แด่…ความเจ็บปวดในสังสารวัฏที่ยังไม่ได้เยียวยา

“๑๖ ปีแห่งการจากไป” …พระอาจารย์สุพจน์ สุวโจ

ช่วงต้นเดือนมิถุนายน ปี ๒๕๕๓ ผู้เขียน เมื่อครั้งยังเป็นนักข่าวอยู่ที่เนชั่นสุดสัปดาห์ พร้อมด้วยช่างภาพ และเพื่อนนักข่าวต่างสำนัก เดินทางไปสวนป่าเมตตาธรรม บ้านห้วยงูใน ตำบลสันทราย อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกับคุณพ่อและคุณแม่ของพระอาจารย์สุพจน์ สุวโจ โดยมีพระอาจารย์กิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ นำทาง เพื่อไปทำข่าวพระอาจารย์สุพจน์ ถูกฆาตรกรรมในบริเวณสานป่าเมตตาธรรม เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๘ ในเวลานั้น ผ่านไปแล้ว ๕ ปีก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เกี่ยวกับคดีความ

ในครั้งนั้น พระอาจารย์กิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ หนึ่งในกลุ่มพุทธทาสศึกษา เล่าประสบการณ์ชีวิตให้ฟัง ท่านเป็นพระที่ได้รับนิมนต์พร้อมกับพระอาจารย์สุพจน์ สุวโจ และสหธรรมมิกอีกสองสามรูปจากสวนโมกขพลาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้มาจำพรรษาที่สวนป่าเมตตาธรรม บ้านห้วยงูใน ตำบลสันทราย อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อสิบกว่าปีก่อน กระทั่งเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๔๘ พระสุพจน์ ถูกลอบสังหารด้วยของมีคมอย่างโหดร้ายที่นั่น ขณะที่ท่านอยู่ที่มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ กรุงเทพฯ

บรรยากาศสวนป่าเมตตาธรรม อยู่ในหุบเขา ล้อมรอบด้วยป่าไม้กว้างใหญ่อันอุดมสมบูรณ์ เป็นสถานที่สัปปายะอย่างยิ่งสำหรับพระธุดงค์ และพระป่า ผู้ตั้งใจภาวนาฝึกตนจนกว่าจะพ้นทุกข์ในสังสารวัฏ ขณะเดียวกัน พระก็ได้ช่วยดูแลผืนป่าอันสมบูรณ์ไปด้วย เรื่องราวของพระป่าผู้รักษาป่า แล้วถูกทำร้าย มีมาโดยตลอดตั้งแต่สมัยพุทธกาลมาจนถึงปัจจุบัน

พระอาจารย์กิตติศักดิ์ อธิบายย้อนไปในอดีตว่า เดิมที่ดินตรงนี้ได้รับมอบจากเจ้าของเดิม ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๔๑ ขณะนั้นมีเนื้อที่รวมกันกว่า ๑,๕๐๐ ไร่ โดยจัดตั้ง ‘มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์’ ขึ้นเป็นองค์กรบริหารงาน ตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยสมบูรณ์ในปี ๒๕๔๕ และมอบพื้นที่กว่า ๘๐๐ ไร่ให้เป็นป่าชุมชน ซึ่งมีเนื้อที่สวนป่าเหลืออยู่กว่า ๔๕๐ ไร่ เนื้อที่สถานปฏิบัติธรรม ๘๐ ไร่ ส่วนที่เหลือเป็นป่าสงวนเสื่อมสภาพ ที่สถานปฏิบัติธรรมพยายามฟื้นฟูสภาพป่า อย่างไรก็ตาม มีความพยายามบุกรุกยึดครองตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ โดยนายทุนและคนของนักการเมือง เพื่อนำพื้นที่ไปเร่ขายนายทุนสวนส้ม

