ธรรมนิพนธ์ เรื่อง "ความเป็นมาของพระอภิธรรม" เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ พิมพ์ครั้งที่ ๑  กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ พิมพ์ครั้งที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑

เข้าพรรษากับ “ความเป็นมาของพระอภิธรรม”

(บทที่ ๔)

เรื่องของภาษา เวลา และปาฏิหาริย์

เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

"ความเป็นมาของพระอภิธรรม (๔) ภาษา เวลา และปาฏิหาริย์" เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร จากคอลัมน์ ธรรมโอสถ นิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๑๒๗๘ วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๙
“ความเป็นมาของพระอภิธรรม (๔) ภาษา เวลา และปาฏิหาริย์” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร จากคอลัมน์ ธรรมโอสถ นิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๑๒๗๘ วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๙

เรื่องของภาษา เวลาและปาฏิหาริย์

ธรรมะในพระอภิธรรมดูเป็นเรื่องยากที่จะทำความเข้าใจ ทั้งในแง่เนื้อหา และภาษา ตลอดจนเหตุการณ์ ซึ่งเป็นที่มาของการแสดงพระอภิธรรม จนเกิดความคลางแคลงสงสัยต่อผู้ศึกษาว่า พระพุทธเจ้าแสดงพระอภิธรรมจริงหรือไม่

มีนักการศาสนาปฏิเสธพระอภิธรรม ด้วยเห็นว่า เหตุการณ์ที่พระพุทธจ้าทรงแสดงพระอภิธรรม เป็นปาฏิหาริย์ยากจะเป็นไปได้ ทั้งเนื้อหาเกี่ยวกับปาฏิหาริย์ ไม่ใช่พระพุทธพจน์ เพราะพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนเรื่องปาฏิหาริย์ พระอภิธรรม จึงเป็นคำสอนที่แปลกปลอมเข้ามายุคหลัง

หากเพ่งพินิจพิจารณาด้วยกำลังแห่งสติปัญญา ประกอบด้วยจิตที่สงบ ก็ไม่ยากเกินกว่าจะทำความเข้าใจได้ เหตุการณ์ปาฏิหาริย์มาคู่กับคำสอนในพระพุทธศาสนา นับแต่พระพุทธจ้าประสูติจนเข้าสู่ปรินิพพาน ไม่มีพระไตรปิฎกส่วนไหนที่ไม่เกี่ยวข้องกับปาฏิหาริย์

การปฏิเสธปาฏิหาริย์ เป็นการหักรานกิ่งก้านคำสอนพระพุทธศาสนา และการปฏิเสธศรัทธา เป็นการขุดรากถอนโคนคำสอนพระพุทธองค์

ภาพประกอบ โดย หมอนไม้
ภาพประกอบ โดย หมอนไม้

การที่พระอภิธรรมดูเป็นเรื่องยาก ต้องทำความเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่า ธรรมะในพระอภิธรรม พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่เทวดา บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ไม่ได้แสดงแก่มนุษย์โดยตรง

ภาษาที่ใช้ในพระอภิธรรมก็เป็นภาษาจิต เรียกว่า “วจีสังขาร” ทรงแสดงให้เทวดาฟัง ผ่านจิตที่ละเอียด ประณีตยิ่ง จากนั้น จึงยกขึ้นสู่ภาษามนุษย์ พระสารีบุตรเป็นผู้ฟังมาจากพระพุทธองค์ แล้วนำมาถ่ายทอดให้พระสาวก ๕๐๐ รูป เพื่อเผยแผ่ในโลกมนุษย์ต่อไป

การจะเข้าใจพระอภิธรรม จิตต้องมีความละเอียด ประณีต

คำว่า “วจีสังขาร” เป็นภาษาจิต หมายถึง พูดด้วยจิต ตรึกตรอง นึกคิด พิจารณาด้วยจิต เป็นคำสำหรับใช้สื่อสารในการฝึกปฏิบัติสมาธิ โดยมีคำที่ใช้ร่วมกัน ๓ คำ คือ

“กายสังขาร” สิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับกาย หมายถึง ลมหายใจเข้าออกที่ปรากฏกระทบกาย การเคลื่อนไหวทางกาย สภาพอากาศหนาวร้อน เป็นต้น ซึ่งใช้เป็นอารมณ์พระกรรมฐาน

