ยังทุกข์ไม่พออีกหรือ …

ผู้เขียนถามตนเอง จริงๆ ก็พอแล้วนะ สำหรับความทุกข์ แต่จะเลือกไม่ทุกข์ใจได้อย่างไร นี่สิสำคัญ

“บันทึกฝึกขีดเขียน เล่ม ๑” จึงเกิดขึ้นในระหว่างทางของชีวิตที่ดำเนินไปบนความทุกข์แสนสาหัสที่ผ่านมา กับการทำงานเขียนเล็กๆ ไปด้วย และการเผยแผ่ธรรมะจากพระพุทธเจ้า โดยผ่านงานเขียนของครูบาอาจารย์ก็ทำให้จิตยังมีที่ยึดเหนี่ยวรั้งใจไว้บ้าง จนกระทั่งสามารถมีตนเป็นที่พึ่งแห่งตนได้บ้าง ไม่ล้มระเนระนาดไปกับความทุกข์แสนสาาหัส ก็ตอนที่พบกับความสูญเสียซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ก็ยังประคองใจไปได้บ้าง แม้ยังยอมรับไม่ได้ ก็ยังมีครูบาอาจารย์รับฟังความทุกข์ในใจอย่างเมตตามาโดยตลอด

การเขียนระบายความทุกข์

ให้ใครสักคนที่ไว้ใจฟัง

จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

แต่ถ้าไม่มีใครที่ไว้วางใจได้เลย การเขียนไดอารี่ (diary) เป็นบันทึกประจำวันไว้อ่านเอง ก็จะทำให้เราได้ทบทวนตัวเอง และหาทางแก้ไขตนเอง จนกว่าจะหลุดออกจากความทุกข์ได้

ไดอารี่ จึงเป็นประดุจเพื่อนสนิทที่รับฟังทุกอย่างเลย หากเรายังไม่พร้อมที่จะเขียนลงเพจของเรา หรือ ยังไม่พร้อมจะเผยแพร่ออกไป การเรียนบันทึก คือ จุดเริ่มต้นของการเยียวยาแผลใจตนเอง ขณะเดียวกัน ก็จะเป็นที่บ้านที่บ่มเพราะใจเราให้เข้มแข็ง และแข็งแรงขึ้น ก่อนที่จะออกไปเผชิญโลกกว้างทางความคิดอันหลากหลายอีกครั้งหนึ่งอย่างมีสติ และปัญญา

ผู้เขียนจึงต้องกลับมาทบทวนการเขียน และการบันทึกฝึกขีดเขียน ตลอดจนการเขียนบันทึกในพรรษานี้ว่า เขียนแล้ว จะมีประโยชน์กับผู้อ่านไหม ถ้าเป็นการระบายความรู้สึกเฉยๆ ก็อย่าเพิ่งเขียนลงเพจ และอย่าเขียนไปบ่นกับครูบาอาจารย์ ต้องนึกถึงใจเขาใจเราเสมอ

ดังที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด พระราชกิจจาภรณ์ ในขณะนั้น เมตตาให้ข้อคิดกับผู้เขียน เกี่ยวกับการเขียนอย่างมีสติ เมื่อครั้งที่ได้มีโอกาสไปถวายความรู้เรื่องการเขียนบทความ จนก่อเกิดคอลัมน์จากพระเขียนหลายคอลัมน์ในหน้า “ธรรมวิจัย” ทุกวันอังคาร และ หน้าพระไตรสรณคมน์ ทุกวันพฤหัสบดี หนังสือพิมพ์ “คมชัดลึก” หลายปีเป็นธรรมทาน ก่อนที่นสพ.ปิดตัวลงไปเมื่อต้นปี พ.ศ.๒๕๖๓ ที่ผ่านมา

การเขียนบันทึก แล้วกลับมาดูจะได้รู้ว่า เราบันทึกอะไรไปบ้าง และอะไรบ้างที่เราจะนำมาพัฒนาตนเองต่อไป และสิ่งใดควรทิ้งไปได้แล้ว ไม่ย้ำคิดย้ำทำ

ผู้เขียนก็เลยกลับมาดูงานที่ทำค้างไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว ยังไม่ไปไหนเลย จนเพื่อนที่ช่วยทำ artwork ให้กับหนังสือถามมา ก็เลยกลับมาตั้งใจทำให้สำเร็จ จึงเปิดอ่านคำนิยมจากพระมหาขวัญชัย กิตติเมธี และนำมาแบ่งปันกันอ่านค่ะ

