การเตรียมตัวของลูกพุทธบุตรก่อนที่จะบรรพชาเป็นสามเณร

นอกจากการท่องบทคำขอบรรพชาให้ได้แล้ว

ต้องฝึกสำรวม กาย วาจา ใจ เปลี่ยนแปลงจริตนิสัย

มีโอกาสมาแก้ไขในส่วนที่ไม่เหมาะไม่ควร

เพื่อให้ดำเนินวิถีชีวิตไปตามพระธรรมวินัย

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อการบ่มเพาะเด็กๆ ให้เรียนรู้จักตนเองจากด้านในอย่างแท้จริง

แม้เพียง ๑ เดือน แต่ก็เป็นเดือนหนึ่งที่ได้ฝึกหัดขัดเกลาตนอย่างเต็มกำลัง

และจะเป็นหนึ่งเดือนที่อาจเป็นจุดเปลี่ยนเพื่อชีวิตที่ดีงาม มีความมั่นคงทางใจ

ทำสิ่งใดก็ชัดเจน มีพลัง สร้างสรรค์ชีวิตตน และอยู่ร่วมกันผู้อื่นอย่างสันติสุข

เพราะ…

พระครูนิโครธธรรมาภรณ์ หรือ หลวงตาเอนก ยสทินฺโน
เจ้าอาวาสวัดป่าไทรงาม พระอาจารย์ใหญ่โครงการสามเณรปลูกปัญญาธรรมปี ๗

ศีลธรรม คือชีวิต

เบื้องหลัง “สามเณรปลูกปัญญาธรรมปี ๗”

โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท  วัดทองนพคุณ คลองสาน กรุงเทพฯ

น้องๆ เยาวชนพุทบุตรทั้ง ๑๒ คน คงตื่นเต้นไม่ใช่น้อยที่จะได้มาใช้ชีวิตในวัดตลอดระยะเวลาหนึ่งเดือน วันแรกเมื่อน้องๆ มาถึงที่วัดป่าไทรงาม อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ก็ได้มอบตัวเป็นลูกศิษย์ แนะนำตัวเอง บอกถึงความตั้งใจวัตถุประสงค์ในการมาฝึกฝนตนเองกับ พระครูนิโครธธรรมาภรณ์ หรือ หลวงตาเอนก ยสทินฺโน เจ้าอาวาสวัดป่าไทรงาม พระอาจารย์ใหญ่โครงการสามเณรปลูกปัญญาธรรมปี ๗ หลวงตาได้เมตตาให้โอวาทธรรม

              จากนั้น พระครูปลัดทรัพย์ชู มหาวีโร ได้แนะนำคณะพระอาจารย์พี่เลี้ยง ซึ่งเป็นผู้ที่จะคอยดูแล ชี้แนะ ขัดเกลาเหล่าพุทธบุตรตลอดทั้ง ๔ สัปดาห์นับจากนี้ การพบเจอกันครั้งแรกไม่ใช่เพียงแต่ลูกนาคเท่านั้นที่ตื่นเต้น คณะพระอาจารย์พี่เลี้ยงก็ตื่นเต้นไม่ใช่น้อย

           การเตรียมตัวของลูกพุทธบุตรก่อนที่จะบรรพชาเป็นสามเณร นอกจากการท่องบทคำขอบรรพชาให้ได้แล้ว ต้องฝึกสำรวม กาย วาจา ใจ เปลี่ยนแปลงจริตนิสัย มีโอกาสมาแก้ไขในส่วนที่ไม่เหมาะไม่ควร เพื่อให้ดำเนินวิถีชีวิตไปตามพระธรรมวินัย

           ตามปกติผู้ที่จะมาบวชที่วัดป่าไทรงามจะต้องมาอยู่ใส่ผ้าขาวทำกิจวัตรเหมือนพระสงฆ์สามเณรทุกอย่างเพื่อเตรียมความพร้อมในการที่จะบรรพชา ขณะนี้ถูกเรียกว่า “ผ้าขาว” หรือ “ลูกนาค” ผู้กำลังเตรียมพร้อมสู่การบรรพชา ขอเรียกว่าลูกนาคก็แล้วกัน ในช่วงก่อนที่ลูกนาคจะเข้ามาอยู่ในวัดก็มีผู้มาขออุปสมบท หลวงพ่อก็ให้ใส่ผ้าขาว ปฏิบัติกิจวัตรเหมือนพระภิกษุสามเณรทั่วไป เริ่มต้นด้วยการกราบพระให้เป็น นั่งพับเพียบ นั่งคุกเข่าให้ได้ในเวลาทำวัตรสวดมนต์ ทุกคนก็ต้องฝึกให้ผ่านบททดสอบ เป็นการทดสอบทั้งร่างกายและจิตใจ