“วจีสังขาร” สิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับความคิด สิ่งที่จิตคิด ในแง่การปฏิบัติสมาธิ หมายถึง การกำหนดจิต ผูกเพ่งอยู่กับอารมณ์พระกรรมฐาน และ “จิตสังขาร” สิ่งที่ปรุงแต่งจิต หมายถึงราคะ โทสะ โมหะอันเป็นเจตสิกปรุงแต่งจิต ทั้ง ๓ คำ เป็นภาษาที่พูดถึงการฝึกฝนพัฒนาสมาธิ เพื่อให้จิตมีความละเอียด ประณีต

ภาพประกอบ โดยหมอนไม้
ภาพประกอบ โดยหมอนไม้

การทดลองภาษาจิต

เบื้องต้นให้ทดลองสื่อสารภาษาจิตกับตนเองก่อน ถ้าเราอยากรู้ว่า ภาษาจิตเป็นอย่างไร ให้ทดลองนั่งหลับตาลง ทำจิตให้สงบนิ่ง เป็นสมาธิสักครู่หนึ่ง จากนั้น ให้ลองใช้จิตคุยกับตัวเอง นั่นแหละ เรียกว่า “วจีสังขาร” คือ ภาษาจิต

ทางพระพุทธศาสนา การจะทำให้จิตมีพลังงานขึ้นมาจนสามารถใช้เป็นหนึ่งในช่องทางการสื่อสารได้ ต้องมาจากจิตที่เป็นสมาธิ ซึ่งต้องได้รับการฝึกฝนพัฒนาให้ละเอียด ประณีตขึ้นเป็นลำดับ

จนก้าวผ่านปฐมฌาน (ฌานขั้นที่ ๑) ทุติยฌาน (ฌานขั้นที่ ๒) ตติยฌาน (ฌานขั้นที่ ๓) แล้วดำรงวาระจิตอยู่ในจตุตถฌาน (ฌานขั้นที่ ๔) ให้เป็นบาทฐานควรแก่การนำไปใช้งาน

ในการปฏิบัติ เรียกสมาธิอีกอย่างหนึ่งว่า “กรรมฐาน”

จิตจะมีพลังงานมากน้อยแค่ไหนเพียงไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับการดำรงวาระจิตให้อยู่ในจตุตถฌานนี้ ซึ่งต้องอาศัยทั้งกำลังศรัทธา เชื่อมั่นในแนวทางการปฏิบัติ(ศรัทธา) มีความเพียรพยายามเป็นไปอย่างติดต่อ ไม่ท้อถอย (วิริยะ) มีสติที่ได้รับการฝึกฝนจนเฉียบคม (สติ) มีสมาธิมุ่งมั่นต่อการลงมือปฏิบัติ (สมาธิ) อีกทั้งมีปัญญารอบรู้ขณะจิต(ปัญญา) เรียกว่ามี “อินทรีย์และพละ” แก่กล้า

การดำรงวาระจิตอยู่ในจตุตถฌาน จนเกิดความชำนาญทั้งการเข้า-การออก ก็เหมือนการชาร์จพลังงานจิต ต้องทำซ้ำๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า วันแล้ววันเล่า จนเกิดภาวะที่จิตเสถียร แล้วมนสิการน้อมจิตไปให้เกิดญาณ คือ เกิดความรู้ในวิธีการที่จะนำพลังงานไปใช้ในรูปแบบต่างๆ เช่นความรู้ในอิทธิวิธี(แสดงฤทธิ์ได้)ความรู้ในทิพยจักษุ(ตาทิพย์)ความรู้ในทิพยโสตะ(หูทิพย์) เป็นต้น สูงขึ้นไปจนเกิดปัญญาญาณเข้าใจสรรพสิ่งที่เชื่อมโยงถึงกันไม่มีที่สิ้นสุด

