ชรัง อนตีโต
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ผู้เขียน
ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
๒๔. บ้านหลังใหม่
พ่ออยู่บ้านที่สร้างจากไม้บ้านเก่าของย่าหอมมานานจนลูกโต จึงได้สร้างบ้านหลังใหม่ แต่จะสร้างปีไหนพ่อก็จำไม่ได้ ตอนนั้นครูบาบวชเณรแล้ว
พ่อสร้างบ้านหลังใหม่จากไม้ที่พ่อใหญ่ให้ไปตีกรา*เอาไว้ (*ตีกรา คือ ตีตรา) เพราะไม้ยางนาและไม้ใหญ่บางชนิดเป็นไม้หวงห้าม ใครจะตัดต้องตีกราขออนุญาตก่อน ถ้าตัดไม้หวงห้ามโดยไม่ขออนุญาต ถึงจะเป็นไม้อยู่ในที่นาที่ไร่ของตัวเองก็ผิดกฎหมาย พ่อจึงไปตีกราขออนุญาตตัดไม้ยางนาเอาไว้ ๔ ต้น ตามที่พ่อใหญ่บอก ทางการคิดเงินค่าตีกรา ราว ๒,๕๐๐ บาท
ตอนนั้น พ่อยังไม่มีเงินสร้างบ้าน จึงตีกราเผื่อเอาไว้เฉย ๆ
อยู่ต่อมา ป้าจันทร์ศรีหาเงินสร้างบ้านได้ก่อน เพราะลูก ๆ ไปทำงานหาเงินที่กรุงเทพ ป้าจันทร์ศรีจะสร้างบ้านหลังใหม่ มาขอไม้ตีกราจากน้อง พ่อจึงแบ่งให้พี่สาวไป ๒ ต้น และพ่อเอาไว้สร้างบ้านของตัวเองสองต้น
ด้วยความที่บ้านหลังแรกใช้ไม้จากบ้านเก่าที่ย่าหอมให้มา แป้นพื้น แป้นแอ้ม และเครื่องบ้านจึงไม่เท่ากัน สั้นบ้าง ยาวบ้าง ตามขนาดของไม้เท่าที่หาได้ สัดส่วนของบ้านจึงไม่ค่อยได้ขนาด พ่อทำพอได้อยู่ไปก่อน
เมื่อพ่อยึดอาชีพรับจ้างเลื่อยไม้กับพวก มีคนจากในเมืองมาสั่งก็หาซื้อต้นไม้จากชาวบ้าน ใครจะขายก็ซื้อแล้วเลื่อยแปรรูปส่งตามในเมือง ตามบ้านดงเจริญ และบ้านปากห้วยวังนอง ตามแต่ใครสั่งมา ใครจะสร้างบ้าน ต้องการไม้แบบไหนก็มาสั่ง พอหาพวกเลื่อยเสร็จก็จ้างรถเอาเข้าไปส่ง ได้เงินมาก็แบ่งกัน แล้วไปซื้อไม้ต้นอื่นเลื่อยขายอีก
ตั้งแต่นั้นมา พ่อก็เริ่มเลื่อยไม้เก็บสะสมเครื่องเรือนเอาไว้สร้างบ้านของตัวเองไปด้วย พ่อเริ่มจากหัดลูกให้เลื่อยไม้ จะได้ไม่ต้องเสียเงินค่าจ้างเลื่อยไม้มาก โดยเริ่มจากหัดเลื่อยไม้ทำเล้าข้าวก่อน เพราะใช้ไม้ช่วงสั้น ๆ เมื่อชำนาญแล้วจึงเลื่อยไม้เก็บสะสมไว้สร้างบ้าน
ต่อมา พ่อหาเงินพอที่จะสร้างบ้านได้จึงรื้อหลังเก่า สร้างบ้านหลังใหม่ ป้าจันทร์ศรีพี่สาวของพ่อเห็นว่า น้องจะสร้างบ้านใหม่จึงให้เงินน้องมา ๑,๒๐๐ บาท บอกว่าช่วยค่าตีกราไม้ ๒ ต้น
พ่อบอกว่า บ้านหลังนี้ช่างวันเป็นคนทำ ตอนนั้นคนก็ว่าช่างพิมพ์สร้างบ้านดี ใคร ๆ ก็จองช่างพิมพ์ ต้องรอกันนานกว่าจะได้สร้าง พ่อไม่อยากรอจึงไปว่าช่างวันมาทำ ช่างวันสร้างกับลูก ไม่ได้จ้างคนอื่นเป็นลูกมือ ต่อมาลูกชายช่างวันก็กลายเป็นช่าง สร้างบ้านได้จนทุกวันนี้ พอคนเห็นว่าช่างวันสร้างบ้านได้เหมือนกัน ใคร ๆ ก็เรียกช่างวันทำบ้าน ช่างวันเลยรับสร้างบ้านไม่หยุด
