วันนี้วันพระ วันพุธที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๔ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๐

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ

(บทที่ ๒๖)

“ วิธีดูลมหายใจ (อานาปานสติ) ”

เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ

: พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

วิธีดูลมหายใจ (อานาปานสติ)

            ส่วนวิธีดูลมหายใจสำหรับการฝึกหัดในระยะแรกนั้น ให้ทดลองทำความรู้จักกับลมหายใจของตนเองตามขั้นตอนดังนี้

รู้ว่า คนเรามีลมหายใจเป็นสัญญลักษณ์ว่ายังมีชีวิต

– วิธีฝึกตอนแรกก็นั่งเฉยๆ หลับตาเบาๆ ทำตัวให้ว่างๆ เปล่าๆ เหมือนภาชนะเปล่า เหมือนในจักรวาลนี้มีเราอยู่เพียงคนเดียว ตั้งใจว่าไม่คิดอะไรเลย ประมาณ ๑ นาที แล้วลองกลั้นลมหายใจจนสุดกลั้นจึงปล่อย จากนั้น สังเกตจังหวะลมหายใจที่ถี่หอบ ก็จะรู้ว่าชีวิตมีลมหายใจ

            รู้ว่าลมหายใจมีเข้ามีออก

 – ลองหายใจเข้าแล้วกลั้นลมหายใจไว้จนสุดกลั้น จะอึดอัดทุรนทุรายเพื่อจะหายใจออก

– ลองหายใจออกแล้วกลั้นลมหายใจไว้จนสุดกลั้น จะอึดอัดทุรนทุรายเพื่อจะหายใจเข้าทดลองอย่างนี้ก็จะทำให้รู้ว่าลมหายใจมีเข้ามีออก

            รู้ว่าลมหายใจเข้าลมหายใจออกมีกระทบโพรงจมูก

  – ลองหายใจเข้า หายใจออก แล้วสังเกตลมกระทบที่โพรงจมูก กระทบเพดานหน้าผากด้านใน โดยหายใจเข้ายาว มีสติระลึกรู้ไว้ที่โพรงจมูก และหน้าผากด้านใน ก็จะรู้ว่า ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก มีการกระทบโพรงจมูก

            รู้ว่าลมหายใจเข้าท้องพอง ลมหายใจออกท้องยุบ

  – เมื่อหายใจเข้า ลองเอาความรู้สึกย้ายไประลึกรู้อาการพองขึ้นของท้อง ความรู้สึกจะรับรู้ได้ถึงกระบังลมและซี่โครงขยายออก

– เมื่อหายใจออก ลองเอาความรู้สึกขยายไประลึกรู้อาการยุบลงของท้อง ความรู้สึกจะรับรู้ได้ถึงกระบังลมและซี่โครงยุบลงก็จะรู้ว่า ลมหายใจเข้าท้องพอง ลมหายใจออกท้องยุบ

            รู้ว่าลมหายใจมีสั้น มียาว

  – เอาสติเพ่งจดจ่อความสนใจระลึกรู้ไว้ที่ลมหายใจ จะสั้นก็รู้ จะยาวก็รู้ และไม่ต้องตั้งข้อสงสัยว่าสั้นหรือยาวแบบตั้งใจวัดลมหายใจ เพียงแต่ให้ความสนใจจดจ่อรู้ลมหายใจอยู่อย่างนั้น เหมือนยามเฝ้าประตู จดจ่อๆ ความสนใจ เฝ้าดูคนเดินผ่านเข้าออก คนเตี้ยก็รู้ คนสูงก็รู้ รู้ว่ามีคนเข้า – ออกเท่านั้น ไม่ต้องรู้แบบต้องวัดส่วนสูงว่า คนนี้สูงเท่าไร คนนี้เตี้ยเท่าไหร่ แต่รู้ว่าสูงว่าเตี้ย ว่าดำ ว่าขาวเท่านั้น ไม่ใช่รู้แบบใครเดินเข้าออกก็ตามเข้าไปดู ทำอย่างนี้ก็จะรู้ว่า ลมหายใจมีสั้นมียาว

