ชรัง อนตีโต
เมื่อความชรามาเยือน
ผู้เขียน
ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๑๗ “รวงต้อนของพ่อใหญ่” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์
๑๗
รวงต้อนของพ่อใหญ่
แต่เมื่อรู้ว่าบุ่งหาเลี้ยงชีพได้
ชีวิตของพ่อก็ผูกพันอยู่กับบุ่งกับเรือ”
“แม้พ่อจะเริ่มต้นชีวิตจากไม่รู้จักลายหากิน
แต่เมื่อรู้ว่าบุ่งหาเลี้ยงชีพได้
ชีวิตของพ่อก็ผูกพันอยู่กับบุ่งกับเรือ”
หน้าฝนพ่อต้องเร่งดำนาให้ทันฟ้าทันฝน จึงลงบุ่งหาปลาพอได้อยู่ได้กิน บางทีขึ้นจากนา ไม่ได้ลงบุ่งก็เก็บถั่วเก็บแตง มาตำใส่มะขามอ่อน ใส่ปูนากินกับข้าว พอให้อยู่ท้องแล้วลงดำนาต่อ
พอข้าวยืดลำต้นตรงแตกใบเขียว ฝนก็ตกฮำ*ข้ามวันข้ามคืน (*ตกฮำ คือ ฝนตกริน)น้ำเหนือเอ่อมาท่วมฟากบุ่ง ปลาจึงมีที่หลบแพร่พันธุ์อยู่ตามป่าสามพันตา ป่าหัวลิง ป่าพี้ ป่าเบ็ญ ป่าฝ้ายน้ำ ป่าแก ป่าหนามจ่าง และป่าไผ่
พอน้ำมูลหนุนขึ้นสูง มองจากฮ่มคร้อนาพ่อใหญ่ ไปฟากบุ่ง เห็นแต่ยอดไม้ น้ำมูลกับน้ำบุ่งลวดถึงกัน ขาวเป็นผืนไปจนสุดลูกตา
ช่วงนั้น น้ำจะไหลแรงมาก พ่อจึงใช้วิธีไหลมองหาปลา
พอปลายเดือนสิบเอ็ด ฟ้าร้องฮ่วนสั่งลาฝน หัวลมอ่วยพัดหนาวมาวอย ๆ น้ำบุ่งเริ่มลด ฝูงปลาออกจากป่าสามพันตา ป่าหัวลิง ป่าพี้ และป่าไผ่ ตามน้ำลงมารวมกันอยู่ในบุ่ง
บุ่งสระพังยามนี้จึงเต็มไปด้วยปลานานาชนิด พ่อต้องนอนนาจะได้ลุกขึ้นหาปลาแต่เช้ามืด
พอย่างเข้าเดือนมีนาต่อด้วยเมษาเข้าหน้าแล้ง น้ำบุ่งงวดลงตื้นเขิน ปลาในบุ่งจะมีน้อย ทั้งหนามหมากจับ จอก แหนก็ขึ้นเต็มบุ่ง ทำให้หาปลายาก พอจะหาง่ายหน่อยก็เป็นจำพวกหอยโข่ง หอยปังที่เกาะอยู่ตามจอกตามแหน พ่อจึงหางานอย่างอื่นทำ จะหาปลาก็แค่พอได้ใส่แลงใส่งาย* บางที ก็หาสักสุ่ม ขัวหอย ส้อนกุ้ง ขุดปู ไปตามห้วยตามหนองที่น้ำงวดขอด (*ใส่แลง คือ ทำกินตอนเย็น *ใส่งาย คือ ทำกินตอนเช้า)
การแก่กวด* หรือ แก่กวาด เป็นวิธีหาปลาที่หายไปจากบุ่งมานานแล้ว คนรุ่นหลังอย่างเรา ๆ ไม่มีใครเคยได้เห็น (*แก่กวด คือ การลากอวน
ท่ากวดจะอยู่ขุมดิน ถัดขึ้นไปเป็นเดิ่นจิก ใกล้กับโนนพระเจ้า ทุกปีพอน้ำบุ่งลดจนเห็นเดิ่นขุมดินเป็นลานกว้าง เจ้าของกวดจะปลูกตูบกินนอนอยู่ที่ขุมดินเพื่อแก่กวด พอตะวันคล้อยเย็นลง ก็จะเอาเรือใหญ่แจวออกไปลงกวดกลางบุ่ง จากนั้น จึงช่วยกันลากเข้าฝั่ง
