การถอดบทเรียนการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในโครงการเยี่ยมพระพบปะโยมในปี ๒๕๕๙ มาเล่าสู่กันฟัง ไม่เพียงเป็นการรำลึกความทรงจำเท่านั้น

หากยังเป็นการทบทวนเพื่อที่จะพัฒนาในการลงพื้นที่เพื่อให้กำลังใจพระและช่วยเหลือชาวบ้านในสังคมพหุวัฒนธรรมต่อไปให้ดียิ่งขึ้น

ดังที่กำลังจะเล่าย้อนไปในวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ที่พระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ลงพื้นที่ไปให้กำลังใจกับพระสงฆ์และให้ธรรมะกับอุบาสกอุบาสิกาในพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนใต้ ณ วัดป่าศรี โรงเรียนวัดป่าศรี บ้านป่าศรีหมู่ที่ ๓ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี

นำโดย พระศุภชัย ภูริปญฺโญ และสามเณรภูมิระพี ขำช่วย, พลขับ สิบเอง พิทักษ์ เสนพริก ,ผู้ดูแลพื้นที่พระรินทร์ เตชวโร รักษาการเจ้าอาวาสวัดป่าศรี, คุณจบ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ชรบ. อสม. อรบ. กรรมการวัด (ตัวเล็ก แต่หัวใจยิ่งใหญ่) และผู้เขียน

พระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้

         กับ ฝันที่เป็นจริงของชาวบ้าน

ใน “โครงการเยี่ยมพระพบปะโยม

โดย พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙,ดร.

การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เราพบกับหลายๆ ครอบครัวที่ลูกหลานไม่ได้อยู่บ้านไปทำงานที่อื่น และบางครอบครัวก็มีคนแก่เฒ่า ลูกหลานก็สลับกันมาดูแล อาทิ ครอบครัวของตานอง อายุ ๘๕ ปี ยายเย็น อายุ ๘๐ ปี เป็นโรคเก๋าและแน่นหน้าอก มีลูก ๔ คน มีลูกสาวอยู่หน้าวัดซึ่งไปๆ มาๆ ดูแลอยู่ ส่วนที่บ้านยายหวาน อายุ ๗๘ ปี ก็เป็นโรคเบาหวานและความดัน มีลูก ๕ คน ปัจจุบันอยู่กับลูกชายซึ่งถูกตัดขาเนื่องจากเบาหวาน

แล้วเราก็ไปเยี่ยมบ้าน ตาเฉือน และ ยายจู อายุเกือบๆ ๘๐ กัน มีลูก ๗ คน ซึ่งทำงานอยู่กันคนละที นานๆ จะกลับมาเยี่ยม ส่วนยายนวม อายุ ๙๐ ปี (สามีเสียชีวิตโดยธรรมชาติ) เป็นต้อหินมาแล้ว ๕ ปี เป็นโรคหลงลืม ปัจจุบันอยู่กับลูก ๒ คนที่ช่วยดูแล และ ครอบครัวยายปลื้ม อายุ ๗๒ ปีอาศัยอยู่กับลูกสาวและลูกเขย ซึ่งลูกสาวเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๗ ปัจจุบันสามียายปลื้มอดีตผู้ใหญ่บ้าน(ลาภ) ได้เสียชีวิตเนื่องจากเหตุการณ์รุนแรงที่ผ่านมา

การลงพื้นที่ในครั้งนี้เราพบว่า บางบ้านมีผู้สูงอายุกว่า ๘๐ ปี บางบ้าน เป็นอัมพาต และบางครอบครัวนอกจากมีผู้สูงอายุเป็นอัมพาตแล้วยังมีลูกชายป่วยเป็นโรคพัฒนาการทางสมองช้าอีกด้วย  

เมื่อเราก้าวผ่านเข้าประตูเข้ามาในบ้านยายนวม ซึ่งกำลังนอนคดตัวในผ้าห่มสีขาดซีดกับหมอนใบน้อย มีชายผิวเข้ม หน้ายิ้มตัดกับท่าทางจริงจังนั่งอยู่ข้างๆ คอยพยุงยายให้ลุกขึ้นพร้อมกระซิบใกล้ๆ หู “พระมาแล้วแม่” เขาเป็นลูกคนเล็ก ส่วนลูกอีกคนนั่งอยู่ที่ประตูเป็นลูกคนที่ ๓ จากทั้งหมด ๕ คนพยายามบอกให้แม่ฟังเช่นกันว่า “แม่ๆ พระมาแล้วแม่”