            รู้ว่าลมหายใจมีหยาบมีละเอียด

   เมื่อเพ่งความสนใจจดจ่อระลึกรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก จะเห็นลมหายใจหยาบเป็นลำพุ่งเข้าพุ่งออก แล้วค่อยๆ กลายเป็นลมหายใจละเอียดบางเบา ก็อย่าสงสัยให้รู้ว่าลมหายใจมีหยาบมีละเอียด ก็ดูความหยาบ ความละเอียด ตามอาการของลมหายใจต่อไป ก็จะรู้ว่า ลมหายใจมีหยาบ มีละเอียด

            รู้ว่าลมหายใจมีปรากฏ มีหาย

    – เมื่อเห็นลมหายใจปรากฏชัด ทั้งหยาบทั้งละเอียดอยู่ ก็อย่าสงสัยอย่าตกใจกลัว อย่าตื่นเต้นจนเกินไป ให้รู้ว่าลมหายใจมีปรากฏ มีหาย ประคับประคองอาการนั้นไว้เหมือนคนกลัวเพชรมีค่าจะหล่นหายก็จะรู้ว่า  ลมหายใจมีปรากฏ  มีหาย

            รู้ว่า ลมหายใจมีเกิด มีดับ รู้ว่า ลมหายใจไม่เที่ยง

  – หายใจเข้า มีการเกิด ดับครั้งหนึ่ง หายใจออก มีการเกิด ดับครั้งหนึ่ง รู้ว่ามีความไม่เที่ยงอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก

– หายใจเข้า มีการเกิด หายใจออกมีการดับ เห็นการเกิดและการตาย อยู่ทุกลมหายใจเข้า ออก ก็จะรู้ว่า ลมหายใจมีเกิด มีดับ รู้ว่า ลมหายใจไม่เที่ยง

           รู้ว่า ลมหายใจมีอยู่ มีผู้รู้ลมหายใจ

– ลมหายใจก็อย่างหนึ่ง

ความคิดก็อย่างหนึ่ง

ผู้รู้ความคิดและลมหายใจก็อย่างหนึ่ง

พระอาจารย์ญาณวชิระ

– ลมหายใจมีอยู่มีการเข้าการออกตามธรรมชาติและมีผู้รู้ลมหายใจ ลมหายใจจึงมีอยู่เพียงเพื่อให้สติระลึกรู้

– ลมหายใจก็เข้าออกอยู่อย่างนั้น แม้ผู้รู้ก็รู้อยู่อย่างนั้นไม่ใช่รู้ไปตามความอยากที่ใจอยากรู้ หรือไม่ใช่รู้ไปตามความคิดเห็น แบบมีตัณหาและทิฏฐิเข้าไปอิงอาศัยทำอย่างนี้ก็จะรู้ว่า ลมหายใจมีอยู่ มีผู้รู้ลมหายใจ

            ดูกายในอิริยาบถใหญ่ เปลี่ยนท่าอย่างไรรู้อย่างนั้น

       – ดูกายในท่านั่ง : นั่งตรงๆ นั่งเอกเขนก นั่งพิง กึ่งนั่งกึ่งนอน นั่งหย่อนเท้า นั่งเท้าแขน นั่งรถ นั่งเรือ นั่งเครื่องบิน นั่งอย่างไรรู้อย่างนั้น มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในท่านั่ง

เห็นรูปนั่งแต่ไม่มีผู้นั่ง

       – ดูกายในท่านอน : นอนหงาย นอนคว่ำ นอนตะแคงซ้าย นอนตะแคงขวา นอนชันเข่า นอนมือก่ายหน้าผาก นอนพลิกไปท่าไหนรู้ท่านั้น นอนอย่างไรรู้อย่างนั้น

เห็นรูปนอน แต่ไม่มีผู้นอน

       – ดูภายในท่าเดิน : เดินไปข้างหน้า เดินเร็ว เดินช้า เดินเล่นๆ กึ่งเดินกึ่งวิ่ง เดินเลี้ยวซ้าย เดินเลี้ยวขวา เดินตุปัดตุเป๋ เดินทอดน่อง เดินกลับไปกลับมา เดินอย่างไรรู้อย่างนั้น ก้าวเท้าไปอย่างไรรู้อย่างนั้น

เห็นรูปเดินแต่ไม่มีผู้เดิน

   – ดูกายในท่ายืน : ยืนตรงๆ ยืนโน้มไปข้างหน้า ยืนโน้มไปข้างหลัง ยืนเท้าเอว ยืนโยกไปโยกมา ยืนพิง ยืนเหม่อมอง ยืนอย่างไรรู้อย่างนั้น

เห็นรูปยืนแต่ไม่มีผู้ยืน

            ดูกายในอริยาบทย่อย : เคลื่อนไหวอย่างไรรู้อย่างนั้น

    – ดูการเคลื่อนไหวของกาย : ดูการมอง การแล การเหลียว ดูการกระพริบตา ดูการหลับตา รู้สึกรับรู้ได้ถึงการหันซ้าย หันขวา เอี่ยวซ้าย เอี่ยวขวา การอ้าปาก การยิ้ม การหัวเราะ การกิน การดื่ม การลิ้มรส การเคี้ยว การกลืน การก้มหน้า การขยับแขน การกระดิกนิ้วมือนิ้วเท้า การสวมใส่เสื้อผ้า การถ่มน้ำลาย การถ่ายอุจจาระปัสสาวะ การเกา การพลิกฝ่ามือ การคว่ำฝ่ามือ การหงายฝ่ามือ การพูด การคุย การเจรจา การต่อรอง การสั่งงาน การทะเลาะ การโต้เถียง มีการเคลื่อนไหวอย่างไร รู้อย่างนั้น เป็นความรู้สึกตัวไปตามความเคลื่อนไหวของอวัยวะทุกส่วน

เห็นการเคลื่อนไหวแต่ไม่มีผู้เคลื่อนไหว

            คำว่า “เห็น” ไม่ได้หมายความว่าตาเห็น คำว่า “ดู” ไม่ได้หมายความว่า “ตาดู

แต่หมายความว่า เห็นด้วยความรู้สึก ดูด้วยความรู้สึก รู้สึกรับรู้ได้ถึงการมีอยู่ของลมหายใจ รู้สึกรับรู้ได้ถึงการเปลี่ยนท่านั่ง รู้สึกรับรู้ได้ถึงรูปนั่ง รูปยืน รูปเดิน รูปนอน รู้สึกรับรู้ได้ถึงการเคลื่อนไหวของอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย รู้สึกรับรู้ได้ถึงความคิดในหัว

คำว่า “เห็น” ในการปฏิบัติสมาธิ

จึงไม่ได้หมายถึงตาเห็น

แต่หมายถึงเห็นด้วยตาภายใน

คือมีสติระลึกรู้

ดวงตา เป็นตาของกาย เอาไว้มองดู

แต่สติเป็นตาของใจ

เอาไว้ให้ใจระลึกรู้

พระอาจารย์ญาณวชิระ

ลมหายใจมีอยู่เพียงเพื่อให้สติระลึกรู้ ไม่ใช่เพื่อให้ตัณหาและทิฐิเข้าไปอิงอาศัย กายมีอยู่เพียงเพื่อให้สติระลึกรู้ ไม่ใช่เพื่อให้ตัณหาและทิฐิเข้าไปอิงอาศัย

            ในที่สุด จากการเฝ้าสังเกตอย่างต่อเนื่อง ก็จะเห็นร่างกายชัดขึ้น จากการเฝ้าสังเกตการเคลื่อนไหวของร่างกาย และเห็นกายสังขาร คือลมหายใจเข้า ออก ที่คอยหล่อเลี้ยงร่างกายเอาไว้ ร่างกาย สติก็เห็นชัด กายสังขาร คือลมหายใจที่หล่อเลี้ยงร่างกายเอาไว้ สติก็เห็นชัด เห็นชัดขึ้นทั้งร่างกายและสิ่งที่หล่อเลี้ยงร่างกาย

การเฝ้าสังเกตทั้งร่างกาย และทั้งกายสังขาร ก็เป็นภาวนาขึ้นมา เพราะการสังเกตดูบ่อยๆก็เห็นชัดขึ้นมาเรื่อยๆ จนจิตนิ่งรู้อยู่กับสิ่งอันเดียวนี้ ไม่รู้อย่างอื่น ไม่แตกความคิดออกไปเก็บเอาสิ่งอื่นมารู้ ก็มีอารมณ์อันเดียว ขบคิดอยู่กับร่างกายและกายสังขาร คือ ลมหายใจ

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๒๖) “ วิธีดูลมหายใจ (อานาปานสติ) ” เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ: พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here