“ธัมมจักกัปปวัตนสูตร”
พระสูตรแห่งการระงับอารมณ์สุดโต่ง
สู่ทางสายกลางเพื่อความเข้าใจตนเองและผู้อื่น
จนถึงเข้าใจสภาวธรรมตามความเป็นจริง

เขียนโดย ณัฏฐ์

ในช่วงเวลานี้ สังคมไทยนั้นมีปัญหาทางการสื่อสาร ทั้งระดับประชาชนและระดับองค์กร เนื่องจากการสื่อสารในปัจจุบัน ไม่เพียงอาศัยการสื่อสารด้วยคำพูดเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป โลกได้พัฒนาการสื่อสารด้วยเทคโนโลยีการสื่อสาร ในรูปแบบข้อความบนโซเชียลมีเดีย ผ่านแพลตฟอร์มใหม่ๆ เช่นเฟซบุ๊ก ไอจี ทวิตเตอร์ ฯลฯ

แต่ว่าโดยความเป็นจริงผู้คนก็ยังจะต้องเสพข้อมูลเหล่านั้นผ่านอายตนะทั้ง 6 คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเมื่ออายตนะทั้งหกนี้กระทบกับสิ่งภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส นั่นหมายถึงว่า เมื่อตากระทบรูป คือ รูปและเรื่องจากสื่อต่างๆ จิตก็ปรุงไปว่าชอบ ไม่ชอบทันทีบวกกับประสบการณ์การรับรู้ในอดีตอีกด้วย
หรือ หู กระทบกับเสียงภายนอก แล้วจิตก็ปรุงทันที ว่าชอบ ไม่ชอบ เช่นกัน

จมูก เมื่อได้กลิ่นต่างๆ ก็พอใจ ไม่พอใจ ลิ้นรับรสชาติอาหาร ก็อร่อย ไม่อร่อย ส่วนใหญ่เป็นอย่างนี้ ซึ่งนอกจากรสชาติอาหารแล้วยังหมายถึงรสชาติที่ปรุงมาจากสื่อต่างๆ อีก

สำหรับกายก็ไม่ต่างกัน เมื่อสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง ก็ปรุงไปถึงความกังวลต่างๆ เช่น เชื้อโรคไวรัสโคโรนาจะเข้ามาสู่กายหรือยัง ก่อให้เกิดความกลัวสารพัด ทั้งหมดนี้พุ่งตรงเข้าสู่ใจทันที เมื่อใจขาดสติเป็นตัวกรองสิ่งมาากระทบก็ไม่ทันต่ออารมณ์ที่เข้ามาทั้งหมดเลย

  เมื่อทุกช่องทางของอายตนะทั้ง 6 เปิดรับสื่อภายนอกอย่างไม่มีสติ  ผลกระทบเกิดความไม่พอใจ ความไม่สบายกาย สบายใจ จึงก่อกรรมทำเข็ญร่วมกัน จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไรดี  ในทางพระพุทธศาสนามีสูตรแห่งการระงับอารมณ์ ทางสงบ หรือหนทางแก้ ปัญหาส่วนตนและสังคม

ธัมมจักกัปปวัตนสูตร มีเนื้อหาแสดงถึงการปฏิเสธส่วนที่สุดสองอย่าง ทั้งหาทางออกให้แก่มวลมนุษย์โดยดำเนินชีวิตสายกลางอันเป็นแนวทางออกจากทุกข์ให้มนุษย์ มีเนื้อหาแสดงถึงขั้นตอนและการปฏิบัติเพื่อบรรลุถึง อริยสัจ 4 คือ ให้กำหนดรู้ทุกข์ เห็นเหตุแห่งทุกข์ และการดับทุกข์

มรรค คือ หนทางสู่ความดับทุกข์ (เป็นหนึ่งในอริยสัจ 4)
คือ หนทางที่ช่วยให้เกิดผลลัพธ์ หรือบรรลุเป้าหมายแห่งการงาน หน้าที่ พันธกิจ ทั้งของส่วนแห่งตน หรือองค์กรให้สำเร็จ ซึ่งเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง ตรงประเด็น

