จิรํ ติฏฺฐตุ พุทธสาสนํ ฯ

ขอพระพุทธศาสนาจงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน

ญาณวชิระ

หนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช” โดย ญาณวชิระ จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ / ที่ปรึกษา : พระเทพรัตนมุนี , พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง) และพระมหาธีระศักดิ์ ธีรปญฺโญ /บรรณาธิการ โดย พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี และ มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ / ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส ภาพวาดประกอบโดย หมอนไม้ / แบบปก – รูปเล่ม โดย พระมหาเดชา ปญฺญาคโม และ พระมหาสมบัติ ภูริปญฺโญ / ภาพปกโดย ศิลปิน พีร์ ขุนจิตกร/ ผู้อุปถัมภ์การจัดพิมพ์ บริษัท โตโยต้าบัสส์ จำกัด / ขอรับหนังสือได้ฟรีที่ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ จนกว่าหนังสือจะหมด
หนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช” โดย ญาณวชิระ จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ / ที่ปรึกษา : พระเทพรัตนมุนี , พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง) และพระมหาธีระศักดิ์ ธีรปญฺโญ /บรรณาธิการ โดย พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี และ มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ / ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส ภาพวาดประกอบโดย หมอนไม้ / แบบปก – รูปเล่ม โดย พระมหาเดชา ปญฺญาคโม และ พระมหาสมบัติ ภูริปญฺโญ / ภาพปกโดย ศิลปิน พีร์ ขุนจิตกร/ ผู้อุปถัมภ์การจัดพิมพ์ บริษัท โตโยต้าบัสส์ จำกัด / ขอรับหนังสือได้ฟรีที่ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ จนกว่าหนังสือจะหมด

ทำไม…ลูกผู้ชายต้องบวช (ตอนที่ ๑๘ )

บรรพ์ที่  ๔

ขั้นตอนการบรรพชา  และ อุปสมบท

  การโกนผมนาค  การแต่งตัวนาค

  เล่าเรื่องนาค  การทำประทักษิณ  การโปรยทาน  

ขั้นตอนการบรรพชา

อุปสมบทแบบอุกาสะ (แบบเดิม)

อนุศาสน์  ๘  อย่าง

การอธิษฐานจิตกรวดน้ำแผ่กุศล

คำขออุปสมบทแบบเอสาหัง (แบบใหม่)

๑. การโกนผมนาค  การแต่งตัวนาค

การบรรพชาอุปสมบทที่ปฏิบัติกันในประเทศไทยสมัย

ปัจจุบันมีใช้อยู่   ๒   แบบ  คือ   อุกาสะ  และ เอสาหัง

การบวชแบบ อุกาสะ และ เอสาหังนั้นไม่ได้เป็นชื่อพิธีบวช และไม่มีความหมายพิเศษเฉพาะ เป็นแต่เพียงการเรียกตามคำขึ้นต้นของคำขอบวชเท่านั้น เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำและมีความแตกต่างระหว่างคำขอบวชทั้ง  ๒ วิธี

 “อุกาสะ” แปลว่า ขอโอกาส

เอสาหัง” แปลว่า ข้าพเจ้านั้น

 หากจะแยกกันออกให้ชัดเจนเฉพาะในประเทศไทย การอุปสมบทแบบอุกาสะใช้ในคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย เป็นการอุปสมบทแบบเดิมที่ท่านใช้มาแต่โบราณ  มีหลักฐานว่าคณะสงฆ์รับสืบทอดกันมาจากกรุงศรีอยุธยาสู่กรุงรัตนโกสินทร์

ส่วนการอุปสมบทแบบเอสาหังใช้ในคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย เป็นแบบที่คิดขึ้นใช้ใหม่ โดยการประยุกต์มาจากแบบอุกาสะเพื่อย่อขั้นตอนให้สั้นเข้า  มีใช้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยนำรูปแบบมาจากพระพม่ารามัญ การอุปสมบทแบบเอสาหัง มีที่แปลกจากแบบเดิมบางส่วน     

