วันนี้วันพระ วันพุธที่ ๒๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๕

จิรํ  ติฏฺฐตุ พุทฺธสาสนํ ฯ
ขอพระพุทธศาสนาจงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน
 “ญาณวชิระ”

   สิ่งที่พระภิกษุผู้บวชใหม่

            ควรทำความเข้าใจ

เกี่ยวกับศีล ๒๒๗ ข้อ

  จุดประสงค์การบัญญัติพระวินัย

โทษของอาบัติ

สาเหตุที่ทำให้พระภิกษุต้องอาบัติ

  ผลที่มุ่งหมายในการบัญญัติพระวินัย

   ศีล  ๒๒๗  ข้อ

และ หากผิดพระวินัยแล้วต้องแก้ไขอย่างไร

ความงดงามของชีวิตพระภิกษุ เกิดขึ้นเพราะพระวินัย เหมือนดอกไม้หลากสีที่ร้อยเข้าเป็นมาลัย ย่อมเกิดความงาม เหมาะแก่การเป็นเครื่องสักการบูชา ถ้าชีวิตพระภิกษุ ขาดวินัยก็ไม่ต่างอะไรจากชีวิตชาวบ้าน เมื่อพระสารีบุตรอัครสาวกเบื้องขวากราบทูลขอให้พระพุทธเจ้าบัญญัติพระวินัยแก่สาวก พระองค์ตรัสว่ายังไม่ถึงกาลสมควร เมื่อไม่มีผู้ทำผิดพระองค์ก็ยังไม่บัญญัติพระวินัย แต่เมื่อมีผู้ทำผิดเกิดขึ้นจึงบัญญัติตามความผิดนั้นๆ จะไม่ทรงบัญญัติวินัยไว้ล่วงหน้า

แท้จริงพระวินัยไม่ได้หมายถึงข้อบังคับ แต่เป็นระเบียบแบบแผนข้อฝึกหัดขัดเกลาอุปนิสัยให้เป็นคนละเอียดอ่อน เป็นการเกื้อกูลต่อผู้บวชเอง ที่จะได้รับประโยชน์จากการบวช พระวินัยจึงมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า “สิกขาบท” คือ ข้อที่จะต้องศึกษา พระวินัยจึงเป็นเรื่องของการศึกษา

จุดประสงค์ของการบัญญัติพระวินัย

           พระพุทธเจ้าเมื่อจะทรงบัญญัติพระวินัยแต่ละข้อที่มารวมกันเป็นสิกขาบท เรียกว่าต้นบัญญัติ  เพื่อเป็นข้อฝึกหัดทางกายวาจานี้ พระองค์แสดงวัตถุประสงค์ทุกครั้ง จุดประสงค์ของการบัญญัติพระวินัยมี ๑๐ ประการ คือ

จุดประสงค์เพื่อประโยชน์แก่พระสงฆ์โดยส่วนรวม

            ๑. สังฆะสุฏฐุตายะ เพื่อความยอมรับว่าดีแห่งสงฆ์ คือ เพื่อความดีงามของสถาบันสงฆ์ทั้งหมดโดยรวม ที่ยอมรับว่าดีแห่งสงฆ์นั้น หมายถึง

พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติโดยการบังคับ กดขี่ตามพระพุทธอำนาจ แต่ทรงบัญญัติสิกขาบทโดยการยอมรับจากสงฆ์ว่าที่บัญญัติเช่นนี้เป็นสิ่งที่ดีแก่ส่วนรวม  เพื่อให้เกิดผลดีร่วมกันและทุกฝ่ายต่างให้การยอมรับ

๒.สังฆะผาสุตายะ เพื่อความผาสุกของพระสงฆ์ หมายถึงเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยดี นอกจากพระสงฆ์จะอยู่ร่วมกันด้วยความเรียบร้อยแล้ว  ต้องเกิดความสบายใจแก่ทุกฝ่ายด้วย

ประโยชน์เฉพาะบุคคล

           ๓. ทุมมังกูนัง ปุคคะลานัง นิคคะหายะ เพื่อกำราบคนหน้าด้าน ไม่มียางอาย  หมายถึง  หากพระองค์ไม่บัญญัติสิกขาบทชี้โทษให้เห็นว่าอะไรถูกอะไรผิด  อะไรมีโทษน้อยอะไรมีโทษมาก คนที่หน้าด้านไร้ยางอายเหล่านี้เมื่อบวชเข้ามาแล้วก็จะทำอะไรได้ทุกอย่างตามใจชอบ เพราะถือว่าไม่มีข้อห้าม

๔. เปสะลานัง ภิกขูนัง ผาสุวิหาระตายะ เพื่อความอยู่ผาสุกของพระภิกษุผู้มีศีล หมายถึง การบัญญัติสิกขาบทก็เพื่ออนุเคราะห์ผู้ที่มีศีล เพราะคนเหล่านี้มักจะมีความละอายสงบเสงี่ยมเรียบร้อย อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่สร้างความรำคาญให้แก่ผู้อื่น   หากพระองค์ไม่บัญญัติสิกขาบท ท่านที่มีศีลเหล่านี้ ก็จะอยู่ด้วยความลำบาก เพราะจะถูกรบกวน จากคนที่ไร้ยางอายคอยสร้างปัญหา   สร้างความรำคาญให้

จุดประสงค์เพื่อประโยชน์คือความดีงามแห่งชีวิต

            ๕. ทิฏฐะธัมมิกานัง อาสะวานัง สังวะรายะ เพื่อปิดกั้นโทษความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบัน หมายถึง การบัญญัติสิกขาบทเพราะคำนึงถึงผลดีและผลร้ายที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตของผู้บวช เช่น ถูกชกต่อย ถูกตีด้วยไม้ ถูกตัดมือตัดเท้า ถูกลงโทษตามกฎหมายบ้านเมืองในลักษณะต่างๆ ตามสมควรแก่ความผิด ตลอดถึงการเสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติยศ เป็นต้น เมื่อพระองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทแล้วจะทำให้ผู้บวชมีความสำรวมระวังมากขึ้น เป็นการป้องกันไม่ให้โทษดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่กำลังบวชอยู่

            ๖.  สัมปะรายิกานัง อาสะวานัง ปะฏิฆาตายะ เพื่อปิดกั้นโทษความเสียหายที่จะเกิดในอนาคต เป็นการป้องกันผลร้ายที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตของผู้บวชในอนาคต  อันเนื่องมาจากผลแห่งบาปกรรมที่ไม่สำรวมระวังในความเป็นพระภิกษุ ท่านแสดงโทษของการผิดศีลไว้ ดังนี้ บ้านแตกสาแหรกขาด ทรัพย์สมบัติล่มจม  ร่างกายเกิดโรคภัยเบียดเบียน 

จุดประสงค์เพื่อประโยชน์แก่พุทธศาสนิกชน

            ๗.   อัปปะสันนานัง วา ปะสาทายะ เพื่อให้เกิดความเลื่อมใสแก่ผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส

            ๘.  ปะสันนานัง วา ภิยโยภาวายะ เพื่อให้ผู้เลื่อมใสแล้วมีความเลื่อมใสยิ่งขึ้น

            ประโยชน์แก่พุทธศาสนิกชนทั้งสองข้อนี้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนเอง  คือ เมื่อคนเป็นอันมากได้เห็นพระสงฆ์ผู้สมบูรณ์ด้วยศีล งดงามด้วยอาจาระ ก็จะเกิดความเลื่อมใส  และผู้ที่เลื่อมใสอยู่แล้วก็จะเกิดศรัทธามากยิ่งขึ้น นำไปสู่การประพฤติปฏิบัติตามธรรมะคำสั่งสอนเพื่อเข้าสู่ความดีที่สูงยิ่งขึ้นไป

จุดประสงค์เพื่อประโยชน์แก่พระศาสนา

            ๙.  สัทธัมมัฏฐิติยา  เพื่อความดำรงมั่นแห่งพระสัทธรรม คือ เมื่อมีการบัญญัติสิกขาบท พระภิกษุทั้งหลายย่อมเรียนสิกขาบทและพระพุทธวจนะเมื่อปฏิบัติสิกขาบทตามที่ทรงบัญญัติไว้ ย่อมได้บรรลุโลกุตตรธรรม ที่ตนจะพึงบำเพ็ญข้อปฏิบัติแล้วบรรลุได้ด้วยความปฏิบัติ เพราะฉะนั้น พระสัทธรรมทั้งหมด ชื่อว่าเป็นสภาพตั้งอยู่ยั่งยืนนานด้วยสิกขาบทบัญญัติ

            ๑๐.  วินะยานุคคะหายะ เพื่ออนุเคราะห์พระวินัย คือ เพื่อให้พระภิกษุเคารพในวินัย อันเป็นกฎระเบียบเเบบแผนขนบธรรมเนียมที่ทรงบัญญัติไว้ ให้บังเกิดมีผลในการปฏิบัติตามหลักการอย่างหนักแน่นมั่นคง

โทษของอาบัติ

โทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดอาบัติมี  ๓ อย่าง   คือ

            (๑) โทษอย่างหนัก  เป็นโทษที่ไม่สามารถแก้ไขได้  ต้องให้ลาสิกขาเท่านั้น และจะกลับเข้ามาบวชเป็นพระภิกษุอีกไม่ได้  ได้แก่ อาบัติปาราชิก พระภิกษุต้องเข้าแล้วขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที 

            (๒) โทษอย่างกลาง พระภิกษุต้องเข้าแล้ว ต้องอยู่กรรมตามมติสงฆ์จึงจะพ้นได้ เป็นโทษที่สามารถแก้ไขได้ด้วยการอาศัยสงฆ์ ได้แก่ อาบัติสังฆาทิเสส 

            (๓) โทษอย่างเบา พระภิกษุต้องเข้าแล้วต้องแสดงอาบัติจึงจะพ้นได้ (พ้นได้ด้วยการปลงอาบัติ ได้แก่ อาบัติถุลลัจจัย  อาบัติปาจิตตีย์  อาบัติปาฏิเทสนียะ  อาบัติทุกกฏ   และอาบัติทุพภาสิต  )

โทษของอาบัติอีกอย่างหนึ่ง

การต้องอาบัติมีโทษอีก  ๒ ทาง   คือ  โทษทางบ้านเมือง  และโทษทางบัญญัติ   มีความแตกต่างกันดังนี้

(๑)  โลกวัชชะ  โทษทางโลก หรือ โทษทางบ้านเมือง  เป็นโทษที่ทางฝ่ายบ้านเมืองตำหนิติเตียนว่าไม่ดีมีความผิด   แม้ชาวบ้านทั่วไปทำก็เป็นความผิด  เช่น  ฆ่ามนุษย์   ลักขโมย  เล่นการพนัน ดื่มเหล้า  หรือความผิดบางอย่างแม้พระวินัยไม่ระบุไว้ว่ามีความผิด แต่หากเป็นความผิดตามกฎหมายบ้านเมือง พระภิกษุก็ทำไม่ได้  เป็นต้น  พระภิกษุต้องเข้าแล้ว นอกจากจะรับโทษตามบัญญัติแล้ว  ยังต้องรับโทษทางบ้านเมืองอีกด้วย  หรือบางอย่างโทษทางบัญญัติเบา  แต่ทางบ้านเมืองถือว่าเป็นเรื่องหนัก เช่น พระภิกษุดื่มสุรา ต้องอาบัติปาจิตตีย์  แสดงอาบัติก็พ้นได้ แต่ทางบ้านเมืองถือว่าเป็นโทษหนักสำหรับพระภิกษุ หากทางบ้านเมืองตัดสินให้ลาสิกขา ก็ต้องลาสิกขา ทั้งนี้ต้องดูตามเหตุ-ปัจจัยด้วย หากพระภิกษุไม่มีความผิด แต่ถูกกล่าวหาก็ให้ยึดพระวินัยเป็นหลัก และต้องให้พระภิกษุพิสูจน์ความบริสุทธิ์ตามหลักกฎหมาย 

(๒)  ปัณณัตติวัชชะ โทษทางพระบัญญัติ    เป็นโทษทางพระวินัย  ทำแล้วมีความผิดเฉพาะพระภิกษุ  ชาวบ้านไม่มีความผิด   เช่น  ขุดดิน ยืนปัสสาวะ  ยืนฉันข้าว  ยืนดื่มน้ำ ฉันอาหารหลังเที่ยง เป็นต้น

สาเหตุที่ทำให้พระภิกษุต้องอาบัติ

          การที่พระภิกษุต้องอาบัตินั้นมีสาเหตุหลายอย่าง ทั้งที่ต้องโดยมีเจตนาและไม่มีเจตนา  การที่จิตคิดเพียงอย่างเดียว  ยังไม่ทำให้พระภิกษุต้องอาบัติ เพราะจิตจะคิดจะนึกอะไรก็ได้ตามธรรมชาติของจิต   ถ้าไม่ประกอบด้วยการกระทำ  คำพูด  พระภิกษุคิดอยู่ในใจ  ยังไม่ทำให้ต้องอาบัติ  เช่น   คิดจะฆ่าเขา  คิดจะลักขโมย คิดจะด่า เป็นเพียงความคิดที่คิดไปเท่านั้นยังไม่ได้ลงมือฆ่า  ยังไม่ได้ลงมือลักขโมย  ยังไม่ได้ออกปากด่า  แต่ถ้าคิดจะฆ่าเขาและลงมือทุบตีก็เป็นอาบัติ   สาเหตุที่พระภิกษุต้องอาบัติมี  ๖  อย่าง  คือ

            (๑)  ต้องอาบัติเพราะไม่ละอาย แม้รู้อยู่ว่าทำอย่างนี้แล้วเป็นอาบัติก็ยังขืนทำลงไปเพราะไม่มีความละอายแก่ใจ

            (๒) ต้องอาบัติเพราะไม่รู้ว่าเป็นอาบัติ  ไม่รู้ว่าสิ่งนี้ควรทำสิ่งนี้ไม่ควรทำ  เพราะไม่เอาใจใส่ศึกษาพระธรรมวินัย  จึงผิดอาบัติโดยไม่รู้ตัว

