ตามรอย พระธรรมทูตวัดธรรมปทีป ประเทศสกอตแลนด์

เรียนรู้วิถีชีวิต การปรับตัว เพื่อให้ธรรมเดินทาง…เข้าไปดับทุกข์ในใจผู้คน

จาริกธรรมสกอตแลนด์ ตอนที่ ๕

“พระธรรมวินัย กับ วัฒนธรรม และ การเรียนรู้ ”

โดย พระใบฏีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

พระธรรมทูตวัดธรรมปทีป ประเทศสกอตแลนด์

(จากซ้าย) เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  (ป.อ. ปยุตฺโต) ,เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์  (ช่วง วรปุญฺโญ) และ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)

           “…ท่านต๋องการไปอยู่ต่างประเทศไม่ใช่จะอยู่ง่าย ๆ นะ ไหนจะเรื่องอยู่ เรื่องฉัน สภาพอากาศ และการปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่นั้น โดยเฉพาะสมัยก่อนหลวงพ่อสมเด็จฯ ซึ่งเป็นยุคแรกที่คณะสงฆ์ไทยเดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ ท่านลำบากมากไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างวัดในต่างประเทศ หรือต้องตอบคำถามคนในสังคมว่าพระไปต่างประเทศทำไม…”

           ครั้งหนึ่งอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ, อดีตหัวหน้าสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ, อดีตเลขานุการสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ ได้เล่าเรื่องการเดินทางไปเป็นพระธรรมทูตในต่างประเทศให้อาตมาฟัง

ทั้งได้เล่าเรื่องการเดินทางไปต่างประเทศเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ, อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช พร้อมสหธรรมิกอีก ๒ รูป คือ เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์  (ช่วง วรปุญฺโญ) และเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

           เจ้าประคุณทั้ง ๓ ท่านนั้นเป็นคณะสงฆ์ไทยคณะแรกที่ได้เดินทางไปทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ และในยุคต่อมาได้ถูกต่อยอดและสานต่ออุดมการณ์ของเจ้าประคุณทั้ง ๓ โดยพระเดชพระคุณพระพรหมสิทธิ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ, อดีตประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ซึ่งในโอกาสตอนต่อ ๆ ไปจะได้นำเรื่องที่หลายคนในสังคมปัจจุบันอาจจะยังไม่เคยทราบหรือรู้มาก่อน เพราะนอกจากจะเป็นการเดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ ยังถือว่าเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์กับนานาประเทศ และทำให้คนในสังคมโลกรู้จักประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะได้นำมาเล่าในโอกาสต่อไป

           สำหรับอาตมาเมื่อผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบินเอดินบะระ ก็เดินออกมานอกสนามบินเจอสภาพอาการที่หนาวเย็น ก็ทำให้นึกถึงคำพูดของอาจารย์เจ้าคุณเลยว่าต้องปรับตัวค่อนข้างมาก และมันคงไม่ง่ายเลยสำหรับการใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดน

หลังจากนั้นได้เดินทางออกจากสนามบินด้วยรถแท็กซี่เพื่อมุ่งหน้าสู่วัดธรรมปทีป ระหว่างที่นั่งแท็กซี่อยู่นั้นได้พบเหตุการณ์ที่ประทับใจ เมื่อได้ยินเสียงหวอรถฉุกเฉินดังมาจากอีกเลนซึ่งจะวิ่งสวนทางกับแท็กซี่คันที่อาตมานั่งอยู่ แท็กซี่คันที่อาตมานั่งก็ได้ชะลอความเร็วเคลื่อนรถชิดขอบถนนเพื่อหยุดรถ ให้รถฉุกเฉินผ่านไปก่อนถึงจะขับรถต่อได้ อาตมาก็เลยถามโยมขับแท็กซี่ว่าโยมทั้งที่รถฉุกเฉินอยู่คนละเลนกับเรา และถนนก็โล่งมากไม่มีรถ เราต้องทำขนาดนี้เลยหรอ โยมขับแท็กซี่ก็ตอบกลับมาว่า

           “โอ๊ยยย !! พระอาจารย์นี้ยังน้อยไปนะครับ บางครั้งผมต้องขับรถปีนขึ้นฟุตบาทเลยนะครับ เพื่อหลีกทางให้รถฉุกเฉิน อยู่ที่นี้ไม่ว่าเราจะขับรถอยู่เลนฝั่งไหนก็ตามถ้ามีรถฉุกเฉินวิ่งมา เราต้องชะลอความเร็วและหยุดเพื่อเปิดทางให้รถฉุกเฉินวิ่งได้สะดวก เราต้องปฏิบัติตามกฎหมายครับ”

         จากคำกล่าวของโยมขับแท็กซี่ตอนแรกก็ยังไม่เชื่อ เพราะคิดในใจเองว่า “ต้องถึงขนาดปีนขึ้นฟุตบาทเลยหรือนี่” แต่เมื่ออยู่ที่นี่เพียงไม่กี่วัน สิ่งที่โยมพูดมันคือความจริง เพราะได้เห็นสถานการณ์เดียวกันนี้ ๒ – ๓ ครั้ง ถ้ามีรถฉุกเฉินวิ่งมา รถที่กำลังวิ่งอยู่บนถนน รวมทั้งรถเมล์ด้วยไม่มียกเว้น ต้องชะลอความเร็ว หรือบางครั้งถึงขนาดปีนขึ้นฟุตบาทเลย เพื่อหลบให้รถฉุกเฉินวิ่งไปก่อน

           อนึ่ง เรื่องนี้ในกฎหมายไทยก็มีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๗๖ และมาตรา ๑๔๘ มีอยู่ว่า

มาตรา ๗๖  เมื่อคนเดินเท้า ผู้ขับขี่ หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์เห็นรถฉุกเฉินในขณะปฏิบัติหน้าที่ใช้ไฟสัญญาณ แสงวับวาบ หรือได้ยินเสียงสัญญาณไซเรน หรือเสียงสัญญาณอย่างอื่นตามที่อธิบดีกำหนดไว้ คนเดินเท้า ผู้ขับขี่  หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์ต้องให้รถฉุกเฉินผ่านไปก่อนโดยปฏิบัติดังต่อไปนี้

          (๑) สำหรับคนเดินเท้าต้องหยุดและหลบให้ชิดขอบทาง หรือขึ้นไปบนทางเขตปลอดภัย หรือไหล่ทางที่ใกล้ที่สุด

          (๒) สำหรับผู้ขับขี่ต้องหยุดรถหรือจอดรถให้อยู่ชิดขอบทางด้านซ้ายหรือในกรณีที่มีช่องเดินรถประจำทางอยู่ทางด้านซ้ายสุดของทางเดินรถต้องหยุดรถหรือจอดรถให้อยู่ชิดช่องเดินรถประจำทาง แต่ห้ามหยุดรถหรือจอดรถในทางร่วมทางแยก

          (๓) สำหรับผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์ต้องบังคับสัตว์ให้หยุดชิดทาง แต่ห้ามหยุดในทางร่วมทางแยก

          ในการปฏิบัติตาม (๒) และ (๓) ผู้ขับขี่และผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์ต้องรีบกระทำโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะกระทำได้และต้องใช้ความระมัดระวังตามควรแก่กรณี และหากใครไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๕๐๐ บาท ตามมาตรา ๑๔๘  

ทั้งนี้ เมื่อมีเหตุการณ์ประทับใจแรกพบ ก็ต้องมีเรื่องที่ตื่นเต้นตามมาด้วย กล่าวคือ เมื่อเดินทางมาถึงวัดธรรมปทีป เพื่อนพระธรรมทูตด้วยกันก็นิมนต์เข้าไปในตัวเมืองเอดินบะระซึ่งใช้เวลานั่งรถเมล์จากวัดประมาณ ๑๐-๑๕ นาทีก็ถึง เพื่อไปศึกษาเส้นทาง

การนั่งรถแต่ละสายไปรับบาตรกับโยมคนไทยตามร้านอาหารไทยที่อยู่ในตัวเมืองเอดินบะระ หรือการดำรงชีวิตอยู่ที่นี้ต้องพึ่งตนเองเป็นส่วนมาก จึงจำเป็นต้องสามารถไปไหนมาไหนเองได้

           ปกติอยู่เมืองไทยเวลาออกไปนอกวัดก็เพียงแค่ครองจีวรหรือที่เรียกติดปากว่าห่มคลุม แต่อยู่ที่นี้ไม่ใช่อย่างนั้น “เมื่อครองจีวรเสร็จแล้วก็ต้องใส่เสื้อโค้ทหรือเสื้อคลุม (Clothes)ทับเข้าไปอีก และใส่ถุงเท้าพร้อมรองเท้าเพื่อความอบอุ่นของร่างกาย” ก็เลยถามเพื่อนพระธรรมทูตด้วยกันว่าใส่แบบนี้คนไทยที่พบเห็นเขาจะไม่ติเตียนหรือว่าเอาหรอครับ ท่านก็ตอบว่า “ไม่หรอกคนไทยที่นี่เขาเข้าใจ เพราะมันหนาวมาก จำเป็นต้องใส่ แต่ถ้าเป็นคนไทยที่มาเที่ยวหรือเพิ่งพบเห็นเราครั้งแรก ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเขาจะเข้าใจเราไหม หรือเราอาจจะโดนถ่ายรูปเอาไปลงข่าวที่เมืองไทย แล้วเราก็จะกลายเป็นคนดังในชั่วข้ามคืนก็ได้นะครับ” เมื่อท่านพูดจบก็ตามด้วยยิ้มและหัวเราะขำ ๆ

           เพื่อนพระธรรมทูตพูดจบอาตมาก็พูดติดตลกไปว่า “ผมอยากเป็นคนดังชั่วข้ามคืนจังครับ เดี๋ยวเวลาเจอคนไทยมาเที่ยวที่ไหนผมจะเดินเข้าไปหาเลยครับ ฮ่า ๆ” ก็อย่างที่เพื่อนพระธรรมทูตบอกว่าต้องใส่เสื้อโค้ทเพื่อความอบอุ่นของร่างกาย เพราะอากาสหนาวเย็น ฝนก็ตกตลอด ยิ่งช่วงหิมะลงไม่ต้องบรรยายสภาพอากาศเลย ถ้าพุทธศาสนิกชนพบเห็นพระสงฆ์ใส่เสื้อโค้ทในต่างประเทศจงทำจิตให้เป็นกุศล ถ้าสงสัยอะไรก็เข้าไปถามท่านได้ อย่าด่วนพิพากษาท่านเลย

จาริกธรรมสกอตแลนด์ ตอนที่ ๕ โดย พระใบฏีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม
จาริกธรรมสกอตแลนด์ ตอนที่ ๕ โดย พระใบฏีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

           หลังจากนั้นก็ดำเนินการหลายอย่างไม่ว่าจะต้องไปรับบัตรวีซ่าการ์ดสีชมพูที่ไปรษณีย์ใกล้วัด เพราะต้องไปรับภายใน ๓๐ วัน ตั้งแต่เดินทางมาถึง ซึ่งบัตรนี้เหมือนเป็นบัตรประชาชนในช่วงที่อยู่ที่นี่ (ขณะที่เราไปยื่นขอวีซ่าที่เมืองไทย เขาจะให้ระบุว่าให้ส่งบัตรวีซ่าการ์ดไปที่ไปรษณีย์ปลายทางที่เราจะเดินทางมาใน UK)

และเพื่อนพระธรรมทูตก็พาไปลงทะเบียนหมอที่โรงพยาบาลในชุมชนใกล้วัด ถ้าบ้านเราก็คงเป็นอนามัยหรือทุกวันนี้เรียกว่าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ พร้อมทั้งไปลงทะเบียนหมอฝัน ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กัน ในแบบฟร์อมลงทะเทียนเขาอำนวยความสะดวกเรื่องภาษา เวลามาใช้บริการด้วย โดยเขาให้ระบุว่าต้องการใช้ล่ามไหม ภาษาอะไร ให้ระบุลงไป

อาตมาถามเพื่อนพระธรรมทูตต่อว่า “ทำไมเราต้องมาลงทะเบียนด้วย”

ท่านตอบว่า ถ้าเป็นชาวต่างชาติเข้ามาอยู่ที่นี่ก็ต้องมาลงทะเบียน ถ้าไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถเข้ารับการรักษาได้ และการมาลงทะเบียน จะทำให้เราสะดวกเวลามาใช้บริการ เพราะเราลงทะเบียนไว้เรียบร้อยแล้ว มาถึงก็เข้ารักษาได้เลย เพราะประวัติเราอยู่ในระบบเขาแล้ว

           ดังนั้น จะเห็นว่าสิ่งที่อาจารย์เจ้าคุณเคยกล่าวไว้ว่าเวลาไปเป็นพระธรรมทูตอยู่ในต่างประเทศมันไม่ง่ายเลย กล่าวคือ เราต้องเรียนรู้บ้านเมืองเขา เรียนรู้กฎระเบียน กฎเกณฑ์ และกฎหมายต่าง ๆ เพราะการใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ ผิดถูกว่าตามกฎหมาย ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดไม่มีข้อยกเว้นใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่มีใครมีอภิสิทธิ์เหนือกฎหมายได้

นอกจากนี้แล้วยังต้องเรียนรู้วัฒนธรรม จารีต ประเพณีเกี่ยวกับการใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ พร้อม ๆ กับการปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมวิทยาของการดำรงชีวิตแล้ว ก็ยังต้องถือพระธรรมวินัยเป็นใหญ่เป็นสำคัญ

           อย่างไรก็ตาม เมื่อเดินทางถึงสกอตแลนด์แล้ว อาตมาได้มาเป็นพระธรรมทูตประจำอยู่ที่วัดธรรมปทีป เป็นวัดไทยวัดเดียวอยู่ในเมืองเอดินบะระ เมืองหลวงของสกอตแลนด์ สร้างมาแล้ว ๑๔ ปี เป็นที่พำนักของเหล่าพระธรรมทูตสายต่างประเทศรุ่นแล้วรุ่นเล่า แต่จะมีสักกี่คนที่ทราบว่า ๑๔ ปีต้องผ่านเรื่องราวอะไรมาบ้าง โดยในยุคแรก ๆ นั้นวัดธรรมปทีปเป็นเพียงห้องเช่าแคบ ๆ ในตึกแถว และเกิดเหตุการณ์หลายอย่างไม่คาดคิด ต้องย้ายออกไปตั้งวัดในฟาร์ม ซึ่งอาตมาจะได้เล่าถึงความยากลำบาก ความสามัคคี ของพระธรรมทูตและอุบาสก อุบาสิกา ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ได้ร่วมกันสร้างวัดธรรมปทีปขึ้นมาอย่างที่เห็นอยู่ในทุกวันนี้ในตอนต่อไป

พระใบฏีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม ผู้เขียน
พระธรรมทูตวัดธรรมปทีป ประเทศสกอตแลนด์

“การเป็นพระธรรมทูตในต่างแดน
นอกจากจะต้องเรียนรู้วัฒนธรรม จารีต ประเพณีเกี่ยวกับการใช้ชีวิตอยู่ที่นี่
พร้อม ๆ กับการปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมวิทยาของการดำรงชีวิตแล้ว
ก็ยังต้องถือพระธรรมวินัยเป็นใหญ่เป็นสำคัญ

จาริกธรรมสกอตแลนด์ ตอนที่ ๕

“พระธรรมวินัย กับ วัฒนธรรม และ การเรียนรู้ ”

คอลัมน์ เขียนธรรมสื่อถึงโลก หน้าธรรมวิจัย

นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๒

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here