“พระพุทธศาสนามีความสำคัญมากต่อสังคมไทย เป็นรากฐานที่สำคัญของสังคมไทยเรา โดยมีพระสงฆ์ซึ่งมีบทบาทในการผยุงสังคม ทำให้สังคมร่มเย็นเป็นสุข และเราก็อาศัยพระพุทธศาสนาสร้างความร่มเย็นมายาวนาน

“ต่อมา ก็คือ แม่ชี เพราะต่อไปต้องทำบทบาทที่สำคัญ เคียงบ่าเคียงไหล่กับพระสงฆ์ ”

โอวาทธรรมจากท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ได้กล่าวในวันที่เปิดโครงการเสริมสร้างศักยภาพแม่ชีไทย ด้านการปรึกษาเชิงพุทธจิตวิทยา ซึ่งนำกิจกรรมโดย พระมหา ดร. ประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป ประธานกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม ณ มหาปชาบดีเถรีวิทยาลัย ในพระสังฆราชูปถัมภ์ (มปถ.) สังกัดมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) ร่วมกับ สถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์

โดยเน้นกระบวนการให้คำปรึกษา เยียวยามจิตใจสตรีที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ให้กำลังใจ และใช้ขบวนการเชิงสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ด้วยกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จากพระวิทยากรที่มีประสบการณ์ และวิทยากรพิเศษที่มีความรู้ด้านการประยุกต์ใช้จิตวิทยาเพื่อ การจัดกระบวนการเรียนรู้

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑. ให้ความรู้ด้านการปรึกษาเชิงพุทธจิตวิทยาที่จำเป็นต่อการจัดกระบวนการอบรมแก่แม่ชีและอาสาสมัครพัฒนาสตรี ๒. เพื่อให้แม่ชีและอาสาสมัครพัฒนาสตรี ได้ฝึกปฏิบัติกระบวนการปรึกษาเชิงพุทธจิตวิทยา และ ๓. เพื่อให้แม่ชีและอาสาสมัครพัฒนาสตรี สามารถจัดกระบวนการอบรมและการปรึกษาเชิงพุทธจิตวิทยาเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้คนในสังคมต่อไป ซึ่งมีภาคทฤษฎีและฝึกปฏิบัติการ เวลา ๒ คืน ๓ วัน ระหว่างวันที่ ๙-๑๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๐ และภาคปฏิบัติการฝึกประสบการณ์จริง เวลา ๒ คืน ๓ วัน ระหว่างวันที่๑๕-๑๗ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๐ ที่ผ่านมา

ผู้เขียนเปิดบันทึก “รำลึกวันวาน …มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ” ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ และ เลขานุการสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ ในขณะนั้น ไม่เพียงรำลึกความทรงจำ หากทว่า เป็นการฟื้นฟูพลังใจของตนขึ้นมาในท่ามกลางที่เรากำลังจะเผชิญกับความรุนแรงที่มากับการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด -๑๙ และผลข้างเคียงของการแพร่ระบาดที่สร้างความเครียด ความกังวล ความทุกข์สารพัดที่ถาโถม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ความอึดอัดคับข้องใจสารพัดที่มาพร้อมกับความกลัวและความกังวล ตื่นตระหนก ซึ่งทั้งหมดก่อให้เกิดความรุนแรงได้ในชั่วพริบตา หากเราไม่เตรียมสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจไว้ด้วยสติ และปัญญา เราอาจจบชีวิตลงได้ง่ายๆ จากผลข้างเคียงของไวรัส ที่ไม่ใช่จากตัวไวรัสโดยตรง ซึ่งไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อใด และอย่างไร และแม้ว่า เราจะมีมรณานุสติเป็นเพื่อน แต่ความไม่ประมาทก็เป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงให้เราฝึกฝนอยู่กับความเป็นจริงในปัจจุบัน ทำประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านจนกว่าลมหายใจสุดท้ายจะมาเยือน

นอกจากนี้

ความรุนแรงในสังคมไทยก็มีอีกมาก และหลายปัญหาพระสงฆ์ไม่สามารถเข้าไปช่วยได้ โดยเฉพาะปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับสตรี ดังนั้นแม่ชีจึงเป็นความหวัง

“สำหรับพระวิทยากรที่มานี้ ไม่ได้มาอบรม เพราะแม่ชีทำดีอยู่แล้ว จากการอบรมศึกษาที่มหาปชาบดีเถรีวิทยาลัยแห่งนี้ก็ดีอยู่แล้ว  แต่เราจะนำสิ่งที่แม่ชีทำดีอยู่แล้วออกไปช่วยสังคมอย่างไร พระวิทยากรจากกลุ่มใต้ร่มพุทธธรรมและกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม ก็มาช่วยคิดหาทางที่จะออกแบบหลักสูตร และหลักสูตรนั้น ก็จะเป็นหลักสูตรสำหรับเราทุกคน พอได้หลักสูตรแล้วก็นำหลักสูตรนี้ออกไปช่วยเหลือสังคม”