คนหัวบุ่งจะมารับจ้างแก่กวด บางคนก็เอาส่วนแบ่งเป็นปลา บางคนก็เอาสวิง เอากะแหง่งมาส้อนกุ้งฝอย ส้อนปลาแก้ว ใต้ก้นกวด เด็ก ๆ ก็เกาะกาบเรือว่ายน้ำเล่นสนุกสนาน
พ่อเล่าว่า หัวบุ่งเลิกแก่กวดไปนานแล้ว จนพ่อจำไม่ได้ว่าเลิกกันไปเมื่อไหร่ เพราะทางการเห็นว่าจะทำให้ปลาในบุ่งสูญพันธุ์
วิธีหาปลาอีกอย่างที่หายไปจากบุ่ง คือ การลงต้อนเพราะทำยาก ต้องรวมกันหลายเจ้า และคนชำนาญลงต้อนต่างก็แก่ชรา ล้มหายตายจากกันไปเกือบหมดแล้ว รุ่นลูกรุ่นหลานก็ไม่มีใครรับช่วงต่อ
นอกจากนั้นทางการก็เคร่งครัดรูปแบบการหาปลามากขึ้น เพื่ออนุรักษ์ไม่ให้ปลาสูญพันธุ์
การลงต้อนจะลงช่วงน้ำบุ่งลดจนเห็นตลิ่งทั้งสองฝั่ง ต้องใช้เผือก หรือ เผียก* (*เผือก หรือ เผียก คือ แนวกั้นปลาทำจากริ้วไม้ไผ่ม้วนพันไว้) กั้นเป็นแนวจากฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่งหนึ่ง ขวางทางปลาเอาไว้ ไม่ให้ตามน้ำลงมา แล้วทำคอกดักปลาไว้สองหรือสามจุด พอปลาว่ายหาทางออกไปตามเผือก จนไปเจอทางที่เปิดเป็นกับดักเอาไว้ ปลาก็จะออกไปติดอยู่ในคอกดักปลา ตอนเช้ามืด จึงลงไปมุดตักเอา
ช่วงแรก ๆ ที่ลงต้อนจะมีปลาเข้าคอกดักปลามาก ก็จะตักทั้งรอบเช้าและรอบเย็น
ระหว่างเผือกที่ขวางเป็นแนวกั้น ก็ต้องเว้นทางให้เรือผ่านเอาไว้พอปริ่ม ๆ น้ำราววาหนึ่ง เพื่อให้คนพายเรือผ่านไปมาได้ บางคนพายเรือไปตามแนวเผือก เผลอ ๆ อาจมีปลาสูดกระโดดข้ามเผือกมาตกใส่เรือ
พ่อเล่าว่า การลงต้อนเป็นงานใหญ่ รวงต้อนแต่ละที่จะอยู่ตามซ้ง* ตามยอดบุ่ง (*ซ้ง คือ น้ำส่วนที่เป็นแหลมหลุบต่ำยื่นเข้าไปผืนดิน) เวลาลงต้อนจะถอยร่นตามน้ำลงมาเรื่อย ๆ รวงต้อนแต่ละแห่งต้องใช้เผือกจำนวนมาก ตามความห่างของฝั่งแต่ละด้าน คนที่มีเผือกจึงต้องเอาเผือกมารวมกันลงต้อนหลายเจ้า เหมือนการลงขันกันหาปลา เผือกของแต่ละเจ้าจะมีขนาดสูงยาวแตกต่างกัน แต่ละเจ้าจะจำสัญลักษณ์เผือกของกันและกันได้ว่า เผือกของแต่ละคนสูงเท่าไหร่ ยาวกี่ศอก ใช้ด้ายสีอะไรถัก
เวลาตักปลาแต่ละครั้ง ก็ต้องแบ่งเป็นพูด*ตามจำนวนคนที่เอาเผือกมาลง ส่วนคนที่เป็นเจ้าของรวงต้อน จะได้สองพูด คือ ได้สองส่วน เพราะเป็นคนถางป่าปรับที่เป็นแนวให้ลงต้อนได้ (*พูด คือ ส่วนแบ่ง กอง หรือ การแบ่งสันปันส่วนออกเป็นกอง ๆ)
เวลาแบ่งปลาจะให้ผู้อาวุโสของกลุ่มเป็นคนยายปลา*(*ยาย คือ แบ่ง หรือแจก) โดยจะหยิบปลาจากกองกลางที่ตักมาเทรวมกันเอาไว้ โยนวนไปตามจำนวนกองให้เท่ากับจำนวนคนที่เอาเผือกมาลงขัน และทำเกินไปอีกหนึ่งกอง สำหรับเจ้าของรวงต้อน
ผู้ยายจะหยิบปลาโยนวนไป จนปลาหมดจากกองกลาง โดยจะเริ่มกวาดปลาตัวเล็กตัวน้อยออกเป็นกอง ๆ ก่อน จากนั้น จึงโยนปลาตัวใหญ่แต่ละชนิดวนไป ไม่ได้เจาะจงว่าจะเป็นกองไหน แล้วแต่ว่าปลาตัวนั้น ขนาดนั้นจะตกกองใด
บางทีก็หยิบปลาตัวใหญ่โยนวนไปตามกองจนหมดก่อน จึงกวาดปลาตัวเล็กตัวน้อยใส่ตามกองให้เท่า ๆ กัน ซึ่งแล้วแต่วิธีของคนที่ยายปลาในวันนั้น
จากนั้น คนที่เหลือจะเป็นคนเลือกก่อน จะเลือกจากกองไหนก็ได้ ส่วนกองสุดท้ายที่เหลืออยู่จะเป็นของผู้อาวุโสที่ทำหน้าที่ยายปลาในวันนั้น
ปลาที่ได้ในแต่ละวันก็จะหาบไปขายบ้าง ตากแห้งบ้าง ทำปลาร้าบ้าง บางทีก็ใส่ขัดแตะย่างรมควันไฟเก็บไว้กินหน้าแล้ง
พอน้ำลดหมดหน้าลงต้อน ย่างเข้าหน้าแล้งก็จะเอาเผือกขึ้นผึ่งแดด และซ่อมเผือกที่หัก บางทีก็ทำเพิ่ม ม้วนเก็บไว้ใต้เถียงนา หรือโฮงฮำ* เพื่อเอาไว้ใช้ในปีถัดไป (*โฮงฮำ คือ โรงเรือนเก็บเฟือง และอุปกรณ์ทำนา)
พ่อใหญ่เป็นเจ้าของรวงต้อนที่ท่าซาละวัน เวลาแบ่งปลาจึงได้สองพูด และพ่อใหญ่มักจะเป็นผู้ยายปลา ในแต่ละวันด้วย
แม่บอกว่า หมดรุ่นพ่อใหญ่ ก็ไม่มีใครใช้เผือกลงต้อนหาปลาแบบเดิมแล้ว ทุกวันนี้ ทางการเคร่งครัดรูปแบบการลงต้อน ชาวบ้านใช้วิธีเอากะแหง่งเย็บต่อกันใช้ดักปลา ดักกุ้ง ตามซ้ง ตามแหลมเล็ก ๆ แทน
คนเฒ่าคนแก่ที่เคยหากินอยู่กับบุ่งกับท่าจากลากันไปเกือบหมดแล้ว แต่ลูกหลานรุ่นหลัง ยังคงอาศัยบุ่งสระพังทำมาหากินกันต่อไป
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียงว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘ – ๖๑๖ – ๙๓๓๗๘ – ๖ – ๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์
เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร