เมื่อถูกผีสิงจะทำอย่างไร โดย สุภัฏ สิกขชาติ

.     อาจมีบางช่วงที่เรารู้สึกว่า เหมือนสูญเสียการควบคุมทุกสิ่ง  แม้แต่ตัวตนที่เคยมั่นใจก็พังทลายกลายเป็นคนแปลกหน้า…ไม่เข้าใจว่า มันเกิดขึ้นได้อย่างไร

.     สำหรับบางคนอาจเกิดแค่ช่วงสั้นๆ แล้วก็ผ่านฝันร้ายนี้ไปได้  แถมบางคนยังใช้มันเป็นแรงขับถือเป็นโอกาสเปลี่ยนชีวิตครั้งใหญ่

.     แต่กับบางคน ฝันร้ายไม่หายไปไหน  ทำให้รู้สึกจิตตก ดิ่งเหว เจ็บปวด ล้มเหลว ทุกข์ใจแบบไร้เหตุผล…ไม่อยากเผชิญชีวิตอีกต่อไป

.     ผมนึกถึงเหตุการณ์ร่วม 30 ปีก่อน  ที่ญาติผู้น้องที่เพิ่งถูกบรรจุเข้าทำงานใหม่  จะถูกส่งไปอบรมที่อินเดียสองสัปดาห์  ตั้งแต่รู้คำสั่งเขากลายเป็นอีกคน  ดูประสาทเสีย สับสน จนเปรยกับที่บ้านว่า  จะลาออกจากงานนี้ ที่เพิ่งได้เข้าไปทำไม่ถึงเดือน   เขาเป็นคนพูดน้อยกับคนในครอบครัว  เมื่อตะล่อมถามจึงรู้เหตุผลว่ามาจากความ “กลัว” การใช้ภาษา  เด็กวิดวะจบใหม่  ขาดความมั่นใจอย่างแรงในภาษาอังกฤษ

.     เรื่องนี้ทำให้กลับมานึกถึงตัวเองสมัยที่เริ่มทำงานใหม่ๆ เมื่อผ่านสัมภาษณ์จากหัวหน้าแผนกและบอกว่าให้เข้ามาทำงานในวันมะรืนได้เลย  เช้าทำงานวันแรกผมพบตัวเองว่า  กำลังอยู่ในบริษัทข้ามชาติ  ที่เอกสารทุกอย่างล้วนแต่เป็น..ภาษาอังกฤษ   ครึ่งวันแรกหมดไปกับการเขียนใบสมัครอย่างเป็นทางการให้ฝ่ายบุคคล  การกรอกเอกสารต่างๆ ทำเอาผมใจหล่นตุ๊บ  อยากตัวลีบหายกลับบ้านไปเอาดิ๊กชันนารี (สมัยนั้นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลยังไม่คลอด  โทรศัพท์มือถือเกินจินตนาการฝันถึง ) มาแปลคำที่อ่านไม่ออก ไม่เข้าใจความหมาย

.     ตอนนั้น เหมือนขี้มันขึ้นสมอง เฝ้าเพียรถามตัวเองว่า จะหลอกตัวเอง หลอกคนอื่น นั่งพยักหน้าหงึกหงัก พูดแต่เยสๆ โนๆ ในที่ประชุมไปได้นานแค่ไหน  จะต้องพึ่งปาก พึ่งคำแปลจากคนอื่น และเฝ้าแต่ภาวนาให้การประชุมครั้งต่อๆ ไป มีคนเก่งภาษาที่ใจดีมานั่งใกล้ๆ ทุกครั้งไปล่ะหรือ

.     ผมเล่าประสบการณ์ความรู้สึกนี้ให้ญาติผู้น้องฟัง และบอกเขาว่า  แม้จะผ่านมาเกือบ 3 ปีแล้ว(ตอนนั้น) ภาษาอังกฤษผมก็ยังไม่กระเตื้องขึ้นสักเท่าไหร่  ทุกวันที่ไปทำงาน ผมก็ยังกลัว แต่ผมก็ยังทำงานอยู่ได้และในสามปีนั้น ผมยังได้ปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้นจากตอนแรกเข้ามากถึงเกือบ 5 เท่าตัว

