จาากธรรมนิพนธ์ เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

คราวที่แล้ว เล่าถึงจดหมายฉบับที่สี่ถึงโยมแม่ใหญ่ ตอน วัตรบท ๗ ประการ ของพระอินทร์

(๑) มาตาเปติภาโร  จะเลี้ยงมารดาบิดาตลอดชีวิต

(๒) กุละเชฏฐาปะจายิโน  จะให้ความเคารพผู้มีอายุในวงศ์ตระกูลตลอดชีวิต

(๓) สัณหะวาโจ จะพูดคำสุภาพอ่อนหวานตลอดชีวิต

(๔) อะปิสุณะวาโจ หรือ เปสุเณยยัปปะหายี  จะไม่พูดส่อเสียด  จะพูดแต่ คำให้เกิดความรักความสามัคคี ตลอดชีวิต

(๕) ทานะสังวิภาคะระโต  หรือ  มัจเฉระวินะโย  จะยินดีที่ได้ให้ทานแบ่งปันผู้อื่น  หรือจะเป็นคนปราศจากความตระหนี่ตลอดชีวิต

(๖) สัจจะวาโจ  จะเป็นคนมีสัจจะพูดแต่ความจริงตลอดชีวิต

(๗) อะโกธะโน หรือ โกธาภิกู จะเป็นคนไม่มีนิสัยมักโกรธ  หรือหากความโกรธเกิดขึ้น  จะระงับความโกรธลงให้ได้ทันทีตลอดชีวิต

ข้อวัตรปฏิบัติทั้ง ๗ ข้อนี้เอง  เมื่อครั้งพระอินทร์เกิดเป็นมนุษย์  ได้ตั้งใจสมาทานปฏิบัติตลอดชีวิต  ทำให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ไม่ขาดสาย  ผลทำให้ไปเกิดเป็นพระอินทร์  เราอาจลองตั้งใจอย่างพระอินทร์ดูบ้างก็ได้  เอาเฉพาะอย่างการหักห้ามความ โกรธ  ความฉุนเฉียวเกรี้ยวกราด  หุนหันพลันแล่น  แม้จะทำได้ยากเต็มทน  แต่ถ้าทำได้ (เป็นบางครั้ง) เราจะรู้สึกมีความสุขใจอย่างประหลาด ที่สามารถเอาชนะความโกรธได้ ซึ่งก็เท่ากับว่า เป็นการชนะตนเอง

ฉบับนี้มาถึงตอน…

จดหมายถึงโยมแม่ใหญ่ ฉบับที่ ๔ (ตอนที่ ๖) “ตาวติงสภูมิ” โลกของเทวดาชั้นที่ ๒ : สิ่งสำคัญบนดาวดึงส์” จาก ธรรมนิพนธ์เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

นอกจากนั้น  ม้ากัณฐกะที่เจ้าชายสิทธัตถะขี่ก็ออกบวชก็ไปเกิดเป็นเทพบุตรชื่อว่า “กัณฐกเทพบุตร” ในเทวโลก  ชั้นดาวดึงส์นี้เช่นกัน  เมื่อครั้งที่เจ้าชายสิทธัตถะ ออกบวชได้ขี่ม้ากัณฐกะออกบวช  แล้วปล่อยให้นายฉันนะนำม้ากลับพระราชวัง  พอพระองค์เดินลับตาไปเท่านั้น  ม้ากัณฑกะก็อกแตกตายที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรานั่นเองแล้วไปเกิดเป็นเทพบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  มีชื่อว่า  “กัณฐกเทพบุตร”

ยังมีเทพบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  ที่ควรจะนำมาเล่าไว้ในที่นี้อีกเพราะเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้าของเรา  เมื่อมีโอกาสไปตามวัดต่างๆ คงเคยเห็นพระพุทธรูปปางหนึ่งมีลักษณะแปลกกว่าองค์อื่น  คือพระองค์ประทับนั่งหย่อนเท้า  มีลิงและช้างอยู่เบื้องหน้าคอยถวายการรับใช้   ลิงกำลังถวายรวงผึ้ง  ส่วนช้างถวายอ้อย  พระพุทธรูปปางนี้เราเรียกกันติดปากตามประสาชาวบ้านว่า  “พระปางเลไลยก์”  แต่ชื่อจริงๆ คือพระพุทธรูปปางปาริไลยกะ  เพราะป่าที่พระพุทธเจ้าประทับในคราวครั้งนั้น คือ ป่าปาริไลยกะ

มีเรื่องเล่าว่า  เมื่อพระพุทธองค์เสด็จออกจากวัด  ที่พระสงฆ์ทะเลาะเบาะแว้งกัน  มาจำพรรษาที่ป่าปาริไลยกะนี้  โดยไม่มีภิกษุรูปใดตามมาอุปัฏฐาก  พญาช้างปาริไลยกะได้ทำหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐากตลอดพรรษา  ในระหว่างนั้น  ลิงเห็นพญาช้าง อุปัฏฐากบำรุงพระพุทธเจ้าก็อยากทำบ้าง  จึงเที่ยวไปตามป่า  ได้รวงผึ้งมาถวาย  พอลิงเห็นพระพุทธองค์ฉันน้ำผึ้งที่ก็ตนถวาย  เกิดความดีใจเป็นอย่างมากจนไม่อาจอดกลั้นความยินดีได้  จึงกระโดดโลดเต้นไปมาตามกิ่งไม้  เผอิญกิ่งไม้ที่จับเป็นกิ่งไม้ผุ  จึงหล่นลงมาตอไม้ทิ่มตาย  ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  ด้วยกุศลผลบุญที่ได้ถวายน้ำผึ้งพระพุทธเจ้า

ส่วนพญาช้างปาริไลยกะ  ได้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้าจนออกพรรษา  หลังจากออกพรรษา  พระอานนท์มารับเสด็จพระพุทธเจ้าเข้าเมือง  พญาช้างก็เดินตามหลังมาจวนจะเข้าหมู่บ้าน   พระพุทธเจ้าบอกว่า  เพราะช้างปาริไลยกะเป็นสัตว์เดรัจฉานจึงไม่สามารถบรรลุธรรมขั้นใดขั้นหนึ่งได้  เขตแดนตั้งแต่นี้ต่อไป  เป็นที่อยู่ของหมู่มนุษย์    ธรรมดาว่า  ที่อยู่ของมนุษย์นั้นมีอันตรายมากสำหรับสัตว์

พระพุทธเจ้าบอกให้พญาช้างกลับไปที่อยู่ของตน

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จต่อไปนั้น  พญาช้างนั้นได้เอางวงสอดเข้าปาก  ยืนร้องไห้ อยู่ตรงนั้น  พญาช้างปาริไลยกะคิดว่า  หากพระพุทธเจ้าเสด็จกลับป่าปาริไลยกะตามเดิม  ตนจะอุปัฏฐากอย่างที่เคยทำจนวันตาย  พญาช้างได้ยืนร้องไห้จนพระพุทธเจ้าลับตาไป  ก๊อกแตกตายอยู่ตรงนั้น  ไปเกิดเป็นปาริไลยกะเทพบุตรบน สวรรค์ชั้นดาวดึงส์นี้

ฟังดูแล้วน่าสงสารพญาช้างปาริไลยกะ 

ในเทวโลกชั้นนี้  ยังมีดอกไม้ชื่อ “ปาริชาต”  เป็นดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมมากในเทวโลก  หอมอบอวลไปจนถึงภพของเทพอสูร  ต้นปาริชาตเกิดในเทวโลก  ชั้นดาวดึงส์ ก็ด้วยอานิสงส์ที่พระอินทร์เมื่อครั้งเป็นมนุษย์  ได้ปลูกต้นไม้ประดับศาลา  ใต้ต้นปาริชาตนั้นมีแท่นศิลาเป็นที่ประทับนั่งของพระอินทร์ ชื่อว่า “ปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์”  แท่นหินนี้เวลาพระอินทร์นั่งก็จะยุบลง  เวลาลุกก็จะฟูขึ้นเอง

ปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์นี้  มีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งคือ  เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่คนดีต้องการความช่วยเหลือ  อาสน์ หรือที่ประทับนั่งของท้าวเธอจะแข็ง

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จจำพรรษาที่เทวโลก  เพื่อแสดงพระ อภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา  ก็มาประทับจำพรรษาที่เทวโลกชั้นดาวดึงส์  จนกลายเป็นประเพณีตักบาตรเทโวโรหนะ หลังวันออกพรรษาของชาวพุทธถึงปัจจุบัน

การจำพรรษาที่เทวโลก 

ครั้งนั้น พระองค์ประทับนั่ง

บนปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ของพระอินทร์นี้ 

แสดงธรรมชื่อว่า “อภิธรรม”  

ซึ่งเป็นธรรมที่สูงยิ่งโปรดพระพุทธมารดา 

เนื้อความโดยย่อของอภิธรรมเทศนา  อาตมาได้เขียนไว้แล้ว  ตั้งแต่จดหมาย ฉบับแรก  ยังไม่ปรากฏว่า  พระองค์แสดงอภิธรรมโปรดใครเป็นพิเศษในโลกมนุษย์  นอกจากทรงนำมาแสดงแก่พระสารีบุตรให้จดจำไว้  เพื่อแสดงให้พระภิกษุฟังต่อๆ ไปเท่านั้น  นับว่าพระองค์ได้ตอบแทนพระคุณของพระพุทธมารดาอย่างสูงสุด

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งบนดาวดึงส์  คือ พระจุฬามณีเจดีย์  เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะออกผนวชนั้น  ได้อธิษฐานจิตก่อนปลงผมว่า  หากจะได้ตรัสรู้ขออย่าให้ผมตกไปบนพื้นดิน  คราวนั้นพระอินทร์ได้นำเอาผอบทองคำมารองรับเอาไปไว้ในพระเจดีย์จุฬามณี

อีกคราวหนึ่ง  ภายหลังจากพระพุทธปรินิพพาน  เมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จแล้ว  โทณพราหมณ์ได้รับฉันทานุมัติให้เป็นผู้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ  ให้เจ้าเมืองต่างๆ เป็น ๘ ส่วน  แต่โทณพราหมณ์แอบเอาพระเขี้ยวแก้วข้างขวา (พระทันตธาตุ) ซ่อนไว้ที่ผ้าโพกมวยผมเสียเอง  พระอินทร์ทราบเรื่อง  จึงมาเอาไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์จุฬามณี  ให้หมู่เทพทั้งหลายได้เคารพสักการบูชา  เรื่องราวเกี่ยวกับสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์  ที่กล่าวมาเป็นแต่เรื่องโดยย่อ  เล่าแต่เพียงเท่านี้  ก็คงพอจะได้เค้าว่าสวรรค์ชั้นนี้เป็นอย่างไร

ยามาภูมิ โลกของเทวดาชั้นที่ ๓

ภพภูมิ  หรือที่เราได้ยินโดยทั่วไปว่า  สวรรค์ชั้นยามา  สวรรค์ชั้นนี้จะไม่ขอนำมาเล่า  เพราะไม่มีเรื่องเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าของเราโดยตรง  จะมีก็แต่ เรื่องของผู้ที่ทำบุญ  รักษาศีล  ให้ทาน  บำเพ็ญสมาธิ  แล้วไปเกิดบนสวรรค์ ชั้นนี้  วากันว่าอายุของเทพชั้นนี้มี ๒,๐๐๐ ปีทิพย์  เท่ากับ ๑๔ โกฏิ ๔ ล้านปี ของมนุษย์  เรื่องของสวรรค์ชั้นนี้จึงขอผ่านไป

จดหมายถึงโยมแม่ใหญ่ ฉบับที่ ๔ (ตอนที่ ๖) “ตาวติงสภูมิ” โลกของเทวดาชั้นที่ ๒ : สิ่งสำคัญบนดาวดึงส์” จาก ธรรมนิพนธ์เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here