ในที่นี้ จะขอแนะนำขั้นตอนการบวชแบบอุกาสะ  เพื่อจะได้ทราบที่มาของการบวชแบบเดิมที่มีมาแต่โบราณไว้เป็นหลัก หากเข้าใจการบวชแบบอุกาสะ  ก็จะทำความเข้าใจการบวชแบบเอสาหังได้ง่าย   แม้การบวชในประเทศไทยจะมี ๒ แบบ แต่ก็ยึดหลักการบวชตามพุทธบัญญัติทุกประการ ต่างเพียงข้อปลีกย่อยบางประการเท่านั้น

ขั้นตอนการบวชแบบเอสาหัง  จะนำมาแสดงเฉพาะบทขานนาคเท่านั้น 

เรื่องของนาค

เรื่องราวของพญานาค ตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ยืนยันถึงศรัทธาและความเพียรพยายามในการบำเพ็ญบารมีของพญานาค แม้บางครั้งอาจเป็นมิจฉาทิฏฐิ แต่เมื่อได้รับการฝึกหัดกล่อมเกลาจิตใจ ก็กลับกลายเป็นผู้ประเสริฐขึ้นมาอย่างฉับพลัน

ในอีกด้านหนึ่ง กุลบุตรผู้จะบวชเป็นพระภิกษุดำเนินชีวิตตามเส้นทางของพระอริยเจ้า  ปฏิปทาของพระอริยเจ้าทั้งหลายเป็นปฏิปทาอันประเสริฐ เพราะเว้นเสียจากการทำบาปทั้งปวง  ผู้จะดำเนินชีวิตตามปฏิปทาอันประเสริฐนั้นจึงถูกเรียกว่า “นาค”  แปลว่า  ผู้ประเสริฐ  ตามไปด้วย

การโกนผมนาค

เมื่อได้เวลาตามที่กำหนดไว้  นาคและญาติพร้อมกัน ณ สถานที่ซึ่งกำหนดไว้   พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ขลิบผมให้นาคเป็นปฐม จากนั้นพระสงฆ์ปลงผมให้นาค  แต่งชุดนาค  ตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติโดยทั่วไป ผมที่โกนแล้วนิยมห่อด้วยใบบัวแล้วนำไปลอยน้ำที่แม่น้ำหรือวางไว้ใต้ร่มโพธิ์   เชื่อว่าจะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข  แต่หากไม่ยึดถือจะกวาดทิ้งเสียก็ได้ เพราะของที่ออกจากร่างกายถือว่าเป็นของเสีย การปลงผมจะปลงที่บ้านหรือที่วัดก็ได้แล้วแต่ความสะดวก   แต่วิธีปฏิบัติโดยทั่วไปนิยมปลงผมที่วัด  นอกจากญาติที่มาร่วมงานจะได้มีโอกาสร่วมพิธีตัดผมนาคแล้ว  ยังเป็นการประหยัดเวลาของเจ้าภาพและแขกที่มาร่วมงานอีกด้วย เมื่อปลงผมเสร็จจะได้ทำประทักษิณเวียนรอบสีมา และเข้าโบสถ์ประกอบพิธีอุปสมบทต่อไป 

อุปกรณ์ที่ใช้ในการปลงผมตามความนิยมมี  ดังนี้

· กรรไกรตัดผม

· ด้ามมีดโกน พร้อมทั้งใบมีดโกน

· สบู่ หรือ ยาสระผม

·  ใบบัวสำหรับรองผม หรือวัสดุอย่างอื่นที่ใช้แทนได้ เช่น  ใบตอง

· ผ้าเช็ดตัว

            โดยมากอุปกรณ์ที่ใช้ในการโกนผม   เฉพาะด้ามมีดโกนและ ใบมีดโกน พระสงฆ์ที่ทำหน้าในการโกนผมจะเตรียมให้เอง

