ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน
๑๘ “ปลูกบัวที่หัวบุ่ง”
ผู้เขียน ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
๑๘ ปลูกบัวที่หัวบุ่ง
ชีวิตพ่อวนเวียนหากินอยู่กับบุ่ง พอน้ำบุ่งลดจนงวดขอด หาปลาขายไม่ได้ก็ข้ามฟากบุ่งไปตัดไม้เผาถ่าน หมดจากเผาถ่าน เข้าปลายเมษายนฝนแรกฮวย*หน้าดิน หอมกลิ่นฝนใหม่อบอวลไปทั่วทุ่งหัวบุ่ง ฮุ่นไฮ่*เกิดก็สับฮุ่นไฮ่ ไถไฮ่สักหลุมหยอดปอทิ้งไว้
พ้นสงกรานต์เข้าพฤษภาฝนเริ่มหนาเม็ด ปอขึ้นสูงเท่าเอวก็เสียหญ้าปอ แล้วตกกล้าดำนา พอดำนาเสร็จ ปอโตได้ที่ ก็ตัดมัดใช้เกวียนขนลงแช่น้ำบุ่ง จนปอเปื่อยจึงลอกปอ ตีปอไล่ขี้ปอออก ต้องฝืนอาบน้ำทั้งลมทั้งหนาว ต้องใช้ฟาง-ใช้ซางมะพร้าวขัดถูตัวล้างกลิ่นปอเน่า เมื่อตากปอแห้งจนได้ที่ก็มัดให้เป็นโค้น* ใช้เกวียนแก่ขึ้นบ้านชั่งกิโล แล้วจ้างรถขนไปขายในเมือง ส่วนลำปอก็มัดเก็บไว้อ่อยไฟ บางทีก็กองทิ้งไว้ตามบุ่งตามท่าใครอยากได้ก็มามัดมาแบกเอา
เวลาพ่อฝั้นปอมัดโค้นปออยู่เดิ่นบ้าน ลูกยังเล็กไม่รู้ทุกข์รู้ร้อนก็กระโดดเล่น ปีนป่าย เกลือกกลิ้ง ตามโค้นปอเจี้ยวจ้าว
(*ฝนฮวย คือ ฝนโปรยปรายรดหน้าดินที่แห้ง) (*ฮุ่นไฮ่ คือ พุ่มไม้ที่งอกขึ้นใหม่ทำให้ไร่นารกเรื้อ) (*โค้น คือ มัดปอรวมกันเป็นก้อน หรือเป็นท่อนใหญ่ ๆ ตามกิโลกรัมที่ผู้ซื้อกำหนด)
ชาวบ้านรู้จักปลูกปอและเลี้ยงหมูตามใต้ถุนเรือนเพื่อหารายได้เพิ่มตามนโยบายของทางราชการพร้อมกับการมาของเพลงผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุมที่ร้องกันได้แทบทุกหลังคาเรือน (ราวพุทธศักราช ๒๕๑๒ – ๒๕๑๘ ) แล้วก็ตามมาด้วยการรับจ้างขุดบ่อน้ำเงินผัน และรับจ้างทำถนนเงินผัน
ถึงหน้าแล้งน้ำบุ่งลด พ่อก็ลงบุ่งปลูกบัวที่ท่าซาละวัน ให้แม่หาบไปขายในเมือง วันไหนได้ยินเสียงกลองดึกดังมาจากวัด รู้ว่าตรงกับวันพระก็ตัดดอกบัวไปขายด้วย แต่แม่ไม่อยากตัดดอกบัวขาย อยากปล่อยให้โตเป็นฝักจะขายได้ราคาดีกว่า บางรอบหมุนเงินไม่ทันจำเป็นก็ต้องตัดดอกบัวไปขายด้วย
เวลาเก็บฝักบัว ไม่มีรองเท้าบูทลุยน้ำอย่างทุกวันนี้ พ่อต้องเดินเท้าเปล่า ลุยน้ำไปตามป่าบัว เหยียบหนามหมากจับบ้าง ถูกหนามบัวขูดแขนขาบ้าง ก็ทนเอาพอได้เงินตื่มกัน* คนบ้านเราก็ทำอย่างนี้กันทั้งนั้น(*ตื่มกัน คือ ได้เพิ่มขึ้นมาอีกหน่อย)
แม่หาบบัวไปขายในเมืองอยู่พักหนึ่งก็เริ่มรู้จักคนขายบัวมากขึ้น ต่อมา ก็มีคนมาติดต่อซื้อถึงสวนเพื่อเอาไปขายต่อ วันไหนมีคนมาซื้อถึงสวน พ่อก็ลงเก็บบัวให้
เวลาเก็บบัวต้องเลือกเก็บฝักที่กำลังพอดี ๆ ไม่อ่อนหรือไม่แก่จนเกินไป บัวจึงจะมีรสหวาน อร่อย ถ้าอ่อนไปก็จืดสนิท หรือถ้าแก่เกินไป ใจบัวจะมีรสขม ไม่อร่อย พ่อจะดูจากเมล็ดที่ฝักบัว ถ้าเมล็ดมีสีเขียวก็แสดงว่ายังอ่อนอยู่ ถ้ามีสีขาวอมเขียวแสดงว่ากำลังดี แต่ถ้าเลยจากสีขาวไปจนถึงปนน้ำตาล แสดงว่าเมล็ดบัวเริ่มแก่แล้ว
พ่อบอกว่า ถ้าต้มหรือเผากิน บัวก็จะอร่อยไปอีกแบบหนึ่ง
พ่อจะเก็บบัวประมาณอาทิตย์ละครั้ง สองครั้ง ใช้เวลาช่วงหน้าแล้งราว ๓ – ๔ เดือนก็จะหมดหน้าปลูกบัวขาย ส่วนมากพอถึงหน้าแล้งหมดหน้านา ไม่มีอะไรทำ คนบ้านเราก็จะปลูกผักปลูกหญ้า พอให้มีอะไรทำ ไม่ต้องนั่งอยู่บ้านเฉย ๆ ส่วนคนหัวบุ่งจะปลูกบัวเพราะน้ำหัวบุ่งไม่ลึกมาก
สวนบัวพ่ออยู่ท่าซาละวัน ตรงกับนาทามน้อยของพ่อใหญ่ สวนบัวถัดไปทางปากบุ่ง ท่ากกแต้ เป็นของพ่อหนูแดง แม่ขอด เลยท่าน้ำคำ โนนวัด ไปถึงท่ากกไผ่ ท่าหอ น้ำบุ่งจะลึก จึงไม่ค่อยมีใครปลูกบัว
เล่าถึงท่ากกแต้เป็นท่านาพ่อใหญ่โหง่น มีต้นแต้อยู่ที่ริมตลิ่ง จึงเรียกท่ากกแต้ จะมีตูบหาปลาอยู่ ๓ – ๔ ลัง คือ ตูบพ่อพันธุ์ตา ตูบแม่น้อย และตูบพ่อเลิศ จะอยู่กันยาวจนน้ำท่วม ต่อมา คงเห็นว่า น้ำท่วมบ่อย จึงย้ายขึ้นมาอยู่ในหมู่บ้าน ใกล้กับสถานีอนามัย (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปากน้ำ) เมื่อทางการมาทำคลองส่งน้ำได้ใช้ท่ากกแต้เป็นที่ตั้งเครื่องสูบน้ำจึงเรียกท่าเครื่องอีกชื่อหนึ่งด้วย
ถัดขึ้นมาทางหัวบุ่งเป็นสวนบัวของพ่อกลมและพ่อจงมี แล้วก็เป็นสวนบัวพ่อใหญ่พิมพ์เบ๋ อยู่ท่าโฮงแมบตรงกับนาลุ่มของพ่อ พ่อใหญ่พิมพ์จะถางอุ่มพี้ริมบุ่งให้เป็นโพรงสำหรับหลบแดดเฝ้าสวนบัว นั่งพักกินข้าวกินปลาและใช้จอดเรือ ถัดขึ้นไปอีกจะเป็นสวนบัวพ่อใหญ่แดง พี่ของพ่อใหญ่พิมพ์ สวนบัวพ่อใหญ่แดงจะปลูกข้าวนาปังเสริมตามริมฝั่งด้วย ต่อมา เมื่อพ่อใหญ่แดงตาย พ่อใหญ่ดีกะจึงมาปลูกบัวแทนที่พ่อใหญ่แดง
ส่วนสวนบัวแม่ป้าจันทร์ศรีกับพ่อลุงแอ่ง อยู่ฟากบุ่งตรงข้ามกับสวนบัวของพ่อ นอกจากแม่ป้ากับพ่อลุงจะปลูกบัวแล้ว ยังปลูกปอตรงท่านี้ ปีไหนน้ำมาเร็ว ตัดปอไม่ทันก็ต้องมุดน้ำถอนปอ
ต่อมา แม่ป้ากับพ่อลุงคงเห็นว่า น้ำท่วมบ่อย ตัดปอไม่ทัน ไร่ปอเสียหาย ได้ไม่คุ้มกับแรงที่ลงไปจึงเลิกปลูกปอ
ถัดจากสวนบัวแม่ป้าไปทางซ้งแม่ใหญ่ดาจึงเป็นสวนบัวของพ่อใหญ่ ต่อมาพ่อใหญ่เลิกทำสวนบัว พ่อใหญ่ดีกะจึงมาปลูกแทนที่ พอถึงซ้งแม่ใหญ่ดาก็เป็นรวงต้อนพ่อใหญ่เมฆ เมื่อถึงหน้าแล้งน้ำลดขาดจากรวงต้อนก็ป้านคูหาปลา ต่อมารวงต้อนซ้งแม่ใหญ่ดาได้ตกทอดมาเป็นของย่าสี พ่อใหญ่ทา วันหนา
ที่ซ้งแม่ใหญ่ดานอกจากสวนบัวแล้วก็จะมีผือลำสวย ๆ ขึ้นมากด้วย เวลาจะต่ำสาดเอาไว้ปู แม่ใหญ่ แม่ป้า แม่ และคนอื่น ๆ ต้องมาถอนผือจากที่นี่ไปต่ำสาด* (*ต่ำสาด คือ ทอสาด หรือ ทอเสื่อ)
เสร็จจากสวนบัวก็เข้าหน้าทำนา หมดจากหน้านาก็เข้าหน้าหนาว พ่อกับแม่ก็ปลูกผัก ปลูกแตง ปลูกพริก ปลูกมะเขือเทศ ปลูกข้าวโพด ปลูกถั่วฝักยาวที่นาลุ่ม ตามแต่ปีไหนจะปลูกอะไร ตื่นเช้ามาแม้อากาศจะหนาวเย็นแค่ไหนก็ต้องลุกไปตักน้ำรดสวนตั้งแต่เช้ามืด พอโตได้ที่ก็ใช้เกวียนแก่ไปให้แม่ขาย ก่อนจะเก็บก็ต้องดูว่าฉีดยาไปได้กี่วันแล้ว
“แม่เลาเป็นคนขยันอีหลี เบิ่ดแต่อันนั่นกะหันใส่อันนี่ เฮ็ดงานกะไว คันว่าเฮ็ดหยัง ปุ๊ปปั๊บเข้าโลด บ่ก้อย ๆ แก้ย ๆ คือเด็กน้อยหมู่นี่ ดำนานำกัน โตได้ซั่วเคิ่งงาน แม่เลาดำไวกว่าเจ้าของได้งานสองงานพุ้น มื้อหนึ่งให้ไปดำนาซ่อยพ่อลุงบุญมาอยู่ท่งข้าวเม่า พ่อลุงเพิ่นว่า อีหนูคือดำนาไวว่าแม่นไก่ตอดเหงื่อแท้ จังว่าโตว่า เด็กน้อยหมู่นี่คือบ่ได้เคิ่งแม่มึง ตั้งแต่เลายังแข็งแฮงอยู่ งานส่ำหนึ่งเลาบ่ให้ไผจับนำดอก แม่เพิ่นผัดว่า คนมันคือสิคือกัน โตกะว่า บ่คือกันมันกะต้องเบิ่งแม่ แต่กะฮั่งว่านั่นล่ะ โตมันบ่ให้ลูกทุกข์ลูกยาก คันลูกจับลูกบายแน่ กะย้านแต่ลูกลำบาก”
พ่อพูดถึงความขยันของแม่
คนหัวบุ่งเลิกปลูกบัวขายมานานแล้วเพราะความเห็นของหลายฝ่ายเริ่มไม่ลงกันจนทางบ้านเมืองต้องเข้ามาไกล่เกลี่ยถึงบุ่งสระพัง จึงกลายเป็นข้อตกลงร่วมกันของชาวบ้านปากน้ำ
ส่วนสาเหตุที่เลิกปลูกบัวในบุ่งนั้น บ้างก็ว่าเลิกเพราะการปลูกบัวจะทำให้น้ำบุ่งตื่นเขิน บ้างก็ว่าการปลูกบัวที่บุ่งทำให้คนเลี้ยงวัวเลี้ยงควายระวังยาก บางทีควายมุดรั้วเข้าสวนบัวก็มีปัญหากัน บ้างก็ว่าแย่งที่ปลูกจึงทะเลาะกัน ต้องถึงกับขึ้นเรือนผู้ใหญ่บ้าน บ้างก็ว่าสวนบัวบางแห่งขุดคูขวางทางเรือเงินเรือทองเจ้าที่เจ้าทางโนนพระเจ้า จึงทำให้เกิดบ้านร้อน มีเรื่องมีราวเกิดกับคนหัวบุ่งจึงต่างคนต่างเลิกรากันไป
แต่ไม่ว่าการปลูกบัวที่หัวบุ่งจะเลิกไปด้วยเหตุผลใด สวนบัวก็เคยเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพ่อเหมือนคนหัวบุ่งคนอื่น
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน
๑๘ “ปลูกบัวที่หัวบุ่ง”
ผู้เขียน ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียงว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘ – ๖๑๖ – ๙๓๓๗๘ – ๖ – ๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์
เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร