วันนี้วันพระ วันพฤหัสบดีที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๔ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๓๑)

“มัคคสมังคี”

เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร)

“มัคคสมังคี”

          เพ่งความสนใจลงไปที่การลงมือปฏิบัติเพื่อให้ทุกข์ดับ  จิตรวมดวงลงที่มรรค คือหนทางที่จะดับตัณหาอันเป็นเหตุให้ทุกข์เกิด  เมื่อลงมือปฏิบัติสมาธิก็ชื่อว่า  เริ่มต้นลงมือทำให้ทุกข์ดับไป  ตามเส้นทางแห่งอริยมรรคมีองค์ ๘  เมื่อมีความเห็นที่ถูกต้องมาตามลำดับเช่นนี้แล้ว  ก็มีความดำริในใจที่จะดำเนินไปตามความเห็นที่ถูกต้องนั้น  ก็ลงมือพูด  ลงมือทำ  ลงมือทำมาหาเลี้ยงชีพที่ถูกที่ควร  มีความพยายามชอบ  มีสติระลึกรู้ไว้เสมอว่า  เรามีความเห็นเช่นนั้น  แล้วก็มีสมาธิตั้งใจมั่น  หมั่นปฏิบัติไปตามความเห็นที่ถูกต้องนั้น

เมื่อปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘  ก็ชื่อว่าปฏิบัติในไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ และปัญญา เพราะมรรคมีองค์ ๘  ก็รวมลงที่ไตรสิกขา  

การพูดชอบ  การกระทำชอบ  การเลี้ยงชีพชอบ  เป็นศีล  

ความพยายามชอบ  ความมีสติระลึกรู้ชอบ  ความมีสมาธิชอบ เป็นสมาธิ

ความเห็นชอบ ความดำริชอบ เป็นปัญญา

ซึ่งมรรคมีองค์ ๘  ก็คือไตรสิกขา และไตรสิกขาก็คือมรรคมีองค์ ๘  นั่นเอง

แต่มรรคมีองค์ ๘ 

ถ้าจะให้มีกำลังสามารถเจาะทะลุ

ชำแรกกิเลสออกมาได้  

มรรคทั้ง๘  ข้อ  

ต้องมารวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

 เป็นมรรคสามัคคี

 มรรคต้องสามัคคีกันรวมกันเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

พระอาจารย์ญาณวชิระ

 เหมือนการฟั่นเชือกจะให้เหนียวแน่นกลมกลึง ต้องใช้เชือกแต่ละเส้นที่มีขนาดเท่ากัน  เวลาฟั่นเป็นเกลียวจึงจะลงตัวกลมกลึงแนบสนิทแน่นติดกันดี  ไม่มีช่วงไหนเล็กใหญ่เกินกว่ากัน  สวยงาม  มั่นคง  แข็งแรง  เหนียว  ทน  ควรแก่การใช้งาน

ถ้าเส้นหนึ่งใหญ่เส้นหนึ่งเล็ก เอามาฟั่นรวมกัน ฟั่นไปแล้วก็ไม่เท่ากัน ไม่แนบสนิทดี  ไม่เหนียว ไม่ทน ไม่ควรแก่การใช้งาน

เชือกแต่ละเส้นก็คือมรรคแต่ละข้อ  เมื่อฟั่นรวมกันแล้วก็จะเกิดมีกำลังขึ้นมา จึงต้องเอามาฟั่นรวมกันให้เป็นมรรคสามัคคี  ด้วยการปฏิบัติสมาธิ  การเริ่มลงมือปฏิบัติสมาธิก็คือขั้นตอนของการเริ่มเอามรรคแต่ละข้อมารวมกัน  เหมือนการเริ่มลงมือฟั่นเชือก  และเมื่อเริ่มลงมือฟั่นแล้วก็ดำเนินการฟั่นไปเรื่อยด้วยฉันทะ  เชื่อมั่นว่าจะเป็นเชือกที่เหนียวแน่นขึ้นมา  ทำการฟั่นด้วยความเพียรที่เป็นไปไม่หยุดหย่อน  มีความขวนขวายเอาใจใส่  คอยตรวจสอบแต่ละส่วนแต่ละเส้นอยู่เสมอว่า  เข้ากันดีไหม  ส่วนไหนหลวมส่วนไหนแน่นก็ปรับปรุงแก้ไขให้กลมกลึงสนิทแน่น  เรียกตามภาษาปากว่า  มรรคสามัคคีกัน

แต่ถ้าจะเรียกให้ตรง ก็เรียกว่า “มัคคสมังคี”ความพรั่งพร้อมของมรรคแต่ละข้อ มรรคแต่ละข้อมารวมตัวกันอย่างพร้อมเพรียงไม่ก่อนไม่หลัง   

