กาลครั้งหนึ่ง ณ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ

เมื่อเณรแกละสงสัยว่า “บนภูเขาทองมีอะไร”

จึงชวนเณรจุกไปถามหลวงพี่ในวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

หลวงพี่จึงเริ่มต้นเล่าเรื่อง “ปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุ ณ บรมบรรพต (ภูเขาทอง) วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ” ให้ฟัง

ครั้งหนึ่งในประเทศอินเดีย

มิสเตอร์ วิลเลียม แคลกซ์ตัน เปปเป ขุดพบพระบรมสารีริกธาตุ โดยไม่รู้ว่า นี้คือ พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า หลังจากค่ำคืนหนึ่งที่แสงสว่างจากพระบรมสารีริกธาตุ ส่งประกายไปถึงหน้าต่างที่พักของเขา …

ในหนังสือ “๑๑๒ ปี แห่งการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จากกรุงกบิลพัสดุ์ สู่สยามประเทศ” จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ เล่าไว้ตอนหนึ่งว่า

จดหมายเหตุรับพระบรมสารีริกธาตุ ร.ศ.๑๑๖  ในหนังสือ "๑๑๒ ปี แห่งการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จากกรุงกบิลพัสดุ์ สู่สยามประเทศ" จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
จดหมายเหตุรับพระบรมสารีริกธาตุ ร.ศ.๑๑๖ ในหนังสือ “๑๑๒ ปี แห่งการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จากกรุงกบิลพัสดุ์ สู่สยามประเทศ” จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

ในพ.ศ.๒๔๓๙ รศ.๑๑๕ มิสเตอร์ วิลเลียม แคลกซ์ตัน เปปเป ชาวอังกฤษ ซึ่งมีถิ่นพำนักอยู่ในประเทศอินเดีย ได้ขุดค้นซากปรักหักพังของสถูปโบราณซึ่งจมอยู่ภายใต้เนินดินที่ตำบลปิปราห์วะ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองบัสติ อันเป็นที่ตั้งกรุงกบิลพัสดุ์ สมัยพุทธกาล ซึ่งบริเวณสถานที่ดังกล่าวอยู่ในการดูแลของตน โดยในครั้งแรกได้ขุดหลุมกว้าง ๑๐ ฟุต และลึก ๘ ฟุต (กว้างราว ๖ ศอก ลึกราว ๕ ศอก จนกระทั่งทะลุถึงถ้ำ ซึ่งก่อด้วยอิฐ จึงเกิดความมั่นใจว่า เนินดินนี้จะต้องเป็นสถูปในพระพุทธศาสนาอย่างแน่นอน จึงหยุดการขุดสำรวจไว้ก่อน และได้ขอคำปรึกษาไปยังนักโบราณคดี

ในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๓๙ ร.ศ.๑๑๕ มิสเตอร์ วินเซนต์ สมิท ได้เข้ามาตรวจสอบสถูปดังกล่าวอีกครั้ง ได้แนะนำมิสเตอร์เปปเปว่า พระสถูปทางพระพุทธศาสนาแห่งนี้น่าจะเป็นพระสถูปโบราณที่มีความสำคัญยิ่ง และหากมีสิ่งใดบรรจุไว้ในพระสถูปนี้ คงจะอยู่ในช่องตรงกลางลึกต่ำลงไปเสมอพื้นดิน จากคำแนะนำดังกล่าว จึงเป็นแรงจูงใจให้มิสเตอร์เปปเป ทำการขุดสำรวจสถูปโบราณนั้นต่อไป

วันที่ ๒๐ เดือนมกราคม พ.ศ.๒๔๔๐ (ร.ศ.๑๑๖) เมื่อมิสเตอร์ เปปเป ขุดรื้อสำรวจพบพระสถูปโบราณจากตรงกลางยอดลึกลงไป ๑๐ ฟุต ได้พบท่อกลมก่อด้วยอิฐปากกว้างราว ๒ คืบ จึงขุดตามท่อกลมนั้นลงไปได้พบหีบศิลาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ทำจากหินทราย ๑ หีบ ภายในหีบศิลามีผอบศิลา ๓ ผอบ กับหม้อแก้ว ๑ หม้อ เต็มไปด้วยข้าวของ เงิน ทอง เพชร พลอย และเครื่องประดับต่างๆ มากมาย เช่น รูปเครื่องหมายพระรัตนตรัย ใบไม้ และนก นอกจากนั้น ยังมีแผ่นทองคำตีตราเป็นสัญลักษณ์ต่างๆ ด้วย

แต่สิ่งที่ทำให้มิสเตอร์เปปเปเกิดความตื่นเต้นมากที่สุด คือ ภายในหีบศิลาหินทรายมีผอบบรรจุอัฐิธาตุ ประมาณสักฟายมือหนึ่ง (one handful) และที่ผอบใบที่บรรจุอัฐิธาตุนั้น มีข้อความจารึก ด้วยอักษรพราหมมีโบราณ เป็นภาษาที่ใช้มาก่อนพุทธกาล

จากการตรวจสอบจารึกพบว่า เป็นอักษรโบราณมีอายุมากกว่า ๓๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช คือ เป็นภาษาที่จารึกมาแล้วประมาณ ๒,๑๙๘ ปี ก่อนการขุดพบ ซึ่งเก่ากว่าภาษาที่ใช้จารึกเสาอโศก ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ที่เคยขุดพบมาแล้ว นักภาษาศาสตร์เชื่อว่า น่าจะเป็นภาษาที่ใช้ในสมัยที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ หรือหลังจากนั้นก็ไม่น่าจะเกินพุทธศตวรรษที่ ๒-๔ ข้อความจารึกที่ผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุแปลได้ความว่า

“ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้านี้ เป็นของตระกูลศากยราช ผู้มีเกียรติงาม กับพระภาตา พร้อมทั้งพระภคินี พระโอรส และพระชายา สร้างขึ้นอุทิศถวายไว้”

จากจารึกและข้อสรุปของนักภาษาศาสตร์นั้น ทำให้มิสเตอร์เปปเปมั่นใจได้ว่า อัฐิธาตุที่บรรจุอยู่ภายในผอบนี้ เป็นพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็น ๑ ใน ๘ ส่วนที่เจ้าศากยะได้รับไปในคราวแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ หลังการถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน

มิสเตอร์เปปเปจึงมีหนังสือแจ้งไปยังเจ้าพนักงานภาษี เมืองบัสติ เจ้าพนักงานได้ส่งสำเนาหนังสือของมิสเตอร์เปปเปต่อไปยังดอกเตอร์วิลเลียม โฮย ข้าหลวงแขวงเมืองโครักขปุระ ดอกเตอร์โฮยได้ยื่นเรื่องต่อไปยังสมุหเลขานุการ รัฐบาลหัวเมืองอินเดียตะวันตกเฉียงเหนือและเมืองโอธ แจ้งว่า มิสเตอร์เปปเปได้ขุดสำรวจสถูปโบราณพบโบราณวัตถุและสิ่งของที่้ล้ำค่า มีความยินดีจะยกให้พิพิธภัณฑ์อินเดีย และมอบให้รัฐบาลเป็นผู้จัดการตามเห็นสมควร โดยตนขอเก็บสิ่งของบางอย่างเป็นที่ระลึก

ข่าวคราวที่มิสเตอร์เปปเปขุดค้นพบุพระบรมสารีริกธาตุได้รับการตีพิมพ์ทางหน้าหนังสือพิมพ์และได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง

ในการนี้ ดอกเตอร์โฮย ได้เขียนบทความเกี่ยวกับการขุดค้นพบพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมทั้งคำอ่าน และคำแปลอักษรโบราณซึ่งจารึกที่ผอบ ลงในหนังสือพิมพ์ชื่อว่า ไพโอเนีย ฉบับวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ร.ศ.๑๑๖ โดยระบุว่า เป็นการค้นพบครั้งประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งของโลก

ต่อมา นายมารควิส เคอร์ชัน ผู้ดำรงตำแหน่งอุปราชครองประเทศอินเดีย ซึ่งเคยเข้ามารับราชการอยู่ในกรุงเทพฯ และมีความคุ้นเคยกับรัชกาลที่ ๕ มาก่อน เห็นว่า พระบรมสารีริกธาตุนั้นเป็นสมบัติของชาวพุทธ และนายมารควิส เคอร์ชันเห็นว่า


พระมหากษัตริย์ที่ทรงนับถือพระพุทธศาสนาสมัยนั้น ก็มีแต่พระเจ้ากรุงสยามเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น

รัฐบาลอินเดียจึงมีความประสงค์ที่จะทูลเกล้าฯ ถวายพระบรมสารีริกธาตุแด่รัชกาลที่ ๕ พร้อมให้ฝ่ายไทยส่งผู้แทนเป็นคณะราชทูตไปรับ และขอให้รัชกาลที่ ๕ แบ่งพระบรมสารีริกธาตุแก่ประเทศต่างๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกัน

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ขณะทรงผนวชที่ศรีลังกาได้เป็นผู้ประสานงานในการรับพระบรมสารีริกธาตุ ระหว่างรัฐบาลอินเดียกับสยาม

วันนี้ วันอาทิตย์ที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ย้อนกลับไปเมื่อ ๑๒๒ ปีก่อน วันนั้น พระบรมสารีริกธาตุ จากประเทศอินเดีย ได้อัญเชิญมาถึงประเทศไทยแล้วตั้งแต่วันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๔๑ (ร.ศ.๑๑๗) โดยคณะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุถึงเมืองสมุทรปราการ ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้นำพระบรมสารีริกธาตุ ไปประดิษฐานในพระวิหาร เกาะพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ทำการเฉลิมฉลองเป็นเวลาถึง ๓ วันสามคืน แล้วจัดขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุเดินทางมาถึงกรุงเทพมหานคร

ระหว่างการเดินทางอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุออกจากประเทศอินเดียในครั้งนั้น มีโรคระบาดเกิดขึ้น อีกทั้งระหว่างการเดินเรือก็พบกับพายุลูกใหญ่ แต่ก็ผ่านพ้นมาได้ด้วยปาฏิหาริย์แห่งพระบรมสารีริกธาตุ และเมื่อคณะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุเดินทางมาถึงเกาะหมาก จึงไม่ได้ขึ้นฝั่งที่เกาะหมาก จึงได้มีการย้ายเรือแล้วมาขึ้นฝั่งที่จังหวัดตรังแทน ในครั้งนั้น พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ราชทูตไทยซึ่งเป็นผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะไปอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุในครั้งนั้น ได้พบกับปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุถึงสองสามครั้ง

ดังที่ท่านกล่าวกับลูกเรือในระหว่างพายุโหมกระหน่ำว่า “อย่าหมดหวัง”


จากนั้นท่านทำอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป

อีกทั้งในสมัยนั้น ไม่ทราบบริบทว่า ในประเทศอินเดีย เกิดโรคระบาดอะไร แต่คณะที่ไปอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาสยามประเทศก็ปลอดภัยกันทุกคน

จึงขออาราธนา “รัตนสูตร” พระสูตรขจัดภัยภิบัติ ๓ ประการ ณ เมืองไพศาลี อาณาจักรวัชชี มาเป็นธรรมบรรณาการ ในช่วงเวลานี้ที่เกิดโรคระบาดเช่นกัน จาก บทความเรื่อง “เมื่อเกิดโรคระบาดในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงทำอย่างไร…กำเนิดพระพุทธมนต์ และ “รัตนสูตร” พระสูตรขจัดภัยพิบัติ จากหนังสือ “พุทธานุภาพ” อานุภาพของพระพุทธองค์ โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) https://www.manasikul.com/%e0%b9%80%e0%b8%a1%e0%b8%b7%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b9%80%e0%b8%81%e0%b8%b4%e0%b8%94%e0%b9%82%e0%b8%a3%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%9a%e0%b8%b2%e0%b8%94%e0%b9%83%e0%b8%99%e0%b8%aa%e0%b8%a1%e0%b8%b1/

และชวนชมภาพยนตร์การ์ตูนอิงประวัติศาสตร์ ถ่ายทอดความเป็นมาของ พระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งได้อัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พร้อมทั้งประวัติ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร จุดเริ่มต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยผ่านตัวการ์ตูน สอดแทรกสาระ ความรู้ ความสนุกสนาน และสัมผัสกับ ปาฏิหาริย์ ของพระบรมสารีริกธาตุ ที่ประดิษฐาน ณ บรมบรรพต (ภูเขาทอง) จนเป็นที่น่าอัศจรรย์ใจแก่ผู้พบเห็น และเป็นที่เคารพสักการะ ของปวงชนชาวไทย และชาวพุทธทั่วโลก เรื่อง “ปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุ ณ บรมบรรพต (ภูเขาทอง) วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

โปรดติดตาม “๑๒๒ ปี แห่งการเดินทางของพระบรมสารีริกธาตุจากกรุงกบิลพัสดุ์ สู่สยามประเทศ จากภาพยนต์การ์ตูนอิงประวัติศาสตร์ เรื่อง “ปาฏิหาริย์ พระบรมสารีริกธาตุ ณ บรมบรรพต (ภูเขาทอง) วัดสระเกศ” ตอนต่อไป “พลังแห่งพุทธานุภาพ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here