วิถีแห่งผู้นำ

: สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)


“เมตตา” คำเดียว  
 


๑.
ปฐมบทแห่งชีวิต

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เป็นพระมหาเถระที่ได้รับการกล่าวนามถึงมากที่สุดรูปหนึ่ง ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา บนผืนแผ่นดินไทย ด้วยความเป็น  “ต้นแบบแห่งสงฆ์”  ที่พุทธบริษัทปรารถนาจะได้พบเห็น  อันเป็นหนึ่งในทัสนานุตริยะที่เป็นมงคลยิ่ง

 เจ้าประคุณสมเด็จฯ

ได้รับการยอมรับว่า

เป็นผู้ริเริ่มวางรากฐานแนวคิด

นำพระพุทธศาสนาก้าวเข้าสู่ยุคใหม่

 และมีบทบาทสำคัญ

ในการผลักดันให้พระธรรมทูต

นำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่

กว้างไกลออกไปทั่วทุกมุมโลก
 

๒.
ต้นกำเนิดของครอบครัว

เจ้าประคุณสมเด็จฯ เกิดในครอบครัวคหบดีจีนชาวเกาะสมุย ซึ่งมาจากเกาะไหหลำ ชาวจีนโพ้นทะเลเป็นนักเดินเรืออีกชนชาติหนึ่งที่เข้ามาพึ่งพาอาศัยโพธิสมภารในแผ่นดินไทยบนเกาะสมุย  นอกจากประกอบอาชีพประมง  ทำไร่  ทำสวนแล้ว  ยังประกอบอาชีพค้าขายอันเป็นอุปนิสัยของชาวจีนโดยทั่วไป 

ปัจจุบันบ้านบรรพชนของเจ้าประคุณสมเด็จฯ ที่เกาะไหหลำ ยังถูกรักษาไว้ให้อยู่ในสภาพเดิม ภายในตัวบ้าน บุตรหลานได้นำภาพของโยมบิดา โยมมารดาของเจ้าประคุณสมเด็จฯ ไปไว้บนแท่นบูชาของบรรพชน

เป็นที่ทราบกันดีว่า ชาวจีนที่อาศัยอยู่ในเกาะสมุยเป็นนักเสี่ยงโชคที่แสวงหาแผ่นดินทอง  เพื่อทำการค้าขาย ส่วนมากเป็นพ่อค้าทางเรือแล่นเรือส่งสินค้าจากกรุงเทพมหานคร  แวะรับส่งสินค้าที่สงขลาแล้วมุ่งหน้าสู่สิงคโปร์  และออกจากสิงคโปร์  แวะรับส่งสินค้าที่สงขลาแล้วเข้าสู่กรุงเทพมหานคร  สินค้าก็มีมะพร้าว ข้าวสาร  ผลิตผลทางการเกษตรตลอดจนเครื่องอุปโภคบริโภคอื่น ๆ

ตระกูลที่สืบเชื้อสายมาจากชาวจีนครอบครัวหนึ่ง “แซ่โหย่ว” หรือ “แซ่หยาง”  เดินทางโดยเรือสำเภา  แสวงหาทำเลทองเพื่อทำการค้าขายมาแวะพักที่เกาะสมุย เหมือนพ่อค้าสำเภาทั่วไป  ได้เห็นเกาะสมุยมีภูมิประเทศดี  น้ำท่าพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์จึงได้ตกลงใจลงหลักปักฐานตั้งบ้านขึ้นที่ริมชายหาดเฉวง  ตำบลเฉวง โดยยึดอาชีพชาวประมง  ทำสวนมะพร้าว และทำการค้าขายสืบเชื้อสายมาบนเกาะแห่งนี้  และกลายเป็นตระกูล “โชคชัย” ในเวลาต่อมา

