บันทึกวันแห่งประวัติศาสตร์ วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๖๗
พระภาวนาวัชราจารย์ (เฮนนิ่ง เกวลี) เจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย พระครูปิยจันทคุณ (ชาลี ปิยธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดป่าจันทราวาส อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี และ พระครูวชิรธรรมวงศ์ (แสวง วํสธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดป่านาแก อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร เข้ากราบถวายมุทิตาสักการะ พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) เนื่องในโอกาสดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ทั้งนี้ ยังได้กราบนิมนต์ร่วมงานวันอาจริยบูชารำลึกถึงพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) ที่จัดขึ้นเป็นประจำกลางเดือนมกราคมของทุกปี
พระภาวนาวัชราจารย์ หรือ พระอาจารย์เกวลี เป็นพระภิกษุชาวเยอรมัน ผู้มีความเคารพนับถือในพระพรหมสิทธิมาก ด้วยพระอาจารย์เกวลีเป็นผู้ศึกษาปฏิบัติในสายธรรมของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี และมีพระราชภาวนาวิกรม (เลี่ยม ฐิตธมฺโม) เป็นพระอุปัชฌาย์ จึงมีความคุ้นเคยจากรุ่นสู่รุ่นมาช้านาน
เพราะสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) และพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)เป็นสหธรรมิกกัน โดยก่อนที่พระอาจารย์ชาจะอาพาธได้ฝากคณะสงฆ์วัดหนองป่าพง โดยเฉพาะพระภิกษุชาวต่างชาติ ให้ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ช่วยดูแล คณะสงฆ์วัดสระเกศและคณะสงฆ์วัดหนองป่าพง จึงถือเป็นศิษย์ในครูบาอาจารย์เดียวกัน มีปฏิปทาต่อกันด้วยความเคารพ แสดงต่อกันด้วยน้ำใจไมตรี ดูแลกันและกันไม่แยกว่าเป็นวัดป่าหรือวัดบ้าน
และคณะสงฆ์ศิษยานุศิษย์ หลวงปู่ชา สุภัทโท ณ อนุสรณ์สถานชาตภูมิหลวงพ่อชา สุภัทโท ที่บ้านเกิด จ.อุบลราชธานี
การถวายมุทิตาในครั้งนี้ พระอาจารย์เกวลียังได้ปรารภถึงเมตตาเมื่อครั้งที่พระพรหมสิทธิดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค ๑๐ ได้ให้คำแนะนำการปฏิบัติต่อครูบาอาจารย์ การปกครองวัดตามแนวสายวัดป่ากับวัดบ้าน และการสนับสนุนพระภิกษุชาวต่างชาติให้สามารถอยู่ปฏิบัติธรรมในประเทศไทยได้โดยไม่มีอุปสรรคขัดข้อง
เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ พระวิเทศพุทธิคุณ (พระอาจารย์อมโร)
และ พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ ) : ภาพในอดีต
กราบขอบพระคุณ ภาพจากสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัติย์ วัดสระเกศฯ
ปัจจุบัน สมณศักดิ์ที่ พระภาวนาวัชราจารย์ เจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ จังหวัดอุบลราชธานี
ที่สำคัญ คือ พระพรหมสิทธิส่งเสริมให้พระอาจารย์เกวลีได้เป็นพระอุปัชฌาย์ เพื่อความสะดวกในการจัดอุปสมบทแก่กุลบุตรชาวต่างชาติ ที่วัดป่านานาชาติ ซึ่งพระอาจารย์เกวลีนับเป็นพระภิกษุชาวต่างชาติรูปแรกที่เข้าอบรมและผ่านการสอบความรู้ได้เป็นอุปัชฌาย์ตามแบบพระอุปัชฌาย์ของสงฆ์ไทยทุกประการ
: สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)
จากต้นเรื่องโดยท่านเจ้าคุณอาจารย์พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในครั้งนั้น
เล่าเรื่องนี้ให้ฟัง จากหนังสือเล่มนี้…
ธรรมะปรารภยามเช้า-ค่ำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)