ภาพประกอบ โดย หมอนไม้
ภาพประกอบ โดย หมอนไม้

ฟังก์ชั่นของจิต

ส่วนเมื่อฝึกจนจิตเป็นสมาธิแล้ว จะใช้พลังงานได้เต็มรูปแบบหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติ หรือฟังก์ชั่นของจิตว่า มีคุณสมบัติแบบไหน ในทางพระพุทธศาสนา เรียกว่า “ขึ้นอยู่กับวาสนาบารมี”  ที่สั่งสมมา เพราะฟังก์ชั่นของจิตแต่ละบุคคลถูกสร้างมาไม่เหมือนกัน ย่อมใช้งานได้แตกต่างกัน เหมือนโทรศัพท์แต่ละเครื่อง แต่ละรุ่น ย่อมมีฟังก์ชั่นการใช้งานไม่เหมือนกัน เพราะถูกผลิตมาไม่เหมือนกัน แม้โทรศัพท์แต่ละเครื่องจะชาร์จแบตเตอรี่เต็มแล้วก็ตาม

การดำรงวาระจิตอยู่ในจตุตถฌาน เป็นการชาร์จพลังงานจิต เปรียบได้กับการชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์

การจะทำให้จิตเกิดพลังงาน จึงอยู่ที่การฝึกฝนเพื่อดำรงวาระจิตให้อยู่ในจตุตถฌานนี้ จนมีความชำนาญในการเข้าและออกจากฌาน

ตามหลักพระอภิธรรม สรรพสิ่งเกิดดับตลอดเวลา มีกลไกเชื่อมโยงกันอยู่ในสภาวะ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ในรูปแบบ “ไตรลักษณ์”

การเกิด ย่อมมีผลต่อการ ตั้งอยู่ การตั้งอยู่ ย่อมมีผลต่อการดับ และการดับก็ส่งผลต่อการเกิดใหม่อีกครั้ง เหมือนคลื่นลูกหนึ่งมีแรงส่งให้เกิดคลื่นอีกลูกหนึ่ง สรรพสิ่งเกี่ยวเนื่องกันโดยความเป็นเหตุเป็นปัจจัยส่งทอดซึ่งกันและกัน เช่นนี้ จึงเกิดเป็นกระแสหมุนเวียน

ตามหลักพระอภิธรรม เรียกสภาวะนี้ว่า “เหตุปัจจะโย” เป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน

เช่นเดียวกับจิต มีการเกิดดับตลอดเวลา จนเกิดเป็นกระแส เรียกว่า “กระแสจิต” แต่จิตที่เกิดดับไหลไปเป็นกระแส จะเข้มข้นควรค่าแก่การใช้งานหรือไม่ ขึ้นอยู่กับกระบวนการฝึกฝน ในทางพระพุทธศาสนา เรียกกระบวนการฝึกฝนจิตนี้ว่า “สมาธิ” “วิปัสสนา” หรือ “กรรมฐาน”

การจะรับรู้สิ่งนอกเหนือจากการรับรู้ด้วยตาเนื้อมนุษย์ปกติ หรือเข้าใจสรรพสิ่งตามธรรมชาติที่ละเอียด ประณีตลงไปตามหลักพระอภิธรรมนั้น ต้องใช้ความละเอียดของจิตให้คงที่เท่าสิ่งนั้น จึงจะรับรู้สิ่งนั้นได้ เหมือนการจูนคลื่นความถี่โทรทัศน์แต่ละช่อง หรือโทรศัพท์แต่ละเครื่อง

การเข้าถึงสมาธิจนเกิดปัญญาญาณ ก็คือ การเข้าถึงพระอภิธรรม เป็นการเข้าถึงสรรพสิ่งตามธรรมชาติในรูปปรมัตถ์ ต้องผ่านเส้นทางเดียวเท่านั้น ซึ่งเป็นทางสายเอก ก็คือ การฝึกสมาธิให้สติมีความเร็วเท่ากับความเร็วของจิต จนรู้เท่าทันจิตและควบคุมจิตได้

เปรียบกรณีความเร็วของรถ เมื่อรถวิ่งไปด้วยความเร็วสูง ขณะที่เรายืนอยู่ เราจะไม่รู้ลักษณะของรถคันดังกล่าว แต่ถ้าเราใช้รถวิ่งด้วยความเร็วคงที่เท่ากับความเร็วของรถคันนั้น เราก็จะเห็นรถคนนั้นปรากฏเหมือนหยุดอยู่