มรรค หรือ หนทาง เรียกเต็มๆ ว่า อริยมรรค คือ หนทางอันประเสริฐ มีองค์ 8 ประการ คือ การลงมือปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากทุกข์ หรือแม้แต่หลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลายทั้งปวง ในยุคสมัยปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งสังคมปัจจุบัน ทั้งในเชิงปัจเจก และในเชิงสังคม ล้วนพึงตระหนักถึงความเป็นผู้ยกระดับของชีวิตให้ดีขึ้น สูงขึ้น เพื่อไม่ให้ตกหลุมพรางที่สื่อต่างๆ ดักรอไว้

โดยเริ่มจากข้อแรกคือ สัมมาทิฏฐิ ทำความเห็นให้ถูกตรงทางสายกลางก่อน คือไม่สุดโต่งไปทั้งสองข้างที่ทรมานตนเอง หรือตามใจกิเลสไปอีกทาง

ปัญหาของคนบนโลกนี้

คือ ความไม่ลงตัว ไม่พอใจ

ในสิ่งที่ตนต้องเผชิญกับความไม่ลงรอยต่างๆ

ทั้งระหว่างครอบครัว องค์กร หรือสังคม

ชาวโลกวุ่นวาย เพราะขาดสัมมาทิฏฐิ

ความเห็นที่ถูกต้อง

ณัฏฐ์ลิขิต

ความเห็นที่ถูกต้องนั้น คือเป็นความเห็นที่ตรงกับความจริงแท้ และเป็นประโยชน์ต่อทุกคน ทุกฝ่าย แต่เพราะความถูกต้องของแต่ละคน ยังไม่ใช่ความถูกตรงกับสัจธรรมจึงมีระดับความถูกต้องที่ไม่เท่ากัน คือ ถูกต้องตามใจหรือ ตามกิเลสตนเองมากกว่า

ไม่มีมาตรวัดใดๆ หรือสูตรทางเคมีไหน

วิทยาศาสตร์ใด

ทำให้คนมีความเห็นเหมือนกันได้

เราจึงต้องปรับปรุงความเห็นไม่ให้สุดโต่ง

หย่อนยานเอนไปเสียข้างใดข้างหนึ่ง

แต่ให้ถือเอาเหตุผล ทัศนคติที่ดี

ให้มีความเห็นอยู่กลางๆ ไม่ก่อโทษ

ณัฏฐ์ลิขิต
กราบขอบพระคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส

แล้วมาดู สัมมาสังกัปปะ ก็ตั้งความดำริ คิดเห็นประการใดๆ ก็มีความคิดที่ไม่ก่อโทษ เป็นการคิดอย่างไรก็ลงมือฏิบัติให้ได้ตามแนวคิดนั้น

สัมมาวาจา คือ เทคนิคการพูด ไม่ปรับวาท (คือไม่กล่าวร้ายผู้อื่น) การถกเถียงต้องอยู่บนพื้นฐานของการฟังอย่างไม่มีอคติ และให้การถกเถียงเป็นไปอย่างสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ทุกฝ่าย หรือเกิดประโยชน์ท่านประโยชน์ตนอย่างสมเหตุผล เพื่อการประสานงานที่ราบรื่น เป็นมิตร สร้างความสัมพันธ์ด้วยถ้อยคำที่เป็นปิยวาจา ซึ่งมาจากใจที่ไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้ง ในทางสัมมาปฏิบัติก็คือถ้อยคำที่ไพเราะ เสนาะหู ไม่กลิ้งกลอก ไม่พูดไปในทิศทางทำลายประโยชน์ของคนอื่น ไม่ใช้วาจาส่อเสียด เพ้อเจ้อ

สังเกตว่า …

หลายปัญหาอาจคลี่คลายสำเร็จได้

เพียงเพราะการพูด ทั้งผลดี และผลร้ายกาจ

ณัฏฐ์ลิขิต

ในสภาพสังคมปัจจุบัน คนตกหลุมพรางทางวาจา ได้ง่ายๆ เพราะเรามีช่องทางสื่อสารใหม่ คือ สื่อโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไอจี อัพเดทสเตตัสกันตลอดวัน เราอาจเห็นบางคนเพียงโพสต์ข้อความ คำพูดเพียงเล็กน้อย ได้ประโยชน์มหาศาล