“ก่อนที่พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท) จะอาพาธ ท่านได้ฝากให้ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร ) ช่วยดูแลวัดหนองป่าพงด้วย โดยเฉพาะลูกศิษย์ที่เป็นฝรั่ง ท่านเกรงว่า พระฝรั่ง จะอยู่ในเมืองไทยลำบาก อันเกี่ยวกับข้อกฎหมาย และความไม่เข้าใจของฝ่ายปกครอง
“ความผูกพันที่ก่อตัวขึ้นจากวัยหนุ่มสู่วัยชรา หาได้แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แม้เจ้าประคุณสมเด็จฯจะได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นสมเด็จ จนเมื่อหลวงพ่อชาละสังขารไปแล้ว แต่ความผูกพันก็หาได้ลดน้อยเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ยังคงถูกถักทอผ่านคำบอกเล่า ระหว่างลูกศิษย์ของทั้งสองฝ่ายรุ่นแล้วรุ่นเล่า
“ลูกศิษย์ที่อยู่ในสาขาต่างๆ ของหลวงปู่ชา หรือแม้แต่ลูกศิษย์ในสาขาต่างประเทศ หากผ่านมากรุงเทพฯ ก็จะมาแวะกราบคาราวะเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ เสมือนครั้งเมื่อหลวงพ่อชายังมีชีวิตอยู่ หากวันไหนตรงกับวันพระอุโบสถ ก็จะร่วมลงสังฆกรรม ฟังสวดพระปาฏิโมกข์ ร่วมกับพระสงฆ์ ในพระอารามด้วยทุกครั้ง แม้เจ้าประคุณสมเด็จฯ หากผ่านไปทางวารินทร์ ก็จะแวะไปที่วัดหนองป่าพงเสมอ บางครั้งหากลูกศิษย์วัดสระเกศ มีความประสงค์จะปฏิบัติพระกรรมฐานเจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็จะส่งให้ไปอยู่วัดหนองป่าพงเช่นกัน …”
และ พระพรหมสิทธิ เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ในครั้งนั้น
นำมาสู่ ความงดงามของสายสัมพันธ์ทางธรรม ที่ยังดำรงคงอยู่ในปัจจุบัน
จากเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๐ คณะศิษย์พระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) จากหลากหลายประเทศ เดินทางมาสักการะรูปเหมือนเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร ) และเข้ากราบคารวะ พระพรหมสิทธิ เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร นำโดย พระวิเทศพุทธิคุณ (พระอาจารย์อมโร) เจ้าอาวาสวัดอมราวดี ประเทศอังกฤษ พระครูอุบลภาวนาวิเทศ (พระอาจารย์เกวลี ) ปัจจุบันสมณศักดิ์ที่ พระภาวนาวัชราจารย์ เจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ จังหวัดอุบลราชธานี พระอามิต อุปสโม (วัดป่านานาชาติ) พระแกรม รุจิโร (วัดอัมราวดี) และ พระแฟร์นันโด รฏฺฐปาโล (วัดป่านานาชาติ)
และคณะสงฆ์จากวัดหนองป่าพง ถวายสักการะ พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ)
ภาพในอดีต
กราบขอบพระคุณภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม
และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา และพระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ
ซึ่งจริง ๆ แล้ว วัตรปฏิบัติของคณะสงฆ์จากวัดหนองป่าพงและครูบาอาจารย์วัดสระเกศ มิได้เพิ่งเริ่มต้นขึ้นในปีนี้ หากสืบเนื่องมาตั้งแต่สายสัมพันธ์ของอาจารย์กับศิษย์ นับเนื่องตั้งแต่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ กับ พระราชสุเมธาจารย์ (หลวงพ่อสุเมโธ) ตั้งแต่ ปี พุทธศักราช ๒๕๐๙ เป็นต้นมา
ดังที่ หลวงพ่อสุเมโธกล่าวไว้ว่า
” พ.ศ.๒๕๐๙ เป็นปีแรกที่อาตมาได้มาเมืองไทย ก็ได้พบ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ในปีนั้น ขณะที่ท่านกำลังจะไปเวียงจันทร์ อาตมายังเป็นฆราวาสอยู่ และเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรุงเทพฯ ตั้งใจจะบวชเป็นพระ