มรรคทั้ง ๘  ข้อ

มารวมกันที่การปฏิบัติสมาธิ  

เมื่อยกจิตขึ้นสู่องค์ภาวนาคือลมหายใจ  

จะเพียรสังวรระวัง

ก็เพียรสังวรระวังอยู่ที่ลมหายใจ  

จะละก็ละอยู่ที่ลมหายใจ

จะภาวนาก็ภาวนาอยู่ที่ลมหายใจ  

จะตามรักษาก็รักษาอยู่ที่ลมหายใจ  

พระอาจารย์ญาณวชิระ

และมีฉันทะเชื่อมั่นว่าลมหายใจจะทำให้เกิดความสงบ  กำหนดลมหายใจต่อไปด้วยความเพียรชอบที่เป็นไปไม่หยุดหย่อน  มีความขวนขวายเอาใจใส่  หมั่นตรวจสอบรอบด้านว่า จิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับลมหายใจหรือไม่  หรือว่าลมหายใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับจิตหรือไม่  ทำให้ลมหายใจกับจิตเป็นประหนึ่งเกลียวฟั่นเชือก

เมื่อจิตรวมดวงมีอารมณ์เดียวอยู่กับลมหายใจ แล้วละวางลมหายใจก้าวสู่ความว่างภายใน มีความเบิกบานเป็นเอกภาพสว่างไสวอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะ ด้วยปัญญา และอุเบกขาอันบริบูรณ์ ไตรสิกขาและมรรคก็ชื่อว่ารวมองค์กัน เป็นมัคคสมังคี แต่ถ้าจะพูดเพื่อสื่อสารให้เข้าใจกันง่ายตามภาษาชาวบ้าน ก็พูดว่า มรรคสามัคคีกัน

จุดที่องค์แห่งมรรครวมองค์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ก็คือการที่จิตรวมดวงลงรู้ปัจจุบันขณะ

ก้าวสู่ความว่างภายใน

พระอาจารย์ญาณวชิระ

จิตรวมดวงลงที่ไหน ก็รวมดวงลงที่อารมณ์พระกรรมฐาน คือลมหายใจ แล้วละวางลมหายใจเข้าสู่ความว่างภายใน เมื่อใดก็ตามที่มีการลงมือปฏิบัติสมาธิ มีความเพียรพยายามอยู่จนจิตรวมดวง เมื่อนั้นมรรคก็เป็นอันรวมองค์กัน ไม่ว่าจะเป็นมรรคมีองค์ ๘  ไม่ว่าจะเป็นไตรสิกขา เมื่อปฏิบัติสมาธิแล้วก็เป็นอันเดียวกัน คือรวมเป็นหนึ่งในความสงบหรือความว่างภายใน

ในมรรคมีองค์ ๘ ข้อ มีความเห็นชอบเป็นองค์แห่งมรรคที่เจืออยู่ในมรรคทุกข้อ เห็นว่า ดำริอย่างนี้เป็นความดำริที่ถูก เห็นว่า พูดอย่างนี้เป็นการพูดที่ถูก เห็นว่า ทำอย่างนี้เป็นการกระทำที่ถูก เห็นว่า ดำเนินชีวิตอย่างนี้ เป็นการดำเนินชีวิตที่ถูก เห็นว่า พยายามอย่างนี้เป็นความพยายามที่ถูก เห็นว่า ระลึกรู้อยู่อย่างนี้เป็นความระลึกรู้ถูก และเห็นว่า มีความตั้งใจมั่นเป็นสมาธิอยู่อย่างนี้ เป็นความตั้งใจมั่นที่ถูก

มีความเห็นอย่างไรจึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิ ที่รวมดวงจนเป็นความเห็นที่เป็นพลัง ก็เห็นอยู่อย่างเดียวคือ มีความเห็นอยู่กับลมหายใจ มีความเห็นอยู่กับความเคลื่อนไหวที่เป็นปัจจุบันขณะ ไม่ว่าจะมีความเห็นเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด ก็กลับมามีความเห็นตรึกตรองอยู่กับลมหายใจ อยู่กับความเคลื่อนไหวที่เป็นปัจจุบันขณะ ไม่ว่าจะดําริอะไรก็ดำริที่จะดูลมหายใจ ไม่ว่าจะพูดจะทำจะลงมือปฏิบัติอะไรก็ปฏิบัติอยู่กับลมหายใจ ไม่ว่าจะดำเนินชีวิตอย่างไร ก็เป็นไปเพื่อตรึกตรองอยู่กับลมหายใจ พยายามก็พยายามอยู่กับลมหายใจ มีสติก็มีสติอยู่กับลมหายใจ มีสมาธิก็มีสมาธิอยู่กับลมหายใจ มรรคมีองค์ ๘  จึงรวมกันเป็นหนึ่งที่การลงมือปฏิบัติเพื่อดำเนินจิตไปสู่ความสงบ