คำนิยม

พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี

การเขียนคือการบันทึกเรื่องราวผ่านความคิดที่อยู่ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน

 เมื่อเวลาผ่านไปเราจะมีความคิดใหม่เกิดขึ้น  แต่จะว่าเป็นความคิดใหม่ก็ไม่ใช่เสียเลยทีเดียว  เรียกว่าเป็นความคิดที่เติบโตขึ้นกว่าความคิดเดิม  จะว่าไปก็ไม่ต่างจากชีวิตเรา ณ ตอนนี้  ที่เรื่องกำลังดำเนินอยู่  ก็มาจากเรื่องราวในวันวานเมื่อครั้งเรายังเป็นวัยรุ่น  เป็นเด็ก เป็นทารก  ทุกอย่างดำเนินมาไม่ขาดสายหายไปในช่วงใดช่วงหนึ่ง  แล้วแต่เวลาจะเรียกขานเราด้วยถ้อยคำที่แตกต่างกันไปอย่างไร

ผู้เขียนเชื่อว่า  ทุกช่วงเวลาเราต่างเคยเป็นบางอย่างที่มีจุดเริ่มต้น  เบิกบาน  และร่วงโรยไป  แต่สิ่งที่ยึดโยงสิ่งเหล่านั้นไว้และบอกให้โลกได้รับรู้เรื่องราวเหล่านี้ได้คือ “การบันทึก ขีดเขียน”  ให้ตัวอักษรนำพาตัวเราฝ่ามรสุมแห่งกาลเวลามายืนอยู่ในจุดที่เราสามารถพินิจพิเคราะห์  “ความเป็นเรา”  ได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน  และบอกเล่าเรื่องราวด้วยศิลปะของนักเล่าเรื่องชั้นเยี่ยม

ขณะที่อ่านหนังสือ “บันทึกฝึกขีดเขียน” ของ มนสิกุล เรื่องราวต่างๆ ก็เกิดความคิดเหล่านี้ขึ้นมา  บางครั้งเราอ่านหนังสือก็เพียงผ่อนคลายตัวเองจากโลกหนึ่ง  และได้เสพความรู้ผ่านสายตาคนอื่น  นั่นทำให้การอ่านเรื่องราวของโยมมนสิกุล  ไม่ใช่แค่การอ่านเพื่อให้เป็นนักเขียนเท่านั้น  แต่ยังเป็นการอ่านความฝัน  และความคิดที่ใครสักคนจะก้าวไปสู่จุดหมายปลายทางที่ตนเองฝันไว้ได้อย่างไร  

ยิ่งถ้าเราไม่เคยย้อนถามตัวเองเลยว่า “ฉันฝันอะไรในวัยเด็ก” เมื่ออ่านบันทึกเล่มนี้อาจมีสักช่วงหนึ่งที่เราจะได้เดินย้อนกลับเข้าไปในห้องที่ถูกทิ้งร้างไว้หลายสิบปี  เพื่อจะดูว่าในนั้นมีอะไรอยู่บ้าง  ฝันอาจถูกซ่อนไว้  ณ จุดใดจุดหนึ่งที่อาจใช้เวลาหาสักหน่อย  แต่การได้ย้อนดูฝันที่ถูกทิ้งร้างมานานก็คงไม่ต่างจากการมองปณิธานในใจของเราว่ายังคงมั่นกับอุดมการณ์ในใจเราหรือเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน  แล้วย้อนกลับมาพิจารณาชีวิตเราทุกวันนี้จะเข้าใจคำตอบนั้นได้

ขออนุโมทนากับ “มนสิกุล” กับกุศลเจตนาในการถ่ายถอดชีวิต  แนวทางการทำงานที่มุ่งมั่น ตั้งใจกับการเขียนและไม่เคยถอดใจ  ละทิ้งไปเสีย  แม้ยุคสมัยวันเวลาของการขีดเขียน  การอ่านจะเปลี่ยนแปลงไป  มนต์เสน่ห์ของตัวอักษรที่ถูกฝึกฝน  ความคิดจิตใจที่ถูกบ่มเพาะมาอย่างยาวนาน นั่นน่าจะเป็นผลสำเร็จแห่งความเป็นนักเขียน  และผู้ดำเนินชีวิตตามแบบอย่างของผู้มีสมาธิ (จดจ่อต่อสิ่งที่ทำ) อย่างแท้จริง

พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี

“เรียนรู้ความคิดที่เติบโตและมีความหมาย…” คำนิยม จากพระมหาขวัญชัย กิตติเมธี : “บันทึกฝึกขีดเขียน” เล่ม ๑

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here