“หนึ่งธรรมในกำมือ” พระธรรมทูตเชิงปฏิบัติการ กับ การประยุกต์ใช้ โดยพระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙,ดร.

0
1494

คราวที่แล้วเล่าสรุปการถอดบทเรียนจาก “หลักสูตรสุ จิ ปุ ลิ เพื่อชีวิตดีงาม” หลักสูตรเตรียมพระธรรมทูตสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ๙๘๐ ที่จัดขึ้น ณ วัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวัน ๙-๑๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๙ โดยกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ ส่งพระวิทยากรมาถ่ายทอดความรู้ในกระบวนการอบรม

“หนึ่งธรรมในกำมือ”

เตรียมพระธรรมทูตเชิงปฏิบัติการ กับ การประยุกต์ใช้

โดย พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙,ดร.

ซึ่งกิจกรรมหนึ่งในนั้นคือ “หนึ่งธรรมในกำมือ”

โดยให้แต่ละรูปแต่ละท่านหาของอะไรก็ได้มาหนึ่งอย่าง

แล้วอธิบายว่าสอนอะไร ภายใน ๓ นาที

โดยสรุปสั้นๆ แต่ละรูปมีคำอธิบาย อาทิ …

 “น้ำ” สามารถแปรไปได้ตามสภาพต่างๆ น้ำที่ใสย่อมเห็นวัตถุต่างๆ ได้ น้ำที่ขุ่นมัวจะไม่สามารถมองอะไรเห็นได้ เหมือนตัวเราต้องปรับตัวเข้าได้กับทุกที่ และทำใจให้ใสเหมือนน้ำเพื่อจะได้เห็นทุกข์ตามความเป็นจริง

“ดิน” สามารถปั้นหรือทำเป็นอะไรก็ได้ แต่เราต้องทำให้ดินนั้นอ่อนนุ่มเสียก่อน ไม่อย่างนั้นก็ทำอะไรไม่ได้ เหมือนตัวเราต้องยอมที่จะเป็นคนที่มีสัมมาคารวะจะได้สอนและแนะนำอะไรจากครูบาอาจารย์ได้ง่าย

แก้วน้ำ มองอีกมุม Mon 'Photo
แก้วน้ำ มองอีกมุม Mon ‘Photo

“แก้วน้ำ” เพราะคนต่างนานาจิตตัง ถ้าเรามองแก้วน้ำด้านไหนก็เห็นด้านนั้น เปรียบกับมนุษย์ที่แตกต่างกันไป ส่วนมากจะเข้าข้างความคิดของตนเองว่า “ถูก” แต่เราควรเอาใจเขามาใส่ใจเรา เพราะความคิดเราก็อาจไม่ถูกต้องเสมอไป  

“ยางยืด” ชีวิตที่เป็นสุขนั้นจะต้องมีใจที่ยืดหยุ่น ยอมรับความจริงได้ตามธรรมชาติที่เป็น

“ไฟแช็ค” ไฟนั้นสามารถทำลายล้างอะไรก็ได้ และไฟกิเลสก็ต้องกำจัดด้วยธรรมะ

“เหรียญ” เหรียญมีสองด้าน อยู่ที่ใครจะนำด้านไหนมาเสนอ มีสุข มีทุกข์ มีดี มีร้าย มีมืด มีสว่าง มีดี มีชั่ว จึงต้องมีสติ อ่อนและมองทุกอย่างว่ามีสองด้านเสมอ

 “ดอกบัว” ดอกบัวเมื่อเกิดขึ้นอยู่ในโคลนตม กว่าจะชูช่อพ้นน้ำได้ต้องผ่านอะไรมามากมายหลายอย่าง

“พลาสติก” เป็นอะไรก็ได้ คือความหลากหลายในธรรมะ ถ้าเราไม่ใช้ประโยชน์ก็กลายเป็นขยะที่กำจัดยาก แต่ถ้าใช้ก็เกิดประโยชน์ และการที่เราให้ความเคารพต่อกันย่อมจะมีประโยชน์และสวยงามเสมอ

 “ก้อนหิน” ก้อนหินนั้นแข็งแรงและแข็งแกร่ง เช่นเดียวกับเราต้องมีจิตใจหนักแน่น เราต้องรักษาร่างกายให้ดีไว้ เมื่อเรามีจิตใจที่แข็งแกร่งก็ยากจะมีอะไรทำลายได้

 “อากาศ” เป็นสิ่งที่ไม่มี หาไม่พบ สำคัญอย่างไม่สำคัญ มีอย่างไม่มี อยู่อย่างสบายได้ทุกที่ แต่เราไม่เคยนึกถึง กระทั่งถูกวิปัสสนาจารย์ให้เรากำหนดลมหายใจ และ เราควรอยู่เหมือนอากาศ ไร้ตัวตน ไม่วุ่นวาย ไม่ขัดแย้ง

“ใบไม้แห้ง” ใบไม้นี้แต่เดิมเป็นสีเขียว ต่อมาก็แห้ง เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไปก็ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปตาม วยธมฺมา สงฺขารา สังขารทั้งหลายทั้งปวงมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ ท่านทั้งหลายจงทำชีวิตให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาท

 “เทียนไข” ชีวิตเหมือนเทียนไข ตอนที่เราเกิดนั้นบริสุทธิ์เหมือนเทียนไข เทียนไขที่จุดแล้วเมื่อเราโตขึ้น แสงเทียนให้แสงสว่างโลก แต่เทียนก็หมดไปและสิ้นสุดลง และดับลงไปในที่สุด

 “เมล็ดข้าว” กว่าจะเป็นเมล็ดข้าวต้องอาศัยน้ำ อากาศ ปุ๋ย และการดูแล เช่นเดียวกับทุกชีวิตที่เกิดและเติบโตโดยอาศัยสิ่งอื่นๆ รอบตัวแม้แต่เมล็ดข้าวที่เราได้กินไป

 “เข็ม” คนเราจะทำอะไรต้องให้แหลมและทะลุทะลวงได้เหมือนเข็ม

 “ดินสอ” ดินสอเกิดมาพร้อมไส้ที่อยู่ภายใน เปรียบแล้วเปลือกด้านนอกคือตัวเรา ไส้ในของดินสอคือพระพุทธศาสนาที่เราต้องรักษาไว้

“เชิงเทียน” เทียนให้แสงสว่าง แต่ต้องอาศัยเชิงเทียนให้เทียนตั้งอยู่ได้ เปรียบเหมือนคนรักษาพระพุทธศาสนาต้องปฏิบัติธรรมจนเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต เห็นไตรลักษณ์ จึงสามารถนำพระพุทธศาสนาไปในทางที่ถูกต้อง

 “ลูกแก้ว” ดวงจิตของเราใสเหมือนลูกแก้ว ลูกหญิงชายคือแก้วตาดวงใจของพ่อแม่ พระพุทธศาสนาเป็นแก้ว (รัตนะ) ของชาวพุทธทุกคน เพราะเป็นของสำคัญจึงใสสะอาดและควรค่าแก่การคุ้มครองรักษา

“แผ่นกระดาษ” สามารถบันทึกเรื่องต่างๆ ได้เพราะชีวิตต้องถูกบันทึกไว้ในที่ใดที่หนึ่ง และแผ่นกระดาษที่บันทึกได้นั้นต้องว่างเปล่า เมื่อบันทึกมากเข้าเราก็วุ่นวายกับเรื่องต่างๆ ในชีวิต และกระดาษนั้นก็ไม่ว่างดูวุ่นวายและสับสนขึ้นทุกที ดังนั้นการจะบันทึกอะไรลงบนแผ่นกระดาษให้บันทึกด้วยสติ และปัญญา กระดาษแผ่นนั้นก็จะเป็นประโยชน์กับผู้คนต่อไป ไม่ว่างเปล่า

 “ดอกไม้” มีสีสันสวยงาม น่าสนใจ กลิ่นของดวกไม้จะลอยไปตามลม เช่นเดียวกับกลิ่นของผู้มีศีลจะได้กลิ่นไปไกลทั้งตามลมและทวนลม

 “หนังสือ” ความรู้ที่เราได้รับมาจากพระมุนีผู้สงบบรรยายไว้และถูกบันทึกไว้ในหนังสือ เราก็ต่างดำเนินในทางเดียวกันเมื่อสิ้นสุดจะต้องมีบางอย่างฝากไว้ และหนังสือจะเป็นตัวเราเมื่อเราจากไปแล้ว

 “ต้นไม้” เป็นธรรมชาติ เป็นที่อยู่ของเหล่าสรรพสิ่ง ร่มเย็นสดชื่น ไม่ต่างจากชีวิตของบัณฑิตที่อยู่ที่ใดก็เป็นที่พึ่งพิงให้กับเหล่าสรรพสัตว์เสมอ เหมือนต้นไม้นั้นถ้าใบเยอะก็ให้ร่มเงาได้มาก คนที่อยู่ร่มเย็น หากต้นไม้ไร้ใบก็ไม่ต่างจากคนไร้เพื่อน ไร้ญาติ อยู่ที่ไหนก็ร้อนทุรนทุรายทุกที่

หลังจากจบกิจกรรมนี้สรุปได้ว่า

๑. ธรรมะที่เราหยิบมาคุยส่วนหนึ่งเป็นธรรมชาติจริงๆ ที่สอนธรรมะได้โดยตรง

๒. ธรรมะอีกอันที่เรายกมาเกิดจากการตีความสิ่งรอบตัวที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งต้องอาศัยการแยกแยะด้วยปัญญามากขึ้น

และข้อ ๓. สิ่งสำคัญที่เราไม่ได้ยกมาคือ “ตัวเรา” ในฐานะผู้สอนธรรมะจากภายในด้วยการทำตัวเองให้เป็นแหล่งสอนธรรมะ

ดังนั้น สิ่งที่พระธรรมทูตและผู้คนที่ศึกษาปฏิบัติธรรมแล้วจะต้องทำให้เพิ่มพูนต่อไป คือ “ธรรมะในตัวเราเอง” คืออยู่ให้เย็นและเป็นประโยชน์กับผู้อื่นต่อไป นี้คือเป้าประสงค์ของพระพุทธเจ้าในการประกาศสัจธรรมที่แท้จริง

“หนึ่งธรรมในกำมือ” พระธรรมทูตเชิงปฏิบัติการ กับ การประยุกต์ใช้ โดยพระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙,ดร.
กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ
คอลัมน์ ท่องเที่ยวโลกกะธรรม โดย พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ปธ.๙ .ดร.
หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๒

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here