จิรํ ติฏฺฐตุ พุทธสาสนํ ฯ

ขอพระพุทธศาสนาจงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน

ญาณวชิระ

ทำไม…ลูกผู้ชายต้องบวช (ตอนที่ ๒๓)

บรรพ์ที่  ๔ ขั้นตอนการบรรพชา  และ อุปสมบท

(๖) “ บรรพชา : การบวชเป็นสามเณร”

โดย ญาณวชิระ

บรรพชา : การบวชเป็นสามเณร

เมื่อเข้าไปภายในพระอุโบสถ์แล้ว  นาควันทาพระประธานอีกครั้งด้วยวิธีอย่างเดียวกันกับวันทาสีมา จากนั้นกลับไปนั่ง ณ สถานที่ที่จัดเตรียมไว้สำหรับนาค บิดา มารดา (หรือญาติผู้ใหญ่)มอบผ้าไตรให้นาค นาคคุกเข่ากราบ ๓ หน ประณมมือยื่นแขนรับผ้าไตร จากนั้น ประณมมือประคองผ้าไตรเข้าไปหาพระอุปัชฌาย์ เมื่อถึงแนวประชุมสงฆ์ ให้คุกเข่าลงแล้วคลานเข่าเข้าไป น้อมผ้าไตรถวายพระอุปัชฌาย์ รับดอกไม้ ธูปเทียนแพเครื่องสักการะ (มีผู้ส่งให้) ถวายพระอุปัชฌาย์ กราบลง ๓ หน พระอุปัชฌาย์มอบผ้าไตรคืนให้ ประณมมือประคองผ้าไตร ยืนขึ้นว่า

อุกาสะ  วันทามิ  ภันเต  //  สัพพัง  อะปะราธัง  ขะมะถะ  เม  ภันเต  // มะยา  กะตัง  ปุญญัง  สามินา อนุโมทิตัพพัง  //  สามินา  กะตัง  ปุญญัง  มัยหัง  ทาตัพพัง  //  สาธุ  /  สาธุ  / อนุโมทามิฯ

อุกาสะ  การุญญัง   กัตตะวา  /  ปัพพัชชัง  เทถะ  เม  ภันเตฯ

คำแปล

  ขอโอกาสขอรับ  กระผมขอกราบไหว้   ขอท่านโปรดยกโทษที่ได้ล่วงเกินทั้งปวงให้กระผมด้วย   ขอท่านโปรดอนุโมทนาบุญที่กระผมได้กระทำ  และขอท่านโปรดให้บุญที่ท่านได้ทำแก่กระผมด้วย   สาธุ  สาธุ  กระผมขออนุโมทนาฯ

กระผมขอโอกาส   เมื่อท่านมีความกรุณาแล้ว จงบรรพชาให้ผมด้วยขอรับฯ

นั่งคุกเข่า ประณมมือว่า

อะหัง  ภันเต  ปัพพัชชัง  ยาจามิ  //  ทุติยัมปิ  อะหัง  ภันเต  ปัพพัชชัง  ยาจามิ  //  ตะติยัมปิ  อะหัง  ภันเต  ปัพพัชชัง  ยาจามิ

คำแปล

ท่านขอรับ  กระผมขอบรรพชา   แม้ครั้งที่สอง กระผมขอบรรพชา  แม้ครั้งที่สาม   กระผมขอบรรพชา

(ว่าต่อ) สัพพะทุกขะนิสสะระณะ  /  นิพพานะสัจฉิกะระณัตถายะ  // อิมัง  กาสาวัง  คะเหตะวา  //  ปัพพาเชถะ   มัง  ภันเต  //  อนุกัมปัง  อุปาทายะ(ว่า ๓ รอบ) ครบ ๓ รอบแล้วแล้วส่งผ้าไตรให้พระอุปัชฌาย์

คำแปล

ท่านขอรับ  ขอท่านจงอนุเคราะห์รับผ้ากาสาวพัสตร์นี้  แล้วบรรพชาให้กระผมด้วยเถิด เพื่อให้พ้นจากทุกข์ทั้งปวง  กระทำพระนิพพานให้แจ้ง  

(ว่าต่อ) สัพพะทุกขะนิสสะระณะ  /  นิพพานะสัจฉิกะระณัตถายะ  // เอตัง  กาสาวัง  ทัตะวา //  ปัพพาเชถะมัง  ภันเต  //  อนุกัมปัง อุปาทายะ  (ว่า ๓ รอบ)

