ในช่วงเวลาแห่งความเศร้าเสียใจของคนไทยจากการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙ หรือเมื่อสามปีก่อน ตลอดเดือนนี้และวันต่อๆ ไป ก็ยังคงเป็นเวลาเดียวกับที่เราชาวไทยทุกท่านจะได้น้อมระลึกถึงพระคุณของพระองค์ท่านที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย
ผู้เขียนจึงขอนำบทสัมภาษณ์ของพระเดชพระคุณพระพรหมบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ให้สัมภาษณ์รายการทีวีรายการหนึ่งทำให้เรากระจ่างแจ้งขึ้นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงมีคุณูปการต่อชาติ และพุทธศาสนาอย่างไร โดยขอสรุปบางตอนมาเล่าไว้ที่นี้
พระราชาผู้เป็นที่รัก
โดย พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙, ดร.
ถาม : สถาบันทั้งสามมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันอย่างไร?
ตอบ : สถาบันทั้ง ๓ คือชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เหมือนไม้ที่ค้ำยันกันอย่างเหมาะสม ชาติคือประชาชน ถ้าประชาชนอยู่ในศีลในธรรม ชาติก็จะร่มเย็น โดยประชาชนจะมีศาสนาคอยกล่อมเกลา มีพระราชาและรัฐบาลคอยปกครองดูแลคือดูแลทั้งชาติและศาสนาให้มีความเข้มแข็ง
ฉะนั้น สถาบันทั้งสาม จึงต้องอาศัยกันและกัน คือ พระราชาดูแลพระศาสนา พระศาสนาแต่อดีตมาก็ขัดเกลาประชาชน
ขณะเดียวกันในพระพุทธศาสนาก็มีคำสอนที่ดีในการปกครองเป็นเช่นใด พระมหากษัตริย์ในอุดมคติเป็นเช่นไร ก็วางเป็นต้นแบบเอาไว้ และในประเทศไทยตั้งแต่ตั้งแผ่นดินชาติไทยมา เรามีพระพุทธศาสนากำหนดรูปแบบของพระมหากษัตริย์ เช่น ในสุโขทัยมีธรรมราชา พระมหาธรรมราชาลิไท ก็ด้วยเหตุผลที่ว่าพระราชาจะต้องมีธรรมะ
โดยคำสอนในพระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงจักกวัตติวัตรอันเป็นข้อปฏิบัติของพระจักรพรรดิ กล่าวถึงทศพิธราชธรรมว่าพระมหากษัตริย์ในอุดมคติควรเป็นอย่างไร และถอดแบบมาจากพระเจ้าอโศกมหาราช มหากษัตริย์ในอินเดีย ได้ปกครองและได้วางแบบอย่างเอาไว้
พระธรรมราชาในที่นี้จึงมี ๒ ความหมายคือ
๑.ผู้ปกครองเองมีการปฏิบัติธรรม เช่น มีศีล เป็นต้น
และ ๒.เป็นผู้ถือธรรมเป็นใหญ่ เรียกว่า มีธรรมาธิปไตย ไม่ได้เอาความรู้สึกส่วนตนเป็นใหญ่ เอากฎหมายและประโยชน์เป็นที่ตั้ง เมื่อปกครองแบบนี้จะนำความสงบสุขมาให้
ฉะนั้น เมื่อสถาบันทั้ง ๓ ประสานกันอย่างสอดคล้องก็จะเกิดการสืบทอดของชาติไทยมา เกิดความสุข ความเจริญ
ถาม : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีคุณูปการต่อพระพุทธศาสนาอย่างไรบ้าง?