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ปีพ.ศ.๒๕๖๐
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ปีพ.ศ.๒๕๖๐

ท่านกล่าวต่อมาอีกว่า กิจกรรมแต่ละอย่างที่พระวิทยากรจะนำเข้าสู่การเรียนรู้ เพื่อให้เราเข้าถึงหัวใจของแต่ละกิจกรรม โดยให้กิจกรรมเป็นส่วนหนึ่งของเรา และเราก็เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม เรียนรู้ให้ลึกซึ้งถึงหัวใจของแต่ละกิจกรรม ถ้าเราเข้าถึงกิจกรรมตามที่ว่านี้ และต่อไปก็จะนำไปสู่ภาคปฏิบัติจริง

ประเด็นสำคัญที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ ในขณะนั้น กล่าวไว้กับแม่ชีก็คือ การที่เราจะไปช่วยผู้อื่น เราต้องรู้ว่า เขาต้องการให้เราช่วยอะไร

“ในสังคมไทย บางอย่างพระไม่สามารถเข้าไปช่วยแก้ไขเยียวยาได้ เพราะปัญหาความทุกข์มีมาก คณะสงฆ์ พระสงฆ์เอง บางครั้งก็ไม่สามารถที่จะเข้าไปเยียวยาได้ จึงเกิดมูลนิธิต่างๆ องค์กรต่างๆ เพื่อเข้าไปเยียวยาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคม

“โดยเฉพาะในภาคสตรี กิจกรรมที่เราทำก็คือ ฟื้นฟูและเยียวยาจิตใจลูกผู้หญิงที่ประสบกับความรุนแรงได้”

เราจึงต้องมาช่วยกันสร้างความหวัง ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ในการที่แม่ชีเป็นผู้ที่จะช่วยปิดทองหลังพระ เยียวยาเด็กและสตรีที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ด้วยความเมตตา กรุณา และความอ่อนโยน …

“สิ่งที่เรามีอยู่แล้ว คือ ความดี แต่เราจะทำอย่างไร ถึงจะให้ความดีของเราถูกขยายผลออกไปสู่สังคม ช่วยเหลือสังคม แม่ชีต้องเดินออกมา แล้วสร้างพันธกิจที่ชัดเจนให้กับตนเอง ขอให้ทุกท่านพยายามเรียนรู้ขั้นตอนการดำเนินการในแต่ละกิจกรรม ทุกกิจกรรมที่พระวิทยากรนำเราเข้าสู่การฝึกปฏิบัติ ต้องทำให้ความรู้สึกนึกคิดจิตวิญญาณเราประสานเป็นหนึ่งเดียวกับกิจกรรม จึงจะบรรลุซึ่งหัวใจของกิจกรรมทั้งหมด คือ เราจะช่วยกันออกแบบหลักสูตรการให้คำปรึกษาให้เหมาะกับงานของแม่ชี ต่อไปแม่ชีต้องเคลื่อนไหวไปกับทุกมิติของสังคม เข้าไปเยียวยาบาดแผลความรุนแรงของสังคม

“โดยเฉพาะในกลุ่มสตรีที่ประสบปัญหาความรุนแรง ซึ่งแม่ชีสามารถทำได้ดีกว่าหน่วยงานอื่นทั้งหมด เพราะสีขาวเป็นสีแห่งความสะอาด บริสุทธิ์ ไม่เป็นที่หวาดระแวง เพียงแต่เราต้องได้เครื่องมือที่เหมาะสมก่อน”

ผู้เขียนจึงขออาราธนา โอวาทธรรมของท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ ในขณะนั้น ในโอกาสที่ท่านได้เมตตาเดินทางมาให้กำลังใจ แก่ผู้เข้าอบรม และคณะพระวิทยากร ในโครงการเสริมสร้างศักยภาพแม่ชีไทย ด้านการปรึกษาเชิงพุทธจิตวิทยา นำกิจกรรมโดย พระมหา ดร. ประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป ประธานกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม ณ มหาปชาบดีเถรีวิทยาลัย ในพระสังฆราชูปถัมภ์ (มปถ.) สังกัดมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) ร่วมกับ สถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ ระหว่างวันที่ ๙-๑๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๐ และ ระหว่างวันที่ ๑๕-๑๗ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๐ ที่ผ่านมา เพื่อเป็นพละ เป็นพลังใจในการก้าวเดินไปในวันนี้