คำแปล

ท่านขอรับ  ขอท่านจงอนุเคราะห์ครองผ้ากาสาวพัสตร์นี้  แล้วบรรพชาให้กระผมด้วยเถิด เพื่อให้พ้นจากทุกข์ทั้งปวง  กระทำพระนิพพานให้แจ้ง 

จากนั้น นาคโน้มตัวเข้าไปใกล้ๆ พระอุปัชฌาย์คล้องผ้าอังสะให้ นาคนั่งพับเพียบลงประณมมือ ตั้งใจฟังโอวาทของพระอุปัชฌาย์

ในที่นี้จะขอนำคำกล่าวสอนนาคตามนัย เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช วัดสระเกศ  กรุงเทพมหานคร มาเป็นตัวอย่าง  ดังนี้

ขอให้ตั้งใจให้ดี  ต่อไปนี้จะได้บวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา  การบวชเป็นบุญ  เป็นกุศล  เป็นความดี  เมื่อเกิดเป็นบุญ  เป็นกุศล  เป็นความดีขึ้นแล้ว  นอกจากจะได้ส่วนตัว  ยังจะเป็นบุญ  เป็นกุศล  ไปถึงมารดาบิดาผู้มีพระคุณเป็นต้นอีกด้วย  เมื่อบุญกุศลไปถึงแก่ท่าน ก็ชื่อว่าเป็นการตอบแทนพระคุณของท่าน  โบราณจึงกล่าวว่า  การบวชเป็นการตอบแทนพระคุณของมารดาบิดา และเมื่อบวชไปแล้วปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ  ก็ชื่อว่าเป็นการทำชีวิตของผู้บวชนั่นเองให้ดีตามไปด้วย จึงขอให้ตั้งใจให้ดีตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป 

“การบวชนั้นต้องทำตามแบบอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้   ในเบื้องต้นท่านได้นำผ้ากาสาวพัสตร์เข้ามา กล่าวคำขอบรรพชาว่า อะหัง  ภันเต  ปัพพัชชัง  ยาจามิ  แปลว่า  ข้าแต่ท่านผู้เจริญ  กระผมขอบรรพชา  หมายถึงการบรรพชาเป็นสามเณร  ก่อนที่จะอุปสมบทบวชเป็นพระ 

“การบวชเป็นสามเณรจะสำเร็จได้ต้องอาศัยคุณสมบัติ ๒ ประการ คือ มีความเข้าใจในพระรัตนตรัยและมีความเลื่อมใสอย่างแรงกล้า   เมื่อมีคุณสมบัติ   ๒   ประการนี้แล้ว เปล่งวาจารับไตรสรณคมน์  จบวาระที่  ๓  ก็สำเร็จเป็นสามเณร 

“เป็นเณรก็ดี  เป็นพระก็ดี   จะต้องรักษาข้อปฏิบัติซึ่งมีอยู่มาก  จะรักษาได้ก็ต้องอาศัยใจ   ใจต้องดี ใจจะดีได้ต้องอาศัยการฝึกหัด เพราะฉะนั้น  ผู้บวชใหม่จึงนิยมให้เรียนพระกรรมฐาน  มีบทภาวนา ๕ ประการ ขอให้ว่าตาม ดังต่อไปนี้”

เกสา // โลมา // นะขา // ทันตา // ตะโจ //  เกสา แปลว่า ผมทั้งหลาย  โลมาแปลว่า ขนทั้งหลาย  นะขาแปลว่า เล็บทั้งหลาย ทันตา  แปลว่า ฟันทั้งหลาย  ตะโจแปลว่า หนัง 

เพ่งคือนึกในใจ เพื่อป้องกันความฟุ้งซ่านรำคาญต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น  นี้ว่าตามลำดับ หรือจะว่าทวนลำดับก็ได้ว่า ดังนี้  

ตะโจ // ทันตา // นะขา // โลมา // เกสา //  แต่เวลาปฏิบัติจริงๆ โดยมากว่าพร้อมกันไปทีเดียวทั้ง ๒ อย่าง ดังนี้  เกสา  //  โลมา  //  นะขา  //  ทันตา  //  ตะโจ  //  ตะโจ  //  ทันตา  //  นะขา  //  โลมา  //  เกสา  //