อธิบายอีกอย่างหนึ่ง จะมีความคิดเห็นตรึกตรองไปอย่างหนึ่งอย่างไรก็ให้มีความคิดเห็นตรึกตรองอยู่กับลมหายใจ จะมีความดำริอะไรก็ให้มีความดำริอยู่กับลมหายใจ จะพูดจะจาอะไรก็เป็นไปเพื่อน้อมมาที่ลมหายใจ จะทำอะไรก็เป็นไปเพื่อรู้ลมหายใจ จะดำเนินชีวิตอย่างไรก็ให้ดำเนินไปเพื่อระลึกรู้ลมหายใจ จะพยายามอะไรก็พยายามเพื่อน้อมเข้ามาระลึกรู้อยู่กับลมหายใจ จะมีความตั้งใจมั่นก็ให้มีความตั้งใจมั่นอยู่กับลมหายใจ

เมื่อทุกอย่างเป็นไปเพื่อน้อมเข้ามาที่ลมหายใจ

ก็เป็นปัจจุบันขณะอยู่กับลมหายใจ

มรรคมีองค์ ๘  ก็มารวมลงที่ปัจจุบันขณะอยู่กับลมหายใจ

เมื่อรู้ลมหายใจก็คือการดำเนินจิตไปตามอริยมรรคนั่นเอง

พระอาจารย์ญาณวชิระ

เมื่อมรรครวมองค์กันในสติปัฏฐานอยู่อย่างนี้ ไตรสิกขาก็เป็นอันรวมองค์กัน  สัมมัปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕  พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ ก็เป็นอันรวมลงที่มรรค จะเพียรสังวรระวังก็เพียรสังวรระวังอยู่ที่ลมหายใจ จะละก็ละอยู่ที่ลมหายใจ จะภาวนาก็ภาวนาอยู่ที่ลมหายใจ จะคอยรักษาก็รักษาอยู่ที่ลมหายใจ เป็นปธาน ๔ จะมีฉันทะก็มีฉันทะอยู่กับลมหายใจ จะเพียรก็เพียรอยู่กับลมหายใจ จะเอาใจใส่ก็เอาใจใส่อยู่กับลมหายใจ จะสอดส่องอยู่กับลมหายใจเป็นอิทธิบาท ๔ เมื่อทำอยู่อย่างนี้อินทรีก็แก่กล้า ศรัทธาที่จะทำก็เพิ่มมากขึ้น ความเพียรก็เพิ่มมากขึ้น สติ สมาธิ ปัญญาก็แก่กล้าตามกันมา และเกิดเป็นกำลังเจริญขึ้นพร้อมๆ กัน ไม่ก่อนไม่หลัง เป็นอินทรีย์ ๕ เหมือนกิ่ง ก้าน ใบสาขา เปลือก กระพี้ และแก่นแห่งต้นไม้ เมื่อเจริญก็เจริญเติบโตขึ้นพร้อมๆ กัน ไม่ก่อนไม่หลัง

เมื่อมรรคมีองค์ ๘  รวมองค์กัน ก็เป็นอันองค์แห่งการตรัสรู้ คือองค์แห่งโพชฌงค์รวมองค์กัน เมื่อโพชฌงค์รวมองค์กัน ก็เป็นอันโพธิปักขิยธรรม  ๓๗  ประการ รวมองค์กันเป็นธรรมสมัคคี ดำเนินจิตไปสู่ความว่างภายใน จิตก็ถึงความเป็นจิตดั้งเดิม มีความเป็นจิตประภัสสร เป็นอุเปกขาสัมโพชฌงค์ เสวยความเป็นใหญ่ในตัวเอง ไม่ยินดียินร้ายในอารมณ์ทั้งปวง วางอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

คำว่า ธรรมสามัคคีที่พูดถึงก็คือ

ธรรมแต่ละหัวข้อมารวมกันอย่างพรั่งพร้อม

ไม่ว่าจะเป็นสติปัฏฐาน ๔

สัมมัปปธาน ๔

อิทธิบาท ๔

อินทรีย์ ๕

พละ ๕

โพชฌงค์ ๗

และ มรรคมีองค์ ๘
ผนึกกำลังกันแน่นเพื่อชำแรกกิเลส

พระอาจารย์ญาณวชิระ

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๓๑) “มัคคสมังคี” เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here