.     จำไม่ได้ว่าได้หว่านล้อมให้เหตุผลอะไรหรือไม่  เพียงแต่บอกเขาว่า โคตรเข้าใจเลยล่ะ และแนะนำว่าลองใช้โอกาสนี้ในการเผชิญหน้ากับความกลัว  เมื่อกลับมาค่อยลาออก ถ้ารู้สึกว่าตัวเองล้มเหลว ไร้ค่าจริงๆ

.     ผ่านมากว่ายี่สิบปี น้องคนนี้กลายเป็นวิดวะอินเตอร์ ที่ทำงานตำแหน่งสูงผ่านบริษัทข้ามชาติระดับโลกมาหลายที่ และมีเงินเดือนรายได้สูง…จนน่าตกใจ

.     ถ้าย้อนกลับไปสืบหาสาเหตุแห่งความกลัว ถ้าเป็นเมื่อก่อน ผมคงโทษครูภาษาอังกฤษ สมัยประถม ที่ชอบทำโทษผมตอนนั้น  มักถูกสั่งไปยืนกระต่ายขาเดียวกางมือคาบไม้บรรทัดพลาสติกอยู่นอกห้องเรียน เป็นประจำ  นอกจากถูกลงโทษให้ได้อายแล้ว  ไม้เรียวที่ครูใช้ตี  ก็ยังเป็นความเจ็บกาย ที่ผมยังสัมผัสรู้สึกได้มาจนถึงทุกวันนี้

.     แต่…เดี๋ยวนี้ผมรู้แล้วว่า

.     มนุษย์เราแต่ละคน มีโจทย์ชีวิตที่ถูกส่งมาในโลกนี้ไม่เหมือนกัน ได้รับประสบการณ์ที่ได้จึงต่างกัน และก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะมองเห็นโจทย์ชีวิตของตัวเองได้  ที่สำคัญแม้จะอยากแก้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน ที่จะแก้โจทย์ชีวิตตัวเองได้ด้วยตัวเอง

.     ฟังดูแล้วเหมือนน่าสิ้นหวัง  แต่ผมค้นพบว่า โลกยังเต็มไปด้วยทางออกอื่นๆ มีคนจิตใจดีอีกมากมาย ที่พร้อมคอยช่วยเหลือคนที่ไม่รู้จัก เพียงแต่เราให้โอกาสตัวเองมากแค่ไหน ในการเปิดใจ ที่จะตอบรับความช่วยเหลือนั้น

2

.     คนรู้จักคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เขามีประวัติการงาน การเรียนที่ยอดเยี่ยมเป็นที่หนึ่งของห้องคิง (จากโรงเรียนซึ่งแทบจะถือว่าเป็นที่หนึ่งของประเทศก็ได้) ในสายวิชา จบมหาลัยดังอันดับหนึ่งด้วยเกียรตินิยม  เมื่อเริ่มทำงานก็กลายเป็นดาวเด่น  ย้ายงานอัพเงินเดือนไปเรื่อยๆ ทุกคนต่างคาดหวัง ผลงานชั้นเลิศจากเขา ซึ่งช่วงปีแรกๆ ก็ฉายแววว่า…จะไปได้สวย

.     แต่จู่ๆ ก็เกิดอาการสะดุดเอาดื้อๆ

.     จากคนพูดเก่ง ขายงานเริ่ด กลายเป็นง่อย พูดอะไรก็กร่อย  ตะกุกตะกัก  ขาดพลัง  ไม่สบตาผู้คน ความมั่นใจที่เคยมีหนีหายไป อย่างน่าประหลาด

.

.     ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น  ไม่เข้าใจว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวเอง

.     เขาไม่นิ่งดูดาย พยายามหาทางแก้ไข เข้ารับคำปรึกษากับจิตแพทย์  กินยาควบคุมปรับสมดุลสารสื่อนำประสาท  พร้อมฝึกวางความคิด  เลิกด่าว่าตำหนิความไม่ได้เรื่องของตัวเองตามคำแนะนำ

.     แต่…ก็ไม่ได้ผล

.     ยาช่วยได้บางสถานการณ์  แต่บางครั้งก็เอาไม่อยู่  เขาเคยหน้าแหกหลังจากผ่านข้อเขียนสมัครงานได้อันดับหนึ่ง แต่เมื่อเข้าไปสัมภาษณ์ เขาสับสนงุนงงจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าออกจากห้องมาอย่างไร  โรคกลัวการพูด  กลัวสังคม  อยู่ๆ ก็โผล่ขึ้นมาทำลายชีวิต

.     ท้อ หมดแรง สิ้นหวัง ขาดความมั่นใจ เกิดขึ้นได้กับทุกคน  แต่ธรรมชาติของจิต จะพยายามรักษาปรับสมดุลด้วยตัวเองของมันเสมอ  แต่บางคนก็มีข้อยกเว้น

.     หลายปีต่อมา  เขาพาตัวเองเข้ารับการเยียวยารักษาหลายรูปแบบ  อบรมหาความรู้เกี่ยวกับการทำงานสมอง จิต โลกด้านในมากมาย  แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น  เขาถูกลดบทบาทในที่ทำงานลง ถูกทำคล้ายเป็นสิ่งไร้ค่า

.     แต่ที่น่าสลดยิ่งไปกว่านั้นคือ..เขาเริ่มเชื่อว่าตัวเองไร้ค่าจริงๆ

.     phobia เป็นโรคทางจิตชนิดหนึ่งที่ทำให้เรา “กลัว” บางสิ่ง อย่างรุนแรง นอกจากส่งผลทางจิต ทางความคิดแล้ว  บางรายก็แสดงออกทางกาย มือไม้สั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันเพี้ยน หมดสติเป็นลม เป็นโรคทางกายได้อีกหลายอาการ  การสืบหาสาเหตุแห่งความกลัวนี้ ไม่ได้ทำกันง่ายๆ ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ ที่พร้อมจะมอบเวลาที่มากพอให้ การช่วยเหลือตัวเองเพียงลำพังเป็นเรื่องยาก

.     เมื่อสืบค้นจากการพูดคุยสัมภาษณ์ ก็พอจะทำให้เห็นรากปัญหา  อารมณ์ลบที่ถูกลืมไปตั้งแต่วัยเยาว์ ที่ดูเผินๆ เหมือนไม่มีอะไร เพราะเขาอยู่กับมันมาอย่างเนิ่นนานจนคุ้นชิน เมื่อถูกรื้อเรื่องกลับมามองมุมใหม่ ทำให้เขาแปลกใจ  เกิดความรู้สึกต่อเรื่องราวนั้นต่างไป  เขาไม่เคยคิดว่าตัวเองกดเก็บความรู้สึกอะไรไว้ แต่แท้จริงแล้วมันมีความต้องการหลายด้านในวัยเด็กที่ยังไม่เคยได้รับการตอบสนอง

.     ในทางจิตวิทยานี่คือต้นเหตุของปัญหา ซึ่งการแก้ไขทำได้หลายวิธี เป็นเรื่องซับซ้อนที่นักบำบัดจิตต้องประเมินว่าจะใช้วิธีการใดรักษาเป็นรายๆ ไป  สูตรสำเร็จกับการรักษาใจ  ใช้ไม่ค่อยได้ผล

3

.     โรคทางจิต เป็นโรคที่ต้องใช้เวลาในการเยียวยา เมื่อผู้ป่วยรู้แล้วว่าตัวเองป่วย ในขั้นตอนแรก เขาต้องมุ่งมั่นมากพอที่จะอยากให้ตัวเองหาย และพาตัวเองเข้าสู่กระบวนการรักษา

.     ยาและกระบวนการบำบัดจิตหลายศาสตร์  เป็นวิธีหลักที่จะช่วยให้หายป่วยได้

.     แต่ความจริงที่น่าเศร้าคือ จิตแพทย์นักบำบัดเก่งๆ ที่รู้จริงและมีเวลามากพอนั้นมีจำนวนน้อยนิด ไม่สมดุลกับจำนวนคนป่วย ที่มีมากและมีความซับซ้อนมากขึ้นทุกที

.     มี 4 สิ่งที่คนใกล้ชิดผู้ป่วยควรรู้และนำมาใช้ในการเยียวยาจิตใจให้ถูกหลักคือ

.     1. ต้องสร้าง “พื้นที่ความปลอดภัย” ให้ผู้รับการบำบัดรู้สึกได้  ไม่ใช่แค่ความใกล้ชิดให้กำลังใจ  แต่ต้องสร้างความผูกพัน รั บฟั ง อย่างไร้เงื่อนไข ให้เขารับรู้ว่า ยังพื้นที่ที่ไว้วางใจได้เหลืออยู่บนโลก  ความรู้สึกว่ายังมีเพื่อนที่เข้าใจและยอมรับ จะทำให้เขากลับมามองเห็น “คุณค่าในตัวเอง” อีกครั้ง

.     2. จงยอมรับน้ำตาและความอ่อนแอ.. มีความจริงข้อหนึ่งว่า การร้องไห้ช่วยระบายความเครียดความทุกข์  ซึ่งสามารถช่วยเยียวยาจิตใจได้  มีงานวิจัยที่ค้นพบว่าน้ำตาเทียบได้กับยาต้านเศร้า .. เมื่อใครสักคนร้องไห้กับเรา จงอยู่กับเขาเงียบๆ ให้เขาได้ปลดปล่อยออกมาให้หนำใจ ห้ามบอกให้เขาหยุดร้อง เพราะจะทำให้เขาเข้าใจผิดคิดว่า เขาทำสิ่งที่ไม่ดีอีก ไม่ต้องพูดปลอบสงสารเห็นใจ แค่บอกว่าเราเข้าใจและยอมรับ..ขอให้เขาเศร้าได้เต็มที่

.     3. มอบความรักให้อย่างไร้เงื่อนไข ครูผู้สอนการกอดที่ถูกต้องบอกว่า ให้กางนิ้วมือออกและโอบกอดคู่กอดให้แนบแน่น อย่าซ้อนมือเราทับกัน ไม่ต้องเคลื่อนมือลูบไล้ปลอบประโลม ไม่ว่าจะหลับหรือลืมตา ก็ให้เพ่งจิตส่งความรัก ความเมตตา และการแบ่งปันให้นิ่งนาน จนรู้สึกว่าคู่กอดแสดงอาการว่าสงบลง เมื่อเขาส่งสัญญาณว่าเพียงพอ จึงค่อยๆ คลายอ้อมกอด…เราทุกคนล้วนแล้วแต่มีพลังชีวิต ในยามทุกข์เจ็บป่วย พลังชีวิตจะต่ำลง ถ้าหดหู่สิ้นหวังยาวนานเกินไป พลังชีวิตที่แห้งเหือด ก็อาจทำให้ร่างกายเจ็บป่วยได้ โรคร้ายสารพัดก็จะรุมเร้า

.     4. พาตัวเองเข้าสู่กิจกรรมที่สร้างสติมีสมาธิ, สุนทรียศาสตร์  ศิลปะ  ดนตรี  การภาวนาที่เหมาะสม..เป็นเครื่องมือที่ทำให้คนเรารู้สึกผ่อนคลายได้  ช่วยระบายสิ่งที่คั่งค้างใจออกมา  การจดจ่อกับกิจกรรม มองอีกแง่หนึ่งก็คล้ายกับการทำสมาธิ  ทำให้เราได้กลับมาสังเกตโลกด้านในลึกซึ้งขึ้น  ได้ยินเสียงความต้องการของตัวเอง และสามารถตอบสนองถูกต้อง เมื่อสื่อสารกับโลกภายในได้ ก็จะเกิดความเข้าใจรากความเป็นมาของทุกสิ่งในตัวเรา มันจะค่อยๆ สร้างความเชื่อมโยงความคิด อารมณ์ ความรู้สึกที่เคยถูกละเลยให้กลายเป็นสะพานเชื่อมไปสู่ความเข้าใจในทุกสิ่ง ทำให้เรากลับมามีชีวิตอย่างเต็มเปี่ยมอีกครั้งหนึ่งได้