ผู้นำครอบครัวตระกูลโชคชัยได้ตั้งร้านค้าขายเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ  ตลอดจนรับซื้อสินค้าจากชาวเกาะเพื่อขายต่อให้กับพ่อค้าเรือส่งเข้ากรุงเทพฯ บ้าง  สงขลาบ้าง  นครศรีธรรมราชบ้าง  ส่งออกสิงคโปร์บ้าง  ตามแต่พ่อค้าเรือคนไหนต้องการอะไร  บางทีเดินทางไกลเอง  จากกรุงเทพฯ ไปสิงคโปร์  จากสิงคโปร์ไปกรุงเทพฯ  ต้องทำหมูเค็มใส่ไหลงเรือสำเภา  เพื่อเป็นเสบียงเดินทางให้กินได้นานแรมเดือน  จนครอบครัวกลายเป็นตระกูลคหบดีมีที่ดินครอบครองจำนวนมาก และมีความมั่นคงทางการเงินตระกูลหนึ่งของเกาะสมุย
 

๓.
ความฝันของโยมแม่

ณ หมู่บ้านชายหาดเฉวง  ตำบลเฉวง  อำเภอเกาะสมุย  จังหวัดสุราษฎร์ธานี  เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์  ถือกำเนิดในตระกูลโชคชัยเมื่อวันที่  ๑๑  มกราคม  พ.ศ. ๒๔๗๑  ตรงกับวันศุกร์  ปีมะโรง เป็นบุตรคนที่ ๕ ในจำนวนบุตรธิดา ๗ คนของตระกูล โยมบิดา ชื่อ นายเลี่ยน  โชคชัย โยมมารดา ชื่อ นางยี  โชคชัย
 
*ตามหนังสือสุทธิ เกิดวันศุกร์ ที่ ๑๑ มกราคม ๒๔๗๑
*ตามบันทึกด้วยลายมือ เกิดวันศุกร์ ที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๑ เวลาทุ่มเศษ


ค่ำคืนที่เด็กชายเกี่ยวลืมตาดูโลกนั้น  มารดาฝันเห็นปลาใหญ่รูปร่างแปลกพิกล  ดำมุดผุดว่ายเล่นน้ำทะเลลึกมาแต่ไกล  ครั้นขึ้นฝั่งกลับกลายเป็นช้างเผือกงางอนงามหมอบอยู่หาดทรายหน้าบ้าน  ฝูงสัตว์นานาชนิด  ทั้งสัตว์บกสัตว์น้ำต่างมาชุมนุมกัน  ส่งเสียงระงมเต็มหาดเป็นที่อัศจรรย์  


ญาติพี่น้องต่างมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้บุตรชาย  ซึ่งจะเป็นผู้สืบต่อธุรกิจค้าขายของตระกูลต่อไป  นายเลี่ยน โชคชัย  (อุ่ยเหลี่ยน แซ่เอี้ยว หรือ หยาง) ผู้เป็นบิดา  และนางยี โชคชัย (แซ่ภู่) ผู้เป็นมารดาได้ให้ชื่อบุตรชายว่า “เกี่ยว” เพื่อเป็นมงคลนามว่าบุตรชายได้ถือกำเนิดในช่วงที่ครอบครัวมีฐานะทางเศรษฐกิจเป็นหลักฐานมั่นคงพรั่งพร้อมทุกอย่างตามฐานะที่คนในสมัยนั้นจะพึงมีพึงได้  เป็นบุพนิมิตว่า บุตรชายถือกำเนิดมาเพื่อเกี่ยวเอาโชคลาภมาสู่วงศ์ตระกูล

