก

และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ยังได้เสด็จฯไปร่วมเปิดวัดพุทธปทีปที่กรุงลอนดอน และหลังจากนั้นก็มีวัดไทยที่อินเดียตามมา และไม่ได้ใช้คำภาษาอังกฤษว่า Temple แต่ใช้ คำว่า Wat คือ วัด ในภาษาไทยเลย เป็นการรู้จัก “วัด” แบบไทยๆ ของเรา เป็นเหมือนกับยุคพระเจ้าอโศกมหาราชที่ได้ส่งพระธรรมทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา และสายหนึ่งได้มาที่ประเทศไทย ตอนนี้ประเทศไทยก็ส่งออกพระไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั่วโลกเช่นกันในสมัยรัชกาลที่ ๙ นี้เอง

ในฐานะเป็นพุทธมามกะนั้น คือ

๑.ความดีส่วนพระองค์ คือพระองค์เป็นคนดี เรียกว่า อัตตหิตสมบัติ แปลว่า คุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ส่วนตน  

๒.เมื่อพระองค์อยู่ในตำแหน่ง ได้สร้างประโยชน์สุขแก่ส่วนรวม เรียกว่า ปรหิตสมบัติ ในแง่นี้คือ พระองค์ทรงมีทั้งความรู้และการนำไปปฏิบัติ

พระองค์ทรงมีทั้ง ๒ แบบคือทรงเป็นพุทธมามกะที่ดี และยังเป็นธรรมราชา เมื่ออยู่ในสังคมใด ก็จะสร้างสังคมที่ดี ได้เป็นพระมหากษัตริย์ที่ดี เป็นผู้นำก็ทำให้สังคมเจริญก้าวหน้า

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร   ทรงผนวชเมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๙  ทรงได้รับสมญานามจากพระราชอุปัชฌาจารย์ ว่า “ภูมิพโล”
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ทรงผนวชเมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๙ ทรงได้รับสมญานามจากพระราชอุปัชฌาจารย์ ว่า “ภูมิพโล”

ในการนี้ พระองค์ท่านทรงมีความรู้ด้านธรรมะดี ได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ทรงสามารถพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก เรียกว่าเป็นอัจฉริยบุคคล และได้สอนธรรมะด้วยพระองค์เอง

อีกทั้งทรงถือว่าเป็นเอกศาสนูปถัมภกแก่คณะสงฆ์ในเรื่องการปกครองก็มีการตรากฎหมายพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ขึ้นเพื่อความเรียบร้อยในปี พ.ศ.๒๕๐๕ และมีการสนับสนุนด้านการศึกษาคณะสงฆ์ ได้สนับสนุนบาลี ได้พระราชทานทุนเล่าเรียนหลวง แต่งตั้งเปรียญ จบประโยค ๙ เป็นสามเณรก็ทรงเป็นนาคหลวง และการศึกษาสงเคราะห์ ทรงให้สมเด็จพระญาณสังวร สอนกรรมฐานกับเด็ก โดยมีคำสอนต่างๆ มีการออกวิทยุ และหนังสือต่างๆ มาจากคำอาราธนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และการเผยแผ่ คือมีการพิมพ์เผยแผ่พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกาในรัชกาลของพระองค์ อีกทั้งด้านการสร้างวัด บูรณะวัดอย่างมากมาย และในด้านการสาธารณสงเคราะห์ ก็มีการพัฒนาโครงการพัฒนาพระราชดำริมากมาย ทำให้วัดและศาสนาเจริญไปด้วย

ขอขอบคุณ ภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม
และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วิดสระเกศฯ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ได้ทำให้สถาบันทั้ง ๓ คือ ชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วางค้ำยันกันอย่างพอดี ดูเหมือนเราได้เกิดมาในยุคสมัยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นต้นแบบเช่นนี้ ถือว่าเป็นบุญ เป็นกุศลที่จะได้ดำเนินตาม โดยถือเอาพระองค์เป็นที่ตั้งในการปฏิบัติหน้าที่การงาน เพื่อสร้างความสงบสุขให้กับสังคมต่อไปในวันนี้และภายภาคหน้า

พระราชาผู้เป็นที่รัก

จากคอลัมน์ ท่องเที่ยวโลกกะธรรม

โดย พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙, ดร.

นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๒

พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙, ดร. ผู้เขียน ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ

” เราได้เกิดมาในยุคสมัยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นต้นแบบเช่นนี้ ถือว่าเป็นบุญ เป็นกุศลที่จะได้ดำเนินตาม โดยถือเอาพระองค์เป็นที่ตั้งในการปฏิบัติหน้าที่การงาน เพื่อสร้างความสงบสุขให้กับสังคมต่อไปในวันนี้และภายภาคหน้า”

พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙, ดร. ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ ผู้เขียน

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here