ลูกคนเล็กเล่าว่ามีพี่น้อง ๕ คน แต่เหลือดูแลแม่ ๒ คน พ่อเสียไปก่อนหน้านี้ตามวัย ส่วนแม่อายุ ๙๐ ปี ตาของแม่ทั้งสองข้างเป็นต่อหินและมืดบอดไปเมื่อ ๕ ปีที่แล้ว และแม่ก็เริ่มมีอาการหลงๆ ลืมๆ เมื่อได้ยินลูกพูดว่า “พระมาแล้ว” ดูแม่ไม่เชื่อ พร้อมพูดเสียงดัง “กูไม่เชื่อ!!” พร้อมมือที่พยายามจับดูว่าจริงไหม จึงให้แกจับจีวร แต่แกก็ยังไม่เชื่อพร้อมถามกลับ มึงเป็นใคร!!” ดูคำพูดเริ่มแรงขึ้น

“โยมยายรับประทานอาหารหรือยัง” พระวิทยากรถามเพื่อเปลี่ยนเรื่อง

“ไม่รู้ จำไม่ได้” ยายยังเสียงแข็ง

พระวิทยากรจึงเริ่มสวดมนต์เสียงดังและยาวขึ้น

เชื่อแล้ว!!!” โยมยายเสียงสั่นเครือพร้อมน้ำตาที่ไหลอาบแก้ม

เรามารู้ทีหลังว่ายายชอบไปวัดตลอด จนตอนยายตาบอดจึงไม่ได้ไป พยายามบอกลูกให้พาพระมาสวดมนต์สืบอายุตามความเชื่อของคนภาคใต้ จนไม่ยอมรับประทานอาหาร ลูกๆ จึงหลอกว่า ถ้ารับประทานอาหาร เดี๋ยวจะนิมนต์พระมา ยายจึงยอมรับประทาน แต่ยายโดนหลอกอย่างนี้จนไม่เชื่อว่าจะมีพระมาจริงๆ เพราะอย่างนี้ยายจึงโมโหว่ามีคนหลอกว่ามีพระมา เราได้ยินยิ่งสะเทือนใจ ถ้าพระวิทยากรไม่มาครั้งนี้ เราคงไม่รู้ว่าที่นี่ มีคนต้องการเจอพระมากแค่ไหน ” ขอบคุณพระอาจารย์ ขอบคุณโครงการเยี่ยมพระพบปะโยมที่ทำให้พระและโยมได้พบกัน” เสียงโยมพูดตอนเรากำลังเดินออกจากบ้านหลังหนึ่งที่เราไปในวันนี้

อีกเรื่องหนึ่งที่โยมลูกชายเล่าให้พระวิทยากรฟัง คือ เขาปลูกข้าวบนพื้นที่ ๕ ไร่เศษ ทำนาปีละครั้งก็พอรับประทานได้ทั้งปี และแนวคิดนี้ โยมจบ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเล่าให้ฟังว่า ที่นี่เป็นหมู่บ้านชาวพุทธต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ในหลวงรัชกาลที่ ๙  และบ้านของยายนวมก็ดำเนินชีวิตตามนั้นจริงๆ

ผ่านไปสองปีกว่าแล้วที่เราได้ช่วยกันทำฝันให้โยมปู่โยมย่า โยมตา โยมยายเป็นจริง ขณะเดียวกันทุกท่านก็ทำให้เรามีพลังใจในการจาริกธรรมเยี่ยมพระพบปะโยมต่อไปไม่สิ้นสุด

ท่องเที่ยวโลกกะธรรม (หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๑๘ กรกฎาคม  พ.ศ.๒๕๖๒) โดย พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙,ดร.

“การถอดบทเรียนการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในโครงการเยี่ยมพระพบปะโยมในปี ๒๕๕๙ มาเล่าสู่กันฟัง ไม่เพียงเป็นการรำลึกความทรงจำเท่านั้น หากยังเป็นการทบทวนเพื่อที่จะพัฒนาในการลงพื้นที่เพื่อให้กำลังใจพระและช่วยเหลือชาวบ้านในสังคมพหุวัฒนธรรมต่อไปให้ดียิ่งขึ้น “ พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี

พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ปธ.๙ ดร.
พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ปธ.๙ดร. ผู้เขียน
ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาพระวิทยากร
สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม
และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ
พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here