ตอบ : เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ได้ขึ้นครองราชย์เมื่อ ๗๐ ปีมาแล้ว ประเทศชาติของเรายังไม่เจริญเท่านี้ เพราะเพิ่งเสร็จจากศึกสงครามโลกครั้งที่ ๒ สภาพเศรษฐกิจยังอยู่ด้อยพัฒนา พอสมัยพระองค์จากประเทศที่กำลังพัฒนาที่มีรายได้ระดับต่ำ จนกระทั่งมีรายได้ระดับสูง
และในปี พ.ศ.๒๕๒๔ ธนาคารโลกเลื่อนอันดับประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง อีกชั้นเดียวเราจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เหมือนประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ในส่วนของชาติ ในส่วนสถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย มองในสายตาของชาวโลก กลายเป็นสถาบันที่เข้มแข็งที่สุด
ในส่วนสถาบันพระพุทธศาสนาก็เกิดความมั่นคง ถึงขนาดผู้นำชาวพุทธทั่วโลกยอมรับให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลก เช่น สภาสากลวิสาขบูชาโลก (สหประชาชาติได้ให้การเห็นชอบกับการตั้งสภาสากลวันวิสาขบูชาโลกขึ้นมาในฐานะเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ.๒๕๕๖) เป็นต้น ก็อยู่ในประเทศไทย และวัดไทยยังกระจายไปทั่วทุกทวีปทั่วโลก
และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ยังได้เสด็จฯไปร่วมเปิดวัดพุทธปทีปที่กรุงลอนดอน และหลังจากนั้นก็มีวัดไทยที่อินเดียตามมา และไม่ได้ใช้คำภาษาอังกฤษว่า Temple แต่ใช้ คำว่า Wat คือ วัด ในภาษาไทยเลย เป็นการรู้จัก “วัด” แบบไทยๆ ของเรา เป็นเหมือนกับยุคพระเจ้าอโศกมหาราชที่ได้ส่งพระธรรมทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา และสายหนึ่งได้มาที่ประเทศไทย ตอนนี้ประเทศไทยก็ส่งออกพระไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั่วโลกเช่นกันในสมัยรัชกาลที่ ๙ นี้เอง
ในฐานะเป็นพุทธมามกะนั้น คือ
๑.ความดีส่วนพระองค์ คือพระองค์เป็นคนดี เรียกว่า อัตตหิตสมบัติ แปลว่า คุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ส่วนตน
๒.เมื่อพระองค์อยู่ในตำแหน่ง ได้สร้างประโยชน์สุขแก่ส่วนรวม เรียกว่า ปรหิตสมบัติ ในแง่นี้คือ พระองค์ทรงมีทั้งความรู้และการนำไปปฏิบัติ
พระองค์ทรงมีทั้ง ๒ แบบคือทรงเป็นพุทธมามกะที่ดี และยังเป็นธรรมราชา เมื่ออยู่ในสังคมใด ก็จะสร้างสังคมที่ดี ได้เป็นพระมหากษัตริย์ที่ดี เป็นผู้นำก็ทำให้สังคมเจริญก้าวหน้า
ในการนี้ พระองค์ท่านทรงมีความรู้ด้านธรรมะดี ได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ทรงสามารถพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก เรียกว่าเป็นอัจฉริยบุคคล และได้สอนธรรมะด้วยพระองค์เอง
อีกทั้งทรงถือว่าเป็นเอกศาสนูปถัมภกแก่คณะสงฆ์ในเรื่องการปกครองก็มีการตรากฎหมายพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ขึ้นเพื่อความเรียบร้อยในปี พ.ศ.๒๕๐๕ และมีการสนับสนุนด้านการศึกษาคณะสงฆ์ ได้สนับสนุนบาลี ได้พระราชทานทุนเล่าเรียนหลวง แต่งตั้งเปรียญ จบประโยค ๙ เป็นสามเณรก็ทรงเป็นนาคหลวง และการศึกษาสงเคราะห์ ทรงให้สมเด็จพระญาณสังวร สอนกรรมฐานกับเด็ก โดยมีคำสอนต่างๆ มีการออกวิทยุ และหนังสือต่างๆ มาจากคำอาราธนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และการเผยแผ่ คือมีการพิมพ์เผยแผ่พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกาในรัชกาลของพระองค์ อีกทั้งด้านการสร้างวัด บูรณะวัดอย่างมากมาย และในด้านการสาธารณสงเคราะห์ ก็มีการพัฒนาโครงการพัฒนาพระราชดำริมากมาย ทำให้วัดและศาสนาเจริญไปด้วย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ได้ทำให้สถาบันทั้ง ๓ คือ ชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วางค้ำยันกันอย่างพอดี ดูเหมือนเราได้เกิดมาในยุคสมัยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นต้นแบบเช่นนี้ ถือว่าเป็นบุญ เป็นกุศลที่จะได้ดำเนินตาม โดยถือเอาพระองค์เป็นที่ตั้งในการปฏิบัติหน้าที่การงาน เพื่อสร้างความสงบสุขให้กับสังคมต่อไปในวันนี้และภายภาคหน้า
พระราชาผู้เป็นที่รัก
จากคอลัมน์ ท่องเที่ยวโลกกะธรรม
โดย พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙, ดร.
นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๒
” เราได้เกิดมาในยุคสมัยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นต้นแบบเช่นนี้ ถือว่าเป็นบุญ เป็นกุศลที่จะได้ดำเนินตาม โดยถือเอาพระองค์เป็นที่ตั้งในการปฏิบัติหน้าที่การงาน เพื่อสร้างความสงบสุขให้กับสังคมต่อไปในวันนี้และภายภาคหน้า”
พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙, ดร. ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ ผู้เขียน