“หลังจากบวชเป็นพระที่วัดศรีสะเกษ จ.หนองคายแล้ว ท่านเจ้าคุณพระธรรมปริยัติมุนี พระอุปัชฌาย์ก็ส่งไปอยู่กับหลวงพ่อชา ที่จังหวัดอุบลราชธานี จากนั้น พระอุปัชฌาย์อาตมาก็พามาพบท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ที่วัดสระเกศ ตอนนั้นท่านสมณศักดิ์ที่พระพรหมคุณาภรณ์ ท่านบอกว่า เวลาเวลาที่มีกิจมากรุงเทพฯ ก็ให้มาพักที่วัดสระเกศได้ ซึ่งตอนนั้นได้มาพักที่วัดสระเกศหลายสัปดาห์ ทำเรื่องวีซ่า ธุระหลายอย่าง หลังจากนั้นก็เวลามากรุงเทพฯ ก็มาพักที่วัดสระเกศเป็นประจำ”
“เวลามาพัก เจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ ชอบชวนสนทนาเรื่องการปฏิบัติ ท่านอยากรู้ว่า เราปฏิบัติอย่างไร แล้วท่านก็นิยมชมชอบหลวงพ่อชามาก ท่านอยากจะช่วยหลวงพ่อชาตามกำลังความสามารถของท่าน เพื่อให้คำสอนของหลวงพ่อชาเผยแผ่ไปให้ประชาชนชาวไทยได้”
“เวลาหลวงพ่อชาส่งอาตมาไปอยู่ประเทศอังกฤษ เจ้าประคุณสมเด็จก็ช่วยเป็นธุระให้เราเป็นพระอุปัชฌาย์ได้ เพื่อเกื้อกูลให้ชาวต่างประเทศได้บวชเรียน หลังจากที่หลวงพ่อชาอาพาธเป็นอัมพาตถึง 10 ปี จนมรณภาพ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ช่วยพระในวัดหนองป่าพงมาก ท่านเป็นห่วงพระเวลาอาพาธ ท่านจึงรับเป็นเจ้าคณะภาค ๑๐ เพื่อช่วยพระในวัดหนองป่าพงด้วย อาตมาอยู่ประเทศอังกฤษก็พยายามกลับมาทุกปีเหมือนเดิน เวลากลับมาก็ได้มากราบสมเด็จพระพุฒาจารย์ก่อน และพักที่วัดสระเกศ ”
จากนั้นเป็นต้นมา คณะศิษย์สายวัดหนองป่าพงจึงถือเป็นวัตรปฏิบัติต่อพ่อแม่ครูอาจารย์ที่วัดสระเกศ เช่นเดียวกับพ่อแม่ครูอาจารย์ที่วัดหนองป่าพง จนถึงทุกวันนี้
ทุกปีคณะศิษย์จากวัดหนองป่าพงทั่วโลกที่เดินทางกลับมาร่วมงานอาจาริยบูชา หลวงปู่ชา ก็จะเดินทางมาพักที่วัดสระเกศ โดยยังคงรักษาวัตรปฏิบัติปกติ อาทิ บิณฑบาต และลงปาติโมกข์กับคณะสงฆ์ที่วัดสระเกศทุกครั้ง
จึงไม่น่าแปลกใจที่วัดอมราวดี ในประเทศอังกฤษ ได้หล่อรูปเหมือนเจ้าประคุณสมเด็จฯ ไว้สักการะบูชาด้วยความกตัญญูเช่นกัน
เข้ากราบคารวะรูปเหมือนเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร ) วัดสระเกศฯ
เจ้าประคุณสมเด็จฯ แสดงธรรมไว้ใน “ธรรมะปรารภยามเช้า-ค่ำ “ ตอนหนึ่งว่า
“…อย่าให้กิเลสทำลายความเป็นพี่น้อง
ขอโอกาสย้ำว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญทางพระพุทธศาสนา
ถ้าปฏิบัติได้อย่างนี้ พระพุทธศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเป็นประโยชน์แก่โลกอย่างยาวนาน
แต่ถ้าเรามีความรู้สึกแยกจากกันเมื่อไร พระพุทธศาสนาจะมั่นคงอยู่ได้แค่ไหน เพียงไรนั้น เราก็ไม่สามารถจะคาดเดาได้
ถ้าเรายังปฏิบัติกันในลักษณะอย่างเป็นพี่น้องกัน เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูกกัน เราก็จะสามารถรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้ “
ดังเช่นสายธารธรรม จากวัดหนองป่าพง ถึงวัดสระเกศ จาก หลวงพ่อสมเด็จฯ ถึงหลวงปู่ชา สืบเนื่องมาจนถึง หลวงพ่อสุเมโธ หลวงพ่ออมโร พระอาจารย์ปสันโน พระอาจารย์ชยสาโร และอีกหลายๆ ท่าน มาจนถึงพระอาจารย์เกวลิน และศิษย์รุ่นต่อๆ มาอย่างไม่ขาดสาย
ดังในวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี หลวงปู่ชา สุภัทโท ก็ได้มีดำริสร้างกุฏิหลวงพ่อสมเด็จฯ วัดสระเกศฯ ไว้ด้วย
เป็นวัตรปฏิบัติของครูบาอาจารย์ที่เป็นแบบอย่าง จากพี่ถึงน้อง ที่ผูกพันกับอย่างเป็นหนึ่งเดียว ไม่เพียงสองวัดนี้เท่านั้น หากหมายถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคณะสงฆ์ทั้งสังฆมณฑลด้วย
ช่องทางติดตามข่าวสารและกิจกรรมของ วัดสระเกศ ราชวรมหารวิหาร กรุงเทพฯ https://www.facebook.com/watsraket/ และ Official line (ไลน์วัดสระเกศ)