อย่างเช่น ทวิตเตอร์ของ “อีลอน มัสก์” มีผู้ติดตามมากกว่า 48 ล้านคน เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 อีลอน ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับราคาบิทคอยน์ในทำนองว่า ราคาบิทคอยน์ดูเหมือนจะสูงขึ้น แต่ตรงกันข้าม สองวันถัดมา ราคาบิทคอยน์ปรับตัวลงไปกว่า 3,000 ดอลลาร์สหรัฐภายใน 5 นาทีหลังจากตลาดหุ้นสหรัฐเปิดทำการ และภายใน 24 ชั่วโมง ราคาบิทคอยน์ก็ร่วงลงไปถึง 17% ขณะที่ราคาหุ้นบริษัทเทสลา ซึ่งซื้อบิทคอยน์ไปมูลค่ากว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็ปรับตัวลงด้วยเช่นกัน
นับเป็นหนึ่งในบัญชีที่ถูกจับตามองมากที่สุดในโลก เท่ากับพิมพ์ข้อมูลเล็กน้อยออกไป มีคนอ่านเข้าถึงได้ทั่วโลก ส่งผลกระทบมากมายทั้งต่อตนเอง และผู้อื่น

หรือบางคน พูดผิดเพียงประโยคเดียว ชีวิตตกต่ำลำบาก ทั้งที่พูดดีมาทั้งชีวิต อย่างเช่นดาราไทยหลายคนตกงานเพียงเพราะพูดกระทบต่อสาธารณะ แฟนคลับไม่พอใจ แบนดารา แบนช่องทีวี หรือบางทีลามไปถึงผลิตภัณฑ์การค้า กระทบธุรกิจ

เหมือนคำพูดที่ว่า ทุกเวทีสงคราม จบลงด้วยการเจรจา หรือสงครามสงบ ด้วยการพูดกันฉันมิตร หรือปรับมรรควิธีทั้ง 8 มาใช้จึงจะสำเร็จ แต่ถ้าจะก่อสงคราม ก็ไม่ต้องทำอย่างอื่น เพียงแค่การพูด ใช้วาจาที่ผิด ก็เสียประโยชน์ เสียหาย จนถึงเสียชีวิต และอาจจะก่อเวร หรือมีศัตรูไปตลอดทั้งชาติก็ได้

อริยมรรคมีองค์ 8 นี้

จนถึงสัมมาสมาธิในข้อสุดท้าย

เพื่อความดับทุกข์

ณัฏฐ์ลิขิต


ทุกข์แบบปุถุชนคนธรรมดา คือทุกข์อันเกิดจากปัจจัย 4 เข้ามามีส่วนกระทบถึงสภาพจิตใจ ก่อความอยากมีอยากได้จนเกินไป เกิดดิ้นรน บีบคั้นให้ต่อสู้ อยากมีกว่าเขา อยากได้มามากกว่า อยากเด่นกว่า ความอยากมีอยากเป็น ล้วนเป็นอาการที่ไม่เคยลดลง มีแต่ทะยานอยากมากขึ้นเรื่อยไป หากขาดความพอดี หรือทางสายกลางดังกล่าว ความสงบ ความสุข ก็เกิดได้ยาก ความวุ่นวาย ความแข่งขัน ชิงดีเด่น เข่นฆ่ากันก็เกิดขึ้นมาด้วยตามลำดับ

หากจะดับทุกข์เข็ญได้ ก็มุ่งถือเอาหลักมรรควิธีมาดับไฟในใจ ดับทุกข์ ทั้งทุกข์ธรรมดาจากการแสวงหาปัจจัยสี่เพื่อดำรงชีพอย่างสมดุล และทุกข์ในสังสารวัฏ คือดับความอยากในกิเลสที่ละเอียดลงไปจนถึงนิพพาน ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา และเป็นจุดมุ่งหมายของมนุษย์ผู้แสวงหาความพ้นทุกข์อันประเสริฐที่พึงจะได้รับผลอย่างแน่แท้ จากการบำเพ็ญเพียรอย่างไม่ท้อถอยในการขัดเกลากิเลสบนหนทางแห่งศีล สมาธิ และปัญญานี้ด้วยความเคารพในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์และการเคารพตนเอง เชื่อมั่นตนเองว่าจะสามารถพากเพียรไปจนถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้

กราบขอบพระคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส

“ธัมมจักกัปปวัตนสูตร” พระสูตรแห่งการระงับอารมณ์สุดโต่ง สู่ทางสายกลางเพื่อความเข้าใจตนเองและผู้อื่น จนถึงเข้าใจสภาวธรรมตามความเป็นจริง : ณัฏฐ์ลิขิต

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here