เห็นเฉยๆ กับเห็นแบบจำได้

          เพราะจิตเกิดเป็นคราวๆ ทีละขณะจิต  กลายเป็นความคิดที่เกิดขึ้นทีละครั้ง  เราก็ยึดถือความคิดนั้นแหละว่าเป็นตัวเราของเรา  ถ้าจะพูดให้ลึกลงไปก็เรียกว่า  ยึดขันธ์ ๕ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาว่าเป็นตัวเราของเรา  ใครจะมาแตะต้องตัวเรา  เห็นต่างจากความคิดเราไม่ได้

สมมุติว่าเราจะเดินทางไปที่ไหนสักแห่ง  เราเข้าไปในสนามบิน  เห็นผู้คนมากมายเต็มไปหมด  บางคนนั่ง  บางคนยืน  บางคนเดิน  เราก็เห็นเฉยๆ แล้วมองผ่านไป  ไม่ได้สำคัญมั่นหมาย ไม่ได้ยินดียินร้ายอะไร ก็เพียงแต่เห็นเฉยๆ ไม่ได้รู้สึกอะไร 

          สิ่งที่เห็นก็เพียงแต่เป็นรูปยืน รูปนั่ง รูปเดิน

ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

แต่เผอิญปราดสายตาไปเห็นอีกคนหนึ่ง  เกิดจำได้ว่าเป็นญาติเรา  คือ สัญญาจำได้ว่าเป็นญาติไม่ได้เจอกันนาน  ก็เกิดสังขารคิดปรุงแต่งไปในทางดีใจที่ได้เจอญาติ ตอนแรกมองเห็นคนอื่นๆ ก็เฉยๆ  เพราะไม่ได้ให้ความสำคัญว่าใครเป็นใคร  ก็เป็นแต่เพียงรูปอย่างหนึ่งที่นั่งอยู่  ที่ยืนอยู่  ที่เดินอยู่  ที่พูดอยู่  แต่พอจำหน้าตาท่าทางคนหนึ่งได้ว่าเป็นญาติ  จิตก็ปรุงแต่งเป็นดีใจ  เกิดปีติ  กระตือรือร้น  เป็นความสงสัย  เป็นคำถามมากมายพรั่งพรูออกมา  เป็นความยึดถือว่าเป็นญาติของเรา

จิตส่วนที่ทำหน้าที่รับรู้เกิดขึ้นมารับรู้แล้วดับไป  ส่งต่อหน้าที่ให้สัญญา  จดจำได้  ทำเครื่องหมายไว้  แล้วสัญญาก็หมดหน้าที่ดับไป  ส่งต่อให้สังขารทำหน้าที่คิดปรุงแต่งจินตนาการเป็นพอใจ  ไม่พอใจ  แล้วดับไป  พร้อมกับเก็บข้อมูลเป็นอนุสัยไว้ในจิต  เกิดเป็นกระแสวิญญาณสืบเนื่องต่อไป

เรายึดขันธ์ที่เกิดขึ้นและดับไปเป็นคราวๆ นี่แหละ  ว่าเป็นตัวเราของเรา  ยึดเอาความคิดที่เกิดขึ้นเป็นคราวๆ ว่าเป็นตัวเราของเรา  ร่างกายก็เป็นขันธ์อันหนึ่ง  เกิดขึ้นเป็นคราวๆ  ดับไปเป็นคราวๆ แม้สิ่งที่ประกอบกันขึ้นเป็นร่างกาย  คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ก็เกิดขึ้นและดับไปเป็นคราวๆ  ส่งทอดคุณสมบัติต่อไปยัง ดิน น้ำ ไฟ ลม อันใหม่ ตั้งแต่เล็กจนโต  เซลล์ในร่างกายจะว่าเป็นเซลล์ที่เกิดจาก ดิน น้ำ ไฟ ลม อันเดียวกัน ก็ไม่ใช่  จะว่าเป็นคนละส่วนกัน  ก็ไม่ใช่  เซลล์เก่าตายเพื่อก่อกำเนิดเซลล์ใหม่ แล้วก็ส่งคุณสมบัติต่อกันไปเช่นนี้

ความเกิดดับในรูปกายจะมีตั้งแต่หยาบไปจนถึงละเอียด จากรูปไปจนถึงนาม จากรูปขันธ์ไปจนถึงนามขันธ์  จากรูปขันธ์ที่หยาบไปจนถึงรูปขันธ์ละเอียด  จากนามขันธ์ที่หยาบไปจนถึงนามขันธ์ที่ละเอียด  การเกิดดับของรูปขันธ์ที่หยาบ  คือ อิริยาบถ เกิดดับ จากท่านั่งเป็นท่ายืน  เดิน นอน สลับกันไปทั้งวัน  ละเอียดลงไปจนถึงการเคลื่อนไหวเกิดดับ  เพราะอวัยวะทุกส่วนของร่างกายสลับกันเคลื่อนไหวอยู่ตลอด  ไม่มีว่างเว้น  ละเอียดลงไปอีกเป็นธาตุในกาย  หรือเซลล์เกิดดับอยู่ตลอด  ไม่มีว่างเว้น ละเอียดลงไปอีก

