บาตรเดียวท่องโลก ตอน นางฟ้าไร้ปีก เขียนโดย พระพิทยา ฐานิสสโร
บาตรเดียวท่องโลก ตอน นางฟ้าไร้ปีก เขียนโดย พระพิทยา ฐานิสสโร

บาตรเดียวท่องโลก ตอน…

นางฟ้าไร้ปีก

เขียนโดย พระพิทยา ฐานิสสโร

จากคอลัมน์ บาตรเดียวท่องโลก หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๑
พระพิทยา ฐานิสสโร ผู้เขียน
พระพิทยา ฐานิสสโร ผู้เขียน

           ลูกศิษย์ท่านหนึ่งทำงานเป็นพนักงานต้อนรับในสายการบินแห่งหนึ่ง เธอทำงานมา ๒๐ ปีจนได้เลื่อนเป็นหัวหน้า  แต่เธอต้องพำนักอยู่ต่างประเทศเกือบตลอดเวลา และต้องเดินทางไปประเทศต่างๆ เกือบทั่วโลก ชีวิตส่วนใหญ่จึงอยู่บนเครื่องบิน

แม้อาชีพนี้เป็นอาชีพที่หลายๆ คนใฝ่ฝัน แต่สำหรับเธอยี่สิบปีแห่งการทำงานสายนี้นั้นเพียงพอแล้ว เธอจึงตัดสินใจลาออกในวัย ๔๐ ปีต้นๆ และเริ่มออกเดินทางไปยังสถานที่อันสงบในแบบของเธอ เพื่อเยียวยารักษากายและจิตใจ อีกทั้งค้นหาคำตอบให้กับชีวิตว่า จะต้องทำอะไรเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดให้กับชีวิตนี้ต่อไป โดยในใจลึกๆ เธอรู้ดีว่า ไม่ว่าที่ไหนๆ ก็สามารถสัมผัสความสุขสงบในตัวเองได้ และทุกปัญหาต้องแก้ที่จิตใจ

แต่เธอยังคงต้องการสถานที่ซึ่งมีพลังสนับสนุน เกื้อกูลให้เธอกลับมาสัมผัสความสงบสุขในตัวเธอเอง รวมทั้งก้าวผ่านความยากลำบาก ความอึดอัด ความไม่สบายใจ ท้อใจ เหนื่อยหน่ายชีวิต หรือแม้แต่ความกลัวที่แวะเวียนเข้ามาในจิตใจอย่างสม่ำเสมอ

ความสะดวกสบายทางวัตถุ ความเป็นอยู่ ฐานะทางสังคม อาชีพการงานที่ได้ค่าตอบแทนสูง ไม่ได้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า คนๆ นั้นสามารถมีความสุขอย่างแท้จริง แม้เขาอาจมีความสุขกับงานที่ทำแต่ก็ไม่เสมอไป อีกทั้งยังมีเรื่องราวรายละเอียดเล็กๆ ในชีวิตอีกมากมายที่เป็นความกดดัน ความคาดหวัง ความกลัวที่เป็นแรงผลักดันให้เขาเหล่านั้นมุ่งไปสู่ความสำเร็จแบบกลวงๆ ส่งเสริมหน้าตาทางสังคม วัตถุ เงินทอง หน้าที่การงานฯลฯ ที่จิตปรุงแต่งได้สร้างขึ้นมา โดยส่วนใหญ่มิรู้เลยว่า ชีวิตของตัวเองจริงๆ นั้นต้องการอะไร

“จนกระทั่งวันหนึ่ง

เหมือนมีระฆังแห่งสติ มาเตือนว่า

ขณะนี้เราทำอะไรอยู่?  

เรามีความสุขจริงๆ หรือ

 สิ่งที่ทำอยู่ มันคือสิ่งที่เราต้องการจริงหรือ

  แต่จะมีสักกี่คน ที่ได้ยินเสียงเตือนนี้”

พระพิทยา ฐานิสสโร
บาตรเดียวท่องโลก ตอน นางฟ้าไร้ปีก เขียนโดย พระพิทยา ฐานิสสโร
บาตรเดียวท่องโลก ตอน นางฟ้าไร้ปีก เขียนโดย พระพิทยา ฐานิสสโร

เช้าอันสดชื่น เงียบสงบ ณ​ วัดทิเบตที่ธรรมศาลา ประเทศอินเดีย เราได้ยินเสียงคนไทยพูดข้างห้อง “บรรยากาศหน้าห้องนี้สวยกว่าด้านล่างอีก คิดถูกแล้วที่เลือกห้องนี้” ในใจคิดไปว่า “โอ๊ย รู้แล้วว่าสวย อุตส่าห์หนีมาตั้งไกล ยังมาเจอคนไทยที่นี่จนได้ แถมยังอยู่ติดกันอีก กรรมไม่ดีอะไรเช่นนี้”

แต่จิตใจอีกด้านหนึ่งก็ค้าน “เอาล่ะ เป็นไงเป็นกัน ออกไปเผชิญ ความไม่อยากเสียเลย ไหนๆ ก็มาให้ได้ปฏิบัติถึงที่แล้ว” เมื่อออกไปสิ่งที่ไม่คาดคิด เหนือความคาดหมาย เหนือคำบรรยายก็ปรากฏ “โอ๊ย กรี๊ดๆๆ พระอาจารย์ หลวงพี่ ทำไมถึงโชคดีเช่นนี้ จากเจอกันที่ฝรั่งเศส แล้วก็มาเจอที่นี่อีก ธรรมศาลา อินเดีย”