            (๓)  ต้องอาบัติเพราะสงสัยแต่ยังขืนทำลงไป  เกิดความไม่แน่ใจสงสัยในสิ่งที่จะกระทำว่าเป็นอาบัติหรือเปล่า  แม้มีความสงสัยแต่ก็ยังขืนทำลงไปโดยไม่สอบถามจากผู้รู้ก่อน

            (๔)  ต้องอาบัติเพราะสำคัญว่าควรในสิ่งที่ไม่ควร  เช่น เวลาบ่ายแล้วเข้าใจว่ายังไม่บ่าย จึงฉันอาหาร  เห็นเนื้อหมีหรือเนื้อเสือซึ่งเป็นเนื้อที่พระภิกษุฉันไม่ได้เข้าใจว่าเนื้อหมูซึ่งเป็นเนื้อที่พระภิกษุฉันได้จึงฉัน เป็นต้น

            (๕)   ต้องอาบัติเพราะสำคัญว่าควรในสิ่งที่ไม่ควร   เช่นเวลาเช้ายังไม่บ่าย เข้าใจว่าบ่ายแล้ว  แต่ก็ยังฉันอาหาร  น้ำปานะที่ฉันได้  เข้าใจว่าฉันไม่ได้  แต่ก็ยังฉัน  เป็นต้น   

            (๖) ต้องอาบัติเพราะลืมสติ  เช่น ลืมเก็บจีวรอธิษฐานไว้กับตัวจนตะวันขึ้นวันใหม่ ลืมใช้อดิเรกจีวรเกิน ๑๐ วันโดยไม่ได้วิกัปป์ เป็นต้น

อานิสงส์ของการรักษาพระวินัย

            พระวินัยที่พระภิกษุรักษาดีแล้ว  ย่อมได้รับอานิสงส์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ดังนี้

            (๑)  ไม่เป็นทุกข์เดือดร้อนใจว่าบวชเข้ามาเป็นพระภิกษุแล้วทำผิดศีลผิดวินัย

            (๒)  รู้สึกแช่มชื่นใจว่าตนบวชแล้วก็ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ตามธรรมตามวินัย ไม่เป็นพระภิกษุทุศีล

            (๓)  ไม่ถูกตำหนิติเตียนอันเนื่องมาจากการไม่รักษาวินัย 

(๔)  ไม่ถูกจับกุมประจาน และลงโทษ

๕)  จะเข้าสมาคมกับผู้ทรงศีลก็ไม่เก้อเขินสะทกสะท้าน

ผลของการผิดพระวินัย

            พระภิกษุที่ไม่รักษาพระวินัย  จะกลายเป็นพระภิกษุทุศีล ย่อมได้รับผลแห่งความเป็นผู้ทุศีลที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ตรงกันข้ามจากอานิสงส์ของการรักษาพระวินัย ดังนี้

          (๑)  เป็นทุกข์เดือดร้อนใจ จิตเกิดวิปปฏิสารจนมีส่วนของคนบ้า

            (๒)  รู้สึกหดหู่เศร้าหมองใจที่ตนบวชแล้วไม่รักษาพระวินัย

(๓)  ถูกตำหนิติเตียนอันเนื่องมาจากการไม่รักษาพระวินัย 

            (๔)  ถูกจับกุมประจาน  และลงโทษ

(๕) จะเข้าสมาคมกับผู้ทรงศีลก็เก้อเขินสะทกสะท้าน 

ผลที่มุ่งหมายในการบัญญัติพระวินัย

            (๑) เพื่อป้องกันไม่ให้พระภิกษุเป็นคนเหี้ยมโหด เช่น ห้ามฆ่าสัตว์  ห้ามฆ่ามนุษย์

            (๒) เพื่อป้องกันไม่ให้พระภิกษุหลอกลวงชาวบ้านเลี้ยงชีพ ด้วยการอาศัยศรัทธาชาวบ้าน ที่มีต่อพระศาสนาเป็นเครื่องมือหากิน เช่น ห้ามอวดอุตริมนุสธรรม คือ อวดอ้างคุณพิเศษที่เกิดจากฌานสมาธิที่ตนเองไม่มี เป็นการปิดทางพระภิกษุจะอาศัยเป็นเครื่องมือหลอกลวงชาวบ้าน

            (๓) เพื่อป้องกันไม่ให้พระภิกษุเป็นคนดุร้าย ก้าวร้าวรุนแรง  เช่น ห้ามด่ากันตีกัน

            (๔) เพื่อป้องกันไม่ให้พระภิกษุ มีความประพฤติเลวทราม  เช่น  พูดปด  พูดลามกอนาจาร 

            (๕) เพื่อป้องกันไม่ให้พระภิกษุ มีความประพฤติเสียหาย  เช่น ห้ามแอบฟังความฝ่ายนี้ไปเล่าให้ฝ่ายโน้นฟัง 

(๖) เพื่อป้องกันไม่ให้พระภิกษุเล่นซุกซน  เช่น  ห้ามไม่ให้ว่ายน้ำเล่น  ห้ามไม่ให้เล่นจี้กัน  ห้ามไม่ให้เล่นหลอกผี

            (๗) เพื่อคล้อยตามความนิยมของสังคมในครั้งนั้น  เช่น  ห้ามขุดดิน

            (๘) เพื่อให้เป็นธรรมเนียมของพระภิกษุ    เช่น  ห้ามฉันอาหารในเวลาวิกาล

สิกขาบท  บัญญัติ  อาบัติ  พระวินัย

เป็นชื่อของศีล

คำว่า  “สิกขาบท”  “บัญญัติ”  “อาบัติ”  “พระวินัย”  เป็นชื่อของ “ศีล” เป็นกฎระเบียบแบบแผนข้อบังคับ หรือขนบธรรมเนียมประเพณีที่พระสงฆ์จะต้องปฏิบัติ ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน  เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อให้เกิดความเลื่อมใสแก่ผู้พบเห็น   เป็นส่วนแห่งการฝึกหัดขัดเกลากาย  วาจา ใจให้งดงาม  อันจะเป็นการเอื้อเฟื้อต่อการประพฤติธรรมขั้นสูงขึ้นไปโดยลำดับ พระวินัยแบ่งเป็น  ๒ ส่วน คือ

(๑)พุทธบัญญัติ (อาทิพรหมจาริยภาสิกขา) คือ บทศึกษาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เป็นประธานแม่บท เป็นข้อห้ามที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้มิให้พระภิกษุล่วงละเมิด  หากพระภิกษุใดล่วงละเมิดจะมีโทษหนักบ้าง เบาบ้างตามความผิดที่ได้กระทำ  พุทธบัญญัติมี ๒๒๗ ข้อ ซึ่งถูกกำหนดไว้เป็นหลัก เรียกว่า พระปาฏิโมกข์  สำหรับพระภิกษุสวดทบทวนทุก ๑๕ วัน 

            (๒) อภิสมาจาริกาสิกขา  คือ ขนบธรรมเนียมประเพณีเกี่ยวกับมารยาทที่พระภิกษุจะต้องปฏิบัติให้เหมาะสมแก่ความเป็นพระภิกษุ เพื่อให้เกิดมีอาจาระน่าเลื่อมใสแก่ผู้พบเห็น วินัยในส่วนที่เป็นอภิสมาจารนี้มีทั้งข้อห้ามและข้ออนุญาต  ที่เป็นข้อห้ามไม่ได้ปรับอาบัติไว้โดยตรง  แต่ถ้าไม่เอื้อเฟื้อปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมนี้ก็ปรับอาบัติอย่างเบา คือ อาบัติถุลลัจจัย และอาบัติทุกกฎ วินัยส่วนที่เป็นอภิสมาจาร มีมากเกินจะนำมาสวดทบทวน  จึงจัดไว้เป็นส่วนหนึ่งสำหรับให้พระภิกษุศึกษาเพิ่มเติม และไม่ขัดกับพระปาฏิโมกข์

            อาบัตินั้น หมายถึง โทษที่เกิดเพราะการล่วงละเมิดข้อบัญญัติที่พระพุทธเจ้าห้าม   มีชื่อเรียกอยู่ ๗ หมวด  คือ

            (๑) ปาราชิก  แปลว่า ผู้พ่ายแพ้

 (๒) สังฆาทิเสส  แปลว่า กรรมที่เหลือต้องอาศัยสงฆ์ในการออกจากอาบัติ  ตั้งแต่ต้นจนจบ

(๓) ถุลลัจจัย แปลว่า การล่วงละเมิด การกระทำที่หยาบ

(๔) ปาจิตตีย์  แปลว่า การละเมิดที่ทำให้ความดีงามตกไป         

(๕) ปาฏิเทสนียะ แปลว่า  จะต้องแสดงคืนกับบุคคลหรือสิ่งที่ทำให้ต้องอาบัติ

 (๖) ทุกกฏ แปลว่า    การกระทำที่ไม่ดีไม่เหมาะสม         

 (๗) ทุพภาสิต        แปลว่า   การพูดไม่ดีไม่เหมาะสม

ศีล  ๒๒๗  ข้อ

๑. ปาราชิก  ๔

ปาราชิก แปลว่า ผู้พ่ายแพ้ คือ พ่ายแพ้ต่ออุดมการณ์ทางพระพุทธศาสนา เป็นความผิดขั้นขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที ไม่ต้องรอให้มีการตัดสินทำความผิดเอง รู้เอง แม้ยังนุ่งห่มอย่างพระภิกษุ คุณค่าของความเป็นพระภิกษุก็ไม่เกิดขึ้น เหมือนตอไม้ที่ตายแล้ว

  • ห้ามเสพเมถุน หรือมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่ากับคนหรือสัตว์ ทั้งที่มีชีวิตหรือตายแล้ว
  • ห้ามลักทรัพย์ ตั้งแต่ ๕ มาสกขึ้นไป (ท่านตีค่าเท่ากับทองคำหนัก ๒๐ เมล็ดข้าวเปลือก)
  • ห้ามฆ่าคน โดยที่สุดแม้การทำให้แท้ง
  • ห้ามอวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีในตน ( คือ อวดคุณวิเศษในทางพระพุทธศาสนา  เช่น  มรรค ผล นิพพาน ฌาน สมาบัติ เป็นต้น)

๒ . สังฆาทิเสส ๑๓

              ความผิดขั้นที่ฝึกใจเสียใหม่ด้วยการอยู่ปริวาสกรรมตามมติสงฆ์เพื่อลดทิฐิมานะ บอกความผิดตัวเองด้วยการกราบไหว้สงฆ์แม้บวชทีหลัง และบอกความผิดให้สงฆ์ทราบ เพื่อมอบให้สงฆ์เป็นผู้กำหนดบทลงโทษ

  •     ห้ามทำน้ำอสุจิให้เคลื่อน ด้วยความจงใจ เว้นไว้แต่ฝัน
  • ห้ามจับต้องเคล้าคลึงลูบคลำกายหญิง ด้วยความจงใจ
  • ห้ามพูดเกี้ยวหญิง
  • ห้ามพูดหลอกล่อหญิงให้บำเรอตนด้วยกาม
  • ห้ามพูดชักสื่อให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน
  • ห้ามสร้างกุฏิแก่ตนเกินขนาด กว้าง ๗ คืบ ยาว ๑๒ คืบพระสุคต[๑]
  • ห้ามสร้างกุฏิแม้มีผู้สร้างให้โดยที่สงฆ์ไม่ได้แสดงที่ให้ก่อน
  • ห้ามโจทพระภิกษุอื่นด้วยอาบัติปาราชิกโดยไม่มีมูล
  • ห้ามแต่งเรื่องโจทพระภิกษุอื่นด้วยอาบัติปาราชิก
  • ห้ามทำให้สงฆ์แตกจากกัน (สังฆเภท)
  • ห้ามเข้าเป็นพวก กับผู้ที่ทำให้สงฆ์แตกจากกัน
  • ห้ามเป็นคนหัวดื้อว่ายาก สอนยาก
  • ห้ามประพฤติตนเลวทรามประจบประแจงคฤหัสถ์

๓ . อนิยต ๒

ความผิดที่โทษยังไม่แน่นอน ต้องสอบสวนก่อนจึงปรับอาบัติได้ อนิยตนี้อาจปรับปาราชิกก็ได้ สังฆาทิเสสก็ได้ หรือปาจิตตีย์ก็ได้แล้วแต่ผลของการสอบสวน

  • ห้ามนั่งในที่ลับตาสองต่อสองกับหญิง
  • ห้ามนั่งในที่ลับหูสองต่อสองกับหญิง

๔ .นิสสัคคียปาจิตตีย์[๒] ๓๐

ความผิดขั้นสำนึกเสียใจและรับปากว่าจะไม่ทำเช่นนั้นอีก สิ่งของที่ได้มาเพราะอาบัตินั้นต้องสละเสียแล้วแสดงอาบัติเพื่อเตือนสติตนเองทำให้ถูกต้องตามพระวินัยข้อนั้นๆ คือ พระภิกษุต้องอาบัติเพราะสิ่งใด ต้องสละสิ่งนั้นจึงจะปลงอาบัติได้

จีวรวรรคที่ ๑ มี ๑๐ ประการ

  • ห้ามเก็บจีวรที่ไม่ได้ทำเป็นสองเจ้าของ(วิกัปป์)ไว้นานเกิน ๑๐วัน
  • ห้ามอยู่โดยไม่มีไตรจีวรครบ ๓ ผืน[๓] แม้คืนหนึ่ง เว้นแต่สงฆ์อนุญาต
  • ห้ามเก็บผ้าที่ไม่ได้ทำให้เป็นสองเจ้าของ ไว้ทำจีวรนานเกินกว่า ๑ เดือน
  • ห้ามใช้ภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติ ซักจีวรให้ตน
  • ห้ามรับจีวรจากภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติ ยกเว้นแลกเปลี่ยนกัน
  • ห้ามขอจีวรจากคฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ญาติ เว้นแต่เขาปวารณาไว้[๔]
  • เมื่อจีวรถูกชิงหรือหายไป ห้ามรับจีวรจากผู้ปวารณาเกินกว่าที่จำเป็น และที่เขากำหนดไว้
  • ห้ามแนะนำให้เขาซื้อจีวรดีกว่าที่เขาตั้งใจจะถวาย
  • ห้ามแนะนำให้เขารวบรวมทรัพย์ซื้อจีวรอย่างดีเพื่อตนผู้เดียวซึ่งแต่เดิมเขาตั้งใจจะซื้ออย่างถูกหน่อยเพื่อถวายพระภิกษุอื่นด้วย
  • ห้ามทวงจีวรจากผู้เก็บเงินที่ผู้อื่นฝากไว้เป็นค่าจีวรเกิน  ๓ ครั้ง หรือ ไปยืนให้เขาเห็นเกิน ๖ ครั้ง

โกสิยวรรคที่  ๒  มี ๑๐ ประการ

  • ห้ามหล่อ(ถัก)เครื่องปูนั่งด้วยขนเจียมเจือด้วยไหม
  • ห้ามหล่อ(ถัก)เครื่องปูนั่งด้วยขนเจียมสีดำล้วน
  • ห้ามใช้ขนเจียมดำเกิน ๒ ใน ๔ ส่วน หล่อเครื่องปูนั่ง
  • ห้ามหล่อ(ถัก)เครื่องปูนั่งใหม่ถ้าของเก่ายังใช้ได้ไม่ถึง ๖ ปี
  • ห้ามหล่อ(ถัก)เครื่องปูนั่งใหม่โดยไม่ปนขนเจียมที่ตัดโดยรอบ๑คืบจากเครื่องปูนั่งเก่า
  • ห้ามนำขนเจียมที่มิได้มีใครถวาย ติดตัวไปเกินกว่า ๓ โยชน์
  • ห้ามใช้พระภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติ ช่วยทำอาสนะปูนั่ง
  • ห้ามรับเงินทองทั้งรับเองหรือให้ผู้อื่นรับเพื่อตน
  • ห้ามทำธุรกิจซื้อขายด้วยทองและเงิน
  • ห้ามแลกเปลี่ยนสิ่งของกับคฤหัสถ์ด้วยเงิน

ปัตตวรรคที่ ๓  มี ๑๐ ประการ

  • ห้ามเก็บบาตรเกิน ๑ ลูก ไว้เกิน ๑๐ วัน
  • ห้ามขอบาตรในเมื่อบาตรที่ใช้อยู่ แตกเป็นแผลกว้างไม่เกิน ๕ แห่ง (๑๐นิ้ว)
  • ห้ามเก็บเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ไว้ฉันเกิน ๗ วัน
  • ห้ามแสวงหาผ้าอาบน้ำฝนเกิน ๑ เดือน และ ทำผ้านุ่งเกิน ๑๕ วันก่อนวันเข้าพรรษา
  • ห้ามชิงจีวรที่ได้ให้แก่ภิกษุอื่นคืน
  • ห้ามขอด้ายจากคฤหัสถ์ผู้มิใช่ญาติและไม่ได้ปวารณาเพื่อให้ช่างทอเป็นจีวร
  • ห้ามสั่งช่างทอจีวรเพื่อตนให้ดีขึ้น เว้นแต่เป็นญาติและปวารณา
  • ห้ามเก็บผ้าจำนำพรรษาไว้เกินกำหนด
  • ห้ามพระภิกษุผู้อยู่ป่าเก็บจีวรไว้ในบ้านเกิน ๖ คืน
  • ห้ามน้อมลาภของสงฆ์มาเพื่อตน

๕.ปาจิตตีย์ ๙๒

ความผิดขั้นสำนึกเสียใจและรับปากว่าจะไม่ทำเช่นนั้นอีก แล้วกระทำให้ถูกต้องด้วยแสดงอาบัติ

มุสาวาทวรรคที่ ๑ มี ๑๐ ประการ

  • ห้ามพูดปด
  • ห้ามด่าพระภิกษุรูปอื่น
  • ห้ามพูดยุยงส่อเสียดพระภิกษุ
  • ห้ามกล่าวสอนธรรมด้วยการออกเสียงพร้อมกันกับผู้ที่ไม่ใช่พระภิกษุ
  • ห้ามนอนในที่มุง ที่บังเดียวกันกับผู้ที่ไม่ใช่ภิกษุเกิน ๓ คืน
  • ห้ามนอนในที่มุงที่บังเดียวกันกับผู้หญิง แม้คืนเดียว
  • ห้ามพูดสองต่อสองกับหญิงเกิน ๖ คำเว้นแต่มีผู้ชายรู้เดียงสาอยู่ด้วย
  • ห้ามพูดอวดอุตริมนุสสธรรม (คืออวดคุณวิเศษ เช่น มรรค ผล นิพพาน ฌานสมาบัติ เป็นต้น) ที่แม้ตนมีอยู่จริงแก่ผู้ที่ไม่ใช่พระภิกษุ
  • ห้ามบอกอาบัติชั่วหยาบของพระภิกษุอื่นแก่ผู้ที่ไม่ใช่ภิกษุทราบ (ซึ่งเท่ากับเป็นการประจารคณะสงฆ์)
  •  ห้ามขุดดินหรือใช้ผู้อื่นขุด

ภูตคามวรรคที่ ๒  มี ๑๐ ประการ

  • ห้ามตัดทำลายต้นไม้
  • ห้ามพูดกลบเกลื่อนหรือนิ่งเฉยเสียเมื่อถูกสงฆ์สอบสวนความผิด
  • ห้ามติเตียนพระภิกษุเจ้าหน้าที่ผู้ทำการสงฆ์โดยชอบ
  • ห้ามทิ้งเตียง ตั่ง ฟูก เก้าอี้ ของสงฆ์ที่ตนนำมาใช้ไว้กลางแจ้ง โดยไม่เก็บให้เรียบร้อย
  • ห้ามทิ้งที่ปูนอนของสงฆ์ที่ตนนำมาใช้โดยไม่เก็บให้เรียบร้อย
  • ห้ามแกล้งนอนเบียดพระภิกษุอื่นด้วยหวังให้พระภิกษุนั้นย้ายหนีไป
  • ห้ามขับไล่พระภิกษุอื่นออกจากกุฏิสงฆ์ด้วยความโกรธเคือง
  • ห้ามนั่งหรือนอนบนเตียง ตั่ง ที่ไม่แข็งแรง
  • ห้ามโบกฉาบกุฏิด้วยดินหรือปูน เกิน ๓ ชั้น
  • ห้ามเทน้ำที่รู้ว่ามีตัวสัตว์ รดหญ้าหรือดิน

โอวาทวรรคที่ ๓  มี ๑๐  ประการ

  • ห้ามสอนภิกษุณีโดยไม่ได้รับมอบหมายจากสงฆ์
  • ห้ามสอนภิกษุณีตั้งแต่อาทิตย์ตกดินไปแล้ว
  • ห้ามเข้าไปสอนภิกษุณีถึงในที่อยู่เว้นแต่ภิกษุณีเจ็บป่วย
  • ห้ามติเตียนพระภิกษุผู้ทำหน้าที่สอนภิกษุณีว่าทำไปเพราะเห็นแก่ลาภ
  • ห้ามให้จีวรแก่ภิกษุณีที่มิใช่ญาติเว้นแต่แลกเปลี่ยนกัน
  • ห้ามเย็บจีวรหรือใช้คนอื่นเย็บให้ภิกษุณีที่มิใช่ญาติ
  • ห้ามเดินทางไกลร่วมกับภิกษุณีเว้นแต่ทางมีอันตราย
  • ห้ามลงเรือลำเดียวกับภิกษุณีเว้นแต่ข้ามฟาก
  • ห้ามฉันอาหารบิณฑบาตที่ภิกษุณีไปแนะนำให้เขาถวาย
  • ห้ามอยู่ในที่ลับสองต่อสองกับภิกษุณี

ภชนวรรคที่ ๔ มี ๑๐ ประการ

  • ห้ามฉันอาหารในโรงทานเกินกว่า ๑ วัน โดยไม่ออกบิณฑบาต เว้นแต่ป่วย
  • ห้ามพระภิกษุร่วมกันฉันอาหารที่ออกปากขอมาจากชาวบ้าน ที่ออกชื่อ ๕ อย่าง ได้แก่ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา และเนื้อ
  • ห้ามทิ้งนิมนต์ที่รับไว้แล้วไปฉันอาหารที่อื่น
  • ห้ามรับบิณฑบาตมากเกินกว่า ๓ บาตร[๕]
  • ห้ามพระภิกษุฉันอาหารของคนอื่นเมื่อกล่าวว่าพอแล้วหรือลุกจากที่ไปแล้วเว้นแต่อาหารที่เป็นเดนพระภิกษุไข้
  • ห้ามแกล้งล่อพระภิกษุให้ฉันอาหาร ที่ไม่ได้เป็นเดนภิกษุไข้
  • ห้ามฉันอาหารในเวลาวิกาล[๖](เลยเที่ยงวันไปแล้ว)
  • ห้ามฉันอาหารที่รับประเคนแล้วเก็บไว้ค้างคืน
  • ห้ามขออาหารอย่างดีจากผู้ที่มิใช่ญาติเพื่อให้ตนฉัน เว้นแต่เขาได้ปวารณาไว้
  • ห้ามฉันอาหารที่ไม่ได้รับประเคน เว้นน้ำฉันได้

อเจลกวรรคที่ ๕ มี๑ ๐ ประการ

  • ห้ามให้อาหารแก่นักบวชนอกศาสนาด้วยมือของตนเอง
    • ห้ามไล่พระภิกษุที่ตนชวนไปบิณฑบาตด้วยกันให้กลับก่อน
    • ห้ามนั่งแทรกหญิงระหว่างชายผู้กำลังมีราคะต่อกัน
    • ห้ามอยู่ในห้องสองต่อสองกับหญิง
    • ห้ามอยู่ในที่ลับหู แม้เป็นที่แจ้งสองต่อสองกับหญิง
    • ห้ามรับนิมนต์แล้วไปที่อื่นโดยไม่ได้บอกลาภิกษุที่อยู่ในวัด
    • ห้ามขอปัจจัย ๔ เกินกำหนดที่เขาปวารณาไว้
    • ห้ามไปดูกระบวนทัพที่เขายกไปเพื่อรบกัน
    • ห้ามพักในกองทัพเกิน ๓ คืน
    • ห้ามเที่ยวดูเขาซ้อมรบกันระหว่างพักอยู่ในกองทัพ

สุราปานวรรคที่ ๖ มี ๑๐ ประการ

  • ห้ามดื่มสุราและเมรัย
  • ห้ามเล่นจี้พระภิกษุให้หัวเราะ
  • ห้ามว่ายน้ำเล่น
  • ห้ามแสดงความไม่เอื้อเฟื้อต่อวินัย
  • ห้ามเล่นหลอกพระภิกษุอื่นให้ตกใจกลัวผี
  • ห้ามก่อไฟ หรือใช้ให้คนอื่นก่อไฟผิง เว้นไว้แต่ไม่สบาย
  • ห้ามอาบน้ำบ่อย เว้นแต่มีเหตุผล
  • ห้ามนุ่งจีวรใหม่ที่ยังมิได้ทำเครื่องหมาย(ยังไม่ได้ทำพินทุ)
  • ห้ามใช้จีวรที่ยังมิได้ทำการยกเลิก การเป็นของสองเจ้าของ
  • ห้ามเล่นซ่อนบริขารของพระภิกษุอื่น

สัปปาณวรรคที่ ๗ มี ๑๐ ประการ

  • ห้ามฆ่าสัตว์
  • ห้ามใช้น้ำที่รู้ว่ามีตัวสัตว์อยู่
  • ห้ามรื้อฟื้นคดีความอันสงฆ์ตัดสินโดยชอบแล้วขึ้นมาใหม่อีก
  • ห้ามปกปิดอาบัติชั่วหยาบของพระภิกษุอื่น
  • ห้ามบวชกุลบุตรที่อายุไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์
  • ห้ามเดินทางร่วมกับพ่อค้าที่ขนของหนีภาษี
  • ห้ามชวนผู้หญิงเดินทางร่วมกัน
  • ห้ามกล่าวคัดค้านพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า
  • ห้ามคบหาพระภิกษุผู้กล่าวคัดค้านพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ซึ่งถูกสงฆ์ลงโทษ
  • ห้ามรับสามเณร ผู้กล่าวค้านพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ซึ่งถูกสงฆ์ลงโทษไปอยู่ด้วย

สหธรรมมิกวรรคที่ ๘ มี ๑๒ ประการ

  • ห้ามพูดกลบเกลื่อนความผิด โดยอ้างว่า ยังไม่รู้วินัยข้อนี้
  • ห้ามแกล้งพระภิกษุผู้ท่องปาติโมกข์อยู่ให้คลายความอุตสาหะในการท่อง
  • ห้ามพูดแก้ตัวว่าเพิ่งรู้ว่าความผิดข้อนี้มีในปาติโมกข์
  • ห้ามโกรธทำร้ายร่างกายพระภิกษุอื่น
  • ห้ามโกรธทำท่าเงื้อมือจะทำร้ายภิกษุอื่น
  • ห้ามกล่าวหาพระภิกษุอื่นด้วยอาบัติสังฆาทิเสสโดยไม่มีมูล
  • ห้ามก่อความรำคาญแก่พระภิกษุอื่น
  • ห้ามแอบฟังพระภิกษุทะเลาะกันเพื่อต้องการรู้ว่าเขานินทาตนหรือพวกพ้องตนหรือเปล่า
  • ห้ามติเตียนสงฆ์ผู้ได้รับฉันทะให้ทำสังฆกรรมโดยชอบแล้ว
  • ห้ามออกจากที่ประชุมสงฆ์ในขณะที่ตัดสินความยังไม่เสร็จ โดยไม่ได้รับอนุญาต
  • ห้ามติเตียนภายหลังเมื่อสงฆ์พร้อมใจกันมอบจีวรแก่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งแล้ว
  • ห้ามนำลาภสักการะที่เขาถวายสงฆ์ไว้เป็นของส่วนกลางมาเพื่อคนใดคนหนึ่ง

รตนวรรคที่ ๙  มี ๑๐ ประการ

  • ห้ามเข้าตำหนักในของพระราชา
  • ห้ามเก็บของมีค่าที่ตกอยู่มาเป็นของตน เว้นไว้แต่ของที่ตกในวัด ต้องเก็บคืนเจ้าของ
  • ห้ามเข้าบ้านในเวลาวิกาล โดยไม่บอกพระภิกษุอื่นให้ทราบ เว้นแต่มีกิจรีบด่วน
  • ห้ามทำกล่องเข็มด้วยกระดูก งาและ เขาสัตว์อวดกัน
  • ห้ามทำเตียง ตั่ง สูงกว่า ๘ นิ้วพระสุคต[๗]
  • ห้ามทำเตียง ตั่ง หุ้มด้วยนุ่น
  • ห้ามทำผ้าปูนั่งมีขนาดเกินประมาณ (ประมาณ  ๑.๕x๒ คืบพระสุคต)
  • ห้ามทำผ้าปิดฝีมีขนาดเกินประมาณ (ประมาณ ๒x๔  คืบพระสุคต)
  • ห้ามทำผ้าอาบน้ำฝนมีขนาดเกินประมาณ (ประมาณ  ๒.๕x๖ คืบพระสุคต)
  • ห้ามทำจีวรมีขนาดเกินประมาณ (ประมาณ ๖x๙  คืบพระสุคต)

๖. ปาฏิเทสนียะ ๔

              ปาฏิเทสนียะ แปลว่า อาบัติที่ต้องแสดงคืน เป็นความผิดขั้นสำนึกผิดและรับปากว่าจะไม่ทำเช่นนั้นอีก

  • ห้ามรับของเคี้ยวของฉันต่อจากมือภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติ
  • ห้ามรับสิ่งของที่ภิกษุณีสั่งให้เขาถวาย
  • ห้ามรับอาหาร ในสกุลที่สงฆ์บอกเว้นไว้
  • ห้ามรับอาหารที่เขาไม่ได้จัดเตรียมไว้ก่อน

๗ . เสขิยวัตร ๗๕

เสขิยวัตร หมายถึง มารยาททางสังคมของพระภิกษุ เป็นธรรมเนียม ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับมารยาทอันควรแก่สมณสารูปที่พระภิกษุจะต้องศึกษา ฝึกฝนปฏิบัติตามให้ได้ เสขิยวัตรนี้ไม่ได้มีการปรับอาบัติไว้โดยตรงเพียง แต่ทรงวางไว้เป็นแบบแผนให้พระภิกษุได้ศึกษาและปฏิบัติ อาจารย์ในหนหลังให้ปรับอาบัติทุกกฎแก่พระภิกษุที่ไม่เอื้อเฟื้อปฏิบัติตามเสขิยวัตร

ปริมัณฑละวรรคที่ ๑ มี ๑๐ ประการ

  • นุ่งจีวรให้เรียบร้อย
  • ห่มจีวรให้เรียบร้อย
  • ปกปิดกายให้เรียบร้อยเมื่อเข้าไปในบ้าน
  • ปกปิดกายให้เรียบร้อยเมื่อไปนั่งในบ้าน
  •  สำรวมให้ดีเมื่อเข้าไปในบ้าน
  • สำรวมให้ดีเมื่อนั่งในบ้าน
  • มีตาทอดลงเมื่อเข้าไปในบ้าน
  • มีตาทอดลงเมื่ออยู่นั่งในบ้าน
  • ไม่เวิกผ้าเมื่อเข้าไปในบ้าน
  • ไม่เวิกผ้าเมื่อนั่งอยู่ในบ้าน[๘]

นะ อุชชัคคิกะวรรคที่ ๒  มี ๑๐ ประการ

  • ไม่หัวเราะดังเมื่อเข้าไปในบ้าน
  • ไม่หัวเราะดังเมื่อนั่งอยู่ในบ้าน
  • ไม่พูดเสียงดังเมื่อเข้าไปในบ้าน
  • ไม่พูดเสียงดังเมื่อนั่งอยู่ในบ้าน
  •  ไม่เดินโคลงกายเข้าไปในบ้าน
  •  ไม่นั่งโคลงกายในบ้าน[๙]
  • ไม่ไกวแขนเข้าไปในบ้าน
  • ไม่ไกวแขนเมื่อนั่งอยู่ในบ้าน
  • ไม่โคลงศีรษะเข้าไปในบ้าน
  • ไม่โคลงศีรษะเมื่อนั่งอยู่ในบ้าน[๑๐]

นะ ขัมภะตะวรรคที่ ๓ มี ๑๐ ประการ

  • ไม่เอามือค้ำกายเมื่อเข้าไปในบ้าน
  • ไม่เอามือค้ำกายเมื่อนั่งอยู่ในบ้าน[๑๑]
  • ไม่เอาผ้าคลุมศีรษะเข้าไปในบ้าน
  • ไม่เอาผ้าคลุมศีรษะเมื่อนั่งอยู่ในบ้าน
  • ไม่เดินกระโหย่งเข้าไปในบ้าน
  • ไม่นั่งกอดเข่าเมื่อนั่งอยู่ในบ้าน
  • รับบิณฑบาตโดยเคารพ
  • มองดูแต่ในบาตรขณะรับบิณฑบาต
  • รับแกงพอสมควรแก่ข้าวสุก
  • รับบิณฑบาตพอเสมอขอบปากบาตร

สักกัจจะวรรคที่ ๔ มี ๑๐ ประการ

  • ฉันบิณฑบาตโดยเคารพ
  • มองดูแต่ในบาตรในขณะฉัน
  • ไม่ขุดข้าวสุกให้แหว่ง
  • ฉันแกงพอสมส่วนกับข้าวสุก
  • ไม่ฉันบิณฑบาตขยุ้มแต่ยอดลงไป
  • ไม่เอาข้าวสุกกลบแกงด้วยหวังจะได้มาก
  • ไม่เจ็บป่วยจักไม่ขอแกง หรือข้าวสุกเพื่อตน
  • ไม่มองดูบาตรภิกษุอื่นเพื่อตำหนิ
  • ไม่ทำคำข้าวให้ใหญ่นัก
  • ทำคำข้าวให้กลมกล่อม

นะ อะนาหะฏะวรรคที่ ๕ มี ๑๐ ประการ

  • ไม่อ้าปากค้างคอย เมื่อคำข้าวยังไม่ถึงปาก
  • ไม่เอามือสอดใส่เข้าไปในปากขณะฉัน
  • ไม่พูดเมื่อยังมีข้าวอยู่ในปาก
  • ไม่โยนคำข้าวเข้าปาก
  • ไม่ฉันกัดคำข้าว
  • ไม่ฉันจนกระพุ้งแก้มตุ่ย
  • ไม่ฉันพรางสลัดมือพราง
  • ไม่ฉันให้เม็ดข้าวโปรยเรี่ยราด
  • ไม่ฉันแลบลิ้น(เลียตามลิ้มฝีปาก)
  • ไม่ฉันให้มีเสียงดังจับ ๆ

นะ สุรุสุรุการะกะวรรค ที่ ๖ มี ๑๐ ประการ

  • ไม่ฉันให้มีเสียงดังซูด ๆ
  • ไม่ฉันเลียมือ
  • ไม่ฉันขอดบาตร
  • ไม่ฉันเลียริมฝีปาก
  • ไม่เอามือเปื้อนจับภาชนะใส่น้ำ
  • ไม่เทน้ำล้างบาตรที่มีเม็ดข้าวลงในละแวกบ้าน
  • ไม่แสดงธรรมแก่คนกั้นร่มที่ไม่เจ็บป่วย
  • ไม่แสดงธรรมแก่คนมีไม้พลองในมือ ที่ไม่เจ็บป่วย
  • ไม่แสดงธรรมแก่คนมีศัสตราในมือ ที่ไม่เจ็บป่วย
  • ไม่แสดงธรรมแก่คนมีอาวุธในมือ ที่ไม่เจ็บป่วย

นะปาทุกะวรรคที่ ๗ มี ๑๐ ประการ

  • ไม่แสดงธรรมแก่คนที่ไม่เจ็บป่วยสวมเขียงเท้า (รองเท้าไม้)
  • ไม่แสดงธรรมแก่คนที่ไม่เจ็บป่วยสวมรองเท้า
  • ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เจ็บป่วยที่นั่งอยู่ยานพาหนะ
  • ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เจ็บป่วยที่อยู่บนที่นอน
  • ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เจ็บป่วยที่นั่งกอดเข่า
  • ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่โพกศีรษะ
  • ไม่แสดงธรรมแก่คนที่คลุมศีรษะเว้นแต่เขาไม่สบาย
  • ไม่นั่งบนแผ่นดินแสดงธรรมแก่คนไม่เจ็บป่วยที่นั่งบนอาสนะ
  • ไม่นั่งบนอาสนะต่ำแสดงธรรมแก่คนไม่เจ็บป่วยที่นั่งบนอาสนะสูง
  • ไม่ยืนแสดงธรรมแก่คนไม่เจ็บป่วยที่นั่งอยู่

นะ ปัจฉะตะวรรคที่ ๘ มี ๕ ประการ

  • พระภิกษุเดินไปข้างหลัง จะไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เจ็บป่วยที่เดินอยู่ข้างหน้า
  • ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เจ็บป่วยที่กำลังเดินอยู่ในระหว่างทาง
  • เมื่อไม่เจ็บป่วย จะไม่ยืนถ่ายปัสสาวะและอุจจาระ
  • เมื่อไม่เจ็บป่วย จะไม่ถ่ายปัสสาวะอุจจาระหรือบ้วนน้ำลายลงบนต้นไม้ใบหญ้า
  • เมื่อไม่เจ็บป่วย จะไม่ถ่ายปัสสาวะ อุจจาระ หรือบ้วนน้ำลายลงในน้ำ

๘ . อธิกรณสมถะ ๗

อธิกรณสมถะ หมายถึง  วิธีระงับอธิกรณ์ คดี หรือปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในคณะสงฆ์

  • ระงับอธิกรณ์ในที่พร้อมหน้า  
  • ระงับอธิกรณ์ด้วยการยกว่าพระอรหันต์ ย่อมเป็นผู้มีสติเสมอ
  • ระงับอธิกรณ์ด้วยยกประโยชน์ให้ เพราะเกิดขึ้นในขณะบ้า  
  • ระงับอธิกรณ์ด้วยถือตามคำสารภาพของจำเลย     
  • ระงับอธิกรณ์ด้วยเสียงข้างมาก         
  • ระงับอธิกรณ์ด้วยการลงโทษแก่ผู้กระทำความผิด
  • ระงับอธิกรณ์ด้วยการประนีประนอมหรือให้เลิกแล้วกันไป

อธิบายศัพท์ บรรพ์ที่ ๖ : สิ่งที่พระภิกษุผู้บวชใหม่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับศีล ๒๒๗ ข้อ

[๑] คืบพระสุคต เป็นชื่อมาตราวัดสมัยพุทธกาล  โดยวัดตามเกณฑ์ของพระสุคต คือ พระพุทธเจ้า  

[๒] นิสสัคคียปาจิตตีย์ แปลว่า  ต้องอาบัติปาจิตตีย์เพราะสิ่งของที่จะต้องสละ    และภิกษุต้องสละของสิ่งนั้นจึงแสดงอาบัติได้

[๓] จีวร ๓ ผืน ได้แก่  ผ้าไตรครองที่อธิษฐาน ๓ ผืน คือ (๑) ผ้าสังฆาฏิ  (๒) ผ้าจีวร และ (๓) ผ้าสบง  เป็นผ้าที่พระภิกษุต้องรักษาราตรี

[๔]  คำว่า ญาติ ตามพระวินัยระบุไว้มี ๗ ชั่วโคตร  ดังนี้  (๑) ปู่ทวด  ย่าทวด  ตาทวด ยายทวด (๒) ปู่  ย่า  ตา ยาย  (๓) พ่อ แม่ (๔) ตัวเราเอง (๕) ลูกๆ  (๖) หลาน  (๗) เหลน  

  คำว่า  ปวารณา  คือ  ผู้ที่ได้ออกปากปวารณาไว้ว่า  ถ้าอยากได้ของสิ่งใดที่สมควรแก่สมณวิสัยก็ให้บอก 

พระภิกษุออกปากขอจากญาติทั้ง ๗ ชั่วโคตร และผู้ที่ปวารณาไว้ ไม่เป็นอาบัติ

[๕] ห้ามรับอาหารที่เขาไม่ได้จัดเตรียมไว้ตักบาตรเกิน ๓ บาตร  แต่อาหารที่เขาจัดไว้ตักบาตรโดยเฉพาะ รับได้เกิน ๓ บาตร เพื่อรักษาศรัทธา

[๖]  คำว่า วิกาล ตามพระวินัย  หมายถึง  ผิดเวลาที่กำหนดไว้  ไม่ได้หมายถึงเวลากลางคืนในความหมายของภาษาไทย

[๗] นิ้วพระสุคต   เป็นชื่อมาตราวัดตามเกณฑ์ของพระสุคต คือ พระพุทธเจ้า      

[๘] เวิกผ้า หมายถึง แหวกชายจีวรเปิดออกจนเห็นไหล่  เป็นการปกปิดกายไม่เรียบร้อย

[๙]  โยกกาย  หมายถึง โยกกายเป็นจังหวะเพลง  แอ็คท่า เต๊ะท่า วางมาด เป็นต้น

[๑๐] โคลงศีรษะ  หมายถึง  เดิน  หรือ  นั่งคอตกเหมือนคนหมดอาลัยตายอยาก ผู้คนเห็นแทนที่จะเบิกบานก็หดหู่ใจ ซึ่งเป็นอาการไม่น่าเลื่อมใส 

[๑๑] ค้ำกาย   หมายถึง  เดินเท้าสะเอว   ยืนเท้าสะเอว หรือนั่งเอาแขนเท้าพื้น

ลูกผู้ชายต้องบวช บรรพ์ที่ ๖ : สิ่งที่พระภิกษุผู้บวชใหม่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับศีล ๒๒๗ ข้อ : เรียบเรียงโดย ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร อดีตพระราชกิจจาภรณ์)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here