เมื่อสอนกรรมฐานจบแล้วพระอุปัชฌาย์มอบผ้าไตรคืนให้ นาคประณมมือคลานเข่าถอยหลังออกไป พอพ้นแนวพระสงฆ์แล้วยืนขึ้น หันหลังกลับแล้วเดินตามพระพี่เลี้ยงที่คอยช่วยเหลือออกไปครองผ้าในที่ๆ สมควร พระพี่เลี้ยงครองจีวรให้

จากนั้นกลับเข้าไปหาพระคู่สวด รับธูปเทียนแพเครื่องสักการะจากบิดามารดาถวายพระกรรมวาจาจารย์ (พระคู่สวด) กราบ ๓ หน ประณมมือยืนขึ้นเปล่งวาจาว่า

อุกาสะ  วันทามิ  ภันเต  //  สัพพัง  อะปะราธัง  ขะมะถะ  เม  ภันเต  //  มะยา  กะตัง  ปุญญัง  สามินา  อนุโมทิตัพพัง  //  สามินา  กะตัง  ปุญญัง  มัยหัง  ทาตัพพัง  //  สาธุ  /  สาธุ  /  อนุโมทามิ ฯ

อุกาสะ  การุญญัง  กัตะวา  /  ติสะระเณนะ  สะหะ  สีลานิ   เทถะ  เม  ภันเต ฯ

คำแปล

  ขอโอกาสขอรับ  กระผมขอกราบไหว้   ท่านขอรับ  ขอท่าน  จงยกโทษที่ได้ล่วงเกินทั้งปวงให้กระผมด้วย   ขอท่านพึงอนุโมทนาบุญที่กระผมได้กระทำ  และขอท่านพึงให้บุญที่ท่านได้ทำแก่กระผมด้วย   สาธุ  สาธุ  กระผมขออนุโมทนาฯ

ท่านผู้เจริญ  ขอโอกาส   ขอท่านจงมีความกรุณาให้ศีลพร้อมทั้งสรณะ   แก่กระผมด้วยขอรับฯ

นั่งคุกเข่า ประณมมือขอสรณะและศีลว่า

อะหัง  ภันเต  สะระณะสีลัง  ยาจามิ  //  ทุติยัมปิ  อะหัง  ภันเต  สะระณะสีลัง  ยาจามิ  //  ตะติยัมปิ  อะหัง  ภันเต  สะระณะสีลัง  ยาจามิฯ

คำแปล

ท่านขอรับ  กระผมขอสรณะและศีล   ท่านขอรับ แม้ครั้งที่สอง ฯลฯ   แม้ครั้งที่สาม  กระผมขอสรณะและศีลฯ

ต่อจากนั้นให้ตั้งใจว่าตาม โดยพระกรรมวาจาอาจารย์กล่าวนำ นะโม ๓ จบ ดังนี้

นะโม  ตัสสะ //  ภะคะวะโต //  อะระหะโต //  สัมมา //  สัมพุทธัสสะ  ( นาคว่าตาม จบ)

คำแปล

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น    ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส  ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง 

พระอาจารย์กล่าวว่า “ยะมะหัง วะทามิ ตัง วะเทหิ”    คำแปล   ขอท่านจงว่าตามที่เราพูด

นาคตอบรับว่า   อุกาสะ  อามะ  ภันเต //       คำแปล     ขอโอกาส  ขอรับกระผม

จากนั้น  พระกรรมวาจาจารย์เริ่มให้สรณคมน์   การให้สรณคมน์มี ๒ แบบ  นาคว่าตามทีละวรรคไปจนจบทั้ง ๒ แบบ  ดังนี้

แบบที่ ๑ เสียงแบบสันสกฤต

(บางวัดไม่ใช้แบบสันสกฤต)

พุทธัม // สะระณัม// คัจฉามิ // ธัมมัม//  สะระณัม // คัจฉามิ // สังฆัม//  สะระณัม // คัจฉามิ// ทุติยัมปิ// พุทธัม// สะระณัม// คัจฉามิ// ทุติยัมปิ// ธัมมัม// สะระณัม// คัจฉามิ // ทุติยัมปิ// สังฆัม// สะระณัม// คัจฉามิ// ตะติยัมปิ// พุทธัม// สะระณัม// คัจฉามิ// ตะติยัมปิ// ธัมมัม// สะระณัม// คัจฉามิ// ตะติยัมปิ//  สังฆัม// สะระณัม// คัจฉามิ

แบบที่ ๒ เสียงแบบบาลี

(แบบที่ใช้ทั่วในปัจจุบัน)

พุทธัง สะระณัง  คัจฉามิ// ธัมมัง  สะระณัง  คัจฉามิ// สังฆังสะระณัง  คัจฉามิ// ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ// ทุติยัมปิ  ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ//  ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ//  ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ//  ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ//  ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง  คัจฉามิ

คำแปล

ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะ ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมว่าเป็นสรณะ  ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ   แม้ครั้งที่สองฯลฯ  แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะฯลฯ

พระอาจารย์กล่าวว่า “ ติสะระณะคะมะนัง นิฏฐิตัง”   คำแปล   การถึงสรณะ ๓ จบลงแล้ว

นาคตอบรับว่า อามะ  ภันเต //  

คำแปล 

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ  ขอรับกระผม

พอถึงขั้นตอนนี้ให้ทราบว่า เป็นสามเณรเรียบร้อยสมบูรณ์บริบูรณ์แล้ว   เนื่องจากความเป็นสามเณรสำเร็จได้ด้วยการเปล่งวาจาขอถึงพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด พอพระกรรมวาจาจารย์นำเปล่งวาจาประกาศตนว่าจะอาศัยพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งจบลงด้วยคำว่า “ ติสะระณะคะมะนัง  นิฏฐิตัง” แปลว่า ไตรสรณคมน์จบลงแล้ว

นาคกล่าวรับว่า “อามะ ภันเต” เป็นคำรับว่า ครับผม นั่นเอง

ขอขอบคุณ ภาพการบรรพชาอุปสมบท โครงการ พระนวกะโพธิ รุ่นที่ ๖ จัดโดย สำนักงานกำกับพระธรรมทูตไปต่างประเทศ วัดสระเกศ ในขณะนั้น ร่วมกับ พระธรรมทูตสายอินเดีย-เนปาล ระหว่างวันที่ ๑๘ -๒๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๐ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ


(โปรดติดตามตอนต่อไป…)

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

ญาณวชิระ เป็นนามปากกาของ ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ท่านเขียนหนังสือธรรมะมากมาย แต่ละเล่มล้วนเต็มไปด้วยสารัตถะแห่งธรรมที่เข้าใจง่าย และนำมาปฏิบัติแก้ทุกข์ได้ในชีวิตประจำวัน อาทิ หนังสือทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับ คณะสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร , หลักแห่งการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน , พุทธานุภาพ อานุภาพของพระพุทธองค์ , มหาสมัยสูตร ,การ์ตูนแอนนิเมชั่น เรื่อง ปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุ ,ทฤษฎีเบื้องต้นแห่งปรัชญาไทย, ประทีปแห่งแม่น้ำมูล , ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ,ตำนานภูเขาทอง , ลูกผู้ชายต้องบวช , สมาธิเบื้องต้นสำหรับชาวบ้าน ,หนึ่งหน้าประวัติศาสตร์แห่งการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ,บามิยัน ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์อันรุ่งเรือง และมืดมนยาวนานแห่งพระพุทธศาสนา, สุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์ , พุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และ ความเป็นมาของพระอภิธรรม เป็นต้น

หนังสือ “ลูกผู้ชายต้องบวช” โดย ญาณวชิระ จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ / ที่ปรึกษา : พระเทพรัตนมุนี , พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง) และพระมหาธีระศักดิ์ ธีรปญฺโญ /บรรณาธิการ โดย พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี และ มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ / ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส ภาพวาดประกอบโดย หมอนไม้ / แบบปก – รูปเล่ม โดย พระมหาเดชา ปญฺญาคโม และ พระมหาสมบัติ ภูริปญฺโญ / ภาพปกโดย ศิลปิน พีร์ ขุนจิตกร/ ผู้อุปถัมภ์การจัดพิมพ์ บริษัท โตโยต้าบัสส์ จำกัด / ขอรับหนังสือได้ฟรีที่ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ จนกว่าหนังสือจะหมด

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here