โอกาสในชีวิตจะไม่ปรากฏเมื่อเราจมอยู่กับความกลัว ความเห็นผิด เพราะมันจะกลายเป็น ปัญหา ความทุกข์ ที่จิตใจต่อต้าน ปฏิเสธ ไม่อยากรับรู้ ไม่อยากประสบ พบเจอ ทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่บุคคลที่เราพยายามวิ่งหนี ไม่ใส่ใจ เราก็จะเดินหนี แล้ววิธีหนึ่งที่คนส่วนใหญ่นิยมกัน คือ เสพสิ่งต่างๆ มากเข้าไว้ ด้วยการกระทำ การดู การฟังให้มากๆ  กล่อมจิตใจให้หลง เพลิดเพลิน มัวเมาเพื่อที่จะลืม หรือไม่คิดถึงสิ่งที่ไม่ชอบใจ  ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะลืม เพราะความทุกข์มิได้จางคลายไปและอาจยิ่งเพิ่มความทุกข์ ความยึดติด หลงใหลในหลายๆ รูปแบบใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น

เคยสังเกตไหมว่า สิ่งใดที่จิตใจปฏิเสธ 

สิ่งนั้นยิ่งปรากฏแก่ใจให้ยิ่งทุกข์มาก

แต่จิตใจของผู้มีปัญญา มีสติ

เขาจะกล้าเผชิญความกลัว

ทลายความเห็นผิด

เพราะมันคือ ของขวัญ ขุมทรัพย์ อัญมณีล้ำค่า

ที่จะช่วยให้จิตวิญญาณเติบโต พัฒนา

นำไปสู่การปล่อยวาง เป็นอิสรภาพในที่สุด

เมื่อพลังแห่งสมาธิ และปัญญาเต็มเปี่ยม”

พระพิทยา ฐานิสสโร
"นางฟ้าไร้ปีก" เขียนโดย พระพิทยา ฐานิสสโร จากคอลัมน์ บาตรเดียวท่องโลก หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๑
“นางฟ้าไร้ปีก” เขียนโดย พระพิทยา ฐานิสสโร จากคอลัมน์ บาตรเดียวท่องโลก หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๑

เมื่อไม่มีบททดสอบแห่งชีวิต เราจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่า เราสอบผ่านหรือไม่ บททดสอบที่ให้เราเห็นความยึดมั่น ถือมั่นในจิตใจเราว่าเรามีมากแค่ไหน จะเกิดขึ้นหลังการสูญเสีย ถ้าเราทุกข์กับเรื่องใดๆ ที่ปรากฏในจิต นั่นหมายถึง เรายังยึดมั่น ถือมั่นบางสิ่งบางอย่างอยู่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นในด้านใดๆ ก็ตาม ถ้าเราสามารถปล่อยวางได้แล้ว ทุกข์นั้นก็อยู่ไม่นาน แต่ถ้าเรามีเหตุผลเขาข้างความยึดมั่น ถือมั่นนั้น เราอาจเป็นคนถูกในแบบของเราที่ยังคงมีความทุกข์อย่างไม่รู้จักจบสิ้น

การได้อยู่ในที่สงบ รายล้อมด้วยธรรมชาติบริสุทธิ์ มีผู้ฝึกตน ปฏิบัติเพื่อปลดปล่อยความยึดมั่น ถือมั่นในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนก็ตาม สถานที่นั้นได้ชื่อว่า เป็นสถานที่ที่เป็นมงคล ควรแก่การอยู่ร่วม แต่ในที่สุดแล้ว เราควรสร้างทุกๆ ที่เราอยู่ให้เป็นสถานที่เช่นนั้นและที่สำคัญเราสามารถประยุกต์การปฏิบัติดำรงอยู่ด้วยสติได้ในทุกๆ ที่

“เพราะในโลกแห่งความจริงแห่งปัจจุบันกาลนั้น

ความเร่งรีบ มลภาวะในทางประสาทสัมผัส

มีให้เห็นอยู่ทั่วไปเป็นปรกติ

เพียงเราไม่ส่งจิตไปปรุงกับสิ่งภายนอก

หรือไม่ส่งจิตออกนอก

ทุกๆ ที่เราอยู่จะเป็นที่ๆ ปลอดภัยในทันที”

พระพิทยา ฐานิสสโร

ผู้ที่กำลังเดินบนหนทางแห่งการตื่นรู้ คือ ผู้โชคดี

เพราะทุกสิ่งที่ประสบคือโอกาสแห่งการปล่อยวาง

ปฏิบัติธรรมมากมาย แต่วางไม่ได้ เย็นไม่เป็น ไม่เรียกว่าปฏิบัติธรรม  

พระพิทยา ฐานิสสโร ผู้เขียน
พระพิทยา ฐานิสสโร ผู้เขียน

บาตรเดียวท่องโลก ตอน นางฟ้าไร้ปีก เขียนโดย พระพิทยา ฐานิสสโร จากหน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๓

หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๓
หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๓

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here