๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๒ วันนี้เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day)

เป็นวันที่ได้รับการประกาศจากองค์การสหประชาชาติ ตรงกับวันที่ ๕ มิถุนายน ของทุกปี

ขอขอบคุณภาพจาก สถาบันพระวิทยากร วัดสระเกศฯ
ขอขอบพระคุณภาพจาก สถาบันพระวิทยากร วัดสระเกศฯ

เหตุที่วันนี้ได้รับเกียรติให้เป็นวันสิ่งแวดงล้อมโลกนั้น สืบเนื่องมาจากโลกของเราเกิดวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงมายาวนาน จากน้ำมือของมนุษย์นี่เอง ไม่ใช่ใครที่ไหน ชาวโลกจึงได้มีการจัดประชุมใหญ่ระดับโลกขึ้นที่ กรุงสตอกโฮลม์ ประเทศสวีเดน ในช่วงวันที่ ๕- ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๕ โดยมีรัฐบาลของประเทศสวีเดนเป็นประธานในการประชุมในครั้งนั้น

ผ่านไป ๔๗ ปี มาถึงวันนี้ธรรมชาติกลับถูกทำลายมากขึ้นจนทำให้สภาพแวดล้อมรุนแรงเพิ่มขึ้นนานัปการ จากที่เห็นได้ชัดจากภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกๆ พื้นที่ของโลกใบนี้

ขอขอบคุณภาพจาก สถาบันพระวิทยากร วัดสระเกศ ฯ
ขอขอบพระคุณภาพจาก สถาบันพระวิทยากร วัดสระเกศ ฯ

หากเรา โอปนยิโก น้อมเข้ามาใส่ใจ ดังพระพุทธองค์ทรงให้เราแก้ปัญหาทุกอย่าง

ด้วยการกลับมามองที่ตัวเราเองก่อน ว่าเรามีส่วนของสภาพสิ่งแวดล้อมที่เสียไปด้วยหรือเปล่า ?

แน่นอนว่า หากเราไม่เข้าข้างตัวเอง เราทุกคนล้วนมีส่วนที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นพิษคนละเล็กคนละน้อยมาจนถึงทุกวันนี้

ทางแก้ …ล่ะ

พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นที่ใจ และดับลงที่ใจ

จะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ต้องกลับมาแก้ปัญหาที่พฤติกรรมของเราก่อนในแต่ละวันทำได้ง่ายๆ และเชื่อว่า ใครๆ ก็รู้ และหลายๆ คนก็ทำกันอยู่ทุกวัน เช่น การลดการใช้พลาสติกลงในแต่ละวัน การนำสิ่งของที่ใช้แล้ว นำมาใช้ใหม่ การใช้รถประจำทางแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัวบ้าง และหากใครมีรถยนต์ส่วนตัวก็แวะรับเพื่อนๆ ไปในทิศทางเดียวกัน นี้เป็นเพียงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เราต่างปฏิบัติกันอยู่แล้ว และเมื่อกล่าวถึงทิศทางเดียวกันก็ทำให้ระลึกถึง ทิศทั้งหก ที่พระพุทธเจ้าเมตตาให้แนวทางไว้ในการสร้างชีวิตให้มีมีความสุขและปลอดภัย ด้วยการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับชีวิต และหากเราดูแลทิศทั้งหกให้ดี สิ่งแวดล้อมจะดี และสร้างสังคมที่น่าอยู่ต่อไปไม่สิ้นสุด

ดังนี้ …

  • ๑. ทิศเบื้องหน้า (ปุรัตถิมทิส) ได้แก่ บิดา มารดา
  • ๒. ทิศเบื้องขวา (ทักขิณทิส) ได้แก่ ครู อาจารย์
  • ๓.ทิศเบื้องหลัง (ปัจฉิมทิส) ได้แก่ สามี ภรรยา และบุตร
  • ๔.ทิศเบื้องซ้าย (อุตตรทิส) ได้แก่ มิตรสหาย
  • ๕.ทิศเบื้องบน (อุปริมทิส) ได้แก่ พระสงฆ์ สมณพราหมณ์
  • ๖.ทิศเบื้องล่าง (เหฏฐิมทิส) ได้แก่ ลูกจ้างกับนายจ้าง

  • ๑.ทิศเบื้องหน้า (ปุรัตถิมทิส) ได้แก่ บิดา มารดา ซึ่งไม่ได้จำกัดความเพียงคุณแม่ คุณพ่อ ผู้ที่ให้กำเนิดและเลี้ยงดูส่งเสียเรามาจนเติบใหญ่เท่านั้น ทิศเบื้องหน้ายังหมายถึง ปู่ ย่า ตา ยาย หรือบุคคลอื่นที่เป็นญาติเราด้วยเช่นกัน แต่แน่นอนว่า เราจะต้องดูแลทุกท่านอย่างดีที่สุดตามกำลังของเรา ที่สำคัญไม่เพียงดูแลกายท่านเท่านั้น ต้องดูแลหัวใจของท่านด้วย ดูแลเอาใจใส่ด้วยหัวใจของเรา…ดังนี้
    • มารดาบิดา อนุเคราะห์และดูแล บุตรธิดา ดังนี้ ห้ามปรามจากความชั่ว ให้ตั้งอยู่ในความดี ให้ศึกษาศิลปวิทยา หาคู่ครองที่สมควรให้ มอบทรัพย์สมบัติให้ในโอกาสอันสมควร สอนความเป็นลูกผู้หญิงและความเป็นแม่ ให้กับลูก สอนการเลือกคบคน สอนการใช้ชีวิตให้มีสติปัญญา
    • บุตรธิดาพึงบำรุงดูแลมารดาบิดา ดังนี้ ท่านเลี้ยงเรามาแล้วเลี้ยงท่านตอบ ช่วยทำกิจของท่าน ดำรงวงศ์สกุล ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาท ไม่ทำร้ายหัวใจท่าน ท่านบอกอะไรให้เชื่อฟัง ไม่เถียง หากท่านไม่มีสัมมาทิฐิ ก็ช่วยให้ท่านมีสัมมาทิฐิ เมื่อท่านล่วงลับไปแล้วทำบุญอุทิศให้ท่าน
  • ทิศเบื้องขวา (ทักขิณทิส) ได้แก่ ครูบาอาจารย์ผู้ทำให้เราตื่นรู้ คือผู้ที่เปลี่ยนแปลงแปลงเราให้ดีขึ้น ทั้งคอยขนาบและให้กำลังใจ ครูบาอาจารย์คนแรกก็คือพ่อแม่ของเรา และครูบาอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ทางโลกและทางธรรมให้กับเรา อุปัชฌาย์อาจารย์ และผู้คนอืกมากมายที่พบเจอในชีวิตของคนๆ หนึ่ง แม้แต่ต้นไม้ ใบหญ้า ก้อนหิน ดินทรายก็เป็นครูของเราได้ หากทำให้เราเห็นสัจธรรม โดย
    • หน้าที่ของครูอาจารย์ อนุเคราะห์ ศิษย์ ดังนี้ ฝึกฝนแนะนำให้เป็นคนดี สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง ยกย่องให้ปรากฏในหมู่เพื่อน สร้างเครื่องคุ้มกันภัยในสารทิศคือ สอนให้ศิษย์ปฏิบัติได้จริง นำวิชาไปเลี้ยงชีพทำการงานได้
    • ศิษย์พึงบำรุงดูแลครูอาจารย์ ดังนี้ เชื่อฟังคำสอน และน้อมนำไปปฏิบัติ ลุกต้อนรับแสดงความเคารพ เข้าไปหา ใฝ่ใจเรียน ปรนนิบัติ เรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ กตัญญู เล่าเรื่องคุณงามความดีของครูบาอาจารย์และเผยแพร่คุณงามความดีของครูบาอาจารย์ให้ปรากฏ
  • ทิศเบื้องหลัง (ปัจฉิมทิส) ได้แก่ สามีภรรยา(ผู้เป็นคู่ชีวิต) บุตร ผู้เป็นทายาทสืบสายโลหิต ซึ่งบุคคลเหล่านี้เป็นคนสำคัญที่คอยให้การสนับสนุน คอยส่งเสริม และให้กำลังใจอยู่เบื้องหลัง
    • สามีพึงบำรุงภรรยา ดังนี้ ยกย่องสมฐานะภรรยา เชิดชู ไม่ดูหมิ่น ไม่ด่าว่ากล่าว ไม่นอกใจ อย่าให้ภรรยาต้องเป็นทุกข์ จริงใจ ไม่โกหกภรรยา มอบความเป็นใหญ่ในงานบ้านให้ หาเครื่องประดับมาให้เป็นของขวัญ ตามโอกาส