“ขณะนั้นมูลนิธิฯ พยายามแจ้งความดำเนินคดี แต่ตำรวจไม่รับแจ้งความ จนกระทั่งมีการร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมต่อหลายองค์กร จึงรับแจ้งความในปี ๒๕๔๗ และอัยการสั่งฟ้องในปี ๒๕๔๘ ปีนั้นเองพระสุพจน์ ก็ถูกรุมทำร้ายด้วยอาวุธมีคมอย่างอุกอาจในพื้นที่ของสถานปฏิบัติธรรม หลังจากการข่มขู่ให้ออกจากพื้นที่ไม่สำเร็จ

“คดีพระสุพจน์เป็น ๑ ใน ๓ คดีสำคัญที่เกิดขึ้นในยุคคุณทักษิณ ชินวัตรที่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ แม้แต่จะระบุตัวผู้ต้องสงสัย ก็ไม่สามารถระบุได้ ในขณะที่คดีทนายสมชาย นีละไพจิตร และคดีคุณเจริญ วัดอักษร มีการจับกุมผู้กระทำความผิด มีการนำคดีขึ้นสู่ศาล แม้ว่าผลในบั้นปลายจะไม่เป็นที่พอใจของฝ่ายผู้ตาย แต่ก็นับได้ว่ายังมีความคืบหน้าอยู่บ้าง ขณะที่คดีพระสุพจน์ยังมืดมน”

สำหรับการมรณกรรมของพระอาจารย์สุพจน์ สุวโจ จนถึงวันนี้ผ่านไป ๑๖ ปีแล้ว ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เกี่ยวกับคดีความอีกเช่นเดิม

ในบันทึกของพระอาจารย์กิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ บนหน้า facebook ของท่านเขียนไว้ตอนหนึ่งว่า…

ในระยะ ๕๐ วันแรกที่พระสุพจน์ สุวโจ ต้องจากไป พวกเราต้องตอบคำถามซ้ำแล้วซ้ำเล่าทั้งจากสังคมและจากสื่อทุกประเภท

ด้านหนึ่งเพื่อประกาศความจริง และอีกด้าน คือการป้องกันการบิดเบือนจากผู้ไม่ประสงค์ดี หรือแม้แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ประสงค์จะปิดคดี เพื่อโชว์ฝีมือ และเพื่อ “ให้มันจบๆ ไป”

ความพยายามหา “แพะ” มารับบาปนั้นเริ่มตั้งแต่บ่ายวันที่พบศพ กระทั่งเมื่อพบความจริงว่าพระสุพจน์ มิใช่พระโนเนม ที่จะปิดคดีได้ง่ายขนาดนั้นก็ตามมาด้วยประเด็นว่าพระสุพจน์ทะเลาะกับแรงงานต่างด้าวจึงถูกฆ่า แล้วฆาตกรหนีข้ามแดนไปแล้ว

แต่เมื่อประเด็นถูกส่งต่อไปที่สื่อระยะหลังก็ไม่มีใครขานรับ เพราะเมื่อมีการสอบถามบุคคลแวดล้อมที่รู้จัก หรือเคยพบเห็นพระสุพจน์ที่ติดตามข้าพเจ้าไปร่วมกิจกรรมต่างๆ ก็พอจะรู้จักบุคลิกและนิสัยใจคอของท่าน ไม่ว่ากิจกรรมของเอ็นจีโอ กิจกรรมชุมชน หรือกิจกรรมระหว่างศาสนา

หลังงานฌาปนกิจศพ น้องๆ คอมมานโดกองปราบก็เข้ามาคุ้มครองพยาน ทั้งที่กรุงเทพฯ ที่สวนเมตตาธรรม อำเภอฝาง รวมถึงอีกหลายพื้นที่ ที่พวกเราต้องไปจัดกิจกรรม โครงการวัดปลอดบุหรี่