เมื่อใช้ความเร็วคงที่เท่าความเร็วของรถ รถก็จะไม่มีความเร็ว แต่ความจริง คือ รถกำลังวิ่งอยู่

ในการปฏิบัติสมาธิ จิตเกิดดับเร็ว อธิบายด้วยภาษาสามัญว่า “จิตมีความฟุ้งซ่านเป็นธรรมดา”

สติสัมปชัญญะเป็นตัวรู้ความเร็วของจิต

การภาวนาเป็นการฝึกสติสัมปชัญญะให้ตื่นรู้ความเร็วของจิตอยู่ตลอด

เมื่อไหร่ที่ฝึกสมาธิจนสติมีความเร็วเท่ากับความเร็วของจิต จิตก็จะไม่มีความเร็ว (จิตนิ่งเพราะถูกควบคุมโดยสติ) ในแง่ความจริงปรมัตถ์ จิตยังคงเกิดดับตลอดเวลา

ภาพประกอบ โดย หมอนไม้
ภาพประกอบ โดย หมอนไม้

ความเหลื่อมล้ำของเวลา

พระพุทธองค์ทรงแสดงพระอภิธรรมบนสวรรค์ ตลอดพรรษา ๓ เดือน นับโดยเวลาในโลกมนุษย์ ติดต่อกันทั้งกลางวันกลางคืน ไม่หยุดเลยแม้ขณะจิตเดียว ในระหว่างแสดงพระอภิธรรม พระพุทธองค์ทรงสำรวจดูเวลาในโลกมนุษย์ เมื่อถึงเวลาบิณฑบาต เวลาเสวย หรือเวลาพักผ่อนในเวลากลางวัน ทรงเสด็จไปปฏิบัติพุทธกิจตามเวลาในโลกมนุษย์ โดยทรงบันดาลพระพุทธนิมิตให้แสดงพระอภิธรรมแทนพระองค์

การกำหนดนับวันเวลา ๑๐๐ ปี ในเมืองมนุษย์ เป็นคืนและวันในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เวลาของพระพุทธองค์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ขณะแสดงพระอภิธรรมนั้น จึงผ่านไปครู่เดียว แต่เวลาในโลกมนุษย์ผ่านไปแล้ว ๓ เดือน

ในกรณีนี้อธิบายได้ว่า จิตในสมาธิ อยู่นอกเหนือขอบเขตของกาลเวลา ไม่มีกาลเวลาในสมาธิ มีแต่การดำรงอยู่ของวาระจิตตามสภาวะที่เกิดขึ้นทุกๆ ขณะจิต

ขณะนั้น สติสัมปชัญญะ คือ ความรู้ตัวทั่วพร้อมเป็นผู้รู้ขณะจิต เริ่มตั้งแต่ขณะแห่งการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์พระกรรมฐาน เรียกว่า “วิตก” คือ การตรึก ผูกเพ่ง กำหนดจิตไว้กับอารมณ์พระกรรมฐาน เช่น รู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก แล้วประคับประคองจิตให้อยู่กับลมหายใจอย่างต่อเนื่อง เรียกว่า “ วิจาร”

แม้จิตจะหลุดออกจากลมหายใจร้อยครั้ง พันครั้ง ก็ต้องมีสติ มีความพยายามยกจิตกลับขึ้นสู่ลมหายใจใหม่อีกครั้ง ร้อยครั้ง พันครั้ง จนเกิดความชำนาญในการประคับประคองจิตให้แนบแน่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับลมหายใจ

หากจะยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม การยกจิตขึ้นสู่อารมณ์พระกรรมฐาน ที่เรียกตามการปฏิบัติว่า “วิตก” ก็เหมือนการยกก้อนหินขึ้นสู่สายพานที่กำลังเคลื่อนตัวไป “วิจาร” เหมือนความพยายามในการประคองให้ก้อนหินตั้งอยู่บนสายพานนั้นให้ได้ และสายพานที่กำลังเคลื่อนไป เหมือนสภาวธรรมที่มีการเกิดดับอยู่ตลอด

ในระยะแรก ก้อนหินอาจตกลงบ่อยๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า เราก็ต้องใช้ความเพียรพยายามยกก้อนหินขึ้นบ่อยๆ จนรู้จังหวะว่า วางอย่างไรก้อนหินจึงจะตั้งอยู่บนสายพานได้

ทั้งหมดที่ว่ามา ไม่มีกาลเวลาในสมาธิ มีแต่การดำรงวาระจิตตามสภาวะ การทำสมาธิ จึงเป็นก้าวแรกของการฝึกพัฒนาจิตให้อยู่นอกเหนือขอบเขตของกาลเวลา และเป็นวิธีที่พอจะทำความเข้าใจพระอภิธรรมได้

ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ พิมพ์ครั้งที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ พิมพ์ครั้งที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑

เข้าพรรษากับ “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” (บทที่ ๔ ) เรื่องของภาษา เวลา และปาฏิหาริย์ : เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

(โปรดติดตามตอนต่อไป )

ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้เขียน "ความเป็นมาของพระอภิธรรม"
ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้เขียน “ความเป็นมาของพระอภิธรรม”

คำชี้แจง

คัมภีร์พระอภิธรรมปิฎกเป็นหนึ่งในคัมภีร์พระไตรปิฎกอันเป็นคัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนาเถรวาท โดยเนื้อหานั้นแบ่งเป็น ๗ คัมภีร์ เรียกว่า สัตตัปปกรณ์ ประกอบด้วย ธัมมสังคณี วิภังค์ ธาตุกถา ปุคคลบัญญัติ กถาวัตถุ ยมก ปัฏฐานโดยเนื้อหาสำคัญนั้น แสดงถึงสัจจะ คือ ความจริงแบบปรมัตถสัจจะโดยแยกเป็นเรื่องจิต เจตสิก รูป นิพพาน และแสดงลักษณะภาษาหรือคำบัญญัติในแบบของสมมติสัจจะ

"ความเป็นมาของพระอภิธรรม" เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) พิมพ์ครั้งที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร ศาลาสันติวัคคีย์ วัดสระเกศ  จัดพิมพ์เป็นธรรมทาน
“ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) พิมพ์ครั้งที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร ศาลาสันติวัคคีย์ วัดสระเกศ จัดพิมพ์เป็นธรรมทาน


ส่วนการเข้าใจเนื้อหาพระอภิธรรมปิฎกนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายและเป็นไปตามยุคตามสมัย ถ้าในสภาพความเป็นอยู่แบบชาวบ้านที่หาเลี้ยงชีพ คงต้องการเพียงหลักธรรมที่พอปฏิบัติได้ เหมาะสมสำหรับชีวิตประจำวัน หรือสร้างความสงบสุขให้กับครอบครัวและสังคมเท่านั้น

ดังเนื้อความในสิงคาลกสูตรที่สอนเรื่องการทำหน้าที่ต่อคนอื่นรอบตัวเรา ในกูฎทันตสูตรก็สอนวิธีการระงับยับยั้งอาชญากรรมด้วยการให้ประชาชนได้เรียนรู้สัมมาชีพ รู้จักความซื่อสัตย์สุจริต และยังมีคำสอนอีกมากที่เน้นให้คนทั่วไปได้มีความสุขจากการมีทรัพย์ ใช้จ่ายทรัพย์ ไม่มีหนี้ และการงานไม่มีโทษ รวมถึงความสุขที่เหมาะสมกับชาวบ้าน ในเรื่องความขยันหาทรัพย์ รักษาทรัพย์ คบเพื่อนดี และเลี้ยงชีวิตที่เหมาะสม เป็นต้น

สมัยนั้นธรรมะในการดำเนินชีวิตแบบนี้จึงเหมาะสมและเป็นเรื่องง่ายที่คนที่เป็นชาวบ้านจะเข้าใจได้และปฎิบัติได้จริง

แต่เนื้อหาของพระอภิธรรมนั้นถูกจัดไว้ในหมวดปรมัตถธรรมซึ่งเหมาะสมสำหรับผู้มีสติปัญญา ผู้สั่งสมภูมิธรรมมาพอสมควรจึงจะช่วยชี้แนะแจกแจงให้คนทั่วไปได้รับทราบรายละเอียดที่ลึกซึ้ง เพราะคงยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจหรือสนใจเรียนรู้ ถ้าเขาเหล่านั้นยังต้องทำงานหนักเพื่อหาเลี้ยงชีพไปวันๆ จึงเป็นความปรารถนาดีกอปรด้วยกุศล เปี่ยมล้นไปด้วยภูมิปัญญา เหล่านักปราชญ์จึงได้นำพาพระอภิธรรมทั้ง ๗ คัมภีร์ที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงโปรดพระพุทธมารดา ท่ามกลางทวยเทพจากหมื่นจักรวาลบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มาใช้ในพิธีกรรมการสวดศพจนกระทั่งทุกวันนี้