เด็กชายเกี่ยว

ได้รับการเลี้ยงดูทะนุถนอมกล่อมเกลา

ในอ้อมกอดของบุพการีผู้ก่อกำเนิด

ได้รับความผาสุกตามสภาพที่จะพึงมีพึงเป็น  

เฉกเช่นบิดามารดามีให้แก่บุตร

ด้วยความอบอุ่นรวมกับพี่ๆ น้องๆ

บนเกาะสมุยถิ่นกำเนิด

๔.
มุ่งมั่นแต่เยาว์วัย

กาลเวลาต่อมา  เด็กชายเกี่ยวเจริญวัยตามลำดับ  จึงได้รับการสนับสนุนให้ศึกษาหาความรู้ในโรงเรียนประชาบาลประจำหมู่บ้าน  เข้ารับการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ เมื่ออายุ ๙ ปี ซึ่งมากกว่าเกณฑ์บังคับเรียนในสมัยปัจจุบันถึง ๒ ปี

เจ้าประคุณสมเด็จฯ เล่าว่า  เนื่องด้วยผู้ปกครองในสมัยเมื่อ ๖๐ – ๗๐ ปีก่อน  บ้านเมืองเรายังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการศึกษาเท่าที่ควร  เพราะว่ามีความสนใจมุ่งเน้นให้มีอาชีพในการทำมาหากินมากกว่าเรื่องการศึกษา  

“ผู้ใหญ่สมัยนั้นจะมองว่า

การฝึกทำอาชีพของครอบครัวตนเองที่ประกอบอยู่
จะมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตในภายภาคหน้า

จึงอบรมสั่งสอนให้บุตรธิดาฝึกการทำมาค้าขาย

หรืออาชีพอื่นใด

ตามความถนัดแห่งบรรพบุรุษที่ทำสืบต่อกันมา”

แต่เมื่อเด็กชายเกี่ยวได้เรียนหนังสือแล้ว ด้วยความเป็นคนสนใจในการศึกษา ชอบแสวงหาความรู้ และมีนิสัยช่างจดช่างจำ ทำให้ผลการศึกษาออกมาดีเป็นที่น่าพอใจ  ต่อมา เมื่อเรียนจบขั้นสูงสุดของโรงเรียน  คือ สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ในปี พ.ศ.๒๔๘๓ อันเป็นการศึกษาชั้นสูงสุดของโรงเรียนประชาบาลที่มีอยู่ในเกาะสมุย เวลานั้น  เด็กชายเกี่ยวแสดงเจตนารมณ์จะศึกษาชั้นที่สูงขึ้นต่อไป บิดามารดาจึงสนับสนุนตามต้องการ

  • เกิดปี พ.ศ. ๒๔๗๑ อายุ ๙ ขวบเข้าเรียน ใช้เวลา ๔ ปี จบชั้น ป.๔ = พ.ศ.๒๔๘๓ โยมบิดาได้ไปติดต่อโรงเรียนมัธยมศึกษาในตัวเมืองสุราษฎร์ธานี  เพื่อให้เด็กชายเกี่ยวได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนในระดับที่สูงขึ้น


เจ้าประคุณสมเด็จฯ เล่าว่า ตอนนั้นจะสมัครเรียนต่อ โยมพ่อต้องพาข้ามไปถ่ายรูปที่เมืองสุราษฎร์ เพื่อนำไปสมัครเรียน โดยไปกับเด็กชายชีวิน (ต่อมา คือผู้ว่าชีวิน)

ตอนนั้นโยมพ่อถือโอกาสเอาเงินไปแลกเป็นเงินปัจจุบันด้วย เพราะตอนนั้นรัฐบาลประกาศเลิกใช้เงินเหรียญสตางค์แบบเก่า ให้นำเงินไปแลกได้ โยมพ่อเก็บสะสมเงินสตางค์ไว้มาก เพราะเป็นพ่อค้า จึงต้องเอาเงินสตางค์ข้ามไปแลกด้วย จำได้ว่า โยมพ่อพาไปตัดผม ไปถ่ายรูป และพาไปกินก๋วยเตี๋ยว นึกถึงความกรุณาของโยมทั้งสอง มีมากมายเหลือเกิน”

แต่ทว่า  แม้มีเหตุปัจจัยครบถ้วน และมีความพร้อมในการเดินทางเข้าไปศึกษาต่อยังตัวจังหวัดสุราษฎร์ธานี  ท่านกลับไม่ได้ใช้โอกาสนั้นให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ตั้งเอาไว้ ทั้งนี้ คงเป็นด้วยบุญวาสนาบารมีแต่ชาติปางก่อน ที่จะเจริญในพระศาสนา


 ๕.
จุดเริ่มต้นแห่งก้าวย่างบนเส้นทางธรรม

ก่อนวันเดินทางไปศึกษาต่อตามที่กำหนดไว้จะมาถึง  เด็กชายเกี่ยวเกิดล้มป่วยอย่างกะทันหัน  แม้จะได้รับการเยียวยารักษาทั้งยาต้ม  ยาหม้อ  ยาฝรั่ง  ตามกำลังความสามารถที่หมอในสมัยนั้นจะทำได้   แต่อาการป่วยของเด็กชายเกี่ยวก็ไม่ได้ทุเลาเบาบางลงแต่อย่างใด หากแต่นานวันอาการก็ยิ่งทรุดหนักลงทุกขณะ  จนบ่นเพ้อเพราะพิษไข้   ก่อให้เกิดความกังวลใจแก่บิดามารดาเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม อาการป่วยของเด็กชายเกี่ยวที่นับวันมีแต่จะทรุดหนักลง  ก็หาได้รอดพ้นไปจากการสังเกตของตาผ้าขาว  ซึ่งเป็นหมอชาวบ้านท่านหนึ่งไม่   ตาผ้าขาวได้แนะนำบิดามารดาของเด็กชายเกี่ยวว่า

“ถ้าต้องการให้เด็กชายเกี่ยวหายจากโรคภัยไข้เจ็บ กลับเป็นปกติ  ก็ต้องให้บรรพชาเป็นสามเณรเพื่ออุทิศบุญกุศลให้แก่เจ้ากรรมนายเวร  วิธีนี้เป็นทางเดียวเท่านั้นที่จะช่วยให้พ้นจากวิบากกรรมได้”

สิ่งอัศจรรย์ทั้งหลายในโลกเกินหยั่งรู้  ไม่น่าเชื่อว่า เพียงการบนบานศาลกล่าวก็จะทำให้คนหายจากอาการเจ็บป่วยได้ แต่อาการเจ็บไข้ของเด็กชายเกี่ยวก็ได้ทุเลาลงอย่างน่าอัศจรรย์ ทำให้บิดามารดาเชื่อว่า  หนทางนี้จะทำให้เด็กชายเกี่ยวหายขาดได้  จึงตกลงใจให้เด็กชายเกี่ยวบรรพชาเป็นสามเณรอุทิศกุศลแก่เจ้ากรรมนายเวรเป็นระยะเวลา ๗ วัน  ตามคำแนะนำของตาผ้าขาวโดยไม่ลังเล

วิถีแห่งผู้นำ “เมตตา” คำเดียว : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) บทที่ ๑ ปฐมบทแห่งชีวิต บทที่ ๒ ต้นกำเนิดของครอบครัว บทที่ ๓ ความฝันของโยมแม่ บทที่ ๔ มุ่งมั่นแต่เยาว์วัย และบทที่ ๕ จุดเริ่มต้นแห่งก้าวย่างบนเส้นทางธรรม เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

(โปรดติดตามปฏิปทาและอัตชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) พระเถระผู้เสียสละ กอบกู้ และสืบต่อลมหายใจพระพุทธศาสนา ให้ขจรขจายในโลกกว้าง ในยุคหลังกึ่งพุทธกาล เพื่อยังพระสัจธรรมให้มั่นคงตลอดไป สร้างสันติในเรือนใจให้ผู้คนได้เกิดความร่มเย็นและมีหัวใจที่เป็นธรรม) เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here