จากคอลัมน์ “ธรรมโอสถ” นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับ ๑๑๙๘ วันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๘

รำลึกวันวาน …มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ฺ (เทอด ญาณวชิโร)

ตอนที่ ๔๓

“บิณฑบาต กับ บทบาทพระพี่เลี้ยง

และ อนุสติจากแม่…”

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

“ทุกก้าวย่างที่เราเดินออกจากกุฏิไปรับบาตร

ก็คือการที่เราได้ทดแทนบุญคุณพ่อแม่

โดยอาศัยผ้ากาสาวพัสตร์ที่ห่มกายเรานี้ “

คำกล่าวของพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น จากนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับ ๑๑๙๘ วันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๘ คอลัมน์ “ธรรมโอสถ” ที่ผู้เขียนได้กราบเรียนสัมภาษณ์ท่าน เกี่ยวกับเรื่องการอานิสงส์ของการใส่บาตรในยามเช้า และผู้เขียนก็นำมาใส่กรอบติดไว้บนโต๊ะทำงานเป็นกำลังใจให้กับตนเอง ตั้งแต่ตอนที่คุณแม่ยังมีชีวิตอยู่

 คุณแม่ก็ชวนให้ผู้เขียนใส่บาตรกันมาเป็นสิบปีแล้ว แต่โดยปกติ คุณแม่ก็ใส่บาตรเป็นประจำตั้งแต่จำความได้ ทำให้ได้ฝึกตัวเองตื่นแต่เช้าๆ ทุกวัน เตรียมอาหารใส่บาตรอย่างตั้งใจ มีความศรัทธายิ่งขึ้นในบวรพระพุทธศาสนา เพราะได้ฝึกฝนตนเองในเรื่องความเสียสละ

ซึ่งท่านอาจารย์เจ้าคุณเป็นแบบอย่างในการเสียสละตนเองทุกอย่างเพื่อพระพุทธศาสนา เพื่อรักษาธรรมมาโดยตลอด ท่านสร้างพระเณรเพื่อสร้างศาสนาทายาทในการช่วยเหลือผู้คนให้พ้นทุกข์ ท่านไม่เคยทำอะไรเพื่อตนเองเลยแม้แต่น้อยตลอดชีวิตของท่าน ทำให้ผู้เขียนน้อมนำชีวิตของท่าน จากการปฏิบัติในชีวิตของท่านมาเป็นครู ท่านคือพ่อแม่ครูอาจารย์ของผู้เขียนที่ทำให้ผู้เขียนขัดเกลาตนอย่างไม่ย่อท้อ เพื่อละกิเลสภายในใจตนให้ได้

ผู้เขียนจึงขอน้อมนำการสอนจากการบำเพ็ญสมณธรรมของท่านมาแบ่งปันกับท่านผู้อ่านอีกครั้งเพื่อเป็นพละ เป็นกำลังใจในการพากเพียรฝึกขัดเกลากิเลสภายในตนกันต่อไปในทุกๆ ขณะจิต โดยเริ่มต้นกันแต่เช้าด้วยการใส่บาตร ดังที่ท่านอธิบายว่า

การใส่บาตร ทางพระพุทธศาสนา คือ การทำบุญ อย่างที่เราเรียกว่าบุญกิริยาวัตถุ ๑๐  ซึ่งเป็นการทำบุญที่ทำได้ง่ายที่สุด เป็นโอกาสให้เราชาวพุทธได้สัมผัสกับชีวิตตอนเช้าๆ ทำให้เบิกบานใจ เพราะกายกับใจสัมพันธ์กัน  เมื่อใจเบิกบาน กายก็เบิกบานไปด้วย

          “นอกจากเรื่องทางใจแล้ว ในเรื่องของร่างกายก็มีส่วนสำคัญดังที่ท่านอธิบายต่อมาว่า ถ้าไปศึกษาเรื่อง โพชฌงค์ ๗ จะเห็นว่า ทั้งหมดนี้ ถ้าจิตใจดี ก็จะเป็นพละกำลัง ทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า เกิดรังสีออร่า (Aura) หรือ แสงสว่างที่ออกมาจากร่างกาย  เปล่งประกายออกมา พลังอันนี้ สามารถขับไล่สิ่งที่เป็นความเมื่อยล้าทางกายได้

          “พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ที่เจริญโพชฌงค์ก็จะทำให้มีอายุยืน ดูง่ายๆ เวลาที่เราเผชิญอะไรซึ่งเป็นความทุกข์ใจ ความลำบากใจ มันจะเกิดความอ่อนเปลี้ย เพราะจิตใจหมดเรี่ยวแรง กายก็หมดเรี่ยวหมดแรงไปด้วย แต่ทุกครั้งที่เรามีพละกำลังขึ้นมา มันมีความหวังอยู่ไกลๆ ว่า เราทำอะไร มีเป้าหมายอะไร แล้วเราจะทำเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้น นี่เป็นพละกำลังที่เกิดขึ้นในใจ มันก็ส่งไปถึงร่างกายให้เราได้ขับเคลื่อนไปด้วย เช่นเดียวกับการใส่บาตรยามเช้าของญาติโยม จะเห็นว่า ถ้าตื่นแต่เช้ามาทำบุญตักบาตร วันนั้นเราจะรู้สึกว่ามีพละกำลังในการทำงานไปตลอดทั้งวันได้ “

          สำหรับพระ การบิณฑบาตก็มีความสำคัญยิ่ง 

          “ในส่วนของอาตมาเอง ได้อะไรจากการบิณฑบาตเยอะมาก  เวลาพระเดินบิณฑบาต ความคิดดีๆ ความรู้สึกดีๆ จะผุดขึ้นตอนเดินบิณฑบาต  นอกจากเป็นกิจของพระแล้ว เรายังได้ทบทวนการทำงาน มีสติไปทุกย่างก้าว สำหรับการเดินเท้าเปล่าก็ต้องแยกเป็นสองส่วน  ถ้าเป็นในกรุงเทพฯ ก็ต้องระวังเหมือนกัน  ขณะที่เท้าเราเหยียบย่างลงไปในพื้นดิน เป็นการสัมผัสความเป็นชีวิตจริงๆ ความเป็นธรรมชาติ ของผืนดิน รู้อ่อน รู้แข็ง รู้เย็นรู้ร้อน  

          “อย่างไรก็ตาม การเดินบิณฑบาตเป็นการเคารพในก้อนข้าว อย่างไม่ประมาท ในการที่ประชาชนมอบให้ด้วยศรัทธา ที่มีความเคารพต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือพระรัตนตรัย พระสงฆ์ก็เคารพก้อนข้าวที่ชาวพุทธใส่ลงไปในบาตร นอกจากแสดงความเป็นวิถีของพระแล้ว ยังแสดงความเคารพต่อก้อนข้าวที่ทุกคนหย่อนลงไป ซึ่งจริงๆ เป็นประเพณีของพระที่สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล

“พระพุทธเจ้าสอนพระว่า อย่าประมาทในการรับก้อนข้าว ของประชาชนที่หย่อนลงไปในบาตร “

ความหมายมีสองส่วน ส่วนหนึ่งคือ สอนให้พระเคารพในศรัทธาของประชาชน ที่ให้ก้อนข้าวนั้น ทำให้ชีวิตของพระได้ดำเนินต่อไป เพื่อประโยชน์สองประการเป็นอย่างน้อย คือ ๑. ประโยชน์ของตัวเอง ให้อัตภาพของตัวเองดำเนินไป เพื่อที่จะบำเพ็ญบารมีธรรมของตัวเอง หรือปฏิบัติธรรมของตัวเอง ๒. เพื่อให้ประโยชน์จากอัตภาพนี้ เป็นประโยชน์แก่มนุษยชาติ  ต่อผู้คน ต่อสังคม”

          นอกจากการบิณฑบาตซึ่งเป็นวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์แล้ว ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ในขณะนั้น ยังได้รับมอบหมายจากเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) พระอุปัชฌาย์ให้เป็นพระพี่เลี้ยงด้วย ซึ่งเป็นงานที่สำคัญมากของพระสงฆ์เช่นเดียวกัน

          “อาตมาเป็นพระพี่เลี้ยง ดูแลพระใหม่มายาวนานร่วม ๒๐ ปี ก็เคยสอนพระที่บิณฑบาตมาตลอดว่า เวลาพระใหม่ที่เพิ่งบวช บางทีเขารู้สึกว่า บิณฑบาตลำบากจัง ห่มจีวรก็ยังหลุดลุ่ย วันไหนก็ตามที่บิณฑบาตแล้วเกิดฝนตก และต้องถือร่ม  ญาติโยมก็ใส่ข้าวปลาอาหาร ในกรุงเทพ เวลาใส่บาตร ก็ต้องมีอาหารคาวหวาน มีน้ำ หลายอย่าง บางทีก็น้ำเป็นขวด  พระบิณฑบาตก็ต้องถือร่มอีก จึงดูพะรุงพะรัง เราก็ต้องสอนพระว่า ให้คิดอย่างนี้นะ เราอุ้มบาตรในระยะเวลาที่จำพรรษา ๓ เดือน เรายังรู้สึกลำบาก แต่บิดา มารดาเรา คือแม่เราอุ้มท้องเรามาร่วม ๑๐ เดือน ท่านประคับประคองเรามากว่าที่เราประคับประคองบาตร เพราะฉะนั้น ทุกก้าวย่าง ที่เราเดินออกจากกุฏิไปรับบาตร ก็คือการที่เราได้ทดแทนบุญคุณพ่อแม่เรา  โดยอาศัยผ้ากาสาวพัสตร์ที่ห่มกายเรานี้ “

          แล้วสำหรับฆราวาสผู้ใส่บาตรเล่า อานิสงส์ก็ไม่น้อยเลย ยิ่งลุกขึ้นมาหุงข้าวทำกับข้างด้วยตนเองแต่เช้ามืดแล้ว ก็จะเป็นการเจริญสติภาวนาไปในตัวเลยทีเดียว ดังที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณในขณะนั้นเรียกว่า เป็นการตื่นตัว หรือ active ส่วนทางธรรมเรียกว่า ตื่นรู้ คือเราจะมีสติมากขึ้น

          เข้าใจเลยว่า ทำไมพระพุทธเจ้าให้ความสำคัญการการบิณฑบาตของพระ การเป็นพระพี่เลี้ยงและการใส่บาตรของฆราวาสมากมหาศาล เพราะเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเสียสละตั้งแต่สิ่งของภายนอกไปจนถึงการเสียสละชีวิตเพื่อรักษาธรรมในที่สุด

กราบ กราบ กราบ นมัสการท่านพระอาจารย์ด้วยเศียรเกล้า ด้วยความเคารพบูชาอย่างสูงสุด

โศลก บุ่งสระพง

พระราชกิจจาภรณ์  : ประพันธ์

              อีกเช้าหนึ่งของบ้านปากน้ำ “บุ่งสระพัง”

              ลมหายใจไม่เคยเปลี่ยน

              ข้าวเหนียวแต่ละก้อน ตกถึงก้นบาตร 

              หอมกลิ่นดิน ตอเฟืองแห้ง อบหมอกเช้า

              ร้อยวัน เดือน ปี ผ่าน

              ร้อยฤดูกาล หมุนเวียน

              ร้อยชีวิตเกิดดับ

              ถนนสายนี้ ยังมีลมหายใจ

              จากไถฮุด หว่านกล้า แล้วดำนา

              หมดฝน หนาวมา รวงข้าวแก่

              เก็บเกี่ยว ฟาดข้าว สู่เล้า

              จนขึ้นหวดบนเตานึ่ง

              ทุกลมหายใจจดจ่อรอเสียงตอกโปง

              รับอาทิตย์เช้า

              แววตาของผู้เฒ่ายังอบอุ่น

              ศรัทธาไม่เคยเจือจาง

              เหมือนก้อนข้าวเหนียว

              ตกถึงก้นบาตร เช้านี้

              และ เช้าต่อๆ ไป ฯ

              บ้านปากน้ำ “บุ่งสระพัง” อุบลราชธานี

              ๒๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๘

 บันทึกธรรม "สัมมาสมาธิ" ตอนที่ ๙ "ความเป็นผู้ฉลาดในการเข้าสู่สมาธิสูงขึ้นไปตามลำดับ"  โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)  ภาพประกอบโดย หมอนไม้
บันทึกธรรม “สัมมาสมาธิ” ตอนที่ ๙
“ความเป็นผู้ฉลาดในการเข้าสู่สมาธิสูงขึ้นไปตามลำดับ”
โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ภาพประกอบโดย หมอนไม้

๙.ความเป็นผู้ฉลาดในการเข้าสู่สมาธิสูงขึ้นไปตามลำดับ

บันทึกธรรม “สัมมาสมาธิ” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

        หลังจากการฝึกสมาธิจนมีจิตตั้งมั่นแล้ว “ความเป็นผู้ฉลาดในการเข้าสู่สมาธิสูงขึ้นไปตามลำดับ” เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเมื่อฝึกสมาธิจนชำนาญ การเข้าสู่สมาธิในขั้นสูงขึ้นไปสามารถนำมาใช้ในเวลาวิกฤติได้ทุกขณะของชีวิตและเพื่อทำลายกิเลสที่ละเอียดลงไปอีก ในบันทึกธรรม “สัมมาสมาธิ” โดยพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น อธิบายในตอนแรกของบทนี้ไว้ว่า

ต้องเป็นผู้ฉลาดในการเข้าสมาธิสูงขึ้นไปตามลำดับ และการเข้าสมาธิสูงขึ้นไปตามลำดับ จะทำให้เกิดความชำนาญในการนำจิตเข้าสู่พื้นที่ปลอดภัยในยามเมื่อจิตต้องการเพิ่มพลังงานในการเจาะทะลุทะลวงความคิดบางอย่างที่มีรากราคะ โทสะ โมหะกล้า คือ อารมณ์บางอย่างที่เกิดขึ้น มีความละเอียด และมีความยึดมั่นถือมั่นที่เหนียวแน่น

อารมณ์บางอย่างที่มีความยึดมั่นถือมั่นเหนียวแน่น เพราะมีรากมาจากราคะ บางอย่าง มีรากมาจากโทสะ มาจากปฏิฆะความขัดเคืองใจ ความไม่พอใจ ความหงุดหงิด ไม่ได้ดั่งใจ  บางอย่างมีรากมาจากโมหะ ก่อตัวขึ้นมาอย่างรุนแรงและหนักหน่วง ถ้าขืนสู้ก็อาจจะแตกหัก หรือพ่ายแพ้ ก็หลบเข้าสู่พื้นที่ปลอดภัยในสมาธิที่ลึก

การฝึกสมาธิที่สูงขึ้นไปจึงเป็นการสร้างพื้นที่หลบภัยให้กับจิต เหมือนการทอดสมอในยามแล่นเรือไปแล้วเจอพายุใหญ่ต้องทอดสมอยึดเรือไว้ ป้องกันไม่ให้เรือถูกพายุซัดไป ในยามกระทบอารมณ์ที่หนักก็เข้าพักในสมาธิที่ลึกเหมือนไปหลบตั้งหลักในที่ปลอดภัย

        (โปรดติดตามตอนต่อไปวันอังคารหน้า)

รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (ตอนที่ ๔๓)

บิณฑบาต กับ บทบาทพระพี่เลี้ยง และ อนุสติจากแม่

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

จากคอลัมน์ มโนปณิธาน (หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๒)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here