ถ้าจะบอกว่าพระอภิธรรมนั้นเหมาะสมกับใครแล้ว ก็คงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่กำลังจะละทิ้งร่างกายหยาบทุกท่าน โดยมองเสียใหม่ว่าทุกอย่างเป็นแต่เพียงธาตุ

เมื่อทุกอย่างถูกแยกออกจากกันจะไม่มีความเป็นใครหรืออะไรให้เรายึดมั่นถือมั่นได้เลย มีลักษณะเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป โดยคำสอนเหล่านี้คงไม่มีช่วงไหนจะเหมาะที่จะนำมาชี้แจงเท่ากับตอนที่ทุกคนกำลังพบเจอกับความตายอันเกิดขึ้นกับคนที่เรารู้จักอย่างแน่นอน

เหมือนเมื่อครั้งอนาถปิณฑกเศรษฐีผู้นอนป่วยซมใกล้จะสิ้นชีวาพอได้ฟังปรมัตถธรรมแล้วก็ถึงกับเอ่ยปากกับพระสารีบุตรว่า ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ ขอธรรมกถาเห็นปานนี้ จงแจ่มแจ้งแก่คฤหัสถ์ผู้นุ่งผ้าขาวบ้างเถิด เพราะมีกุลบุตรผู้เกิดมามีกิเลสธุลีในดวงตาน้อย จะเสื่อมคลายจากธรรม จะเป็นผู้ไม่รู้ธรรม โดยมิได้สดับ”

การกล่าวสอนและแสดงธรรมแก่คนใกล้ตายหรือคนที่เสียใจในการจากไปของคนรัก จึงมีการปรารภถึงปรมัตถธรรมชั้นสูงในพระพุทธศาสนากันต่อๆ กันมา

ท่่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร
ท่่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร

ผู้เขียนได้อ่านและทบทวนเนื้อหาของหนังสือเรื่อง “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” ของเจ้าคุณอาจารย์พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด  ญาณวชิโร) ที่ผสมผสานระหว่างเนื้อหาที่เข้าใจยาก ศัพท์บาลีที่ต้องขยายความ และการตีความที่ต้องละเอียดอ่อนแล้วรู้สึกว่าเรื่องนี้มีความลงตัวพอสมควร แม้ผู้ที่ไม่เคยอ่านหนังสืออภิธรรมมาก่อนก็อาจจะได้ลองศึกษาเรียนรู้ และสำหรับผู้ที่ผ่านหนังสืออภิธรรมมาบ้างแล้วก็จะได้ทบทวนเนื้อหาได้ชัดเจนและกว้างขวางยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ผู้เขียนต้องกราบขอบพระคุณเจ้าคุณอาจารย์ฯ ที่ได้เมตตาไว้ใจมอบต้นฉบับ และไว้ใจให้อ่านเนื้อหาและปรับเปลี่ยนภาษาบ้างตามความเหมาะสม ตลอดทั้งอนุโมทนากับโยมมนสิกุล โอวาทเภสัชช์ และโยมวันทนี เจริญวานิช ที่มาร่วมกันอีกแรงในการช่วยกันปรับ ช่วยกันแก้จนเป็นที่พอใจ จนกระทั่งต้นฉบับแล้วเสร็จ

ความสำเร็จของการสร้างหนังสือ “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” ของเจ้าคุณอาจารย์พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เล่มนี้จะเป็นดังแสงสว่างอีกหนึ่งดวงให้กับผู้แสวงหาแสงสว่าง และช่วยต่อลมหายใจของพระพุทธศาสนาให้ยาวนานยิ่งขึ้น ด้วยตัวอักษรที่สื่อผ่านธรรมะเล่มนี้

พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี, ป.ธ.๙,ดร.

ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาพระวิทยากร

สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ วัดสระเกศ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here