จดหมายถึงโยมแม่ใหญ่ ฉบับที่ ๔

(ตอนที่ ๑๐) “เล่าเรื่อง อรูปฌาน ”

: จาก ธรรมนิพนธ์เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน”

เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

จากนี้ไปจะกล่าวถึงฌานที่ละเอียดประณีตมากจนรู้สึกว่าตนเองไม่มีรูปร่าง  มีแต่จิตอย่างเดียว  จึงเรียกผู้ที่เข้าฌานในระดับนี้ว่า อรูปฌาน  แปลว่า ฌานไม่มีรูปร่าง  มี ๔ คือ

(๑) อากาสานัญจายตนฌาน  ผู้ที่ได้บรรลุฌานขั้นนี้นับว่าแปลก  เพราะเป็นฌานไม่มีรูปไม่มีร่าง  มีเพียงจิตเท่านั้น  ที่เป็นเช่นนี้เพราะเมื่อปฏิบัติสมาธิบรรลุจตุตถฌานแล้ว  ก็ยังไม่พึงพอใจ  เกิดความเบื่อหน่ายในร่างกายจึงบำเพ็ญเพียรต่อ  โดยกำหนดเห็นอากาศไม่มีที่สิ้นสุด  บำเพ็ญเพียรอยู่อย่างนี้ จนได้บรรลุอากาสานัญจายตนฌาน  เมื่อตายไปแล้วจะไปบังเกิดในพรหมโลกชั้นอากาสานัญจายตนภูมิ  พรหมโลกชั้นที่ ๑๗ ไม่มีรูป  ไม่มีร่าง  มีเพียงจิต  จึงจัดเป็นพรหมชั้นสูง  จนไม่มีรูปร่าง  อายุของพวกเขายืนยาว  นานแสนที่จะนานถึง ๒,๐๐๐๐ มหากัป

(๒)  วิญญาณัญจายตนฌาน  ผู้ที่ได้บรรลุฌานขั้นนี้  ก็เช่นกับพวกพรหมชั้นอากาสานัญจายตนภูมิ  คือ พวกพรหมไม่มีรูปร่าง  มีเพียงจิตเสวยสุขอยู่  นิ่งเฉยเหมือนลอยอยู่กลางอากาศ  พรหมพวกนี้ได้บรรลุจตุตถฌาน  แล้วก็ไม่ พอใจเกิดความเบื่อหน่ายในร่างกายตน  จึงบำเพ็ญเพียรจนได้บรรลุอา กาสาณัญจายจนะ  ก็ไม่พอใจ  จึงบำเพ็ญเพียรต่อไป  โดยกำหนดภาวนาถึงความละเอียดของวิญญาณไม่มีที่สิ้นสุดจนได้สำเร็จวิญญาณัญจายตนฌานเมื่อตายแล้วจะไปบังเกิดในพรหมโลกชั้น วิญญาณัญจาตนภูมิ  พรหมไม่มีรูปร่าง  มีเพียงจิตเสวยสุขอยู่โดดเด่นบนอากาศ  มีอายุยืนถึง ๔,๐๐๐๐ มหากัป

(๓) อากิญจัญญายตนฌาน  ผู้ที่ได้บรรลุฌานนี้  ก็เช่นเดียวกัน  ไม่พอใจในวิญญาณณัญจายตนฌาน  บำเพ็ญเพียรต่อไปจนสำเร็จอากิญจัญญายตนฌาน  โดยกำหนดว่า “อะไรๆ ก็ไม่มีๆๆ”  ภาวนาอยู่จนสำเร็จอากิญจัญญายตนฌาน  เมื่อตายไปแล้วจะไปบังเกิดในอรูปพรหม  คือพรหมไม่มีรูป  มีเพียงนามจิต  ในชั้นอากิญจัญญายตนภูมิ  มีอายุยืนยาวมาก  นานถึง ๕,๐๐๐๐ มหากัป

(๔) เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน  ซึ่งเป็นฌานขั้นสูงสุด ในบรรดาฌานโลกทั้งหลาย  เป็นฌานที่มีสัญญาละเอียดประณีตที่สุด  คือ  จะมีสัญญาก็ไม่ ใช่  ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่  ผู้ที่ได้บรรลุฌานขั้นนี้  โดยกำหนดภาวนาว่า  “ประณีต ๆ ๆ”  ที่กำหนดภาวนาอยู่เช่นนี้  ก็เพื่อหนีทุกข์แห่งร่างกายให้ไกลที่สุด  คิดแม้กระทั่งว่า  จิตก็จงหมดสิ้นไป  จิตอย่าได้มี  จึงเรียกว่า “มีสัญญาก็ไม่ใช่   ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่” เป็นเพียงจิตอันละเอียดประณีตมาก  เมื่อตาย แล้วจะไปเสวยสุขอยู่ในพรหมโลกชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ  เป็นภูมิของพรหมที่ไม่มีรูป  อายุยืนถึง ๘๔,๐๐๐ มหากัป

นอกจากนั้นยังมีจตุตถฌานอีกอย่างหนึ่ง  เรียกว่า “อสัญญจตุตถฌาน”  แต่ก็จัดเข้าในเนวสัญญานาสัญญายตน  ฌานนี้เช่นกัน  ได้แก่  ฌาน ๔ ที่ได้บรรลุจากบริกรรมวาโยกสิณ  ครั้นออกจากฌานแล้วเกิดความเบื่อหน่ายจิต  เกลียดชังจิตเป็นอันมาก  เมื่อออกจากฌานภาวนาอยู่ว่า “ตัวข้าอย่ามีสัญญาๆๆๆ”  บำเพ็ญเพียรอยู่เช่นนี้  เมื่อตายแล้วจะไปเสวยสุขอยู่ในรูปพรหม  คือ ปรากฏเหมือนมีเพียงรูปเท่านั้น

คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา  แสดงข้อที่นับว่าแปลกของพรหมชั้นนี้ไว้ว่า  พรหมพวกนี้ตั้งอยู่ในวิมานอันสวยงามแต่บางองค์ยืนนิ่ง  บางองค์ก็นั่งนิ่ง ไม่มีหวั่นไหว  ไม่มีการกระดิกทั้งนิ้วมือ  หรืออวัยวะอื่นใด  เหมือนเทวรูปที่เขาปั้น  ตั้งไว้   ยืนอยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น  ที่เป็นเช่นนี้  ก็เนื่องมาจากผู้ที่ได้บรรลุ อสัญญจตุตถฌาน  ตายในอิริยาบถนั่ง  ก็จะขึ้นไปปรากฏนั่งนิ่งอยู่ไม่ขยับ  ถ้ายืนตาย  ก็จะขึ้นไปปรากฏยืนไม่ขยับ  นั่งอยู่นิ่งๆ ยืนอยู่นิ่งๆ  เหมือนรูป  ปั้นในพรหมโลกนั้น  จึงเรียกพรหมโลกชั้นนี้ว่า “อสัญญสัตตาพรหม”

จดหมายถึงโยมแม่ใหญ่ ฉบับที่ ๔ (ตอนที่ ๑๐) “เล่าเรื่องอรูปฌาน” : จาก ธรรมนิพนธ์เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here