           ในการอยู่ร่วมกันของลูกนาค เบื้องหน้าคณะพระอาจารย์พี่เลี้ยงก็ได้สอนมารยาทในการอยู่ร่วมกัน การกราบพระ การลุก การนั่ง การประนมมือพูดกับพระอาจารย์ การที่หลวงตาคณะพระอาจารย์เดินผ่านจะต้องนั่งประนมมือ การสนทนาก็ต้องประนมมือพูดคุย รวมถึงการเรียนรู้วิถีการปฏิบัติครูบาอาจารย์ด้วยการเป็นลูกศิษย์ออกไปบิณฑบาตด้วย ทำหน้าที่ช่วยถือของ รับบาตร ล้างเท้าพระอาจารย์ ลูกนาคทุกคนค่อยๆ เรียนรู้ซึมซับวิถีอย่างตั้งใจ

           การฝึกฝนตนเองให้มีกิริยาอาการอ่อนน้อม เรียบร้อย ถ่อมตนจนเป็นนิสัย คือส่วนหนึ่งของวัตรปฏิบัติแห่งผู้ทรงศีล คือเป็นธรรมเนียมของพระสงฆ์สามเณรที่จะกระทำให้เป็นแบบแผนเดียวกันอย่างสม่ำเสมอ แสดงถึงฐานะ สร้างความเป็นเอกภาพ ยังความเลื่อมใสแก่ผู้พบเห็น รวมทั้งยังเป็นหนทางหนึ่ง ในการลดทิฏฐิ ละอัตตา

           ปีนี้ลูกนาคได้ปฏิบัติตามวิถีของวัดป่า นับเป็นความพิเศษแปลกใหม่ ไม่เคยมีปรากฏมาก่อนในโครงการสามเณรปลูกปัญญาธรรมทั้ง ๖ ปีที่ผ่านมา บรรดาลูกนาคได้รับความเมตตาจากพระอาจารย์รำไพ พระอาจารย์ทวี และพระอาจารย์ภมร จากวัดป่าไทรงาม ซึ่งได้ตระเตรียมตัดเย็บผ้าห่มคลุม สำหรับมอบให้ว่าที่สามเณรใช้สอยก่อนที่จะเข้าสู่พิธีบรรพชา

ความสามารถในการตัดเย็บผ้ากาสาวพัสตร์ขึ้นใช้เอง เป็นหนึ่งในวิถีปฏิบัติของพระภิกษุฝ่ายอรัญวาสี ขณะเดียวกันการที่พระในวัดจะช่วยจัดหาตระเตรียมบริขารที่จำเป็น เพื่อมอบให้แก่ผู้ที่จะมาบวชเรียน ก็นับเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเช่นกัน

           พระอาจารย์ทั้ง ๓ ท่านได้กรุณาวัดตัวลูกนาคทั้ง ๑๒ คน จากนั้นก็ลงมือวัดผ้าและตัดเย็บ โดยเปิดโอกาสให้ลูกนาคได้เรียนรู้ และตอบข้อซักถามจากความสงสัยต่างๆ ด้วยความเมตตาช่วงเวลาที่พระอาจารย์ภมร และคณะพระอาจารย์ ได้เมตตาวัดตัวและเย็บจีวรขาวให้ว่าที่สามเณรทั้ง ๑๒ คนนั้น เป็นช่วงเวลาที่สร้างความสนใจให้ลูกนาคเป็นอย่างมาก การตัดเย็บบริขารทำให้ลูกนาคได้เห็นถึงกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ที่ซับซ้อน กว่าจะมาเป็นผ้าสบงหรืออังสะสักผืน เพื่อให้ลูกนาคเห็นถึงคุณค่า รู้จักหวงแหนและถนอมรักษาสิ่งของที่ตนใช้สอย

           วิถีของวัดป่าที่ต้องพึ่งพาตนเอง อยู่กับตัวเองให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตัด เย็บ ย้อม หรือแม้รังดุมขาดก็ต้องซ่อมเอง เพื่อไม่ให้เป็นภาระของผู้อื่น พระอาจารย์ภมรได้เริ่มสอนลูกนาคให้ทำตะกร้อ หรือเงื่อนปมของอังสะ ซึ่งทำขึ้นจากเชือกเพียง ๑ เส้นเท่านั้น