ช่างวันคงได้ความรู้ทางช่างมาจากวัดตอนบวชพระ เพราะช่างวันบวชอยู่กับพ่อถ่าน พ่อถ่านพาสร้างกุฏิ สร้างศาลาก็คงได้ทำ จึงเป็นช่าง ตอนยกเสาเอกบ้าน พ่อถ่านเป็นคนมาทำไม้มงคลให้ วันนั้นยกบ้านใหม่พร้อมกันสองหลัง พ่อใช้เงินสร้างบ้านหลังใหม่ไป ๙๕,๐๐๐ บาท จ่ายค่าช่าง ๕,๐๐๐ บาท ทุกวันนี้ฟังดูเหมือนค่าช่างถูก แต่ตอนนั้นคนก็จ้างกันอย่างนี้
ตอนหลังพ่อมาซ่อมบ้านใหม่ ก่อชั้นล่างให้เป็นสองชั้น เปลี่ยนจากเสาไม้เป็นเสาปูน ปรับห้องน้ำ ทำห้องเพิ่ม ขยายห้องครัว เพราะปลวกขึ้นบ้าน ให้ช่างหินเป็นคนทำ พอมาซ่อมใหม่ใช้ค่าช่างไปถึง ๔๐,๐๐๐ บาท แพงกว่าตอนสร้างบ้านหลายเท่า
พ่อใช้เงินเก็บสร้างบ้านจนหมดเนื้อหมดตัว วัวควายมีกี่ตัวก็ขายมาสร้างบ้านจนหมด พอสร้างบ้านเสร็จไม่มีเงินเหลือติดบ้านเลย เห็นแต่เกวียนเปล่า ๆ ไม่มีวัวเพราะขายสร้างบ้าน คนเราเวลาไม่มีเงินอยู่ในกระเป๋าก็หน้าเหี่ยวหน้าแห้ง ความคิดความอ่านมันก็ตีบตันไปด้วย พ่อมองทางไม่ออกจึงไปยืมเงินแม่ใหญ่มาทำทุน ๖,๐๐๐ บาท แม่ใหญ่ก็ให้
นั่นเป็นครั้งแรกที่ไปหยิบยืมเงินพ่อแม่ นับตั้งแต่ออกเรือนมา ทั้งที่ตั้งใจเอาไว้ว่า ออกเรือนแล้วจะไม่รบกวนพ่อแม่
พ่อใช้เงิน ๖,๐๐๐ บาทที่หยิบยืมมาจากพ่อจากแม่ สร้างเนื้อสร้างตัวอีกครั้ง ซื้อวัวมาขายควายไป ได้กำไรบ้าง ขาดทุนบ้าง บางทีก็ถูกโกง ขายวัวไม่ได้เงิน เพราะตอนนั้นพ่อค้าวัวพ่อค้าควายไม่ซื้อเงินสด นิยมเซ็นเอาไว้ ๗ วัน ๑๕ วัน หรือเดือนหนึ่ง ค่อยนัดจ่าย จวนเจียนจะหมดตัว ก็หลายครั้ง ดีที่ได้แม่เป็นคนกล้า อ่านหนังสือไม่ออก แต่ไปได้ทุกที่ คอยตามทวงหนี้ทวงสิน ถึงอยู่ในดงในป่า คนซื้อวัวไปไม่ยอมจ่าย แม่ก็ดั้นด้นไปทวงถาม ดีที่เขาไม่ฆ่าหมกป่าหัวลิง ค่อยเก็บค่อยกำ จึงฟื้นขึ้นมา ได้เงินคืนพ่อใหญ่แม่ใหญ่
ด้วยความที่พ่อชินกับการนอนในที่โล่ง ๆ มาตั้งแต่หนุ่ม แม้จะสร้างบ้านหลัังใหม่ ชั้นล่างก่อปูนเป็นห้องกว้าง ๆ มีประตูหน้าต่าง พ่อก็ยังยกเตียงออกมากางมุ้งนอนข้างนอกมุขหน้าบ้านเหมือนเดิม พอปลูกบ้านไม้ใต้ถุนสูงโล่ง ๆ ขึ้นมาอีกหลัง พอก็ย้ายเตียงมานอนใต้ถุนบ้านไม้สบายใจ
“พ่อมันมักนอนแนวนี่ นอนในเฮือนแหล่วอึดอัด นอนโล่ง ๆ อยู่นอกเฮือนไคแน่ มันจังสะหวาดสะหว่าง แนมไปทางใด๋กะเห็นเบิ่ด”
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน
๒๔ “บ้านหลังใหม่ ”
ผู้เขียน ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียงว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘ – ๖๑๖ – ๙๓๓๗๘ – ๖ – ๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์
เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร