ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๓ เป็นคล้ายวันพระราชสมภพ
ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ ๖๕ พรรษา
พระองค์ท่านเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระองค์เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๘ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

พระองค์เป็นพระโสทรกนิษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ได้รับสถาปนาพระอิสริยยศที่ “สยามบรมราชกุมารี”

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ประธานกรรมการมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์  พระองค์มีพระปรีชาสามารถในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านอักษรศาสตร์และดนตรีไทย ซึ่งพระองค์ได้นำมาใช้ในการอนุรักษ์ ส่งเสริม และให้การอุปถัมภ์ในด้านศิลปวัฒนธรรมของประเทศ จากพระราชกรณียกิจในด้านศิลปวัฒนธรรมนี้ พระองค์จึงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระสมัญญาว่า “เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย” และ “วิศิษฏศิลปิน” นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงประกอบพระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการศึกษา การพัฒนาสังคม โดยทรงมีโครงการในพระราชดำริส่วนพระองค์หลายหลากโครงการ ซึ่งโครงการในระยะเริ่มต้นนั้น มุ่งเน้นทางด้านการแก้ปัญหาการขาดสารอาหารของเด็กในท้องถิ่นทุรกันดาร และพัฒนามาสู่การให้ความสำคัญทางด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาราษฎร
ขอขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย

ขอถวายพระพรชัยมงคล
ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม
ข้าพระพุทธเจ้า นางสาวมนสิกุล โอวาทเภสัชช์ บรรณาธิการเว็บไซต์ Manasikul.com สื่อธรรมเล็กๆ จิตอาสาขอเผยแผ่งานพระสงฆ์อีกหนึ่งมุมมองเป็นธรรมทานเพื่อความเข้าใจกันและกันในสังคม

ในวโรกาสมหามงคลนี้ จึงขอน้อมนำบทความเรื่อง “ดั่งมหาเมฆที่ช่วยให้ข้าวกล้าเจริญงดงาม: สมเด็จพระเทพฯ  เจ้าหญิงแห่งราชอาณาจักรไทย จากธรรมนิพนธ์เรื่อง “องค์พระรัฐสีมาคุณากรปิยชาติ” : พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ปัจจุบัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์” ซึ่งเคยตีพิมพ์ลงในคอลัมน์ “ธรรมโอสถ” โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ จากนิตยสาร “เนชั่นสุดสัปดาห์” ปีที่ ๒๓ ฉบับที่ ๑๑๙๓ วันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๘ มารำลึกความทรงจำอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่นิตยสารได้ปิดตัวลงเมื่อปีพ.ศ.๒๕๖๐

“การช่วยเหลือประชาชนเป็นหน้าที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์”

              “เหตุที่ชอบการพัฒนาช่วยเหลือประชาชนนั้น เห็นจะเป็นเพราะความเคยชิน ตั้งแต่เกิดมาจำความได้  ก็เห็นทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงคิดหาวิธีการต่างๆ  ที่จะยกฐานะความเป็นอยู่ของคนไทยให้ดีขึ้น  ได้ตามเสด็จเห็นความทุกข์ยากลำบากของพี่น้องเพื่อนร่วมชาติก็คิดว่าช่วยอะไรได้ ควรช่วย ไม่ควรนั่งดูดาย เมื่อโตขึ้นพอมีแรงทำอะไรได้ ก็ทำไปอย่างอัตโนมัติ โดยทำตามพระราชกระแส  หรือทำตามแนวพระราชดำริ การช่วยเหลือประชาชนเป็นหน้าที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องทำประจำอยู่แล้ว  อนึ่ง การช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยากนั้นก็สอดคล้องกับคำสอนในพระพุทธศาสนาด้วย  ผู้ที่ทำบุญย่อมได้รับความอิ่มใจ คือได้บุญ”

              จากพระราชดำรัสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี ในการพระราชทานสัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง ซึ่งอยู่ในหนังสือ ‘องค์พระรัฐสีมาคุณากรปิยชาติ’

              หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์ขึ้นจากปาฐกถาพิเศษ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ปัจจุบัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๔   ขณะดำรงสมณศักดิ์ ที่ พระเทพเทวี  ณ องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พสล.) เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและน้อมถวายกตเวทิตาคุณ แด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งแต่ครั้งพระเยาว์

               และเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมายุ ๖๐ พรรษาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ๒ เมษายน ๒๕๕๘  ‘ธรรมโอสถ’ ขอนำปาฐกถาของท่านเจ้าคุณประยุทธ์ บางส่วนมาฝากท่านผู้อ่าน เพื่อร่วมกันทัศนาถึงภารกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นมากมายเพียงใด โดยเฉพาะการนำพระพุทธศาสนามาเป็นรากฐานและแก่นแกนในการปกครองประเทศ พัฒนาชาติบ้านเมืองให้มีความสันติสุขอย่างย่งยืน  

              ดังที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และพระมหากษัตริย์ในอดีตกาลนับแต่ก่อร่างสร้างแผ่นดินไทยมาจนถึงปัจจุบัน กษัตริย์ทุกพระองค์ไม่เพียงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาไว้เป็นศาสนาประจำชาติเท่านั้น แต่กษัตริย์แทบทุกพระองค์ทรงปฏิบัติจิตตภาวนาอย่างเข้มข้นด้วย และนำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นแนวทางในการบริหารประเทศอย่างชัดเจน  ดังพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งที่ทรงขึ้นครองราชย์ ทรงกล่าวว่า

“เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม”

ขณะเดียวกันก็ทรงเปิดโอกาสให้ประชาชนในประเทศมีอิสระเสรีในการนับถือศาสนาต่างๆ ตามความศรัทธาของตน  จากความเมตตาของพระมหากษัตริย์นี่เอง จึงทำให้เกิดความร่มเย็นในแผ่นดินไทยตลอดมา

              แต่ในวันนี้ ทุกอย่างได้เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ การเปลี่ยนผ่านสังคมเกษตรกรรมสู่สังคมอุตสาหกรรมอย่างก้าวกระโดด ประกอบกับการศึกษาที่ก้าวไกลตามก้นตะวันตก แทบจะตัดรากพระพุทธศาสนาออกจากทุกสารบบ จึงทำให้คนรุ่นต่อมาคลำหารากของตนไม่เจอ เด็กรุ่นใหม่แทบไม่รู้จักว่า เรามาจากไหน และเราจะเดินไปทางไหน การพัฒนาประเทศในลักษณะของการรังสรรและสร้างนวัตกรรมใหม่จากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษอย่างที่เราเป็น และเหมาะสมกับภูมิประเทศของเรา จึงเป็นไปได้ยาก หากเราไม่มีหางเสือ ไม่มีเข็มทิศในการก้าวเดินไปข้างหน้าที่มั่นคง

              พระพรหมคุณาภรณ์ ปัจจุบัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ กล่าวว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเป็นผู้นำชาวพุทธรุ่นใหม่ ไม่ใช่จะทรงนับถือแบบสักว่าสืบๆ กันมาเฉยๆ  แต่สิ่งที่นับถือนั้น ทรงศึกษาให้เข้าใจ และปฏิบัติได้จริง เข้าถึงสิ่งนั้นๆ จริง

              “เพราะทรงศึกษาบาลีจนแปลได้ การนับถือพระพุทธศาสนาของพระองค์ จึงไม่อยู่แค่การทรงปฏิบัติตามประเพณี  แต่เป็นการที่ทรงศึกษา เจริญพระปัญญาบารมีให้รู้เข้าใจจริงๆ ด้วย

“จึงทรงเรียนภาษาบาลีถึงขั้นค้นคว้าวิจัยคัมภีร์ อย่างที่ได้ทรงนิพนธ์งานวิจัยเรื่อง “ทศบารมีในพระพุทธศาสนาเถรวาท”  และทรงนำเอาหลักธรรมคำสอนในคัมภีร์มาใช้ประโยชน์ แนะนำผู้อื่นโดยทรงนิพนธ์เป็นพุทธศาสนสุภาษิตคำโคลง เป็นต้น”

              มากไปกว่านั้น  สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเป็นศูนย์รวมใจของประชาชาวไทยด้วย และยังทรงเป็นบุคคลดีที่เป็นแบบอย่างในอุดมคติที่เป็นจริง อย่างที่ทางพระท่านเรียกว่า เป็นสัตบุรุษ

ดังพุทธพจน์บทหนึ่ง กล่าวว่า

              “ภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษเกิดมาในตระกูล ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนจำนวนมาก คือ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่มารดา บิดา แก่บุตร ภรรยา แก่กรรมกรและคนงาน แก่หมู่มิตรและเพื่อนร่วมงาน แก่บรรพชน แก่พระราชาแก่เหล่าเทวดา แก่สมณะชีพราหมณ์ เปรียบเหมือนมหาเมฆช่วยให้ข้าวกล้าเจริญงดงาม เป็นไปเพื่อประโยชน์  เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ชนจำนวนมาก

              “พุทธพจน์นี้อาตมาคิดว่าครอบคลุมความหมายที่ต้องการได้ครบถ้วน ฉะนั้น ความหมายที่ต้องการของคนดี ก็คือคนที่เกิดมาแล้วเป็นประโยชน์ ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์กว้างขวางมากมายแก่กลุ่มชนต่างๆ ทั่วไป

โดยสรุปท่านบอกว่า เหมือนมหาเมฆที่หลั่งลงมาเป็นสายฝนแล้วก็ให้ความชุ่มฉ่ำ ความมีชีวิตชีวา หรือให้ชีวิตแก่สัตว์ทั้งปวงบนผืนแผ่นดิน

ดาวน์โหลดธรรมนิพนธ์เรื่อง “องค์พระรัฐสีมาคุณากรปิยชาติ : พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้ที่ เว็บไซต์ www.watnyanaves.net https://www.watnyanaves.net/uploads/File/books/pdf/phra_ratthasimakunakornpiyachart.pdf

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here