ระหว่างนั้นน้องจากกองปราบคนหนึ่ง ก็แนะนำให้ข้าพเจ้าไปพบ ผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ซึ่งคุ้นเคยกับผู้บังคับการกองปราบเพื่อจัดการให้ได้เข้าพบ และให้ข้อมูลเป็นการภายในที่ห้องทำงานของผู้บังคับการกองปราบ เราพูดคุยกันกว่า ๒ ชั่วโมง ก่อนท่านจะยกหูโทรศัพท์ไปคุยกับผู้บัญชาการภาค ๕ ซึ่งเคยเป็นผู้การกองปราบมาก่อน

เสร็จจากการพบปะนั้น ข้าพเจ้าก็ต้องรีบมาที่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมฯ ใช้เวลาไปกว่าสามชั่วโมง แต่ก็เป็นเวลาที่ดี เพราะกรรมาธิการส่วนใหญ่ ต่างรู้จักสวนโมกขพลาราม และวิถีชีวิตของพระที่นั่น

เสร็จจากภารกิจที่กรุงเทพฯ พวกเราก็เดินทางกลับไปสวนเมตตาธรรม เพื่อพักให้ใจสงบสักระยะ แต่ก็มีข่าวดีอยู่บ้าง ที่คุณทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์สื่อที่หน้าตึกไทยคู่ฟ้า ว่า “รัฐบาลจะติดตามคดีนี้อย่างใกล้ชิด…” ระหว่างนั้น DSI ก็ขึ้นลงกรุงเทพฯ ฝางเป็นว่าเล่น มีการสอบพยานแวดล้อมปากแล้วปากเล่า รวมทั้งมีการนำเครื่องจับเท็จ มาใช้กับผู้ต้องสงสัย

ทางกองทัพ ภาค ๓ ก็ส่งกำลังทหารมาร่วมรักษาความปลอดภัย หัวหน้าชุดสำรวจและตรวจสอบพื้นที่ กล่าวกับข้าพเจ้า… “คนพวกนี้หัวใจมันทำด้วยอะไร มันฆ่าได้กระทั่งพระ คอยดูเถอะ ถ้าผมจับมันได้ ผมจะตัดหัวมันเสียบประจาน”

ข้าพเจ้าได้แต่ยิ้มแหยๆ แล้วพยักหน้ากับเขา

ปีแรกผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่ในทางคดีไม่มีความคืบหน้า เป็นหนึ่งในคดีซับซ้อนซ่อนเงื่อนที่หลายคนคิดไม่ถึง บ้างว่าคดีนี้เจอตอ บ้างว่าผู้บงการใหญ่โตกว่าที่คิด ในขณะที่ชาวบ้านร้านตลาด และข้าราชการชั้นผู้น้อย ต่างเอ่ยถึงผู้ฆ่าและผู้สั่งให้ฆ่ากันโดยทั่วไป ถึงขณะที่อัยการระดับสูงในพื้นที่ ได้บอกข้าพเจ้าด้วยความคุ้นเคยว่า “ตำรวจในฝางมันรู้กันหมดแหละท่าน ว่าใครทำ แต่มันพูดไม่ได้…” (จากบันทึกของพระอาจารย์กิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ บนหน้า facebook)

ประวัติและปฏิปทาพระอาจารย์สุพจน์ สุวโจ โดยสังเขป

พระอาจารย์สุพจน์ สุวโจ (ด้วงประเสริฐ) อดีตรองประธานมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ก่อนบวชท่านเรียนจบจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อทำงานได้ระยะหนึ่งแล้วจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ ในปี ๒๕๓๕ ขณะบวชมีอายุ ๒๖ ปี หลังจากบวช ท่านศึกษาปฎิบัติธรรมหลายแห่ง และได้เข้าร่วมการอบรมอานาปานสติที่สวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี ทำให้ท่านสนใจที่จะศึกษาปฏิบัติธรรมในสวนโมกข์กับท่านพุทธทาสภิกขุ

