วันนี้วันพระ วันอังคารที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๔ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๐

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๒๔)

“ ปฏิบัติสมาธิไม่ใช่เพื่อเอาอะไร ”

เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ: พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

ปฏิบัติสมาธิไม่ใช่เพื่อเอาอะไร

การปฏิบัติสมาธิจึงไม่ใช่เพื่อเอาอะไร ไม่ใช่เพื่อให้ได้อะไร และไม่ใช่เพื่อให้เป็นอะไร แต่ปฏิบัติเพื่อจะให้รู้ความเปลี่ยนแปลงของกายใจ เห็นแล้วก็รู้ลงไปตรงๆ ตามความจริงที่กายใจเป็น ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อให้เป็นอะไรมากไปกว่านี้ ที่เห็นก็ไม่ใช่ ที่เป็นก็ไม่ใช่ ตามจุดมุ่งหมายของสมาธิตามที่พระพุทธเจ้าสอน

พอคนอื่นเป็นนั่นเป็นนี่ เห็นนั่นเห็นนี่ เราก็คิดว่า  เอ! ทำไมเราไม่เห็นกับเขาบ้าง เมื่อไหร่เราจะเห็นอย่างเขาบ้าง ปฏิบัติมาก็พอสมควร เมื่อไหร่เราจะเป็นอย่างเขาบ้าง

นั่งสมาธิไปก็มีคำถามผุดขึ้นมาในหัวเรื่อย “คนนั้นก็เห็น คนนี้ก็เห็น เราไม่เห็น หรือว่าเราจะไม่มีบุญเสียกระมัง”

อย่าไปอยากเห็นเหมือนคนอื่น พออยากมากเข้าใจก็คิดสร้างเรื่องขึ้นมา เมื่อใจคิดสร้างไปตามความอยากก็เห็นไม่ตรงตามเหตุตามปัจจัยของการปฏิบัติสมาธิ คือไม่ตรงตามสภาวะที่เกิดขึ้นจริงขณะนั้นๆ

ไม่ต้องมองไปที่คนอื่น

ให้ดูการปฏิบัติในกายในใจของตัวเอง

อย่าไปเลียนแบบคนอื่น

อย่าไปอยากเป็น

อยากเห็นเหมือนคนอื่น

การปฏิบัติเป็นของเฉพาะตน

ส่วนบางคนภาวนาไปๆ พอจิตสงบหน่อยเกิดสบายในหัวจิตหัวใจ เกิดปลอดโปร่งสว่างไสว  รู้สึกตัวเบาตัวลอยวูบๆ วาบๆ ก็สงสัยอีกแล้ว เอ! เรานี่มันเป็นยังไงเสียแล้ว คนอื่นไม่สว่างไสวทำไมเราสว่างไสวปลอดโปร่งอยู่คนเดียว หรือว่าเราจะเป็นอะไรไปแล้ว เรานี่ดูท่าจะเป็นผู้วิเศษไปแล้วกระมัง ก็ไปสงสัยไปรบกวนจิต พอจิตถูกรบกวน จิตจะถอนออกจากความสงบ ถอนออกจากการรวมดวง ไม่คืบหน้าไป บางคนถอนแล้วถอนเลย บางคนก็สามารถกำหนดกลับเข้าไปใหม่ได้

บางทีก็นึกอมยิ้มอยู่ในใจว่า

โอ! ช่างน่าอัศจรรย์

เป็นตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้จริงๆ หนอ

ที่จริง มันไม่มีอะไร มันไม่เป็นอะไร มันเป็นของมันอย่างนั้นเท่านั้นเอง ไม่ได้วิเศษ ไม่ได้อัศจรรย์ พอทำไปไม่ถึง มันก็ไม่เกิดอย่างนั้นเป็นธรรมดา พอทำถึงมันก็เกิด เพราะปัจจัยให้เกิดมันมีพร้อม มันก็เกิดของมันธรรมดา เกิดแล้วมันก็หายไป ที่หายไปก็เพราะปัจจัยมันแยกจากกัน

ถ้าปัจจัยไม่พร้อม อยากจะให้เกิดตามใจอยากมันก็ไม่เกิด เริ่มต้นปฏิบัติมันก็ไม่มีอะไร เพราะมันไม่มีอะไรมาตั้งแต่ต้น พอลงมือปฏิบัติภาวนาไปๆ ความเพียรถึงที่ ปัจจัยพรั่งพร้อม อาการต่างๆ ก็ปรากฏขึ้น พอเลิกปฏิบัติออกจากบัลลังก์สมาธิก็กลับไปสู่ความไม่มี จึงไม่ต้องสงสัยอะไรตัดความสงสัยเสียให้รู้ว่า มันเป็นธรรมดา

เหมือนก่อนตีระฆังออกบิณฑบาตก็ไม่มีเสียง มีแต่ระฆัง กับฆ้อน ไม่รู้เสียงมาจากไหน พอฆ้อนกระทบระฆังเท่านั้นแหละ ก็เกิดเสียงดังขึ้นมาทันที พอหยุดตี เสียงก็หายไป ไม่รู้เสียงหายไปไหน ทีแรก ก็มีแต่ฆ้อนกับระฆัง ต่อมา พอฆ้อนกระทบระฆังเข้า เกิดมีเสียงขึ้นมา พอเลิกตีเสียงก็หายไป ไม่รู้หายไปไหน เสียงมาจากไหนก็ตอบไม่ได้ เสียงหายไปไหนก็ตอบไม่ได้อีก

นี่เรื่องธรรมดามันเป็นอย่างนี้  จึงไม่ใช่เรื่องที่จะมาสงสัยว่าเสียงมาจากไหน เสียงหายไปไหน เสียงเกิดตามเหตุตามปัจจัย ก็หายไปตามเหตุตามปัจจัย

เหมือน “จิต”  “มโน”  “วิญญาณ

ก็ไม่รู้อยู่ตรงไหน

ตรงไหนเป็นจิต

ตรงไหนเป็นวิญญาณ

ก็ตอบไม่ได้

รู้แต่ว่าจิตเป็นนาม

ไม่มีรูปร่าง

จิตจะปรากฏก็ต่อเมื่อมีการกระทบ “ผัสสะ
เช่น ตากระทบกับรูป 

ตอนแรก ตาก็อยู่ส่วนตา

รูปก็อยู่ส่วนรูป

วันหนึ่งเกิดตาไปเห็นรูป

เกิดความรู้ทางตาขึ้นมา
ก็เรียกว่า “จักขุวิญญาณ

เกิดการเห็น การเห็นมาจากไหนก็ไม่รู้

ขั้นแรก มี ๒ อย่าง คือ ตากับรูปต่างคนต่างอยู่

ต่อมาเกิดตาไปเห็นรูปเข้า ก็เกิดความรู้ทางตาขึ้นมา กลายเป็นตาเห็นรูป การเห็นมาจากไหนก็ไม่รู้ จะว่ามาจากดวงตาก็ไม่ใช่ เพราะบางคนดวงตาหลุดหล่นออกมาอยู่ข้างนอก ดวงตานั้นก็มองไม่เห็น ก็คงเหมือนเสียงระฆัง ไม่ตีก็ไม่มีเสียง แต่พอระฆังถูกตี ไม่รู้เสียงมาจากไหน

อย่าไปสงสัย

ให้ตัดความสงสัยเสีย

ตัดวิจิกิจฉาออกไป

แล้วดูเข้ามาที่ใจ

พระอาจารย์ญาณวชิระ: พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้เขียน ในขณะนั้น (ภาพในอดีต)
พระอาจารย์ญาณวชิระ: พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้เขียน ในขณะนั้น (ภาพในอดีต)

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๒๔) “ ปฏิบัติสมาธิไม่ใช่เพื่อเอาอะไร ” เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ: พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here