การแต่งตัวนาค

            หลังจากปลงผมเสร็จแล้ว ประเพณีนิยมบางท้องถิ่นจะลูบไล้ด้วยของหอมทาด้วยขมิ้น โดยเชื่อว่าจะได้ดับกลิ่นฆราวาส   แต่วิธีปฏิบัติโดยทั่วไปไม่นิยมเพราะจะทำให้ดูไม่เรียบร้อย  หรือหากจะทาก็ไม่ควรให้แป้งหรือขมิ้นติดเกรอะกรังจนดูไม่สะอาด 

สมัยโบราณการใช้ขมิ้นทาศีรษะหลังโกนผม  มีสาเหตุมาจากมีดที่ใช้โกนผมเป็นมีดแบบเดียวกับมีดที่ลับด้วยมือ เวลาโกนจึงอาจทำให้เกิดบาดแผลบ้าง   หลังโกนผมจึงต้องใช้ขมิ้นทาศีรษะ เพื่อห้ามเลือดและสมานแผล  

ในสมัยปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่จึงทำให้ใบมีดมีความคมมากขึ้น  และพระสงฆ์ที่โกนผมก็มีความชำนาญจนแทบไม่มีรอยบาดแผล จึงไม่มีความจำเป็นต้องทาแป้งหรือขมิ้นเหมือนสมัยก่อน

การแต่งตัวนาค  ควรแต่งด้วยชุดขาวอันบ่งบอกถึงความสะอาดบริสุทธิ์ ในกรณีมีสีอย่างอื่นก็สามารถใช้ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้สีขาวเสมอไป  ให้ดูสิ่งที่จัดหาได้ง่ายตามความเหมาะสม และความนิยมของท้องถิ่นนั้นๆ  ที่สำคัญคือต้องประหยัด  การแต่งตัวนาค ไม่ควรมีเครื่องประดับประดามากจนเกินไป ขอแนะนำเครื่องแต่งตัวนาคตามประเพณีนิยม  ดังนี้

เสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาว

 ผ้านุ่งขาว

ผ้าสไบเฉียง  คือ ผ้าห่มแบบอังสะพระสงฆ์แต่สีขาว

เข็มขัด หรือสายรัดสำหรับรัดผ้านุ่ง 

เสื้อคลุมนาค (มีหรือไม่มีก็ได้) 

หากมีสร้อยคอจะสวมให้นาคก็ได้ แต่ไม่ควรคล้องพวงมาลัย  เพราะแทนที่จะเป็นนาคก็จะกลายเป็นนักร้องไป    

เข็มขัดสำหรับรัดผ้านุ่งขาว  นิยมใช้เข็มขัดนาค  ในกรณีที่ไม่มีเข็มขัดนาคจะใช้เข็มขัดอย่างอื่นหรือสายรัดก็ได้  ไม่ใช่ข้อกำหนดตายตัว การใช้เข็มขัดนาคเป็นการปฏิบัติตามประเพณีนิยม เพื่อให้สอดคล้องกับคำว่า “นาค”  ซึ่งเป็นชื่อเรียกกุลบุตรผู้จะบวชในพระพุทธศาสนาเท่านั้น  ไม่ได้มีนัยที่มุ่งหมายเป็นอย่างอื่น

อธิบายภาพถ่าย : พิธีบรรพชาอุปสมบท พระนวกะโพธิ รุ่นที่ ๗ จำนวน ๖๕ รูป ณ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ สาธารณรัฐอินเดีย โดยเริ่มพิธีขลิบผมที่วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพ โดย สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ วัดสระเกศ ร่วมกับ คณะพระธรรมทูต สายประเทศอินเดีย- เนปาล วัดไทยพุทธคยา สาธารณะรัฐอินเดีย ได้จัดโครงการอุปสมบทหมู่ ด้วยเห็นความสำคัญของการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนชาวไทยทั้งหลายพึงกระทำร่วมกัน เพื่อความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา อันจะนำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่มหาชน จึงได้จัดการอุปสมบทหมู่ ณ ดินแดนพุทธภูมิ ในโอกาสสำคัญต่างๆ ที่เนื่องด้วยสถาบันหลักของชาติ

วัตถุประสงค์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช , เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ถวายเป็นพระราชกุศล ถวายพระพรชัยมงคล แด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวราลกูร, เพื่อเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันชาติ พระพุทธศาสนา และพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เคารพอย่างสูงสุด ของประชาชนชาวไทย, เพื่อส่งเสริมให้กุลบุตร ได้มีโอกาสปฏิบัติธรรม ถวายเป็นพุทธบูชา ดินแดนถิ่นกำเนิดพระพุทธศาสนา และได้ทดแทนพระคุณบิดา มารดา ตลอดจนผู้มีพระคุณทั้งหลาย


โครงการอุปสมบทหมู่นวกะโพธิ รุ่น ๗ “รวมใจภักดิ์รักแผ่นดิน” มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน ๖๕ ท่าน ระยะเวลาดำเนินโครงการ ตั้งแต่วันที่ ๒๕ มีนาคม – ๒ เมษายน ๒๕๖๐ โดยวันที่ ๒๕ มีนาคม เวลา ๑๕.๐๐ น. ได้จัดพิธีขลิบผมนาค และมอบผ้าไตร ณ ลานโพธิ์ลังกา วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร และ วันอาทิตย์ ที่ ๒๗ มีนาคม ประกอบพิธีบรรพชาสามเณร ณ มณฑลพิธีใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา และพิธีอุปสมบท ณ วัดไทยพุทธคยา สาธารณรัฐอินเดีย

โดยมีคณะพระธรรมทูตสายประเทศ อินเดีย- เนปาล และพระวิทยากรกลุ่มใต้ร่มพุทธธรรม สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นพระวิทยากรดูแลรับผิดชอบ ให้การฝึกอบรม นำพระภิกษุนวกะ ปฏิบัติธรรม ถวายเป็นพุทธบูชา ณ สังเวชนียสถาน ทั้ง ๔ แห่งจนจบโครงการ

ขอขอบคุณ ภพาถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

ญาณวชิระ เป็นนามปากกาของ ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ท่านเขียนหนังสือธรรมะมากมาย แต่ละเล่มล้วนเต็มไปด้วยสารัตถะแห่งธรรมที่เข้าใจง่าย และนำมาปฏิบัติแก้ทุกข์ได้ในชีวิตประจำวัน อาทิ หนังสือทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับ คณะสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร , หลักแห่งการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน , พุทธานุภาพ อานุภาพของพระพุทธองค์ , มหาสมัยสูตร ,การ์ตูนแอนนิเมชั่น เรื่อง ปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุ ,ทฤษฎีเบื้องต้นแห่งปรัชญาไทย, ประทีปแห่งแม่น้ำมูล , ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ,ตำนานภูเขาทอง , ลูกผู้ชายต้องบวช , สมาธิเบื้องต้นสำหรับชาวบ้าน ,หนึ่งหน้าประวัติศาสตร์แห่งการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ,บามิยัน ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์อันรุ่งเรือง และมืดมนยาวนานแห่งพระพุทธศาสนา, สุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์ , พุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และ ความเป็นมาของพระอภิธรรม เป็นต้น

หนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช” โดย ญาณวชิระ จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ / ที่ปรึกษา : พระเทพรัตนมุนี , พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง) และพระมหาธีระศักดิ์ ธีรปญฺโญ /บรรณาธิการ โดย พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี และ มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ / ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส ภาพวาดประกอบโดย หมอนไม้ / แบบปก – รูปเล่ม โดย พระมหาเดชา ปญฺญาคโม และ พระมหาสมบัติ ภูริปญฺโญ / ภาพปกโดย ศิลปิน พีร์ ขุนจิตกร/ ผู้อุปถัมภ์การจัดพิมพ์ บริษัท โตโยต้าบัสส์ จำกัด / ขอรับหนังสือได้ฟรีที่ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ จนกว่าหนังสือจะหมด

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here