โปรดติดตามตอนต่อไป…

รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนที่ ๖๔ “แม่ชีคือความหวังในการฟื้นฟูและเยียวยาจิตใจลูกผู้หญิงที่ประสบกับความรุนแรงได้” โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญารวชิโร)

ตอนที่ ๒๙

สติมีคุณทั้งสมถะและวิปัสสนา

สติมีอุปการคุณต่อการฝึกสมาธิ จะให้จิตมีอารมณ์เดียว ก็ต้องใช้สติ จะให้จิตพิจารณาธรรมก็ต้องใช้สติ การฝึกสติให้เป็นผู้รู้ขึ้นมา จึงมีความสำคัญต่อการปฏิบัติสมาธิ

สติคือความระลึกได้ ไม่ให้ใจลอยเผลอสติ ลืมกาย ลืมใจ เพราะความใจเลยเผลอสติ วันหนึ่งๆ เราแทบจะไม่รู้ว่าเปลี่ยนอิริยาบถเวลาใด ยืนกี่ครั้ง  นั่งกี่ครั้ง เดินกี่ครั้ง นอนกี่ครั้ง เปลี่ยนอิริยาบถจากท่านั่งเป็นท่ายืนเดิน นั่ง นอนกี่ท่า แต่ละครั้งเรามีความระลึกรู้ไหม

ในการปฏิบัติให้สติระลึกรู้ เราจะเปลี่ยนอิริยาบถกี่ครั้งก็ไม่เป็นไร เป็นธรรมชาติของกายใจ ขอให้ทุกครั้งที่เปลี่ยนอิริยาบถให้สติระลึกรู้ให้รู้แบบรวมๆ ไม่ใช่รู้แบบจับจดที่จะตั้งหน้าตั้งตานับ ให้รู้เหมือนยามรักษาการคอยตรวจตราความเป็นไป

ให้ระลึกรู้อยู่เสมอว่า กายมีอยู่ ใจมีอยู่ ลมหายใจมีอยู่ สติระลึกรู้อยู่ว่ากำลังยืน เห็นรูปยืน

ขาทั้งสองข้างยืนอย่างไร เมื่อโยกหน้า โยกหลัง โยกซ้าย โยกขวา รู้พร้อมทุกส่วน ตั้งแต่หัวถึงเท้า มือแขนอยู่อย่างไร ขณะกำลังเดิน เห็นรูปเดิน เท้าก้าวไปอย่างไร มือแขนไกวไปมาหน้าหลังอย่างไร กำลังนั่ง เห็นรูปนั่ง นั่งอย่างไร มือวางอย่างไร นั่งในท่าไหน นั่งบนเก้าอี้ บนรถ บนเครื่องบิน นั่งตรง นั่งเอียง นั่งพิง

กำลังนอน สติระลึกรู้อยู่ว่า กำลังนอน เห็นรูปนอน นอนอย่างไร นอนตะแคงซ้าย ตะแคงขวา นอนหงาย นอนคว่ำ มือวางราบตามตัว วางทับหน้าอก หรือวางก่ายหน้าผาก ขยับพลิกซ้ายพลิกขวา ก็รู้หมดทุกอิริยาบถ ทุกการเคลื่อนไหว ยกมือลูบแขน ลูบหน้า ลูบตามเนื้อตามตัว พลิกมือคว่ำฝ่ามือ หงายฝ่ามือ ขยับนิ้วมือ ขยับนิ้วเท้า กระพริบตา เหลียวซ้ายแลขวา   ก้มหน้าลง เงยหน้าขึ้น ยิ้ม หัวเราะกัดฟัน น้ำลายสอ

สติระลึกรู้ละเอียดลงไปอีกว่า อิริยาบถยืน ประกอบด้วยการเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง

ให้ทดลองว่า เราอยากรู้อิริยาบถยืนจะประกอบด้วยการเคลื่อนไหวส่วนไหนของร่างกายบ้างก็ลองยืนขึ้น เราก็จะเห็นทุกองคาพยบของร่างกาย เป็นปัจจัยหนุนเนื่องซึ่งกันและกัน ทั้งมือไม้แขนขา ลำตัว ทุกเส้นเอ็นเกี่ยวเนื่องกันไปหมด ดูว่าเวลานั่งนานๆ ยืนนานๆเจ็บตรงไหน ปวดตรงไหน เมื่อยตรงไหนไหม เจ็บปวดเมื่อยแล้วรู้สึกอย่างไร ชอบใจหรือไม่ชอบใจ ทุรนทุราย ทนไม่ได้ หรือทนได้ อยากจะเปลี่ยนท่าไหม ให้ดูเข้าไปที่ความอยาก เราจะเห็นตัณหาคือความอยากยืนคอยสั่งการจิตให้ยืน แล้วองคาพยบทุกส่วนของร่างกาย ก็เคลื่อนไหวตามความอยากให้เป็นไปเช่นนั้น

สติระลึกรู้ให้ระเอียดลงไปในอิริยาบถนั่ง ว่าเมื่อนั่งจะประกอบด้วยการเคลื่อนไหวส่วนไหนของร่างกายบ้าง ทอดลองยืนขึ้นแล้วนั่งลง แล้วสังเกตดู จากนั้นลองยืนขึ้นนั่งลงอีกครั้งแล้วสังเกตดู ทำซ้ำๆหลายๆรอบ แล้วสังเกตดูจนเห็นอาการนั่งชัดเจน

ลองขยับนิ้วมือแล้วสังเกตดูอาการที่นิ้วมือขยับ ลองขยับกระดิกนิ้วเท้า แล้วสังเกตอาการที่นิ้วเท้าขยับ เวลาใส่เสื้อผ้าสวมรองเท้า ถอดรองเท้า ดูอาการทั้งหมดให้ชัดเจนในความรู้สึก เวลาจะถอดเสื้อ เราก็คิดและตั้งใจระลึกรู้จะดูอาการถอดเสื้อ จะดูอาการสวมใส่ ตั้งใจมีสติระลึกรู้ให้ชัด

เวลารับประทานอาหาร มีสติระลึกรู้เข้ามาดูอาการขยับมือเคลื่อนไปหยิบอาหาร ตักอาหาร อ้าปากรับคำข้าว ขยับปากเคี้ยว ดูอาการลิ้นที่ตวัดไปซ้ายมาขวา คลุกอาหารให้เข้ากัน ดูอาการที่ฟันบดเคี้ยวอาหารให้แหลกละเอียด ดูอาการที่กลืนอาหารผ่านลำคอ ดูอาการลูกกระเดือกขยับ แล้วมีสติระลึกรู้เข้ามาที่ใจ สังเกตดูว่าใจรู้สึกอย่างไร

ในทางปฏิบัติสมาธิท่านก็ว่า ให้ดูเวทนาคือดูเข้ามาที่ความรู้สึกนึกคิดว่าใจเป็นอย่างไร

ให้มีสติระลึกรู้ไว้ว่า ที่กล่าวมาเป็นวิธีการภาวนา การอบรม การฝึกหัด ขัดเกลา คือ การทดลองลงมือทำ

เมื่อรู้วิธีฝึกหัดแล้วก็ลองผิดลองถูกของตนไปเรื่อย เพื่อเรียนรู้การฝึกสติด้วยตัวเอง ครก็ฝึกหัดให้ไม่ได้ สติเป็นของตัวเองก็ต้องฝึกหัดเอง คนอื่นฝึกหัให้ไม่ได้ ครูบาอาจารย์ก็ได้แต่แนะนำสั่งสอน

การอ่านหนังสือก็ได้แต่ความจดจำ การลงมือปฏิบัติเป็นของเรา ทุกครั้งที่ลืมตัว ไม่มีสติระลึกรู้ เมื่อเผลอตัวลืมสติไปก็มีสติระลึกรู้เข้ามาใหม่ เผลอตัวลืมสติไปก็มีสติระลึกรู้เข้ามาใหม่อีกครั้ง แล้วเราก็จะเกิดความรู้สึกอัศจรรย์ต่อการเห็นแบบใหม่ว่า “เมื่อก่อนทำไมไม่เคยเห็นอย่างนี้

ฝึกสติระลึกรู้เข้ามาที่กายที่ใจบ่อยๆ สติก็จะเติบโตขึ้นตามลำดับ

แต่เดิมนั้น เรายืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิดไม่มีสติระลึกรู้ เราก็มาฝึกมาหัดยืนเดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิดแบบมีสติ เดินเร็วก็รู้ว่าเดินเร็ว เดินช้าก็รู้ว่าเดินช้า วิ่งก็รู้ว่าวิ่ง หยุดก็รู้ว่าหยุด ทำกิจวัตรประจำวัน หลงลืมสติ พลั้งเผลอไป ก็มีสติกำหนดรู้เข้ามาใหม่ ป็นเดินก็มีสติรู้ตัวว่าเดิน นั่งก็มีสติรู้ตัวว่านั่ง กินก็มีสติรู้ตัวว่ากิน ดื่มก็มีสติรู้ตัวว่าดื่ม และทำ พูด คิด ก็มีสติรู้ตัวว่าทำ พูด คิด

โปรดติดตาม บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ และ รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนต่อไป

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here