วิธีการที่พระอาจารย์สาธิตก็ดูเรียบง่าย แต่เมื่อลูกนาคลงมือทำกันเอง จึงได้พบว่ากระบวนการอันเรียบง่ายนั้น ช่างมีความซับซ้อน ยากที่มือน้อยๆ จะทำให้สำเร็จได้โดยง่าย การสอนให้ลูกนาคฝึกทำตะกร้อผูกอังสะนับเป็นการฝึกฝนสติและสมาธิ ผ่านการทำงาน การสอดสานเส้นเชือก ยังแฝงด้วยคติธรรมสอนใจที่ว่า หากต้องการจะคลายปม ถ้ายิ่งดึง ปมก็กลับยิ่งแน่น แต่หากรู้จักปล่อยและคลาย ก็จะสามารถแก้ปมออกมาได้ เหมือนกับมนุษย์ที่ต้องรู้จักปล่อยวาง ลดละความยึดมั่นถือมั่น

การทำกิจวัตรไหว้พระสวดมนต์ของพระอาจารย์ที่วัดป่าไทรงาม ท่านไม่ได้ใช้วิธีจัดระเบียบลูกนาคให้เรียบร้อยก่อนจะเริ่มทำวัตร แต่ใช้วิธีเริ่มทำวัตรทันทีอย่างพร้อมเพรียงเมื่อถึงเวลาอันควร เสมือนเป็นการแสดงตัวอย่างที่ดีให้ว่าที่สามเณรกระทำตาม ในลักษณะ “ทำให้ดู อยู่ให้เห็น” ลูกนาคทั้ง ๑๒ จึงต้องฝึกการสังเกต ฟัง ดู และปฏิบัติตาม อย่างตื่นตัวเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา ในยามที่บทสวดแต่ละบทจบลง พระอาจารย์ท่านก็ไม่ได้คอยบอกลูกนาค ว่าบทสวดถัดไปอยู่ในหนังสือหน้าไหน ลูกนาคแต่ละคนจึงติดตามการสวดทำวัตรได้เร็วช้าไม่เท่ากัน

“การทำให้ดู อยู่ให้เห็น” เป็นหนึ่งในวิธีการสอนของหลวงปู่ชา ซึ่งกลายมาเป็นวิถีของวัดป่าสาขาวัดหนองป่าพง และจะเป็นหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ที่ลูกนาคจะได้ฝึกฝนซึมซับต่อไป ตลอดการบวชเรียนที่จะมาถึง ดูเหมือนจะมีลูคนาคบางคน ที่เริ่มซึบซับวิธีปฏิบัติของบรรดาพระอาจารย์ สะท้อนออกมาเป็นความตั้งใจอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่นั่งสมาธิ สวดมนต์ จนกระทั่งถึงการจัดเรียงหนังสือสวดมนต์อย่างเรียบร้อย

การทำกิจวัตรใหม่ในบรรยากาศที่แตกต่างไปจากความคุ้นชิน ทำให้ลูกนาคหลายคนมีอาการยุกยิก หลุดจากความสงบเรียบร้อยอยู่เรื่อยๆ หลายคนต้องขอลุกออกไปเปลี่ยนอิริยาบท ก่อนจะกลับมาร่วมทำวัตรอีกครั้ง เมื่อความเมื่อยคืบคลานมามากเข้า แต่ความอยากทำวัตรมีมากกว่า ลูกนาคหลายคนจึงได้แต่แสดงออกทางสีหน้าอย่างเห็นได้ชัด

เมื่อความเบื่อหน่ายเข้ามาเยี่ยมเยือน ลูกนาคหลายคนจึงผลัดกันปรับเปลี่ยนท่านั่งอยู่ตลอดเวลา ความไม่สบายกาย ไม่สบายจิตที่เกิดขึ้นเหล่านี้ เป็นหนึ่งในอุปสรรค ที่เหล่าว่าที่พุทธบุตรต้องพยายามก้าวข้าม ด้วยการฝึกฝนขัดเกลาตนเอง

การฝึกปฎิบัติดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง สู่การซ้อมขานนาค เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างความมั่นใจให้กับบรรดาว่าที่สามเณร เหล่าลูกนาคต่างเปล่งเสียงคำขอบรรพชาอย่างเสียงดังฟังชัด แสดงถึงความตั้งจิตตั้งใจในการจะบรรพชา

 หลังจากซ้อมขานบทขอบรรพชาเรียบร้อยแล้ว พระอาจารย์ได้ขออาสาสมัคร ๑ คน เพื่อสาธิตวิธีครองผ้า จากนั้นลูกนาคจึงจับกลุ่มกันซ้อมครองผ้า โดยมีคณะพระอาจารย์พี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด แม้จะผิดบ้าง ถูกบ้าง แต่การให้ว่าที่สามเณรได้เรียนรู้และลงมือฝึกปฎิบัติจริง ก็เรียกบรรยากาศครื้นเครงให้กลับมาอีกครั้ง ช่วงเวลานี้ ยังช่วยสานสัมพันธ์ ให้ลูกนาครู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

แม้การทำกิจกรรมลูกนาคหลายคนจะมีความติดขัดไม่เรียบร้อยอยู่บ้าง จากความไม่คุ้นชินกับสิ่งใหม่ๆ และกิจวัตรที่ท้าทายต่อธรรมชาติของเด็ก แต่เหล่าว่าที่สามเณร ก็ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคเหล่านั้น แต่ละคนต่างหมั่นสะสมความรู้และประสบการณ์ เพื่อฝึกฝนพัฒนาตนสู่การเป็นผู้เจริญ บนเส้นทางแห่งพระธรรม

การที่จะต้องนอนตื่นเช้า ดูแลรับผิดชอบตัวเอง เก็บที่นอนหมอนมุ้ง ทำภารกิจส่วนตัว อาจจะเป็นอุปสรรค์สำหรับลูกนาคบางคนในช่วงเวลาเริ่มต้น แต่พอลงตัวสองสามวันทุกคนก็ทำได้ดี ลูกนาคที่ได้อยู่กับพระอาจารย์พี่เลี้ยงประจำกุฏิก็จะได้รับบทเรียนจากพระอาจารย์พี่เลี้ยงที่แตกต่างกัน

ทุกรูปต่างก็คอยสังเกต ลูกนาคคนไหนขาดเรื่องอะไรก็เพิ่มเติมให้ ตื่นนอนมาก็ต้องสอนการเก็บที่นอน สอนจากเรื่องเล็กๆไปสู่เรื่องใหญ่ๆก็บอกว่า ถ้าเราตื่นนอนมาแล้วไม่เก็บที่นอน แม้เรื่องเล็กๆเรายังไม่สามารถที่จะทำได้ เราจะทำเรื่องที่ยิ่งใหญ่ได้อย่างไร

เราจะรับผิดชอบตัวเองได้อย่างไร เราจะช่วยเหลือคนอื่นได้อย่างไร เราจะต้องอาบน้ำเอง เราจะต้องสักเสื้อผ้าเอง เมื่อเราบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว เราจะต้องดูแลตัวให้ได้ ดูแลตัวเองไม่พอ เราต้องเรียนรู้ที่จะอุปัฏฐากครูบาอาจารย์ เราค่อยๆสอนไปเรื่อยๆ

วันก่อนที่ลูกนาคทุกคนจะได้เข้าบรรพชาได้มีโอกาสฟังโอวาทจากหลวงตา ซึ่งหลวงตาสอนเรื่องการสำรวมกาย วาจา และใจ ซึ่งเป็นบทเริ่มต้นที่เข้าใจและปฏิบัติได้ง่ายที่สุด การก้ม การน้อมศีรษะลง คำพูดเสริมความงาม ปลูกฝังนิสัยที่ดี ต้องทำอะไรให้ดีที่สุด เห็นครูบาอาจารย์มาถ้านั่งเป็นกลุ่ม ให้นมัสการพระอาจารย์ เป็นความดีที่สม่ำเสมอ เป็นปฏิวิสัย ปลูกฝากไว้ ถ้าเป็นดอกไม้ก็มีสีสวยขึ้น แต่ศีลธรรมหอมกว่าดอกไม้ หอมไปทั่วทิศทั้งสี่

ติดตามเรื่องราวการเรียนรู้ของเหล่าว่าที่สามเณรในสัปดาห์ต่อไป  

พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท  ผู้เขียน พระวิทยากรจากลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ
พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท ผู้เขียน
พระวิทยากรจากลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม
สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม
และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ
อลัมน์ จาริกบ้านจารึกธรรม หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๒
“การสอนให้ลูกนาคฝึกทำตะกร้อผูกอังสะ
นับเป็นการฝึกฝนสติและสมาธิ ผ่านการทำงาน
การสอดสานเส้นเชือก
ยังแฝงด้วยคติธรรมสอนใจที่ว่า
หากต้องการจะคลายปม
ถ้ายิ่งดึง ปมก็กลับยิ่งแน่น
แต่หากรู้จักปล่อยและคลาย
ก็จะสามารถแก้ปมออกมาได้
เหมือนกับมนุษย์ที่ต้องรู้จักปล่อยวาง
ลดละความยึดมั่นถือมั่น”
พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here