นามขันธ์ คือ จิตเกิดดับ  แม้ในการเกิดดับของจิตก็ยังมีองค์ประกอบของจิตเกิดดับละเอียดลงไปอีก คือ วิญญาณเกิดดับ จึงเรียกว่า วิญญาณไม่เที่ยง เวทนาเกิดดับ จึงเรียกว่า เวทนาไม่เที่ยง  สัญญาเกิดดับ จึงเรียกว่า สัญญาไม่เที่ยง  สังขารเกิดดับ จึงเรียกว่า สังขารไม่เที่ยง  เพราะรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเกิดและดับเป็นคราวๆ เช่นนี้  จึงไม่มีสิ่งควรยึดถือว่าเที่ยง ว่ามีตัวตน ขันธ์ส่วนที่เป็นนาม คือ ความรู้นึกคิดจิตใจ ก็เกิดและดับไปเป็นคราวๆ เช่นเดียวกันกับขันธ์ส่วนของรูป

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ขันธ์ห้าเป็นภาระหนัก แบกรับภาระของกายก็หนัก แบกรับภาระของใจก็หนัก ที่ว่าหนักก็เพราะเมื่อใจคิดอย่างนี้แล้วไม่ได้ดังใจก็หนักอกหนักใจ  ก็ก่อความระทมทุกข์ขึ้นมาที่ใจ  คนเราทุกข์หนักก็เพราะดิ้นรนจะให้ได้ดั่งใจนี่แหละ

 เมื่อขันธ์ห้าไม่ได้ดั่งใจก็ทุรนทุราย  กายไม่ได้ดั่งใจก็ทุรนทุราย  ใจไม่ได้ดั่งใจก็ทุรนทุรายใจ  แต่เมื่อได้มาปฏิบัติธรรมได้เห็นลมหายใจ  พอใจเริ่มพบความสงบ ได้มีโอกาสใคร่ครวญพิจารณาธรรม ก็เริ่มเบาใจเย็นใจ  เริ่มเข้าใจว่า อะไรๆ จะให้ได้ดั่งใจเป็นไม่มี  เพราะมันไม่แน่

ไม่แน่ คือ ไม่เที่ยง

ไม่เที่ยง  คือ เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา

อะไรที่เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาจะให้ไม่เป็นทุกข์ไม่มี  เวลาทุกข์ก็ทุกข์เหมือนใจจะขาด  เวลากลุ้มใจก็กลุ้มใจแทบบ้าคลั่ง  เวลาน้อยเนื้อต่ำใจ  ก็คิดประชดประชันจนจะฆ่าตัวตาย  เราเคยทุกข์กับความคิดเรื่องใดวนซ้ำ  มันจะค่อยๆ  เพิ่มความรุนแรงขึ้น เราปล่อยให้มันเจริญเติบโต  เหมือนปล่อยให้สิ่งมีชีวิตเจริญเติบโตซ้อนทับขึ้นมาในใจเรา  โดยไม่เคยคิดแม้แต่จะหาวิธีกำจัดมันออกไป  เพราะไม่มีสติระลึกรู้จึงต้องทุรนทุรายไปกับความคิด  แต่พอมีสติระลึกรู้แล้วมันก็จะหยุด  หรือรอบความคิดจะเกิดช้ากว่าเดิม  จากเดิมที่คิดวนซ้ำจนหัวแทบระเบิด  เมื่อรู้แล้วรอบความคิดก็จะช้าลง

ยิ่งมีสติระลึกรู้อยู่บ่อยๆ ก็เหมือนใช้สติไปตัดให้รอบความคิดขาดเป็นตอนๆ ไม่ปล่อยให้มีโอกาสได้เจริญเติบโต  ต่อไปก็นานๆ ทีจึงจะวนกลับมาคิดซ้ำ  แม้จะวนกลับมาก็ไม่ก่อความรุนแรงอีกแล้ว เพราะถูกตัดตอนให้ขาดเป็นท่อนโดยสติอยู่บ่อยๆ  ในที่สุดก็จะเป็นแค่ระลอกความคิดที่ก่อตัวขึ้นแล้วจางหายไปเอง  ไม่ใช่ก่อตัวขึ้นแล้วพัฒนาจนกลายเป็นคลื่นร้ายโหมกระหน่ำ  ทำลายทุกอย่างที่ขวางอยู่ข้างหน้าให้พังพินาศลง

          การฝึกหัดจิตเพื่อให้ความระลึกรู้เจริญเติบโต  ต้องค่อยๆ ให้เจริญเติบโตไปตามลำดับ  ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป  อย่าถึงกับเร่งวันเร่งคืนจนเกินไป  เหมือนเลี้ยงลูกเราก็ดูเขาค่อยๆ  เจริญวัยเติบโตขึ้นไปตามลำดับ  จะเลี้ยงทิ้งๆ ขว้างๆ ก็ไม่ได้  จะเลี้ยงแบบบำรุงบำเรอจนเกินไป  ไม่ให้รู้ทุกข์รู้ยากบ้าง  ก็ไม่ได้  ต้องให้ได้เรียนรู้สุขบ้าง ทุกข์บ้าง

การจะให้ความระลึกรู้เจริญเติบโตก็ให้จิตเรียนรู้สุขบ้าง  ทุกข์บ้าง  ให้จิตได้เรียนรู้ถึงความไม่เที่ยงแท้แน่นอน  ให้จิตได้มีข้อมูลว่า  อะไรๆ ก็ไม่เที่ยง  แม้ความสงบที่เราแสวงหา ก็ไม่เที่ยง บางที่อยากก็ไม่สงบ บางทีไม่อยากกลับสงบ…

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๑๕) เห็นเฉยๆ กับเห็นแบบจำได้ เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here