.     เครื่องมือ 4 ชิ้นนี้เป็นเพียงทักษะเบื้องต้นง่ายๆ ที่จะช่วยเยียวยาผู้คนที่เจ็บป่วย เพียงแต่ว่าในรายละเอียดของแต่ละประเด็น ยังซ่อนทฤษฎี และองค์ความรู้ที่ได้ผ่านการทดลองปฏิบัติมาแล้วอยู่อีกมากมหาศาล เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาเรียนรู้ ทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเสียก่อน ที่จะหาญกล้านำมันไปใช้กับใครๆ

.     ในวงการจิตแพทย์นั้นกล่าวกันว่า การฝึกฝนตัวเองให้กลายมาเป็นผู้รับฟัง และมีความสามารถจนถึงขั้นเยียวยาผู้อื่นได้ เป็นงานการเรียนรู้ที่ต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างยาวนาน นับสิบปี

.      ความรู้ชุดนี้อาจจะไม่มีประโยชน์ใดๆ เลย ถ้าเราต้องเจอ คนผีเข้า  ผีขี้โกรธ  ผีขี้กลัว  ผีขี้งกเห็นแก่ตัว สารพัดผี  ที่กำลังสิงร่างคนอื่นอยู่ มันดันกระโจนหันมาสิงร่างเราได้อย่างไม่ทันตั้งตัว

.     และเมื่อ ผี เ จ อ ผี เ ข้ า สิ ง ก็ย่อมจะมีแต่ความวินาศสันตะโร

.     การขับไล่ไสส่ง ผี ไม่ใช่หนทางเยียวยารักษา

.     มีหนังเรื่องหนึ่งนานมาแล้วเรื่อง the six sense เป็นเรื่องของเด็กทีมีจิตพิเศษคนหนึ่ง  ที่เห็นผีมาตั้งแต่เกิด ตลอดชีวิตตั้งแต่แบเบาะ  เขาอยู่กับความกลัวมาตั้งแต่แบเบาะ…ยังจำอะไรไม่ได้

.     เขาค้นพบว่า  ความกลัวที่แท้จริงนั้น  เขาไม่ได้กลัวผีที่เห็น  แต่เขากลัวคนไม่เข้าใจไม่ยอมรับเขามากกว่า  สุดท้ายแล้วเมื่อเขายอมรับความสามารถพิเศษของตัวเอง  เข้าใจความต้องการสารพัดผีที่เวียนมาหา  สามารถช่วยเหลือตอบสนองความต้องการเหล่าผีได้  นอกจากเขาจะแฮปปี้มีความสุขแล้ว  เขายังช่วยปลดปล่อยการยึดติดชีวิตก่อนการตายของเหล่าผี  ทำให้วิญญาณเป็นอิสระได้

.     ถ้าเราฝึกที่จะเป็นมิตรกับความกลัวได้ ถึงเวลานั้น ไม่ว่าเราจะถูกผีอะไรสิง ขอเพียงแต่เรารู้เท่าทัน  ว่าตัวเองกำลังรู้สึกอะไร   วางจิต  ทำใจถอยห่างออกมาดูอารมณ์  ความคิดที่เกิดได้  เราจะค้นพบความเปลี่ยนแปลง

.     อาจจะช่วยทำให้เราค้นพบวิธีดีดี ที่จะอยู่ร่วมกับบรรดาผีๆ..อย่างสงบสันติและมีความสุข…ก็เป็นได้

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here