ขณะที่จำพรรษาในสวนโมกข์ ท่านช่วยงานด้านเอกสารต่างๆ งานบัญชีของวัด รับผิดชอบและดูแลงานห้องสมุดธรรมะของสวนโมกข์ (โมกขพลบรรณาลัย) ช่วยการอบรมอานาปานสติ และการจัดค่ายเยาวชนของวัด อีกทั้งยังร่วมรื้อฟื้นหนังสือพิมพ์ ‘พุทธศาสนา’ เพื่อสื่อสารธรรมะของท่านพุทธทาสกับคนร่วมสมัยให้มากขึ้น

ท่านเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม ‘พุทธทาสศึกษา’ และเป็นทั้งเวบมาสเตอร์ เวบไซด์ www.buddhadasa.org ที่ทำงานเผยแผ่งานของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุร่วมกับพระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณและสหธรรมิกอีกหลายรูปที่บรรจุงานธรรมโฆษณ์ของท่านพุทธทาสไว้มากที่สุด จนกระทั่งได้รับนิมนต์มาอนุรักษ์ผืนป่าจำพรรษาอยู่ที่สวนเมตตาธรรมแห่งนี้ ก่อนที่จะถูกลอบสังหารอย่างทารุณยิ่งเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๔๘ ขณะนั้นท่านมีอายุ ๓๙ ปี พรรษาที่ ๑๓


        จนถึงวันนี้ ใช่ว่าพระอาจารย์กิตติศักดิ์และเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ จะสามารถดูแลผืนป่าอันงดงามซึ่งเป็นต้นน้ำของทุกชีวิตได้อย่างสงบก็หาไม่ เนื่องจากยังคงมีฝ่ายที่บุกรุกที่ดินสวนป่าเมตตาธรรมอย่างต่อเนื่อง และพยายามลดความน่าเชื่อถือของ ‘สถานปฏิบัติธรรม สวนเมตตาธรรม’ ทุกวิถีทาง

ดังที่พระอาจารย์กิตติศักดิ์ เล่าว่า คนกลุ่มนี้เขาพยายามปล่อยข่าวในชุมชน ตลอดจนในตัวเมืองฝาง ว่า ‘สวนเมตตาธรรม’ นั้น เป็นสำนักสงฆ์เถื่อน สิ่งปลูกสร้างไม่เข้าหลักพุทธศิลป์ ไม่มีอุโบสถ วิหาร หรือเจดีย์ มีแต่ศาลาโล่งๆ ไว้ประกอบศาสนพิธีรูปทรงราวโกดังร้าง แต่กลับมีอาคารหอพระไตรปิฎก ที่เก็บพระไตรปิฎกและหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ของพุทธทาส ตลอดจนข้อมูลชีวิตและผลงานพุทธทาสภิกขุในรูปแบบดิจิตัล ซึ่งพระและวัดทั่วไปแถบนี้ไม่มีกัน นอกนั้นก็มีสภาพเป็นป่ารกรุงรัง ไม่เจริญหูเจริญตาคนทั่วไป ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม คณะสงฆ์จากสวนโมกข์ ท่านก็ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคในการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมให้เป็นสีเขียวขึ้นมาใหม่ ซึ่งท่านและคณะสงฆ์อำเภอฝาง แม่อาย ไชยปราการ ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน และนักเรียนนักศึกษา ได้มาร่วมกันปลูกป่ามาตลอดสิบกว่าปีติดต่อกันแล้ว แต่กระนั้น ในปีแรกๆ พวกบุกรุกสวนป่าผืนนี้ ยังเข้ามาปิดกั้นทางเข้าออกไม่ให้ผ่านเข้าไปทำกิจกรรมได้อีก

ในครั้งนั้น ท่านเล่าให้ฟังว่า “เมื่ออาตมานำอาสาสมัครไปสำรวจความเสียหายของการทำลายต้นไม้ โดยการเชิญพวกเขาไปคุยที่สถานีตำรวจ ก็กลับถูกแจ้งความดำเนินคดี ว่าบุกรุกเสียเอง ” พระอาจารย์กิตติศักดิ์ ผู้ปกป้องป่า เล่าถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

“สำหรับความร่วมมือระหว่างคณะสงฆ์ หน่วยงานราชการ พ่อค้า ประชาชน และเยาวชน นักเรียนนักศึกษา ตลอดจนเด็กๆ ในชุมชน ที่ดำเนินการปลูกป่ามาอย่างต่อเนื่องนั้น เป็นเสมือนตัวชี้วัดความยั่งยืนของผืนป่า ทั้งที่มีอยู่เดิม และที่จะฟื้นฟู หรือปลูกขึ้นใหม่ เพราะหากทุกภาคส่วนไม่ได้เห็นพ้อง ว่าผืนป่าเป็นสมบัติอันล้ำค่าของพวกเขา โดยมีสัมมาทิฏฐิว่าผืนป่ามีความจำเป็นต่อความอยู่รอด ของพวกเขาในอนาคต คนเหล่านี้นี่เอง ที่จะมีส่วนในการหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากป่า หรือถึงกับทำลายผืนป่าเสียเอง ดังที่ปรากฏอยู่ในข่าวสารให้เห็น หรือให้รับรู้อยู่แทบทุกวัน”

กับหน้าที่ของพระที่ต้องยืนหยัดอยู่ในพื้นที่ท่ามกลางผลประโยชน์ที่มองไม่เห็น ท่านอยู่อย่างไร

        พระอาจารย์กิตติศักดิ์ ตอบว่า พวกเราที่อยู่ที่นี่ภาวนาด้วยการเรียนรู้ความจริงจากธรรมะและธรรมชาติ ฝ่าข้ามทุกอุปสรรคด้วยสติ ด้วยปัญญาและเมตตา พวกเรากำลังภาวนาด้วยการเอาชีวิตเข้าเสี่ยง เอาชีวิตเข้าแลก ในสถานการณ์ที่เป็นจริง เพราะชีวิต และสิ่งที่ชีวิตมีส่วนเกี่ยวข้องกันเป็นเรื่องของเหตุปัจจัย ถ้าเข้าใจ หรือพยายามเข้าใจเกี่ยวกับเหตุปัจจัย (อิทัปปัจจยตา) ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

        “แล้วเราจะเห็นในสิ่งที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุด ซึ่งในความจริงนั้นไม่มี ‘ตัวตน’ ที่จะเอาไว้รองรับความทุกข์ได้เลย แต่ถ้ายังทำไม่ได้ ก็ขอให้ถือเป็นข้อสอบ หรือแบบฝึกหัด ที่จะนำมาสอบทานตัวเอง สอบผ่านบ้าง สอบไม่ผ่านบ้าง แล้วเก็บเอาไว้วิเคราะห์ เพื่อทำข้อสอบใหม่ๆ ต่อไป”

พระอาจารย์กิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ

ผ่านไป ๑๖ ปี กับความไม่คืบหน้าของคดี และย้อนไปเมื่อแปดปีที่ผ่านมา

ในครั้งนั้น พระอาจารย์กิตติศักดิ์ให้สัมภาษณ์ผู้เขียนลงในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ และนสพ.คมชัดลึก ตอนหนึ่งว่า ทุกขณะที่ผ่านไป เราต้องมองใหม่ว่า จะทำอย่างไรที่จะสานต่องานของท่านสุพจน์ แทนที่จะเป็นเรื่องของการเรียกร้องความเป็นธรรม เรียกร้องให้มีผู้รับผิดชอบ หรือเรียกร้องให้คดีถูกรื้อฟื้นเพียงอย่างเดียว

“ก็พยายามดูว่างานของท่านสุพจน์ งานของกลุ่มพุทธทาสศึกษาเอง เห็นว่า นอกจากการสืบสานงานของท่านอาจารย์พุทธทาสที่นำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาต่างๆ แล้ว งานด้านสิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องที่เราทำกันมาอย่างต่อเนื่องสิบกว่าปี ตั้งแต่มาอยู่ที่ฝาง เพียงแต่ไม่ได้ตีฆ้องร้องป่าวอะไร ปีนี้ก็มีคนร่วมกันหลายฝ่าย ประเด็นหนึ่งก็คงเป็นเรื่องสถานการณ์บ้านเมือง ว่าเราจะช่วยกันอย่างไรได้บ้าง เบื้องต้นเรามาปลูกต้นไม้กัน ต่อไปเราก็คงจะต้องปลูกฝังจิตสำนึกแห่งความเมตตาให้มากขึ้น”

การทอดผ้าป่าพันธุ์ไม้ และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้พระสุพจน์ สุวโจ จึงเกิดขึ้นทุกปี ร่วมกับคณะสงฆ์และชุมชน ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนจะได้เข้ามาร่วมกันเรียนรู้ว่า …

ผืนป่าแห่งนี้คือต้นธารของลมหายใจที่ให้พลังแก่ทุกชีวิตไม่เพียงแต่มนุษย์เท่านั้น เพราะหากไม่มีต้นไม้ เราก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน และนี่คือเหตุปัจจัยอันเป็นทางรอดเดียวของสรรพชีวิตที่มากกว่าการปลูกต้นไม้คือการปลูกใจมนุษย์ให้เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันระหว่างธรรมชาติกับตัวเราอย่างแยกไม่ออก

๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๔ แจก “ถุงปันสุข” แปรความทุกข์ ด้วยการแบ่งปัน ๑๖ ปี แห่งการจากไปของพระอาจารย์สุพจน์ สุวโจ

สำหรับ ๑๖ ปีแห่งการจากไปของพระอาจารย์สุพจน์ สุวโจ เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิด พระอาจารย์กิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ ครบรอบอายุ ๕๙ ปีนี้ด้วย ทางสวนเมตตาธรรมได้จัดเครื่องอุปโภค บริโภค ปันสุขแด่ชุมชน อุทิศแด่พระอาจารย์สุพจน์ สุวโจ “ปิยมิตรผู้จากไป” ด้วย ถุงปันสุข ๑๐๐ ชุด ข้าวเหนียวไก่ทอด ๑๐๐ ชุด หน้ากากอนามัย ๕๐๐ ชิ้น หน้ากากผ้า ๑๓๐ ชิ้น น้ำผลไม้ มวลชน ๑๐๐ แก้ว และอีกมากมายที่ผู้บริจาคนำมาสมทบ

.

ชีวิตนี้น้อยนักก็จริง …แม้เราจะทำอะไรไม่ได้มากมาย แต่ทว่าการแบ่งปันความทุกข์ให้ละลายไปกับน้ำเย็นแห่งการให้และการแบ่งปัน กับลมหายใจที่เหลืออยู่ คือสิ่งที่ทำให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้ในสังสารวัฏแห่งความทุกข์ทน….ดังพุทธพจน์ว่า

นิวตฺตยนฺติ โสกมฺหา

มนุษย์ผู้มีใจการุณ ช่วยแก้ไขเพื่อนมนุษย์ให้หายโศกเศร้า

พุทธพจน์

ขอขอบคุณ บทความอ้างอิงจาก : บันทึกของพระอาจารย์กิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ จาก facebook Phra Kittisak / รายงานพิเศษ เรื่อง ๕๐ วันแห่งการจากไปของพระสุพจน์ สุวโจ เขียนโดย มนสิกุล โอวาเภสัชช์ นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๗๙๔ / บทความเรื่อง “ในหัวใจเราต้องมีพื้นที่ให้คนอื่นบ้าง” พระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ เขียนโดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ นสพ.คมชัดลึก วันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๓ และจาก คอลัมน์ วิปัสสนาบนหน้าข่าว เรื่อง ” ๘ ปี คดีสังหารพระสุพจน์ สุวโจ  ‘ความหวังที่เหลืออยู่อาจเป็นเรื่องของปาฏิหาริย์’ จากใจ พระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ เขียนโดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ (คมชัดลึก วันพระ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๖ )

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here