    • ภรรยา อนุเคราะห์ สามี ดังนี้ จัดงานบ้านให้เรียบร้อย สงเคราะห์ญาติมิตรทั้งสองฝ่ายด้วยดี ไม่นอกใจ รักษาสมบัติที่หามาได้ ขยันไม่เกียจคร้านในงานทั้งปวง
  • ทิศเบื้องซ้าย (อุตตรทิส) ได้แก่ มิตรสหาย ทั้งที่เป็นมิตรสหายร่วมทุกข์ร่วมสุขหรือมิตรสหายในการงาน มิตรแท้นั้นหาได้ยากยิ่ง แต่เมื่อมีแล้วต้องดูแลกันประดุจญาติพี่น้อง เป็นผู้คอยช่วยเหลือในยามประสบปัญหาและอุปสรรค คอยช่วยเหลือเกื้อกูล ดึงรั้งมือให้พ้นจากสิ่งเหล่านั้น
    • พึงบำรุง มิตรสหาย ดังนี้ เผื่อแผ่แบ่งปัน พูดจามีน้ำใจ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีตนเสมอร่วมสุขร่วมทุกข์ด้วย ซื่อสัตย์จริงใจต่อกัน มิตรสหายอนุเคราะห์ตอบ ไม่โกหกกัน
    • มิตรสหาย อนุเคราะห์ ตอบ ดังนี้ เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาป้องกัน เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์สมบัติของเพื่อน ในคราวมีภัยเป็นที่พึ่งได้ ไม่ละทิ้งในยามทุกข์ยาก นับถือตลอดถึงวงศ์ญาติของมิตร
  • ทิศเบื้องบน (อุปริมทิส) ได้แก่ พระสงฆ์ สมณพราหมณ์ สามเณร ภิกษุ ภิกษุณี แม่ชี อุบาสก อุบาสิกา หรือผู้ที่รักษาศีลมากกว่า เรา(ฆราวาส) จึงถือเป็นผู้ที่ควรแก่การสักการะให้เหนือกว่าตน
    • คฤหัสถ์พึงบำรุง พระสงฆ์ ดังนี้ จะทำสิ่งใด ก็ทำด้วยเมตตา จะพูดสิ่งใด ก็พูดด้วยเมตตา จะคิดสิ่งใด ก็คิดด้วยเมตตา ต้อนรับด้วยความเต็มใจ อุปถัมภ์ด้วยปัจจัยสี่
    • พระสงฆ์ อนุเคราะห์ คฤหัสถ์ ดังนี้ ห้ามปรามจากความชั่ว ให้ตั้งอยู่ในความดีอนุเคราะห์ด้วยความปรารถนาดี ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง บอกทางสวรรค์ สอนวิธีดำเนินชีวิตให้ประสบความสุขความเจริญ
  • ทิศเบื้องล่าง (เหฏฐิมทิส) ได้แก่ ลูกจ้างกับนายจ้าง ผู้ที่เป็นบริวารที่คอยรับใช้หรือทำกิจให้เรา รวมถึงผู้ใต้บังคับบัญชาของเราด้วยเช่นกัน ดังนั้นบุคคลเหล่านี้ จึงถือว่าเป็นผู้ที่อยู่ด้านล่างภายใต้การปกครองหรือการบังคับบัญชาของเรา
    • นายจ้าง พึงบำรุง ลูกจ้าง ดังนี้ จัดการงานให้ทำตามกำลังความสามารถ ให้ค่าจ้างรางวัล สมควรแก่งานและความเป็นอยู่ จัดสวัสดิการดี มีช่วยรักษาพยาบาลในยามเจ็บไข้ เป็นต้น ได้ของแปลกๆ พิเศษมา ก็แบ่งปันให้ ให้มีวันหยุดและพักผ่อนหย่อนใจ ตามโอกาสอันควร ไม่เอาเปรียบแรงงานลูกจ้าง
    • ลูกจ้าง อนุเคราะห์ นายจ้าง ดังนี้ เริ่มทำงานก่อน เลิกงานทีหลัง เอาแต่ของที่นายให้ ทำการงานให้เรียบร้อยและดียิ่งขึ้น นำความดีของนายไปบอกกล่าวหรือเผยแพร่
ขอขอบคุณภาพจากสถาบันพระวิทยากร วัดสระเกศ
ขอขอบพระคุณภาพจากสถาบันพระวิทยากร วัดสระเกศ

ถามว่า…

หลักการทิศทั้งหกนี้จะช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นอย่างไร เพราะมองดูเหมือนไม่เกี่ยวกัน

แต่เกี่ยวกันอย่างยิ่ง

เพราะหากเราดูแลทิศทั้งหกอย่างดีแล้ว ตั้งแต่คุณแม่คุณพ่อ พี่น้อง วงศ์ตระกูล เพื่อนฝูง ครูบาอาจารย์ พระสงฆ์ ตลอดจน การทำงานระหว่างนายจ้างกันลูกจ้าง เมื่อดูแลกันดี ทุกภาคส่วนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ฟังกัน เวลาบอกกล่าวอะไรก็น้อมรับมาใคร่ครวญก่อนคิดทำอะไรลงไปก็มีวิจารณญาน เชื่อว่า่ การใช้ชีวิตในแต่ละวัน ของแต่ละคนตลอดทั้งวัน จะทำอะไรก็นึกถึงว่า ถ้าทำไปแล้ว พ่อแม่พี่น้องเพื่อนฝูงสังคม เดือดร้อน แล้วตัวเราก็จะเดือดร้อนในที่สุด เราก็จะไม่ทำ แม้แต่จะทิ้งขยะสักชิ้น เราก็จะไม่โยนทิ้ง แต่จะหาถังขยะแล้วทิ้งลงในนั้น ความสะอาดก็เกิดขึ้นบนท้องถนน ใครเดินไปเดินมาก็ไม่เหยียบขยะชิ้นนั้น เพียงการดูแลตัวเองให้ดี ดูแลคนรอบข้างให้ดี ก็เท่ากับดูแลสังคมให้ดี ก็เท่ากับการดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดี รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมโลกด้วยก็จะดี เพราะเรารู้แล้วว่า หากเราทำอะไรที่เป็นโทษต่อสิ่งแวดล้อม โทษนั้นก็จะไม่ไปไหน เมื่อเราทำดีต่อตัวเรา ต่อผู้คนแวดล้อมเรา ความดีนั้นก็จะย้อนกลับมาไม่สิ้นสุดเช่นกัน

เช่นเดียวกับฝนที่ตกลงมาให้เราได้ดื่มกิน และเก็บไว้ใช้ยามจำเป็น เมื่อแดดส่อง น้ำฝนส่วนหนึ่งก็ระเหยกลับไปบนท้องฟ้า ถ้าเราทำให้อากาศเป็นพิษ ฝนนั้น เมื่ออยู่บนท้องฟ้าและตกลงมาใหม่ก็จะเป็นพิษเช่นกัน …

ดูแลใจ ปกป้องโลก ทำได้ ด้วยตัวเรา

รักตัวเรา รักครอบครัวของเรา รักโลกเรา ปกป้องโลก โดยการปกป้องดูแลทิศทั้งหกของเรา

ขอขอบพระคุณภาพจาก สถาบันพระวิทยากร วัดสระเกศ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here